6 กรกฎาคม ระลึกถึง นักบุญ มารีย์ กอเรตตี พรหมจารี และมรณสักขี

ระลึกถึง นักบุญ มารีย์ กอเรตตี พรหมจารี และมรณสักขี

6 กรกฎาคม

ชื่อเต็มคือ มารีย์ เทเรซา กอเร็ตตี เกิดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1890 เป็นลูกคนที่สามจากทั้งหมดจำนวนเจ็ดคนของครอบครัวกรรมกรที่ทำงานในฟาร์มที่เมืองคอรินาลโด (Corinaldo) อยู่ในจังหวัด Marche ประเทศอิตาลี เนื่องจากครอบครัวยากจนจึงไม่มีโอกาสได้เข้าโรงเรียน แต่เธอได้รับการสอนให้มีพื้นฐานคุณธรรมแบบคริสตชนจากแม่ผู้ศรัทธาแม้ไม่รู้หนังสือผู้มีนามว่า Assunta โดยเธอสอนคำสอนให้ลูกจากความจำของเธอ เมื่อมารีย์อายุได้ 9 ปี ครอบครัวเธอย้ายไปอยู่ที่เน็ตตูโน (Nettuno) ซึ่งอยู่ใกล้กับกรุงโรม เพื่อหางานทำ ในปีต่อมา พ่อของเธอที่ชื่อว่า ลุยจี(Luigi)เสียชีวิต ทำให้ครอบครัวลำบากมาก แม่และพี่ๆของเธอต้องออกไปรับจ้างทำงานในฟาร์ม ส่วนเธอเองต้องดูแลบ้าน และดูแลน้องๆด้วย

เมื่ออายุ 11 ปี มารีย์ได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรก ซึ่งเป็นความปรารถนาอย่างแรงกล้าของเธอ โดยเธอได้ไปเข้าเงียบตระเตรียมจิตใจเป็นพิเศษก่อนจะได้รับศีลฯ ซึ่งการเข้าเงียบนี้ก่อให้เกิดความประทับใจอย่างลึกซึ้ง เธอเป็นตัวอย่างของความนอบน้อมเชื่อฟัง ความถ่อมตน และความบริสุทธิ์ และมีความเกรงกลัวลึกๆที่จะทำบาปผิดต่อพระเยซูเจ้า เธอจึงเพิ่มความพยายามขึ้นเป็นสองเท่าที่จะทำให้พระเจ้าพอพระทัย และคอยช่วยเหลือทุกๆคน การไปรับศีลอภัยบาปแต่ละครั้ง เธอต้องเดินไปถึงเจ็ดไมล์ และกลับอีกเจ็ดไมล์ แต่เธอถือว่าไม่มีอะไรจะมาเปรียบเทียบได้กับการที่จิตใจได้รับการเติมเต็มด้วยศีลศักดิ์สิทธิ์

เนื่องจากครอบครัวของมารีย์ ต้องอาศัยอยู่ในตึกเดียวกันกับครอบครัว Serenelli ที่ทำงานรับจ้างในฟาร์มเหมือนกัน หนุ่มวัย 20 ปีชื่อว่า Alessandro จากครอบครัว Serenelli ได้มาชักชวนและข่มขู่ให้เธอมามีความสัมพันธ์กับเขา แต่เธอปฏิเสธ หลังจากความพยายามครั้งที่สามของเขาไม่เป็นผลสำเร็จ โดยถูกมารีย์ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง เธอพูดกับเขาว่า “มันเป็นบาป พระเจ้าไม่ทรงต้องการเช่นนี้” เขาจึงแทงเธอด้วยมีดถึง 14 แผล เธอถูกนำไปโรงพยาบาล แต่ก็เสียชีวิตในวันต่อมา คือวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1902 ด้วยอายุ 12 ปี ก่อนตายเธอได้ให้อภัยแก่ Alessandro และได้ภาวนาเพื่อให้เขากลับใจ ต่อมา Alessandro ถูกจับ และไปชดใช้โทษในคุก ทีแรกเขาเกือบจะถูกโทษประหารชีวิต แต่เพราะเขายังเป็นผู้เยาว์ (อายุแค่ 20 ปี) จึงถูกจำคุกเป็นเวลา 30 ปีแทน คืนหนึ่งหลังจากอยู่ในคุกมาได้ 6 ปี มารีย์ กอเร็ตตี ประจักษ์มาหาเขาในคุกนั้น เธอยิ้มให้เขา เธอมาพร้อมกับดอกลิลลี่ที่สวยงามมาก เขารู้ทันทีว่ามารีย์ อภัยโทษให้เขาแล้ว ชีวิตของเขามีความสงบมากขึ้น ประพฤติตัวดี จนได้ออกจากคุกหลังจากติดมา 27 ปี เขาไปพบแม่ของมารีย์เพื่อขอให้ยกโทษให้ คุณแม่ Assunta ก็ทำเช่นเดียวกับมารีย์ลูกสาว คือเต็มใจยกโทษให้ วันคริสต์มาสของปีนั้น Alessandro ไปที่วัดพร้อมกับ Assunta คุณแม่ของมารีย์ เขาได้พูดต่อที่ชุมนุมนั้น ขอโทษพระ และขอโทษทุกคนในสิ่งที่เขาได้ทำผิดไป ที่ประชุมยกโทษให้เขา

มารีย์ได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศี เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1947 และอีกสามปีต่อมา คือในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1950 ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญ โดยพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 เนื่องจากปีนั้นเป็นปีศักดิ์สิทธิ์พอดี จึงมีผู้คนหลั่งไหลมาที่มหาวิหารนักบุญเปโตรกันมากมาย พิธีสถาปนานักบุญจึงออกมาจัดที่จตุรัสกลางที่อยู่ด้านหน้า แทนที่จะเป็นภายในมหาวิหารอย่างที่เคยเป็นมา ที่พิเศษคือในการแต่งตั้งนักบุญนี้ แม่ของนักบุญคือคุณแม่ Assunta ซึ่งชรามากแล้ว ได้มาอยู่ในพิธีด้วย และ Alessandro ผู้ที่ฆ่าเธอ ก็อยู่ในพิธีด้วย ต่อมา Alessandro ไปเป็นบราเดอร์ฆราวาส ของคณะภราดาน้อยกาปูชิน (Lay brother of the Order of Friars Minor Capuchin) อาศัยอยู่ในอารามแผนกต้อนรับแขก และทำสวน จนตายไปในปี ค.ศ. 1970 อายุ 87 ปี อาจกล่าวได้ว่า นักบุญมารีย์ กอเร็ตตี เป็น “นักบุญอักเนส แห่งศตวรรษที่ 20” นักบุญมารีย์ กอเร็ตตี เป็นองค์อุปถัมภ์ของเหยื่อที่ถูกข่มขืน เหยื่ออาชญากรรม หญิงสาววัยรุ่น และเยาวชนสมัยปัจจุบัน

(ถอดความโดย คุณพ่อวิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe และจาก Wikipedia)

3 กรกฎาคม ฉลองนักบุญโทมัส อัครสาวก (St. Thomas, Apostle, feast)

3 กรกฎาคม ฉลองนักบุญโทมัส อัครสาวก (St. Thomas, Apostle, feast)

นักบุญโทมัส หรือชื่อในภาษากรีกเรียกท่านว่า “Didymos” หมายความว่า “ฝาแฝด” เป็นชาวประมงซื่อๆจากกาลิลี ไม่ได้เล่าเรียนอะไรมา ท่านถูกเรียกโดยพระเยซูเจ้าให้มาเป็นหนึ่งในสิบสองอัครสาวกของพระองค์ เราพอจะเห็นภาพความรักยิ่งใหญ่ของท่านต่อพระอาจารย์เจ้าเมื่อท่านพร้อมจะติดตามพระเยซูเจ้าไปยังบ้านของลาซารัสที่เพิ่งเสียชีวิต แม้ว่าขณะนั้นอัครสาวกคนอื่นๆกลัวจะถูกทุ่มหินโดยพวกชาวยิวในแคว้นยูเดีย มีบันทึกเรื่องตอนนี้ไว้ดังนี้ “โทมัสที่เรียกกันว่าฝาแฝด กล่าวกับศิษย์คนอื่นๆว่า พวกเราจงไปตายพร้อมกับพระองค์เถิด” (ยน 11:16) และเป็นเพราะคำถามของท่านขณะรับประทานอาหารค่ำครั้งสุดท้ายว่า “พระเจ้าข้า พวกเราไม่ทราบว่าพระองค์จะเสด็จไปที่ใด แล้วจะรู้จักหนทางได้อย่างไร” (ยน 14:5) ที่ทำให้เราได้รับคำประกาศยืนยันจากพระเยซูเจ้าว่า “เราเป็นหนทาง ความจริง และ ชีวิต ไม่มีใครไปเฝ้าพระบิดาได้นอกจากผ่านทางเรา” (ยน 14:6) นอกจากนี้ ท่านถูกเรียกว่าเป็น “โทมัสผู้สงสัย” (= Doubting Thomas) เมื่อท่านปฏิเสธที่จะเชื่อเรื่องการกลับฟื้นพระชนมชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้า ตามที่อัครสาวกคนอื่นๆได้บอกท่าน แต่เมื่อพระเยซูเจ้าทรงปรากฏองค์มาในครั้งที่สองซึ่งในครั้งนี้โทมัสอยู่กับอัครสาวกอื่นๆด้วย เขาก็ได้ประกาศออกมาถึงความเชื่อที่ไร้กาลเวลาว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า” – “My Lord and my God” – (ยน 20:28) ตั้งแต่นั้นมา ประชาสัตบุรุษมักนำคำประกาศแสดงความเชื่อนี้มาภาวนาสั้นๆ เวลาที่พระสงฆ์ชูแผ่นปังและถ้วยกาลิกษ์ในพิธีบูชามิสซา และในเวลาอวยพรศีลมหาสนิท และพระศาสนจักรก็ให้พระคุณการุณย์กับผู้สวดภาวนาเช่นนี้ด้วยความเชื่อ

ส่วนงานธรรมทูตของนักบุญโทมัสหลังจากที่บรรดาอัครสาวกกระจัดกระจายไปตามที่ต่างๆนั้น เชื่อกันว่าท่านได้ไปแพร่ธรรมให้กับพวก Medes, เปอร์เซียน (Persians) และประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง และรวมถึงชาวอินเดีย (Indians) ด้วย กล่าวกันว่าท่านได้ไปที่เมืองเคราลา (Kerala) ประเทศอินเดีย ราวปี ค.ศ.52 เป็นที่ทราบกันดีว่าในเวลานั้นมีการทำการค้ากันอย่างมากระหว่างซีเรียกับอินเดีย มีบันทึกไว้ว่าในการประชุมสภาครั้งใหญ่ที่เมืองนิเชอา (the great Council of Nicaea) มีผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นพระสังฆราชของ Syrian – Chaldean ที่มาจากอินเดียและเปอร์เซียรวมอยู่ด้วย และต่อมาในศตวรรษที่ 9 พระเจ้าอัลเฟร็ดมหาราช ได้ส่งทูตของพระองค์ไปยังคริสตชนที่มาลาบาร์ (Malabar Christians) อีกด้วย

ในเมือง Madras ที่ Mylapore (เดี๋ยวนี้ชื่อว่า San Thome) เป็นที่เชื่อว่าท่านสิ้นชีพด้วยหอกหรือแหลน และที่นี่เองกางเขนแห่งอัศจรรย์ของนักบุญโทมัสได้รับความเคารพเทิดทูน ในสมัยของนักบุญยอห์น คริสซอสตอม หลุมศพของท่านได้อยู่ที่เมืองเอเดสสาในประเทศซีเรีย (at Edessa in Syria) และในปีต่อๆมา พระธาตุของท่านได้ถูกนำไปยังประเทศอิตาลี และโปรตุเกส

พวกสถาปนิกและนักก่อสร้างถือนักบุญโทมัสเป็นองค์อุปถัมภ์ของพวกเขา โดยยึดเอาจากตำนานที่เล่าว่าเจ้าชายองค์หนึ่งของอินเดียได้มอบเงินจำนวนมากให้ท่านสร้างพระราชวังที่ยิ่งใหญ่ตระการตา แต่ท่านกลับพยายามทำให้ผู้อุปถัมภ์มีความมั่นใจในประโยชน์ที่มากกว่าหากจะสะสมทรัพย์สมบัติไว้ในสวรรค์ โดยการนำเงินจำนวนนั้นไปแจกจ่ายให้กับบรรดาคนยากจน

นักบุญโทมัส ยังได้รับการประกาศให้เป็นอัครสาวกของประเทศอินเดีย โดยนักบุญปอลที่ 6 พระสันตะปาปา ในปี ค.ศ.1972

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

29 มิถุนายน สมโภชนักบุญเปโตร และนักบุญเปาโล อัครสาวก
(SS. Peter and Paul, Apostles, solemnity)

29 มิถุนายน สมโภชนักบุญเปโตร และนักบุญเปาโล อัครสาวก
(SS. Peter and Paul, Apostles, solemnity)

วันสมโภชนี้ พระศาสนจักรหวนกลับมาดูจุดกำเนิดของตน และเฉลิมฉลองความจำที่มีต่อบุคคลสำคัญสองท่าน ที่เป็นเหมือนแม่พิมพ์ให้กับชีวิตพระศาสนจักรในระยะเริ่มต้น ที่ยังคงไว้ซึ่งร่องรอยสำคัญที่ลบเลือนไม่ได้ในรากฐานและลักษณะเฉพาะ ทั้งสองท่านต่างกันโดยสิ้นเชิง (as different as chalk and cheese) แต่ท่านนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลก็ได้รับขนานนามว่า “เป็นเสาหลักสองต้นของพระศาสนจักร” เป็นดัง “ตะเกียงหรือดวงไฟสองดวง” ที่กำลังลุกโชติช่วงเพื่อพระคริสต์ เพื่อส่องสว่างหนทางไปสู่สวรรค์

นักบุญเปโตร – “ซีมอน บุตรของโยนาห์” เป็นชาวเบธไซดา ริมฝั่งทะเลสาบกาลิลี แต่งงานและตั้งหลักแหล่งที่เมืองคาเปอรนาอุม พร้อมกับน้องชาย “อันดรูว์” หาเลี้ยงตนด้วยอาชีพจับปลา จนกระทั่งองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงเรียกเขา จากชาวประมงจับปลา มาเป็นชาวประมงจับมนุษย์ เมื่อเขาประกาศความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าเป็นพระคริสต์ พระบุตรขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระเยซูเจ้าจึงทรงประกาศตั้งพระศาสนจักรบนหินก้อนนี้ ที่มีเปโตรเป็นรากฐาน [เพราะชื่อเปโตร หรือ Petrus ภาษาลาติน หรืออีกชื่อหนึ่งคือ เคฟา(ส) ภาษาอาราเมอิค แปลว่า “หิน”] สำนวนที่พระองค์มอบกุญแจแห่งพระอาณาจักรสวรรค์ให้แก่นักบุญเปโตร และสำนวนที่ว่าถึงการผูกและการแก้ มีความหมายทางกฎหมายชัดแจ้งถึงตำแหน่งสูงสุดในการปกครองที่พระเยซูเจ้าทรงแต่งตั้งขึ้นมา

หลังการกลับฟื้นคืนพระชนมชีพ นักบุญเปโตรเป็นหนึ่งในพวกแรกๆ ที่พระเยซูเจ้าทรงปรากฏองค์ให้เห็น เป็นนักบุญเปโตรที่เป็นประธานในการเลือก มัทธีอัสมาแทน ยูดาส อิสคาริโอท (กจ 1:15-20) นักบุญเปโตรเป็นผู้เทศน์สอนอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันเปนเตกอสเตที่พระจิตเจ้าเสด็จลงมา (กจ 2:14-40) ให้คำปราศรัยกับสภาซันเฮดริน (กจ 4:5-22) เป็นผู้รับชาวยิวพวกแรกมาเป็นคริสตชน (กจ 2:41) และต่อมารับคนต่างชาติพวกแรก (กจ 10:44-48) เข้ามาในพระศาสนจักร นักบุญเปโตรได้ทำอัศจรรย์ครั้งแรกต่อหน้าสาธารณชน (กจ 3:1-11) และเป็นผู้ให้คำตัดสินชี้ขาดในสภาสังคายนาครั้งแรกของพระศาสนจักร (กจ 15:7-11)

นักบุญเปาโล – นักบุญเปาโล ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีอัจฉริยภาพทางศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของคริสตศาสนา (ต่อจากนักบุญยอห์น ผู้นิพนธ์พระวรสาร) ท่านมาจากดินแดนที่ชาวยิวกระจัดกระจายไปอยู่ (Diaspora) คือเมืองทาร์ซัส ซึ่งทำให้ท่านคุ้นเคยทั้งวัฒนธรรมของชาวยิวและชาวกรีก น่าชื่นชมที่ท่านได้รับการปูพื้นฐานความรู้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเหมาะกับงานที่พระเจ้าทรงมอบให้ท่านในอนาคต ในการที่จะต้องเป็น “อัครสาวกสำหรับคนต่างศาสนา” และเป็นผู้ช่วยพระศาสนจักรซึ่งเพิ่งเริ่มต้นให้ก้าวเดินอย่างเป็นอิสระพ้นจากลัทธิของชาวยิว จากการที่ท่านได้มีประสบการณ์พิเศษที่ได้พบกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพในระหว่างการเดินทางไปเมืองดามัสกัส เป็นสิ่งพิสูจน์ถึงแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ท่านเป็นหนึ่งในผู้ร้อนรน เปี่ยมด้วยพลัง และเป็นผู้แทนที่กล้าหาญของพระคริสตเจ้าเท่าที่มีมา

จดหมายต่างๆของนักบุญเปาโล (นับได้ 7 ฉบับที่แท้จริง และอีก 6 ฉบับที่อ้างว่าท่านได้เขียนทั้งทางตรงและทางอ้อม) ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นเหมือนบ่อน้ำพุแห่งความจริง การเป็นพยานยืนยัน และเป็นคำเทศน์สอนที่มาถึงเราจนทุกวันนี้ เราจะเห็นลักษณะการเขียนของท่านที่เปี่ยมด้วยสติปัญญาอันเฉียบแหลม และพลังใจที่ล้นปรี่ ท่านเป็นผู้ติดตามพระคริสต์ที่อุทิศตนอย่างลุกร้อนด้วยไฟแห่งความรักที่มากล้น ชนิดที่สามารถเห็นว่าทุกสิ่งอยู่ในพระคริสต์ ไม่ว่าจะเป็นการเบียดเบียน การถูกลบหลู่ หรือความอ่อนแอก็ไม่สามารถจะหันเหท่านไปจากข้อตั้งใจที่จะกลายเป็น “ทุกสิ่งสำหรับทุกคน” (1คร 9:22) งานที่ยากลำบากต่างๆเหล่านี้ที่ท่านทำอย่างแข็งขัน ช่วยสร้างรูปแบบของพระศาสนจักรต่างๆที่ท่านตั้งขึ้นให้อยู่ใน “พระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า” ท่านตระหนักตนว่าเป็นเหมือน “เด็กที่คลอดก่อนกำหนด” ชื่อเปาโล ซึ่งหมายถึง “เล็ก” จึงสุภาพที่จะเรียกตนว่าเป็นผู้รับใช้ (servant) “เป็นผู้น้อยที่สุดในบรรดาอัครสาวก” และแม้แต่ “เป็นผู้ต่ำต้อยที่สุดในบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์” (อฟ 3:8)

บทสรุป :
นักบุญทั้งสองเป็น “มนุษย์กิจกรรม” (men of action) งานของท่านทั้งสองส่งเสริมกันและกัน ทั้งสองรักองค์พระผู้เป็นเจ้าสิ้นสุดจิตใจ ทั้งสองสามารถกล่าวได้เต็มปากว่า “ข้าพเจ้าได้ต่อสู้มาอย่างดีแล้ว ข้าพเจ้าวิ่งมาถึงเส้นชัยแล้ว ข้าพเจ้ารักษาความเชื่อไว้แล้ว ยังเหลืออยู่ก็เพียงมงกุฎแห่งความชอบธรรม ซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพิพากษาอย่างเที่ยงธรรม จะประทานให้ข้าพเจ้าในวันนั้น…” (2 ทธ 4:7-8)

ที่น่าประหลาดใจยิ่ง ท่านทั้งสองได้รับ “มงกุฎแห่งความชอบธรรม” ช่วงราวปี ค.ศ. 67 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้ๆกัน ในสมัยของจักรพรรดิเนโร ซึ่งต้องการทำลายล้างกลุ่มคริสตชนให้หมดสิ้นไป นักบุญเปโตรถูกตรึงกางเขนที่เนินวาติกัน (ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิหารนักบุญเปโตรในปัจจุบันนี้) แต่ท่านได้ขอให้กลับหัวลง เพราะคิดว่าตนไม่สมควรจะตายแบบที่พระคริสต์ทรงถูกตรึง ส่วนนักบุญเปาโลซึ่งมีสัญชาติโรมัน ถูกตัดศีรษะแถวบริเวณเส้นทาง Ostian ตรงบริเวณน้ำพุ 3 แห่ง (Tre Fontane) ซึ่งบัดนี้เป็นที่ตั้งบาสิลิกานักบุญเปาโลที่สง่างามนอกกำแพงเมือง

วันที่ 29 มิถุนายน (C. 268) ร่างของมรณสักขีทั้งสองท่านได้ถูกนำมาไว้ด้วยกันที่คาตาคอมบ์นักบุญเซบาสเตียน ดังนั้น วันสมโภชของท่านทั้งสอง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสิบสองของการเฉลิมฉลองทางพิธีกรรมที่มีความสำคัญมากของพระศาสนจักรคาทอลิก จึงเลือกสมโภชท่านในวันที่ 29 มิถุนายน ตามเหตุการณ์นี้

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

22 มิถุนายน นักบุญโทมัส โมร์ มรณสักขี (St Thomas More, Martyr [1477-1535])

22 มิถุนายน นักบุญโทมัส โมร์ มรณสักขี (St Thomas More, Martyr [1477-1535])

ได้รับการขนานนามว่า “บุรุษแห่งทุกกาลสมัย” (“a man for all seasons”) โดย Erasmus นักบุญโทมัสเป็นบุตรของผู้พิพากษาของเมืองลอนดอนคนหนึ่ง ชื่อว่า จอห์น โมร์ (John More) ท่านได้ร่ำเรียนวิชากฎหมายจากอ๊อกซ์ฟอร์ด (Oxford) และต่อมาไม่นานก็เป็นทนายความ เนื่องจากเป็นคนที่มีความศรัทธามาก ท่านได้เข้าฝึกปฏิบัติเรื่องทางด้านฝ่ายจิตกับพวกฤาษีคาร์ตูเซียน (Carthusian monks) เป็นเวลา 4 ปี เมื่ออายุ 27 ปี ได้แต่งงานกับ เจน โคล์ท (Jane Colt) มีลูกสาวด้วยกัน 3 คน และลูกชาย 1 คน เจนได้เรียนพูดลาตินจากท่าน จนสามารถร่วมวงสนทนากับบรรดาผู้ทรงความรู้ต่างๆ ที่มาเป็นแขกที่บ้านของท่านบ่อยๆ แต่หลังจาก 8 ปีที่แต่งงานอยู่ด้วยกัน เจนได้สิ้นชีพ ต่อมาโทมัสได้แต่งงานใหม่กับแม่ม่าย ชื่อ อลิซ มิดเดิลตัน (Alice Middleton) ซึ่งได้พิสูจน์ตนเองว่าเป็นแม่บ้านที่ยอดเยี่ยม และเป็นแม่เลี้ยงที่น่ารักของลูกทั้ง 4 คนของท่าน

โทมัส โมร์ มีชื่อเสียงรุ่งโรจน์ต่อสาธารณชนอย่างรวดเร็ว ได้รับการเลือกให้เป็นสมาชิกสภาด้วยวัย 26 ปี ได้ทำงานกับเจ้าหน้าที่พนักงานมณฑลของกรุงลอนดอน (sheriff of London) ซึ่งตำแหน่งนี้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร เช่นดูแลการเลือกตั้ง ยึดทรัพย์ (- จาก New Model English-Thai Dictionary ของ So Sethaputra) ทำให้เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดกับพวกคนจนๆ ต่อมาได้กลายเป็นสมาชิกสภาองคมนตรีของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 (a member of King Hery VIII ‘s Privy Council) และในปี ค.ศ. 1529 ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งเทียบเท่ารัฐมนตรียุติธรรมของอังกฤษ มีหน้าที่เป็นอธิบดีศาลสูงสุด และเป็นประธานสภาขุนนางด้วย (= Lord Chancellor of England) แต่ตำแหน่งอันทรงเกียรติ และความรับผิดชอบเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้ท่านลดความเอาใจใส่ต่อครอบครัวและการให้การศึกษาแบบคริสตชนต่อลูกๆของท่าน ท่านภาวนาอย่างศรัทธา ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม ผนวกเข้ากับการนำเอาการศึกษามาประยุกต์ใช้อย่างน่าชื่นชม สิ่งเหล่านี้คือ “สาระ” ในการดำเนินชีวิตของครอบครัวของท่าน ส่วนการหย่อนใจเช่น สนใจงานศิลปะ การอ่าน และการทำสวน คือ “เครื่องชูรส” ให้กับชีวิต ดังที่ครั้งหนึ่งท่านเคยเขียนไว้ว่า “มนุษย์เราอาจดำเนินชีวิตสำหรับโลกหน้า โดยที่ก็ยังมีความสุขอยู่ด้วย”

โทมัส โมร์ ใช้เวลานอนหลับวันละ 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น ท่านมักสวมเสื้อผ้าเนื้อหยาบเพื่อใช้โทษบาป และแม้มีตำแหน่งสูงก็ยังไปร่วมในพิธีมิสซาที่วัดของท่าน ไปร่วมร้องเพลงในวัด ไปร่วมเดินแห่แสวงบุญ ท่านเคยเขียนว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของฉันทรงเดินเท้า ดังนั้น ฉันจะไม่ติดตามพระองค์ไปบนหลังม้า” ท่านไม่เคยสะสมเงินไว้ แต่แจกจ่ายให้คนจนและคนป่วย เป็นคนที่มีอารมณ์ดีเป็นธรรมชาติ เป็นคนที่ยืดหยุ่น แต่ท่านก็ให้ความสำคัญสูงสุดกับความจริง ความยุติธรรม และความซื่อสัตย์ต่อกฎเกณฑ์ของพระเจ้าและของพระศาสนจักร มากกว่าเกียรติยศทางโลก หรือการมีชื่อเสียง หรือความร่ำรวย

เมื่อพระเจ้าเฮนรี่ ที่ 8 ไม่มีรัชทายาทชายสืบราชสมบัติจากพระราชินี คัทริน แห่ง อารากอน (Queen Catherine of Aragon) พระองค์ทรงร้องขอไปทางโรมให้ประกาศการแต่งงานเป็นโมฆะ เพื่อจะทรงแต่งงานใหม่กับพระนางแอน โบลีน (Anne Boleyn) แต่ถูกปฏิเสธโดยสิ้นเชิง พระเจ้าเฮนรี่ทรงโกรธมาก ทรงสั่งให้สภาที่ขึ้นกับพระองค์ออกกฎหมายสืบทอดมรดกใหม่ที่ประกาศให้พระองค์เป็นหัวหน้าศาสนจักรแห่งอังกฤษ (Head of the Church of England) โทมัส โมร์ ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งประธานสภาขุนางเป็นการประท้วง และตระเตรียมตัวเองรวมทั้งครอบครัวให้พร้อมรับผลกระทบที่จะตามมา พวกเขาได้พิจารณาด้วยกันถึงชีวิตของบรรดามรณสักขีของพระศาสนจักรด้วยถ้อยคำแห่งกำลังใจต่อไปนี้ “จะดีสักเพียงไหนที่จะยอมทนทุกข์ ยอมสูญเสียทรัพย์ ยอมติดคุก เพื่อเห็นแก่ความรักต่อพระเจ้า”

และเมื่อท่านปฏิเสธที่จะให้คำสาบานใหม่ตามที่กษัตริย์ทรงเรียกร้อง จึงถูกจับคุมขังในคุก ในปี ค.ศ. 1534 ในการถูกไต่สวนในศาล ท่านได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่กล่าวหาท่าน ด้วยคำพูดที่ห้าวหาญดังนี้ “สำหรับสังฆราชองค์หนึ่งที่ท่านกล่าวอ้างมา แต่ฉันมีนักบุญเป็นร้อยๆคอยสนับสนุน และเพียงแค่รัฐสภาเดียวของท่าน ของฉันมีสภาทั่วไปทั้งหมดรวมเป็นพันๆปีคอยช่วยยืนยัน” แต่บรรดาลูกขุน ภายใต้การกดดันจากราชสำนัก ได้ตัดสินประหารชีวิตโทมัส โมร์ หลังจากถูกจำคุกเป็นเวลา 15 เดือน ก็ถูกนำตัวขึ้นไปบนเครื่องตัดศีรษะ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1535

โทมัส โมร์ เป็นหนึ่งในผู้ทรงความรู้ที่โดดเด่นมากในสมัยของท่าน เป็นคนที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน ท่านเป็นผู้ประพันธ์หนังสือที่โด่งดังชื่อ “Utopia” ซึ่งมีเนื้อเรื่องเสียดสีล้อเลียนเกี่ยวกับเรื่องเงื่อนไขทางการเมืองในสมัยของท่าน เขียนเป็นภาษาลาตินเพื่อความขบขันในระหว่างมิตรสหายผู้คงแก่เรียนของท่าน เพื่อแสดงว่า คนๆหนึ่งสามารถไปได้ไกลถึงไหนในการหาเหตุผลจากธรรมชาติ โดยปราศจากความช่วยเหลือจากการไขแสดง

ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศี โดยพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1886 และได้รับการประกาศว่าเป็นนักบุญโดยพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 11 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1935 และได้รับการประกาศว่าเป็นองค์อุปถัมภ์ของบรรดาผู้นำทางการเมือง โดย นักบุญ จอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา ในปี “ปีติมหาการุญ” ค.ศ. 2000

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

21 มิถุนายน
ระลึกถึง นักบุญหลุยส์ คอนซากา นักบวช

21 มิถุนายน ระลึกถึง นักบุญหลุยส์ คอนซากา นักบวช

(St. Aloysius Gonzaga, Religious, memorial)

นักบุญหลุยส์เป็นบุตรชายคนโตของมาร์ควิส เฟอร์ดินานด์ แห่ง คอนซากา (Marquis Ferdinand of Gonzaga) ซึ่งเป็นดยุคของเมือง Mantua, เจ้าชายแห่งจักรวรรดิโรมัน (Prince of the Roman Empire) เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1568 นักบุญอลอยซีอุส (Aloysius) หรือ “หลุยส์” (Louis) หรือ “ลุยจี” (Luigi) คอนซากานั้นถูกคาดหวังให้เป็นรัฐบุรุษหรือนายทหารที่ยิ่งใหญ่ในภายหน้า ดังนั้น เมื่ออายุ 8 ปีได้ถูกส่งพร้อมกับน้องชายให้ไปใช้ชีวิตในสำนักของฟรานเชสโก แห่งเมดิซี ในเมืองฟลอเร้นซ์ ประเทศอิตาลี เป็นเวลา 2 ปี แต่ความคิดของท่านกลับซึมซาบในเรื่องฝ่ายจิตแล้ว โดยที่ท่านปฏิญาณจะถือความบริสุทธิ์ตลอดไป และได้ทำการสารภาพบาปโดยการเป็นทุกข์กลับใจอย่างแท้จริงจนว่าท่านหมดสติไปแทบเท้าของผู้ฟังสารภาพบาป จากเมืองฟลอเร้นซ์ท่านถูกส่งกลับไปเมือง Mantua แม้กระทั่งที่นี่ท่านยังคงบังคับตนด้วยความมีระเบียบวินัย และจำศีลอดอาหารอย่างเคร่งครัด โดยมีความมุ่งมั่นจะเอาชนะอารมณ์ร้อนของตน และชอบด่วนตัดสินผู้อื่น เมื่ออายุได้ 12 ปี ท่านได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรกจากนักบุญชาร์ลส์ โบโรเมโอ (St. Charles Borromeo) พระอัครสังฆราชแห่งเมืองมิลาน ผู้เป็นญาติของท่าน

จากนั้นไม่นาน ท่านได้ตัดสินใจลาตำแหน่งของท่านโดยยกให้น้องชายไป เพื่อจะได้ไปเป็นนักบวช แต่บิดาของท่านได้ต่อต้านความคิดนี้อย่างรุนแรง และท่านต้องใช้ความพยายามโดยไม่ย่อท้อถึง 3 ปีถึงจะได้รับการยินยอมจากบิดาของท่าน ในขณะเดียวกัน ท่านได้ถูกส่งตัวไปเป็นเวลา 2 ปีเพื่อเป็นมหาดเล็กแห่งราชสำนักที่กำลังรุ่งเรืองของพระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน ต่อจากนั้นก็ต้องไปเยี่ยมคารวะบรรดาดยุคและเจ้าชายของอิตาลีภาคเหนือ ซึ่งพวกเขาพยายามเกลี้ยกล่อมให้ท่านเปลี่ยนความคิด แต่ก็ไม่สำเร็จ ในที่สุด เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1585 อลอยซีอุส ซึ่งมีอายุ 17 ปี ก็สามารถเดินทางไปที่โรม เพื่อเข้าบ้านฝึกหัดของคณะเยซูอิต

อลอยซีอุสได้พัฒนาชีวิตของท่านในการบำเพ็ญเพียรภาวนา และความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าในขณะที่ยังอยู่ในโลกนี้ และได้รับพระหรรษทานให้มีจิตภาวนาได้เป็นเวลายาวนานโดยไม่วอกแวกแม้แต่น้อย บางครั้งใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมงเต็ม ฤทธิ์กุศลที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของท่านคือความนอบน้อมเชื่อฟังต่อบรรดาอธิการของท่าน และนี่ก็สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า ทำให้ท่านมีสันติสุขในจิตใจอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งใครๆก็เห็นได้อย่างชัดเจน

“ฉันเป็นเหมือนเหล็กเส้นที่คดงอ และได้ใช้ศาสนาเพื่อทำให้เป็นเส้นตรง” นี่คือคำที่แสดงถึงความสุภาพของท่าน และคติพจน์ของท่านคือ “ฉันเกิดมาเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า”

เมื่ออายุ 22 ปี ท่านได้รับการเตือนล่วงหน้าว่ากำลังจะเข้าใกล้ความตายแล้ว และได้มอบข้อเขียนทางเทววิทยา และชีวิตจิตให้กับอธิการของท่าน เพราะเป็นเพียงสิ่งนอกกายที่ท่านยังติดใจอยู่ เมื่อเกิดภาวะอดอยากครั้งใหญ่ในอิตาลีเมื่อปี ค.ศ. 1590 ตามมาด้วยโรคระบาด คณะเยซูอิตได้เปิดโรงพยาบาลฉุกเฉิน และอลอยซีอุสขอรับบริจาคและได้ช่วยดูแลคนเจ็บป่วย แต่ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1591 ท่านกลับป่วยเอง และสิ้นใจในวันที่ 21 มิถุนายน หลังจากทนทุกข์จากความเจ็บป่วยได้ 3 เดือน ท่านจากไปเมื่ออายุ 23 และเข้าคณะเยซูอิตมาได้เพียง 6 ปีเท่านั้น นักบุญโรเบิร์ต เบลลาร์มีน (St. Robert Bellarmine) ได้อยู่ข้างๆท่านตลอดทั้งคืนสุดท้ายนั้น ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญในปี ค.ศ. 1726 และในปี ค.ศ. 1729 ได้รับการประกาศให้เป็นผู้ปกป้องพิเศษและองค์อุปถัมภ์ของบรรดาเยาวชน โดยเฉพาะบรรดานักเรียนเยาวชนคาทอลิก

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

11 มิถุนายน ระลึกถึงนักบุญ บาร์นาบัส อัครสาวก

11 มิถุนายน ระลึกถึงนักบุญ บาร์นาบัส อัครสาวก

(St Barnabas, Apostle, memorial)

นักบุญบาร์นาบัสเป็นชาวยิวในตระกูลเลวีผู้มั่งคั่ง ตอนเกิดมามีชื่อว่าโยเซฟ และเกิดที่เกาะไซปรัส ท่านได้มาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม และเชื่อกันได้ว่าได้รับการศึกษาจากโรงเรียนของอาจารย์กามาลิเอล (Gamaliel) ในช่วงเวลาเดียวกับนักบุญเปาโล ท่านได้กลับใจมาเป็นคริสตชนหลังวันพระจิตเสด็จลงมา(Pentecost)ไม่นานนัก ราวปี ค.ศ.29 หรือ 30 และได้ขายทรัพย์สมบัติของท่านเพื่อประโยชน์ของพระศาสนจักร จึงได้รับชื่อนามสกุลจากบรรดาอัครสาวกว่า บาร์นาบัส (Barnabas) แปลว่า “บุตรแห่งการปลอบประโลมใจ” หรือ “บุตรแห่งการให้กำลังใจ” เป็นท่านเองที่ได้ต้อนรับเซาโลผู้กลับใจที่กรุงเยรูซาเล็ม และรับรองค้ำประกันเขาต่อบรรดาอัครสาวก เพราะในตอนแรกบรรดาอัครสาวกไม่ยอมเชื่อว่าผู้เบียดเบียนพระศาสนจักรอย่างรุนแรงผู้นี้จะกลับกลายมาเป็นผู้ประกาศเผยแผ่ความเชื่ออย่างกระตือรือร้นเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม จากการที่ท่านคุ้นเคยกับเซาโลมาก่อน ท่านจึงรู้ดีว่าเซาโลได้แสดงความเชื่อมั่นออกมาภายนอกอย่างจริงใจ จึงทำให้พระศาสนจักรได้ให้ตำแหน่งว่า “อัครสาวก” กับทั้งสองคน ไม่นานหลังจากนั้น

เราได้ยินเรื่องของบาร์นาบัสต่อไปเมื่อท่านถูกส่งตัวไปที่เมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรีย เนื่องจากข่าวที่ว่ามีชาวกรีกที่นั่นกลับใจมากมาย อันเป็นผลจากการที่มีศิษย์บางคนที่ไปจากเมืองซีรีน และจากบ้านเกิดของท่านคือไซปรัสไปเทศน์สอน เมื่อท่านได้ไปที่นั่นด้วยใจที่พร้อมจะลบอคติของความเป็นยิวในตัวท่าน และร่วมชื่นชมยินดีกับปรากฏการณ์แรกครั้งนี้ของพระหรรษทานของพระเจ้าที่ทำงานในท่ามกลางคนต่างศาสนา และพร้อมกับนักบุญเปาโลผู้ซึ่งท่านได้นำพากลับมาจากเมืองทาร์ซัส ได้ช่วยกันประกาศพระวรสารที่อันทิโอกตลอดทั้งปีเลยทีเดียว

ในปี ค.ศ.45 เมื่อกรุงเยรูซาเล็มเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงอย่างสาหัส อัครสาวกทั้งสองนี้ได้นำความช่วยเหลือจากคริสตชนที่เมืองอันทิโอกไปยังพระศาสนจักรแม่ และหลังจากกลับไปที่นั่นพวกท่านก็เริ่มเดินทางธรรมทูตอย่างยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรก โดยได้นำ ยอห์น มาระโก (ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของบาร์นาบัส) ไปด้วย และก็ได้เริ่มประกาศข่าวดีแห่งพระวรสารที่บ้านเกิดของท่านก่อน คือ เมืองไซปรัส แล้วนั้นก็เดินทางไปเอเซียน้อย (Asia Minor) ที่นี่เองที่พวกท่านต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรง และถูกเบียดเบียนจากพวกยิว ถึงกระนั้น ก็มีคนกลับใจเป็นจำนวนมาก และสามารถตั้งพระศาสนจักรต่างๆโดยมีสมณะท้องถิ่นคอยดูแลเอาใจใส่

หลังจากการประชุมที่กรุงเยรูซาเล็ม (The Council of Jerusalem)แล้ว บาร์นาบัสได้กลับไปเยือนกิจการธรรมทูตที่เมืองไซปรัสของท่านอีก โดยไปพร้อมกับ ยอห์น มาระโก ชีวิตของท่านต่อจากนั้นเรารู้น้อยมาก เชื่อกันว่าท่านถูกทุ่มด้วยหินจนถึงแก่ความตายก่อนปี ค.ศ.61 (ในช่วงนั้นเอง ยอห์น มาระโก ถูกส่งไปที่กรุงโรมเพื่อช่วยดูแลนักบุญเปาโล ผู้ถูกจับคุมขังไว้) เนื่องจากนักบุญบาร์นาบัสเป็นคนอ่อนโยน และชอบการประนีประนอม และมีความอดทนเป็นเลิศ ว่ากันว่า ต่อจากนักบุญเปาโลแล้ว ก็เป็นท่านนี่เองที่เป็นผู้ที่มีเสน่ห์น่าติดตาม และเป็นที่เคารพอย่างยิ่งในท่ามกลางกลุ่มคริสตชนในสมัยแรกๆ พระธาตุของท่านถูกค้นพบที่เมืองซาลามีส (Salamis) บนเกาะไซปรัส ในปี ค.ศ.482 พร้อมด้วยสำเนาพระวรสารของนักบุญมัทธิวที่เขียนเป็นภาษาฮีบรูชุดหนึ่งที่ถูกฝังไว้กับท่าน

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

13 พฤษภาคม พระนางมารีย์พรหมจารีแห่งฟาติมา

13 พฤษภาคม พระนางมารีย์พรหมจารีแห่งฟาติมา

(Our Lady of Fatima)

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ.1917 ซึ่งอยู่ในช่วงปีที่ 3 ของสงครามโลกครั้งที่ 1 (ซึ่งสงครามโลกครั้งนี้คร่าชีวิตผู้คนไปถึงแปดล้านคน) และมีเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น เช่น ในประเทศรัสเซียพวกบอลเชวิค (Bolshevik = สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ของรัสเซีย) ซึ่งเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ และไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า กำลังจัดตั้งองค์กรของตนขึ้น ภายใต้การนำของ เลนิน(Lenin) และทรอตสกี(Trotsky) ได้นำกองกำลังบุกไปถึงกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แต่ในเมืองเล็กๆที่ชื่อว่า “ฟาติมา” (Fatima) ซึ่งอยู่ในประเทศโปรตุเกส พระมารดาของพระเจ้าได้ปรากฏองค์เป็นครั้งแรก จากจำนวนทั้งหมดหกครั้ง ให้เด็กๆ 3 คนได้เห็น เพื่อเป็นการเรียกร้องผ่านทางเด็กทั้งสามขอให้โลกหันกลับจากการเป็นวัตถุนิยม และสงครามแบ่งแยกโลก

ทรงถามเด็กๆว่า “ด้วยจิตตารมณ์ของการถวายองค์เป็นบูชาขององค์พระเจ้า เธอยินดีจะรับทุกสิ่งที่พระองค์ทรงส่งให้เธอเพื่อชดเชยบาปทั้งหลายที่ต่อต้านพระองค์ โดยยอมเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรดาคนบาปได้กลับใจ และเพื่อชดเชยบาปแห่งการดูหมิ่นต่อพระองค์ทั้งมวล โดยนำมาเสนอต่อ ‘ดวงพระทัยนิรมลของพระนางมารีย์’ ได้หรือไม่” พวกเด็กตอบซื่อๆว่า “ได้” พระแม่จึงทรงขอร้องว่า “ดังนั้น จงสวดลูกประคำด้วยความศรัทธาบ่อยๆ เพื่อสันติภาพของโลก” และ “จงสวดสายประคำทุกๆวัน และหลังบทพระสิริพึงมี… ของแต่ละ 10 เม็ด ให้เพิ่มเติมท้ายว่า ข้าแต่พระเยซูเจ้า โปรดทรงอภัยบาปของพวกลูก โปรดให้พวกลูกพ้นจากไฟนรก โปรดนำวิญญาณทั้งหลายไปสู่สวรรค์ เป็นต้นวิญญาณของผู้ที่ต้องการพระเมตตามากที่สุด”

และในวันที่ 13 ตุลาคม พระแม่ทรงประกาศว่า “ฉันคือพระมารดาแห่งสายประคำศักดิ์สิทธิ์ ฉันมาเพื่อขอให้มวลมนุษยชาติทำการใช้โทษบาป และวอนขอให้ทรงอภัยบาปที่ได้ทำไป อย่าเพิ่มจำนวนการฝ่าฝืนมากมายนับไม่ถ้วนที่ได้ต่อต้านองค์พระเจ้า โดยเฉพาะบรรดาบาปที่เปื้อนมลทินทั้งหลาย”

บทรำพึง :
“ฉันยังไม่เคยพบคนใดเลยที่จะไม่กลับใจ
ถ้าก่อนหน้านี้ฉันมีเวลาที่จะสวดสายประคำ” (น.เคลเมนต์)

(ถอดความโดย คุณพ่อวิชา หิรัญญการ
จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

3 พฤษภาคม
ฉลองนักบุญฟิลิป และนักบุญยากอบ อัครสาวก

3 พฤษภาคม ฉลองนักบุญฟิลิป และนักบุญยากอบ อัครสาวก

( SS. Philip and James, Apostles, feast )

นักบุญฟิลิป (อัครสาวกและมรณสักขี ประมาณปี ค.ศ. 62)

นักบุญฟิลิปมีพื้นเพอยู่ที่หมู่บ้านเบธไซดาบนชายฝั่งทะเลสาบเยเนซาเร็ธ ในแคว้นกาลิลี ท่านเป็นหนึ่งในกลุ่มอัครสาวกรุ่นแรก และเป็นเครื่องมือในกระแสเรียกของนาธานาเอล ทันทีที่ท่านได้รู้จักพระเมสสิยาห์ ท่านก็ได้ปรารถนาจะทำให้เพื่อนของท่านคือนาธานาเอลได้มีส่วนร่วมในความสุขครั้งนี้ ฟิลิปได้ไปหาเขากล่าวว่า “เราพบผู้ที่โมเสสและบรรดาประกาศกเขียนไว้ในพระคัมภีร์แล้ว ผู้นั้นคือพระเยซูบุตรของโยเซฟ ชาวนาซาเร็ธ” ด้วยความประหลาดใจ นาธานาเอลได้ถามกลับว่า “จะมีอะไรดีมาจากนาซาเร็ธได้รึ” ฟิลิปตอบว่า “มาดูซิ” (ยน 1:45) แล้วเขาก็ตามฟิลิปไป และได้กลายเป็นคนแรกที่ประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระบุตรของพระเจ้า พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ของชนชาติอิสราเอล” (ยน 1:49)

นักประวัติศาสตร์ที่ชื่อว่า Theodoret และ Eusebius ได้ยืนยันให้เราทราบว่า หลังจากพระจิตเจ้าเสด็จมาเหนือบรรดาอัครสาวกแล้ว ฟิลิปได้ไปประกาศพระวรสารที่เอเซียน้อย (Asia Minor) โดยมีพวกลูกสาวที่เป็นพรหมจารีของท่านเดินทางไปด้วย ท่านอาจจะยอมรับการเป็นมรณสักขีโดยการตรึงกางเขนที่เมือง ฮีเอราโปลิส (Hierapolis) ในแคว้นฟรีเจีย (Phrygia)


นักบุญยากอบ องค์เล็ก (อัครสาวกและมรณสักขี ประมาณปี ค.ศ. 62)

นักบุญยากอบ องค์เล็ก (St. James the Less) เป็นพี่น้องกับนักบุญยูดา ธัดเดอุส (St. Jude Thaddaeus) และตามความเห็นทั่วๆไปบอกว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเยซูเจ้า มารดาของท่านคือ มารีย์ เคลโอปัส เป็นน้องสาวของพระนางพรหมจารีมารีย์ ท่านเป็นคนน่ารัก ศรัทธาร้อนรนและมีชีวิตภายในที่สนิทกับพระ ยากอบ “ผู้ยุติธรรม” (“the Just”) เป็นอีกชื่อหนึ่งที่รับรู้กัน ท่านได้กลายเป็นพระสังฆราชองค์แรกของกรุงเยรูซาเล็ม เป็นผู้มีจิตกุศลอย่างเด่นชัด มีความผูกพันและเคารพต่อพระวิหาร และขนบธรรมเนียมโบราณของชาวยิวอย่างยิ่งยวด รวมทั้งการยอมรับอย่างสงบภายใต้การเบียดเบียนของเฮโรด

นักบุญยากอบได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เขียน “จดหมายของนักบุญยากอบ = (ราว ค.ศ.47) ที่ได้รับการบรรจุอยู่ในสารบบพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ บางทีอาจจะเขียนถึงพระศาสนจักรในซีเรีย เพราะบรรดาสมาชิกที่นั่นถูกเลือกปฏิบัติ และถูกบีบ เพราะการปฏิบัติตามความเชื่อใหม่ที่ได้รับมา

เราต้องแยกแยะนักบุญยากอบ องค์เล็ก ว่าเป็นคนละคนกับอัครสาวกยากอบ บุตรของเศเบดี สำหรับการเป็นมรณสักขีของท่าน เชื่อกันว่าท่านถูกชาวยิวประหารชีวิตในราวปี ค.ศ. 62

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

1 พฤษภาคม
ระลึกถึง นักบุญโยเซฟ กรรมกร

1 พฤษภาคม ระลึกถึง นักบุญโยเซฟ กรรมกร

(St Joseph the Worker, memorial)

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1955 สมาคมของบรรดากรรมกรคาทอลิกอิตาเลียน (Catholic Association of Italian Workers) ได้นำสมาชิกมาที่จัตุรัสนักบุญเปโตรเพื่อเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ในการเข้าเฝ้าทั่วไป (public audience) โดยมีจุดประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีของสมาคมฯ และเพื่อให้คำมั่นสัญญาว่าจะซื่อสัตย์ต่อแผนปฏิบัติการด้านสังคมของพระศาสนจักร ในโอกาสนี้เองที่พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ได้ตั้งวันฉลองนักบุญโยเซฟกรรมกรขึ้นมา และกำหนดวันฉลองคือวันที่หนึ่งของเดือนพฤษภาคม พระองค์ทรงประกาศแก่ผู้มาเข้าเฝ้าในวันนั้น รวมทั้งผู้ใช้แรงงานทั่วโลกว่า “พวกท่านจะมีผู้ที่อยู่เคียงข้างท่าน เป็นทั้งนายชุมพา ผู้ปกป้องคุ้มกัน และเป็นบิดา”

ถ้าย้อนเวลาไปก่อนหน้านี้ คือในปี ค.ศ. 1889 พระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ได้เสนอให้นักบุญโยเซฟเป็นแบบอย่างโดยเฉพาะสำหรับ “พวกที่ต่ำต้อย พวกกรรมกร พวกด้อยโอกาส” ส่วนพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ให้บรรดากรรมกรมีท่าทีพิเศษต่อแบบอย่างของนักบุญโยเซฟ เพื่อพวกเขาจะได้ติดตามท่านในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำทางที่พิเศษ และให้เกียรติท่านในฐานะเป็นองค์อุปถัมภ์จากสวรรค์ให้กับพวกเขา และพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ได้เลือกช่างไม้แห่งนาซาเร็ธเป็นองค์อุปถัมภ์ในการต่อสู้เพื่อยับยั้งลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ปฏิเสธพระเจ้า “เพื่อให้สันติสุขของพระคริสต์ในพระอาณาจักรของพระองค์จงมาถึงในเร็ววัน ซึ่งทุกคนปรารถนาเช่นนั้น เราขอรณรงค์พระศาสนจักรทั่วไปให้ต่อสู้กับโลกของคอมมิวนิสต์ภายใต้บรรทัดฐานของนักบุญโยเซฟ ผู้ปกป้องที่มีฤทธิ์อำนาจของพระศาสนจักร ท่านเป็นชนชั้นแรงงาน และท่านได้ต่อสู้กับความยากจนของท่านเอง และครอบครัวศักดิ์สิทธิ์… ในชีวิตที่ท่านได้ทำหน้าที่ประจำวันอย่างซื่อสัตย์ ท่านได้มอบตัวอย่างสำหรับทุกคนที่ต้องทำมาหากินด้วยการทำงานมืออย่างยากลำบาก”

และสุดท้ายที่พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ผู้ทรงทำให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นในความสัมพันธ์พิเศษระหว่างนักบุญโยเซฟกับชนชั้นแรงงาน โดยการประกาศวันฉลองนักบุญโยเซฟกรรมกร และระบุให้ฉลองวันเดียวกับวันกรรมกร “ความตั้งใจของเราที่กระทำดังนี้ก็เพื่อนำให้มนุษย์ทุกคนได้ตระหนักถึงศักดิ์ศรีของการทำงาน เราหวังว่าศักดิ์ศรีนี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดรูปแบบของการจัดระเบียบสังคม และได้รับการรับรองจากองค์กรทางกฎหมายที่มีพื้นฐานของการแจกจ่ายที่เท่าเทียมกันทั้งเรื่องสิทธิและหน้าที่… จนแน่ใจว่าพวกท่าน(=บรรดาผู้ใช้แรงงาน)จะมีความพึงพอใจอย่างแท้จริง เพราะกรรมกรผู้แสนสุภาพแห่งนาซาเร็ธไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าและพระศาสนจักรถึงศักดิ์ศรีของบรรดาผู้ที่ทำงานด้วยมือของพวกเขาเท่านั้น แต่ท่านนักบุญโยเซฟยังเป็นผู้คอยเฝ้าระวังรักษาพวกท่านและครอบครัวอย่างมั่นคงอีกด้วย”

พระศาสนจักรผู้เป็นมารดาศักดิ์สิทธิ์ เป็นผู้แนะนำบรรดากรรมกรคริสตชนให้เฝ้ามองนักบุญโยเซฟผู้เป็นองค์อุปถัมภ์ของพวกเขาในฐานะเป็นแบบอย่างของการทำงานของบรรดาคริสตชน ดังเช่น นักบุญเบอร์นาร์ดแห่งแคลร์เวอซ์ (St. Bernard of Clairvaux) กล่าวไว้ว่า “จงจินตนาการงานของท่านจากชื่อที่แท้จริงของท่าน ซึ่งหมายถึง “เพิ่มพูนขึ้น” (‘increse’) คำว่า งาน นั้นในธรรมชาติของมันไม่ได้หมายถึงการลงโทษ แต่เป็นการทำให้แผนการของพระเจ้าเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมามากกว่า ดังนั้น ไม่ว่าเราจะทำเก้าอี้ขึ้นมาตัวหนึ่ง หรือสร้างอาสนวิหารขึ้นมาหลังหนึ่ง เราก็ถูกเรียกให้ทำให้ผลที่เกิดจากน้ำมือของเรา จากใจของเรา และจากความนึกคิดจิตใจของเราไปสู่จุดหมายสูงสุด กล่าวคือ การสร้างเสริมพระกายของพระคริสตเจ้า”

บทรำพึง : “เมื่อท่านจะกินจะดื่ม หรือจะทำอะไรก็ตาม จงกระทำเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้าเถิด” (1คร 10:31)

(ถอดความโดย คุณพ่อวิชา หิรัญญการ
จากหนังสือ Saint Companians For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

FABC-OSC จัดประชุมที่ศูนย์อภิบาลคามิลเลี่ยน ลาดกระบัง

FABC-OSC จัดประชุมที่ศูนย์อภิบาลคามิลเลี่ยน ลาดกระบัง

15-20 เมษายน 2024

แผนกสื่อสารสังคม ของสหพันธ์สภาบิชอปเอเชีย จัดประชุมบิชอปเอเชีย เรื่อง พระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกัน ศาสนบริการของพระสังฆราชด้านสื่อมวลชน ที่ศูนย์อภิบาลคณะคามิลเลียน ลาดกระบัง กรุงเทพฯ

มีสังฆราช 14 คน จาก 4 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ 7 คน อินเดีย 5 คน ปากีสถาน 1 คน และไทย 1 คน คุณพ่อ จอร์จ ปลาทอตตัม คณะซาเลเซียน ชาวอินเดีย เป็นผู้ดำเนินการ วันแรก ดร.คริสติน่า เค็ง ชาวสิงคโปร์ เป็นวิทยากร เรื่อง ซีโนด และการก้าวเดินไปด้วยกัน และสังฆมณฑลจะก้าวไปได้อย่างไร

คุณพ่อจอร์จ เรื่อง โครงสร้าง ของแผนกสื่อมวลชน และเอกสาร ด้านสื่อมวลชน ตั้งแต่สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 InTer Mirifica

สมณมนตรีกระทรวงเรื่องสื่อมวลชน ของพระศาสนจักรเป็นฆราวาสครับ คือ ดร.เปาโล รุฟฟีนี ชาวอิตาเลียน ได้ถ่ายทอดสดตอนห้าโมงเย็นจากกรุงโรม ให้ข้อคิด สื่อมวลชน ไม่ใช่แค่เครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยเพื่อประกาศพระวรสารเท่านั้น แต่สร้างความสัมพันธ์กันด้วย (Communion)

+ ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์