ที่ ชม.211/2020 เรื่อง ขอยกเลิกการประชุมพระสงฆ์ ประจําเดือนธันวาคม ค.ศ.2020

เรื่อง ขอยกเลิกการประชุมพระสงฆ์ ประจําเดือนธันวาคม ค.ศ.2020

ที่ ชม.211/2020
วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2563

เรื่อง ขอยกเลิกการประชุมพระสงฆ์ ประจําเดือนธันวาคม ค.ศ.2020 และงานฉลองศาสนนามฯพณฯ วีระ

เรียน พระคุณเจ้า พระสงฆ์ นักบวชชาย-หญิงและพี่น้องสัตบุรุษทุกท่าน

          ด้วยจากการรายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน การควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานสถานการณ์พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รายใหม่ เป็นหญิงวัย 29 ปี ในจังหวัดเชียงใหม่ จากการสอบสวนทราบว่าได้เดินทางกลับจากทํางานที่ประเทศเมียนมา ลักลอบเดินทางเข้าไทยผ่านพื้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีกลุ่มสัมผัสเสี่ยงทั้งพื้นที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ รวม 326 ราย แบ่งเป็นเสี่ยงสูง 105 ราย เสี่ยงต่ำ 149 รายและผู้สัมผัสอื่นๆ 72 ราย ทั้งนี้อยู่ระหว่าง ดําเนินการติดตามผู้สัมผัสมาตรวจหาเชื้อต่อไป

           จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางสังฆมณฑลเชียงใหม่ จึงขอยกเลิกการประชุมคณะกรรมการ บริหาร คณะกรรมการที่ปรึกษา/การประชุมพระสงฆ์ ประจําเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 และงานฉลองศาสนนาม ฯพณฯ ฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์

           จึงเรียนมาเพื่อทราบ


เคารพรักในพระคริสตเจ้า
(คุณพ่อยอแซฟ ศราวุธ แฮทู)
เลขาธิการสังฆมณฑลเชียงใหม่


สําเนาเรียน
พระสังฆราช ฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์

บทเทศน์บทรำพึง
อาทิตย์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ปี B

บทเทศน์บทรำพึง อาทิตย์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ปี B

เหตุการณ์เกิดขึ้นในวันหนึ่งของเดือนธันวาคม เด็กหนุ่มวัย 16 ปี ชื่อ แกรี่ ชไนเดอร์ กับเพื่อนอีก 2 คน เริ่มต้นการเดินทางสี่วันเพื่อปีนเขาสูงชื่อ Mt Hood (เป็นภูเขาสูงที่สุดของออริกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา = Oregon, U.S.A. – ผู้แปล) เมื่อขึ้นไปถึงแค่ระดับความสูง 9,000 ฟุต ก็เกิดพายุหิมะพัดมาและตกลงมาไม่ลืมหูลืมตาจนท่วมตัวชายหนุ่มทั้งสาม เขาเริ่มขุดอุโมงค์ในหิมะ เพื่อใช้กำบังลม และเพื่อรอพายุหิมะให้จบสิ้นไป

สิบเอ็ดวันล่วงไป พายุหิมะยังไม่มีท่าทีจะหยุด เบาะนอนของเด็กๆ เปียกปอน อาหารที่เตรียมไปเหลือน้อยจนต้องจำกัดวันละไม่เกินสองช้อนโต๊ะ ความบรรเทาใจอย่างเดียวที่มีคือหนังสือพระคัมภีร์เล่มเล็กๆ ที่ชายหนุ่มคนหนึ่งติดกระเป๋าไปด้วย พวกเขาจัดเวรกันอ่านพระคัมภีร์วันละแปดชั่วโมง มันเป็นภาพแห่งความฝันร้าย ที่ชายหนุ่มทั้งสามต้องเบียดเสียดกันอยู่ภายในถ้ำเล็กๆ ที่หนาวเย็นยะเยือก พวกเขาต้องปลอบใจกันชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า วันแล้ววันเล่า พลางฟังพระวาจาของพระท่ามกลางเสียงประกอบของเสียงลมพายุที่ดุดัน

หนังสือบทสดุดีในพระคัมภีร์ดูเหมือนจะอธิบายสถานการณ์ของเด็กเหล่านี้ได้ดีมากทีเดียว กษัตริย์ดาวิดได้เขียนบางบทขึ้นมาในขณะที่พระองค์ติดกับอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ต่างไปจากพวกเขา – คือหิวโหย โดดเดี่ยวอ้างว้าง ไม่รู้ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น มีเพียงความไว้ใจในพระเจ้าเท่านั้น

ถ้าความช่วยเหลือจะมาถึงได้ ก็คงต้องมาจากพระเจ้านั่นเอง

การรอคอยแบบนี้ไม่ง่ายเลย สิ่งที่ชายหนุ่มสามคนทำได้คือ การภาวนา หวังว่าพายุหิมะจะจบลง และความช่วยเหลือจะมาถึงพวกเขา….. ในที่สุด วันที่ 16 ของการติดอยู่ในพายุหิมะก็สิ้นสุด อากาศแจ่มใส และชายหนุ่มทั้งสามก็คลานออกมาจากถ้ำหิมะ แต่พวกเขาไม่มีเรี่ยวแรงพอ จึงต้องค่อยๆก้าวไปทีละก้าวสองก้าว แล้วก็หยุดพัก แต่ในที่สุดพวกกู้ภัยก็มองเห็นพวกเขา และเข้ามาช่วยพวกเขา การทดสอบที่ยาวนานของการรอคอยจึงสิ้นสุดลงในที่สุด

อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในเมืองไทยนี่เอง คงยังจำกันได้ดีถึงชื่อวนอุทยานถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เหตุเกิดเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2561 เยาวชนชายซึ่งเป็นนักฟุตบอลทีมหมูป่า อะคาเดมี แม่สาย จำนวน 12 คน มีอายุตั้งแต่ 11-16 ปี กับโค้ชอีก 1 คน (รวมเป็น 13 คน) ได้เข้าไปเที่ยวในถ้ำ แต่เกิดฝนตกหนัก เกิดน้ำท่วมในถ้ำ พวกเขาไม่สามารถออกมาทางปากถ้ำได้ แต่กลับถูกภัยธรรมชาติผลักดันให้หนีเข้าไปลึกๆ มากขึ้นๆ เรื่อยๆ เมื่อข่าวนี่แพร่ไป นักกู้ภัยทั้งในไทยและต่างประเทศก็ร่วมมือกันปฏิบัติการช่วยเหลือ เด็กๆเหล่านั้นต้องรอคอยด้วยความอดทนเป็นอย่างมาก มองไม่เห็นหนทางว่าจะออกมาจากถ้ำได้เมื่อไร ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน จะทนอีกนานเท่าใด จะมีใครมาช่วยไหม ทุกๆวันต้องเกาะกลุ่มกันไว้ ต้องค่อยๆแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะต้องต่อสู้กับความหิว ความกระหาย การรอคอยที่เนิ่นนาน

จนถึงวันที่ 9 ของการติดถ้ำ นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ 2 คน เป็นกลุ่มแรกที่พบเด็กทั้งหมด แม้แต่พบตัวแล้ว แต่ก็ยังนำออกมาไม่ได้ ต้องมาปรึกษากันทุกๆฝ่ายว่าจะหาวิธีใดที่สามารถช่วยให้ทุกคนออกมาได้อย่างปลอดภัย และค่อยๆทำตามแผนจนกระทั่งวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ก็สามารถช่วยเหลือลำเลียงเด็กออกมาจากถ้ำได้สำเร็จครบถ้วนและปลอดภัย รวมระยะเวลาตั้งแต่แรกจนจบภารกิจใช้เวลา 17 วัน (ข้อมูลจาก Wikipedia – ผู้แปล)

เรื่องของเด็กๆ สองกลุ่มจากสองเหตุการณ์นี้ ต่างก็พูดถึงการที่พวกเขาเกาะกลุ่มกัน รอคอยให้พายุสงบลง รอคอยให้น้ำที่ปากถ้ำลดลง ซึ่งถือว่าเป็นภาพลักษณ์ที่ดีถึงเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ชาวอิสราเอลต่างรอคอยอย่างยาวนานให้พระเมสสิยาห์เสด็จมา พวกเขาไม่สามารถที่จะไปเร่งเร้าการเสด็จมาของพระองค์ได้ สิ่งที่ทำได้ก็คือ “การรอคอย” และ “การภาวนา” เหมือนเด็กกลุ่มแรกที่ทำได้เพียงไว้วางใจในพระ ว่าพระองค์จะทรงมาช่วยเหลือ พวกเขาเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับชาวเราที่กำลังรอคอยการเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้า คือใช้พระวาจาของพระองค์หล่อเลี้ยงชีวิตปัจจุบันของเรา และมอบความไว้วางใจทั้งครบในพระองค์ และให้เราใช้เวลาแห่งการรอคอยรับเสด็จพระองค์อย่างมีคุณค่า เช่น การประกาศข่าวดีของพระคริสตเจ้าให้คนมาเป็นศิษย์ของพระองค์ การเป็นประจักษ์พยานยืนยันถึงพระองค์โดยการปฏิบัติจริง ด้วยการให้อาหารแก่ผู้หิวโหย ให้น้ำดื่มแก่ผู้ที่กระหาย ให้เสื้อผ้าแก่ผู้ที่เปลือยเปล่า ให้การต้อนรับแขกแปลกหน้า ทำงานเพื่อให้มีสันติสุขและความรักต่อกัน ดังที่พระเยซูเจ้าทรงรักเรา สิ่งต่างๆเหล่านี้ที่เราปฏิบัติจริง จะเป็นการเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าอย่างดีที่สุด และเป็นการก้าวเดินที่ถูกทางแล้ว เราจะไม่หลงทางอย่างแน่นอน และก็สอดคล้องกับคำเตือนของพระเยซูเจ้าในพระวรสารวันนี้ที่ว่า “จงระวัง จงตื่นเฝ้าเถิด เพราะท่านทั้งหลายไม่รู้ว่าวันเวลานั้นจะมาถึงเมื่อไร”

(คุณพ่อวิชา หิรัญญการ เขียนเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020
Based on : (1) Illustrated Sunday Homilies – Year B ; by Mark Link, SJ.
(2) Wikipedia : เรื่องวนอุทยานถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ; ปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่า อะคาเดมี แม่สาย ที่ติดถ้ำ)

บทเทศน์บทรำพึง อาทิตย์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ปี B

หญิงคนหนึ่งกำลังยืนอยู่ที่ท่าเรือ สายตาของเธอจับจ้องไปที่เส้นขอบฟ้าไกลโพ้นในทะเล ในขณะที่กำลังรอคอยเรือลำที่จะนำสามีของเธอกลับมาบ้าน คุณพ่อคนหนึ่งปีนขึ้นไปบนเนินเขาเพื่อมองดูได้ไกลขึ้น เขากำลังรอคอยลูกชายคนเล็กที่จะกลับมาบ้านในไม่ช้า คู่แต่งงานที่ยังหนุ่มสาวคู่หนึ่งกำลังรอคอยด้วยความคาดหวังถึงพัฒนาการการเจริญเติบโตของบุตรที่กำลังจะลืมตามาดูโลก ชายชราผู้หนึ่งนั่งอยู่ที่บริเวณระเบียงบ้านพักของคนชรา กำลังรอคอยวันเวลาที่ครอบครัวของเขาจะพากันมาเยี่ยม ทุกคนเหล่านี้กำลังรอคอย เป็นการรอคอยที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง พวกเขาไม่มีอำนาจใด ๆ ที่จะมาทำให้ความหวังของเขามาบรรจบกับความจริง สิ่งที่ทำได้ก็เพียงแต่การรอคอย

การรอคอยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่มีชีวิตหนึ่งชีวิตใดที่ไม่ต้องรอ เรารอเวลาที่จะเกิดมา รอที่จะได้รับการฟูมฟัก รอเวลาที่จะได้รับความรัก เราเรียนรู้ในเวลาต่อมาว่า ชีวิตเรามีอะไรต้องเยอะแยะ และคนเรามีอะไรอีกมากมาย ที่เราไม่สามารถจัดการให้บรรลุในเวลาเดียวกัน ดังนั้นเราก็ต้องรอคอย

เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า คือ ช่วงเวลาที่เรารอคอยองค์พระมหาไถ่ เราไม่สามารถเข้าใจพระเจ้า เราไม่สามารถเป็นเจ้าของพระเจ้า เราไม่สามารถมองเห็นพระเจ้า เราได้แต่เพียงรอคอยให้พระเจ้าทรงเผยพระองค์ให้เราทราบ และในขณะที่เรารอคอยพระองค์ เราต้องสารภาพว่าเรามีความอ่อนแอ ไม่ครบครัน เหมือนประกาศกอิสยาห์ในบทอ่านแรก ท่านได้กระตุ้นให้ชาวอิสราเอลมีความหวังต่อไป อย่าไปท้อแท้กับชีวิต แม้สถานการณ์ต่างๆดูเหมือนไม่น่าหวังอีกต่อไป ในขณะเดียวกันก็สอนให้พวกเราระลึกถึงตัวเองว่าเป็นคนบาป “พระองค์ทรงกริ้ว ข้าพเจ้าทั้งหลายก็ยังขืนทำบาปต่อไป ข้าพเจ้าทั้งหลายทำบาปมาแต่ครั้งโบราณแล้ว พวกเราทั้งหมดทำบาป” ดังนั้น ในการรอคอยพระองค์เสด็จมา ขอให้การรอคอยของเราเป็นประดุจคำภาวนา ซึ่งทำให้เราตระหนักถึงความยากจนแห่งจิตใจของเรากับความยิ่งใหญ่ของพระองค์

จงอย่าปล่อยให้ความหวังของเราสูญสิ้นไป มนุษย์เป็นจำนวนมากจดจำองค์พระมหาไถ่ไม่ได้เมื่อพระองค์เสด็จลงมาบังเกิด ทรงพระนามว่า “พระเยซู” ส่วนพวกเราทั้งหลาย ในฐานะที่เป็นคริสตชน เราต้องเฉลิมฉลองพระนามของพระองค์ เพราะพระนามของพระองค์จะทรงนำความรอดพ้นมาสู่เรา พระองค์เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกไว้ ทรงเป็นพระบุตรสุดที่รัก พระเจ้าทรงส่งพระองค์มาเพื่อตอบสนองเสียงร่ำร้องรอคอยของประชากรของพระองค์ ดังนั้น การรอคอยของเรา และของมวลมนุษยชาติ ถูกทำให้เติมเต็มโดยการเสด็จมาบังเกิดของพระเยซูเจ้านั่นเอง

เราอยู่ในยุคสมัยระหว่างสมัยที่พระเยซูเจ้าเสด็จมาบังเกิดแล้วในประวัติศาสตร์ กับกำลังรอคอยการเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระองค์ พระวรสารของอาทิตย์นี้โดยนักบุญมาระโก ได้ให้คำสอนของพระเยซูเจ้าที่มีต่อบรรดาศิษย์ว่า “จงระวัง จงตื่นเฝ้าเถิด” ดังนั้น เราจงดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าตามแบบที่พระเยซูเจ้าทรงสั่งสอน

นักบุญเปาโล เน้นว่า ในการดำเนินชีวิตเป็นพยานถึงพระคริสต์อย่างเข้มแข็งจนถึงที่สุดนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะพระคริสต์จะทรงประทานพระพรทุกด้านให้กับเรา จนกระทั่งเราไม่ขาดพระคุณใดๆ เลย ในขณะที่รอคอยการเสด็จมาของพระเยซูเจ้า (เทียบ 1 คร. 1:5-8)

( คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดพระกุมารเยซู เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2008
Based on : Seasons of the Word ; by Denis McBride)

ร่วมงาน ชุมนุมผู้สูงอายุ เขต 4

ร่วมงาน ชุมนุมผู้สูงอายุ เขต 4

วันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2020

เช้าวันเสาร์ร่วมงานสุวรรณสมโภช ของซิสเตอร์อูร์สุลิน 4 ท่าน ที่โรงเรียนเรยีนา เชียงใหม่ พ่อเดินทางไปวัดนักบุญเปโตร แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ใช้เวลาเดินทาง ประมาณ 5 ชั่วโมง
18.30 น. ร่วมสวดสายประคำ กับบรรดาผู้อาวุโส ก่อนมิสซาหนึ่งทุ่ม
วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน สมโภชพระคริสตกษัตริย์
8.45 – 9.45 น. พ่อพบปะกับบรรดาผู้อาวุธโส ฉายวีดีทัศน์ “สมณดำรัส 8 ประการของโป๊ปฟรังซิสเสด็จประเทศไทย” โอกาสครบ 1 ปี เอาถุงยา 60 ชุด (ได้รับจากคุณพ่อสมเกียรติ ตรีนิกร ) แจกแก่บรรดาผู้ป่วย ปวดฟัน และสนทนาเรื่อง ชีวิตเป็นพระพร
11.00 น. มิสซา หลังเทศน์ มีโปรดศีลเจิมแก่ผู้ป่วย และผู้อาวุโส ประมาณ 100 คน
หลังอาหารเที่ยง พ่อธงชัย เจ้าอาวาสพาผมไปโปรดศีลเจิม และเยี่ยมผู้ป่วย 1 คน ใกล้ๆวัด ทำให้มีโอกาสสนทนากับสมาชิกครอบครัวนี้ทั้งหมด
พ่อนึกถึงสิ่งที่โป๊ปฟรังซิสเคยตรัสว่าปัจจุบันผู้อาวุโสเป็นผู้ถ่ายทอดความเชื่อ สอนคำสอน แก่หลานๆมากกว่าพ่อแม่ “ครอบครัวดี ศรัทธา ลูกหลานก็ดี ศรัทธา ชาวประชาสุขสันติ์”
ขอบใจคุณประภา ครูถาวร และทุกคนที่ช่วยจัดงานนี้ครับ ขอพระอวยพรเสมอ

ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์ รายงาน

ประชุมการประกาศข่าวดีในวัฒนธรรม

ประชุมการประกาศข่าวดีในวัฒนธรรม

สืบเนื่องจากการเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ระหว่าง 20-23 พฤศจิกายน ค.ศ.2019 ทั้งจากบทเทศน์  และพระกระแสสมณดำรัส  พระองค์ตรัสย้ำเตือนใจหลายครั้งเกี่ยวกับการประกาศข่าวดีในวัฒนธรรม  และสมณสภาเพื่อส่งเสริมการประกาศข่าวดีใหม่ได้ออกคู่มือการสอนคำสอนฉบับใหม่ ( มิถุนายน 2020) เป็นพิเศษข้อ 42-47    มงซินญอร์  วิษณุ ธัญญอนันต์  รองเลขาธิการสภาบิชอปคาทอลิกแห่งประเทศไทย  จึงได้ประสานงานจัดประชุมวันที่ 20 พฤศจิกายน 2020 ณ  ตึกของสภาฯ  ซอยนนทรี 14 กรุงเทพ มีผู้ร่วมประชุม 15 คน

            พระคุณเจ้า ชูศักดิ์  สิริสุทธิ์  ประธานคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์  และคริสตศาสนจักรสัมพันธ์  ได้บรรยายสาระสำคัญของการประกาศข่าวดี  และการอยู่ในวัฒนธรรม (Inculturation)  ตามคำสอนของพระศาสนจักร  จากเอกสาร 8 ฉบับ  ตั้งแต่ งานธรรมทูตแห่งพระศาสนจักร (1965) พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ (1965) การประกาศพระวรสารในโลกสมัยใหม่ (1975) พระพันธกิจขององค์พระผู้ไถ่ (1990) พระศาสนจักรในเอเชีย (1999)  2000 ปีของการประกาศพระวรสาร  โดยคุณพ่อโรแบรต์  โกสเต (MEP) ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร (2013) และกฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ของพระศาสนจักรคาทอลิกไทย ค.ศ. 2015 (2017) และมงซินญอร์  ได้แปลคู่มือการสอนคำสอนเล่มใหม่ (2020) ข้อ 42-47 เป็นข้อมูลเพิ่ม

เราประทับใจมาก  เป็นพิเศษ  คำแนะนำ จากสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อถึงพระสังฆราชในเขตมิสซัง (ค.ศ. 1659) และคำแนะนำของพระสังฆราชหลุยส์ ลาโน (ค.ศ. 1681)

            คุณพ่อ นิพจน์  เทียนวิหาร  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย  และฝึกอบรมศาสนา  และวัฒนธรรม เชียงใหม่  จากประสบการณ์ชีวิตสงฆ์มากกว่า 40 ปี  การทำงานร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัย  ด้าน ชาติพันธุ์ศึกษา  เทววิทยาเรื่องข้าว  กองบุญข้าว  ข้อคิด  ข้าว 9 เม็ด  เอาข้าวมาล้อมสตางค์

            คุณพ่อประยูร  พงษ์พิศ  แผนกศาสนสัมพันธ์  คริสตจักรสัมพันธ์  แผนกวัฒนธรรมอีสาน  และแผนกมรดกวัฒนธรรม  ของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง  ได้แบ่งปัน  3 ประเด็น คือ

  1. การฝึกจิต โต้กระแสโลกาภิวัตน์ ละกิเลส
  2. การฟังเขา เพราะมีสมบัติมั่งคั่งมากมายในศาสนาอื่น  เราอย่าโอ้อวด
  3. การอยู่ร่วม อยู่ในวัฒนธรรม อยู่กับชาวบ้าน  แบบคุณพ่อฟิล  ธรรมทูตฟิลิปปินส์

            คุณพ่อสมเกียรติ  บุญอนันตบุตร  ผู้จัดการแผนกศาสนสัมพันธ์ และคริสตศาสนจักรสัมพันธ์  อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ  ได้เสนอให้พิจารณาทำ  แนวทางปฏิบัติแก่สัตบุรุษในวัฒนธรรมร่วมสมัย  ที่คุณพ่อไพศาล  อานามวัฒน์  ได้เคยจัดพิมพ์ไว้

            คุณพ่อเชษฐา  ไชยเดช  อาจารย์พิธีกรรม  วิทยาลัยแสงธรรม  ได้กล่าวถึงหนังสือพิธีกรรม เล่ม 4 ของคุณพ่อสำราญ  วงศ์เสงี่ยม  วิทยาลัยแสงธรรมจัดพิมพ์ (ตุลาคม พ.ศ. 2523/ค.ศ.1980)  เรื่อง  การนำวัฒนธรรมไทยมาดัดแปลงในพิธีกรรมโรมันคาทอลิก

            ขอขอบคุณแมร์มีเรียม กิจเจริญ คณะเซนต์ปอลฯที่ผลักดันให้มีการประชุมเรื่องสำคัญนี้  ขอบคุณพระคุณเจ้า  ชูศักดิ์  สิริสุทธิ์  ได้บรรยาย 100 นาที  ปลุกจิตสำนึกของเรา และยินดีเป็นวิทยากรแก่ครูคำสอน  และผู้สนใจการประกาศข่าวดีในวัฒนธรรมในโอกาสต่อไป

ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์

การนมัสการศีลมหาสนิท

การนมัสการศีลมหาสนิท

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสได้ตรัสในพระสมณสาส์นเตือนใจ  ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร( Evangelii  gaudium ย่อหน้า 262 ) ว่า “หากปราศจากช่วงเวลาที่มอบให้แก่การนมัสการ  การพบปะ  การภาวนากับพระวาจา  และการสนทนาอย่างจริงใจกับพระเจ้า  กิจการงานนั้นก็จะปราศจากความหมายอย่างง่ายดาย  เราจะอ่อนแอลง  เพราะความเหนื่อยล้า  และปัญหาความยุ่งยาก  และความกระตือรือร้นก็ดับสิ้นลง  พระศาสนจักรดำรงอยู่ได้โดยอาศัยปอดแห่งการภาวนา  ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีมากเมื่อมีสถาบันทางศาสนา  กลุ่มภาวนาอ้อนวอน  การอ่านพระวาจา และการนมัสการศีลมหาสนิทตลอดทั้งวัน  ในทุกสถาบันของพระศาสนจักร”

โป๊ปฟรังซิสตรัสกับบรรดาพระสงฆ์  นักบวช  สามเณร  และครูคำสอน  ณ วัดนักบุญเปโตร  สาม

พราน วันที่  22 พฤศจิกายน  2019  ตอนหนึ่งกล่าวว่า “พวกเราต้องภาวนา  การบังเกิดผลในการแพร่ธรรมเรียกร้อง  และดำรงอยู่บนความสนิทสนมกับพระเจ้าผ่านการสวดภาวนา  เป็นความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า  ที่เหมือนกับปู่ย่าตายายของเราแสดงออกมา  เมื่อพวกเขาสวดสายประคำบ่อยๆ”

เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน  พ่อมีโอกาสไปที่สำนักมิสซังท่าแร่-หนองแสง  จังหวัดสกลนคร   ได้

สนทนากับพระอัครสังฆราช  วีระเดช  ใจเสรี  ท่านได้บอกว่าที่อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่  สกลนคร  ที่วัดสองคอน  จังหวัดมุกดาหาร  วัดนักบุญยอแซฟ ดอนคู่  อำเภอพังโคน  จังหวัดสกลนคร  และที่วัดแม่พระประจักษ์ที่ลูร์ด น้ำบุ้น อำเภอวานรนิวาส  จังหวัด สกลนคร มีการนมัสการศีลมหาสนิทเป็นประจำ ผมจึงได้ติดต่อครูเปิ้ลขอรูปมาประกอบเรื่องนี้  ผมดีใจที่สัตบุรุษหลายวัดมีการนมัสการศีลมหาสนิท เป็นประจำ

           หากวัดใด  มีจัดการเฝ้าศีลมหาสนิท  เป็นประจำ  ทุกวัน หรือตลอดทั้งวัน(24 ชั่วโมง)  ช่วยประชาสัมพันธ์  ให้ผมทราบนะครับ  อยากสนับสนุนเรื่องนี้จริงจังในบ้านเรา เพื่อสันติสุขที่ยั่งยืน ในชีวิต และชุมชนของเรา

ฟ.วีระ  อาภรณ์รัตน์

บทเทศน์บทรำพึง
สมโภชพระเยซูเจ้า กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล

บทเทศน์บทรำพึง สมโภชพระเยซูเจ้า กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล

หัวข้อ : The king and I

มีเรื่องเล่าว่า กษัตริย์ชราผู้ไม่มีรัชทายาทพระองค์หนึ่งทรงต้องการมอบบัลลังก์ของพระองค์ให้กับชายหนุ่มผู้คู่ควรกับอาณาจักรของพระองค์ ดังนั้น ทรงประกาศออกไปว่าจะทรงคัดเลือกผู้สืบตำแหน่งต่อ มีชายหนุ่มที่ร่ำรวย และแข็งแรงมากมายได้มาที่พระราชวังเพื่อรับการคัดเลือก แต่ก็ถูกส่งกลับไปจนหมดสิ้น มีคนเลี้ยงแกะยากจนคนหนึ่งอาศัยในหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล เขาปรารถนาจะเป็นกษัตริย์ด้วยเหมือนกัน จึงได้รวบรวมเงินทั้งหมดที่มีไปซื้อเสื้อผ้าชุดที่เหมาะสม แล้วก็เดินทางไปที่พระราชวัง ใกล้จะถึงพระราชวังเขาพบขอทานคนหนึ่งสวมเสื้อผ้าเก่าและขาดกะรุ่งกะริ่งเข้ามาขอทานจากเขา เขานึกสงสารมาก กล่าวว่า “เพื่อนเอ๋ย ฉันมาจากหมู่บ้านห่างไกลเพื่อมาสมัครเป็นกษัตริย์และฉันก็ไม่มีเงินเหลือจะให้ทานหรอก แต่ฉันมีเสื้อผ้าใหม่ชุดที่สวมอยู่นี่ ฉันจะให้ชุดใหม่นี้แก่ท่านแลกเปลี่ยนกับชุดของท่าน” ชายขอทานนั้นตกลง เมื่อแลกเปลี่ยนแล้วเขาขอบคุณชายคนนั้นแล้วจากไป ชายคนนั้นมองดูชุดที่ขาดกะรุ่งกะริ่งของตนแล้วรู้สึกเขินอาย จึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน แต่ทันใดนั้น มีข้าราชสำนักคนหนึ่งปรากฏตัวขึ้นบอกกับเขาว่า “พระมหากษัตริย์ต้องการพบท่าน” เมื่อเขาเข้าไปในพระราชวัง เขาตกใจมากที่เห็นว่าพระมหากษัตริย์คือขอทานคนนั้นซึ่งกำลังสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ของเขาอยู่ พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ลูกรัก ลูกเป็นผู้สมควรที่สุดที่จะปกครองอาณาจักรของเรา”

เรื่องเล่าที่เกี่ยวกับกษัตริย์และอาณาจักรต่างๆ มีเสน่ห์ดึงดูดใจให้คิดถึงภาพของความโอ่อ่าหรูหราและอำนาจ แต่พระวาจาของวันนี้ เราจะเห็นภาพอำนาจของกษัตริย์ที่ดูเหมือนขัดแย้งในตัวเอง และการเลือกผู้ที่สมควรเป็นทายาทก็เป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจ เนื่องจากเป็นอาทิตย์สุดท้ายของปีพิธีกรรม และได้กล่าวถึง “ผู้ที่เล็กน้อยหรือต่ำต้อยที่สุด” แต่ก็เหมือนกับตอนจบอย่างสง่าของอุปรากรเรื่องหนึ่ง (like the grand finale of an opera) นักบุญมัทธิวได้เก็บรักษาข้อความนี้ไว้ในฐานะเป็นจุดสูงสุด (climax) ของคำเทศน์สอนสุดท้ายในเรื่องงานบริการของพระเยซูเจ้า จริงๆแล้ว นี่ก็คือ “คำสั่งสุดท้าย” ของพระเยซูเจ้าในเรื่องการบริการรับใช้เพื่อนพี่น้องนั่นเอง และสิ่งที่ตามมาก็คือ การนำไปสู่ความรอด (salvation)

พิธีกรรมของวันนี้ชี้ให้เห็นความเป็นกษัตริย์ของพระคริสต์ ตัดกับฉากของเหตุการณ์เรื่อง “ประวัติศาสตร์แห่งความรอด” ที่ท้ายสุดแล้วพระเยซูเจ้าจะทรงปราบศัตรูทั้งหมดของพระองค์ให้อยู่ใต้พระบาท แล้วนั้นจะทูนถวายอาณาจักรแด่พระบิดาเจ้า เพื่อว่า “พระเจ้าจะได้ทรงเป็นทุกสิ่งในทุกคน” (ในบทอ่านที่สอง) อำนาจและอานุภาพทั้งหลายจะถูกทำลายเมื่อพระเยซูเจ้าจะเสด็จมาครั้งที่สอง เมื่อนั้นพระองค์จะทรงตัดสินทุกคนตามมาตรวัดของพระบัญญัติสูงสุดของพระองค์ นั่นคือ “ความรัก”

ในบทอ่านแรกนำเสนอหัวข้อความเป็นกษัตริย์ด้วยภาพของนายชุมพาบาล โดยเปรียบเทียบพาดพิงไปถึงกษัตริย์ดาวิด บรรดากษัตริย์ของอาณาจักรยูดาห์ก่อนเนรเทศส่วนมากเป็นนายชุมพาบาลจอมปลอมที่นำบรรดาฝูงแกะให้หลงไป ดังนั้น พระเจ้าเองจะทรงเลี้ยงดูแกะของพระองค์ และจะตามหาแกะที่สูญหายไป นำแกะที่หลงทางกลับมา พันแผลแกะที่บาดเจ็บ และเสริมกำลังแกะที่อ่อนเพลีย ประโยคสุดท้ายให้ความหมายของการตัดสินคือ “เราจะพิพากษาระหว่างแกะกับแกะ ระหว่างแกะเพศผู้กับแพะเพศผู้”

ภาพเปรียบเทียบของการแยกผู้คนทั้งหลายโดยใช้ภาพของแกะและแพะที่กล่าวไว้ในบทอ่านแรก และในพระวรสารก็กล่าวอีกว่า “พระองค์จะทรงแยกเขาออกเป็นสองพวก ดังคนเลี้ยงแกะแยกแกะออกจากแพะ ให้แกะอยู่เบื้องขวา ส่วนแพะอยู่เบื้องซ้าย” นั้น จะใช้พื้นฐานของปฏิบัติการจริง ว่าได้ให้บริการด้วยความรักต่อผู้ที่ “ต่ำต้อยที่สุด” ในสังคมหรือไม่ อันได้แก่ ให้อาหารแก่ผู้หิว ให้เสื้อผ้าแก่ผู้ที่เปลือยเปล่า ไปเยี่ยมคนเจ็บไข้ได้ป่วย ฯลฯ พวกที่ได้รับการต้อนรับเข้าในพระอาณาจักรได้แสดงความแปลกใจออกมา เพราะพวกเขาได้ทำงานรับใช้โดยไม่ได้เห็นแก่รางวัล แต่มาจากความรักที่มีต่อเพื่อนพี่น้องอย่างบริสุทธิ์ใจ เราเห็นตัวอย่างจริงเช่นนี้มากมาย เช่น นักบุญเดเมียน พระสงฆ์ (St Damien of Molokai, 1840-1889) ที่ไปอยู่ที่เกาะของคนโรคเรื้อนเพื่อรับใช้พวกเขา จนตัวเองติดโรคไปด้วย และตายไปในที่สุด หรือ นักบุญเทเรซา แห่งกัลกัตตา ที่ไปอยู่ท่ามกลางพี่น้องที่ยากจนและน่าสงสารที่สุดเพื่อช่วยเหลือพวกเขา ฯลฯ

ในปี ค.ศ. 1956 มีภาพยนต์ที่มีชื่อเสียงที่เคยเป็นละครเวทีที่โด่งดังมาก่อนเรื่อง The King and I (ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายในเมืองไทย) มีหลายเพลงประกอบที่มีความไพเราะ ประพันธ์โดย ร็อดเจอร์ส และ แฮมเมอร์สไตน์ (Rodgers and Hammerstein) เนื้อเรื่องกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ของสยาม (= ในหลวงรัชกาลที่ 4) ได้ทรงมอบบรรดาพระโอรสและพระธิดาเล็กๆทั้งหลาย ให้อยู่ในการดูแลและสอนภาษากับแหม่มแอนนา เนื้อเรื่องเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรัก (แต่งเสริมเติมแต่งขึ้นมาให้มีความน่าสนใจ จากบทบันทึกของแหม่มแอนนา) ณ ที่นี้ขอเปรียบเทียบว่า พระคริสต์ – องค์กษัตริย์ กับ เราแต่ละคน เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันด้วยบทบัญญัติแห่งความรัก พระเยซูเจ้าทรงมอบเด็กเล็กๆ (ลูกของพระองค์ = บรรดาคนต่ำต้อยที่สุดทั้งหลาย) ให้อยู่ในความเอาใจใส่ดูแลของเรา เราแต่ละคนได้ตอบสนองต่อพระองค์และบรรดาคนเล็กน้อยที่สุดเหล่านั้นเช่นไร

(เขียนโดย คุณพ่อวิชา หิรัญญการ ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2017
Based on : Sunday Seeds for Daily Deeds โดย Francis Gonsalves, S.J.)

บทเทศน์บทรำพึง สมโภชพระเยซูเจ้า กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล

“พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่นั้นคือใครผู้ใด พระองค์คือพระเยซูเจ้าผู้เข้มแข็ง”

วันนี้ เป็นวันสมโภชพระเยซูเจ้า กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล ข้อความข้างบนเป็นบทสร้อยที่เราร้องสลับกับบทสดุดีในพิธีมิสซาของวันนี้ โดยเติมชื่อพระเยซูเจ้า เข้าไปเพื่อให้เหมาะกับวันสมโภชนี้

หลายคนที่เป็นคนรุ่นเก่าหน่อย คงจะได้เคยชมภาพยนตร์ หรืออย่างน้อยก็คุ้นกับชื่อ “King of kings” ซึ่งแปลเป็นไทยได้งดงามทั้งภาษาและความหมายว่า “จอมราชัน” ซึ่งเป็นผู้อื่นใดไปมิได้ นอกจากหมายถึง พระเยซูเจ้า แต่เพียงพระองค์เดียว

แต่เมื่อชมเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของพระองค์ หรือศึกษาจากพระวรสารเกี่ยวกับชีวิตของพระองค์แล้ว เราจะทราบว่า ความยิ่งใหญ่ของพระองค์มาจากความเรียบง่าย มาจากการทำตามพระประสงค์ของพระบิดา มาจากความสุภาพถ่อมองค์ลงจนถึงที่สุด และมาจากความรักและเมตตาอย่างล้นเหลือต่อมวลมนุษย์ชาติ จนยอมพลีพระชนม์เพื่อเขาเหล่านั้น

เมื่อทรงมีชัยชนะเหนือความตายแล้ว เมื่อแผนการไถ่กู้มนุษย์สำเร็จบริบูรณ์แล้ว พระเจ้าทรงประทานบำเหน็จให้พระองค์อย่างยิ่งใหญ่ ทรงพระสิริโอ่อ่าตระการตา ทุกๆ สิ่งสร้างเมื่อได้ยินพระนาม “พระเยซู” จะคู้เข่าลงนมัสการพระองค์ ทรงเป็นกษัตริย์แห่งสากลจักรวาลอย่างแท้จริง

ส่วนผู้ที่ปรารถนาจะร่วมส่วนในความไพบูลย์ของพระองค์จะต้องปฏิบัติตนเช่นใด พระวรสารโดยนักบุญมัทธิวบอกเราในวันนี้อย่างชัดแจ้ง พระเยซูเจ้าทรงวางกฎเกณฑ์ไว้ว่า ในวันสุดท้ายนั้นผู้ที่จะได้รับเชิญให้เข้าในพระอาณาจักรของพระองค์ คือผู้ที่ในขณะยังอยู่ในโลกนี้ เคยจำพระองค์ได้หรือเปล่า เคยช่วยเหลือพระองค์บ้างไหม โดยเฉพาะเวลาที่ทรงต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด เช่นเวลาที่ทรงหิว ทรงกระหาย ทรงเป็นแขกแปลกหน้า หรือเวลาที่ไม่ทรงมีเสื้อผ้านุ่งห่ม หรือทรงเจ็บไข้ได้ป่วย หรือทรงติดอยู่ในคุก

แม้แต่กิจการดีเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำต่อคนต่ำต้อยที่สุด (= พระเยซูเจ้า ผู้ทรงซ่อนพระองค์อยู่ในคนเหล่านั้น) ก็จะมีความหมายยิ่งนักสำหรับชีวิตนิรันดร

ความเมตตา ความมีน้ำใจ และความรักที่พร้อมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ก็เพียงพอแล้วที่จะได้รับการต้อนรับเข้าสู่ความสุขสมบูรณ์แห่งพระอาณาจักรของพระองค์

พี่น้องครับ จำได้ไหมครับว่าครั้งสุดท้ายที่เราได้ช่วยผู้ตกทุกข์ได้ยาก หรือได้ช่วยคนเล็กๆ น้อยๆ ในสังคม เมื่อไร

( คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดพระกุมารเยซู เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 2008 )

การแปลสมณสาส์น “ทุกคนเป็นพี่น้องกัน” (2)

การแปลสมณสาส์น “ทุกคนเป็นพี่น้องกัน” (2)

มาเซอร์มารี หลุยส์ พรฤกษ์งาม (คณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร) ได้แปล สมณสาส์น”ทุกคนเป็นพี่น้องกัน” เสร็จแล้ว ต่อไปคุณวัชรี กิจสวัสดิ์กำลังจัดอาร์ตรูปเล่ม มีอีก 2-3 คนกำลังช่วยตรวจทานพิสูจน์อักษร และจึง เข้าโรงพิมพ์ หวังว่าเราจะได้หนังสือเล่มนี้โอกาสคริสต์มัสปีนี้ครับ
ขอเชิญอ่าน “บทนำ” ของผู้แปลนะครับ …มีประโยชน์

ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์

19 พฤศจิกายน 2020

สมณสาส์น ทุกคนเป็นพี่น้องกัน ของสมเด็จพระ สันตะปาปาฟรังซิส เป็นสมณสาส์นฉบับที่ 3 ซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2020 วันฉลองนักบุญฟรังซิสอัสซีซี เอกสารฉบับนี้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงสะท้อนข้อท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาที่โลกต้องเผชิญกับโรคระบาดโควิด-19 และทรง เรียกร้องให้ทุกคนสร้างวัฒนธรรมใหม่ของภราดรภาพและ การเสวนา
เมื่อได้รับมอบหมายให้แปลสมณสาส์นทางสังคมฉบับนี้ โดยส่วนตัวรู้สึกยินดีมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยประสบวิกฤตหลายด้าน ทั้งโรคระบาด น้ำท่วม สถานการณ์ทางการเมืองและที่สำคัญความเปลี่ยนแปลง ในทางความคิดของบรรดาเยาวชน ซึ่งทำให้ผู้ใหญ่ในสังคมเกิดความรู้สึกหวั่นวิตกว่าสังคมไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป ตัว ผู้แปลเองยอมรับว่าเมื่อเสพข่าวจากสื่อต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย ก็ยิ่งทำให้รู้สึกกังวลหรือที่เรียกว่าจิตตก จนตัดสินใจว่าจะต้องเลิกเสพสื่อสักพักและหันมาแปลสมณสาส์นฉบับนี้ ซึ่งเมื่อได้อ่านแล้วก็รู้สึกได้รับกำลังใจและรู้สึกเหมือนว่าพระสันตะปาปาทรงประทับอยู่ในประเทศไทย เพราะเนื้อหาหลายข้อตรงกับสถานการณ์ในบ้านเราอย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้เราได้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น และเริ่มต้นเสวนาได้โดยเริ่มต้นจากคนใกล้ตัวเราก่อน
สมณสาส์นฉบับนี้แปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส เนื่องจากเป็นภาษาที่ถนัดมากกว่าและเชื่อว่าใกล้เคียงกับต้นฉบับภาษาสเปนของพระสันตะปาปา รูปประโยคหรือคำบางคำอาจจะไม่ตรงกับภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ได้ใส่คำภาษาอังกฤษกำกับไว้บางคำ และใส่บรรณานุกรมเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้เป็นที่เข้าใจได้ทั่วกัน กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า หากการแปลมีข้อผิดพลาดใดๆ ขอเชิญชวนทุกท่านให้อ่านสมณสาส์นฉบับนี้ เพื่อเราจะได้รับคำตอบในการแก้ไขปัญหาที่เราประสบอยู่ด้วยสายตาแห่งความรักและความเป็นพี่น้องกัน

ด้วยรักในภราดรภาพ
เซอร์มารี หลุยส์ พรฤกษ์งาม

ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนงานคุ้มครองสิทธิบริการสาธารณสุขแก่เครือข่ายพระสงฆ์พุทธ 3 จังหวัด

ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนงานคุ้มครองสิทธิบริการสาธารณสุขแก่เครือข่ายพระสงฆ์พุทธ 3 จังหวัด

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 แผนกกลุ่มชาติพันธุ์ฯ ภายใต้ฝ่ายงานสังคมสังฆมณฑลเชียงใหม่
ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเครือข่ายชาติพันธุ์จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนงานคุ้มครองสิทธิบริการสาธารณสุขแก่เครือข่ายพระสงฆ์พุทธ จากจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงรายและจังหวัดลำพูน ร่วมกับ สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ เพื่อพัฒนาระบบคุณภาพบริการสาธารณสุขและคุ้มครองสิทธิ์ให้ดียิ่งขึ้น

Kingkeaw Chantip

การแปลสมณสาส์น “ทุกคนเป็นพี่น้องกัน”

การแปลสมณสาส์น “ทุกคนเป็นพี่น้องกัน”

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสได้ประกาศพิมพ์พระสมณสาส์น ฉบับใหม่ ชื่อ ทุกคนเป็นพี่น้องกัน (Fratelli Tutti )  เกี่ยวกับภราดรภาพ  และมิตรภาพทางสังคม   เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม  ค.ศ. 2020    เนื้อหามี 8 บท  จำนวน 287 ย่อหน้า (198 หน้า)  เซอร์มารี หลุยส์ พรฤกษ์งาม (SPC) กำลังแปล ได้ 220 ย่อหน้าแล้ว  ขอบคุณเซอร์มากที่ช่วยเร่งแปล  ผมขอนำคิด 3 ย่อหน้าแรก มาเสนอในสถานการณ์ปัจจุบัน

สมณสาส์น ทุกคนเป็นพี่น้องกัน (FRATELLI TUTTI)

  1. ทุกคนเป็นพี่น้องกัน” เป็นข้อความของนักบุญฟรังซิสอัสซีซี [1] ที่เขียนถึงบรรดาพี่น้องชายหญิงของท่าน เพื่อเสนอวิถีการดำ เนิน ชีวิตที่สอดคล้องกับพระวรสาร ในบรรดาคำแนะนำของท่านนั้น ข้าพเจ้า ขอเน้นประการหนึ่งที่ท่านนักบุญได้เชื้อเชิญให้เข้าสู่ความรักที่ก้าวข้าม อุปสรรคด้านภูมิศาสตร์และพื้นที่ ท่านประกาศว่าเป็นบุญของผู้ที่รัก ผู้อื่น “ได้มากเท่ากัน ไม่ว่าจะอยู่ห่างกันหรืออยู่ด้วยกัน” [2] กล่าว โดยสรุปคือ ท่านนักบุญได้แสดงให้เห็นถึงแก่นแท้ของภราดรภาพที่ เปิดกว้าง ยอมรับ ให้คุณค่า และรักทุกผู้ทุกคน โดยเป็นอิสระจาก ความใกล้ชิดทางกายภาพ และไม่ว่าบุคคลนั้นจะเกิดที่ไหน หรืออาศัย อยู่ที่ใดก็ตาม
  2. ท่านนักบุญฟรังซิส ซึ่่งเป็นนักบุญแห่งความรักฉันพี่น้อง ความ เรียบง่ายและความชื่นชมยินดี ท่านเป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าเขียน สมณสาส์น “ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า” (Laudato si’) และ ในครั้งนี้ ท่านนักบุุญได้ผลักดันข้าพเจ้าให้อุทิศสมณสาส์นฉบับใหม่นี้ เพื่อภราดรภาพและมิตรภาพทางสังคม อันที่จริง ท่านนักบุุญฟรังซิส รู้สึกว่าตัวท่านเป็นพี่่น้องกับดวงอาทิตย์ ทะเล และสายลม และท่าน ยังเป็นหนึ่งเดียวกับบรรดาเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ท่านได้หว่านสันติภาพ ไปทั่ว และเดินเคียงข้างกับผู้ยากจน ผู้ถูก ทอดทิ้ง ผู้ป่วย ผู้อยู่ชายขอบ สังคม และพี่น้องผู้ต่ำต้อยทั้งหลาย

    ปราศจากพรมแดน

 3. ช่วงหนึ่งในชีวิตของท่านนักบุญฟรังซิส ได้แสดงให้เราเห็นถึง หัวใจของท่านที่ไร้พรมแดน ท่านสามารถก้าวข้ามระยะห่างเรื่อง ต้นกำ เนิด เชื้อชาติ สีผิว หรือศาสนา เมื่อครั้งที่ท่านไปเยี่ยมสุลต่าน มาลิค เอล กามิล (Malik-el-Kamil) ในอียิปต์ ซึ่งเป็นการเดินทาง ที่ท่านต้องใช้ความพยายามมาก เพราะความยากจนของท่าน รวมทั้ง ระยะทางที่ห่างไกล แตกต่างทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม และศาสนา การเดินทางเช่นนี้ในช่วงประวัติศาสตร์ที่มีสงครามครูเสด ยิ่งแสดง ให้เห็นมากยิ่งขึ้นถึงความรักอันยิ่งใหญ่ที่ท่านปรารถนาจะเป็น ประจักษ์พยาน และต้องการโอบกอดมนุษย์ทุกคน ความซื่อสัตย์ของ ท่านต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนกับความรักที่ท่านมีต่อ พี่น้องชายหญิง แม้ว่าท่านนักบุญฟรังซิสทราบดีถึงความยากลำ บาก และภยันตราย แต่ท่านก็เดินทางไปพบสุลต่าน ด้วยท่าทีแบบเดียวกับ ที่ท่านได้ขอร้องบรรดาศิษย์ของท่าน คือไม่ปฏิเสธอัตลักษณ์ของพวกเขา เมื่อ “อยู่ท่ามกลางชาวมุสลิม (Saracens) และผู้ที่ไม่เชื่อ…ต้อง ไม่ทะเลาะวิวาท แต่ยอมอยู่ใต้มนุษย์ทุกคน เพราะเห็นแก่พระเจ้า” [3] ในบริบทเช่นนี้ จึงเป็นคำสั่งสอนที่พิเศษ หลังจากเวลาผ่านไป 800 ปีแล้ว เรารู้สึกประทับใจว่านักบุญฟรังซิสเชื้อเชิญให้หลีกเลี่ยงความ ก้าวร้าวหรือความขัดแย้งทุกรูปแบบ รวมทั้งให้ดำ เนินชีวิต “ยอมตน” อย่างสุภาพและเป็นพี่น้อง ทั้งต่อผู้ที่มิได้มีความเชื่อเดียวกัน

ฟ.วีระ  อาภรณ์รัตน์

กิจกรรมวันคนยากจนโลก World Day of the Poor วัดนักบุญเปาโลแม่สะเรียง

กิจกรรมวันคนยากจนโลก World Day of the Poor วัดนักบุญเปาโลแม่สะเรียง

เมื่อวันที่ 15 พย. วันอาทิตย์เช้าตรู่ตี 5 ตัวแทนจากฝ่ายสังคม ฝ่ายแพร่ธรรมและสำนักมิสซัง ครูคำสอนและซิสเตอร์ ได้ออกเดินทางจากวัดนักบุญเปาโลแม่สะเรียงมุ่งหน้าไปยังแม่สะแลบ สาละวิน ด้วยระยะทาง 65 กม ไปถึงหมู่บ้าน ท่าตาฝั่งที่ตั้งอยู่รืมแม่ย้ำสาวลวิน เพื่อแจกหน้ากากอนามัย 2,000 กว่าชิ้นพร้อมทั้งแอลกอฮอล เยลและข้าวสารแก่ผู้ยากไร้ เนื่องจากวันนี้ เป็นวันคนยากจนโลก World Day of the Poor (Our world day of the poor celebration today).

หลังจากเล่นเกม ยังให้อาหารฝ่ายจิต ผ่านสาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส แล้วฉลองด้วยกันด้วยอาหารที่อร่อย หลังจากนั้นพวกเราได้แจกตามบ้านมีทั้ง ข้าว น้ำมัน น้ำปลา นม ขนม หมูหยอง และไข่ ให้กับ 30 ครอบครัว

และคณะโฟโกลาเร่ เชียงใหม่ ก็ร่วมกิจกรรมวันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน วันที่โป๊ปฟรังซิสทรงขอให้เราสนใจช่วยเหลือคนจนอย่างเป็นรูปธรรม