สมณลิขิต “ด้วยหัวใจของบิดา – PATRIS CORDE”
การประกาศ ปีแห่งเฉลิมฉลองนักบุญยอแซฟ

สมณลิขิต “ด้วยหัวใจของบิดา - PATRIS CORDE” การประกาศ ปีแห่งเฉลิมฉลองนักบุญยอแซฟ

วันที่ 8 ธันวาคม 2020

ในวันสมโภชพระแม่มารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงประกาศ อุทิศตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2020 – 8 ธันวาคม 2021 ให้เป็น ปีแห่งพระภัสดาแห่งพระแม่มารีย์

วันที่ 8 ธันวาคม 2020

        สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงประกาศ “ปีแห่งนักบุญยอแซฟ” ซึ่งทำให้สัตบุรุษปลื้มปีติด้วยความประหลาดใจเป็นครั้งที่สองในวันสมโภชแม่พระปฏิสนธินิรมลหลังจากการประหลาดใจครั้งแรก เมื่อเวลา 7.00 น. ขณะที่พระองค์เสด็จไปยัง “บันไดสเปน – Spanish Steps” แห่งกรุงโรม เพื่อมอบทั้ง “ชาวเมืองและชาวโลก” แด่พระแม่มารีย์พรหมจารีย์ หลังจากนั้นภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง สำนักข่าวแห่งสันตะสำนักก็พิมพ์สมณลิขิตชื่อ “ด้วยหัวใจของบิดา  Patris Corde” เพื่อรำลึกครบรอบ 150 ปีแห่งการประกาศว่า “นักบุญยอแซฟเป็นองค์อุปถัมภ์พระศาสนจักรสากล”

        ในโอกาสประกาศ “ปีแห่งนักบุญยอแซฟ” อันเป็นเวลาพระพรสุดพิเศษ พวกเราจะเริ่มตั้งแต่วันนี้ 8 ธันวาคม 2020 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2021

        ต่อไปนี้เป็นสมณลิขิตที่เผยแพร่โดยสำนักข่าววาติกัน

()

สมณลิขิต ด้วยหัวใจของบิดา
“Patris Corde”
ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
ในโอกาสครบ 150 ปี
แห่งการประกาศ นักบุญยอแซฟฐานะองค์อุปถัมภ์ของพระศาสนจักรสากล

ด้วยหัวใจของบิดา: นั่นคือการที่ยอแซฟรักพระเยซูคริสต์ ซึ่งพระวรสารทั้งสี่ฉบับกล่าวถึงพระเยซูคริสต์ว่าเป็น “บุตรของยอแซฟ” [1]

มัทธิวและลูกา ผู้นิพนธ์พระวรสาร ท่านทั้งสองกล่าวถึงยอแซฟมากที่สุด แม้แลดูเล็กน้อยที่กล่าวแก่พวกเรา แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้พวกเราชื่นชมได้ว่า ยอแซฟเป็นบิดาเช่นใด รวมถึงพันธกิจที่พระญาณสอดส่องของพระเจ้าทรงมอบให้กับท่าน

        พวกเราทราบว่ายอแซฟเป็นช่างไม้ธรรมดาคนหนึ่ง (เทียบ มธ. 13: 55) เป็นคู่หมั้นของมารีย์ (เทียบ มธ. 1: 18; ลก. 1: 27) ท่านเป็น “ผู้ชอบธรรม” (มธ. 1: 19) พร้อมเสมอที่จะปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า ตามที่ปรากฎในธรรมบัญญัติ (เทียบ ลก. 2: 22, 27, 39) และโดยอาศัยการฝัน 4 ครั้ง (เทียบ มธ. 1: 20; 2: 13, 19, 22) หลังการเดินทางที่ยืดยาวและเหน็ดเหนื่อยจากตำบลนาซาเร็ธไปยังตำบลเบ็ธเลเฮ็ม ท่านได้เห็นการประสูติของพระผู้ไถ่ในรางหญ้า เพราะว่า ณ ที่นั่น “ไม่มีสถานที่พักพิงสำหรับพวกเขา” (เทียบ ลก. 2: 7) ท่านยังเห็นประจักษ์ถึงการเข้ามากราบนมัสการของคนเลี้ยงแกะและนักปราชญ์สามท่าน (เทียบ มธ. 2: 1-12) ซึ่งเป็นตัวแทนของประชากรอิสราเอล และคนต่างชาติต่างความเชื่อ

        ยอแซฟกล้าหาญที่ยอมเป็นบิดาตามกฎหมายของพระเยซูคริสต์ ซึ่งท่านตั้งชื่อพระองค์ว่า “เยซู” ดังที่ทูตสวรรค์แจ้งให้ท่านทราบ “ท่านจะตั้งชื่อเขาว่าเยซู เพราะเขาจะช่วยประชากรของเขาจากบาป” (มธ. 1: 21) ดังที่พวกเราทราบสำหรับประชากรโบราณการตั้งชื่อบุคคล หรือสิ่งเฉกเช่นที่อาดัมกระทำในเรื่องเล่าของพระคัมภีร์ฉบับปฐมกาล (เทียบ 2: 19-20) ก็เพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์

        ในพระวิหารหลังจากที่พระเยซูคริสต์ทรงบังเกิดได้ 40 วัน ยอแซฟและมารีย์ถวายบุตรของตนแด่พระเจ้า และได้ฟังคำทำนายของผู้อาวุโสซีเมออนด้วยความตกใจเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระมารดาของพระองค์ (เทียบ ลก: 2: 22-35)  เพื่อปกป้องพระเยซูคริสต์จากเงื้อมมือของเฮร็อด ยอแซฟจึงได้เดินทางไปอาศัยอยู่ในอียิปต์ในฐานะคนต่างด้าว (เทียบ ลก. 2: 13-18) หลังจากกลับไปยังประเทศของตน ท่านได้ใช้ชีวิตอย่างซ่อนเร้นเงียบ ๆ ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไม่มีความสำคัญใดๆ ณ ตำบลนาซาเร็ธแห่งแคว้นกาลิลี ที่อยู่ห่างไกลจากตำบลเบ็ธเลเฮม ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตระกูลและห่างไกลจากกรุงเยรูซาเล็ม และวิหาร มีการกล่าวถึงนาซาเร็ธว่า “จะไม่มีประกาศกคนใดลุกขึ้นมา” (เทียบ ยน. 1: 46) ในช่วงที่เดินทางไปยังกรุงเยรูซาเล็ม ยอแซฟและมารีย์ ตามหาบุตรที่มีอายุ 12 ปีไม่พบ ท่านทั้งสองตามหาพระองค์ด้วยความร้อนอกร้อนใจ ในที่สุดก็ได้พบพระองค์ในพระวิหาร พระเยซูคริสต์ผู้วัยเยาว์กำลังถกเถียงกับบรรดานักกฎหมายอยู่ (เทียบ ลก. 2: 41-50)

        ในคำสอนของสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ก่อน ๆ ถัดจากมารีย์มารดาพระเจ้าแล้ว ไม่มีนักบุญองค์ใดที่จะถูกกล่าวขานยิ่งไปกว่ายอแซฟภัสดาของพระแม่  ข้าพเจ้าได้ทำการไตร่ตรองถึงสาส์นนี้ ซึ่งเป็นข้อมูลจำกัดที่พระวรสารถ่ายทอดมาเพื่อที่จะเข้าใจได้ดีขึ้นถึงบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์แห่งการไถ่กู้ บุญราศีปีโอที่ 9 ประกาศให้ท่านเป็น “องค์อุปถัมภ์พระศาสนจักรคาทอลิก” [2] ผู้น่าเคารพยกย่องปีโอที่ 12 เสนอให้ท่านนักบุญยอแซฟเป็น “ผู้อุปถัมภ์คนงาน” และพระสันตะปาปานักบุญจอห์น พอลที่ 2 เสนอให้ท่านเป็น “ผู้ปกป้องดูแลพระผู้ไถ่” [4] นักบุญยอแซฟได้ชื่อว่าเป็น “องค์อุปถัมภ์ของผู้กำลังสิ้นใจอย่างมีความสุข” [5]

        บัดนี้เป็นเวลา 150 ปีแล้วที่มีการประกาศให้ท่านเป็น องค์อุปถัมภ์พระศาสนจักรสากล โดยพระสันตะปาปาบุญราศีปีโอที่ 9 (วันที่ 8 ธันวาคม 1870) ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะแบ่งปันการไตร่ตรองส่วนตัวเกี่ยวกับท่านนักบุญยอแซฟเป็นพิเศษ  ท่านนักบุญมีประสบการณ์ชีวิตที่ใกล้เคียงกับพวกเรามาก เพราะดังที่พระเยซูคริสต์ทรงกล่าวไว้ว่า “จากหัวใจที่เปี่ยมล้น ปากจึงต้องเปล่งออกมา” (มธ. 12: 34) ความปรารถนาที่จะกระทำดังกล่าวเพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนมานี้ที่พวกเรากำลังเผชิญกับโรคระบาดซึ่งท่ามกลางวิกฤตนี้พวกเรามีประสบการณ์ว่า “ชีวิตของพวกเรานั้นถูกสานทอเข้าไว้ด้วยกัน และได้รับการทำนุบำรุงจากคนธรรมดา คนที่บ่อยครั้งถูกมองข้าม คนที่ไม่เคยปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ในวันเหล่านี้เป็นผู้หล่อหลอมเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ พวกเขาเป็นแพทย์ พยาบาล พนักงานขนของในโกดัง คนงานในห้างสรรพสินค้า พนักงานทำความสสะอาด  ผู้ดูแลคนป่วย พนักงานขับยานพาหนะ ชายหญิงที่บริการสิ่งที่จำเป็นต่างๆ ผู้รักษาความปลอดภัย อาสาสมัคร บาดหลวง นักบวช นักพรต ฯลฯ  พวกเขาเข้าใจว่าไม่มีใครสามารถเอาตัวรอดได้คนเดียว ยังมีกี่คนที่ต้องอดทนทุกวันเพื่อมอบความหวังโดยไม่พยายามแพร่ความกลัว แต่ร่วมกันรับผิดชอบ ยังมีพ่อ แม่ ปู่ยาตายายสักกี่คนที่สอนเด็ก ๆ ทุกวันให้รู้จักยอมรับ และจัดการกับวิกฤตด้วยการปรับวิถีการใช้ชีวิตประจำวันแล้วให้มองไปข้างหน้าด้วยความหวังด้วยการอธิษฐานภาวนา ยังมีบุคคลอีกเท่าไรที่กำลังอธิษฐานภาวนาโดยมองไปในอนาคต และชักชวนผู้อื่นให้อธิษฐานภาวนา ทำพลีกรรม และวิงวอนเพื่อความดีงามประโยชน์สุขของทุกคน [6] พวกเราทุกคนสามารถค้นพบคำตอบได้ในนักบุญยอแซฟบุรุษผู้ดำเนินชีวิตอย่างเงียบๆ ไม่มีผู้ใดรู้จัก ขอให้ท่านเป็นผู้เสนอวิงวอนให้การสนับสนุนพวกเรา และชี้นำพวกเราในยามที่เกิดความทุกข์ยุ่งยากลำบาก  นักบุญยอแซฟเตือนใจพวกเราว่าผู้ที่ดูเหมือนเป็นคนซ่อนเร้นในร่มเงาก็สามารถมีบทบาทที่สำคัญในประวัติศาสตร์แห่งการไถ่กู้ได้ พวกเราทุกคนควรรับทราบและกตัญญูต่อท่าน

  1. ท่านเป็นบิดาที่น่ารัก

        ผู้ยิ่งใหญ่ของนักบุญยอแซฟคือมารีย์คู่ชีวิต และเป็นบิดาของพระเยซูคริสต์ ดังนั้นตามคำพูดของนักบุญจอห์น คริสโซสโตม ท่านนักบุญยอแซฟจึงเป็น “ผู้รับใช้แผนการของการไถ่กู้ทั้งสิ้น” [7]

        นักบุญพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ชี้ให้เห็นว่า ยอแซฟแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมถึงการเป็นบิดาที่แท้จริงของตน “โดยการมอบชีวิตของท่านเป็นเครื่องบูชารับใช้พระธรรมล้ำลึกแห่งการประสูติของพระเยซูคริสต์ และเป้าหมายแห่งการไถ่กู้ของพระองค์ ท่านใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อดูแลครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ด้วยการอุทิศตนเองอย่างสิ้นเชิงให้กับพระมารดาและพระบุตรตลอดทั้งชีวิต และในการทำงาน ท่านเปลี่ยนกระแสเรียกชีวิตครอบครัวเป็นการบูชาเหนือธรรมชาติแห่งตัวของท่าน หัวใจของท่าน และความสามารถทุกอย่างของท่านเปลี่ยนให้เป็นความรักที่คอยรับใช้พระผู้ไถ่ผู้ที่ค่อยๆ เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในบ้านของท่าน” [8]

        ดังนั้น ต้องขอบคุณต่อบทบาทของท่านในประวัติศาสตร์แห่งการไถ่กู้ นักบุญยอแซฟเป็นผู้ที่น่าเคารพเสมอในฐานะบิดาจากพวกเราชาวคาทอลิก นี่แสดงให้เห็นได้จากวัดจำนวนนับไม่ถ้วนที่ยกถวายให้กับท่านเป็นองค์อุปถัมภ์ทั่วโลก รวมทั้งสถาบันของพระศาสนจักร และกลุ่มคริสตชนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตจิตของท่าน อีกทั้งยังมีธรรมเนียมกิจศรัทธามากมายต่อท่าน มีผู้คนทั้งชายและหญิงจำนวนนับไม่ถ้วนที่ศรัทธาอย่างหลงไหลในท่าน ที่สำคัญนักบุญเทเรซาแห่งอาวีลาซึ่งเลือกท่านให้เป็นผู้วิงวอนสำหรับตนเอง เธออธิษฐานต่อท่านและบ่อยครั้งมักจะได้รับไม่ว่าพระหรรษทานใดที่เธอขอจากนักบุญยอแซฟ เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ เทเรซาจึงชักชวนคนอื่นๆ ให้มีความศรัทธาต่องนักบุญยอแซฟ [9]

        หนังสือภาวนาทุกเล่มจะมีบทภาวนาต่อนักบุญยอแซฟ มีการสวดภาวนาเป็นพิเศษต่อท่านทุกวันพุธในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นเดือนที่ยกถวายกับท่านเป็นพิเศษ [10]

        ความไว้วางใจต่อนักบุญยอแซฟมีการแสดงออกด้วยคำพูดที่ว่า “จงไปหายอแซฟ” ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงตอนที่เกิดข้าวยากหมากแพงที่ประเทศอียิปต์ เมื่อชาวอียิปต์ไปขอข้าวกินจากฟาโรห์ ฟาโรห์อตอบว่า “จงไปหายอแซฟ เขาว่าอย่างไร พวกท่านก็ทำไปตามนั้น” (ปฐก. 41: 41-55) ฟาโรห์หมายถึงยอแซฟบุตรของยาก็อบที่ถูกขายไปเป็นทาส เพราะความอิจฉาของพวกพี่ชาย (เทียบ ปฐก. 37: 11-28) และตามคำบอกเล่าของพระคัมภีร์ในที่สุดเขากลายเป็นบุคคลหมายเลขสองของประเทศอียิปต์ (เทียบ ปฐก. 41: 41-44)

        ในฐานะที่เป็นผู้ที่สืบทอดมาจากตระกูลของดาวิด (เทียบ มธ. 1: 16-20) ซึ่งจากตระกูลนี้พระเยซูคริสต์ทรงถือกำเนิดตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับดาวิด โดยประกาศกนาทาน (เทียบ 2 ซมอ. 7) และในฐานะที่เป็นคู่ชีวิตของมารีย์แห่งนาซาเร็ธ นักบุยยอแซฟจึงเป็นผู้ที่ยืนอยู่ ณ ทางสองแพ่งระหว่างพระคัมภีร์เก่า และพระคัมภีร์ใหม่

2. ท่านเป็นบิดาที่อ่อนโยนน่ารัก

        ยอแซฟเห็นพระเยซูคริสต์เติบโตทีละเล็กทีละน้อย “ในปรีชาญาณและในความโปรดปรานของทั้งพระเจ้าและมนุษย์” (ลก. 2: 52) พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อชนชาติอิสราเอลเช่นไร ยอแซฟก็ปฏิบัติต่อพระเยซูคริสต์เช่นนั้น “เขาจูงมือสอนให้พระเยซูคริสต์เดิน เขาเป็นบิดาที่เลี้ยงลูกด้วยความรักก้มตัวลงป้อนข้าวเขา” (ฮซย. 11: 3-4)

        พระเยซูคริสต์ทรงเห็นความรักอ่อนโยนของพระเจ้าในยอแซฟ “ดุจบิดาที่เมตตาบุตรของตน พระเจ้าทรงมีพระเมตตาต่อผู้ที่เคารพยำเกรงพระองค์” (สดด. 103: 13)

        ในโรงสวดในขณะที่มีการสวดเพลงสดุดี ซึ่งแน่นอนว่ายอแซฟคงจะได้ยินได้ฟังครั้งแล้วครั้งเล่าว่าพระเจ้าแห่งชนชาติอิสราเอลทรงเป็นพระเจ้าแห่งความรักที่อ่อนโยน [11] พระองค์ทรงพระทัยดีต่อทุกคนซึ่ง “ความเมตตาของพระองค์ทรงมีต่อทุกคน ผู้ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นมา” (สดด. 145: 9)

        ประวัติศาสตร์แห่งความรอดสำเร็จลุล่วงไป “ในความหวังแล้วความหวังเล่า” (รม. 4: 18) ท่ามกลางความอ่อนแอของพวกเรา ซึ่งบ่อยครั้งพวกเราคิดว่าพระเจ้ากระทำการโดยอาศัยส่วนที่ดีที่มีอยู่ในตัวของพวกเรา ทว่าแผนการส่วนใหญ่ของพระองค์จะสำเร็จลุล่วงไปแม้ท่ามกลางความอ่อนแอล้มเหลวของพวกเรา ดังนั้นนักบุญเปาโลจึงกล้ากล่าวว่า “เพื่อมิให้การเปิดเผยที่ยิ่งใหญ่นี้ทำให้ข้าพเจ้ายกตนเกินไป พระเจ้าทรงทรงให้มีหนามทิ่มแทงเนื้อหนังของข้าพเจ้า ดุจทูตของซาตานที่คอยตบตีข้าพเจ้ามิให้ข้าพเจ้ายกตนเกินไป เรื่องนี้ข้าพเจ้าวอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้าสามครั้ง ขอให้มันผ่านพ้นไปจากข้าพเจ้า แต่พระองค์ตรัสกับข้าพเจ้าว่า  ‘พระหรรษทานของเราเพียงพอสำหรับเจ้า เพราะพระอานุภาพแสดงออกเต็มที่เมื่อมนุษย์มีความอ่อนแอ’” (2 คร. 12: 7-9)

        เนื่องจากนี่เป็นส่วนหนึ่งแห่งแผนการแห่งการไถ่กู้จากบาป พวกเราต้องเรียนรู้ที่จะมองดูความอ่อนแอของพวกเราด้วยความเมตตาที่อ่อนโยน [12]

        ซาตานทำให้พวกเราได้เห็นและประณามความอ่อนแอของพวกเราเอง ขณะที่พระจิตเจ้าทรงนำพวกเราไปสู่ความสว่างด้วยความรักที่อ่อนโยน ความอ่อนโยนเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะสัมผัสกับความอ่อนแอภายในตัวพวกเรา การชี้นิ้วตัดสินผู้อื่น ซึ่งบ่อยครั้งเป็นเครื่องหมายถึงความไม่สามารถในการยอมรับความอ่อนแอของพวกเราเอง มีแต่ความรักอ่อนโยนเท่านั้นที่จะช่วยให้พวกเราพ้นจากกับดักของผู้ที่กล่าวหาพวกเรา (เทียบ วว. 12: 10) นี่เป็นเหตุผลทำไม สิ่งนี้จึงมีความสำคัญที่ต้องพบกับพระเมตตาของพระเจ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครื่องหมายแห่งการคืนดีกัน ซึ่งพวกเราจะมีประสบการณ์กับความจริงและความอ่อนโยนของพระองค์ แต่ก็น่าแปลกใจที่เจ้าซาตานก็อาจพูดความจริงกับพวกเราได้ ที่มันทำเช่นนั้นก็เพื่อที่จะสาปแช่งพวกเรา  พวกเราทราบดีว่าความจริงของพระเจ้ามิได้สาปแช่งผู้ใด ตรงกันข้ามจะต้องสวมกอด ทำนุบำรุง และให้อภัยพวกเรา ความจริงดังกล่าวจะถูกมอบให้พวกเราดุจบิดาผู้ทรงเมตตา ในนิทานเปรียบเทียบของพระเยซูคริสต์ (เทียบ ลก. 15: 11-32) ความเมตตาจะมาหาพวกเรา ฟื้นฟูศักดิ์ศรีของพวกเรา ทำให้พวกเราลุกขึ้นยืนและแสดงความชื่นชมยินดีกับพวกเรา เพราะดังที่บิดากล่าวว่า “ลูกชายของเราคนนี้ได้ตายไปแล้ว และเขาก็กลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ เขาหายตัวไปแล้ว และเราก็ได้พบกับเขาอีก” (ข้อ 24)

        แม้ยอแซฟจะมีความกลัว ทว่าประวัติศาสตร์และแผนการของพระเจ้าก็ยังคงดำเนินต่อไป ดังนั้นยอแซฟจึงสอนพวกเราว่า ความเชื่อในพระเจ้ารวมถึงการเชื่อว่าแม้พวกเราจะมีความกลัว พระองค์ก็ยังคงสามารถกระทำการได้ แม้กระทั่งท่ามกลางความกลัวและความอ่อนแอของพวกเรา ท่านนักบุญยังสอนพวกเราด้วยว่าท่ามกลางมรสุมแห่งชีวิตพวกเราต้องไม่กลัวที่จะให้พระเยซูคริสต์เป็นผู้ถือหางเสือให้พวกเรา บางครั้งพวกเราต้องการที่จะควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง แต่พระเจ้าจะมองเห็นภาพที่ยิ่งใหญ่กว่าเสมอ

3. ท่านเป็นบิดาที่นบนอบ

        ดังที่พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อมารีย์ พระองค์ทรงเผยแผนการการไถ่กู้ของพระองค์กับยอแซฟ พระองค์ทรงกระทำดังกล่าวโดยการฝัน ซึ่งในพระคัมภีร์และประชากรโบราณถือว่าเป็นวิธีที่พระเจ้าจะทรงทำให้พวกเราทราบถึงพระประสงค์ของพระองค์ [13]

        ยอแซฟร้อนใจมากถึงการตั้งครรภ์อย่างเร้นลับของมารีย์ ท่านไม่ใต้องการที่จะ “ประณามเธอให้เป็นที่อับอายต่อสาธารณะชน” [14]   ดังนั้นท่านจึงตัดสินใจที่จะ “ให้มารีย์จากไปอย่างเงียบๆ” (มธ. 1: 19)

        ในความฝันครั้งแรกทูตสวรรค์ช่วยให้ท่านแก้ปัญหาที่ทำให้ท่านหนักอกหนักใจ “จงอย่าได้กลัวที่จะรับมารีย์เป็นภรรยา เพราะทารกที่จะเกิดในมารีย์นั้นจะด้วยเดชะอำนาจของพระจิต เธอจะคลอดบุตรชาย แล้วท่านจะตั้งชื่อบุตรว่าเยซู เพราะพระองค์จะช่วยประชาการของพระองค์ให้พ้นจากบาป” (มธ. 1: 20-21) คำตอบของยอแซฟนั้นเกิดขึ้นทันที “เมื่อยอแซฟตื่นขึ้น เขาได้ทำสิ่งที่ทูตสวรรค์แห่งพระเจ้าสั่งเขา” (มธ. 1: 24) ความบนอบทำให้ทุกสิ่งเป็นไปได้สำหรับท่านที่จะยินยอมรับความทุกข์ยากลำบากและปล่อยให้มารีย์เป็นอิสระ

        ในความฝันครั้งที่สองทูตสวรรค์แจ้งให้ยอแซฟทราบ “จงลุกขึ้นแล้วพาบุตรกับมารดาหนีไปยังประเทศอียิปต์ จงอยู่ที่นั่นจนกว่าข้าพเจ้าจะบอก เพราะว่าเฮร็อดกำลังตามหาเด็กเพื่อที่จะทำลาย” (มธ. 2: 13) ยอแซฟไม่รีรอที่จะนบนอบ ท่านไม่สนใจว่าจะเผชิญความยุ่งยากลำบากเพียงใด “เขาตื่นขึ้นนำบุตรและมารดาตอนกลางคืนหนีไปยังประเทศอียิปต์ และอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเฮร็อดสิ้นพระชนม์” (มธ. 2: 14-15)

        ในประเทศอียิปต์ยอแซฟรอด้วยความไว้ใจอย่างอดทนต่อการแจ้งของทูตสวรรค์ว่าท่านจะกลับบ้านด้วยความปลอดภัยเมื่อใด ในความฝันครั้งที่สามทูตสวรรค์มาแจ้งว่าผู้ที่จะเฝ้าสังหารเด็กนั้นได้ตายไปแล้ว พร้อมกับสั่งให้ยอแซฟพาพระกุมารและมารดากลับประเทศอิสราเอลได้แล้ว (เทียบ มธ. 2: 21) ยอแซฟนบนอบโดยทันทีอีกครั้งหนึ่ง “เขาลุกขึ้นนำพระกุมาร และมารดาเดินทางไปยังประเทศอิสราเอล” (มธ. 2: 21)

        ในช่วงที่กำลังเดินทางกลับ “เมื่อยอแซฟได้ข่าวว่า อาร์เคลาอุสขึ้นครองยูเดียแทนเฮร็อด เขาจึงเดินทางไปยังแคว้นกาลิลี สร้างบ้านที่นั้นในเมืองเล็กๆ ที่ชื่อว่านาซาเร็ธ” (มธ. 2: 22-23)

        ในส่วนของลูกาผู้นิพนธ์พระวรสาร ได้บอกพวกเราว่ายอแซฟเดินทางไกลที่ยากลำบากจากนาซาเร็ธไปยังเบ็ธเลเฮม เพื่อลงทะเบียนในเมืองของครอบครัวที่ตนเองเกิดในการสำรวจสำมะโนครัวของจักรพรรดิซีซ่าร์ออกัสตัส พระเยซูคริสต์ทรงบังเกิดที่นั้น (เทียบ ลก. 2: 7) และการลงทะเบียนของพระองค์ก็เหมือนเด็กทั่วไป ต้องบันทึกในหอทะเบียนของจักรภพ นักบุญลูกาห่วงใยเป็นพิเศษที่บอกเล่าพวกเราว่าพ่อแม่ของพระเยซูคริสต์ปฏิบัติตามบัญญัติแห่งกฎหมาย นั่นคือพิธีรับสุหนัดของพระเยซูคริสต์ การชำระล้างมลทินของมารีย์หลังการคลอดบุตร การถวายบุตรหัวปีแด่พระเจ้า (เทียบ 2: 21-24) [15]

        ในทุกเหตุการณ์ยอแซฟประกาศ “การตอบรับพระประสงค์ของพระเจ้า – ฟีอัต” ของตนเองเฉกเช่นมารีย์ในการแจ้งข่าวของทูตสวรรค์และในสวนมะกอก

        ในบทบาทของตนฐานะที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ยอแซฟสอนพระเยซูคริสต์ให้นบนอบต่อบิดามารดา (เทียบ ลก. 2: 51) ตามพระบัญชาของพระเจ้า (เทียบ ปฐก. 20: 12)

        ในช่วงแห่งชีวิตซ่อนเร้นที่ตำบลนาซาเร็ธพระเยซุผู้วัยเยาว์ทรงเรียนรู้จากโรงเรียนของยอแซฟในการทำตามพระประสงค์ของพระบิดา  อันพระประสงค์นั้นนั้นเป็นอาหารประจำวันของพระเยซูคริสต์ (เทียบ ยน. 4: 34) แม้ในยามยุ่งยากลำบากที่สุดแห่งชีวิต ในสวนมะกอก พระเยซูคริสต์ทรงเลือกที่จะทำตามพระประสงค์ของพระบิดาแทนน้ำใจตนเอง [16] โดยการ “นบนอบจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ และเป็นการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน” (ฟป. 2: 8) ผู้ลิขิตจดหมายถึงชาวฮีบรูสรุปว่าพระเยซูคริสต์ “ทรงเรียนรู้ความนบนอบโดยอาศัยสิ่งที่พระองค์ทนทุกข์” (ฮบ. 5: 8)  

        สิ่งเหล่านี้ทำให้มีความชัดเจนว่า “ในนักบุญยอแซฟ พระเจ้าทรงเรียกให้รับใช้บุคคลและพันธกิจของพระเยซูคริสต์โดยตรง ด้วยการปฏิบัติหน้าที่เป็นบิดา”  และด้วยวิธีนี้ “ท่านก็ร่วมมืออย่างเต็มที่ในพระธรรมล้ำลึกแห่งการไถ่กู้ และเป็นศาสนบริกรแห่งการไถ่กู้อย่างแท้จริง” [17]

4. ท่านเป็นบิดาที่ยอมรับ

        ยอแซฟยอมรับมารีย์โดยปราศจากเงื่อนไข ท่านไว้วางใจในคำพูดของทูตสวรรค์ ความยิ่งใหญ่แห่งดวงใจของยอแซฟ คือสิ่งที่ท่านเรียนรู้จากธรรมบัญญัติ ท่านทำให้ดวงใจขึ้นอยู่กับความรักเมตตา ในโลกของพวกเราทุกวันนี้ การใช้ความรุนแรงต่อบรรดาสตรีทั้งด้านจิตวิทยา วาจา การกระทำต่อร่างกายมีความชัดเจนมาก แต่ยอแซฟซึ่งเป็นบุคคลที่ให้ความเคารพและมีความรู้สึกไว  แม้ว่าท่านจะไม่เข้าใจภาพที่ใหญ่กว่า ท่านก็ตัดสินใจที่จะปกป้องชื่อเสียงของมารีย์ ศักดิ์ศรีและชีวิตของพระนาง ในการรีรอว่าท่านจะทำอย่างไรดี พระเจ้าทรงช่วยท่านด้วยแสงสว่างในการตัดสินใจ” [18]

        บ่อยครั้งในชีวิต สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นโดยที่พวกเราไม่ทราบความหมาย ปฏิกิริยาแรกเริ่มของพวกเราบ่อยครั้งมักจะมีความผิดหวัง หรือไม่ชอบ ยอแซฟตัดความคิดของตนเองออกไป เพื่อที่จะไม่รับรู้ถึงเหตุการณ์ที่แม้ดูเหมือนเร้นลับแต่ท่านก็ยอมรับ เปี่ยมด้วยความรับผิดชอบ และทำให้เป็นส่วนหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์ของตนเอง นอกจากว่าพวกเราจะคืนดีกันกับประวัติศาสตร์ของพวกเราเอง พวกเราจะไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าแม้แต่ก้าวเดียว เพราะว่าพวกเราจะกลายเป็นเชลยแห่งความคาดหวังของพวกเราพร้อมกับความผิดหวังที่กำลังจะตามมา

        วิถีชีวิตฝ่ายจิตทียอแซฟปูทางไว้ให้พวกเราเดิน ไม่ใช่หนทางแห่งการอธิบาย แต่เป็นหนทางแห่งการยอมรับ  อันมีแต่ผลแห่งการยอมรับนี้เท่านั้น การคืนดีกันนี้เท่านั้น ที่พวกเราจะสามารถเริ่มเห็นประวัติศาสตร์ที่กว้างไกลกว่า และความหมายที่ลึกซึ้งกว่า พวกเราแทบจะได้ยินเสียงสะท้อนของคำตอบของมหาบุรุษโยบต่อภรรยาของเขาที่ขอร้องให้เขาเป็นกบถต่อความชั่วที่เขาได้รับ “เราจะรับความดีจากพระหัตถ์ของพระเจ้าแทนที่จะรับแต่ความชั่วร้ายได้ไหม?” (โยบ 2: 10)

        แน่นอนว่ายอแซฟไม่ได้เป็นคนนิ่งเฉยปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ เป็นไปตามชะตากรรม แต่ท่านเป็นบุคคลกล้าหาญจริงจังและไม่นิ่งเฉย ในชีวิตของพวกเราการยอมรับและการให้การต้อนรับเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงของขวัญของพระจิตในเรื่องของความกล้าหาญ อันมีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ประทานความเข้มแข็งให้พวกเรา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะยอมรับชีวิตอย่างที่ต้องเป็นไป พร้อมกับความขัดแย้ง ความอ้างว้าง และความผิดหวัง

        การประทับอยู่ของพระเยซูคริสต์ท่ามกลางพวกเราเป็นของขวัญยิ่งใหญ่จากพระบิดาเจ้า ซึ่งทำให้เป็นไปได้สำหรับพวกเราแต่ละคนที่จะคืนดีกับความเป็นตัวตนของพวกเราในประวัติศาสตร์ แม้ว่าพวกเราจะไม่เข้าใจเรื่องราวอย่างครบถ้วน

        เฉกเช่นที่พระเจ้าบอกยอแซฟ “บุตรแห่งดาวิด จงอย่ากลัว” (มธ. 1: 20) ดังนั้นดูเหมือนจะบอกกับพวกเราเช่นเดียวกันว่า “จงอย่าได้กลัว”  พวกเราควรที่จะทิ้งความโกรธและความผิดหวังไว้เบื้องหลังแล้วยอมรับสิ่งต่างๆอย่างที่ควรจะเป็น  แม้ว่าจะไม่เป็นไปดังที่พวกเราคาดหวัง ไม่ใช่เพียงยอมจำนน แต่ต้องมีความหวัง และความกล้าหาญด้วย  โดยอาศัยวิธีนี้พวกเราจะเปิดใจกว้างสู่ความหมายที่ล้ำลึกกว่า ชีวิตของพวกเราอาจมีการเกิดใหม่อย่างน่าอัศจรรย์ หากพวกเรามีความกล้าหาญที่จะดำเนินชีวิตตามพระวรสาร ไม่มีปัญหาอะไรเลย หากทุกอย่างอาจจะะผิดพลาดไปหมด หรือบางอย่างไม่อาจที่จะแก้ไขซ่อมแซมได้ พระเจ้าสามารถทำให้ดอกไม้เจริญเติบโตขึ้นจากดินที่มีแต่หินได้ แม้ภายในใจจะตำหนิเรา “พระเจ้านั้นยิ่งใหญ่กว่าหัวใจของเรา และพระองค์ทรงทราบทุกสิ่งทุกอย่าง” (2 ยน. 3: 20)

        ณ จุดนี้พวกเราจะพบกับความจริงแห่งคริสต์ศาสนาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ปฏิเสธสิ่งใดที่มีอยุ่ ความจริงในความสลับซับซ้อนที่เร้นลับและเปลี่ยนไม่ได้ คือความหมายของการที่พวกเราเจริญชีวิตอยู่ในที่ที่มีทั้งแสงสว่างและร่มเงา ดังนั้นอัครสาวกเปาโลจึงสามารถกล่าวว่า “เรารู้ว่าพระเจ้าทรงบันดาลให้ทุกสิ่งกลับเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่รักพระองค์ ผู้ที่ทรงเรียกมาตามพระประสงค์ของพระองค์” (รม. 8: 28) ซึ่งนักบุญออกัสตินกล่าวเสริมเพิ่มว่า “แม้กระทั่งสิ่งนั้นที่เรียกว่าความชั่วร้าย (etiam illud quod malum dicitur)” [19] ในมุมมองกว้างๆ นี้ความเชื่อจะให้ความหมายกับทุกเหตุการณ์ไม่ว่าสิ่งนั้นจะดีหรือร้าย

        และ พวกเราก็ไม่ควรที่จะคิดว่า ความเชื่อหมายถึงการหาทางออกแบบง่าย ๆ และสะดวก ความเชื่อที่พระเยซูคริสต์สอนพวกเราเป็นสิ่งที่พวกเราเห็น และพบได้ในนักบุญยอแซฟ ท่านไม่มองหาหนทางลัด แต่ท่านจะเผชิญหน้ากับความจริงด้วยสายตาที่เปิดกว้าง และมีความรับผิดชอบเป็นการส่วนตัว

        ทัศนคติมุมมองของยอแซฟสนับสนุนให้พวกเรายอมรับผู้อื่นอย่างที่ท่านเป็น  โดยไม่มีการยกเว้นและห่วงใยเป็นพิเศษต่อบุคคลที่อ่อนแอ เพราะพระเจ้าทรงเลือกสิ่งที่ดูเหมือนอ่อนแอ (เทียบ 1 คร. 1: 27) พระองค์ทรงเป็น “บิดาของผู้กำพร้า และเป็นผู้ปกป้องหญิงม่าย” (สดด. 68: 6) พระองค์ทรงสั่งให้พวกเรารักคนแปลกหน้าที่อยู่ท่ามกลางพวกเรา [20] ข้าพเจ้าชอบคิดไตร่ตรอง จากนักบุญยอแซฟนี่เองที่พระเยซูคริสต์ได้รับบันดาลใจสำหรับนิทานเปรียบเทียบเรื่องลูกผู้ล้างผลาญและบิดาผู้มีใจเปี่ยมด้วยความเมตตา (เทียบ ลก. 15: 11-32)

  1. ท่านเป็นบิดาผู้กล้าหาญและมีความคิดสร้างสรรค์

        หากขั้นแรกของการเยียวยารักษาภายในที่แท้จริงทุกอย่างคือการยอมรับประวัติศาสตร์ส่วนตัวของพวกเรา และยอมรับแม้สิ่งต่างๆ ในชีวิตที่พวกเราไม่ได้เลือก บัดนี้พวกเราต้องเพิ่มอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ: ความกล้าหาญที่สร้างสรรค์ ซึ่งจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งยามที่พวกเราจัดการกับปัญหาความยุ่งยากลำบาก ท่ามกลางความยุ่งยากต่าง ๆ พวกเราจะสามารถยอมแพ้แล้วเดินหนีไปหรือต่อสู้กับปัญหาอุปสรรค บางครั้งความยุ่งยากลำบากทำให้เกิดทรัพยากรที่พวกเราไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าพวกเรามีอย่างมากล้น

        เมื่อพวกเราพิจารณากันถึงสมัยที่พวกเรายังเป็นเด็ก บางครั้งพวกเราอาจไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดพระเจ้าจึงไม่ทรงกระทำด้วยวิธีการที่ตรงไปตรงมา และอย่างชัดเจนมากกว่านี้ แต่พระเจ้าทรงกระทำการโดยใช้เหตุการณ์ต่าง ๆ และประชากรหรือผู้คน   ยอแซฟเป็นบุคคลที่พระเจ้าทรงเลือกเพื่อชี้นำจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์แห่งการไถ่กู้  ท่านเป็น “อัศจรรย์” ที่แท้จริง ที่พระเจ้าทรงใช้เป็นเครื่องมือช่วยพระกุมารและมารีย์ พระเจ้าทรงกระทำการโดยวางใจในความกล้าหาญที่สร้างสรรค์ของยอแซฟ เมื่อเดินทางไปถึงตำบลเบ็ธเลเฮ็มและเสาะหาที่พักพิงไม่ได้สำหรับมารีย์เพื่อที่จะคลอดบุตร ทว่า ยอแซฟเลือกเอาคอกสัตว์ ซึ่งดีที่สุดที่ท่านพอจะหาได้ ณ เวลานั้น  แล้วปรับให้สถานที่นั้นเป็นบ้านต้อนรับพระบุตรของพระเจ้าที่จะเสด็จมาในโลกนี้ (เทียบ ลก. 2: 6-7) เมื่อต้องเผชิญภัยที่กำลังจะมาถึงจากเฮร็อดที่ต้องการจะสังหารเด็กน้อย ยอแซฟได้รับการเตือนอีกครั้งหนึ่งในความฝันให้ปกป้องทารก ท่านตื่นขึ้นกลางดึกเพื่อเตรียมตัวหนีไปยังประเทศอียิปต์ (เทียบ มธ. 2: 13-14)

        เมื่ออ่านเรื่องราวเหล่านี้อย่างผิวเผิน บ่อยครั้งอาจทำให้คิดไปว่าโลกของพวกเรานี้อยู่ในกำมือของผู้ที่แข็งแรงและมีอำนาจ แต่ “ข่าวดี” แห่งพระวรสารอยู่ที่การแสดงว่าสำหรับความหยิ่งจองหองและการใช้ความรุนแรงทั้งหลายแห่งอำนาจแบบชาวโลก พระเจ้าจะทรงพบหนทางที่จะดำเนินแผนการไถ่กู้ของพระองค์ต่อไปได้เสมอ เช่นเดียวกันบางครั้งชีวิตของพวกเราดูเหมือนจะอยู่ในกำมือของผู้ที่มีอำนาจ แต่พระวรสารบอกพวกเราว่าสิ่งใดเป็นสิ่งสำคัญที่สุด  พระเจ้าทรงมีวิธีที่จะช่วยให้พวกเรารอดเสมอ ขอเพียงแต่ว่าพวกเราต้องแสดงความกล้าหาญที่สร้างสรรค์เฉกเช่นช่างไม้แห่งนาซาเร็ธ ผู้ที่สามารถเปลี่ยนปัญหาให้เป็นความเป็นไปได้ด้วยการไว้วางใจในพระญาณสอดส่องของพระเจ้าเสมอ

        หากบางครั้งพระเจ้าดูเหมือนจะไม่ช่วยพวกเรา แน่นอนนี่ไม่ได้หมายความว่าพวกเราถูกทอดทิ้ง แต่ตรงกันข้าม พวกเราได้รับการไว้วางใจให้วางแผน ให้มีความคิดสร้างสรรค์ และให้หาวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวของพวกเราเอง

        ความกล้าหาญที่สร้างสรรค์ประเภทนี้จากเพื่อนๆ ของคนง่อยที่หย่อนเขาลงมาจากหลังคาบ้านเพื่อที่จะให้เขาได้พบกับพระเยซูคริสต์ (เทียบ ลก. 5: 17-26) ความยากลำบากไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความกล้าหาญ และความพยายามของเพื่อนเหล่านั้น พวกเขามั่นใจว่าพระเยซูคริสต์สามารถรักษาคนง่อยนั้นได้ และ เมื่อ “ไม่มีทางที่จะนำเขาเข้าไปข้างในได้เพราะฝูงชนแน่นหนา พวกเขาจึงปีนขึ้นไปบนหลังคาแล้วหย่อนเตียงคนง่อยลงมาท่ามกลางผู้คนที่อยู่ข้างหน้าพระเยซูคริสต์ เมื่อพระองค์ทรงเห็นความเชื่อของพวกเขา จึงตรัสว่า “มิตรเอ๋ย บาปของเจ้าได้รับการอภัยแล้ว” (ลก. 5: 19-20) พระเยซูคริสต์ทรงทราบถึงความเชื่อที่สร้างสรรค์ที่พวกเขาพยายามนำเพื่อนผู้ป่วยมายังพระองค์

        พระวรสารไม่ได้บอกพวกเราว่ามารีย์ยอแซฟ และพระกุมารอยู่ในประเทศอียิปต์นานเท่าใด แต่แน่นอนว่าพวกเขาต้องกิน ต้องมีบ้าน และต้องทำงาน คงต้องใช้จินตนาการมากเท่าไรในการพูดถึงรายละเอียดเหล่านั้น  ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ต้องเผชิญกับปัญหาที่เป็นรูปธรรมเช่นเดียวกับครอบครัวอื่นๆ เฉกเช่นบรรดาผู้อพยพในทุกวันนี้ ต้องเสี่ยงชีวิตในการหนี กับเคราะห์ร้ายและความหิว สำหรับประเด็นนี้ ข้าพเจ้าถือว่านักบุญยอแซฟเป็นผู้อุปถัมภ์พิเศษของทุกคนที่ถูกบังคับให้ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนของตนเนื่องจากสงคราม ความเกลียดชัง การเบียดเบียน และความยากจน

        ในตอนจบของทุกเรื่องที่ยอแซฟมีบทบาทพระวรสารบอกพวกเราว่า ท่านลุกขึ้นพาพระกุมารและมารียพร้อมกับปฏิบัติตามที่พระเจ้าทรงมีพระบัญชากับท่าน (เทียบ มธ. 1: 24; 2: 24, 21) อันที่จริงแล้วพระเยซูคริสต์และพระมารดาของพระองค์เป็นขุมทรัพย์ที่ประเสริฐที่สุดแห่งความเชื่อของพวกเรา [21]

        ในแผนการไถ่กู้ของพระเจ้าพระบุตรจะแยกจากพระมารดของพระองค์ไม่ได้ ผู้ทรง “เจริญก้าวหน้าในการเดินทางแห่งความเชื่อและยืนหยัดด้วยความซื่อสัตย์ในความเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระบุตรของพระนางจนกระทั่งพระแม่ยืนอยู่ ณ แทบเชิงไม้กางเขน” [22]

        พวกเราควรพิจารณาเสมอว่า พวกเราเองควรที่จะปกป้องพระเยซูคริสต์และพระมารดาอย่างไร เพราะพระองค์ก็ถูกมอบให้อยู่ในความรับผิดชอบ การดูแล และการปกป้องคุ้มครองของพวกเราด้วยอย่างเร้นลับ พระบุตรของพระเจ้าทรงเสด็จมาในโลกในสภาพที่มีความเปราะบางที่สุด พระองค์จำเป็นต้องได้รับการป้องกัน พิทักษ์คุ้มครอง ดูแล และได้รับการเลี้ยงดูโดยยอแซฟ พระเจ้าทรงไว้วางใจในยอแซฟเช่นเดียวกับมารีย์ผู้ที่พบว่าท่านไม่เพียงแต่จะช่วยชุบชีวิตพระนางเท่านั้น แต่ยังเฝ้าดูแลพระนางและพระกุมาร ในความหมายนี้นักบุญยอแซฟจึงไม่อาจที่จะเป็นอื่นไปได้นอกจากจะเป็นผู้พิทักษ์พระศาสนจักร เพราะพระศาสนจักรเป็นการสืบเนื่องต่อจากพระวรกายของพระเยซูคริสต์ในประวัติศาสตร์ดุจดังความเป็นมารดาของพระแม่มารีย์สะท้อนให้เห็นความเป็นมารดาของพระศาสนจักร [23]  ในการปกปองพระศาสนจักรอย่างต่อเนื่องยอแซฟยังคงปกป้อง พระกุมารและพระมารดาของพระองค์ และพวกเราก็เช่นเดียวกันด้วยความรักของพวกเราต่อพระศาสนจักร ซึ่งพวกเราก็รัก พระกุมารและพระมารดาของพระองค์ด้วย

        พระกุมารนั้นยังคงตรัสต่อไป “เฉกเช่นท่านปฏิบัติต่อคนหนึ่งที่ต่ำต้อยที่สุดในคนเหล่านี้ที่เป็นพี่น้องของเรา ท่านก็ปฏิบัติต่อเราเอง” (มธ. 25: 40) ผลที่ตามมาคือ   คนยากจน คนที่เดือดร้อน คนที่มีทุกข์ คนที่ใกล้ตาย คนแปลกหน้า นักโทษ คนที่อ่อนแอทุกคนเช่น “พระกุมาร” ที่ยอแซฟพยายามปกป้อง ด้วยเหตุนี้นักบุญยอแซฟจึงขึ้นชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองคนที่โชคร้าย คนที่เดือดร้อน คนที่ถูกเนรเทศ คนที่มีทุกข์ คนยากจน และคนที่กำลังจะตาย พระศาสนจักรจึงไม่สามารถที่จะพลาดในการแสดงความรักเป้นพิเศษต่อพี่น้องของพวกเราที่ต่ำต้อยที่สุด เพราะนักบุญยอแซฟแสดงความห่วงใยเป็นพิเศษต่อพวกเขาเป็นการส่วนตัวและถือว่าตนเป็นพวกเดียวกัน พวกเราต้องเรียนรู้จากนักบุญยอแซฟด้วยการเอาใจใส่ดูแล และด้วยความรับผิดชอบเดียวกัน พวกเราต้องเรียนรู้ที่จะรักพระกุมารและพระมารดาของพระองค์ ที่จะรักศีลศักดิ์สิทธิ์และความเมตตา ที่จะรักพระศาสนจักรและคนยากจน  ความจริงแต่ละประการเหล่านี้คือ พระกุมารแลพะพระมารดาของพระองค์

  1. ท่านเป็นบิดาที่ทำงาน

        แง่มุมหนึ่งของนักบุญยอแซฟที่มีการเน้นจากเวลาที่มีสมณสาส์นฉบับแรกเกี่ยวกับสังคม สมณสาส์นเวียน “Rerum Novarum” ของพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 คือความสัมพันธ์ของท่านกับการทำงาน  นักบุญยอแซฟเป็นช่างไม้ที่ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความซื่อสัตย์สำหรับครอบครัว พระเยซูคริสต์ทรงเรียนรู้คุณค่า ศักดิ์ศรี และความชื่นชมยินดีว่า นี่หมายถึงอะไรในการรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นผลแห่งการทำงานจากท่าน

        ในยุคสมัยของพวกเราเมื่อการจ้างงานกลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมอีกครั้งหนึ่ง และการตกงาน บางครั้งตกอยู่สถิติต่ำสุดแม้ในบางประเทศที่ตลอดเวลาหลายทศวรรษมีความเจริญกันพอสมควร จึงมีความสำคัญที่จะต้องฟื้นฟูความสำคัญแห่งการทำงานที่มีศักดิ์ศรี ซึ่งนักบุญยอแซฟเป็นองค์อุปถัมภ์ที่เป็นแบบอย่าง

        การทำงานหมายถึงการมีส่วนร่วมในงานแห่งการไถ่กู้ เป็นโอกาสที่จะเร่งการมาถึงแห่งพระอาณาจักร เพื่อที่จะพัฒนาปัญญาและความสามารถของพวกเรา และนำมารับใช้สังคมและความเป็นหนึ่งเดียวกันฉันพี่น้อง นี่เป็นโอกาสที่ไม่เพียงแต่จะเพื่อความสำเร็จของตนเองเท่านั้น แต่ยังเพื่อเซลส์แรกของสังคมซึ่งได้แก่ครอบครัว  ครอบครัวที่ปราศจากซึ่งการทำงานจะมีความเปราะบางเป็นพิเศษต่อความทุกข์ยาก ความตึงเครียด  การเหินห่าง และการแตกแยก  พวกเราจะพูดถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร หากปราศจากซึ่งการทำงานเพื่อสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถที่จะหาเลี้ยงชีพอย่างเหมาะสมได้

        บุคคลที่ทำงานไม่ว่าจะเป็นงานอะไร กำลังร่วมมือกับพระเจ้าเอง และในวิธีใดวิธีหนึ่งก็กลายเป็นผู้สร้างโลกรอบตัวเรา วิกฤตในยุคของพวกเราซึ่งได้แก่เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและชีวิตจิตสามารถช่วยให้พวกเราทุกคนต้องค้นให้พบคุณค่าที่แท้จริง ความสำคัญและความจำเป็นของการทำงานที่จะก่อให้เกิด “วิถีความเป็นปกติ” แบบใหม่ ซึ่งไม่มีผู้ใดที่จะถูกตัดทิ้งไป งานของนักบุญยอแซฟเตือนใจพวกเราว่าพระเจ้าในการประสูติมาเป็นมนุษย์ก็ไม่รังเกียจการทำงาน การตกงานที่มีผลกระทบต่อผู้คนเป็นอันมาก และมีผลทำให้โรคระบาดโควิดขยายตัวมากขึ้นควรที่ทำให้พวกเราต้องหันกลับมาทบทวนลำดับความสำคัญกันใหม่ ขอให้พวกเราวอนขอนักบุญยอแซฟกรรมกรได้โปรดช่วยให้พวกเราแสดงความเชื่อมั่นว่าจะไม่มีคนหนุ่มสาว จะไม่มีผู้ใด หรือครอบครัวใดที่ตกงาน

  1. บิดาที่อยู่ในร่มเงา

        นักเขียนญาน โดบราซินสกี (Jan Dobraczynski) ชาวโปแลนด์ในหนังสือ “ร่มเงาแห่งบิดา (The Shadow of the Father) [24] ได้เล่าเรื่องชีวิตของนักบุญยอแซฟในรูปแบบของนิทาน เขาใช้ภาพพจน์ที่ชวนให้คิดถึงเงาเพื่อที่หมายถึงยอแซฟ ในความสัมพันธ์ของท่านกับพระเยซูคริสต์  ยอแซฟเป็นเงาทางโลกแห่งพระบิดาเจ้าสวรรค์ ท่านเฝ้าดูและและคอยปกป้องพระกุมาร ไม่เคยปล่อยให้พระกุมารไปไหนมาไหนโดยลำพัง พวกเราสามารถคิดถึงคำพูดของโมเสสต่อชนชาติอิสราเอล “ในที่เปลี่ยว… ท่านเห็นแล้วว่าพระเจ้าทรงดูแลท่านอย่างไร ดุจผู้ที่อุ้มเด็กตลอดเส้นทางที่ท่านเดิน” (ฉธบ. 1: 31) ในทำนองเดียวกันยอแซฟทำหน้าที่เป็นบิดาตลอดชีวิตของท่าน [25]

        บิดาไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่ถูกสร้างขึ้นมา ผู้ชายไม่ได้เป็นบิดาเพียงแค่ทำให้เด็กเกิดมาในโลกเท่านั้น แต่ต้องมีความรับผิดชอบที่จะดูแลเลี้ยงดูเด็ก เมื่อใดที่ชายคนหนึ่งยอมรับผิดชอบต่อชีวิตของผู้อื่นโดยยวิธีใดวิธีหนึ่ง เขาก็เป็นบิดาของคนนั้น

        ทุกวันนี้บ่อยครั้งเด็กๆ ดูเหมือนจะเป็นกำพร้าขาดพ่อ  พระศาสนจักรก็ต้องการบิดาเช่นเดียวกัน คำพูดของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ยังทันสมัยอยู่ “แม้ว่าท่านจะมีครูพี่เลี้ยงนับหมื่นคน ในพระเยซูคริสต์ แต่ก็มีบิดาเพียงคนเดียว” (1 คร. 4: 15) บาดหลวง หรือบิชอปทุกคนสมควรและสามารถที่จะกล่าวเพิ่มพร้อมกับอัครสาวกว่า “ข้าพเจ้าเป็นบิดาของท่านในพระคริสต์เยซูโดยอาศัยพระวรสาร” (ibid) เปาโลเรียกชาวกาลาเทียเช่นเดียวกันว่า “ลูกๆที่รัก ข้าพเจ้ามีความเจ็บปวดจนกว่าพระเจ้าจะปรากฏอยู่ในท่านอย่างชัดเจน” (กท. 4: 19)

        การเป็นบิดาหมายถึงการนำเด็กๆ เข้าสู่ชีวิตและความจริง อย่ารั้งพวกเขาไว้ อย่าทนุถนอมเขาจนเกินไป แต่ทำให้เขาสามารถตัดสินใจเอง มีเสรีภาพ และทดลองกับความเป็นไปได้ใหม่ๆ บางทีด้วยเหตุนี้ยอแซฟจึงถือกันโดยธรรมเนียมว่าเป็นบิดา “ผู้บริสุทธิ์ที่สุด”  ตำแหน่งนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นเพราะความเคารพรักเท่านั้น แต่เป็นเพราะทัศนคติของท่านไม่ใช่เป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ความบริสุทธิ์เป็นเสรีภาพจากการเป็นเจ้าของในทุกบริบทแห่งชีวิต ความรักต้องบริสุทธิ์เท่านั้นจึงจะเป็นความรักที่แท้จริง ความรักแบบเป็นเจ้าของในที่สุดจะเป็นอันตราย จะขังคุกตนเอง บีบบังคับทำให้เกิดความน่าสงสาร  พระเจ้าทรงรักมนุษยชาติด้วยความรักที่บริสุทธิ์ พระองค์ปล่อยให้พวกเราเป็นอิสระ แม้พวกเราจะหลงทางและตั้งตนเป็นอริกับพระองค์ ตรรกะแห่งความรักจะเป็นตรรกะแห่งเสรีภาพเสมอ และยอแซฟก็ทราบดีว่าจะต้องใช้เสรีภาพพิเศษนี้อย่างไร  ท่านไม่เคยทำตนเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง ไม่เคยคิดถึงแต่ตนเอง แต่มุ่งอยู่แต่ที่ชีวิตของมารีย์และพระเยซูคริสต์

        ยอแซฟมีความสุขไม่ใช่พียงการเสียสละตนเอง แต่ในการทำตนเองเป็นของขวัญด้วย  พวกเราไม่เคยเห็นท่านท้อแท้ ท่านมีแต่เพียงความไว้วางใจ การอยู่นิ่งอย่างอดทนของท่านเป็นพื้นฐานแห่งการแสดงออกถึงความไว้ใจ โลกของพวกเราทุกวันนี้ต้องการบิดา ไม่มีประโยชน์ที่ทรราชจะใช้อำนาจเหนือผู้อื่นให้เป็นวิธีที่จะสนองความต้องการของตน จะปฏิเสธผู้ที่ปะปนอำนาจกับเผด็จการ การรับใช้กับการเป็นทาส การอภิปรายกับการกดขี่บีบบังคับ ความรักเมตตากับเจตนารมณ์แห่งสวัสดิการ อำนาจกับการทำลาย ทุกกระแสเรียกที่แท้จริงเกิดจากการให้ตนเองเป็นของขวัญซึ่งเป็นผลของการเสียสละที่มีวุฒิภาวะ การเป็นสมณะและชีวิตผู้ถวายตัวก็เรียกร้องวุฒิภาวะเช่นเดียวกัน ไม่ว่ากระแสเรียกของพวกเราจะเป็นเช่นใด ไม่ว่าจะแต่งงาน ถือโสดหรือเจริญชีวิตพรหมจรรย์ ของขวัญแห่งตัวของพวกเราจะไม่สมบูรณ์เมื่อพวกเราถวายเป็นบูชา หากหยุดเพียงแค่นั้น หากเป็นเช่นนั้นแทนที่จะเป็นเครื่องหมายความสวยงามและความชื่นชมยินดีแห่งความรัก ของขวัญแห่งตนเองก็จะเสี่ยงที่จะเป็นการแสดงถึงการไม่มีสุข ความเสียใจ และความผิดหวัง

        เมื่อบิดาปฏิเสธที่จะดูแลการเจริญชีวิตของบุตร ฉากใหม่ที่ไม่คาดหวังก็จะเกิดขึ้น  เด็กทุกคนมีความเร้นลับพิเศษจำเพาะตัวที่จะพัฒนาได้ก็ต้องด้วยความช่วยเหลือของบิดา ซี่งให้ความเคารพต่อเสรีภาพของบุตร บิดาควรรับรู้อย่างดีว่าตนเป็นบิดาและผู้อบรมที่สำคัญที่สุจนกระทั่งตนไม่มีประโชน์อีกต่อไป เมื่อเห็นว่าบุตรสามารถพึ่งตนเองได้ และสามารถที่จะเดินไปตามเส้นทางแห่งชีวิตได้ตามลำพัง  เมื่อเขากลายเป็นดุจยอแซฟ ซึ่งทราบอยู่เสมอว่าบุตรของตนมิใช่เป็นของตน เป็นแต่เพียงมอบไว้ให้ตนดูแล ในที่สุด นี่คือสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงต้องการให้พวกเราเข้าใจเมื่อพระองค์ตรัสว่า “ในโลกนี้อย่าเรียกผู้ใดว่าบิดา เพราะว่าพระบิดาของท่านมีเพียงพระองค์เดียวคือพระบิดาในสวรรค์” (มธ. 23: 9)

        ในการทำหน้าที่ของการเป็นบิดา พวกเราควรระลึกเสมอว่า นี่ไม่เกี่ยวอะไรกับการเป็นเจ้าของแต่เป็น “เครื่องหมาย” ที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นบิดาที่ยิ่งใหญ่กว่า ในทางหนึ่งพวกเราทุกคนเป็นเหมือนยอแซฟ คือเป็นเงาแห่งพระบิดาเจ้าสวรรค์ผู้ทรง “โปรดให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นเหนือคนดีและคนชั่ว โปรดให้ฝนตกเหนือคนชอบธรรมและคนอธรรม” (มธ. 5: 45) และ เป็นเงาที่ติดตามพระบุตรของพระองค์

*.*.*

“จงลุกขึ้นพาพระกุมารและพระมารดาหนีไป” (มธ. 2: 13) พระเจ้าทรงบัญชายอแซฟ

        เป้าหมายของสมณลิขิตฉบับนี้ก็เพื่อที่จะเพิ่มความรักขอพวกเราต่อนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ เพื่อสนับสนุนให้พวกเราภาวนาต่อการวิงวอนของท่าน เรียนรู้และเลียนแบบฉบับคุณธรรมอันสูงส่งและความร้อนรนของท่าน

        แท้จริงพันธกิจที่เหมาะสมของบรรดานักบุญไม่เพียงแต่เพื่อรับอัศจรรย์และรับพระหรรษทานเท่านั้น แต่เพื่อให้ท่านเสนอวิงวอนต่อพระเจ้าเพื่อพวกเราเฉกเช่นอับราฮัม [26] และโมเสส [27] และดุจพระเยซูคริสต์ “ผู้วิงวอน” (1 ทธ. 2: 5) ซึ่งเป็น “ผู้ส่งเสริมสนับสนุน” ต่อพระบิดา (1 ยน. 2: 1) และพระองค์ “ผู้ดำรงอยู่เพื่อวิงวอนเพื่อพวกเรา” (ฮบ. 7: 25; รม. 8: 34)

        บรรดานักบุญช่วยสัตบุรุษทุกคน “ให้พยายามแสวงหาความศักดิ์สิทธิ์และความครบครันในสภาพชีวิตของพวกเขาแต่ละคน” [28] ชีวิตของนักบุญเหล่านั้นเป็นการพิสูจน์ชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งความเป็นไปได้ที่จะนำพระวรสารมาปฏิบัติในชีวิตจริง

        พระเยซูคริสต์ตรัสกับพวกเราว่า “จงเรียนรู้จากเรา เพราะเรามีใจสุภาพอ่อนโยนและต่ำต้อย” (มธ. 11: 29) ชีวิตของบรรดานักบุญก็เป็นแบบฉบับที่พวกเราต้องเลียนแบบเช่นเดียวกัน นักบุญเปาโลกล่าวอย่างชัดเจนว่า “จงเลียนแบบฉบับจากเรา” (1 คร. 4: 16) [29] ในความเงียบของท่านนักบุญยอแซฟก็กล่าวเช่นเดียวกัน

        ด้วยแบบฉบับของบุรุษและสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์มากมาย นักบุญออกัสตินถามตนเองว่า “สิ่งที่พวกเขาทำได้ ท่านไม่สามารถทำได้บ้างหรือ?” ดังนั้นท่านจึงตัดสินใจที่จะกลับใจเมื่อท่านอุทานว่า “ข้าพเจ้ารักพระองค์ช้าเหลือเกิน พระองค์เป็นองค์ความงดงามเก่าแก่ แต่ก็ใหม่อยู่เสมอ” [30]

        พวกเราเพียงแต่ต้องวอนนักบุญยอแซฟสำหรับพระหรรษทาน เพื่อการกลับใจของพวกเรา

        บัดนี้ขอให้พวกเราภาวนาต่อท่านนักบุญยอแซฟ:

                ข้าแต่ผู้พิทักษ์พระผู้ไถ่

                ภัสดาของพระแม่มารีย์พรหมจารี

                พระเจ้าทรงมอบพระบุตรแต่พระองค์เดียวแก่ท่าน

                พระแม่มารีย์ทรงวางพระทัยในท่าน

                พระเยซูคริสต์ทรงรับสภาพมนุษย์พร้อมกับท่าน

                ข้าแต่นักบุญยอแซฟ

                โปรดแสดงว่าท่านเป็นบิดาของข้าพเจ้าด้วย

                โปรดชี้นำพวกเราในหนทางแห่งชีวิต

                โปรดวิงวอนพระหรรษทานพระเมตต าและความกล้าหาญเพื่อพวกเรา

                และโปรดคุ้มครองพวกเราให้พ้นจากความชั่วร้ายทุกประการเทอญ

        อาแมน

        ให้ไว้ ณ กรุงโรมที่มหาวิหารยอห์นลาเตรัน วันที่ 8 ธันวาคม วันสมโภชพระแม่มารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล ปี ค.ศ. 2020 เป็นปีที่ 8 แห่งสมณสมัยของข้าพเจ้า

ฟรานซิส

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บสมณลิขิตนี้มาแบ่งปันและไตร่ตรอง)

เชิงอรรถ

______________________

[1] Lk 4:22; Jn 6:42; cf. Mt 13:55; Mk 6:3.

[2] S. RITUUM CONGREGATIO, Quemadmodum Deus (8 December 1870): ASS 6 (1870-71), 194.

[3] Cf. Address to ACLI on the Solemnity of Saint Joseph the Worker (1 May 1955): AAS 47 (1955), 406.

[4] Cf. Apostolic Exhortation Redemptoris Custos (15 August 1989): AAS 82 (1990), 5-34.

[5] Catechism of the Catholic Church, 1014.

[6] Meditation in the Time of Pandemic (27 March 2020): L’Osservatore Romano, 29 March 2020, p. 10.

[7] In Matthaeum Homiliae, V, 3: PG 57, 58.

[8] Homily (19 March 1966): Insegnamenti di Paolo VI, IV (1966), 110.

[9] Cf. Autobiography, 6, 6-8.

[10] Every day, for over forty years, following Lauds I have recited a prayer to Saint Joseph taken from a nineteenth-century French prayer book of the Congregation of the Sisters of Jesus and Mary. It expresses devotion and trust, and even poses a certain challenge to Saint Joseph: “Glorious Patriarch Saint Joseph, whose power makes the impossible possible, come to my aid in these times of anguish and difficulty. Take under your protection the serious and troubling situations that I commend to you, that they may have a happy outcome. My beloved father, all my trust is in you. Let it not be said that I invoked you in vain, and since you can do everything with Jesus and Mary, show me that your goodness is as great as your power. Amen.”

[11] Cf. Deut 4:31; Ps 69:16; 78:38; 86:5; 111:4; 116:5; Jer 31:20.

[12] Cf. Apostolic Exhortation Evangelii Gaudium (24 November 2013), 88, 288: AAS 105 (2013), 1057, 1136-1137.

[13] Cf. Gen 20:3; 28:12; 31:11.24; 40:8; 41:1-32; Num 12:6; 1 Sam 3:3-10; Dan 2, 4; Job 33:15.

[14] In such cases, provisions were made even for stoning (cf. Deut 22:20-21).

[15] Cf. Lev 12:1-8; Ex 13:2.

[16] Cf. Mt 26:39; Mk 14:36; Lk 22:42.

[17] SAINT JOHN PAUL II, Apostolic Exhortation Redemptoris Custos (15 August 1989), 8: AAS 82 (1990), 14.

[18] Homily at Mass and Beatifications, Villavicencio, Colombia (8 September 2017): AAS 109 (2017), 1061.

[19] Enchiridion de fide, spe et caritate, 3.11: PL 40, 236.

[20] Cf. Deut 10:19; Ex 22:20-22; Lk 10:29-37.

[21] Cf. S. RITUUM CONGREGATIO, Quemadmodum Deus (8 December 1870): ASS 6 (1870-1871), 193; BLESSED PIUS IX, Apostolic Letter Inclytum Patriarcham (7 July 1871): l.c., 324-327.

[22] SECOND VATICAN ECUMENICAL COUNCIL, Dogmatic Constitution on the Church Lumen Gentium, 58.

[23] Catechism of the Catholic Church, 963-970.

[24] Original edition: Cień Ojca, Warsaw, 1977.

[25] Cf. SAINT JOHN PAUL II, Apostolic Exhortation Redemptoris Custos, 7-8: AAS 82 (1990), 12-16.

[26] Cf. Gen 18:23-32.

[27] Cf. Ex 17:8-13; 32:30-35.

[28] SECOND VATICAN ECUMENICAL COUNCIL, Dogmatic Constitution Lumen Gentium, 42.

[29] Cf. 1 Cor 11:1; Phil 3:17; 1 Thess 1:6.

[30] Confessions, VIII, 11, 27: PL 32, 761; X, 27, 38: PL 32, 795.

ข้อคิดข้อรำพึง
อาทิตย์ที่ 3 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ปี B

ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 3 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ปี B

“แสงสว่างแท้จริงซึ่งส่องสว่างแก่มนุษย์ทุกคนกำลังจะมาสู่โลก”

ชายคนหนึ่งชื่อ Mike Bradaric ได้รวบรวมวิถีทางที่พระทรงไขแสดงทีละขั้นๆ ถึงการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ ดังนั้น ตั้งแต่ในสมัยพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมที่พระทรงค่อยๆ เผยแผนการกอบกู้มนุษยชาติว่าจะเป็นเช่นไร

ใน ปฐก. 3:15 – ทรงเผยว่าพระผู้ไถ่จะมาจากเชื้อสายของมนุษย์

ใน ปฐก. 12:1-3 – ทรงเผยว่าพระผู้ไถ่จะมาจากเชื้อสายของอับราฮัม

ใน ปฐก.28:14 – ทรงเผยว่าพระผู้ไถ่จะมาจากเผ่าพันธุ์ของยาโคบ และดังนั้นจะเรียกชื่อว่าอิสราเอล

ใน ปฐก. 49:10 – ทรงเผยว่าพระผู้ไถ่จะมาจากตระกูลของยูดาห์

ใน 2 ซมอ. 7:16 – ทรงเผยว่าพระผู้ไถ่จะสืบมาจากเชื้อสายของกษัตริย์ดาวิด และพระองค์จะทรงปกครองตลอดไป

ใน อสย. 7:14 – ทรงเผยว่าจะทรงบังเกิดจากพรหมจารี

ใน มคา. 5:2 – ทรงเผยว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะบังเกิดที่เมืองเบธเลเฮม

ใน สดด. 22 – ทรงเผยว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะตายเช่นไร

ใน มลค. 4 – ทรงเผยว่าประกาศกเอลียาห์จะถูกส่งมาก่อนเพื่อประกาศถึงพระองค์

ใน อสย. 53 – ทรงเผยว่าพระผู้ไถ่จะตายอย่างไร ถูกฝังและกลับฟื้นคืนพระชนม์อย่างไร

จะเห็นว่าในพันธสัญญาเดิมนั้น พระเจ้าทรงค่อยๆ เผยแสดงข้อมูลต่างๆ อย่างช้าๆ เกี่ยวกับการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ แต่เมื่อเวลาใกล้มาถึง พระองค์ทรงส่งยอห์น บัปติสต์ มาเตรียมทางสำหรับพระองค์ และจะเป็นผู้ชี้ไปที่พระองค์เมื่อทรงเสด็จมาแล้วด้วย เมื่อยอห์นปรากฏตัวในถิ่นทุรกันดาร เหมือนเช่นประกาศกเอลียาห์ ต่างกันตรงที่ท่านไม่ยอมรับว่าเป็นประกาศกคนใดคนหนึ่ง หากแต่ว่า “ข้าพเจ้าเป็นเสียงที่ร้องว่า จงกลับใจเถิด พระอาณาจักรของพระเจ้ามาใกล้แล้ว” เสียงประกาศก้องของท่าน ดังสะท้อนไปทั่วทั้งแผ่นดิน และนำประชาชนทุกหมู่เหล่าทั้งจากในเมือง จากหมู่บ้านทั้งใหญ่และเล็กมาหาท่าน มาฟังท่าน และขอรับพิธีล้างจากท่าน

บรรดาผู้นำชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็ม เริ่มเดือดร้อนในการปรากฏตัวมาของยอห์น จึงใช้คนมาสืบว่าท่านเป็นพระเมสสิยาห์หรือไม่ ท่านก็ตอบชัดเจนว่า “ไม่ได้เป็น” เป็นแต่เพียงผู้นำหน้า ซึ่งไม่สำคัญอะไรกับรูปลักษณ์ของท่าน แต่จงฟังเสียงแห่งความจริงที่ท่านประกาศดีกว่า คือให้เตรียมตัวต้อนรับท่านผู้นั้น ซึ่งมาภายหลังท่าน

เราเห็นบทบาทของยอห์นแล้วเรารู้สึกทึ่งหรือไม่ ท่านช่างเป็นคนที่ทำหน้าที่ตามบทบาทของท่านได้อย่างสมบูรณ์ยอดเยี่ยม ถ่อมตนจนไม่คิดถึงตนเองเลย ไม่คิดว่ามีตัวตนด้วยซ้ำ มุ่งจะทำหน้าที่เป็นเสียงร้อง คอยเตือนให้คนเตรียมจิตใจรับเสด็จพระคริสต์ ท่านเองคิดว่าตัวท่านไม่สมควรแม้จะแก้สายรัดพระบาทของพระองค์ด้วยซ้ำ นี่แหละเป็นผู้ที่พระเยซูเจ้าทรงชมว่าผู้ที่เกิดจากหญิง ไม่มีใครยิ่งใหญ่เท่ากับยอห์น บัปติสต์

แล้วเราแต่ละคนล่ะ รู้หรือไม่ว่าเราเป็นใคร มีบทบาทอะไรในโลกนี้ เราดำเนินชีวิตเพื่อใคร หรือเพื่ออะไร ถ้าเปรียบชีวิตเราเหมือนเสื้อยืดที่มีคำเขียนสลักไว้ จะเขียนว่าอะไร

“เงิน เงิน เงิน”
“งาน งาน งาน”
“กิน ดื่ม เที่ยว”
หรือจะเปลี่ยนแนวเป็น
“รับใช้ บริการ รับใช้”
“ความดี คือธุรกิจที่ฉันทำ”
“พระเจ้าผู้เดียวก็เพียงพอแล้ว”

ลองสำรวจดูนะครับ ว่าเราดำเนินชีวิตในรูปแบบไหน บางทีเสียงเตือน ของท่านยอห์นอาจจะก้องกังวานอยู่ในหัวใจของเราให้จัดระเบียบชีวิตให้สอดคล้องกับภารกิจที่พระทรงมอบให้เราทำในโลกนี้
ก็เป็นไปได้

( คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2011
Based on : John’s Sunday Homilies, Cycle – B ; by : John Rose )

ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 3 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ปี B

จงกล้าที่จะชื่นชมยินดี

อาทิตย์ที่ 3 ในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า มีชื่อเรียกเป็นภาษาลาตินว่า “Gaudete Sunday” เหมือนภาษาอังกฤษว่า “Rejoice Sunday” หมายถึงอาทิตย์แห่งความชื่นชมยินดี พระวาจาของพระสำหรับอาทิตย์นี้จะพบคำว่า “ชื่นชมยินดี” นี้อยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นบทอ่านแรก จากหนังสือประกาศกอิสยาห์ “ข้าพเจ้าจะเปรมปรีดิ์อย่างยิ่งในองค์พระผู้เป็นเจ้า วิญญาณของข้าพเจ้าจะชื่นชมยินดีในพระเจ้าของข้าพเจ้า” ในบทอ่านที่สอง จดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวเธสะโลนิกา ฉบับที่หนึ่ง “พี่น้อง จงร่าเริงยินดีเสมอ” และในพระวรสารของนักบุญยอห์นได้ให้เหตุผลที่ประชาชนควรจะชื่นชมยินดี เพราะพระเมสสิยาห์ที่พวกเขารอคอย บัดนี้ได้มาประทับอยู่ในหมู่ของพวกเขาแล้ว เป็นการประกาศจากท่านยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ผู้ที่มาเป็นพยานถึงแสงสว่าง

บางที บางเวลา และบางคน อาจจะสงสัยว่า จะให้มีความเปรมปรีดิ์ มีความชื่นชมยินดีได้อย่างไร ประชาชนกำลังอยู่ในท่ามกลางความแตกแยก อยู่ท่ามกลางหมู่ศัตรู อยู่ในความเจ็บปวดรวดร้าว การกดขี่ข่มเหง และการเบียดเบียน เราจะมีความชื่นชมยินดีได้อย่างไรในเมื่อธุรกิจการค้าพัง การท่องเที่ยวหยุดชะงัก หลายธุรกิจสูญหาย และคนมากมายตกงาน หรือหางานทำไม่ได้ ประเทศเราเผชิญวิกฤติหลายอย่าง จะมีอะไรเป็นความหวังได้หรือ ยังจะมีความชื่นชมยินดีจริงๆได้หรือ

ในบทรำพึงของพระสันตะปาปากิตติคุณ เบเนดิกต์ที่ 16 ในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ปี ค.ศ. 2005 ทรงเขียนไว้ดังนี้

“เมื่อพระเจ้าทรงส่งทูตสวรรค์กาเบรียลมายังเมืองหนึ่งในแคว้นกาลิลี ชื่อเมืองนาซาเร็ธ มาหาหญิงพรหมจารีคนหนึ่ง…. หญิงพรหมจารีนั้นชื่อมารีย์ ทูตสวรรค์เข้าในบ้านกล่าวกับพระนางว่า ‘จงยินดีเถิด’ ท่านผู้ที่พระเจ้าโปรดปราน พระเจ้าสถิตอยู่กับท่าน” – คำว่า ‘Kaire’ ในภาษากรีก หมายถึง “จงชื่นชมยินดี” “จงเป็นสุข” ความหมายที่แท้จริงของคริสต์มาสคือสิ่งนี้ : พระเจ้าทรงอยู่ใกล้เรา ใกล้เรามากจนกระทั่งพระองค์ทรงกลับกลายเป็นเด็กคนหนึ่ง พวกเราคงตระหนักได้ว่าโลกของเราทุกวันนี้ ที่ไม่มีพระองค์ประทับอยู่ ถูกครอบครองด้วยความกลัว ด้วยความไม่แน่นอน ถึงกระนั้นคำที่ว่า “จงชื่นชมยินดีเพราะพระเจ้าสถิตอยู่กับเรา” ก็เป็นการเปิดวันเวลาใหม่อย่างแท้จริง ความชื่นชมยินดีเป็นของขวัญแท้จริงของคริสต์มาส ไม่ใช่ของขวัญชิ้นที่มีราคาแพงที่ต้องใช้เงินมากๆ หรือใช้เวลาแสวงหาอยู่นาน เราสามารถพบความชื่นชมยินดีได้โดยง่ายด้วยรอยยิ้ม ด้วยท่าทีที่เป็นมิตร ด้วยการให้ความช่วยเหลือเล็กๆน้อยๆ หรือด้วยการรู้จักให้อภัย และความชื่นชมยินดีนี้ที่เราให้ออกไป จะวนกลับเข้ามาหาเราอย่างแน่นอน ให้เราภาวนาขอให้การประทับอยู่ของพระเจ้า ทรงนำความชื่นชมยินดีและฉายแสงโดยตรงมาสู่ชีวิตของเรา

เราคงทราบถึงความแตกต่างระหว่างความสุขกับความชื่นชมยินดี ความสุขคือเมื่อมีบางสิ่งทำให้เกิดรอยยิ้มบนใบหน้า ส่วนความชื่นชมยินดี คือเมื่อมีบางสิ่งทำให้คุณอบอุ่นหัวใจ พระเจ้าทรงต้องการให้เราดำเนินชีวิตด้วยความชื่นชมยินดี ความชื่นชมยินดีเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่มีวันผิดพลาดในการประทับอยู่ของพระเจ้า พระองค์ทรงต้องการให้เราสู้ทนกับชีวิตของเรา แต่ด้วยความชื่นชมยินดี

ครั้งหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญในด้านการแนะนำวิญญาณได้กล่าวว่า มีสองวิธีที่ทำให้เกิดความอบอุ่นแก่ร่างกาย หนึ่งคือการกระโดดขึ้นและลง หรือการออกกำลังกายในรูปแบบอื่นๆที่คล้ายกัน ร่างกายเราจะอบอุ่นนานเท่านานตราบเท่าที่เรายังออกกำลังกาย แต่ถ้าเราเหนื่อยและหยุด ร่างกายก็จะค่อยๆเย็นลง วิธีที่สองที่ง่ายกว่ามาก คือเราไปยืนอยู่ใกล้กองไฟ เราจะรู้สึกอบอุ่นขึ้นมา โดยไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆเลย ใช่แล้วครับ พระเยซูเจ้าทรงเป็นไฟที่ทำให้เราลุกร้อนขึ้นมา เราต้องการอยู่ใกล้ชิดกับพระเจ้า

คุณพ่อจิตตาธิการโรงพยาบาลมีหน้าที่ไปเยี่ยมคนป่วย ท่านกล่าวว่า มีคนป่วยจำแนกได้เป็นสองพวกด้วยกัน พวกแรกคือพวกที่ตกใจกลัว สับสนหรือโกรธ (รวมไปถึงญาติของคนไข้ด้วยที่รู้สึกแบบเดียวกัน) พวกเขามักตั้งคำถามว่า ทำไมจึงเกิดสิ่งนี้ขึ้น มีพระเจ้าจริงหรือ ตัวฉันเอง (หรือพ่อแม่ฉัน หรือลูก หรือพี่น้องของฉัน) ได้ทำอะไรผิด จึงสมควรกับโรคเหล่านี้

ในทางตรงข้ามกับคนกลุ่มที่สอง แม้ว่าเขาต้องประสบโรคร้ายแรง และต้องทนทุกข์ทรมานมาก แต่พวกเขากลับจัดการกับอารมณ์ได้ โดยยิ้มสู้และพูดว่า “พระเจ้าทรงดีเหลือล้น พระองค์ได้ทรงอวยพระพรนานัปการให้ตลอดชีวิต และฉันไว้วางใจในพระองค์หมดหัวใจ” บทสรุปในที่นี้ คือว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีความชื่นชมยินดี ควบคู่ไปกับการต้องทนรับความทุกข์ทรมานต่างๆ จึงทำให้เราพอจะมั่นใจได้ว่าความชื่นชมยินดีของเรามีแหล่งกำเนิดภายในตัวบุคคล คือในองค์พระเยซูเจ้า มากกว่าความรู้สึกชั่วครั้งชั่วคราวที่เราแสดงออกมา”

ขีดขั้นของความชื่นชมยินดีของเรามีความสัมพันธ์โดยตรงกับการที่เรามีความใกล้ชิดกับพระเยซูเจ้า และพระองค์ทรงอยู่ใกล้ชิดกับเรามากน้อยแค่ไหน ผู้คนที่ใกล้ชิดกับพระเยซูเจ้ามากๆ จะสัมผัสได้ถึงความชื่นชมยินดีอันยิ่งใหญ่ ถึงแม้ว่าเป็นองค์พระเยซูเจ้าผู้ทรงรับทุกข์ทรมาน และทรงถูกตรึงการเขนที่พวกเขาเข้ามาใกล้ชิด แต่พระองค์ยังทรงมอบความชื่นชมยินดีให้ แม้จากบนไม้กางเขน ความชื่นชมยินดีอยู่เหนือความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานทุกชนิด แน่นอนครับ ว่าความชื่นชมยินดีเช่นนี้ เป็นมากกว่าความสุข หรือรอยยิ้มที่เผยออกมาภายนอก

ดังนั้น เราสามารถที่จะชื่นชมยินดีได้ในท่ามกลางความทุกข์ทรมาน และความยุ่งยากทุกชนิด ตราบเท่าที่เรายังใกล้ชิดกับพระคริสตเจ้า นี่คือเคล็ดลับของบรรดานักบุญ พวกท่านได้เข้าถึงความใกล้ชิดกับพระองค์ในขีดขั้นที่ว่าความทุกข์ทรมานเป็นเพียงการเพิ่มความชื่นชมยินดีให้ เพราะทำให้พวกท่านเป็นเหมือนพระคริสต์ผู้ทนทุกข์ได้ง่ายขึ้น เคล็ดลับของบรรดานักบุญนี้ ควรจะเป็นเคล็ดลับของเราด้วย ยิ่งเราใกล้ชิดกับพระองค์มากขึ้นเท่าไร ความชื่นชมยินดีของเราก็จะทวีมากขึ้นเท่านั้น

(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ ลงวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 2020
Based on : Ignite Your Spirit ; by Fr John Pichappilly)

จดหมายเปิดผนึก
9 ธันวาคม 2020

จดหมายเปิดผนึก

9 ธันวาคม 2020

พ่อได้รับเมลจดหมายของพระคาร์ดินัล อันโตนีโอ หลุยส์ ตากเล สมณมณตรีกระทรวงการประกาศข่าวดีสู่ปวงชน (ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2020) กล่าวว่า “ในช่วงการแพร่ระบาดไวรัสนี้ วิกฤติยังคงต่อเนื่อง และมีผลกระทบต่อชีวิตของพระศาสนจักรทุกระดับ สมณองค์กรการสนับสนุนงานแพร่ธรรม (PMS) ได้พยายามช่วยเหลือสนับสนุนสังฆมณฑลที่ยากจน โดยผ่านกองทุนพิเศษ

            ในเวลาเดียวกัน การแพร่ระบาดนี้ก็ท้าทายพันธกิจของสมณองค์กรฯ PMS ด้วย ทำให้บรรดาผู้อำนวยการ PMS ของระดับชาติและผู้รับผิดชอบสังฆมณฑล ไม่สามารถทำหน้าที่เต็มที่ได้ มีผลต่อเงินบริจาควันอาทิตย์แพร่ธรรมสากล (18 ตุลาคม 2020) จำกัดลง เพราะเหตุเรื่องความเคร่งครัดในการมีส่วนร่วมพิธีกรรมวันอาทิตย์ และบางกรณีต้องปิดวัด

            พี่น้องทราบแล้วว่า สมณองค์กร PMS ขึ้นอยู่กับความใจกว้างของผู้บริจาค ไม่มีรายได้จากแหล่งอื่น และเงินบริจาคต้องรอปีหน้า จำนวนสำหรับช่วยเหลือได้ในปี 2021 ก็ยังไม่ทราบ เพราะเหตุการณ์แพร่ระบาด จำนวนเงินปี 2020 สำหรับช่วยในปี 2021 จึงลดลงกว่าจำนวนที่ได้รับในปี 2019 และช่วยในปี 2020 นี้

            สมณองค์กร PMS ปรารถนาสนับสนุนพันธกิจเขตต่างๆด้วย การอธิษฐานภาวนา และความร่วมมือด้านวัตถุ อย่างไรก็ดีในปี 2021 จึงขัดข้องมาก ขอท่านโปรดเข้าใจ

            ในที่สุด ถ้าเป็นไปได้ ผมขอพระคุณเจ้า ลดจำนวน หรือ ยกเลิก การขอสนับสนุนปกติ ต่อหน่วยงานแต่ละสังฆมณฑล และโปรดแจ้งการตัดสินใจต่อเลขาธิการ PMS คือ คุณพ่อทัดเดอุส โนวัค ความต้องการของพระศาสนจักรท้องถิ่น ขึ้นอยู่กับการบริจาคที่ได้รับ ซึ่งมีพอสำหรับสังฆมณฑลที่จำเป็นต้องรับการสนับสนุนมากที่สุด เราจำเป็นต้องจำกัดโครงการในสังฆมณฑลของท่าน เพราะกองทุนลดลง

            วิกฤติระดับโลกครั้งนี้ ช่วยให้เรามีประสบการณ์ พิจารณามากยิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องรับความช่วยเหลือมากที่สุด ขอขอบคุณท่านที่เข้าใจ และเห็นใจ

            ขอให้ช่วงเวลาเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ให้ท่านได้รับพระพร

ด้วยความเคารพในพระคริสตเจ้า

            พ่อจึงรีบแปล และประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องพระสงฆ์ นักบวช และทุกท่านทราบ จะได้เข้าใจและช่วยกัน ประหยัด พึ่งตนเอง และช่วยเหลือกันในสังฆมณฑลของเรา

ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์
สังฆมณฑลเชียงใหม่

ฉลองวัดแม่พระปฏิสนธินิรมล เมืองงาม 2020

ฉลองวัดแม่พระปฏิสนธินิรมล เมืองงาม 2020

8 ธันวาคม 2020

เราคาทอลิกมีความเคารพรัก แม่พระมารดาของพระเยซูเจ้า ตั้งแต่แรก ยิ่งสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 ได้ประกาศเป็นข้อความเชื่อ เมื่อ 8 ธันวาคม 1854 (166 ปี) และแม่พระประจักษ์ที่ลูร์ด (11 ก.พ.1858)

            วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล เมืองงาม อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ มีคุณพ่อยอห์น โชคดี ดำรงอนุรักษ์ (คณะเบธาราม) มีวัดสาขา 2 แห่ง

            คืนวันที่ 7 ธันวาคม คุณพ่อติดคำ ใจเลิศฤทธิ์ เป็นประธานมิสซา (ภาษาปกาเกะญอ)    อันที่จริงมีซิสเตอร์แม่ปอนช่วยงานอภิบาล แต่เนื่องจากติดเข้าเงียบฟื้นฟูจิตใจประจำปี จึงไม่ได้ร่วมงานฉลองวัด

            หลังมิสซามีการแสดงของเด็ก เยาวชน และแม่บ้าน

            เช้าวันอังคารที่ 8 ธันวาคม มิสซาเวลา 09.00 น. มีบรรดาพระสงฆ์ ซิสเตอร์จากฝาง และจากแม่แจ่ม รวม 6 คน พี่น้องสัตบุรุษ ประมาณ 400-500 คน  เด็กนักเรียนของหมู่บ้านไปโรงเรียนตามปกติ

            ความเชื่อของเราคาทอลิก และแบบอย่างของแม่พระ ยืนยันเรื่องชีวิตเป็นพระพร  เราไม่สามารถทำแท้งได้ แม้กฎหมายบ้านเมือง อาจจะกำหนดเป็นอย่างอื่น เราถือว่า ชีวิต เริ่มตั้งแต่การปฏิสนธิ

            บ้านเมืองงาม ได้รับความใส่ใจจากรัฐบาล และโครงการหลวง ปรับภูมิทัศน์ให้งดงาม น่าท่องเที่ยว เยี่ยมชม และสัมผัสอากาศหนาวและหมอก เป็นพิเศษในยามเช้า

            หมายเหตุ เลื่อนมิสซาเร็วขึ้นกว่าปกติ เพราะพ่อต้องรีบเดินทางไปร่วมงานชุมนุมครูคำสอน 4 มิสซังอีสาน จำนวน 230 คน ที่บ้านสองคอน จังหวัดมุกดาหาร วันที่ 9 ธ.ค.2020

ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์ รายงาน

ซิสเตอร์แม่ปอนฉลองแม่พระปฏิสนธินิรมล

ซิสเตอร์แม่ปอนฉลองแม่พระปฏิสนธินิรมล

หลังจากที่ซิสเตอร์แม่ปอนได้จัดให้มีการเข้าเงียบประจำปีระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 7 ธันวาคม 2020 ที่บ้านนิรมล จอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยคุณพ่อสมยศ เทพสมุทร เป็นผู้เทศน์เข้าเงียบ วันสุดท้ายของการเข้าเงียบได้มีพิธีรื้อฟื้นคำปฏิญาณสำหรับซิสเตอร์ที่ยังไม่ได้ถวายตนตลอดชีพในคณะ และหลังออกเงียบแล้ว วันที่ 8 ธันวาคม 2020 ได้จัดให้มีพิธีมิสซาขอบพระคุณเป็นพิเศษโอกาสฉลองแม่พระปฏิสนธินิรมล ซึ่งเป็นองค์อุปถัมภ์คณะ สำหรับการฉลองปีนี้เป็นการภายในโดยมีคุณพ่อสมยศ เทพสมุทร เป็นประธาน

(คุณพ่อณรงค์ชัย หมั่นศึกษา)

ปีนักบุญโยเซฟ

ปีนักบุญโยเซฟ

นครรัฐวาติกัน วันอังคารที่ 8 ธันวาคม 2020 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ได้ประกาศ ปีนักบุญโยเซฟ โอกาสครบ 150 ปีแห่งการประกาศให้นักบุญเป็นองค์อุปถัมภ์ของพระศาสนจักรสากล

          เริ่มตั้งแต่ 8 ธันวาคม 2020 ถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2021 เพื่อให้สัตบุรุษทุกคนเลียนแบบอย่างของนักบุญโยเซฟ เพื่อให้ชีวิตแห่งความเชื่อเข้มแข็ง ในการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า

          สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ได้ประกาศในสมณลิขิต With a father’s heart (ด้วยหัวใจของพ่อคนหนึ่ง) พ่อปรารถนาให้ทำเพิ่มในระหว่างช่วงการแพร่ระบาด มีหลายคนได้พลีกรรมในระหว่างวิกฤตนี้ เพื่อปกป้องคนอื่น

          เราแต่ละคนสามารถค้นพบในนักบุญโยเซฟ บุรุษผู้ชอบธรรมแบบซ่อนเร้น ไม่มีใครสังเกต ถือเป็นผู้วอนขอ สนับสนุน และแนะนำในเวลายากลำบาก

          นักบุญโยเซฟเตือนใจเราว่า บรรดาผู้ปรากฏ ซ่อนเร้น หรืออยู่ในเงามืด ก็สามารถมีบทบาทหาที่เปรียบมิได้ในประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น

          สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 9 ได้ประกาศให้นักบุญโยเซฟเป็นองค์อุปถัมภ์ของพระศาสนจักรสากล เมื่อ 8 ธันวาคม 1870 ในสมณลิขิต Quemadmodum Deus ให้เราได้รับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์ แก่ผู้สวดบทภาวนาที่ได้รับการรับรอง เป็นพิเศษในวันที่ 19 มีนาคม สมโภช และ 1 พฤษภาคม ฉลองนักบุญโยเซฟกรรมกร

          วันที่ 29 ธันวาคม 2020 ฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์… และทุกวันพุธ ที่ตามประเพณีลาติน ระลึกถึงนักบุญโยเซฟ

          ในกรณีของผู้อาวุโส ผู้ป่วย ผู้กำลังสิ้นใจ ผู้ที่มีเหตุผลสมควร ไม่สามารถออกจากบ้าน มีเจตนารับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์ อยู่ที่บ้าน หรือที่พัก ให้สวดบทภาวนาต่อนักบุญโยเซฟ บรรเทาใจผู้ป่วยและองค์อุปถัมภ์ ขอให้สิ้นใจอย่างราบรื่น ถวายความวางใจในพระเจ้า ยอมรับความเจ็บปวด และความไม่สบายต่างๆ ในชีวิต

          เงื่อนไข 3 ประการ เพื่อรับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์ คือ รับศีลอภัยบาป รับศีลมหาสนิท และภาวนาตามเจตนา (พระประสงค์) ของสมเด็จพระสันตะปาปา

          ในโลกปัจจุบันต้องการบิดา… ทุกกระแสเรียกเป็นพระพร ซึ่งเป็นผลของพลีกรรม ฐานะบิดาและชีวิตผู้รับเจิม ต้องมีความเป็นผู้ใหญ่ ไม่ว่าในการแต่งงาน การถือโสด หรือพรหมจรรย์ หากไม่มีพลีกรรม ก็จะขาดความสุข มีความเศร้า และความเครียด

          เมื่อบิดาไม่ยอมอยู่กับลูกๆ ก็จะเกิด vistas ลูกๆ ต้องการบิดา (พ่อ) ช่วยเหลือ ที่เคารพเสรีภาพของลูก พ่อที่เป็นผู้อบรม… เหมือนนักบุญโยเซฟ บุรุษผู้ชอบธรรม

“ขอนักบุญโยเซฟ ช่วยเราให้ได้รับพระหรรษทาน ความเมตตาและความกล้าทำความดี และปกป้องเราจากความชั่วร้ายทุกชนิด... อาแมน”

https://www.catholicnewsagency.com/news/pope-francis-proclaims-year-of-st-joseph-10779
(
ฟ. วีระ อาภรณ์รัตน์)

แปลสรุป 9 ธ.ค. 2020

บทเทศน์บทรำพึง
อาทิตย์ที่ 2 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ปี B

บทเทศน์บทรำพึง อาทิตย์ที่ 2 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ปี B

ยอห์นเทศน์สอนเรื่องพิธีล้าง ซึ่งแสดงการกลับใจเพื่อจะได้รับการอภัยบา

ในการเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า เราต้องรู้จักเปลี่ยนแปลงตัวเองในสิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยน หรือเรียกง่ายๆ ว่า “การกลับใจ” การกลับใจของชาวอิสราเอลตามที่ท่านยอห์นต้องการ ก็คือ การเตรียมทางเพื่อต้อนรับองค์พระผู้เป็นเจ้า เป็นการทำทางเดินของพระองค์ให้ตรงนั่นเอง ท่านยอห์นแม้จะเคร่งครัดต่อตัวเอง แต่ก็เป็นผู้ที่ปูทางให้การเสด็จมาขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับประชาชน

มีเรื่องเล่าว่าฤาษีท่านหนึ่งเดินทางผ่านหนทางที่อันตรายมาก และท่านก็ได้พบผู้ชายคนหนึ่งนอนเจ็บอยู่บนถนน ช่วยอะไรตัวเองไม่ได้เลย ฤาษีรู้สึกสงสารก็เข้าไปช่วยเหลือ ทำความสะอาดแผล ใส่ยาให้ แบ่งอาหารของตนให้ และพักค้างคืนเพื่อช่วยเหลือเขา เช้าวันรุ่งขึ้น คนเจ็บมีอาการดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว ฤาษีจึงทำท่าจะลาจากไป แต่ชายคนนั้นพูดว่า“คุณครับ คุณไม่รู้จักว่าผมเป็นใคร ทำไมจึงดีกับผมเช่นนี้ อะไรทำให้คุณทำสิ่งเหล่านี้ให้กับผม” ฤาษีตอบว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสร้างฉันมาตรัสว่า ‘สิ่งที่ท่านทำแม้กับคนเล็กน้อยที่สุด คือทำกับเราเอง’ เธอเป็นพี่น้องของฉัน อะไรที่ฉันทำกับเธอ ก็คือทำกับพระองค์นั่นเอง” ชายคนนั้นพูดว่า “คุณครับ พระของคุณคือใคร ถ้าพระของคุณบันดาลให้คุณทำเช่นนี้กับคนแปลกหน้าได้ โปรดให้พระของคุณแก่ผมด้วย” ในเรื่องนี้จะเห็นว่าฤาษีท่านนั้นเป็นผู้ปูทางให้พระเข้ามาในชีวิตของมนุษย์ กล่าวกันว่า นักบุญคือผู้ที่ทำให้ผู้อื่นมาเชื่อในพระเจ้าอย่างง่ายๆ นั่นเอง

คุณแม่เทเรซา แห่งกัลกัตตา เคยมีประสบการณ์เช่นนี้ ครั้งหนึ่งชายคนหนึ่งเข้ามาในบ้านสำหรับคนที่ใกล้ตาย เขาเดินเข้าไปดูพวกซิสเตอร์ของคุณแม่ ที่กำลังดูแลคนที่กำลังจะตายเหล่านั้น พอกลับออกมา เขาเดินมาหาคุณแม่พูดว่า “ผมเดินเข้ามาในบ้านนี้ มีแต่ความเกลียดอยู่ในหัวใจ เกลียดทั้งพระและมนุษย์ ผมเข้ามาด้วยใจที่ว่างเปล่าและขมขื่น แต่เมื่อผมเห็นพวกซิสเตอร์ข้างในที่กำลังเอาใจใส่คนไข้อย่างทุ่มเทหมดใจ ทำให้ผมตระหนักว่า พระเจ้าทรงพระชนม์อยู่ บัดนี้ผมกลับออกมาด้วยการเป็นคนต่างไปจากเดิม ผมเชื่อว่ามีพระและพระทรงรักเรา”บรรดาซิสเตอร์เหล่านั้นได้นำทางของพระเจ้าเข้ามาในชีวิตของชายที่มีแต่ความขมขื่นคนนั้น

คราวนี้เราหันกลับมาดูท่านยอห์น โดยชีวิตที่เคร่งครัดของท่านได้เตรียมทางสำหรับการเสด็จมาของพระคริสต์ อยู่ๆ ท่านยอห์นก็ปรากฏตัวขึ้นเทศน์สอนในถิ่นทุรกันดารแห่งแคว้นยูเดีย ท่านสวมผ้าขนอูฐ ใช้หนังสัตว์คาดสะเอว กินตั๊กแตนและน้ำผึ้งป่า เป็นเวลาถึง 400 ปีมาแล้ว ที่ประชากรอิสราเอลไม่เคยได้ยินเสียงของประกาศกเลย ดังนั้น ทันทีที่ประชาชนเห็น ท่านยอห์นในถิ่นทุรกันดาร บวกกับแฟชั่นการแต่งตัวของท่าน อาหารที่ท่านกินและถ้อยคำที่เอาจริงเอาจังของท่าน พวกเขาก็มุ่งมาดูประกาศกคนนี้ และรับพิธีล้างจากเขา นี่เป็นการปูทางหรือเตรียมจิตใจของประชาชนอย่างยอดเยี่ยม ในการรอรับเสด็จพระคริสต์

โดยการเทศน์สอนของท่านยอห์น ก็เป็นการปูทางให้ผู้คนรอคอยการเสด็จมาขององค์พระผู้เป็นเจ้า ท่านยอห์นสอนว่า “จงกลับใจ เพราะอาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว” ท่านเรียกร้องให้ประชาชนกลับใจ เปลี่ยนใจ ผ่าตัดหัวใจ นี่เป็นเงื่อนไขที่ต้องมาก่อน เพื่อจะรับเสด็จพระเจ้า ท่านยอห์นทั้งสอน ทั้งเป็นแบบอย่างให้กับประชาชน น่าที่เราจะสังเกต จดจำ และให้ท่านเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต เราในฐานะเป็นผู้ใหญ่และบางคนก็เป็นพ่อแม่ เราต้องถามตัวเราเองว่า เราได้ปูทางให้คนอื่นๆ ได้มาสู่หนทางของพระเจ้าหรือไม่ โดยเฉพาะลูกๆ หลานๆ ของเรา เด็กๆ เรียนรู้เรื่องพระจากเรา ไม่ใช่เพียงจากสิ่งที่เราพูดหรือสอนเท่านั้น แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากสิ่งที่เราปฏิบัติ ลูกของเราเรียนรู้ที่จะสวด เมื่อเขาเห็นพ่อแม่สวดเสมอๆ ทั้งเช้าและเย็น พวกเขาเรียนรู้ที่จะรักพระและไว้ใจในพระองค์ เมื่อเขาเห็นพ่อแม่รักและไว้ใจในพระ

ชายหนุ่มคนหนึ่งพูดว่า “ผมกลายมาเป็นคนเชื่อในพระ เพราะคุณพ่อของผม ท่านมักจะส่งผมที่โรงเรียนและรีบไปทำงานก่อนเวลาตั้งนานทุกวัน ภายหลัง ผมถึงทราบเองว่า หลังจากส่งผมแล้ว คุณพ่อไปเข้าวัดร่วมส่วนในมิสซาทุกๆ เช้า ก่อนไปทำงาน”

เห็นไหมครับว่า โดยการแสดงออกถึงความเชื่อของเรา เราปูทางของพระไว้ในชีวิตของผู้อื่น

( คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2011
Based on : John’s Sunday Homilies, Cycle – B ; by John Rose )

บทเทศน์บทรำพึง อาทิตย์ที่ 2 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ปี B

มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง อายุ 53 ปี และ 32 ปีตามลำดับ ได้ทำการแล่นเรือใบความยาว 21 เมตร จากท่าเรือที่นิวยอร์กในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2005 พวกเขาใช้เวลาอยู่ในเรือเพื่อเดินทางรอบโลกเป็นเวลาหนึ่งพันวัน โดยแล่นเรือไปรอบมหาสมุทรแปซิฟิก แอตแลนติก และอินเดีย และจะกลับถึงฝั่งที่เริ่มต้นภายในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 2008 “ใครๆก็ใฝ่ฝันว่าจะได้แล่นเรือออกไป และละทิ้งทุกๆสิ่งและทุกๆคนไว้เบื้องหลัง” ฝ่ายสามีได้กล่าวไว้เช่นนี้ “และเราก็ได้ทำให้ฝันนั้นเป็นจริงขึ้นมา” พวกเราล่ะ จะสามารถละทุกๆสิ่งและทุกๆคนไว้เบื้องหลัง แล้วแล่นเรือไปกับพระเยซูเจ้าในอาทิตย์แห่งการเตรียมรับเสด็จพระคริสต์นี้ได้หรือไม่

พระวาจาสำหรับอาทิตย์นี้บอกเราให้ตระเตรียมทางสำหรับองค์พระผู้เป็นเจ้า “จงเปิดทางตรงในทุ่งเวิ้งว้างสำหรับพระเจ้า” (อิสยาห์) “พระเจ้าทรงประสงค์ให้ทุกคนกลับใจ เปลี่ยนวิถีชีวิต” (จดหมายของนักบุญเปโตร) และ “จงเตรียมทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า จงทำทางเดินของพระองค์ให้ตรงเถิด” (คำพูดของท่านยอห์น ผู้ทำพิธีล้างในพระวรสารของนักบุญมาระโก) แม้ว่าข่าวสารของทั้งสามบทอ่านนี้เหมือนกัน แต่บริบทของสามบทอ่านนี้ต่างกัน

สำหรับบทอ่านจากหนังสือประกาศกอิสยาห์นั้น ข้อความทำนายของท่านในตอนนี้เป็นที่รู้จักกันดี และแพร่หลายกว้างขวางจนกระทั่งนักประพันธ์เพลงเอกคนหนึ่งของโลก คือ G.F. Handel นำเอาข้อความของอิสยาห์ 3 ตอนมาเป็นตอนเปิดในผลงานเอกของท่าน คือบทเพลง Messiah ดังนี้

(1) Comfort ye, comfort ye my people, saith your God… (อสย 40 : 1-3)

(2) Every valley shall be exalted, and ev’ry mountain and hill made low… (อสย 40:4)

(3) And the glory of the Lord shall be revealed…. (อสย 40:5)

ที่น่าสังเกตเกี่ยวกับอิสยาห์ที่เรียกว่าประกาศกแห่งการเนรเทศนี้ ท่านไม่ได้คิดไปถึงพระเยซูคริสต์คือพระเมสสิยาห์ ท่านเพียงแต่เห็นภาพของการฟื้นฟูอิสราเอลจากการเนรเทศไปบาบิโลนในช่วงราวปี 538 ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นปีที่พระเจ้าไซรัสทรงมีชัยชนะเหนืออำนาจของบาบิโลนที่ร่วงโรยไป

“ท่านผู้นำข่าวดีมายังศิโยนเอ๋ย จงขึ้นไปบนภูเขาสูงเถิด ท่านผู้นำข่าวดีมาให้กรุงเยรูซาเล็มเอ๋ย จงร้องตะโกนให้สุดเสียงเถิด” คำของท่านอิสยาห์ที่ว่า “ข่าวดี” ( = good tidings ) ในภาษาฮีบรูทำให้เราได้คำนามที่ว่า “พระวรสาร” (Gospel) ในความหมายของพันธสัญญาใหม่นั่นเอง ข่าวดีในที่นี้แฝงไว้ว่าพระเจ้าจะทรงเข้ามาเกี่ยวข้องในประวัติศาสตร์เพื่อทรงนำให้กลับมาจากการเนรเทศ

การเนรเทศในอิสยาห์เป็นการพรรณนาด้วยภาษาสัญลักษณ์หมายถึงการอพยพครั้งที่สอง (as the Second Exodus) อัศจรรย์ต่างๆในการอพยพครั้งแรกที่เกิดขึ้น จะมีการทำซ้ำในบัดนี้ “หุบเขาทุกแห่งจะถูกถมให้เต็ม…. ที่สูงๆต่ำๆ จะราบเรียบ” ณ ที่นี้ ให้เราสังเกตว่า ทั้งการอพยพ และการเนรเทศได้กลับกลายเป็นแม่พิมพ์แห่งความหวังในอนาคต พระเจ้าจะทรงปลดปล่อยประชากรอีกครั้ง เพราะพระเจ้าจะทรงซื่อตรงต่อความเป็นพระของพระองค์

ในบทอ่านที่สองที่อ้างว่าเป็นคำกล่าวของนักบุญเปโตร บางทีอาจจะเป็นตอนที่เพิ่มเติมขึ้นในเวลาต่อมา เพื่อยืนยันถึงอำนาจของนักบุญเปโตร ผู้คนในสมัยของท่านดูเหมือนผิดหวังที่วันสุดท้ายยังมาไม่ถึงสักที ดังนั้นคำอธิบายที่ว่า “สำหรับองค์พระผู้เป็นเจ้าเพียงหนึ่งวันก็เหมือนกับพันปี และหนึ่งพันปีก็เหมือนหนึ่งวัน” พระเจ้าทรงเป็นเจ้านายสูงสุดเหนือกาลเวลาและฤดูกาลที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน แต่อย่างไรก็ตาม “วันของพระเจ้าจะมาถึงอย่างไม่รู้ตัวเหมือนขโมย” ดังนั้น กลุ่มคริสตชนได้ถูกตักเตือนให้เฝ้าระวังและรอคอย ด้วยความหวัง

บทเริ่มต้นของพระวรสารวันนี้กล่าวว่า “การเริ่มต้นข่าวดีเรื่องพระเยซูเจ้าเป็นพระคริสต์….” นักบุญมาระโกผู้นิพนธ์ได้เริ่มต้นด้วยคำพยากรณ์ของประกาศกอิสยาห์ และพรรณนาถึงท่านยอห์นผู้ทำพิธีล้างในฐานะที่เป็น (1) ผู้ประกาศให้มีการกลับใจ และ (2) ผู้นำหน้าพระเมสสิยาห์ เราลองคิดดูสิว่า การเรียกร้องให้กลับใจของท่านยอห์นเป็น “ข่าวดี” ใช่หรือไม่

หญิงคนหนึ่งกำลังจะตายเพราะโรคมะเร็ง คุณหมอที่ดูแลเธอพูดว่า “คุณครับ มะเร็งของคุณมันแพร่กระจายแล้ว ผมเกรงว่าคุณจะตายในไม่ช้า คุณมีความปรารถนาสุดท้ายอะไรที่อยากให้ผมทำให้ไหม” หญิงนั้นตอบว่า “มีค่ะ คุณช่วยพาฉันไปหาคุณหมอคนใหม่ได้ไหม” บางทีการยอมรับความจริงที่น่าเจ็บปวดก็เป็นสิ่งที่ยากลำบาก เช่น ฉันเป็นคนป่วย ฉันกำลังจะตาย หรือ ฉันเป็นคนบาป แต่ยอห์นผู้ทำพิธีล้างก็ชี้นิ้วมาวินิจฉัยถึงโรคมะเร็งฝ่ายจิตใจของเรา และบอกวิธีรักษาด้วยว่า “จะต้องกลับใจใช้โทษบาป”

“ประชาชนจากทั่วแคว้นยูเดีย และชาวกรุงเยรูซาเล็มทั้งหลายไปพบเขา” เราเป็นคนหนึ่งในฝูงชนเหล่านั้นที่ขวนขวายไปหาท่านยอห์นด้วยหรือเปล่า ไปเพื่อให้ได้ยินคำกล่าวของท่านที่ว่า “จงเตรียมทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า จงทำทางเดินของพระองค์ให้ตรงเถิด” คำภาษากรีกของการกลับใจใช้โทษบาป (repentance) คือคำ metanoia รากศัพท์หมายถึง “การพลิกด้าน หรือ การย้อนกลับ ของจิตใจ” ( = reverse mind) ท่านยอห์นเรียกร้องเราให้หันกลับจากการต่อต้านพระเจ้า มาสู่การล่องไปบนคลื่นแห่งความรักอย่างปลอดภัย

แม้หนทางของโลกมีสิ่งที่น่าหลงใหล และกระแสคลื่นทางโลกนำไปสู่ความสุดโต่งทางด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ยาเสพติด ความหลงตนเอง (narcissism) เรื่องทางเพศ ความสำเร็จ ความมีชื่อเสียง และ การเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ แต่ท่านยอห์นเป็นเสียงที่ร้องเตือนมาจากแดนไกล จากถิ่นทุรกันดาร ให้เราถอยห่างจากยุคสมัยใหม่ที่อาจพาให้เราหลงไป ดังนั้น เราจงตระเตรียมหนทางของเราเพื่อจะพบพระองค์ผู้ทรงเป็นหนทางที่แท้จริงดีกว่า

(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 2020
Based on : Sunday Seeds For Daily Deeds ; by ; Francis Gonsalves, S.J.)

คณะพระหฤทัยเขตภาคเหนือฉลองนักบุญฟรังซิสเซเวียร์

คณะพระหฤทัยเขตภาคเหนือฉลองนักบุญฟรังซิสเซเวียร์

วันที่ 3 ธันวาคม 2020 ภคินีพระหฤทัยพระเยซูเจ้าแห่งกรุงเทพฯ เขตภาคเหนือได้ประชุมเขตที่บ้านพระหฤทัยล้านนา อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ โอกาสนี้ได้จัดให้มีพิธีมิสซาเพื่อโมทนาพระคุณเป็นพิเศษในโอกาสฉลองนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ พร้อมกันนี้คณะได้เชิญพระคุณเจ้าฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์ เป็นประธานในพิธีมิสซา ร่วมกับคุณพ่อซีริล นิพจน์ เทียนวิหาร ที่ได้มาให้การอบรมแก่ยุวภคินีในช่วงนี้ด้วย และหลังมิสซาได้มีพิธีการร่วมแสดงความยินดีกับพระคุณเจ้าในโอกาสฉลองศาสนนาม

(ขอบคุณภาพข่าวจากคณะพระหฤทัยพระเยซูเจ้าแห่งกรุงเทพฯ)

ฉลองศาสนนามพระคุณเจ้า 2020

ฉลองศาสนนามพระคุณเจ้า 2020

วันที่ 3 ธันวาคม 2020 คุณพ่อและเจ้าหน้าศูนย์มิสซังฯ ร่วมมิสซาฉลองนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ ซึ่งเป็นศาสนนามของพระคุณเจ้าฟรังซิสเซเวียร์วีระ อาภรณ์รัตน์ มุขนายกเขตศาสนปกครองเชียงใหม่ ที่วัดน้อยศูนย์มิสซังฯ หลังมิสซาได้มีทานอาหารเที่ยงด้วยกันแบบเรียบง่ายกันเอง

(คุณพ่อณรงค์ชัย หมั่นศึกษา)

พระศาสนจักรฟิลิปปินส์ประกาศ 2021
ปีอภิบาลเพื่อการฟื้นฟูงานธรรมทูต

พระศาสนจักรฟิลิปปินส์ประกาศ 2021 ปีอภิบาลเพื่อการฟื้นฟูงานธรรมทูต

Vatican News ,28/11/2020

ใน 2021 พระศาสนจักรฟิลิปปินส์ฉลอง 500 ปี พระวรสารมาถึงแผ่นดิน บรรดาบิชอปฟิลิปปินส์เลือกหัวข้อปีอภิบาล 2021 ว่า “พันธกิจสู่ปวงชน”
วันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1521 ที่มีการถวายพิธีขอบพระคุณครั้งแรก ในแผ่นดินฟิลิปปินส์ ที่เกาะสิมาซาวา ภาคใต้ของเลย์เต (Leyte) พระศาสนจักนคาทอลิกในฟิลิปปินส์ เตรียมการฉลอง 5 ศตวรรษ ตั้งแต่ ค.ศ. 2012 เป็นเวลา 9 ปี
อาร์คบิชอปโรมูโล วัลเลส แห่งดาเวา ได้เขียนจดหมายอภิบาล เริ่มปีอภิบาล เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน

ได้รับพระพรเพื่อแบ่งปัน” (Gifted to give)
ความเชื่อคริสตชน มาถึงเราด้วยความเสียสละของบรรดาธรรมทูตชายหญิง เราจึงต้องกลายเป็นศิษย์ธรรมทูตของพระเยซูเจ้า ดังพระวาจาที่ว่า “ท่านได้รับมาโดยไม่เสียค่าตอบแทน ก็จงให้เขาโดยไม่รับค่าตอบแทนด้วย (มธ 10:8)

ความยินดี (Joy) ตามสมณสาส์น Evangelii Gaudium (ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร) ผู้ประกาศข่าวดีต้องไม่ดูเหมือนบางคนที่เพิ่งกลับมาจากพิธีปลงศพ

เมตตาธรรม (Mercy) พระเจ้าทรงเมตตา เป็นบ่อเกิดแห่งความปิติยินดี ความสงบ และสันติ ขอให้ทุกคนพบโอเอซิสแห่งเมตตา
จึงขอให้เรามีความกระตือรือร้นแบบธรรมทูตในชีวิต

ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์ แปลสรุป
https://www.vaticannews.va/en/church/news/2020-11/philippine-bishops-valles-pastoral-letter-2021-pastoral-year.html