ประกาศ ที่ ชม.226/2020 ปีนักบุญโยเซฟ

ประกาศ ที่ ชม.226/2020 ปีนักบุญโยเซฟ

ที่ ชม.226/2020

ปีนักบุญโยเซฟ

           เนื่องจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสได้ทรงประกาศ “ปีนักบุญโยเซฟ” ระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.2020 ถึง 8 ธันวาคม ค.ศ.2021 ในสมณลิขิต ชื่อ ด้วยหัวใจของบิดา (Patris Corde) เพื่อระลึกถึงการครบรอบ 150 ปี ที่สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 9 (วันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1870) ได้ ประกาศให้ท่านเป็นองค์อุปถัมภ์พระศาสนจักรสากล สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 ได้เสนอให้ท่าน เป็นผู้อุปถัมภ์คนงาน และนักบุญสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอลที่ 2 เสนอให้เป็น ผู้ปกป้องดูแล พระผู้ไถ่

           ในประเพณีของเรามีการฉลองนักบุญดังนี้
1. วันที่ 19 มีนาคม สมโภชนักบุญโยเซฟ ภัสดาของพระนางมารีย์
2. วันที่ 1 พฤษภาคม นักบุญโยเซฟ กรรมกร
3. ฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า ในวันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม 2021
4. ธรรมเนียมระลึกถึงนักบุญโยเซฟ ทุกวันพุธ มีบทวิงวอนต่อนักบุญโยเซฟ บทภาวนาต่อนักบุญโย เซฟ บทเยซู มารีย์ โยเซฟ

           ดังนั้น พ่อจึงขอพี่น้องพระสงฆ์ นักบวช ครูคําสอน และสภาภิบาลดําเนินการฉลองปีนักบุญ โยเซฟ ในเขตต่างๆ เช่น

1. จัดอบรม พ่อบ้าน เยาวชน ผู้มีนามนักบุญโยเซฟเป็นองค์อุปถัมภ์ และผู้สนใจให้รู้จักประวัติ และ คุณธรรมของนักบุญโยเซฟ ในครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ จากสมณลิขิตของสมเด็จพระสันตะปาปา
2. จัดฉลองนักบุญโยเซฟในเขตวัด ตามโอกาสที่สมควร
3. เชิญชวนให้เยี่ยมเยียน ให้กําลังใจ และช่วยเหลือครอบครัวที่มีความยากลําบากมากที่สุดในชุมชน

           หวังในความร่วมมือร่วมใจของเราในโอกาสพิเศษนี้ ทั้ง “ปีเยาวชนของพระศาสนจักรไทย และปีนักบุญโยเซฟของพระศาสนจักรสากล” ให้เป็นช่วงเวลาแห่งพระพรแก่เรา

“จงไปหาโยเซฟเถิด และทําตามที่เขาสั่ง” (ปฐก. 41:55 )

ประกาศ ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2020
(ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์)
บิชอปสังฆมณฑลเชียงใหม่

(บาทหลวงศราวุธ แฮทู )
เลขาธิการสังฆมณฑลเชียงใหม่

เสกวัด (สาขา) แม่พระองค์อุปถัมภ์
บ้านห้วยปูแกง ต.ผาบ่อง อเมือง จ. แม่ฮ่องสอน

เสกวัด (สาขา) แม่พระองค์อุปถัมภ์
บ้านห้วยปูแกง ต.ผาบ่อง อเมือง จ. แม่ฮ่องสอน

19 ธันวาคม 2020

ช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด 19 รอบที่สองทำให้ต้องยกเลิกการฉลองวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ แม่ฮ่องสอน   คุณพ่อดุรงค์ฤทธิ์  กระบวนศิริ เป็นเจ้าอาวาส  แต่ก็มีการเสกวัดสาขาที่ห้วยปูแกง ซึ่งเป็นชาวกะยัน (กะเหรี่ยงคอยาว) 17 ครอบครัว  ประมาณ 80 คน สมควรที่จะมีสถานที่ประกอบพิธีกรรมและสวดภาวนา

จากการรายงานของคุณพ่อเจ้าวัดและ ครูลูกาทำให้ทราบว่า ชาวบ้านตั้งใจสร้างวัด  โดยหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือ  จากพี่น้องที่ต่างประเทศ  แต่มีการแพร่ระบาดโควิดทั่วโลก  ทำให้มีความลำบากทั่วโลก  แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจาก คุณ วราภรณ์  พันธุมจินดา  (530,000 บาท)  ป้าน้อยหนึ่งแสนบาท   และพี่น้องอีกบางคน   สองแสนกว่าบาททำให้ ความฝัน และความตั้งใจสำเร็จ

ประมาณเก้าโมงเช้า  พ่อไปถึง ชาวบ้านให้ใส่เสื้อสีแดง ตามวัฒนธรรมชองเขา ข้ามฟาก มาถึงวัด  จึงนั่งสนทนาเรื่องความเชื่อ  กับเด็กและเยาวชน  10 คน  ที่จะรับศีลกำลัง

ก่อนสิบโมงปลูกต้นไม้ที่หน้าวัด เป็นสัญลักษณ์ ปีเลาดาโตซี แล้วจึงเริ่มพิธีเสก และพิธีขอบคุณพระเจ้า  ซิสเตอร์มารีอาและเยาวชนร้องเพลงดีมาก  ซิสเตอร์แม่ปอนช่วยจัดดอกไม้ ชาวบ้านและอาสาสมัครจากอาสนวิหารทำอาหารเลี้ยง

วัดสาขาหลังนี้  เป็นบ้านแห่งการภาวนา  ที่ชาวบ้านภูมิใจ  โดยได้รับการช่วยเหลือจากพี่น้องที่อื่นๆ ทำให้เราเข้าใจว่า “วัฒนธรรมแห่งการเอาใจใส่เอื้ออาทร”ช่วยเหลือ  นำสันติสุขและความยินดีมาให้

ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์ รายงาน
สังฆมณฑลเชียงใหม่

เสกวัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ ห้วยปูแกง แม่ฮ่องสอน

เสกวัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ ห้วยปูแกง แม่ฮ่องสอน

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2020 เขตวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ แม่ฮ่องสอน ได้จัดให้มีพิธีเสกและและเปิดวัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ ห้วยปูแกง อำเมือง แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นวัดสาขาของวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ แม่ฮ่องสอน โดยพระคุณเจ้าฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์ เป็นประธาน พร้อมกันนี้ได้มีพิธีโปรดศีลกำลังให้กับคริสตชนจำนวน 10 คนด้วยกัน และในคืนวันที่ 18 ธันวาคม 2020 ได้มีพิธีฉลองพระคริสตสมภพ โดยคุณพ่อนนธชัย ริทู เป็นประธาน

สำหรับการการเดินทางไปร่วมเสกวัดครั้งนี้ได้สร้างความประทับใจให้กับผู้ไปร่วมด้วยการต้องนั่งเรือข้ามฟากแม่น้ำปาย เนื่องจากไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำ โดยการบริการของพี่น้องห้วยปูแกงนั่นเอง

(คุณพ่อณรงค์ชัย หมั่นศึกษา)

ประวัติแม่พระองค์อุปถัมภ์ บ้านห้วยปูแกง

ความเป็นมาของวัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ ห้วยปูแกง เป็นมาดังนี้ คือ ในปีช่วงปี ค.ศ. 1989 เกิดการสู้รับกันในฝั่งเมียรมาร์ ใกล้ชายแดนไทยเมียนมาร์ จึงก่อให้เกิดการอพยยพเข้ามาพักพิงตามชายแดนไทย จึงได้มีการตั้งค่ายพักพิงที่บ้านห้วยปูแกงนี้สำหรับรองรับพี่น้องที่ได้หนีการสู้รบเข้ามายังฝั่งไทย ซึ่งมีที่พักพิงที่ห้วยปูแกง กับในสอย อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงทำให้ผู้อพยพบางท่านได้ย้ายไปมาระหว่างค่ายที่แม่สุริน กับค่ายพักพิงที่บ้านห้วยปูแกงนี้ ซึ่งในขณะนั้น ได้มีพระสงฆ์สังฆมณฑลเชียงใหม่คือ คุณพ่อสนั่น สันติมโนกุล (เส่แฮ) ได้รับแต่งตั้งให้รับผิดชอบหน่วยงานคาทอลิกเพื่อผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน ได้ติดตามให้ความช่วยเหลือ และมีคุณพ่อมิชชันนารีอีกท่านหนึ่ง คือ คุณพ่อ John Hantom ได้เยี่ยมคริสตชนที่นี่ปีละ 1-2 ครั้ง และต่อมาปี ค.ศ. 1993 ที่ห้วยปูแกง นี้ได้รับแต่งเป็นหมู่บ้านทางการ และไม่ได้เป็นศูนย์อพยพอีกต่อไป

ปี ค.ศ. 1996 ได้มีคุณพ่อมารีอาโน จากสังฆมณฑลหล่อยก่อ ประเทศเมียนมาร์ ได้มาดูแลกลุ่มคริสตชนที่ศูนย์อพยพในเขตแม่ฮ่องสอน รวมทั้งได้มาเยี่ยมกลุ่มคริสตชนที่ห้วยปูแกงนี้ด้วย ซึ่งเวลานั้นยังไม่มีวัดสำหรับถวายมิสซาและประกอบพิธีกรรมต่างๆ จึงใช้บ้านของสัตบุรุษสำหรับรวมกลุ่มถวายมิสซาและสวดภาวนา

ต่อมา ปี ค.ศ. 1997 ได้เริ่มสร้างวัดน้อยเป็นไม้ หลังคามุงใบตองเพื่อเป็นโรงสวดภาวนาที่บนดอยเหนือขึ้นไปจากหมู่บ้าน หลังจากนั้นคุณพ่อซึ่งมีอายุมากแล้ว และมีปัญหาเรื่องสุขภาพจึงไม่สะดวกในการขึ้นลง จึงได้ย้ายลงมาสร้างวัดหลังใหม่ในหมู่บ้าน โดยชาวบ้านช่วยกันทั้งปัจจัยและวัสดุ โดยมีผู้ใหญ่ปอหลุ เบียแหระให้ความช่วยเหลือมุงหลังคาด้วยสังกะสี

จากนั้น ปี ค.ศ. 1999 ได้มีการสร้างวัดน้อยหลังใหม่มีพื้นที่ขนาด 30×40 เมตร โดยครูคำสอนได้เลือกเอาแม่พระองค์อุปถัมภ์ และเสนอให้คุณพ่อผู้ดูแลตั้งเป็นชื่อของวัด และคุณพ่อเจ้าวัดเห็นด้วย ซึ่งในเวลานั้นมีคริสตชนอยู่ 21 ครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่ากะยัน กะยอ มะนอ ซึ่งมีบางท่านอพยพไปอยู่ที่ค่ายในสอย และบางส่วนได้อพยพไปอยู่ต่างประเทศ (โลกที่ 3)

ปี ค.ศ.2001 มีคุณพ่อมาร์โก แพเบีย จากสังฆมณฑลหล่อยก่อ ประเทศเมียนมาร์ (ได้มาถึงสิงหาคม 1998 มารับงานในเดือนธันวาคม 1999) มารับหน้าที่ดูแลคริสตชนต่อจากคุณพ่อมารีอาโน หลังจากนั้น ปี ค.ศ. 2011-2016 คุณพ่อดอมินิก ญาแหระ (มาถึง ปี 2008) เป็นผู้อภิบาลดูแลกลุ่มคริสตชนต่อจากคุณพ่อมาร์โก แพเบีย

จากนั้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 ได้มีคุณพ่อคณะมิชชันนารี ยารูมาล จากโคลอมเบีย คือคุณพ่อหลุยส์ อันโตนีโอ นิเอโต้ คุณพ่อฮวนเปาโล อากีลา และคุณพ่อเมารีซีโอ โปลังโก มารับหน้าที่เป็นผู้อภิบาลเขตวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ แม่ฮ่องสอน และได้รับเอาวัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ ห้วยปูแกง เป็นวัดสาขาของวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ แม่ฮ่องสอน

สำหรับวัดหลังปัจจุบันนี้ ได้เริ่มดำเนินการโดยคริสตชนเอง เมื่อปลายปี ค.ศ. 2018 และเริ่มลงมือในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2019 จากนั้นคุณพ่อดุรงค์ฤทธิ์ กระบวนศิริ เจ้าอาวาส ซึ่งมารับตำแหน่งเจ้าวัดวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ แม่ฮ่องสอน จึงได้ติดตามการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องให้ความช่วยเหลือในการก่อสร้างวัดหลังใหม่นี้ จึงได้ปรึกษากับพี่น้องคริสตชนและรายงานให้พระคุณเจ้ารับทราบ พร้อมทั้งแจ้งจำนวนประชากรในหมู่บ้านห้วยปูแกง ณ ปัจจุบันว่า มีทั้งหมด 60 ครอบครัว เป็นคริสตชนคาทอลิก 18 ครอบครัว มีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 80 คน

จากนั้น ในโอกาสฉลองวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ แม่ฮ่องสอน ประจำปีเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2019 พระคุณเจ้าได้ประกาศให้ดำเนินการได้ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนเบื้องต้น 520,000 บาท นอกจากนั้นได้รับการสนับสนุนจากบุคคลต่างๆ เช่น คุณอักแนส มาลินี กิ้งก้าน 100,000 บาท คุณกรรณิการ์ วรรณศิริ 10,000 บาท คุณจารุพรรณ รัตนภาพงศ์ 1,000 บาท คุณเสาวลักษณ์ ศรีสำราญ 500 บาท คุณพ่อลำดวน ผ่องอุดม 500 บาท คุณวันทนีย์ ธาราศีลป์ (กางเขน และรูปพระ) 32,000 บาท คุณสมบัติ คุณพิพัฒน์ 5,000 บาท Sister Daughter of Jesus 2,000 บาท คริสตชนห้วยปูแกง (406 คน 76 วัน) 151,148 บาท คุณเชียง (จากสิงคโปร์) 20,388 บาท รวมได้รับบริจาคทั้งสิ้น 842,536 บาท ค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 834,028 บาท เหลือ 8,508 บาท (นำมาใช้สำหรับจัดงานคริสตมาสและเสกวัดใหม่ในครั้งนี้) นอกจากนั้นยังมีครอบครัวสังขรัตน์ และพี่น้องจากบ้านเปียงหลวงสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ด้วย

ข้อคิดข้อรำพึง
อาทิตย์ที่ 4 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ปี B

ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 4 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ปี B

“พระจิตเจ้าจะเสด็จมาเหนือท่าน และพระอานุภาพของพระผู้สูงสุดจะแผ่เงาปกคลุมท่าน เพราะฉะนั้น
บุตรที่เกิดมาจะเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ และจะรับนามว่าบุตรของพระเจ้า”

นักบุญอิกญาซีโอ แห่งโลโยลา ได้เขียนหนังสือเพื่อเป็นการแนะแนวทางแก่ผู้อื่นในการแสวงหาพระเยซูเจ้าให้พบด้วยตนเอง หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า “การฝึกจิต” หรือ “การออกกำลังจิต” (The Spiritual Exercises) ในหนังสือเล่มนี้ตอนหนึ่งได้เขียนถึงพระวรสารตอนที่อ่านสำหรับวันอาทิตย์นี้ โดยเสนอความคิดแบ่งออกเป็นสามขั้นตอนด้วยกัน

ขั้นตอนแรกให้เราจินตนาการสภาพของโลกก่อนที่พระเยซูเจ้าจะทรงบังเกิดมา ว่าเป็นเช่นไร เช่นประชากรเอาใจออกห่างจากพระ ความชั่วแผ่ลุกลามไปทั่วเหมือนเชื้อของโรคมะเร็ง โลกอยู่ในสถานการณ์ที่สิ้นหวัง อาการน่าเป็นห่วง

ขั้นที่สองให้เราจิตนาการถึงทูตสวรรค์กาเบรียลที่ลงมาจากสวรรค์ เพื่อมาประกาศแด่พระนางมารีย์ว่าจะเป็นพระมารดาของพระเยซูเจ้า ลองสมมุติว่าเราล่องลอยมาพร้อมกับเทวดา เราจะเห็นโลกเป็นจุดเล็กนิดเดียวในท้องนภาที่เต็มไปด้วยดวงดาราที่ส่องแสงระยิบระยับ เมื่อเข้ามาใกล้โลกมากขึ้น ก็มุ่งไปที่แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ใกล้เข้าไปอีกพบเมืองเล็กๆ ชื่อนาซาเร็ธ ที่เมืองนี้เราจะเห็นบ้านของพระนางมารีย์ตั้งอยู่ ที่สุดก็เห็นเด็กสาวที่ชื่อมารีย์อยู่ในบ้านหลังนั้น กำลังคุกเข่าภาวนาอยู่เงียบ ๆ

ขั้นที่สาม ให้เราเงี่ยหูฟังบทสนทนาระหว่างทูตสวรรค์กับมารีย์ มีสองประโยคที่เราต้องตั้งใจฟังดีๆ ประโยคแรกที่ทูตสวรรค์พูดกับมารีย์คือ “พระอานุภาพของพระผู้สูงสุดจะแผ่เงาปกคลุมท่าน เพราะฉะนั้นบุตรที่เกิดมาจะเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์และจะรับนามว่าเป็นบุตรของพระเจ้า” คำที่สำคัญและใช้น้อยมากในพระคัมภีร์คือคำ “แผ่เงาปกคลุม” ที่สำคัญคือคำนี้เคยใช้ครั้งหนึ่งในหนังสืออพยพ เพื่ออธิบายถึงเมฆลึกลับที่มาแผ่ปกคลุมเต้นท์ที่ซึ่งชาวอิสราเอลเก็บรักษาหีบพันธสัญญาไว้ “ในขณะนั้นมีเมฆมาปกคลุมเต้นท์นัดพบไว้ และพระสิริของพระเจ้าก็ปรากฏอยู่เต็มพลับพลานั้น” (อพย.40:34)

นักบุญลูกาเลือกใช้คำ “แผ่เงาปกคลุม” มิใช่ด้วยบังเอิญ แต่ตั้งใจให้สื่อสัญลักษณ์ที่ลึกซึ้งมากๆ เพื่อเปรียบเทียบพระวรกายของพระแม่มารีย์กับเต้นท์ที่เก็บรักษาหีบพันธสัญญา เพื่อเปรียบเทียบครรภ์ของพระแม่ที่จะบรรจุพระเยซูเจ้าไว้ กับหีบพันธสัญญาที่เก็บรักษาศิลาจารึกพระบัญญัติสิบประการไว้นั่นเอง ดังนั้น พระอานุภาพของพระเจ้าแผ่ปกคลุมพระแม่มารีย์ พระสิริของพระเจ้าก็ปรากฏอยู่เต็มในพระแม่นั่นเอง

ประโยคที่สองที่น่าพิจารณา คือ “ไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าจะทรงกระทำไม่ได้” ถ้าเราคิดย้อนไปก่อนที่อานุภาพของพระจะแผ่ปกคลุมพระแม่มารีย์ โลกนี้หมดหวัง บาปและความรุนแรงมีอยู่ทั่วไป ก่อนพระอานุภาพของพระมาแผ่ปกคลุมพระแม่มารีย์ เธอไม่มีหวังจะบังเกิดบุตร เพราะเป็นพรหมจารี แต่เมื่อพระอานุภาพนั้นแผ่มาปกคลุมแล้ว ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป (Change)

พี่น้องครับ ก่อนหน้านี้ หรือเวลานี้ เราอาจหมดหวัง ชีวิตอาจวุ่นวายสับสน บางคนบอกว่าดวงไม่ดี แต่บัดนี้เรามีความหวังแล้ว เพราะพระอานุภาพของพระเจ้าผู้สูงสุดได้เข้ามาแผ่ปกคลุมโลกนี้ไว้ ในพระบุคคลขององค์พระเยซู เราทุกคนจะเปลี่ยนไปในแบบที่ดีกว่าเดิมมาก

สุขสันต์วันคริสต์มาสครับ

( คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดพระกุมารเยซู เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 2008
Based on : Illustrated Sunday Homilies – Year B ; by Mark Link, SJ)

ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 4 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ปี B

“เพราะไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าจะทรงกระทำไม่ได้”

“เมื่อพระเจ้าทรงต้องการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ทรงเริ่มจากความยากลำบาก เมื่อพระเจ้าทรงต้องการทำสิ่งที่พิเศษสุด ทรงเริ่มจากความเป็นไปไม่ได้”

นี่เป็นถ้อยคำที่อธิบายเรื่องราวของคริสต์มาสว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เหตุการณ์ทั้งมวลแขวนอยู่ที่คำว่า “ค่ะ” หรือ “จงเป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” ของสุภาพสตรีรุ่นเยาว์ผู้หนึ่ง ซึ่งจะกลายมาเป็นพระมารดาของพระผู้ไถ่ เธอจะตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรชายด้วยอำนาจขององค์พระผู้สูงสุด ถ้าเราคิดแค่ตามประสามนุษย์ นี่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี เธอได้ตอบรับและส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ “เพราะไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าจะทรงกระทำไม่ได้”

ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก หรือที่เป็นไปไม่ได้อันใด พระแม่มารีย์ได้ทรงสอนหนทางให้แก่เราในเรื่องนี้ จงไว้เนื้อเชื่อใจในองค์พระเจ้า ถ้าสังคมที่ใหญ่ขึ้นของเรา เช่น ครอบครัว หรือ ประเทศชาติของเรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก และดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ พระแม่มารีย์ทรงสอนให้เรายืนหยัดในความเชื่อต่อไป เราต้อง เชื่อ หวัง และไว้ใจในองค์พระผู้เป็นเจ้า และนี่คือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคริสต์มาส

ขอยกตัวอย่างของคนที่เคยอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากคนหนึ่ง ชายคนนั้นคือ คนขี้เมาคนหนึ่ง แต่บัดนี้เขากลับใจมาเป็นคริสตชน เขามีความเชื่อในองค์พระเยซูเจ้า

วันหนึ่งมีชายคนหนึ่งมาพบเขา และถามคำถามเขาว่า “ผมได้ยินว่าคุณกลับใจมาเป็นคริสตชน คุณรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าบ้าง”

“ไม่มากนักหรอกครับ” คนเคยเมาตอบ
“คุณรู้หรือไม่ว่าทรงบังเกิดที่ไหน”
“ไม่ครับ ผมไม่รู้”
“คุณรู้ไหมว่าทรงยกนิทานเปรียบเทียบมาสอนกี่เรื่อง”
“ไม่รู้ครับ”
“คุณรู้ไหมครับว่าทรงทำอัศจรรย์กี่ครั้ง”
“ผมยังเขลาเบาปัญญาอยู่ครับ”
“เอาล่ะ อย่างน้อย คุณรู้ไหมว่ามีพระวรสารกี่ฉบับ ในหนังสือพระคัมภีร์”
“เอ่อ…ไม่ทราบซิครับ”
ชายคนนั้นจึงว่า “สำหรับคนที่กลับใจใหม่ ถ้าไม่รู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าเลย ก็เปล่าประโยชน์”

คนที่เคยเมาตอบว่า “คุณครับ ผมเสียใจจริงๆ ที่โง่เขลาเบาปัญญาในหลายสิ่งที่เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า ผมอายจริงๆ ครับ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมแน่ใจ ย้อนหลังไปหกเดือนที่แล้ว ผมเป็นคนบาปหนา เป็นไอ้ขี้เมา ครอบครัวของผมอยู่ในความสับสนวุ่นวาย ลูกเมียผมพากันหวั่นวิตกเมื่อเห็นผมกลับมาบ้านในตอนเย็น แต่หลังมามีความเชื่อในพระเยซูเจ้า และยอมรับให้พระองค์ทรงเป็นพระผู้ไถ่แล้ว ผมปฏิรูปชีวิตเสียใหม่ และบัดนี้ครอบครัวของผมมีความสุข รุ่งเรือง และร่มเย็น

ฟังเรื่องนี้แล้วเป็นอย่างไรครับ เราอาจจะไม่รู้มากในเรื่องของพระเยซูเจ้า เหมือนนักพระคัมภีร์ หรือพวกที่อุทิศทั้งชีวิตเพื่อศึกษาเกี่ยวกับพระองค์ เราอาจจะ ไม่เฉลียวฉลาดเท่าพวกเขา และที่จริง ไม่ใช่เรื่องจำเป็น เราอาจจะไม่รู้ทุกสิ่งที่เกี่ยวกับพระองค์ แต่ถ้าเรารู้สิ่งเดียวก็เพียงพอแล้ว คือ รู้ว่าเราเป็นคนบาป และพระเยซูเจ้าคือองค์พระผู้ไถ่ของชาวเรา

( คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2011
Based on : John’s Sunday Homilies, Cycle – B ; by John Rose )

สารวันสันติภาพสากล (ครั้งที่ 54)
วัฒนธรรมแห่งการเอาใจใส่ ในฐานะหนทางสู่สันติภาพ

สารวันสันติภาพสากล (ครั้งที่ 54)
วัฒนธรรมแห่งการเอาใจใส่ ในฐานะหนทางสู่สันติภาพ

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสได้มอบสารวันสันติภาพสากล วันที่ 1 มกราคม 2021 มีใจความสรุปดังนี้

  1. ปี 2020  เราเผชิญวิกฤติสุขภาพ  โควิด -19 ทั่วโลก คล้ายวิกฤติสภาพภูมิอากาศ   อาหาร  เศรษฐกิจ  และการอพยพ  เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ยากลำบาก  เป็นพิเศษครอบครัวที่สูญเสียสมาชิก  และผู้ตกงาน มีบุคคลที่เป็นประจักษ์พยานแห่งความรักช่วยเหลือกัน  แต่ในเวลาเดียวกัน  น่าเศร้าที่มีชาติชาตินิยม  ลัทธิเหยียดผิว  การรังเกียจคนต่างชาติ สงคราม  และความขัดแย้ง  ที่นำความตาย  และการทำลาย  เหตุการณ์เหล่านี้สอนเราให้เห็นความสำคัญของการเอาใจใส่กัน  และดูแลสิ่งสร้างเพื่อสังคมแบบพี่น้องกันมากขึ้น
  2. พระเจ้าพระผู้สร้าง  เป็นต้นกำเนิดกระแสเรียกมนุษย์ให้เอาใจใส่ ดังเรื่องราวในพระคัมภีร์ปฐมกาล  มนุษย์ในสวนเอเดน  “ให้เพาะปลูก และดูแลสวน” (ปฐก 2:15) เรื่องราวของกาอิน  และอาเบล  ให้พี่ดูแลน้อง (ปฐก 4:9) ดูแลชีวิต  และธรรมชาติ
  3. พระเจ้าพระผู้สร้าง  รูปแบบของการเอาใจใส่ ทรงดูแลอาดัม  เอวา  และลูกๆ  มนุษย์เป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้า  ทรงกำหนดให้มีวันสับบาโต ให้หยุดงาน พักผ่อน และ เพื่อนมัสการพระเจ้า  ฟื้นฟูระเบียบสังคม  และเอาใจใส่คนจน (ลนต 25:4) มีปียูบีลี “จะไม่มีคนยากจนในหมู่ท่าน” (ฉธบ 15:4) 
  4. การเอาใจใส่ในพันธกิจของพระเยซูเจ้า พระเจ้าทรงรักมนุษย์มาก จึงส่งพระบุตรมาอยู่ท่ามกลางเรา (ยน 3:18) ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน ..ประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำ  คืนสายตาให้แก่คนตาบอด  ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ  (ลก 4:18) ทรงรักษาคนเจ็บป่วย  ให้อภัยคนบาป  เป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี  เป็นชาวสะมาเรียใจดี (ลก 10:30-37) และมอบชีวิตบนไม้กางเขน  เพื่อไถ่เราให้เป็นอิสระจากบาปและความตาย
  5. วัฒนธรรม แห่งการเอาใจใส่ใน  ชีวิตของศิษย์พระเยซู  ปฏิบัติกิจเมตตาฝ่ายร่างกาย  และจิตใจ  ในพระศาสนจักรสมัยแรก” แบ่งปันสิ่งที่มี… ไม่มีใครขัดสน”  (กจ 4:34-35)…พระศาสนจักรปัจจุบันทำงานช่วยคนจน โดยอาศัย โรงพยาบาล  สถานสงเคราะห์  บ้านเด็ก  บ้านพักสำหรับผู้เดินทาง ฯลฯ
  6. หลักคำสอนด้านสังคม  มีพื้นฐานคือวัฒนธรรมการเอาใจใส่ เพื่อส่งเสริมศักดิ์ศรีมนุษย์  ความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวกัน  การเอาใจใส่เพื่อความดีส่วนรวม  การเอาใจใส่และพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ดังในสมณสาส์น  เลาดาโตซี  เอาใจใส่ธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อมเพราะว่าทุกสิ่งสัมพันธ์กัน
  7. เข็มทิศชี้สู่หนทางร่วมกัน เราอยู่ในวัฒนธรรมทิ้งขว้าง  จึงขอบรรดาผู้นำ  และผู้อบรม  ยึดหลักการเหล่านี้  โดยถือเป็น “ เข็มทิศ”ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน  เพื่ออนาคตของมนุษย์  ลดอาวุธนิวเคลียร์หันมาส่งเสริมสันติภาพ  และการพัฒนาที่ยั่งยืน  ต่อสู้ความจน
  8. การศึกษาเพื่อวัฒนธรรมแห่งการเอาใจใส่  โดยเริ่มในครอบครัว โรงเรียน  มหาวิทยาลัย  สื่อสารสังคม  ผู้นำศาสนา  และองค์กรต่างๆ  รู้จักฟัง  เสวนา  และเข้าใจกัน
  9. ไม่มีสันติภาพ  หากปราศจากวัฒนธรรมแห่งการเอาใจใส่  ขอเราอุทิศตน  ทำงานเพื่อการคืนดี  รักษา  เคารพ  และยอมรับกันและกัน เพื่อสร้างชุมชนที่เป็นพี่น้อง  ยอมรับ  และเอาใจใส่ดูแลกัน

ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์ แปลสรุป (18 ธันวาคม 2020)

โครงการ “การทำให้การศึกษาแบบกระชับมั่นคงในระดับสากลในภาวะอันเนื่องมาจากผลกระทบของโลกาภิวัตน์”

โครงการ “การทำให้การศึกษาแบบกระชับมั่นคงในระดับสากลในภาวะอันเนื่องมาจากผลกระทบของโลกาภิวัตน์”

(Global Compact on Education) คำปราศรัยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เริ่มเปิดตัว ณ กรุงโรม เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 15 ตุลาคม 2020

การเปิดตัวโครงการดังกล่าวเลื่อนมาจากเดือน พฤษภาคม 2020 เนื่องจากผลกระทบที่มาจากโรคระบาดโคโรนาทั่วโลก (รวมถึงสาส์นที่ส่งโดยทางวีดีโอ) ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงมีพระบัญชามาแล้ว โดยมอบให้ศาสตาจารย์ ดร. พระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส เป็นผู้แทนพุทธศาสนาในประเทศไทย ไปประชุมดังกล่าว ที่กรุงโรม ทว่าเหตุการณ์โรคระบาดทำให้โปรแกรมต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนแปลงไป

วันที่ 15 ตุลาคม 2020

        ผลกระทบในโลกาภิวัตน์ต่อการศึกษาเริ่มที่กรุงโรม วันนี้หลังจากที่เลื่อนไปในฤดูใบไม้ล่วงเพราะความเป็นห่วงเรื่องโรคไวรัสโคโรนา เหตุการณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มีการจัดการประชุมกันโดยกระทรวงเพื่อการศึกษาคาทอลิกเกิดขี้นในวันที่ 11-18 ตุลาคม 2020 และมีการลงนามแถลงการณ์ร่วมกันวันนี้ คือวันที่ 15 ตุลาคม

        “พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีพระดำริมอบโครงการนี้ให้กับสมณกระทรวงเพื่อการศึกษารคาทอลิกเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งควรที่จะเกิดขึ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม โดยมีการประชุมในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องวันที่ 10-17 พฤษภาคม เช่น “หมู่บ้านแห่งการศึกษา” พร้อมกับนิทัศนาการจากประสบการณ์นานาชาติที่ดีที่สุดจากนักศึกษาที่มาจากทั่วโลก”

        “ความไม่แน่นอนที่เชื่อมโยงกับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาพร้อมกับการตัดสินใจของเจ้าหน้าหน้าที่ภาครัฐในระดับสากล ทำให้ต้องมีการตัดสินใจเลื่อนการประชุมออกไปเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีความสบายใจมากที่สุด”

        ผลกระทบโลกาภิวัตน์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับสถาบันการศึกษาเท่านั้น ทว่า “ในความเชื่อว่าหน้าที่ต่อการศึกษต้องได้รับการมีส่วนร่วมจากทุกคนนั้นหมายถึงผู้แทนของศาสนาต่าง ๆ องค์กรสากล สถาบันมนุษยธรรม รวมทั้งสถาบันวิชาการ เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมด้วย

        “จากมุมมองนี้จึงอาจเป็นที่เข้าใจได้ว่ายิ่งจะมีผู้เข้าร่วมมากและหลากหลายเท่าใดซึ่งเป็นความปรารถนาของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจึงไม่เป็นแค่มิติเพิ่มเชิงบวกต่อผลกระทบโลกาภิวัตน์ต่อการศึกษาเท่านั้น แต่ในเวลาเดียวกันก็จะสร้างฐานที่มั่นคงและเป้าหมายของสมาพันธ์ดังกล่าวด้วย”

        สมณกระทรวงเพื่อการศึกษาคาทอลิกยังคงพยายามทำงานต่อไปเพื่อการประชุมขั้นพื้นฐานนี้ตามพระประสงค์ของพระสันตะปาปา ในสาระของสมณสาส์นของพระสันตะปาปาในการประชุมเรื่องผลกระทบนี้พระองค์ตรัสว่า “ขอให้พวกเราพยายามหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน กล้าหาญที่จะหากระบวนการของการเปลี่ยนแปลง และมองไปยังอนาคตด้วยความหวัง”

        สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงย้ำว่า “ข้าพเจ้าขอเชิญชวนทุกคนให้ช่วยกันทำงานเพื่อสมาพันธ์ดังกล่าวด้วยการปวารณาตนเองภายใต้กรอบแห่งชุมชนของพวกเรา เพื่อหล่อเลี้ยงความฝันของความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีรากเหง้าอยู่ในความเอื้ออาทร และการตอบสนองต่อความปรารถนาของมนุษย์ และแผนการพระประสงค์ของพระเจ้า”

        พระสันตะปาปาทรงส่งสาส์นในรูปแบบของวีดีโอถึงที่ประชุมในวันนี้ซึ่งจัดขึ้นโดยรองบรรณาธิการแห่งสำนักข่าววาติกันอเลสซานโด จีซอตตี (Alessando Gisotti) ภายใต้การดูแลของพระคาร์ดินัลโจเซปเป้ แวร์ซาลดี้ (Gioseppe Versaldi) สมณมนตรีซึ่งเป็นประธานฝ่ายการศึกษาของวาติกัน

ต่อไปนี้เป็นสาส์นวีดีโอของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส:

***

คำปราศรัยของสมเด็จพระสันตะปาปาต่อผู้เข้าร่วมประชุม ผลกระทบระดับสากลต่อการศึกษา เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 15 ตุลาคม 2020

        วันนี้ ณ มหาวิทยาลัยแห่งสันตะสำนักลาเตรัน (Pontifical Lateran University) ในรายการถ่ายทอดสดที่สนับสนุนโดยสมณกระทรวงเพื่อการศึกษาคาทอลิก มีการถ่ายทอดคำปราศรัยผ่านทางวีดีโอของสมเด็จพระสันตะปาปาถึงผู้เข้าร่วมประชุมเรื่องผลกระทบสากลต่อการศึกษา

พี่น้องชายหญิงที่เคารพ

        ขณะที่ข้าพเจ้าเชิญพวกท่านให้เริ่มกระบวนการเตรียมตัว ปรึกษาหารือกัน และวางแผนเพื่อสร้างเครือข่ายสากลสำหรับการศึกษา พวกเราไม่เคยคิดว่าจะมีสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในขณะนั้นวิกฤตโควิด19 ที่ขยายตัวแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายสิ่งหลายอย่างดังที่พวกเราทราบ ความห่วงใยเกี่ยวกับสุขภาพบัดนี้ได้ขยายตัวออกไปสู่ความกังวลด้านเศรษฐกิจและสังคม ระบบการศึกษาทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในทุกระดับ

ความพยามทุกหนทุกแห่งที่จะหาคำตอบอย่างรวดเร็วบนเวทีออนไลน์ของการศึกษา นี่ทำให้พวกเรามองเห็นได้อย่างชัดเจนถึงความไม่เท่าเทียมกันเกี่ยวกับโอกาสในเรื่องของเทคโนโลยีและการศึกษา   และก็ยังทำให้พวกเราเห็นด้วยว่าเนื่องจากการปิดประเทศรวมทั้งมาตรการอื่นๆ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จำนวนมากต้องพลอยล้าหลังไปกับกระบวนการศึกษาตามธรรมชาติ สถิติเมื่อเร็วๆนี้จากองค์กรสากลทำให้บางคนต้องพูดซึ่งอาจจะรีบร้อนไปหน่อยว่านี่เป็น “หายนะของการศึกษา”  ซึ่งนักเรียนประมาณ 10 ล้านคนถูกบังคับให้ต้องออกจากโรงเรียนเนื่องจากผลพวงของวิกฤตเศรษฐกิจอันสืบเนื่องมาจากไวรัสโคโรนา นี่เท่ากับเป็นการขยายความกว้างของช่องว่างที่น่ากลัวยิ่งขึ้น (ซึ่งเด็ก ๆ ที่กำลังอยู่ในวัยเรียนประมาณ 250 ล้านคนถูกตัดขาดออกจากการศึกษาไปแล้ว)

เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่น่าตกใจเช่นนี้ พวกเราทราบดีว่ามาตรการในการดูแลรักษาสุขภาพจะไม่เพียงพอนอกจากว่าจะค้นพบรูปแบบของวัฒนธรรมใหม่ พวกเรารับรู้ดีขึ้นถึงความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบของการพัฒนา  เพื่อที่จะสร้างหลักประกันว่าศักดิ์ศรีของมนุษย์ได้รับความเคารพ การพัฒนาต้องเริ่มจากโอกาสของการที่ต้องพึ่งพากันในระดับโลกเปิดโอกาสให้ชุมชน และประชาชนช่วยกันเอาใจใส่ดูแลบ้านส่วนรวมของพวกเราพร้อมกับส่งเสริมสันติภาพประโยชน์สุขของพวกเรา  พวกเราเรากำลังเผชิญกับวิกฤตใหญ่ที่ไม่สามารถจะทำให้วิบัติลดลงหรือจำกัดอยู่กับเพียงภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง ซึ่งมีผลกระทบต่อทุกสิ่ง โรคระบาดทำให้พวกเรารับรู้ว่าสิ่งที่เป็นวิกฤตคือวิธีการเข้าใจต่อความจริงของพวกเราและความสัมพันธ์ระหว่างกันของพวกเรา

ณ จุดนี้จึงมีความชัดเจนว่าการแก้ไขสถานการณ์อย่างง่ายๆ หรือการคิดตามใจตนเองจะใช้ไม่ได้ผล ดังที่พวกเราทราบการศึกษาหมายถึงการเปลี่ยนแปลง การให้การศึกษาเป็นความเสี่ยง และเป็นการสร้างความหวังที่จะทำลาย “ลัทธิกำหนดนิยม” (determinism) และ “ลัทธิแบบสุดโต่ง” (fatalism) ซึ่งการเห็นแก่ตัวของผู้ที่แข็งแรง ส่วนลัทธิประเพณีนิยม (conformism) ของคนที่อ่อนแอ และอุดมการณ์ของพวกที่เห็นสวรรค์บนแผ่นดินจะทำให้พวกเราเห็นว่านี่เป็นหนทางเดียวที่จะก้าวไปข้างหน้า [1]

การให้การศึกษาเป็นการกระทำที่ให้ความหวังเสมอ เป็นสิ่งที่เรียกร้องให้ต้องมีการร่วมมือกันในการเปลี่ยนแปลง การอยู่นิ่งเฉยแบบแห้งแล้ง ทำให้พวกเราเป็นง่อยซึ่งค่อย ๆ นำไปสู่วิธีคิดที่รับรู้ถึงการที่พวกเราต้องพึ่งพากัน หากระบบการศึกษาของพวกเราในปัจจุบันที่ยังมีความคิดยึดติดอยู่กับที่ และการทำสิ่งซ้ำ ๆ ซึ่งไม่สามารถเปิดขอบฟ้าใหม่ซึ่งมีการต้อนรับสิ่งใหม่ ความเอื้ออาทรระหว่างชนชั้นและคุณค่าเหนือธรรมชาติซึ่งสามารถที่จะให้กำเนิดกับวัฒนธรรม นี่จะไม่หมายความหรือว่าพวกเรากำลังล้มเหลวที่จะฉกฉวยโอกาสที่ถูกเสนอมาให้พวกเราจากเวลาแห่งประวัติศาสตร์ครั้งนี้?

พวกเราทุกคนทราบดีว่าการเดินทางแห่งชีวิตเรียกร้องให้พวกเรามีความหวัง อันมีรากฐานอยู่ในความเอื้ออาทร การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างเรียกร้องให้ต้องมีกระบวนการศึกษา เพื่อที่จะสร้างความจริงซึ่งสามารถตอบสนองต่อการท้าทาย และปัญหาของโลกยุคร่วมสมัยในความเข้าใจ และของการพบหนทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความต้องการของชนทุกรุ่นทุกวัย และด้วยวิธีนี้เท่ากับเป็นการส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ทั้งบัดนี้และต่อไปในอนาคต

พวกเราถือว่าการศึกษาเป็นวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดที่จะทำให้โลก และประวัติศาสตร์มีความเป็นมนุษย์มากกว่า ที่สำคัญคือการศึกษาเป็นเรื่องของความรักและความรับผิดชอบที่สืบทอดต่อกันมาจากชนรุ่นหนึ่งสู่ชนอีกรุ่นหนึ่ง

เมื่อเป็นเช่นนี้การศึกษาจึงเป็นยาที่รักษาตามธรรมชาติมีผลต่อวัฒนธรรมที่เห็นแก่ตัว ซึ่งบางครั้งก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่ถือตนเองเป็นใหญ่ในการอยู่นิ่งเฉย  อนาคตของพวกเราจะแบ่งแยกกันไม่ได้ จะต้องไม่มีความคิดที่โง่เขลา ไม่มีแต่การจินตนาการ ขาดความตั้งใจ ขาดการเสวนา และขาดการเข้าใจซึ่งกันและกัน นั่นไม่อาจที่จะเป็นอนาคตของพวกเรา

ทุกวันนี้จำเป็นต้องมีการฟื้นฟูกันใหม่กับการศึกษาที่สังคมทุกระดับต้องมีส่วนร่วม ขอให้พวกเราฟังเสียงร้องอ้อนวอนของเด็ก ๆ เยาวชนที่เปิดดวงตาของพวกเราให้เห็นถึงความต้องการเร่งด่วน และโอกาสแห่งการฟื้นฟูการศึกษาขึ้นมาใหม่ ที่ไม่หลงให้มองไปในทิศทางอื่น ซึ่งเป็นการสนับสนุนความอยุติธรรมทางสังคม การใช้ความรุนแรงต่อสิทธิ รูปแบบที่น่าชังของความยากจน และการสูญเสียชีวิตมนุษย์

สิ่งที่เรียกร้องคือกระบวนการแบบองค์รวมที่ตอบสนองสถานการณ์แห่งการอยู่อย่างโดดเดี่ยว และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตนที่มีผลกระทบต่อบรรดาเยาวชนและก่อให้เกิดการสิ้นหวัง การติดยาเสพติด การก้าวร้าว ความเกลียดชัง และการรังแกกันเอารัดเอาเปรียบ นี่หมายถึงการที่ต้องเดินทางร่วมกันที่ไม่เมินเฉยต่อการใช้ความรุนแรง การล่วงละเมิดต่อผู้เยาว์ พฤติกรรมการแต่งงานของเด็ก การเอาเด็กมาเป็นทหาร และการขายเด็กไปเป็นทาส นี่ยังไม่ต้องพูดถึง “ความทุกข์” ที่โลกของพวกเราต้องแบกรับจากผลของการเอารัดเอาเปรียบที่ขาดจิตสำนึกขาดหัวใจที่ก่อให้เกิดวิกฤตของสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

ในบางช่วงแห่งประวัติศาสตร์จำเป็นต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ที่สามารถไม่เพียงแต่จะหล่อหลอมวิถีชีวิตของผู้คนเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือต้องรวมถึงจุดยืนที่เกี่ยวกับอนาคตด้วย ท่ามกลางวิกฤตแห่งสุขภาพอนามัยในปัจจุบัน ความยากจนและความสับสนที่ปรากฎขึ้น พวกเราเชื่อว่านี่ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสร้างสมาพันธ์ระดับโลกเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อชนรุ่นหลัง  นี่เรียกร้องหน้าที่จากครอบครัว ชุมชน โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถาบัน ศาสนา ภาครัฐ และครอบครัวมนุษย์ทั้งมวล ให้มีการศึกษาสำหรับทั้งหญิงชายที่บรรลุนิติภาวะแล้วด้วย

ทุกวันนี้พวกเราถูกเรียกร้องให้ต้องมีความจริงใจที่จะสลัดทิ้งซึ่งการจัดการกับการศึกษาแบบผิวเผิน และหนทางลัดร้อยแปดประการที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ (มาตรฐาน) ผลของการทดสอบ การทำงานแบบระบบราชการ ซึ่งทำให้การสับสนในการศึกษาด้วยคำแนะนำที่ลงเอยด้วยการทิ้งระเบิดใส่วัฒนธรรม ตรงกันข้ามพวกเราควรที่จะมุ่งเป้าไปยังวัฒนธรรมแบบองค์รวม การมีส่วนร่วม  และมีหลากหลายรูปแบบ พวกเราจำเป็นต้องมีความกล้าหาญที่จะทำให้เกิดมีกระบวนการที่ทำงานอย่างอุทิศตนจริงจังเพื่อที่จะเอาชนะต่อระบบที่ไม่ได้ตอบสนองต่อปัญหาในปัจจุบัน และความขัดแย้งที่พวกเรามีอยู่ในปัจจุบัน  พวกเราต้องกล้าที่จะทบทวนสายใยแห่งความสัมพันธ์เพื่อเห็นแก่มนุษยชาติที่จะสามารถพูดภาษาแห่งความเป็นพี่น้องกัน คุณค่าการศึกษาของพวกเราจะวัดกันไม่ใช่ด้วยผลแห่งการทดสอบแบบมาตรฐานเท่านั้น แต่ต้องด้วยความสามารถที่มีผลต่อหัวใจของสังคม และช่วยให้เกิดมีวัฒนธรรมใหม่ ให้เป็นโลกที่มีความแตกต่าง  ถ้าหากเป็นไปได้และพวกเราถูกเรียกร้องว่าจะต้องสร้างคุณค่าสิ่งนี้อย่างไร นี่หมายถึงต้องรวมทุกมิติแห่งมวลมนุษย์ทั้งที่เป็นปัจเจกบุคคลและเป็นชุมชน

ขอให้พวกเราวิงวอนเป็นพิเศษต่อบรรดาชายหญิงที่มีวัฒนธรรม มีความรู้ดีทางด้านวิทยาศาสตร์และการกีฬา ทั้งผู้ที่เป็นศิลปินระดับมืออาชีพ โดยเฉพาะด้านสื่อในทุกภาคส่วนของโลกให้ร่วมกันสนับสนุนสมาพันธ์นี้ และส่งเสริมด้วยการเป็นประจักษ์พยาน และความพยายามของตนถึงคุณค่าของการดูแลเอาใจใส่ผู้อื่น ให้เกิดสันติสุข ความยุติธรรม ความดีงามเพื่อประโยชน์สุข ความสวยงาม การยอมรับ และภราดรภาพ พวกเราไม่ควรคาดหวังสิ่งใดจากผู้ที่ปกครองพวกเรา มิฉะนั้นจะกลายเป็นเรื่องของเด็กไร้สาระ พวกเรามีพื้นที่ซึ่งพวกเราสามารถร่วมรับผิดชอบด้วยกันในการสร้างสรรค์และจัดการให้เรื่องสำคัญนี้อยู่คงที่กับหนทางอันเป็นกระบวนการและการเปลี่ยนแปลงใหม่ ขอให้พวกเรามีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการฟื้นฟูและสนับสนุนสังคมที่กำลังมีปัญหาของพวกเรา วันนี้พวกเรามีโอกาสดีที่จะแสดงความรู้สึกภายในแห่งความเป็นพี่น้องกันของพวกเรา ซึ่งอาจจะเป็นชาวสะมาเรียผู้ใจดีที่รับปัญหาของผู้อื่นมาไว้กับตนเองแทนที่จะสร้างความเกลียดชังและความเสียใจ” (Fratelli Tutti, ข้อ 77)  นี่เป็นการเรียกร้องให้มีกระบวนการที่หลากหลายที่พวกเราทุกคนสามารถทำงานร่วมกันเพื่อให้คำตอบที่มีความหมาย ซึ่งความแตกต่างและวิธีการต่างจะนำพาทำให้พวกเราเป็นหนึ่งเดียวกันในการติดตามเพื่อความดีประโยชน์สุขส่วนรวม อันเป็นความสามารถที่จะสร้างความสมานฉัน นี่เป็นสิ่งที่พวกเราต้องการอย่างมากในทุกวันนี้

ด้วยเหตุนี้พวกเราจึงต้องปวารณาตนเองทั้งลักษณะส่วนตัวและในฐานะที่เป็นชุมชน:

* ประการแรก ต้องทำให้บุคคลในคุณค่าและศักดิ์ศรีของเขาเป็นศูนย์กลางของโครงการศึกษาทุกโครงการทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อที่จะส่งเสริมลักษณะจำเพาะ ความงดงาม อัตลักษณ์ และความสามารถของเขาในความสัมพันธ์กับผู้อื่น และกับโลกที่อยู่รอบตัว ใขณะเดียวกันก็สอนให้เขาปฏิเสธวิถีชีวิตที่ส่งเสริมการแพร่วัฒนธรรมการกินทิ้งกินขว้าง

* ประการที่สอง ฟังเสียงของเด็กและเยาวชนที่พวกเราถ่ายทอดคุณค่า และความรู้เพื่อที่จะช่วยกันสร้างอนาคตแห่งความยุติธรรม สันติสุข และชีวิตที่มีศักดิ์ศรีสำหรับทุกคน

* ประการที่สาม สนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ สำหรับเด็กหญิงและเยาวชนหญิงในการศึกษา

* ประการที่สี่ ต้องถือว่าบ้านเป็นสถานที่แรกของการศึกษาที่มีความสำคัญยิ่ง

* ประการที่ห้า ทั้งการให้การศึกษาและรับการศึกษา บ่งถึงความจำเป็นในการให้การยอมรับโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเปิดใจกว้างให้กับผู้ที่มีความเปราะบาง และผู้ที่อยู่ตามชายขอบสังคม

* ประการที่หก พยายามหาวิธีใหม่ในการเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และการเจริญเติบโตก้าวหน้าที่สามารถยืนหยัดในการรับใช้บุคคล และครอบครัวมนุษย์ภายใต้บริบทของระบบนิเวศที่เป็นองค์รวม

* ประการที่เจ็ด ปกป้อง พิทักษ์คุ้มครอง และเสริมสร้างบ้านส่วนรวมของพวกเรา คุ้มครองผืนแผ่นดินโลกจากการถูกเอารัดเอาเปรียบทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมกับเลือกวิถีชีวิตแบบสมถะ โดยใช้พลังหมุนเวียนและให้ความเคารพต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อมตามหลักการของการช่วยเหลือกัน ความเอื้ออาทร และเศรษฐกิจหมุนเวียน

        สุดท้าย พี่น้องชายหญิงที่เคารพ พวกเราต้องปรารถนาที่จะปวารณาตนเองด้วยความกล้าหาญที่จะพัฒนาแผนการศึกษาภายประเทศของพวกเราด้วยการลงทุนอย่างดีที่สุด โดยใช้กระบวนการที่สร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงกับสังคมพลเรือน สำหรับมิตินี้จุดอ้างอิงของพวกเราควรที่จะเป็นคำสอนด้านสังคมที่ได้รับแรงบันดาลใจและเผยแสดงโดยพระวาจาของพระเจ้า และในเจตนารมณ์แห่งคริสตชน ซึ่งให้พื้นฐานสำคัญและเป็นทรัพยากรอันประเสริฐเพื่อแยกแยะหนทางที่ต้องเดินในยามฉุกเฉินแห่งยุคปัจจุบัน

        เป้าหมายของการลงทุนในการศึกษานี้ที่มีรากฐานอยู่ในเครือข่ายแห่งความสัมพันธ์ที่เปิดกว้าง ทั้งนี้เพื่อที่จะสร้างหลักประกันว่า ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ตามศักดิ์ศรีของบุคคลและเป็นกระแสเรียกทั่วไปแห่งภราดรภาพ นี่ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมองไปยังอนาคตด้วยความกล้าหาญและด้วยความหวัง โดยหวังที่จะมีสันติสุขและความยุติธรรม หวังที่จะเห็นความสวยงาม และความดีงามประโยชน์สุขส่วนรวม หวังที่จะดำรงชีวิตในสังคมที่มีความสมานฉัน

        พี่น้องที่เคารพ ขอให้พวกเราอย่างลืมว่า การเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ไม่ได้เกิดจากโต๊ะทำงานหรือในสำนักงาน ทว่าการมี “สถาปัตยกรรม” แห่งสันติสุข ที่สถาบันและปัจเจกบุคคลต่างๆในสังคมช่วยกันสร้างสรรค์ขึ้นมาในแต่ละคนตามความชำนาญและทักษะของตนเองโดยไม่ยกเว้นผู้ใด (เทียบ Fratelli Tutti, ข้อ 231) โดยอาศัยวิธีนี้พวกเราต้องก้าวไปข้างหน้าพร้อมกันทุกคน พวกเราต้องมองไปข้างหน้าเสมอเพื่อที่จะสร้างวัฒนธรรมแห่งความศิวิไลซ์  แห่งความสมานฉัน และความเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งจะไม่มีพื้นที่สำหรับโรคระบาดแห่งวัฒนธรรมที่กินทิ้งกินขว้างอีกต่อไป  ขอขอบคุณ

____________________

1 Cf. M. DE CERTEAU, Lo straniero o l’unione nella differenza, Vita e Pensiero, Milan, 2010, 30. Original: L’etranger ou l’union dans la différence, Paris, 2017.

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บพระสมณดำรัสของพระสันตะบิดรฟรานซิสมาแบ่งปันและไตร่ตรอง)

ประกาศผลการประกวดวาดภาพพระคัมภีร์ ประจำปี 2563

ประกาศผลการประกวดวาดภาพพระคัมภีร์ ประจำปี 2563

แผนกพระคัมภีร์ โดยการนำของคุณพ่อโบ้ สิริชัย บุหงาสวรรค์ได้จัดให้มีการประกวดวาดภาพพระคัมภีร์ในประเด็นเกี่ยวกับสมณสาส์นลอดาโตซี ซึ่งมีการตัดสินแล้วผลปรากฏดังต่อไปนี้

  • รางวัลที่ 1 ศูนย์คาทอลิกวัดพระคริสต์แสดงองค์ ฝาง
  • รางวัลที่ 2 วัดอัครเทวดาราฟาแอล ขุนแปะ
  • รางวัลที่ 3 มูลนิธินาโกลี จอมทอง

ส่วนงานอื่น ๆ ที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมดเป็นรางวัลชมเชย สำหรับรางวัลจะติดต่อมอบให้ภายหลัง ซึ่งจะแจ้งให้ทราบต่อไป

(Cauhpoqai Pgama-e)

ฉลองวันครูคำสอนไทย

ฉลองวันครูคำสอนไทย

16 ธันวาคม 2020 เชียงใหม่

บุญราศีฟิลิป  สีฟอง  ถวายชีวิตคืนแด่พระเจ้า  วันที่ 16 ธันวาคม 2563  อักเนสพิลา และเพื่อนมรณสักขี   วันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1940  จึงครบ  80 ปี  นักบุญสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ได้ประกาศรับรองความศักดิ์สิทธิ์นักบุญราศี เมื่อ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1989 (วันอาทิตย์แพร่ธรรมสากล)

            สามโรงเรียนคาทอลิกคือ โรงเรียนเรยีนา มงฟอร์ต  และพระหฤทัย  ร่วมฉลอง  “วันครูคำสอนไทยด้วยกัน  ที่สำนักมิสซังเชียงใหม่  เวลา 17.00 น. พิธีมิสซา  มีนักศึกษาศูนย์คำสอนแม่ริม  โฟโกลาเร่ และผู้ร่วมงานในสำนักมิสซังเชียงใหม่  รวม 75 คน

            หลังมิสซา  ชมวีดีทัศน์  ปรีชาของมด  แล้วแบ่งปัน  ข้อคิด  และแนะนำ  ปีนักบุญโยเซฟ ที่สมเด็จพระสังตะปาปาฟรังซิส ประกาศ  วันที่ 8 ธันวาคม 2020  โอกาส ครบ 150 ปี  ที่พระศาสนาจักรประกาศให้นักบุญโยเซฟ เป็นองค์อุปถัมภ์พระศาสนจักรสากล

            มงซินญอร์  วิษณุ  ธัญญอนันต์  กำลังจัดพิมพ์ 2000 เล่ม จะเป็นประโยชน์แก่เรา  แม้พระศาสนไทยถือ  ค.ศ. 2021 ปีเยาวชน  พระจักรสากลประกาศ  “ ปีนักบุญโยเซฟ ”

            18.30 น. รับประทานอาหารเย็นร่วมกัน  โดยแต่ละโรงเรียนนำอาหารมาแบ่งปันกัน  มีชาวบ้านนำ ผักสลัดแก้ว  มาให้  2 คนรถ  จึงปิดการฉลอง ด้วยการมอบผัก  กลับบ้าน

            มิสซังมอบ “ไบเบิ้ลไดอารี่” เป็นของขวัญแก่ครูคำสอน

ฟ.วีระ  อาภรณ์รัตน์

วันสันติภาพสากล

วันสันติภาพสากล

เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.2020 วันขึ้นปีใหม่ สมโภชพระนางมารีย์พระชนนีพระเจ้า  เป็นวันสันติภาพสากล (World Peace Day)  ครั้งที่ 53  เป็นโอกาสไตร่ตรองสาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส  ตั้งแต่ ค.ศ. 2014-2020

          หากมีหัวข้อร่วมกันของสาส์นสันติภาพทั้งหมดของพระองค์ ก็คือ ความหวังของคริสตชน  ขณะที่เรากำลังเผชิญโลกสมัยใหม่  พระองค์ก็ทรงมองทางแก้ไข  โดยเน้นที่พระพักตร์ของพระเยซูเจ้า  ในฐานะต้นกำเนิดความหวัง และแรงบันดาลใจของเรา  เพื่อให้เกิดสันติภาพในโลกปัจจุบัน

–    2014  ภราดรภาพ คือ พื้นฐานและหนทางสู่สันติ
พระองค์ทรงมอบแก่ทุกคน  ให้ชีวิตเต็มเปี่ยมด้วยความปิติยินดีและความหวัง

–    2015 ไม่มีทาสอีกต่อไป หญิงชายทั้งผองพี่น้องกัน

มนุษย์ทำลายมนุษย์  ทำลายภราดรภาพและความดีของส่วนรวม  เพราะมนุษย์ถูกลิดรอนเสรีภาพ  และถูกบังคับให้เจริญชีวิตในสภาพแวดล้อม  เป็นทาส  เช่น การโสเภณี  การค้ามนุษย์  และทหารที่ยังเด็กๆ

–    2016  สันติเกิดขึ้นได้ ถ้าเราไม่นิ่งดูดาย

มีหลายรูปแบบของความเย็นเฉย  ไม่สนใจกัน  ข้อขัดแย้ง  และวิกฤติ  จะทำให้เกิดสงครามโลก  โป๊ปทรงเชิญทุกคน  อย่าหมดหวังในความสามารถของมนุษย์  เพื่อเอาชนะสิ่งชั่วร้าย  และต่อสู้กับความขุ่นเคืองและความเย็นเฉย ต่อเพื่อนบ้านและสภาพแวดล้อม

–    2017  การเมืองที่ยึดหลักสันติวิธี คือวิถีสู่สันติภาพ

พระองค์ทรงเน้นการไม่ใช้ความรุนแรงในวิถีชีวิต  มิฉะนั้น  เหยื่อของความรุนแรง  อาจโต้กลับด้วยความรุนแรง  ให้ทุกคนเป็นผู้ส่งเสริมสันติภาพ  ไม่ใช้ความรุนแรง  ตามความสุขแท้ 8 ประการ

–    2018  ผู้อพยพและผู้ลี้ภัย คือชายหญิงที่มุ่งแสวงหาสันติภาพ

พระองค์ทรงขอให้เราต้อนรับบรรดาผู้ลี้ภัยสงครามและความหิว  การถูกเบียดเบียน  ความยากจน  และสภาพแวดล้อมไม่ดี  จนต้องละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน

–    2019 การเมืองที่ดีต้องมุ่งสร้างสันติภาพ

พระองค์ทรงเชิญชวนผู้รับผิดชอบการเมืองให้ยึดหลักเคารพชีวิต เสรีภาพ และศักดิ์ศรีมนุษย์  การเมืองสามารถดำเนินกิจการแห่งเมตตารักได้

–    2020 สันติภาพ คือ หนทางของความหวัง : การเสวนา การคืนดีกัน และการกลับใจดูแลระบบนิเวศ  เนื่องจากมีข้อขัดแย้ง  ความรุนแรง  ความไม่ไว้วางใจ  ทำให้ความสัมพันธ์ลดลง  และเพิ่มความรุนแรง  เราจึงต้องหันกลับมาคืนดีกัน

สรุปจาก www.vaticannews.va (1 ม.ค. 2020)
ใครสนใจสารคำขวัญวันสันติภาพ ทั้ง 53 ปี ภาษาไทย เชิญดู ที่เวปไซต์ แผนกยุติธรรมและสันติ www.jpthai.org  เรากำลังรอสารวันสันติภาพสากล สำหรับวันที่ 1 มกราคม 2021 ครับ
ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์ 17 ธันวาคม 2020

เสกวัดอัครเทวดาคาเบรียล

เสกวัดอัครเทวดาคาเบรียล

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เขตวัดนักบุญเยโนเวฟา (เสาหิน) ได้จัดให้มีพิธีเสกวัดอัครเทวดาคาเบรียล บ้าน”จอซิเดอร์” โดยได้รับเกียรติจากคุณพ่อบุญเลิศ สร้างกุศลในพสุธา อุปสังฆราช เป็นประธานในพิธี พร้อมกับคุณพ่อคำมา อำไพพิพัฒน์ อดีตเจ้าอาวาส ได้มาร่วมในพิธีครั้งนี้ด้วย สำหรับเขตวัดนักบุญเยโนเวฟา เป็นเขตวัดที่การเดินทางคมนาคมลำบากที่สุดเขตวัดหนึ่งอยู่ติดชายแดนไทยเมียนมาร์ ที่ตำบลเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนใหญ่การออกเยี่ยมกลุ่มคริสตชนตามหมู่บ้านต่างๆ นั้นจะอาศัยเดินเท้าเข้าไปตามหมู่บ้านต่างๆ เนื่องจากยังไม่มีทางรถยนต์เชื่อมแต่ละหมู่บ้าน รวมทั้งยังไม่มีระบบไฟฟ้าเข้าไปตามหมู่บ้านต่างๆ

ปัจจุบันมีคุณพ่อยอแซฟ จตุพงษ์ โชคบวรสกุล เป็นเจ้าอาวาส ข้อมูลสถิติปี ค.ศ. 2018 มีคาทอลิก 818 คน กำลังเรียนคำสอนเตรียมรับศีลล้างบาป 10 คน และยังมีพี่น้องที่สนใจอีกจำนวนมาก ซึ่งยังเป็นเขตพื้นที่เป้าหมายและความหวังในการประกาศข่าวดีต่อไป

(คุณพ่อณรงค์ชัย หมั่นศึกษา)

ประวัติคริสตชนหมู่บ้าน"จอซิเดอร์"

เดิมทีนับถือประเภณีเดิม (Auf qai) ปัจจุบันมีนับถือประเพณีเดิม คาทอลิก และโปรแตสแตนท์ สำหรับผู้ที่กลับมาเป็นคาทอลิกคนแรกคือนายหม่อจ่า ซึ่งเป็นคาทอลิกรับศีลล้างบาปมาก่อนแล้ว ได้อพยพมาจากหมู่บ้านผ่าปุ๊ รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมาร์

ต่อมานายส่าขู่แฮ ซึ่งเป็นคาทอลิกรับศีลล้างบาปจากเมียนมาร์ มาจากหมู่บ้านผ่าปุ๊ เช่นเดียวกัน ได้ติดตามมาอยู่ด้วยที่หมู่บ้านจอซิเดอร์ หลังจากนั้นนางหน่อเซพอ และครอบครัว ซึ่งอยู่ที่หมู่บ้านจอซีเดอร์นี้ ได้สมัครเข้ามาเรียนคำสอนและรับศีลล้างบาป โดยมีคุณพ่อจากประเทศเมียนมาร์ได้ส่งครูคำสอนมาโปรดศีลล้างบาปแทน และหลังจากนั้นคุณพ่อจากเมียนมาร์ได้มาเยี่ยมเยียนกลุ่มคริสตชนที่หมู่บ้านนี้หลายครั้ง รวมทั้งได้จัดฉลองคริสต์มาสและปัสกาด้วย (เนื่องจากหมู่บ้านจอซีเดอร์นี้อยู่ติดชายแดนไทยเมียนมาร์ ทำให้คุณพ่อในเขตพื้นที่ได้มาติดตามเยี่ยมเยียนกลุ่มคริสตชนที่ย้ายถิ่นฐานต่างๆ และการแพร่ธรรมฝั่งไทยยังเข้าไปไม่ถึง)

พระสงฆ์ไทยที่เข้าไปทำงานในพื้นที่เสาหิน

ก่อนปี ค.ศ. 2000 มีคุณพ่อสมพงษ์ กัมพลกูล ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดนักบุญเปาโล แม่สะเรียง ได้เข้าไปเยี่ยมเยียนกลุ่มคริสตชนที่เขตเสาหินนี้และประกอบพิธีศีลล้างบาปให้กับพี่น้องคริสตชนหลายคน จากนั้นได้มีคุณพ่อทูน ประภาสสันต์ ซึ่งเป็นเจ้าวัดเขตวัดนักบุญเปโตร แม่ลาน้อย ได้เข้าไปเยี่ยมเยียนและโปรดศีลล้างบาปให้กับกลุ่มคริสตชนหลายคน จากนั้น ปี ค.ศ. 2000 คุณพ่อได้สร้างวัดหลังแรกด้วยไม้และไม่ไผ่มุงหลังคาสังกะสี โดยความร่วมมือของพี่น้องคริสตชนในหมู่บ้าน และตั้งชื่อว่าวัดอัครเทวดาคาเบรียล และเสกโดยคุณพ่อทูน ประภาสสันต์ เจ้าวัดในขณะนั้น

ต่อมา ปี ค.ศ. 2005 คุณพ่อคำมา อำไพพิพัฒน์ ซึ่งเป็นเจ้าวัดเขตวัดนักบุญเปโตร แม่ลาน้อย และได้เข้าไปรับผิดชอบเยี่ยมเยียนกลุ่มคริสตชนในโซนตำบลเสาหินนี้เป็นประจำ จนถึงปี ค.ศ. 2009 จึงได้เสนอให้สังฆมณฑลได้จัดตั้งเป็นเขตวัดทางการแยกออกจากเขตวัดนักบุญเปโตร แม่ลาน้อย สังฆมณฑลฯ โดยความเห็นชอบของสภาสงฆ์ และพระคุณเจ้าได้ประกาศให้เป็นเขตวัดเป็นทางการโดยตั้งวัดนักบุญเยโนเวฟา บ้านนาป่าแป๋ ตำบลเสาหิน เป็นวัดศูนย์กลาง โดยมีคุณพ่อคำมา อำไพพิพัฒน์ เป็นเจ้าวัดทางการองค์แรก

ปี ค.ศ. 2025 นายหม่อแจลอย ธรรมวินิสกุล หัวหน้าคริสตชน ได้จัดเตรียมไม้ไว้ส่วนหนึ่งเพื่อจัดสร้างวัดหลัหใม่ เนื่องจากวัดหลังเก่าถูกปลวกกินและทรุดโทรมไปมากแล้ว แต่ยังไม่ทันได้สร้างได้เกิดไฟไหม้บ้านรวมทั้งไม้ที่ได้จัดเตรียมไว้เสียหายจนหมด

ปี ค.ศ. 2016 คุณพ่อจตุพงษ์ โชคบวรสกุล ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าวัดรับผิดชอบเขตวัดนักบุญเยโนเวฟา และวัดสาขารวมทั้งหมู่บ้านจอซีเดอร์ด้วย จากนั้นนายหม่อแจลอย ธรรมวินิสกุล หัวหน้าคริสตชนยังตั้งใจที่จะจัดสร้างวัดประจำหมู่บ้านให้ได้จนถึงปี ค.ศ. 2020 ได้มีการจัดเตรียมไม้อีกครั้งหนึ่งและได้ปรึกษากับคุณพ่อจตุพงษ์ โชคบวรสกุล เจ้าวัด เพื่อช่วยกันสร้างวัดอีกครั้งหนึ่ง ในที่สุดบรรดาคริสตชนในหมู่บ้านได้ลงมือช่วยกันสร้างกันเอง โดยที่คุณพ่อยังไม่ทันมาดู ในที่สุดเมื่อคุณพ่อเข้าไปดูรายละเอียดแล้วได้มีการแก้ไขบางส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ และได้บอกบุญจากเพื่อนพระสงฆ์อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ในรุ่นเดียวกัน และคุณพ่อพรศักดิ์ ชื่นจิตอภิรมย์ ได้ให้การสนับสนุน 40,000 บาท และผ่านทางคุณพ่อไพศาล เต็มอรุณรุ้ง 10,000 บาท และอีกส่วนหนึ่งพี่น้องคริสตชนในหมู่บ้านได้ช่วยกันทั้งปัจจัยและแรงงานด้วย การก่อสร้างได้แล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2020 และจัดให้มีพิธีเสกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม 2020 โดยคุณพ่อบุญเลิศ สร้างกุศลในพสุธา อุปสังฆราช

ปัจจุบันที่วัดอัครเทวดาคาเบรียล บ้านจอซีเดอร์ นี้มีคาทอลิก 5 ครอบครัว รับศีลล้างบาปแล้ว 37 คน กำลังเรียนคำสอนเพื่อเตรียมรับศีลล้างบาป 2 คน