เชียงใหม่ประชุมสภาภิบาลประจำปี 2024

วันที่ 14 สิงหาคม 2024 สังฆมณฑลเชียงใหม่ ได้จัดให้มีการประชุมประจำปีของสภาภิบาลระดับสังฆมณฑลฯ ขึ้นที่ศูนย์สังหมณฑลฯ โดยมีตัวแทนจากพระสงฆ์ นักบวชชาย หญิง ที่ทำงานในสังฆมณฑลฯ และตัวแทนหน่วยงาน องค์กรฆราวาส เริ่มด้วยวจนพิธีกรรมเปิดการประชุมโดยพระคุณเจ้าฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์  ซึ่งมีหัวข้อหลักในการร่วมกันพิจารณาครั้งนี้ประกอบด้วยโครงการ “แผนปฏิบัติงานรวมพลังรักษ์โลก” ซึ่งนำเสนอภาพกิจกรรมรวมของสังฆมณฑลเชียงใหม่ โดย ดร.สุนทร วงค์จอมพร ผู้รับผิดชอบโครงการ “รักษ์โลก” ของสังฆมณฑลเชียงใหม่  และ” ปีศํกดิ์สิทธิ์ และครบรอบ 100 ปี ถวายประเทศไทยแด่แม่พร่ะ” โดยคุณพ่อวีรศักดิ์ ยงศรีปณิธาน ส่วนภาคบ่ายเป็นการแบ่งปันกิจกรรมของหน่วยงาน องค์กร และคณะต่างๆ และปิดด้วยพิธีบูชาขอบพระคุณโดยพระคุณเจ้าฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์ เป็นประธาน “พวกเราสมาชิกสภาภิบาลซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ในสังฆมณฑลฯ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกิจกรรมแผนอภิบาลของสังฆมณฑลฯ และวันนี้เป็นวันที่เราระลึกถึงนักบุญมักซีมีเลียน มารีย์ กอลเบ พระสงฆ์ เป็นผู้ที่มีความรักอย่างแรงกล้าต่อพระเยซูคริสตเจ้า ตามที่พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ไม่มีความรักใดยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” ด้วยท่านได้เลือกตายแทนนักโทษอีกคนที่มีภาระต้องเลี้ยงดูภรรยาและลูกๆ อีก 9 คน ขอให้พวกเราได้ปฏิบัติความรักตอคนอื่น คนตกทุกข์ได้ยาก คนเจ็บคนป่วย ผู้สูงอายุ ในชุมชนของเรา”

คุณพ่อณรงค์ชัย หมั่นศึกษา

วันที่ 3 กันยายน ระลึกถึง นักบุญเกรโกรี่

วันที่ 3 กันยายน ระลึกถึง นักบุญเกรโกรี่ พระสันตะปาปา และนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักร

( St Gregory the Great, Pope & Doctor, memorial )

เกรโกรี่เป็นบุตรชายที่เฉลียวฉลาดและเปี่ยมด้วยพลังของขุนนางชาวโรมันที่ชื่อว่า Gordianus กับภรรยาที่ชื่อว่า Sylvia (ต่อมาได้เป็นนักบุญซิลเวีย) เกิดราวปี ค.ศ. 540 เมื่อเกรโกรี่อายุได้ 33 ปี เขาก็ได้เป็นนายกเทศมนตรีของกรุงโรมแล้ว แต่หลังจากนั้นไม่นานได้ละทิ้งความทะเยอทะยานทางโลกทั้งหมด และเข้าไปเป็นฤาษีคณะเบเนดิกตินที่ถูกขับไล่จากมอนเต คาสสิโน มาที่กรุงโรมโดยพวกลอมบาร์ด(Lombards)ผู้รุกราน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 579-586 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตของพระสันตะปาปาประจำกรุงคอนสแตนติโนเปิล หลังจากจบภารกิจแล้วกลับมา ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการอารามฤาษีของท่านที่ตั้งอยู่บน Coelian Hill สามปีต่อมาได้เกิดน้ำท่วมที่ทำให้เกิดหายนะใหญ่หลวง ซึ่งได้ทำลายล้างยุ้งฉางของพระสันตะปาปา ก่อให้เกิดโรคระบาดอย่างร้ายแรง และทำให้ผู้คนล้มตายไปจำนวนมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งพระสันตะปาปาในขณะนั้นด้วย ในช่วงเวลานั้น เกรโกรี่ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษาของพระสันตะปาปามาหลายปีแล้ว ก็ได้รับเลือกอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาในปี ค.ศ. 590 ทั้งๆที่ท่านรู้สึกลังเลใจเป็นอย่างมาก แต่ก็ต้องถือว่าสำหรับท่านนั้นนับเป็นกรณีแรกที่ฤาษีได้เป็นพระสันตะปาปา

หนึ่งในกิจการแรกในฐานะพระสันตะปาปาเกรโกรี่ที่ทรงทำก็คือ เรียกร้องให้ชาวโรมันออกมารวมตัวกัน ตั้งเป็นขบวนแห่เพื่อขออภัยโทษบาปเจ็ดขบวนใหญ่ๆ รอบๆ บาสิลิกา Santa Maria Maggiore เพื่อวอนขอการอภัยโทษจากพระ และเพื่อขอให้หยุดโรคระบาด ตามตำนานเล่าว่าอัครเทวดามีคาเอลได้ปรากฏตนมาในเวลานั้นเหนือหลุมศพของจักรพรรดิเฮเดรียน (Hadrian ‘s tomb – เป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ใช้บรรจุศพ สร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 123-139 แต่ต่อมาเรียกชื่อว่า “ปราสาทของทูตสวรรค์” = Castel Sant ‘Angelo) และแสดงให้เห็นดาบของท่านที่อยู่ในฝัก ดังนั้นก็หมายถึงกาลอวสานของโรคระบาดที่น่ากลัวนั้น

พระสันตะปาปาเกรโกรี่ได้ปกครองพระศาสนจักรแค่เพียง 14 ปี แต่ผลงานของพระองค์ช่างมีความสำคัญ และยังคงมีผลสืบต่อไปอีกเนิ่นนาน กระทั่งว่า พระองค์ได้รับการจัดให้เป็นพระสันตะปาปาที่น่าจับตามองที่สุดในรอบหนึ่งพันปีแรก สมณสาส์นด้านการอภิบาลของท่านที่ชื่อว่า Liber Pastoralis Curae ได้รับความชื่นชมมาก ซึ่งแสดงออกถึงความคิดของพระองค์ในเรื่องบทบาทหน้าที่ของพระสังฆราช เนื้อหาของคำสอนนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับสถาบันพระสังฆราชคาทอลิกสืบต่อมาอีกหลายศตวรรษ พระองค์ยังคงดำรงชีวิตอย่างอดออมแบบฤาษี และยังทรงสวมชุดฤาษีตลอด ยกเว้นโอกาสที่เป็นทางการ พระองค์ทรงต่อสู้กับเรื่องการหาประโยชน์ทางศาสนา เรื่องการไม่รู้จักบังคับตนเอง เรื่องคำสอนผิดๆ และเรื่องความอยุติธรรม แต่ทรงส่งเสริมให้มีความสนใจอย่างกว้างขวางมากขึ้นในเรื่องพิธีกรรมของพระศาสนจักร และเรื่องดนตรีศักดิ์สิทธิ์ (บทเพลงเกรโกเรียนภาษาลาติน และการขับร้องบทเพลงเกรโกเรียน ก็ได้อานิสงส์มาจากพระสันตะปาปาพระองค์นี้)

ส่วนในด้านการบริหารสินทรัพย์ขนาดใหญ่ของพระศาสนจักร ซึ่งแผ่กระจายอยู่ทั่วอิตาลี อาฟริกา และเกาะซิซิลี นั้น พระสันตะปาปาเกรโกรี่ ผู้สืบตำแหน่งต่อจากนักบุญเปโตรในลำดับที่ 64 ได้ทรงถือคติว่า ทั้งพระองค์ และบรรดาผู้จัดการทรัพย์สินของพระองค์ เป็นเพียงผู้ดูแลผลประโยชน์ภายใต้ความรักของพระคริสตเจ้า เพื่อดูแลคนยากคนจน จึงทำงานด้านสงเคราะห์นี้ด้วยความรักอย่างไม่มีขอบเขต ในช่วงเวลานั้นที่กรุงโรมอดอยากมากแถมยังมีผู้อพยพที่หนีมาจากพวกลอมบาร์ด ได้ทรงช่วยเหลือผู้คนมากมายเหล่านั้น จนกระทั่งปี ค.ศ. 598 ถึงจะทรงสามารถทำสนธิสัญญากับผู้รุกรานเหล่านี้ที่เรียกว่าพวก Arian โดยที่พระสันตะปาปาได้ทรงเจรจากับพระราชินีคาทอลิกของพวกเขาที่ชื่อว่า Theodelinda สนธิสัญญาที่มีชื่อเสียงนี้ยังคงเก็บรักษาไว้ ทำให้เราได้ทราบถึงรายละเอียดต่างๆที่น่าสนใจ ในเวลาต่อมาได้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์กับจักรพรรดิแห่งกรุงคอนสแตนติโนเปิล พระสันตะปาปาเกรโกรี่ได้ประกาศว่าหน้าที่ของผู้มีอำนาจทางโลกจะต้องป้องกันเรื่อง “สันติสุขของความเชื่อ” (the peace of the faith) ทรงยืนยันว่า พระสันตะปาปาทรงมีอำนาจสูงสุดในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับพระศาสนจักร จะต้องไม่มีกฤษฎีกาของสภาสังคายนาหรือซีโน้ดใดถือว่าถูกต้องโดยปราศจากการรับรองของพระสันตะปาปา

พระองค์ทรงงานหนักอย่างร้อนรนในการเจรจากับพวกลอมบาร์ดในอิตาลี พวกโกธ(Goths)ในสเปน พวกนอกศาสนาในแคว้นโกล(Gaul) และได้ทรงส่งฤาษีคณะออกัสตินไป 40 คน เพื่อทำให้เกิดการกลับใจใหม่ในแคว้น Saxon England ในปี ค.ศ. 596 ยังทรงจัดการปลดปล่อยให้เป็นอิสระกับเด็กชายชาวอังกฤษที่เป็นทาส และให้การศึกษากับพวกเขา ซึ่งอาจจะได้กลับไปบ้านในเวลาต่อไปในฐานะเป็นมิชชันนารี

นักบุญเกรโกรี่ พระสันตะปาปาผู้สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 604 ได้รับความเคารพในฐานะที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของบรรดานักร้อง ผู้คงแก่เรียน(นักวิชาการ) และบรรดาครู

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

ฉลองวัดนักบุญออกัสติน ปางตุ้ม

ฉลองวัดนักบุญออกัสติน ปางตุ้ม

1 กันยายน 2024

ปกติเราระลึกถึงนักบุญออกัสติน ในวันที่ 28 สิงหาคม คุณพ่ออาทิตย์ มิ่งขวัญเจริญกิจ รักษาการเจ้าอาวาส จัดฉลองวัดระหว่างสัตบุรุษ
.
มีคุณพ่อบรูโน รอสซี่ และคุณพ่อสมพงษ์ กัมพลกุล พาเยาวชนจากศูนย์คาทอลิก เยาวชนจากศูนย์คาทอลิก บ้านกล้วย ซิสเตอร์คณะเมตตาธรรมแห่งนักบุญชานอังติต ตูเร 2 คน จากบ้านแม่ส้าน และสัตบุรุษจากบ้านต่างๆ รวมประมาณ 150 คน
.
09.30 น. สวดสายประคำ
10.00 น. พิธีมิสซา บิชอป วีระ อาภรณ์รัตน์ เป็นประธาน
.
นักศึกษา 4 คน จากวัด อ.เมือง มา นำขับร้องเพลงในมิสซา ชาวบ้าน และซิสเตอร์ทำอาหารมาเลี้ยงสัตบุรุษ ชีวิตชุมชนคาทอลิก สมควรมีฉลองวัด เพื่อเยาวชน และสัตบุรุษจะรู้จักกัน และเลียนแบบความดีขององค์อุปถัมภ์

(ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์)

29 สิงหาคม ระลึกถึงนักบุญยอห์น บัปติสต์ ถูกตัดศีรษะ

29 สิงหาคม ระลึกถึงนักบุญยอห์น บัปติสต์ ถูกตัดศีรษะ

(Beheading of St John the Baptist, memorial)

นักบุญยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ได้อาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดาร จนกระทั่งถึงวันที่ท่านเริ่มประกาศสอนเรื่องการกลับใจ เพื่อเตรียมประชาชนให้พร้อมรับเสด็จพระเมสสิยาห์ ผู้ที่หลั่งไหลมาหาท่านถูกท่านร้องขอให้ซื่อสัตย์และจริงใจในการทำตามหน้าที่ของแต่ละคนในโลกนี้อย่างดี และให้มารับพิธีล้างในแม่น้ำจอร์แดน เพื่อให้สำนึกผิดกลับใจจากบาป ในวันที่พระเยซูเสด็จไปเพื่อขอรับพิธีล้างจากท่านยอห์นนั้น พระบิดาได้ทรงแสดงองค์กับพระบุตรต่อหน้าโลกนี้ว่า “ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา เป็นที่โปรดปรานของเรา” (มธ 3 : 17)

นักบุญยอห์นได้มีลูกศิษย์มาติดตามมากมาย และท่านก็สอนพวกเขาให้ดำเนินชีวิตแห่งการภาวนา และจำศีลอดอาหาร ต่อมาเกิดเหตุการณ์หนึ่ง คือท่านยอห์นได้กล่าวตักเตือนตรงๆกับกษัตริย์เฮโรด อันทิปาส (King Herod Antipas) ที่รับนางเฮโรเดียส ซึ่งเป็นภรรยาของฟิลิป (ซึ่งเป็นพระอนุชาต่างมารดาของอันทิปาส) มาเป็นมเหสีของตน – “ไม่ถูกต้องที่พระองค์ทรงรับนางมาเป็นมเหสี” (มธ 14 : 4) ด้วยสาเหตุนี้ ท่านจึงถูกจับคุมขังไว้ในคุก นางเฮโรเดียสโกรธท่านยอห์นมาก และจะไม่มีวันยอมให้อภัยจนกว่าจะแก้แค้นให้สาสมได้ และแล้ววันที่นางรอคอยก็มาถึง เมื่อบุตรสาวของเธอที่ชื่อซาโลเมได้ออกมาเต้นรำในวันคล้ายวันประสูติของกษัตริย์เฮโรด เป็นที่พอพระทัยพระองค์และแขกรับเชิญเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงสัญญาและทรงสาบานจะประทานทุกสิ่งที่นางทูลขอ นางจึงทูลขอตามคำแนะนำที่ได้จากมารดาว่า “โปรดประทานศีรษะของยอห์น ผู้ทำพิธีล้างใส่ถาดมาให้หม่อมฉันที่นี่เถิด” กษัตริย์เฮโรดจึงทรงส่งคนไปตัดศีรษะยอห์นในคุก (มธ 14 : 1-12) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นราวหนึ่งปีก่อนที่พระเยซูเจ้าเองจะทรงรับพระทรมานของพระองค์ (a year before Jesus’ own Passion)

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

28 สิงหาคม
ระลึกถึงนักบุญออกัสติน บิชอปและนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักร

28 สิงหาคม
ระลึกถึงนักบุญออกัสติน พระสังฆราชและนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักร

(St Augustine, Bishop & Doctor, memorial)

Aurelius Augustine เกิดที่เมือง Tagaste (อยู่ในประเทศอัลจีเรียในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 354 เป็นบุตรชายคนโตในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 3 คน ของนักบุญโมนิกา กับบิดาชื่อ Patricius ซึ่งเป็นคนต่างศาสนา (แต่หลังจากแต่งงานกับนักบุญโมนิกาได้ 18 ปี ก็กลับใจมารับความเชื่อคาทอลิก และสิ้นชีพหลังจากนั้นไม่นาน) ท่านได้รับการศึกษาที่เมือง Carthage ช่วงวัยหนุ่มได้เจริญชีวิตอย่างเสเพล ได้อยู่กินกับหญิงคนหนึ่งอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นเวลาถึง 15 ปี นักบุญโมนิกาเป็นทุกข์ใจมาก และได้สวดภาวนาขอให้บุตรชายคนนี้ของเธอกลับใจ ที่สุดเมื่อนักบุญออกัสตินอายุ 33 ปี ท่านก็ได้กลับใจ โดยในที่สุดท่านตระหนักว่า โดยทางพระเยซูคริสตเจ้าเท่านั้นที่จะทรงทำให้ท่านพบหนทางไปสู่ความจริง และความรอดพ้นตลอดนิรันดร์ เมื่อได้กลับใจแล้วท่านพบสันติสุขกับพระเจ้า กับตัวท่านเอง และกับโลก จึงเริ่มดำเนินชีวิตแบบนักบุญ มารดาของท่านและลูกชายตามธรรมชาติของท่าน(บุตรนอกกฎหมาย) ได้สิ้นชีพไปทั้งคู่ไม่นานหลังจากที่ท่านได้รับศีลล้างบาป ท่านจึงเดินทางกลับไปบ้านเกิดที่เมือง Tagaste ที่นั่นท่านได้สร้างอารามฤาษีสำหรับท่านเองและบรรดาผู้ติดตาม และดำเนินชีวิตอย่างยากจนในการแพร่ธรรม ในคำภาวนา ในการศึกษา และทำกิจการกุศลช่วยคนยากจน หลังนั้น 3 ปี โดยผ่านเสียงเรียกร้องอย่างแพร่หลายท่านได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์ และพระสังฆราชวาเลรีอุสยังขอร้องให้ท่านเทศนาแก่ประชาชน แม้ว่าในช่วงเวลานั้นที่อาฟริกาการเทศน์เช่นนี้เป็นเอกสิทธิ์ที่สงวนไว้สำหรับพระสังฆราชเท่านั้น

เมื่ออายุได้ 42 ปี ท่านได้รับอภิเษกเป็นพระสังฆราชแห่งเมืองฮิปโป (Hippo) ท่านได้ทำงานอย่างขยันขันแข็งในตำแหน่งนี้ต่อไปอีก 34 ปี ท่านได้ทำให้พระศาสนจักรทั่วทั้งอาฟริกามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง โดยการเป็นผู้ปกครองระดับสูงของชีวิตแบบสันโดษ ท่านดำเนินชีวิตแบบหมู่คณะที่เคร่งครัดกับบรรดาพระสงฆ์ของท่าน ด้วยคำสอนที่น่าประทับใจและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ท่านได้ให้ข้อพิสูจน์ว่าคำสอนที่ทรงอิทธิพลจำนวนมากของพวกเฮเรติ๊กนั้นไม่เป็นความจริง ท่านทำให้ข้อความเชื่อที่แท้จริงมีพลังเข้มแข็งและเที่ยงตรงต่อความจริง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากความรักของพระเจ้าที่เพิ่มพูนขึ้นเสมอ และเลิกคิดถึงตนเอง แต่กลับขวนขวายทำในสิ่งที่ดีทางฝ่ายจิตต่อเพื่อนพี่น้อง – “พระเจ้าจะไม่ทรงทอดทิ้งผู้ที่ประมาทเลินเล่อ” “ใช่ ทรงลบล้างความผิด แต่ทรงรักผู้ที่ทำผิด” ท่านรู้ดีว่าความเกลียดชังและความมุ่งร้ายจะทำให้มนุษย์มีใจกระด้างมากขึ้น แทนที่จะเอาชนะใจเขาได้ ความจำในวัยหนุ่มที่ล้มเหลวของท่านทำให้ท่านสุภาพถ่อมตนเสมอ – “โปรดรับดวงใจข้าพเจ้าด้วยเถิด โอ้องค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะข้าพเจ้าไม่สามารถให้มันแด่พระองค์ได้ โปรดรักษาดวงใจข้าพเจ้าไว้เถิด เพราะข้าพเจ้าไม่อาจเก็บรักษาไว้ให้พระองค์ได้ โปรดส่งกางเขนใดๆ ก็ได้มาให้ข้าพเจ้า เพื่อจะทำให้ข้าพเจ้ายอมขึ้นอยู่กับกางเขนของพระองค์ และโปรดช่วยข้าพเจ้าให้รอดด้วยเทอญ”

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นักบุญออกัสตินเป็นหนึ่งในนักคิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ในฐานะที่เป็นนักปรัชญาและนักเทววิทยา ท่านเป็นผู้ที่โดดเด่นในท่ามกลางบรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักร สำหรับอิทธิพลที่ท่านแผ่ออกไปและยังคงแผ่กว้างต่อไป เฉพาะที่มีชื่อเสียงคือเรื่องที่ท่านอธิบายเกี่ยวกับพระหรรษทาน ที่ทำให้เกิดการกลับคืนดีระหว่างความเป็นเจ้านายสูงสุดของพระ กับน้ำใจอิสระของมนุษย์ หนังสือ “คำสารภาพ” ของท่านเป็นอัตชีวประวัติที่มีชื่อเสียงของโลก เป็นความจำของการกลับใจอย่างลึกซึ้งของท่าน หนังสือ “The City of God” อธิบายการทำงานของพระผู้สร้างในประวัติศาสตร์ นักบุญออกัสตินสิ้นชีพด้วยพิษไข้ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 430 ในขณะที่ผู้รุกรานพวก Vandal บุกเข้ายึดเมือง Hippo ท่านได้รับการเทิดเกียรติเป็นองค์อุปถัมภ์ของนักเทววิทยา, ช่างพิมพ์ และผู้ผลิตเบียร์ รวมทั้งผู้ที่มีอาการเจ็บตามักวอนขอให้ท่านช่วยเหลือ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 พระธาตุของท่านอยู่ในเมือง Pavia ซึ่งได้นำมาจากพวกชาลาเซนโดยแลกด้วยเงินจำนวนมากจากกษัตริย์ Luitprand ของ แคว้น Lombard

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

27 สิงหาคม
ระลึกถึงนักบุญโมนิกา

27 สิงหาคม ระลึกถึงนักบุญโมนิกา

(St Monica, memorial)

นักบุญโมนิกา ซึ่งเป็นคริสตชนคนหนึ่ง ได้แต่งงานเมื่ออายุ 20 ปีกับปาตริซีอุส (Patricius) คนต่างศาสนา เขารับราชการที่เมือง Tagaste (ทางเหนือของอาฟริกา) เนื่องจากสามีเป็นคนโมโหร้ายและมีนิสัยเกรี้ยวกราด จึงทำให้นักบุญได้รับความทุกข์ยากลำบากเป็นอันมาก ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 3 คน การจะให้ลูกได้รับการศึกษาแบบคริสตชนก็ค่อนข้างลำบากมาก อย่างไรก็ตาม หลังแต่งงานได้ 18 ปี ปาตริซีอุสก็กลับใจมารับความเชื่อ และได้สิ้นชีพไม่นานหลังจากนั้น

ลูกคนโตสุดที่ชื่อว่า ออกัสติน (Augustine) เป็นลูกที่ทำให้เธอหนักใจที่สุด เพราะในช่วงที่เขาศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่เมืองคาร์เธจ (Carthage) เขาได้ไปหลงเชื่อคำสอนของเฮเรติ๊ก Manichaean และในวัยหนุ่มก็ดำเนินชีวิตเสเพล โดยไปมีความสัมพันธ์โดยมิชอบด้วยกฎหมายกับผู้หญิงคนหนึ่งเป็นเวลาถึง 15 ปี นักบุญโมนิกาพยายามชักชวนพระสังฆราชองค์หนึ่งที่มาเยี่ยมเยียน ให้ช่วยดึงลูกของเธอออกมาจากความหลงผิดของพวก Manichaean เพื่อกลับมาสู่ความเชื่อที่แท้จริง แต่ไม่เป็นผล พระสังฆราชคิดว่าเวลาที่สุกงอมยังมาไม่ถึง แต่ก็ได้พูดปลอบใจให้เธอใจชื้นขึ้นมาบ้างด้วยคำยืนยันที่ว่า “เป็นไปไม่ได้ที่บุตรชายที่ทำให้เธอเสียน้ำตาไปมากมายเช่นนี้จะพินาศไป”

เมื่อออกัสตินตัดสินใจจะสอนเรื่องวาทศิลป์ที่กรุงโรม โมนิกาตั้งใจจะตามเขาไปด้วย แต่เขาใช้กลอุบายหลอกเธอและเดินทางไปกรุงโรมโดยทางเรือแต่เพียงลำพัง จากโรมเขาย้ายไปมิลาน ซึ่งเขาได้เลื่อนเป็นศาสตราจารย์ โมนิกาถึงตามเขาไปที่นั่น และเธอก็เป็นเพื่อนกับพระสังฆราชอัมโบรสผู้ยิ่งใหญ่ ด้วยความช่วยเหลือของนักบุญอัมโบรส พระสังฆราชองค์นี้ซึ่งโดดเด่นในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ จึงทำให้ออกัสตินกลับเข้ามาในพระศาสนจักรอีกในวันปัสกาปี ค.ศ. 387

“ลูกรัก แม่มีเพียงความปรารถนาเดียวในชีวิต นั่นคือ ได้เห็นลูกมาเป็นคาทอลิก” นี่เป็นคำพูดของโมนิกาที่ครั้งหนึ่งเคยพูดกับออกัสติน และก่อนที่เธอจะตาย ซึ่งเวลานั้นออกัสตินได้กลับใจมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เธอพูดว่า “พระเจ้าได้ทรงกระทำมากกว่าที่แม่จะกล้าหวังไว้ นั่นคือพระองค์ได้ทรงสอนลูกให้ยอมละทิ้งทุกอย่างที่โลกสามารถให้ได้ เพื่อให้ลูกได้ติดตามพระองค์ไป จะฝังร่างกายของแม่ไว้ที่ไหนก็ได้ ขออย่างเดียวให้ลูกระลึกถึงแม่เสมอเมื่ออยู่ ณ พระแท่นบูชาของพระเจ้า”

และเมื่อโมนิกาและออกัสตินอยู่ที่เมืองออสตีอา (Ostia) ซึ่งเป็นเมืองท่าชายฝั่งของกรุงโรม เพื่อจะแล่นเรือกลับไปเมืองคาร์เธจ เธอก็ได้สิ้นใจในอ้อมแขนของออกัสติน ขณะที่มีอายุได้ 56 ปี

ภายใต้การอุปถัมภ์ค้ำจุนของนักบุญโมนิกา ซึ่งได้รับการนับถือว่าเป็นผู้ที่รู้ดีว่าจะเอาชนะความชั่วด้วยความดีอย่างไร ได้มีการก่อตั้งสมาคมของบรรดาแม่ที่เป็นคริสตชนที่กรุงปารีสในศตวรรษที่ 19 มีจุดมุ่งหมายในการภาวนาให้กัน เมื่อคนใดก็ตามที่มีลูกชาย หรือสามีที่ออกนอกลู่นอกทางไป

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

ฉลองวัดแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ บ้านแม่มิงค์ อ.แม่แจ่ม

ฉลองวัดแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ บ้านแม่มิงค์ อ.แม่แจ่ม

24 สิงหาคม 2024 เวลา 10.00 น.

คุณพ่ออนุวัฒน์ อาศัยรัตน์ คณะพระมหาไถ่ เป็นเจ้าอาวาส และคุณพ่อธนกฤต มหาลาภชัย ผู้ช่วย จัดฉลองวัด มีชาวบ้านมาร่วมฉลอง ประมาณ 400 คน ในมิสซามีโปรดศีลกำลังแก่ยาวชน และผู้ใหญ่ ประมาณ 30 คน
พระสงฆ์ส่วนใหญ่ เป็นสมาชิก คณะพระมหาไถ่ มีซิสเตอร์ แม่ปอน 3 คน เซอร์เซนต์ปอล 3 คน และคณะนักบุญยอแซฟแห่งการประจักษ์ 2 คน
.
เวลา 9.15-9.40 น. พระสังฆราช สนทนากับผู้รับศีลกำลัง
.
9.45 น. นักเรียนจากโรงเรียนบ้านทุ่งยาว รำต้อนรับ 1 เพลง หมู่บ้านนี้ เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1953-1955 ปัจจุบันมีสัตบุรุษ 70 ครอบครัว
.
ปี 2025 น่าจะฉลอง 70 ปีของวัด

(ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์)

24 สิงหาคม ฉลองนักบุญบาร์โธโลมิว อัครสาวก

24 สิงหาคม ฉลองนักบุญบาร์โธโลมิว อัครสาวก

(St Bartholomew, Apostle, feast.)

นักบุญบาร์โธโลมิว คือคนเดียวกับ “นาธานาเอล” ที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงเขาว่า “นี่คือชาวอิสราเอลแท้ เป็นคนไม่มีมารยา” ตอนที่ฟิลิปนำท่านมาแนะนำตัวต่อพระเยซูเจ้านั่นเอง (ยน 1:47) ในความเป็นจริงแล้วเราไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับอัครสาวกองค์นี้เลย นอกจากเชื่อกันว่าท่านมาจากเมืองคานาในแคว้นกาลิลี และได้รับเครดิตว่าเป็นคนแรกที่ยอมรับพระเยซูเจ้าในฐานะที่ทรงเป็น เมื่อท่านประกาศว่า “รับบี พระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้า พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ของชนชาติอิสราเอล” (ยน 1:49)

ท่านได้ไปเทศนาที่แคว้น Arabia ตามธรรมประเพณีเล่าว่าท่านได้เป็นมรณสักขีโดยการถูกถลกหนังทั้งๆที่ยังมีชีวิตที่ Armenia ก่อนที่จะถูกตัดศีรษะ เมื่อปันเธนุส (Pantaenus) ซึ่งเป็นอาจารย์ของโอริเจน (Origen) ได้ไปเป็นมิชชันนารีที่ประเทศอินเดียในศตวรรษที่ 2 เขาได้รับทราบว่านักบุญบาร์โธโลมิวได้เคยมาที่นั่นก่อนหน้าเขา และได้นำเสนอพระวรสารของนักบุญมัทธิวเป็นภาษาฮีบรู ซึ่งพระศาสนจักรที่อินเดียได้เก็บรักษาไว้ พระธาตุของนักบุญบาร์โธโลมิว ได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดนักบุญบาร์โธโลมิว ที่อยู่บนเกาะกลางแม่น้ำไทเบอร์ (St Bartholomew-on-the-Tiber), กรุงโรม มากว่าพันปีมาแล้ว และท่านเป็นองค์อุปถัมภ์ของช่างปูน ช่างฟอกหนัง และคนขายเนื้อ และจะถูกวอนขอเพื่อต่อสู้กับโรคชักกระตุก

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

วันที่ 23 สิงหาคม นักบุญโรซา ชาวลิมา พรหมจารี
(St. Rose of Lima, Virgin)

วันที่ 23 สิงหาคม นักบุญโรซา ชาวลิมา พรหมจารี

(St. Rose of Lima, Virgin)

อิซาเบลลา เดอ ฟลอเรซ คือชื่อของนักบุญองค์นี้ตอนที่ท่านได้รับศีลล้างบาป ท่านได้ถือกำเนิดที่กรุงลิมา ประเทศเปรู เมื่อปี ค.ศ. 1586 จากพ่อแม่ชาวเปอร์โตริโกที่ยากจน ท่านได้รับชื่อว่า Rose Maria เมื่อได้รับศีลกำลังขณะมีอายุได้ 11 ปี โดยที่ท่านมีนักบุญกาธารีนาแห่งซีเอนาเป็นแบบอย่าง ซึ่งนำให้ท่านดำเนินชีวิตอย่างเคร่งครัดด้วยจิตตารมณ์ของการภาวนา การจำศีลอดอาหาร และการทรมานกายของตนอย่างหนัก และได้ช่วยทำงานในครอบครัวอย่างขยันขันแข็งในงานเย็บผ้าปักผ้าลูกไม้อย่างประณีต

ภายในสวนหลังบ้าน พี่ชายของท่านได้ช่วยท่านสร้างห้องเล็กๆขึ้นมาโดยก่อด้วยก้อนอิฐ ซึ่งเป็นที่ที่ท่านชอบหลบมาภาวนา และมาพักผ่อนสั้นๆ ตอนกลางคืนโดยนอนบนกล่องที่เก็บของหลังจากไปทำงานช่วยเหลือคนยากจนรอบๆนั้นมาในตอนกลางวัน นอกจากนี้ ท่านชอบใช้เวลายาวนานเป็นชั่วโมงๆในการเฝ้าศีล และได้รับอนุมัติจากคุณพ่อผู้ฟังแก้บาปของท่านให้ได้รับศีลมหาสนิททุกๆวัน

แรกๆครอบครัวของท่านไม่เห็นด้วยกับการถือปฏิบัติของท่านเช่นนี้ และหัวเราะเยาะด้วย ต้องใช้เวลาเป็นสิบปีถึงได้รับการยอมรับ ท่านมีความปรารถนาอย่างยิ่งมานานแล้วที่จะได้เป็นนักบวช ในที่สุดท่านก็ได้เป็นสมใจในวัย 20 ปี โดยได้เข้าเป็นสมาชิกคณะโดมินิกันชั้นสาม ได้รับชื่อเป็นนักบวชว่า Sister Rose of St Mary เมื่อเป็นนักบวชสมใจแล้ว ท่านได้ทำกิจใช้โทษบาปเพิ่มเป็นสองเท่า รับประทานอาหารน้อยมาก มีโซ่เหล็กคล้องรอบๆเอว และมีโลหะแหลมที่ทิ่มแทงให้เจ็บซ่อนอยู่ในผมของท่าน

องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราได้แสดงพระองค์ให้แก่ท่านมากมายหลายโอกาสด้วยกัน ครั้งหนึ่ง เมื่อท่านมีชัยชนะต่อการประจญของปีศาจต่อสู้กับความบริสุทธิ์และความเชื่อที่มั่นคงแล้ว ท่านได้เข้าฌานนานเป็นชั่วโมงๆ ได้พบกับสถานภาพทางวิญญาณที่เปี่ยมด้วยสันติสุขและความชื่นชมยินดี นอกจากนี้ท่านยังได้เสนอการทำพลีกรรมทั้งหมดของท่านให้แด่พระองค์ เพื่อเป็นการชดเชยบาปและความชั่วช้าต่างๆของมนุษย์ รวมทั้งการนับถือพระเท็จเทียม และเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานของบรรดาผู้ที่อยู่ในไฟชำระด้วย

ท่านได้สิ้นชีพเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ.1617 เมื่อมีอายุได้เพียง 31 ปีเท่านั้น หลังจากความตายของท่านก็มีอัศจรรย์ต่างๆมากมายตามมา ได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศีวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ.1668 โดยพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 9 และที่สุดได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ.1671 โดยพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 10 – ถือเป็นนักบุญที่เกิดในทวีปอเมริกาเป็นคนแรก – และได้รับการประกาศให้เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของลาตินอเมริกา (Patron Saint of Latin America) และประเทศฟิลิปปินส์

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

วันที่ 21 สิงหาคมระลึกถึงนักบุญปีโอที่ 10 พระสันตะปาปา

วันที่ 21 สิงหาคม ระลึกถึงนักบุญปีโอที่ 10 พระสันตะปาปา

(St Pius X, Pope, memorial)

”ฟื้นฟูทุกสิ่งในคริสตเจ้า” นี่คือคติพจน์ของผู้สืบตำแหน่งนักบุญเปโตร องค์ที่ 258 องค์นี้ เพื่อพระคริสต์เจ้าจะทรงเป็นทุกสิ่งสำหรับทุกคน และความพยายามของพระองค์ที่ทรงกระทำการนี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เพราะไม่มีด้านใดเลยของพระศาสนจักรที่พระองค์มิได้ทรงเข้าไปเกี่ยวข้อง เข้าไปแยกแยะ เข้าไปนำทาง เข้าไปตัดสินใจ หรือเข้าไปยกระดับขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นด้านพิธีกรรม ศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ คำสอน บทเทศน์ การศึกษา พระคัมภีร์ กฎหมายพระศาสนจักร ดนตรีและศิลปะศักดิ์สิทธิ์ งานสังคมสงเคราะห์ การอบรมพระสงฆ์ และทุกๆเรื่องที่เกี่ยวกับพระศาสนจักร

เมื่อแรกเกิดนามว่า จูเซปเป เมลกิโอเร ซาร์โต (Giuseppe Melchiore Sarto) เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1835 ที่ ริเอเซ (Riese) อยู่ในสังฆมณฑล เทรวิโซ (Treviso) ประเทศอิตาลี พระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ทรงเป็นผู้ที่โดดเด่นในเรื่องความเรียบง่าย และความสุภาพ แต่ก็มีความมั่นคงและกล้าตัดสินใจ ทรงมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีศีลธรรมขั้นสูง และมีความศรัทธาอย่างแรงกล้า ตั้งแต่ในวัยหนุ่ม ในช่วงที่เป็นเณรอยู่ที่เมืองปาดัว (Padua) ได้รับคำชมว่า “เรื่องระเบียบวินัยไม่เป็นสองรองใคร มีความสามารถสูงมาก มีความจำเป็นเลิศ และน่าจะมีอนาคตที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง”

ได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1858 หลังจากบวชเป็นพระสงฆ์ได้ 9 ปี ได้เป็นเจ้าอาวาสที่ซัลซาโน (Salzano) ความมุ่งมั่นของท่านที่จะเป็น “ทุกสิ่งสำหรับทุกคน” ก็เริ่มเป็นผลสำหรับสัตบุรุษทุกๆคน ด้วยการให้บริการศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ การเทศน์สอนที่เรียบง่ายทว่าทรงพลัง การไปเยี่ยมคนเจ็บไข้ได้ป่วย ทั้งคนป่วยที่นอนติดเตียง และคนป่วยทางจิตใจในที่ฟังแก้บาป ท่านดำรงชีวิตในความเป็นสงฆ์อย่างเต็มที่ งานโปรดของท่านคือการสอนความเชื่อให้กับเด็กเล็กๆ โดยมีความตระหนักว่า “โดยผ่านทางคำสอน เนื้อดินจะถูกจัดเตรียมไว้สำหรับเมล็ดพันธุ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า”

ในวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1884 คุณพ่อ ซาร์โต (Fr Sarto) ได้รับการบวชเป็นพระสังฆราชแห่ง Mantua และเนื่องจากความสำเร็จมากมายในฐานะเป็นนายชุมพาบาลฝ่ายจิต และเป็นผู้ปฏิรูปบรรดาสมณะ ทำให้ท่านได้รับตำแหน่งพระคาร์ดินัล ในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1893 และได้รับตำแหน่งพระสังฆอัยกาแห่งเวนิส (Patriarchate of Venice) ในเวลาสามวันต่อมา เป็นที่น่าสังเกตถึงเรื่องผลงานด้านสังคมสังเคราะห์ของท่าน พระคาร์ดินัลผู้เป็นลูกชาวไร่ชาวนาผู้นี้ได้เอาใจใส่อย่างยิ่งยวดต่อชะตากรรมของชนชั้นแรงงานซึ่งได้แก่ พวกที่เป็นชาวไร่ชาวนา และพวกชนชั้นกรรมาชีพ และท่านได้ช่วยฉุดรั้งคนงานจำนวนมากให้ออกห่างจากสหภาพสังคมนิยมที่ไม่นับถือพระเจ้า

เมื่อสมณสมัยที่ยาวนานและที่บังเกิดผลดีของพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 (Pope Leo XIII) จบสิ้นลงจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1903 (พระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 ทรงอยู่ในสมณสมัยระหว่างปี ค.ศ. 1878 – 1903 = 25 ปี ด้วยวัย 93 ปี ทรงเป็นพระสันตะปาปาที่อยู่ในสมณสมัยที่อายุมากที่สุด ยกเว้นพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 แต่ทรงเป็นพระสันตะปาปากิตติคุณ = คือทรงลาเกษียณจากตำแหน่งแล้ว – ผู้แปล) พระคาร์ดินัลซาร์โตก็ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาองค์ต่อมาในวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1903 การสวมมงกุฎรับตำแหน่งนี้ถูกจัดขึ้นที่มหาวิหารนักบุญเปโตรในอีกห้าวันต่อมา

ขณะที่ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาทรงตระหนักดีว่าการได้รับพลังมหาศาล รวมทั้งท่าทีที่สุภาพอ่อนหวานที่สร้างความอบอุ่นให้กับประชาชน มาจากพระผู้เป็นแหล่งกำเนิดของพระพรทุกประการ นั่นคือ จากจิตตารมณ์ของพระเยซูเจ้านั่นเอง นอกจากมิติต่างๆ ทุกๆด้านของพระศาสนจักรที่พระองค์ได้ทรงเข้าไปฟื้นฟู ปรับเปลี่ยน ส่งเสริม เพิ่มเติม ดังที่กล่าวมาในเบื้องต้นแล้ว ยังทรงส่งเสริมให้รับศีลมหาสนิทบ่อยๆ และแม้แต่ให้รับทุกวันสำหรับทุกคนที่อยู่ในสถานะพระหรรษทาน และทรงริเริ่มให้เด็กๆ ที่ถึงอายุรู้เหตุผลแล้วได้รับอนุญาตให้รับศีลได้ด้วยสิทธิพิเศษเดียวกันนี้ ในสมณประกาศ 14 ฉบับ ที่ออกมาเป็นชุด พระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ได้แสดงให้เห็นเด่นชัดที่จะขจัดหรือทำลายลัทธินิยมสมัยใหม่ที่กำลังแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว เพราะแก่นแท้ของลัทธินิยมนี้คือการปฏิเสธพระฤทธานุภาพในการปกครองขององค์พระผู้เป็นเจ้า และปฏิเสธระบบระเบียบเหนือธรรมชาติด้วย

พระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ทรงตระหนักดีว่า การอุทิศพระองค์เองเป็นพื้นฐานของความศักดิ์สิทธิ์ ใครๆ ก็สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนถึงการดำรงชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ แต่เป็นเพราะความเกลียดชังกันของชาวโลกในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ทำให้เศร้าพระทัยจนถึงกับสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1914 พระองค์ทรงได้รับการประกาศแต่งตั้งเป็นบุญราศีในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1951 และได้รับการประกาศแต่งตั้งเป็นนักบุญในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1954 โดยพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ทั้งใน 2 กรณี

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)