4 ตุลาคม ระลึกถึงนักบุญฟรังซิส แห่งอัสซีซี

4 ตุลาคม ระลึกถึงนักบุญฟรังซิส แห่งอัสซีซี

[St. Francis of Assisi (C. 1181 - 1226)]

นักบุญฟรังซิส เกิดที่เมืองอัสซีซี ประเทศอิตาลี ในปี ค.ศ.1181 (หรือ 1182) ครอบครัวมีฐานะมั่งคั่ง และเจริญชีวิตอย่างหรูหรา จึงได้รับความสะดวกสบายทุกอย่าง แรกเกิดได้รับชื่อทางคริสตชนว่า โจวานนี (Giovanni) โดยแม่ซึ่งชื่อว่า โจวานนา (Giovanna) เป็นผู้ตั้งให้ แต่ได้รับการตั้งชื่อใหม่เป็น ฟรานเชสโก (Francesco) โดยพ่อที่ร่ำรวยของท่านที่ชื่อว่า ปิเอโตร ดิ แบร์นาร์โดเน (Pietro di Bernardone) ผู้ซึ่งในเวลาที่ฟรังซิสเกิดมา เขากำลังเดินทางไปทำธุรกิจอยู่ที่อื่น

เหมือนกับหนุ่มๆ ทั่วไปในสมัยนั้น ฟรังซิสเป็นหนุ่มเจ้าสำราญที่มีชื่อเสียง แต่ขณะเดียวกันพวกหนุ่มๆ ก็อยากเป็นอัศวินตามความนิยมของคนในสมัยนั้น และฟรังซิสก็ได้เป็นสมใจ คือในปี ค.ศ. 1202 เมืองอัสซีซีทำสงครามกับเมืองเปรูจา (Perugia) ที่อยู่ใกล้เคียง ท่านได้สวมชุดอัศวินและไปทำสงครามในครั้งนี้ ผลคือท่านถูกจับ และถูกนำตัวไปขังคุกไว้เป็นเวลา 1 ปี หลังจากถูกปล่อยตัวออกมา และหลังจากที่ท่านหายจากการเจ็บป่วยขั้นรุนแรง ท่านพยายามจะเข้าร่วมรบอีกในปลายปี ค.ศ.1205 โดยเข้าร่วมกับกองกำลังของพระสันตะปาปาต่อสู้กับกองกำลังของพระเจ้าเฟรเดริคที่ 2 (Frederick II) ที่เมือง Apulia แต่ก็เป็นความพยายามที่สูญเปล่าเมื่อภาพนิมิตที่เมือง Spoleto ได้บอกให้ท่านกลับไปยังเมืองอัสซีซี และจากที่นั่น ให้รอคอยกระแสเรียกของการเป็นอัศวินชนิดใหม่ ซึ่งจะทำให้ท่าน “ได้รับใช้พระอาจารย์เจ้ามากกว่ามนุษย์” – นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับใจ

– ในการปลีกวิเวกและภาวนา ท่านแสวงหาที่จะพบพระประสงค์ของพระเจ้าที่มีสำหรับตัวท่าน การค้นพบใหม่เรื่องของคนยากจนและเจ็บป่วยมาถึงจุดสูงสุดตอนที่ท่านลงจากหลังม้าแล้วให้ทานกับคนโรคเรื้อนตามทาง และมหัศจรรย์ยิ่งไปกว่านั้น ท่านดึงคนโรคเรื้อนที่น่ารังเกียจเข้ามาโอบกอด เหตุการณ์นั้น จากคำของท่านเองได้เปลี่ยนจาก “ความขมขื่นไปสู่ความอ่อนหวาน”

– ต่อมาได้รับคำสั่งที่ออกมาจากกางเขนวัดซานดามิอาโนให้ซ่อมแซมวัดที่เหลือแต่ซากปรักหักพัง แรกๆ ท่านใช้เงินทุนจากทางบ้านมาซ่อมแซม แต่พ่อของท่านไม่พอใจ ท่านจึงสละทุกสิ่ง และคืนทุกอย่างให้กับผู้เป็นพ่อ จากหนุ่มร่ำรวยกลายเป็นขอทานชั่วข้ามคืน ท่านทำเช่นนี้เพื่อเห็นแก่พระอาจารย์เจ้าผู้ยิ่งใหญ่ของท่านนั่นเอง

– ต่อมา แม้ท่านเป็นเพียงฆราวาส แต่ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากพระวรสาร มธ 10 : 5-14 จึงเริ่มเดินทางประกาศพระวาจาแก่ทุกคน การดำรงชีวิตเรียบง่าย และคำสอนของท่านดึงดูดชายหนุ่มมากมายให้มาติดตาม วันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1209 ท่านก็ตั้งเป็นคณะนักบวช “ภราดาน้อย” ขึ้นมา มีคติพจน์คือ “ติดตามคำสั่งสอนขององค์พระเยซูคริสตเจ้าของเรา และเดินตามรอยพระบาทของพระองค์” โดยมีพระนางมารีย์ ราชินีแห่งนิกรเทวดาเป็นผู้นำทางและปกป้อง ต่อมาพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ทรงรับรองคณะที่ตั้งใหม่นี้

– บรรดาภราดา แต่งชุดสีน้ำตาล เดินทางจากเหนือสู่ใต้ของอิตาลีและนอกดินแดนอิตาลีด้วย ได้ทำการเทศน์สอนด้วยความร้อนรนและศรัทธาเข้มแข็ง จึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากมาย ในปี ค.ศ.1219 ซึ่งมีการประชุมของคณะ ปรากฏว่ามีภราดาราว 5,000 คนเข้าร่วม

– ฟรังซิส ปฏิเสธอย่างสุภาพไม่รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ ด้วยความเคารพต่อความเป็นสงฆ์ ซึ่งเป็นศักดิ์ศรีที่ท่านถือว่าตนเองไม่คู่ควร

– ฟรังซิส เป็นคนแรกที่คิดและทำถ้ำพระกุมารขึ้นมาเป็นครั้งแรก ในการเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสในปี ค.ศ.1223

– ในปี ค.ศ.1224 ในวันฉลองเทิดทูนกางเขน ในขณะที่ท่านรำพึงถึงเรื่องพระทรมานของพระคริสตเจ้า ท่านได้รับพระพรให้เกิดตราประทับเป็นรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ทั้งห้าขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขนบนตัวของท่าน นี่ถือว่าเป็นการบันทึกครั้งแรกเกี่ยวกับเรื่องรอยประทับของรอยแผลศักดิ์สิทธิ์

– ฟรังซิสพิจารณาว่า ธรรมชาติเป็นกระจกส่องของพระเจ้า จึงเขียนบทเพลงสดุดีขึ้นมา ชื่อว่า Brother Sun และกลายเป็นบทเพลงสดุดีที่มีชื่อเสียงของท่าน

– ท่านได้รับความยากลำบากจากโรคภัยเกี่ยวกับตา และร่างของท่านมีอาการบวมน้ำ แต่ท่านสวดด้วยความอดทนว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์สำหรับความเจ็บปวดที่ข้าพเจ้าได้รับ”

– ความหมายของความยากจน ซึ่งเป็นพื้นฐานคุณธรรมของฟรังซิสไม่เพียงปรากฏแต่เพียงภายนอกว่ายากจนเท่านั้น แต่ท่านสละตัวตนจนหมดสิ้นเหมือนพระคริสตเจ้าที่ท่านได้ค้นพบใน ฟป 2 : 7 และจะเห็นชัดเจนมากขึ้น ตอนกำลังจะตายท่านได้ขอและได้รับอนุญาตจากอธิการของท่านให้ตายอย่างเปลือยเปล่าบนพื้นดินว่างเปล่า ในแบบเดียวกับองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระอาจารย์เจ้าของท่าน คือพระเยซูคริสตเจ้าที่ท่านรักนั่นเอง

– (จากประวัติของนักบุญกลารา พรหมจารี ที่เราระลึกถึงวันที่ 11 สิงหาคม ซึ่งเป็นผู้ติดตามนักบุญฟรังซิสและจิตตารมณ์ของท่านอย่างใกล้ชิด ได้เล่าว่าก่อนที่นักบุญกลาราจะสิ้นใจ เพื่อนรุ่นแรกๆสามคนของนักบุญฟรังซิส ได้อ่านบทพระทรมานของพระเยซูเจ้าตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นดังๆให้ท่านได้ฟัง เหมือนที่พวกเขาได้เคยทำเช่นนี้เมื่อ 27 ปีก่อนหน้านั้นให้นักบุญฟรังซิสได้ฟังก่อนสิ้นชีพที่ Portiuncula ที่เล่ามานี้เพื่อจะบอกว่า ก่อนที่นักบุญฟรังซิสจะสิ้นชีพ ท่านได้ขอให้เพื่อนๆสามคนแรกที่ติดตามท่านอ่านพระทรมานของพระเยซูเจ้าที่เล่าโดยนักบุญยอห์นให้ฟังก่อนจากโลกนี้ไป)

– วันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1226 ฟรังซิสสิ้นลมหายใจที่ Portiuncula (=”little portion” อยู่ในวัดที่ชื่อ พระนางมารีย์แห่งนิกรเทวดา) ซึ่งเป็นที่ที่ท่านได้รับการเผยแสดงถึงพันธกิจของท่าน และเป็นที่กำเนิดของคณะภราดาของท่าน ร่างของท่านแต่แรกฝังไว้ที่วัด ซาน จอร์โจ ที่อัสซีซี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม แต่ต่อมาเคลื่อนมาไว้ที่บาสิลิกาที่ตั้งเป็นเกียรติแก่ท่าน เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1230

– ได้รับการประกาศเป็นนักบุญวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ.1228 โดยพระสันตะปาปา เกรโกรี ที่ 9

– พระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 15 เรียกท่านว่า “เป็นภาพพจน์ที่ครบสมบูรณ์ที่สุดของพระคริสต์ที่เคยมีมา” (the “most perfect image of Christ” that ever lived!)

– ในปี ค.ศ.1916 ท่านได้ถูกประกาศให้เป็นองค์อุปถัมภ์ของกิจการคาทอลิก

– ในปี ค.ศ.1926 พระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 11 ขนานนามท่านว่าเป็น “พระคริสตเจ้าอีกองค์หนึ่ง” (alter Christus = another Christ)

– ใน Encyclopaedia Britannica กล่าวเกี่ยวกับท่านว่า “บางทีไม่มีใครเลยในประวัติศาสตร์ที่จะปฏิบัติตนเองอย่างจริงจังเช่นนี้ เช่นที่ฟรังซิสได้ทำ คือเลียนแบบชีวิตของพระคริสตเจ้า และปฏิบัติงานของพระคริสต์จนสำเร็จในแบบที่พระคริสต์เองทรงกระทำ นี่คือกุญแจแห่งคุณลักษณะและจิตตารมณ์ของนักบุญ ฟรังซิส ถ้าละทิ้งแง่มุมนี้จะทำให้ไม่พบดุลภาพของนักบุญที่เป็นผู้รักธรรมชาติ นักสังคมสงเคราะห์ นักเทศน์ที่เดินทางไปทั่ว และเป็นผู้รักความยากจน”

– ในปี ค.ศ.1939 นักบุญที่น่ารักองค์นี้ได้รับการประกาศเป็นองค์อุปถัมภ์ของประเทศอิตาลี

((ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe))

บาทหลวง นักบวช และบุคลากรมิสซังเชียงใหม่เข้าร่วมงานโอกาสวันคล้ายวันเกิดพระคุณเจ้าวีระฯ ปีที่ 69

บาทหลวง นักบวช และบุคลากรมิสซังเชียงใหม่เข้าร่วมงานโอกาสวันคล้ายวันเกิดพระคุณเจ้าวีระฯ ปีที่ 69

วันที่ 3 ตุลาคม 2024

ที่ศูนย์มิสซังโรมันคาทอลิกเชียงใหม่ ณ ห้องประชุม ได้จัดงานวันคล้ายวันเกิดปีที่ 69 ให้แด่พระคุณเจ้าฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์ โดยมีบาทหลวง นักบวช และบุคลากร เจ้าหน้าที่ภายในมิสซังเชียงใหม่เข้าร่วมงานเพื่อขอพร และอวยพรแด่พระคุณเจ้าฯ และมีการจัดงานเลี้ยงอาหารในครั้งนี้ด้วย
.
ขอพระเป็นเจ้าทรงอวยพระพรท่านให้มีพละกำลังทั้งกายและใจในการทำงานของพระเป็นเจ้าอย่างดีต่อไป

1 ตุลาคม
ระลึกถึงนักบุญเทเรซา แห่งพระกุมารเยซู

1 ตุลาคม ระลึกถึงนักบุญเทเรซา แห่งพระกุมารเยซู

พรหมจารี และนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักร (St Thérèse of the Child Jesus, Virgin & Doctor, memorial)

มารี ฟร็องซัวส์ เทแรส (Marie Francoise Thérèse) เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1873 เป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนทั้งหมด 9 คน จากครอบครัวที่ศรัทธาแห่งอะลังซอง (Alencon) ประเทศฝรั่งเศส ทั้งคุณพ่อ Louis และคุณแม่ Zelie Martin ของท่านนักบุญเคยคิดที่จะเจริญชีวิตเป็นนักบวชมาก่อน แต่พระเจ้าทรงทดแทนให้ท่านทั้งสองโดยรับลูกๆของพวกท่านถึง 5 คนให้ได้ไปเป็นนักบวช หนูน้อยเทเรซาตั้งแต่อายุ 9 ขวบเป็นต้นมาได้พยายามตามบรรดาพี่ๆของเธอไปที่อารามคณะคาร์เมไลท์ไม่สวมรองเท้าที่เมือง ลีซีเออซ์ (Lisieux) ขณะที่เธอมีอายุได้ 14 ปี พระสังฆราชก็ยังพิจารณาเห็นว่าเธอยังเด็กไปที่จะเข้าอาราม ดังนั้นในปีศักดิ์สิทธิ์เธอได้เดินทางไปที่กรุงโรม และได้ร้องขอเป็นการส่วนตัวต่อสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 ให้อนุมัติแก่เธอเป็นพิเศษเพื่อจะได้เข้าอาราม ในที่สุด ท่านก็ได้รับการต้อนรับให้เข้าอารามได้จาก Mother Prioress ในขณะที่อายุเพียง 15 ปีเท่านั้น

ซิสเตอร์เทเรซา แห่งพระกุมารเยซู ซึ่งใครๆก็เรียกเธอด้วยชื่อนี้ ได้รับคำชื่นชมโดยเห็นได้ชัดว่าเป็นผลิตผลแห่งพระหรรษทาน เธอได้ก้าวหน้าอย่างมั่นคงและรวดเร็วในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ จนกระทั่งเมื่ออายุ 22 ปีก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนวกจารย์ – ความซื่อแบบเด็กๆ ความสุภาพที่ปรากฏออกมาภายนอก การเสียสละอุทิศตนอย่างสม่ำเสมอ และความรักต่อพระเจ้าอย่างไม่มีขอบเขต รวมถึงความไว้วางใจในพระองค์โดยสิ้นเชิง สิ่งเหล่านี้คือคุณธรรมที่โดดเด่นในชีวิตของเธอ “ไม่มีใครจะวอนขอมากเกินไปจากพระเจ้า ผู้ทรงฤทธานุภาพและทรงเมตตาสงสาร เขาจะได้รับจากพระองค์จริงๆตามสัดส่วนของความไว้วางใจที่เขามีต่อพระองค์” แต่โดยผ่านทาง “หนทางเล็กๆ” (Little Way) ของเธอ ในการกระทำหน้าที่เล็กๆน้อยๆในชีวิตประจำวันอย่างครบครันด้วยความรักต่อพระเจ้า ก็ได้กลายเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจสำหรับคนธรรมดาอย่างมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งเธอได้เปิดเผยในหนังสืออัตชีวประวัติที่มีชื่อเสียงของเธอที่ชื่อว่า “เรื่องเล่าของวิญญาณดวงหนึ่ง” (The Story of a Soul) ซึ่งเธอได้เขียนเพราะความนบนอบ “อย่าทำตนให้เด่นในทุกสิ่ง อย่าบ่นว่า อย่าบอกว่าตนไม่สบาย จงแสดงความเป็นมิตรอย่างพิเศษกับคนเหล่านั้นที่ใจจืดใจดำกับเรา จงให้คำตอบอย่างหลักแหลมด้วยรอยยิ้มพิมพ์ใจ” – เหล่านี้คือ สิ่งที่เธอปฏิบัติจริง

ในช่วงระยะเวลาเก้าปีครึ่งในการใช้ชีวิตอยู่ในอารามเธอไม่ได้ทำตัวโดดเด่น แต่กลับวางตัวเป็นธรรมชาติมากจนว่าเธอสามารถผ่านเวลานี้ไปโดยไม่เป็นที่สังเกต สิ่งที่เธอตั้งใจทำเป็นพิเศษ คือเธอรู้สึกว่าจะต้องช่วยบรรดาพระสงฆ์และบรรดามิชชันนารีของพระศาสนจักร ดังนั้น เธอจึงสวดภาวนาและทำพลีกรรมเพื่อพวกเขา และหลังจากการตายต่อตนเองทั้งร่างกายและจิตใจ (เธอเคยใฝ่ฝันจะเป็นมรณสักขีตั้งแต่วัยเด็ก) เธอได้มอบถวายตนด้วยความอ่อนหวานและความอดทนขั้นวีรกรรม ให้เป็นเสมือนเชลยของความรักเปี่ยมเมตตาของพระเจ้า เธอได้สิ้นชีพเพราะวัณโรคเมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ.1897 เมื่อมีอายุ 24 ปี “มีเพียงสิ่งเดียวที่ต้องทำเมื่อเราอยู่ในโลกข้างล่างนี้ คือรักพระเยซูเจ้า และช่วยวิญญาณต่างๆ ให้รอด เพื่อพระองค์จะทรงได้รับความรักมากขึ้น”

ได้รับแต่งตั้งเป็นบุญราศี ในปี ค.ศ. 1923 และได้รับการประกาศแต่งตั้งเป็นนักบุญเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ปี ค.ศ.1925 โดยพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ชื่อของท่านนักบุญที่ว่า “ดอกไม้น้อยๆ” (the Little Flower) กลายเป็นชื่อที่คนรู้จักกันอย่างกว้างขวาง ท่านเป็นองค์อุปถัมภ์ของบรรดานักบิน ของประเทศรัสเซีย และพร้อมกับนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ ของประเทศมิสซังทั้งหลาย และท่านยังได้รับการประกาศเป็นนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักรในปี ค.ศ.1997 โดย นักบุญยอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา

(ถอดความโดย คุณพ่อวิชา หิรัญญการ
จากหนังสือ Saint Companions For Each Day
เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

ฉลองวัดพระแม่มารีย์ หนองแห้ง

ฉลองวัดพระแม่มารีย์ หนองแห้ง

22 กันยายน 2024

ชีวิตชุมชนต้องมีการฉลอง เช่น วัดพระแม่มารีย์ บ้านหนองแห้ง อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เราเลื่อนจาก วันที่ 8 กันยายน ฉลองแม่พระบังเกิด มาฉลองวัดวันนี้
.
คุณพ่อเจริญ นันทการ เป็นเจ้าอาวาส คุณพ่อสุธี เจริญกุล จากแม่ฮ่องสอน คุณพ่อสันติ ยอเปย จากขุนยวม และเป็นหัวหน้าเขต 4 บราเดอร์อภิกร โกมลพิทักษ์ชัย จากวัดแม่ลาน้อย พายาวชนมาช่วยมิสซา
.
โมโด่ะแอน อำนวยเพลง มีคณะนักขับร้องผู้ใหญ่ ประมาณ 30 คน ชาวบ้าน เยาวชนและเด็กๆ ประมาณ 500 คน มาร่วมฉลอง
.
ชาวบ้านต้อนรับจากปากทาง คุณพ่อเจริญ รำดาบ 10:00 น เริ่มมิสซา อากาศดี ฝนไม่ตก แต่เราอยู่ในศาลา จึงไม่กังวล มี สจ.วุฒิ ริยะนา มาร่วมพิธีมิสซา
.
พระวาจาสอนใจเรา “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลดีต่อผู้รักพระเจ้า” (รม.8:28)
.
ชาวบ้านนำอาหารมารับประทานร่วมกัน มีขนมและไอติมเลี้ยงทุกคน ชาวบ้านมีชีวิตชีวาดี แม้ประสบภัยพิบัติ 3 หมู่บ้าน แต่เราก็ขอบคุณพระเจ้าได้

(ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์)

ร่วมงานเยาวชน ที่บ้านแพน

ร่วมงานเยาวชน ที่บ้านแพน

วันเสาร์ที่ 21 กันยายน 2024

เนื่องจากวันที่ 20 กันยายน เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ แผนกเยาวชนอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ จัดชุมนุมเยาวชน ทั้ง 6 เขต จำนวน 554 คน ที่โรงเรียนราษฎร์สงเคราะห์ (บ้านแพน) อ.เสนา จ.อยุธยา
.
คุณพ่อเดชา อาภรณ์รัตน์ เจ้าอาวาสวัดมารีย์สมภพ และบรรดาพระสงฆ์ ประมาณ 16 คน ร่วมพิธีมิสซาฉลองนักบุญมัทธิว เวลา 8:30 น.
.
10:00 น. บรรดาเยาวชนเดินไปที่สนามฟุตบอลเล่นกีฬาด้วยกัน
.
ส่วนพ่อ เดินทางไปสนามบินดอนเมือง เพื่อขึ้นเครื่องบินกลับเชียงใหม่ และนั่งรถต่อ 4 ชั่วโมง ไปบ้านหนองแห้ง จ.แม่ฮ่องสอน ร่วมฉลองวัดในวันอาทิตย์ต่อไป
.
คำขวัญเยาวชนปีนี้คือ “ร่วมแรงแข่งขันช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ” (Participation, Development and peace)
พ่อดีใจที่มีโอกาสร่วมงานวันนี้ พันธกิจของเราช่วยเยาวชนให้รักพระเยซูเจ้า และเป็นผู้สร้างสันติ

(ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์)

21 กันยายน ฉลองนักบุญมัทธิว อัครสาวกและผู้นิพนธ์พระวรสาร

21 กันยายน ฉลองนักบุญมัทธิว อัครสาวกและผู้นิพนธ์พระวรสาร

(St. Matthew, Apostle and Evangelist, feast)

นักบุญมัทธิว องค์อุปถัมภ์ของคนเก็บภาษี และนักการธนาคาร ในขณะที่ท่านทำหน้าที่เก็บภาษีให้กับกษัตริย์เฮโรด อันทิปาส (King Herod Antipas) ที่เมืองคาเปอรนาอุมอยู่นั้น องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกให้ติดตามพระองค์ไป อีกชื่อหนึ่งของท่านที่คนเรียกกันคือ เลวี คนเก็บภาษี ท่านมีความยินดีอย่างมากที่ได้รับการเรียกครั้งใหม่นี้ จึงจัดงานเลี้ยงใหญ่ที่บ้านของท่านสำหรับพระอาจารย์และบรรดาสานุศิษย์ของพระองค์ และยังเชิญแม้แต่เพื่อนๆของท่านที่เป็นคนเก็บภาษีด้วยกัน พระเยซูเจ้าได้ทรงทำให้พวกฟาริสีประหลาดใจมาก ที่ปฏิบัติองค์ตามสบายรับประทานอาหารกับพวกที่บรรดาผู้นำอิสราเอลดูถูกเหยีดหยามว่าเป็นพวกนอกคอกและพวกทรยศ และพวกเขาไม่เคยแม้แต่คิดว่าจะกินอาหารร่วมกับพวกนี้ นอกเหนือจากความจริงที่มีเพียงเล็กน้อยเท่านี้ ยากที่เราจะรู้เกี่ยวกับชีวิตและความตายของอัครสาวกองค์นี้

เลวี บุตรของอัลเฟอัส (มก 2 : 14) น่าจะได้รับการศึกษามาเป็นอย่างดี เพราะท่านรู้ภาษาทั้งอาราเมอิกและกรีก และคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับการเขียน ชื่อ มัทธิว แปลว่า “ของประทานจากพระเจ้า” อาจจะเป็นชื่อที่พระคริสตเจ้าทรงตั้งให้ ท่านเป็นหนึ่งในอัครสาวกพวกแรกๆที่ถูกเลือกให้เขียนบันทึกถึงเหตุการณ์สำคัญๆของชีวิตและคำสอนของพระเยซูเจ้า ในฐานะที่ท่านเป็นพยานยืนยันด้วยตัวเอง และในฐานะที่เป็นคำสอนด้วยคำพูดของบรรดาอัครสาวกทั้งหมด แท้จริงแล้ว เป็นที่เชื่อกันว่า ในขณะที่ท่านเขียนพระวรสาร ท่านได้ใช้บทรวบรวมคำปราศรัยต่างๆของพระเยซูเจ้าในภาษาอาราเมอิกที่ท่านเคยทำไว้ก่อนหน้านี้มาเป็นตัวตั้ง น่าเสียดาย ที่ต้นฉบับดั้งเดิมนี้ได้หายไป

พระวรสารของนักบุญมัทธิว ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นอัตชีวประวัติของพระคริสต์แบบครบสมบูรณ์ แต่มุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความเชื่อของพวกยิวที่มาเป็นคริสตชนให้แข็งแกร่งมั่นคงขึ้น เนื่องจากพวกเขายังติดอยู่กับอิทธิพลของศาสนายิวดั้งเดิมอยู่มาก และเพื่อชักชวนพวกยิวที่ยังไม่กลับใจอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงใช้พรสวรรค์ของท่านในการเล่าเรื่อง และการเขียนเป็นภาษาอาราเมอิก ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้พูดกันอย่างกว้างขวางโดยชาวยิวและชาติอื่นๆในสมัยของพระคริสต์ ท่านรวมหมวดหมู่กิจการต่างๆ และบทบัญญัติต่างๆที่มีธรรมชาติเหมือนกันเข้าไว้ด้วยกัน และเน้นเป็นพิเศษว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ที่ทำให้คำทำนายต่างๆ ที่คุ้นเคยทั้งหมดเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์สำเร็จสมบูรณ์ไป พระองค์ทรงเป็นเอ็มมานูเอล ผู้ซึ่งได้บังเกิดมาจากหญิงพรหมจารีย์คนหนึ่ง (อิสยาห์) ที่เมืองเบธเลเฮม (มีคาห์) ได้เสด็จหนีไปอียิปต์ (โฮเชยา) ได้ถูกประกาศโดยผู้หนึ่งที่นำหน้ามา ทรงสามารถรักษาคนเจ็บไข้ และทรงเป็นผู้ที่ทำให้ทุกกิจการสอดคล้องต้องกัน และแม้แต่พระทรมาน และการสิ้นพระชนม์ ก็เป็นไปตามคำทำนายแต่โบราณกาลของอิสยาห์ อีกจุดหนึ่งที่นักบุญมัทธิวเน้นเป็นพิเศษ คือความจริงที่ว่าชาวยิวในฐานะที่เป็นองค์รวมจะถูกขับออกจากอาณาจักรของพระเมสสิยาห์ เพราะความไม่เชื่ออย่างดื้อรั้น และการปฏิเสธพระเมสสิยาห์ และจะถูกนำไปมอบให้แก่ “ชนชาติที่จะให้ผลผลิตที่เหมาะสม”

กล่าวกันว่าพระธาตุของนักบุญมัทธิวได้ถูกพบที่เมืองซาแลร์โน (Salerno) ในปี 1080 และเชื่อกันว่าท่านเป็นมรณสักขีด้วยการถูกทุ่มด้วยหินที่เอธิโอเปีย

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

เยี่ยมสามเณรของเราที่บ้านเณรยอแซฟ

เยี่ยมสามเณรของเราที่บ้านเณรยอแซฟ

15 กันยายน 2024 เวลา 18.30 น.

เย็นวันอาทิตย์ พ่อไปเยี่ยมบรรดาสามเณรที่บ้านเณรยอแซฟ อ.สามพราน จ.นครปฐม ตอนค่ำรับประทานอาหารเย็น คุณพ่อวิทยา ลัดลอย ให้ลูกสามเณรแต่งเต็มยศเลย และทุกคนแนะนำตัวทีละคน
– ม.1 มี 8 คน
– ม.2 มี 9 คน
– ม.3 มี 8 คน
– ม.4 มี 23 คน
– ม.5 มี 17 คน
– ม.6 มี 32 คน
– มาสเตอร์ 6 คน
.
เณรกรุงเทพ 69 คน
เณรเชียงใหม่ (ม.4-6) 27 คน
เณรเชียงราย 7 คน
รวม 103 คน
.
มีคุณพ่อตี๋ ช่วยดูแลลูกๆ ของเรา ผมร่วมรับประทานอาหารกับบรรดาพระสงฆ์ 4 องค์ แล้วขับรถกลับอัสสัมชัญ บางรัก
ดีใจที่มีโอกาสไปเยี่ยมสามเณรครับ

(ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์)

เสกบ้านเข้าเงียบ อารามเบเนดิ๊กติน หางดง

เสกบ้านเข้าเงียบ อารามเบเนดิ๊กติน หางดง

9 กันยายน 2024

สมาชิกอารามเบเนดิ๊กติน เวียดนาม ที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ได้สร้างบ้านเข้าเงียบ ได้มีมิสซาเวลา 10.30 น.
.
มีชาวเวียดนาม จากประเทศเวียดนาม ประมาณ 35 คน บรรดาพระสงฆ์ นักบวช และสัตบุรุษเขตอาสนวิหาร บ้านห้วยส้ม มาร่วมพิธีมิสซา เสกบ้านเข้าเงียบ และรับประทานอาหารเวียดนาม
.
เราภูมิใจที่มีบ้านฟื้นฟูจิตใจสำหรับฆราวาส นักบวช ผู้สนใจ ห่างจากอาสนวิหารพระหฤทัย ประมาณ 30 นาที เท่านั้น

(ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์)

ฉลองวัดแม่พระบังเกิด อมก๋อย

ฉลองวัดแม่พระบังเกิด อมก๋อย

8 กันยายน 2024

พ่อเดินทางจากสำนักมิสซัง เชียงใหม่ 6 โมงเช้า เพื่อไปฉลองวัดแม่พระบังเกิด อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ใช้เวลาในการเดินทาง 3 ชั่วโมง
.
คุณพ่อ อุทัย พาแฮ เจ้าอาวาส คุณพ่อ วุฒิชัย ก่อไพบูลย์ถาวร ผู้ช่วย ซิสเตอร์ สุรางค์ เซอร์ และซิสเตอร์ นิชนันท์ เพ็ญพิศมัย ช่วยงานอภิบาล และ ดูแลเยาวชนที่หอพัก 29 คน
.
เนื่องจากอยู่ในฤดูฝน แม้ฝนตก แต่ก็มีพี่น้อง จากวัดนักบุญเปาโลนาเกียน และหมู่บ้านต่างๆ มาเป็นจำนวนมาก ประมาณ 250 คน น่าจะได้
.
ซิสเตอร์ อาเดไล ซาเลเซียน พาเยาวชน จากบ้านธิดารักษ์ จอมทอง มาร่วมฉลองวัดด้วย 8 คน
.
บทอ่านประจำมิสซาวันอาทิตย์นี้ เอฟฟาทา จงเปิดเถิด เปิดหู เปิดตา เปิดใจ และประกาศสารแห่งหวัง แด่เพื่อนบ้านของเรา
คุณแม่ประพรรณ์ หมั่นศึกษา เจ้าคณะ ซิสเตอร์แม่ปอน มาขอบคุณ ที่มีผู้ช่วยเหลือสร้าง”บ้านซิสเตอร์” ให้สมาชิกที่มาช่วยงานอภิบาลที่นี่
.
สัตบุรุษแต่ละหมู่บ้านช่วยนำผลไม้ อาหาร ขนม และไอติมมาเลี้ยง โอกาสฉลองวัด
ขอบคุณทุกคนครับ

(ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์)

วันที่ 8 กันยายน
ฉลองแม่พระบังเกิด

วันที่ 8 กันยายน ฉลองแม่พระบังเกิด

( The Nativity of the Blessed Virgin Mary, feast )

พระศาสนจักรมักจะถือวันสิ้นชีพของนักบุญว่าเป็น “วันเกิด” และก็เป็นสิ่งถูกต้องเช่นนั้น เพราะวันนั้นเป็นวันที่ผู้ได้รับเลือกสรรได้จบชีวิตของเขา หรือของเธอบนแผ่นดินนี้ และไปเกิดใหม่มีชีวิตเที่ยงแท้ในสวรรค์ อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นสำหรับ 3 บุคคลนี้ซึ่งพระศาสนจักรกำหนดฉลองวันเกิดตามธรรมชาติด้วย ก็คือ พระเยซูเจ้า พระนางมารีย์ และนักบุญยอห์น บัปติสต์

การบังเกิดมาของเด็กคนหนึ่งย่อมเป็นเหตุการณ์ที่น่าชื่นชมยินดีสำหรับครอบครัวนั้น เป็นจริงดังที่ รพินฐนาถ ฐากอร์ (Rabindranath Tagore – นักปราชญ์ นักปรัชญาชาวอินเดีย – ผู้แปล) ได้กล่าวไว้ว่า “เด็กทุกๆคนมาสู่โลกด้วยหลักประกันว่าพระผู้เป็นเจ้ายังไม่ทรงเบื่อหน่ายกับมวลมนุษยชาติ” วันนี้ เราเฉลิมฉลองการบังเกิดของเด็กหญิงผู้หนึ่ง ซึ่งมาด้วยหลักประกันที่มากกว่านั้น เธอได้เป็นสัญญาณดังถ้อยคำของพระศาสนจักรที่ว่าเป็น “รุ่งอรุณแห่งความหวัง และความรอดพ้นของโลกทั้งมวล”

การบังเกิดมาดุจนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ “จิตวิญญาณของเธอจึงสวยงามที่สุด” กว่าสิ่งสร้างใดๆที่พระเจ้าทรงสร้างมา – นี่เป็นคำสรรเสริญของนักบุญอัลฟองโซ เดอ ลิกวอรี – ท่านยังเสริมอีกว่า “จากการถูกกำหนดไว้แล้วให้เป็นพระมารดาขององค์พระวจนาตถ์นิรันดร เด็กน้อยผู้นี้จึงได้รับพระหรรษทานที่ยิ่งใหญ่จนเปี่ยมล้น ถึงขั้นที่ว่าขณะที่เธอปฏิสนธินิรมลนั้น เธอก็มีความศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าบรรดานักบุญทั้งหมดและทูตสวรรค์ทั้งปวง เพราะว่าเธอได้รับพระหรรษทานในขั้นที่สูงส่งกว่า ซึ่งจะสอดคล้องกับศักดิ์ศรีของเธอในการเป็นพระมารดาของพระเจ้า”

พระนางมารีย์ ผู้ทรงเป็นเอวาคนใหม่ คือของขวัญแด่พระศาสนจักร ไม่เพียงเท่านั้น ทรงเป็นมารดาของพระศาสนจักรด้วย พระนางทรงเป็นประดุจของขวัญที่มอบให้พวกเราทุกคนด้วยวิถีทางที่พิเศษยิ่ง โดยที่องค์พระเยซูคริสต์ พระเทวบุตรของพระนางได้ทรงยกพระนางให้เป็นมารดาของเราแต่ละคนด้วย

พระนางมารีย์ทรงเป็นความปิติยินดีของพระบิดา เพราะเธอเป็นผลงานสร้างสรรค์มหัศจรรย์ชิ้นเอกของพระองค์ พระนางมารีย์ทรงเป็นความปิติยินดีของพระบุตร ผู้ซึ่งพินิจรำพึงในพระนางว่าทรงเป็นหีบแห่งพันธสัญญาที่ซึ่งพระองค์ได้ทรงรับเอาเนื้อหนังบังเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อช่วยไถ่โลกให้รอดตามพระประสงค์ของพระบิดา พระนางมารีย์ทรงเป็นความปิติยินดีสูงสุดของพระจิตเจ้า ผู้ซึ่งทรงมองเห็นในเธอว่าเป็นเจ้าสาวที่บริสุทธิ์และซื่อสัตย์อย่างที่สุดของพระองค์ และโดยพระนางที่พระองค์จะเสด็จลงมาและจะแผ่เงาปกคลุมพระนางในการให้กำเนิดองค์พระบุตร

ถ้าเปิดดูตามพระคัมภีร์แล้ว ไม่มีกล่าวอย่างชัดเจนถึงสถานที่พระนางบังเกิด อย่างไรก็ตาม ตามธรรมประเพณีเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ในกรุงเยรูซาเล็ม วันฉลองนี้มีกำเนิดมาจากทางตะวันออก การฉลองครั้งแรกกระทำในกรุงเยรูซาเล็มในศตวรรษที่ 5 และต่อมาถูกนำมาฉลองในกรุงโรมเมื่อศตวรรษที่ 7 การฉลองนี้ช่วยในการกำหนดวันสมโภชพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมลว่าเป็นวันที่ 8 ธันวาคม (นับถอยหลังไป 9 เดือน)

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)