กำหนดการในช่วงคริสต์มาส และปีใหม่ 2017-2018
ธันวาคม2017 – มกราคม2018
วัน / เดือน / ปี กิจกรรม
เดือนธันวาคม
วันที่ 16 – 23 ธ.ค 2017 – พิธีนพวารเตรียมฉลองวันคริสต์มาส
วันอาทิตย์ที่ 24 ธ.ค 2017 – วันคริสต์มาส
+ งดมิสซาเย็น (รอบ 18.00 น.)
+ เริ่มการแสดง 18.00-22.00 น.
+ แก้บาปเริ่มตั้งแต่เวลา 20.00 –22.00 น.
+ พิธีบูชามิสซาเวลา 22.30 น. ละครเริ่มก่อน
พิธีบูชามิสซา
วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2017 –พิธีบูชามิสซาฉลองคริสต์มาสเวลา 9.00 น.
วันอาทิตย์ที่ 31 ธันวาคม 2017 – วันฉลองสิ้นปีเก่าต้อนรับปีใหม่
+ เริ่มตั้งศีลและพิธีบูชามิสซาเวลา 22.30 น.
เดือนมกราคม
วันจันทร์ที่ 1 มกราคม 2018 วันฉลองปีใหม่
+ พิธีบูชามิสซาเวลา10.00 น.
+หลังพิธีบูชามิสซาคำนับและขอพรผู้ใหญ่ฝ่าย
พระศาสนจักร
+ อวยพรเด็กๆและแจกของขวัญ
+ เสกรถ
วันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม2018 – จัดงานสำหรับผู้สูงอายุ
+ หลังพิธีมิสซาสาย 8.30 น.เลี้ยงอาหารผู้สูงอายุ
และมอบของขวัญ
วันศุกร์ที่ 12 มกราคม 2018 – พิธีบูชามิสซาหน้าพระรูปบุญราศีนิโคลาสบุญเกิด
เวลา 19.00 น
วันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2018 – พิธีบวชบาทหลวงเบธาราม 2 องค์ที่
อาสนวิหารพระหฤทัยเชียงใหม่
วันอาทิตย์ที่21 มกราคม2018 – ประชุมคณะกรรมการสภาภิบาลอาสนวิหารพระหฤทัย
– วันภาวนาเพื่อเอกภาพระหว่างโปรแตสแตนท์กับ
คาทอลิกสถานที่อาสนวิหารพระหฤทัย
สุขสันต์วันคริสต์มาส สวัสดีปีใหม่ (บิชอป ฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์)
สมโภชพระคริสตสมภพ มิสซาเที่ยงคืน 24 ธันวาคม 2017
บทอ่าน อสย 9:1-6 ; ทต 3:4-7 ; ลก 2:1-14
ความยินดีสำหรับทุกคน
คริสต์มาสเป็นการฉลองที่เปี่ยมด้วยความยินดีและความหวัง อย่างไรก็ดี เราต้องยอมรับว่าสังคมทุกวันนี้ ไม่มีทั้งสองสิ่งง่ายๆ เสมอไป คนยากจนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราจึงไม่สามารถประกาศข่าวการบังเกิดของพระเยซูเจ้าด้วยความยินดี เพราะหลายคนยังประสบความยากลำบาก ยังหาทางแก้ไขไม่ได้ ยังท้อใจ ไม่มีกำลังเผชิญสถานการณ์นี้
กลิ่นที่คอกสัตว์
การประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าในประวัติศาสตร์ของเรา เป็นการเรียกถาวรให้หันกลับมาสู่แหล่งกำเนิดความเชื่อของเรา พระเยซูเจ้าทรงบังเกิดที่เบ็ธเลเฮม มีบรรดาผู้เลี้ยงแกะและสัตว์ล้อมรอบพระองค์ แม่พระและนักบุญโยเซฟมาที่คอกสัตว์เพราะไม่มีที่ในห้องพักแรมเลย บุตรพระเจ้าทรงเข้ามาในประวัติศาสตร์ สภาพยากจน พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์
“ครั้งนั้นพระจักรพรรดิออกัสตัสทรงออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วจักรวรรดิโรมัน การสำรวจสำมะโนประชากรครั้งแรกนี้มีขึ้นเมื่อคีรีนีอัสเป็นผู้ว่าราชการแคว้นซีเรีย” (ลก 2:1-2) ข้อความในพระวรสารบอกข่าวสำคัญแบบเรียบง่าย คือ พระเยซูเจ้าทรงประสูติในสถานที่และเวลาที่ได้กำหนด ในสมัยพระจักรพรรดิออกัสตัส ผู้ว่าราชการคีรีนีอัส และกษัตริย์เฮโรด ผู้ทรยศประชาชนของตน พระเยซูเจ้าทรงบังเกิดตอนนั้น ไม่มีความสำคัญในสายตาของผู้หยิ่งจองหองและผู้มีอำนาจชอบดูถูก และในสายตาของพวกเขาถือว่าการเมืองมีสันติสุข
ระหว่างช่วงเวลาคริสต์มาส ชาวบ้านมักกล่าวว่า พระเยซูเจ้าทรงบังเกิดในทุกครอบครัวและในหัวใจของเราคริสตชน แต่การบังเกิดเหล่านี้ต้องไม่ผ่านข้อเท็จจริงแรกที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “พระเยซูเจ้าทรงบังเกิดจากพระนางมารีย์ท่ามกลางประชาชนที่ถูกกดขี่ในสมัยนั้น โดยจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น ถ้าเราลืมเรื่องนี้ไป การเสด็จมาของพระเยซูเจ้าในโลกก็กลายเป็นนามธรรม สำหรับเราคริสตชน คริสต์มาสเผยแสดงถึงพระเจ้าเสด็จมาในประวัติศาสตร์มนุษย์ เป็นคริสต์มาสแห่งความต่ำต้อยและการรับใช้ท่ามกลางอำนาจการกดขี่และมีอำนาจเหนือโลก คริสต์มาสเป็นการเข้ามาในโลกด้วยกลิ่นคอกสัตว์
พระเจ้าทรงถูกเผยแสดงในพระเยซูคริสตเจ้า ในพระองค์ “พระหรรษทานของพระเจ้าปรากฏขึ้นเพื่อช่วยมนุษย์ทุกคนให้รอดพ้น” (ทต 2:11) เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะเชื่อจุดเริ่มสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ปัจจุบันของเรา ในท่ามกลางการเสื่อมลงอย่างต่อเนื่องของสภาพชีวิตของคนจนและประชาชนผู้ถูกลืม ไม่มีงานทำ และขาดโอกาสหลายๆ อย่าง การโกหกและการจัดการของผู้มีอำนาจต่อสถานที่มีควันปกคลุมอภิสิทธิ์ต่างๆ ที่อยุติธรรมของพวกเขา ตั้งแต่คริสต์มาสครั้งแรกเป็นต้นมา เราไม่สามารถแยกความเชื่อคริสตชนออกจากประวัติศาสตร์มนุษย์
เสียงร้องไห้คร่ำครวญของนางราเคล
สิ่งที่เราทราบในความหมายคริสต์มาส รวมการระลึกถึง ซึ่งหลายคนละเลยหรือเข้าใจผิด คือ วันฉลองทารกผู้วิมล การบังเกิดของเด็กคนหนึ่งในตำบลเล็กๆ ได้ทำให้ผู้ทรยศไม่สบายใจ กลิ่นคอกสัตว์ลอยไปถึงวังกษัตริย์เฮโรด จนพระกุมารต้องหนีการถูกฆาตกรรม เหมือนโมเสสผู้ช่วยกอบกู้ประชาชน ความตั้งใจของเฮโรดไปไม่ถึงอียิปต์ เฮโรดกลัวทารกที่บังเกิดใหม่ จึงสั่งประหารทารกบริสุทธิ์หลายคน ชีวิตของพระกุมารทำให้ทารกหลายคนเสียชีวิตแบบอยุติธรรม ความยินดีของพระกุมารทำให้หลายครอบครัวต้องเศร้าโศกเสียใจ
เรายังคงได้ยินเสียงร่ำไห้คร่ำครวญของนางราเคลอาลัยถึงบรรดาลูกๆ (มธ 2:18) ในทุกวันนี้ เป็นเสียงร้องบรรดามารดาของลูกร้อยๆ คนที่กำลังสิ้นใจในบรรดาเด็กทุกๆ พันคน ที่ลูกๆ ถูกลักพาตัว มารดาที่พร่ำบ่นที่เห็นลูกเติบโตขึ้นแต่ไม่มีอาหารพอเพียงและเจ็บป่วย
การบังเกิดของพระบุตรเป็นหัวใจของข่าวดีที่ทำให้เราทุกคนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นพิเศษกับบรรดาผู้ถูกทอดทิ้งและถูกกดขี่เหมือนกรณีของพระเยซูเจ้า การเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของหลายคนที่เป็นพยานประกาศความหวัง ซึ่งอาจดูเหมือนไม่สำคัญต่อเราในแง่ประวัติศาสตร์ เหมือนการบังเกิดของพระกุมารที่เราฉลองวันคริสต์มาส แต่ความหวังนี้เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต และดังนั้นข่าวดีนี้ “จะทำให้ประชาชนทุกคนยินดีอย่างยิ่ง” (ลก 2:10)
บิชอป วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Sharing the Word Through the Liturgical Year
โดย Gustavo Gutierrez, หน้า 23-24.
อาทิตย์ที่ 4 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า 24 ธันวาคม 2017
บทอ่าน 2 ซมอ 7:1-5, 8-11, 16 ; รม 16:25-27 ; ลก 1:26-38
พระนางมารีย์
บทอ่านพระวรสารวันนี้เน้นบทบาทของพระนางมารีย์ ผู้มอบตนเองต่อหน้าพระเจ้า ในเงื่อนไขเปรียบเทียบว่าเป็นผู้รับใช้ต่ำต้อยของพระเจ้า เชื่อพระเจ้าสุดใจ
จงยินดีเถิด
ในกาลิลี หญิงสาวผู้หนึ่งตั้งใจฟังทูตสวรรค์ กล่าวกับเธอว่า “จงยินดีเถิด” (ลก 1:28) ความยินดีเป็นลักษณะประการหนึ่งของพระสัญญา พระนางมารีย์ได้รับพระหรรษทาน นี่จึงเป็นความหมายของคำว่า “ผู้ที่พระเจ้าโปรดปราน” (วรรคที่ 28) พระเจ้าทรงอยู่เคียงข้างและทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความรักที่ให้เปล่าและอิสระของพระเจ้า ความเชื่อก็เป็นของขวัญซึ่งทำให้เริ่มสนทนา พระเจ้าทรงวางใจพระนางมารีย์ และพระนางก็วางใจในพระเจ้า ผู้ทรงทำให้พระนางเป็นแบบอย่างแห่งความเชื่อแก่เรา ไม่ต้องกลัวอะไร การยอมมอบตนเป็นการตอบรับการเรียกนั้น พระเจ้าทรงมองมาที่พระนางมารีย์ และทรงถามถึงความเชื่อของเธอ ขอบคุณแม่พระที่ตอบรับอย่างสุภาพและใจอิสระ สตรีสาวชาวยิวผู้นี้จึงมีส่วนร่วมในงานของพระเจ้า
สิ่งที่ทูตสวรรค์ได้ประกาศว่าเป็นงานของพระจิตเจ้า (วรรคที่ 35) และความเชื่อของแม่พระ คำกล่าวแรกคือ “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” (วรรคที่ 38) คำว่า “ผู้รับใช้” หมายความว่า เป็นของพระเจ้า พระเจ้าทรงส่งใคร ผู้นั้นก็เป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า เป็นผู้รับใช้ หมายถึง พร้อมเสมอ ยอมรับพระประสงค์ของพระเจ้า คำของพระเจ้าเป็นของขวัญที่มนุษย์ต้องยอมรับด้วยเสรีภาพ
การสนทนา
ความวางใจและความสุภาพของแม่พระมิได้ขัดขวางการเริ่มต้นการสนทนากับทูตสวรรค์ พระนางมิได้แค่ฟังและยอมรับคำประกาศนั้น ความเชื่อของแม่พระเป็นกิจการอิสระ และเพราะเหตุนี้พระนางจึงถามและปรารถนาที่จะรู้ว่าสิ่งที่ทูตสวรรค์ได้บอกนั้นจะเป็นไปได้อย่างไร พระจิตเจ้าและพระอานุภาพของพระเจ้าช่วยสนับสนุนการมีส่วนร่วมแบบกระตือรือร้นของพระนาง ที่รู้ว่าพระนางอยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้า การตอบรับของพระนางช่วยให้พระผู้ไถ่เสด็จมาหาเรา เป็นประวัติศาสตร์แห่งความรอด
การรับสภาพมนุษย์ของพระเยซูเจ้าเกิดขึ้นจากพระอานุภาพของพระจิตเจ้า และความสุภาพของพระนางมารีย์ พระบุตรของพระนางจึงมีบทบาทในประวัติศาสตร์ “เขาจะปกครองวงศ์ตระกูลของยาโคบตลอดไป และพระอาณาจักรของเขาจะไม่มีสิ้นสุดเลย” (วรรคที่ 33) ประกาศกนาธันได้ประกาศเรื่องนี้เกี่ยวกับกษัตริย์ดาวิดว่า “ราชวงศ์และอาณาจักรของท่านจะมั่นคงอยู่ต่อหน้าเราตลอดไป อำนาจปกครองของท่านจะตั้งมั่นอยู่ตลอดไป” (2 ซมอ 7:16) ดังนั้น พระนางมารีย์เป็นยิ่งกว่าของขวัญส่วนตัว แต่เป็นของขวัญของมนุษยชาติ กล่าวคือ เป็นของขวัญที่มอบให้บุคคลหนึ่งเพื่อประโยชน์ของชุมชน นี่เป็นธรรมล้ำลึก “ที่เก็บเป็นความลับตลอดเวลานานมาแล้ว” (รม 16:25)
บิชอป วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Sharing the Word Through the Liturgical Year
โดย Gustavo Gutierrez, หน้า 16-18.
สังฆมณฑลเชียงใหม่ ขอร่วมไว้อาลัยแด่ บิชอปกิตติคุณ ยอร์ช ยอด พิมพิสาร, C.Ss.R.
จัดคริสตมาสที่บ้านแม่ต๋ง
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2017 นำโดยคุณพ่อศราวุธ แฮทู คุณพ่อชาญชัย ศรีสุทธิจรรยา และคุณพ่อนิรุจน์ วงศ์แจ่ม ได้จัดคริสตมาสที่บ้านแม่ต๋ง มีคุณสิริ คุณตอจี และน้องๆ นักศึกษาคาทอลิกร่วมด้วย บาทหลวงและชาวบ้านได้ร่วมมิสซาด้วยกัน หลังจากมิสซามีกิจกรรมคริสตมาส แจกของให้ชาวบ้าน ชาวบ้านมีความสุขมาก
บวชบาทหลวง คุณพ่อมาระโกโจงชอส์ แก้วมา
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2017 สังฆมณฑลเชียงใหม่ ได้มีการบวชบาทหลวง ใหม่ คุณพ่อมาระโกโจงชอส์ แก้วมา โดยบิชอป ฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์ ณ วัดแม่พระราชินีแห่งสันติภาพ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง มีบาทหลวง นักบวช ชาย หญิง และพี่น้องสัตบุรุษมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ประวัติ
สังฆานุกรมาระโกโจงชอส์ แก้วมา
คติพจน์ “วิญญาณข้าพเจ้าประกาศความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า” (ลก 1:46)
เกิดวันที่ 24กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1982 / พ.ศ. 2525
สัตบุรุษ วัดแม่พระราชินีแห่งสันติภาพ แจ้ห่ม
บิดา นายซุนยง ฮาม
มารดา เซซีลีอาบัวผัด แก้วมา
พี่น้อง 2 คนคุณพ่อเป็นบุตรคนโต
รับศีลล้างบาปเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1995/ พ.ศ. 2538 ณ วัดแม่พระแห่งลูร์ด ลำปาง
โดยคุณพ่ออเล็กซานโดร บอร์ดีญอง เป็นผู้โปรดศีลล้างบาป
รับศีลกำลังเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1995 / พ.ศ. 2538 ณ วัดแม่พระแห่งลูร์ด ลำปาง
โดยพระคุณเจ้ายอแซฟสังวาลย์ศุระศรางค์ เป็นผู้โปรดศีลกำลัง
การศึกษา
ระดับประถมศึกษา โรงเรียนบ้านทุ่ง อ.เมืองปาน จ.ลำปาง
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนแจ้ห่มวิทยาอ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง
ระดับอุดมศึกษา
หลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) สาขาวิชาพลศึกษา
วิชาเอกพลศึกษา
สถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตลำปาง (หรือวิทยาลัยพลศึกษา) อ.เมือง จ.ลำปาง
ปริญญาตรีคณะพลศึกษา
สาขาวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สุขุมวิท เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร
ปริญญาตรีคณะมนุษย์ศาสตร์
สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา
วิทยาลัยแสงธรรม อ.สามพราน จ.นครปฐม
ปริญญาโท คณะศาสนศาสตร์
สาขาวิชาเทวจริยธรรม
วิทยาลัยแสงธรรม อ.สามพราน จ.นครปฐม
กระแสเรียก
ผู้ส่งเข้าบ้านเณร คุณพ่อเปโตรเมล๊อตตอ คุณพ่อบรูโน โรสซี่
บ้านเณรเล็ก สามเณราลัยนักบุญยอแซฟ สามพราน นครปฐม ค.ศ. 2006 – 2007
บ้านเณรกลาง สามเณราลัยพระวิสุทธิวงศ์ นครราชสีมา ค.ศ.2008
บ้านเณรใหญ่ สามเณราลัยแสงธรรม สามพราน นครปฐม ค.ศ. 2009 – 2017
รับแต่งตั้งเป็นผู้อ่านพระคัมภีร์
วันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ.2014
โดยบิชอป ยอแซฟ ลือชัย ธาตุวิสัยฃ
รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยพิธีกรรม
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2015
โดยบิชอป ฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์
รับศีลบวชเป็นสังฆานุกร
วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 2016
โดยบิชอป ยอแซฟชูศักดิ์ สิริสุทธิ์
รับศีลบวชเป็นบาทหลวง
วันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 2017
โดยบิชอป ฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์
ณ วัดแม่พระราชินีแห่งสันติภาพ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง
พิธีปลงศพ คุณพ่อจูเซปเป้ แบร์ตี บาทหลวงตรีเวเนโต
พรุ่งนี้วันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2017 เวลา 20.30 น. เวลาเมืองไทย
(วันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2017 เวลา 14.30 น. ซึ่งเป็นเวลาของประเทศอิตาลี )
จะมีพิธีปลงศพของคุณพ่อจูเซปเป้ แบร์ตี บาทหลวงตรีเวเนโต
ในนามของสังฆมณฑลเชียงใหม่ ขอความกรุณาพี่น้องบาทหลวง นักบวช และพี่น้องสัตบุรุษ ทุกท่าน ได้ภาวนาเป็นพิเศษ สำหรับดวงวิญญาณของคุณพ่อ และเพื่อครอบครัวของคุณพ่อเอง ในวันและเวลาดังกล่าวนี้ด้วย
เยรูซาเล็ม:พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงขอร้องให้อยู่ในสถานภาพคงเดิม
เยรูซาเล็ม:พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงขอร้องให้อยู่ในสถานภาพคงเดิม
เยรูซาเล็มคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวยิว ชาวคริสต์ และชาวมุสลิม
วันพุธที่ 6 ธันวาคม 2017
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเรียกร้องให้รักษา “สถานภาพเดิม”(status quo) ของนครเยรูซาเล็มไว้ พระองค์กล่าวในการปราศรัยกับผู้เข้าเฝ้าทั่วไป ในวันพุธที่ 6 ธันวาคม 2017ณ ห้องประชุมเปาโลที่ 6
“ข้าพเจ้าไม่อาจทนเงียบได้อีกต่อไปเกี่ยวกับความกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ในขณะเดียวกันข้าพเจ้าก็ใคร่วิงวอนอย่างจริงใจขอให้มีการสร้างหลักประกันว่าทุกคนปวารณาตนที่จะรักษาสถานภาพเดิมของนครเยรูซาเล็มตามข้อตกลงแห่งสหประชาชาติ” พระสันตะปาปาตรัส
พระองค์ทรงตั้งข้อสังเกตว่า “เยรูซาเล็มเป็นนครที่มีอัตลักษณ์พิเศษ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวยิว ชาวคริสต์ และชาวมุสลิม เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ศาสนิกของทั้งสามศาสนาซึ่งให้ความเคารพต่อกันและนครยิ่งใหญ่นี้มีพรสวรรค์พิเศษที่นำไปสู่สันติภาพ
“ข้าพเจ้าอธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้าขอให้สถานที่อันมีความเป็นอัตลักษณ์พิเศษนี้จงได้รับการบำรุงรักษาและทำให้ดียิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์แห่งดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ของทุกคนในประเทศตะวันออกกลาง และทั่วทั้งโลก ขอให้ปรีชาญาณและความเฉลียวฉลาดจงได้เอาชนะต่อทุกสิ่ง ขอให้หลีกเลี่ยงที่จะเพิ่มสิ่งใหม่ๆเข้าไปอันจะก่อให้เกิดวามตึงเครียดในโลกซึ่งสั่นสะเทือนและได้รับผลร้ายจากความขัดแย้งที่เหี้ยมโหดมากมายที่มีอยู่แล้ว”
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บเรื่องนี้มาเพื่อการภาวนากับสันตะปาปา)