ฉลองท่านบุญราศี นิโคลัส บุญเกิด กฤษบำรุง

เมื่อ วันจันทร์ที่ 12 มกราคม 2018 เวลา 19.00 น. ณ อาสนวิหารพระหฤทัย เชียงใหม่ โดยบิชอป ฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์ เป็นประธานพิธี มีพี่น้องสัตบุรุษ เยาวชน นักเรียน นักศึกษา มาร่วมพิธีประมาณ 250 คน บรรยากาศพิธีเป็นไปอย่างเรียบง่ายแต่ชวนศรัทธา และอยู่ท่ามกลางอากาศที่ค่อนข้างเย็นกาย แต่คงอุ่นใจที่ได้รับพรจากท่านบุญราศีนิโคลัส คุณพ่อบุญเกิด กฤษบำรุง กันทุกคน

IMG_9221

มิสซา อุทิศแด่ การจากไป 30 วัน คุณพ่อจูเซปเป้ แบร์ตี

มิสซา อุทิศแด่ การจากไป 30 วัน คุณพ่อจูเซปเป้ แบร์ตี (บาทหลวงตรีเวเนโต) วันพฤหัสบดี ที่ 11 มกราคม 2061 ณ อาสนวิหารพระหฤทัย เชียงใหม่

1

การประชุมบาทหลวง สังฆมณฑลเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2018  สังฆมณฑลเชียงใหม่ มีการประชุมบาทหลวง ประจำเดือน หลังพิธีมิสซามีการแลกของขวัญสำหรับโอกาสคริสต์มาสและปีใหม่

1

พระคุณเจ้าพบเยาวชนเกาหลี

ยินดีต้อนรับเยาวชนจากเกาหลีจำนวน 22 คนนำโดยคุณพ่ออันดรูจากสังฆมณฑลเตจอน เพื่อมาสัมผัสชีวิตในเขตแม่ปอน สังฆมณฑลเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 8-16 มกราคม 2018 โดยเช้าวันนี้ได้พบบิชอปฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์ จากนั้นไปเยี่ยมชมการสร้างร่มที่บ่อสร้างสันกำแพง บ่ายไปเรียนรู้การแพร่ธรรมของมิชนารี่สมัยแรกในเขตงานแพร่ธรรมของแม่ปอนโดย คุณพ่อธินกร  ดำรงอุษาศีล จิตตาธิการเยาวชนสังฆมณฑลเชียงใหม่ จากนัันไปแม่กลางหลวงเพื่อจะทำกิจกรรมในวันต่อไป

1

ศาสนบริการครอบครัว

แผนกฆราวาสและครอบครัว  ในสหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชีย (FABC)  ได้จัดศึกษาเรื่องข่าวดีของครอบครัว  วันที่ 8-12 ตุลาคม ค.ศ. 2017  ณ ศูนย์อภิบาลคามิลเลี่ยน ลาดกระบัง กรุงเทพฯ  โดยศึกษาสมณลิขิตเตือนใจ  ความปีติยินดีแห่งความรัก (AL) และการสัมมนาเรื่อง การอภิบาลครอบครัว ของ FABC (ธันวาคม ค.ศ. 2016)  มีสมาชิกจาก 9 ประเทศ  จำนวน 19 คน  จากประเทศไทย คือ บิชอป สิริพงษ์  จรัสศรี  คุณพ่อเฉลิม  กิจมงคล  และคุณพ่อภูวนารถ  แน่นหนา

แนวทางสำหรับศาสนบริการครอบครัวในเอเชีย

การทำงานด้านครอบครัว  จำเป็นต้องมีการอบรม  เพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่า  เราได้รับเรียกให้รักครอบครัวและทะนุถนอมค้ำชู  ครอบครัวไม่ใช่ปัญหาแต่สำคัญที่สุดก่อนอื่นใด ครอบครัวเป็นโอกาส (AL 7)

ครอบครัวในเอเชีย  พบกับการเบียดเบียนศาสนา  ความยากจน  การอพยพ  ความขัดแย้งทางการเมือง – วัฒนธรรม  การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ  และความเครียด

ในการทำงานอภิบาลครอบครัว  เราจึงมีแนวทางต่อไปนี้

  1. ศาสนบริการครอบครัว คือ ศาสนบริการแห่งเมตตาธรรม ดังนั้นจำเป็นต้องมีการฝึกทักษะพื้นฐาน  ให้รู้จักฟังอย่างเห็นใจ (มิใช่ตัดสิน) รู้จักเคารพผู้ที่มาหาเรา  ไม่ว่าเขาอยู่ในสถานการณ์ใดๆ (AL 310, 318, 322)
  2. ศาสนบริกรต้องใช้ “กฎแห่งการค่อยเป็นค่อยไปในงานอภิบาล” และการแยกแยะด้านอภิบาล  การพบปะครอบครัว ณ สภาพของเขา  และก้าวเดินไปกับเขาเพื่อเปิดรับพระวรสารด้านการแต่งงาน (AL 122, 293, 295)
  3. ศาสนบริกรครอบครัวต้องเข้าใจเทววิทยาด้านการแต่งงาน เพื่อแนะนำคู่แต่งงานด้านศีลสมรส (AL 71, 73, 120-121)
  4. ศาสนบริกรครอบครัวควรช่วยครอบครัวให้ตระหนักแนวทางที่ทำลายชีวิตครอบครัว และส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งชีวิต (AL 32-51)
  5. ศาสนบริกรครอบครัวต้องตระหนักและยืนยันศักดิ์ศรีของสตรี ส่งเสริมความสัมพันธ์เสมอภาคในการแต่งงาน  ที่บ้าน  การตัดสินใจด้วยกัน  ความรับผิดชอบฐานะผู้ปกครอง ฯลฯ  เรื่องนี้ควรมีประจักษ์พยานจากเขตวัดด้วย (AL 54)
  6. ศาสนบริกรครอบครัวจำเป็นต้องสนใจครอบครัวที่ถูกลืม และต้องประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เอาใจใส่ครอบครัว เช่น สุขภาพอนามัย  การหางาน  และบ้าน (AL 44)
  7. การแต่งงานกับคนต่างความเชื่อ เป็นข้อเท็จจริง  เราต้องสนใจอภิบาลครอบครัวลักษณะนี้ (AL 247, 248)
  • ในสถานการณ์อันสลับซับซ้อนบางอย่าง เราควรเข้าไปหา
  • ควรต้อนรับเข้าในวิถีชุมชนวัด (BEC)
  • ถือเป็นโอกาสเสวนาและประกาศข่าวดี
  • สนใจอบรมความเชื่อแก่ลูกๆ ในครอบครัวนี้
  1. ศาสนบริกรครอบครัวต้องตระหนักถึงเทคโนโลยีและใช้สื่อสังคม เพื่อการอภิบาลครอบครัว (FABC XI, 37-38)
  2. การร่วมมือกันและการประสานงานในเขตวัดและสังฆมณฑล กับบุคลากรที่ทำงานช่วยครอบครัว  และผู้เชี่ยวชาญ (เช่น นักสังคม  แพทย์  นักจิตวิทยาบำบัด ฯลฯ)
  3. มีโครงสร้างสำหรับศาสนบริการครอบครัวในเขตวัด และสังฆมณฑลที่ยังไม่มีผู้รับผิดชอบด้านนี้
  4. ศาสนบริกรครอบครัวต้องรับการอบรมต่อเนื่อง และรู้จักดูแลตนเองเพื่อทำงานให้บังเกิดผลดียิ่งขึ้น

แปลสรุปจาก Guidelines for Family Ministry (October 2017)

สมโภชพระคริสต์แสดงองค์ 7 มกราคม 2018

07NavidadA3

บทอ่าน อสย 60:1-6   ;   อฟ 3:2-3, 5-6   ;   มธ 2:1-12

แสงสว่างสำหรับทุกคน

สมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์  สอนเราให้เข้าใจว่า การฉลองวันคริสต์มาสมิใช่เรื่องส่วนตัว (เฉพาะชาติใดชาติหนึ่ง) เป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์  สำหรับผู้ก้าวเดินในหนทางเหล่านี้  สมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์เป็นการเรียกและการท้าทายให้ข้ามอุปสรรค  และกล่าวซ้ำว่า พระเยซูเจ้าเสด็จมาสำหรับทุกคน

เบธเลเฮม… เล็กที่สุดในบรรดาหัวเมือง

นักบุญมัทธิวเล่าเรื่องมีสีสันมาก  หลังจากพระเยซูเจ้าประสูติ มีโหราจารย์เดินทางมายังกรุงเยรูซาเล็ม  ไม่ได้กล่าวว่ามี 3 คน  ไม่ได้กล่าวว่าเป็นกษัตริย์ หรือเชื้อชาติแตกต่างกัน (ผิวสีต่างกัน)  แต่ตามธรรมประเพณีคริสตชน  ได้เติมสีสันเพิ่มเข้ามา  คำว่า โหราจารย์ หมายถึง นักปราชญ์  บาทหลวง  หรืออาจเป็นโหราจารย์  พวกเขาสืบถามหา “กษัตริย์ชาวยิว” (วรรคที่ 2)  ทำให้กษัตริย์เฮโรดทรงวุ่นวายพระทัย  เรียกบรรดาธรรมาจารย์มาถามจึงทราบว่า  พระคริสต์จะประสูติที่เมืองเบธเลเฮม  อ้างถึงประกาศกมีคาห์  มัทธิวยืนยันว่า เบธเลเฮมมิใช่เล็กที่สุดในบรรดาเมืองต่างๆ ของอิสราเอล  นักบุญมัทธิวเปลี่ยนคำที่มีความหมายว่า “เล็กที่สุด” ในภาษากรีก  โดยใช้ในบทที่ 25 วรรคที่ 40 และ 45 ว่า เราพบพระเยซูเจ้าใน “ผู้ต่ำต้อยที่สุด”  เหมือนเบธเลเฮม  คนจนและคนที่ถูกลืม  เป็นคนไม่สำคัญ  แต่พวกเขายิ่งใหญ่เพราะเหตุว่า  พระเจ้าเสด็จมาหาเราโดยอาศัยพวกเขา

โหราจารย์ได้พบพระกุมาร  และคุกเข่าลงนมัสการพระองค์  เรื่องจบลงอย่างสวยงาม  พวกเขารู้ว่าเฮโรดมีเจตนาร้าย  โหราจารย์จึงกลับไปบ้านเมืองของตนโดยทางอื่น (วรรคที่ 12)  เราจึงสรุปได้ว่า  การพบพระเยซูเจ้าแล้วพวกเขาก็เปลี่ยนแปลงชีวิต  เพราะเหตุว่า ในพระคัมภีร์  การเปลี่ยนหนทางเป็นสัญลักษณ์หมายถึง การกลับใจ  นี่ต้องเป็นผลของการที่เราพบปะพระเยซูเจ้าด้วย  การเปลี่ยนแปลงชีวิตช่วยให้สามารถพบหนทางอื่น

การเผยแสดงของธรรมล้ำลึกนี้

ธรรมล้ำลึกในมุมมองพระคัมภีร์ มิได้หมายถึง ปริศนา และปัญหาที่แก้ไขไม่ได้  แต่เป็นข้อเท็จจริงที่อยู่รอบตัว  แต่เรายังเข้าใจไม่สมบูรณ์  ในบริบทนี้ ธรรมล้ำลึกมิได้ถูกสงวนไว้สำหรับบางคนที่ได้รับเลือก  แต่ต้องถูกสื่อสารให้ทุกคน  นักบุญเปาโลกล่าวกับชาวเอเฟซัสว่า “พระเจ้าทรงเปิดเผยธรรมล้ำลึกนี้  พระองค์มิได้เปิดเผยให้มนุษย์ในอดีตรู้  แต่บัดนี้ ‘คนต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในกองมรดกเดียวกัน  ร่วมเป็นกายเดียวกัน… ร่วมรับพระสัญญาเดียวกันในพระคริสตเยซู อาศัยข่าวดี’ ” (อฟ 3:6)  นี่เป็นหัวใจของการสมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์  การเปิดเผยต่อโหราจารย์จากทิศตะวันออก  เป็นการแสดงองค์ต่อคนต่างความเชื่อ  ตามประเพณีคริสตชนจึงอยู่ในช่องทางที่ถูกต้องแล้ว  เมื่อชี้ให้เห็นโหราจารย์เป็นตัวแทนของชาติต่างๆ และเผ่าต่างๆ

ข้อความจากประกาศกอิสยาห์  เตือนใจเราถึงสัญลักษณ์หนึ่งที่เป็นแก่นของการฉลองนี้ “จงลุกขึ้นเถิด  จงฉายแสงเจิดจ้าเพราะความสว่างของเจ้ามาแล้ว  พระสิริรุ่งโรจน์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าทอแสงเหนือเจ้า” (อสย 60:1)  แสงสว่างซึ่งพระวาจาของพระเจ้านำมาให้เรา  ทำให้ “ความมืดซึ่งปกคลุมแผ่นดิน” (วรรคที่ 2) หายไป  นานาชาติจะมาหาความสว่างนี้ (วรรคที่ 3)   ทุกคนถูกเรียกให้มาเป็นศิษย์ของพระเยซูคริสตเจ้า (มธ 28:19)  วันพระคริสตเจ้าแสดงองค์เป็นวันฉลองธรรมทูตยิ่งใหญ่  วัดใดไม่เป็นธรรมทูตก็ขัดแย้ง  ในฐานะชุมชนศิษย์พระคริสต์  ดังนั้นสำหรับคริสตชนทุกคน  ความเชื่อมิใช่เรื่องส่วนบุคคลและภายในใจ  แต่ความเชื่อต้องมีการสื่อสารออกไปและต้องเป็นชีวิตในชุมชน

บิชอป  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล
จาก  Sharing the Word Through the Liturgical Year
 โดย Gustavo Gutierrez, หน้า 36-38.

พื้นที่โครงการชุมชนศิษย์พระคริสต์ประกาศข่าวดีใหม่

เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2018 โอกาสขึ้นปีใหม่ ถือเป็นโอกาสดีที่คุณพ่อบุญเลิศ สร้างกุศลในพสุธา เจ้าอาวาส เขตวัดนักบุญเทเรซาแห่งกัลกาตา อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้จัดให้มีพิธีเสกและเปิดวัดเป็นทางการในอำเภอปาย แห่งนี้ โดยเริ่มด้วย นายธนกฤต จำรัสศีลป์ นายอำเภอปาย เป็นประธานตัดริบบิ้นเปิดวัดใหม่ และต่อด้วยพิธีเสกโดยพระคุณเจ้าฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อภาภรณ์รัตน์ เป็นประธานในพิธีเสกดและถวายพิธีบูชาขอบพระคุณในครั้งนี

สำหรับประวัติความเป็นมาของวัดนักบุญเทเรซาแห่งกัลกาตา อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แห่งนี้ เริ่มด้วยเมื่อปี พ.ศ. 2547  คุณพ่อแสงชัย ไอ่จาง ซึ่งเป็นชาวลาหู่ มีความสนใจที่จะติดตามกลุ่มคริสตชนที่เป็นชาวลาหู่ ซึ่งได้อพยพมาจากเขตอำเภอฝาง และเชียงดาว มาตั้งรกรากในเขตอำเภอปาย ตามหมู่บ้านบนดอยต่างๆ โดยคุณพ่อได้อาศัยพักที่บ้านพักของาคุณพ่อในการทำงานติดตามกลุ่มคริสตชนในเขตอำเภอปาย ต่อมาคุณพ่อสมพงษ์ กัมพลกูล ได้ย้ายจากเขตวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ แม่ฮ่องสอน ได้มาร่วมงานกับคุณพ่อแสงชัย ที่อำเภอปายนี้ โดยเน้นที่กลุ่มชาวปกาเกอะญอ เช่นที่อำเภอกัลยานิวัฒนา แต่คุณพ่อสมพงษ์ ได้ทำงานที่อำเภอปายนี้เพียงเดียวจึงได้ย้ายไปทำงานที่ขุนแม่ลาน้อย ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 คุณพ่อแสงชัย ไอ่จาง ได้ย้ายไปเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสอาสนวิหารพระหฤทัย เชียงใหม่ และคุณพ่อธงชัย สุวรรณใจ ได้เข้ามาทำหน้าที่รับผิดชอบเขตอำเภอปายจนถึงปี พ.ศ. 2559 แล้วได้ย้ายไปรับผิดชอบงานที่เขตวัดแม่พระบังเกิด เชียงราย จากนั้นคุณพ่อบุญเลิศ สร้างกุศลในพสุธา จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส ทำหน้าที่รับผิดชอบเขตอภิบาลทั้งที่อำเภอปายและที่อำเภอกัลยานิวัฒนาด้วย แต่เนื่องจากยังไม่มีวัดเป็นทางการรวมทั้งที่พักของบาทหลวงด้วย โดยในช่วงแรกนั้น ได้เช่าบ้านพักและได้ปรึกษากับพระคุณเจ้าและคณะที่ปรึกษาเพื่อจัดซื้อที่ดินและสร้างวัดเป็นทางการ

วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ได้จัดซื้อที่ดินจำนวน 3 ไร่ 2 งาน 76 ตารางวา จากนายอำพัน ปรีชาญาวิชัยกุล จากนั้นวันที่ 7 มกราคม 2560 ได้เริ่มลงมือทำการปรับและเตรียมที่สำหรับสร้างบ้านพักบาทหลวงหลังแรก จากนั้นวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 คุณพ่อบุญเลิศ จึงได้ย้ายเข้ามาอยู่ประจำในที่วัดนี้ โดยมีครูคำสอน ตระการ สร้างเสริมประชา ได้เข้ามาช่วยงานแพร่ธรรมและอภิบาลร่วมกับคุณพ่อ ต่อมาวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ได้เริ่มดำเนินการสร้างวัดโดยมีนายพงษ์พนา นายพรชัย สร้างกุสลในพสุธา ซึ่งเป็นน้องชายของคุณพ่อเอง รวมทั้งนาย ศิรวัส ซึ่งเป็นน้องภรรยาของครูคำสอน ตระการ ได้มาช่วยงานก่อสร้างด้วย สำหรับการก่อสร้างวัดหลังนี้ใช้เวลา 185 วันจึงแล้วเสร็จ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,519,119.00 บาท ซึ่งได้รับบริจาคจากหลายท่าน

หลังจากมีพิธีเสกและเปิดวัดอย่างเป็นทางการแล้ว ทำให้คริสตชนหลายท่านที่ได้มาอาศัยอยู่ในเขตอำเภอปายนี้ เริ่มรู้จักและได้มีการบอกต่อกันไป จำทำให้กิจกรรมของวัดกลับมามมีชีวิตชีวาและจะเจริญมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตั้งแต่นี้เป็นต้นไป จะมีพิธีบูชาขอบพระคุณในวันอาทิตย์ เวลา 10.00 น. โดยเฉพาะพี่น้องนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปที่อำเภอปายสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลพิธีบูชาขอบพระคุณได้ที่คุณพ่อบุญเลิศ สร้างกุศลในพิสุธาที่หมายเลข  08-9850-6906

และที่เขตวัดอำเภอปายแห่งนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่โครงการที่บาทหลวงสังฆมณฑลเชียงใหม่ กำหนดให้เป็นพื้นที่พิเศษในการจัดโครงการชุมชนศิษย์พระคริสต์ประกาศข่าวดีใหม่ โดยเฉพาะที่เขตกัลยานิวัฒนา ซึ่งจะเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่จะถึงนี้ จะมีกลุ่มบาทหลวงโดยเฉพาะที่เป็นชาวปกาเกอะญอ จะเข้าไปร่วมชีวิตและจัดกิจกรรมกับพี่น้องคริสตชนที่นั่นเพื่อเป็นการให้กำลังใจพี่น้องคริสตชนที่นั่นซึ่งมีอยู่ไม่กี่สิบคน และขอคำภาวนาสำหรับงานแพร่ธรรมในเขตอำเภอปายนี้จะได้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น

DSC06944