บทเทศน์บทรำพึง สัปดาห์ที่ 33 เทศกาลธรรมดาปี A
“ผู้รับใช้ที่ดีและซื่อสัตย์ เจ้าซื่อสัตย์ในสิ่งเล็กน้อย”
เรื่องอุปมาที่พระเยซูเจ้าทรงเล่าให้บรรดาศิษย์ฟังในพระวรสารอาทิตย์นี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และเป็นเรื่องใกล้ตัว
“อาณาจักรสวรรค์ยังจะเปรียบได้กับบุรุษผู้หนึ่งกำลังจะเดินทางไกล เรียกผู้รับใช้มามอบทรัพย์สินให้ ให้คนที่หนึ่งห้าตะลันต์ ให้คนที่สองสองตะลันต์ ให้คนที่สามหนึ่งตะลันต์ ตามความสามารถของแต่ละคน แล้วจึงออกเดินทางไป”
บุรุษผู้นั้นคือพระเยซูเจ้านั่นเอง พระองค์ทรงถูกพระบิดาส่งลงมาในโลกนี้ เพื่อเผยแสดงข่าวดีเกี่ยวกับพระเจ้าและพระอาณาจักรสวรรค์ ครั้นถึงกำหนดเวลาพระองค์ทรงออกเดินทางไกล เสด็จขึ้นสวรรค์ โดยทรงละเราทั้งหลายซึ่งเป็นผู้รับใช้ของพระองค์ไว้ในโลกนี้ แต่ไม่ได้ทรงละทิ้งไว้ด้วยมือที่ว่างเปล่า ทรงมอบให้ซึ่งความสามารถในการประกาศข่าวดีแห่งพระอาณาจักรของพระเจ้า โดยที่เราแต่ละคนอาจจะมีความสามารถแตกต่างกันไป หรือได้รับเงินตะลันต์มาในจำนวนที่ไม่เท่ากัน ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินที่ได้รับมา แต่อยู่ที่ว่าเราจะใช้มันอย่างไรเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหาก
พระเยซูเจ้าจะเสด็จกลับมาครั้งที่สอง จะทรงดูว่าเราแต่ละคนใช้พรสวรรค์ที่พระเจ้าประทานให้ไว้อย่างไรบ้าง บรรดานักบุญทั้งหลายในสวรรค์ก็เหมือนกับคนรับใช้ที่หนึ่งและที่สอง พวกเขาได้ใช้พรสวรรค์อย่างเต็มที่ ทำให้มีกำไรกลับมาถวาย เราทุกคนและมนุษย์ทั้งหลายก็น่าจะเป็นอย่างนั้น และน่าจะทำตามอย่างนั้น
แต่พระวรสารตอนนี้ก็ยังเน้นถึงบทบาทหรือท่าทีที่ผิดของผู้รับใช้ที่สามอีกด้วย เขากลัวว่านายเป็นคนดุและเข้มงวด จึงนำเงินที่ได้รับมาไปฝังดินไว้ เพื่อจะได้มาใช้คืนตอนที่นายกลับมาโดยไม่มีอะไรเสียหาย หรือบุบสลายไปเลย ชายคนนี้อาจอ้างว่าตัวเองได้รับเงินตะลันต์มาน้อย มีแค่หนึ่งเหรียญ จะเอาไปทำกำไรอะไรได้ จึงใช้ข้อนี้เป็นเหตุผลเพื่อเขาจะได้ไม่ต้องทำอะไรเลย เพื่อเขาจะได้อยู่อย่างเกียจคร้าน
การได้รับเงินตะลันต์หรือพรสวรรค์จากพระเจ้าสำหรับคนแต่ละคน ซึ่งพระองค์ประทานให้ตามความสามารถ ควรจะนำมาซึ่งความชื่นชมยินดี การเฉลิมฉลอง และนำไปต่อยอดให้ออกดอกออกผลอย่างครื้นเครงและร่าเริงบันเทิงใจ เหมือนที่ผู้รับใช้สองคนแรกได้ทำ จนได้รับคำชมเมื่อนายกลับมาว่าเป็น “ผู้รับใช้ที่ดีและซื่อสัตย์ เจ้าซื่อสัตย์ในสิ่งเล็กน้อย เราจะให้เจ้าจัดการในเรื่องใหญ่ๆ” ไม่ใช่นำมาซึ่งความหวาดกลัวเหมือนกับผู้รับใช้คนที่สาม ดังนั้น เขาจึงสวมบทบาทของสัปเหร่อ เอาเงินตะลันต์หรือพรสวรรค์ที่พระประทานให้มานั้นไปฝังดินเสีย แทนที่จะจัดงานรื่นเริง คนคนนี้กลับจัดงานศพ
เราจะเห็นถึงท่าทีที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงระหว่างผู้รับใช้คนที่หนึ่ง คนที่สอง ซึ่งต่างกับคนที่สาม โดยพวกแรกที่มีถึงสองคน แม้มีความสามารถต่างกัน และมีพรสวรรค์ไม่เท่ากัน แต่ต่างก็กระตือรือร้นจะมีส่วนร่วมในแผนการแห่งความรอดของพระ แต่พวกหลังเป็นพวกที่ไม่อยากยุ่งเกี่ยวใดๆ กับพระเลย
แล้วเราเป็นพวกไหนกันแน่ เราเป็นพวกชอบจัดงานรื่นเริงหรือว่างานศพ
( คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดพระกุมารเยซู เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 2008 )
บทเทศน์บทรำพึง สัปดาห์ที่ 33 เทศกาลธรรมดาปี A
หัวข้อ : เวลา (Time) พรสวรรค์ (Talents) และทรัพย์สมบัติ (Treasures)
นักไวโอลินผู้เป็นตำนานชาวอเมริกันนามว่า เยฮูดี เมนูฮิน (Yehudi Menuhin) เมื่ออายุแค่ 7 ขวบได้แสดงไวโอลิน คอนแชร์โตของเมนเดลส์โซห์น (Mendelssohn’s Violin Concerto) ต่อหน้าสาธารณชนแล้ว และเมื่ออายุ 10 ขวบได้แสดงเดี่ยวไวโอลินที่ Royal Albert Hall ของกรุงลอนดอน ซึ่งปรากฎการณ์ครั้งนี้ทำให้อัลเบิร์ต ไอสไตน์ (Albert Einstein) ซึ่งมานั่งฟังอยู่ด้วยถึงกับกระซิบกับเด็กน้อยแสนมหัศจรรย์คนนี้ว่า “วันนี้ เธอได้พิสูจน์ให้ฉันเห็นว่ามีพระเป็นเจ้าสถิตในสวรรค์จริงๆ” เป็นความจริงที่ว่า เมื่อเราประสบเรื่องของพรสวรรค์ที่พัฒนาขึ้นภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว เรามักจะนึกไปถึงพระเป็นเจ้า เหมือนเป็นการชิมลางในสวรรค์ก่อนเวลา และพระวาจาของพระเจ้าในวันนี้ทำให้เราตระหนักว่าพระเป็นเจ้าทรงต้องการให้เราใช้พรสวรรค์หรือเงินตะลันต์ และทรัพย์สมบัติของเรา ให้เกิดผลก่อนที่เวลาจะจบสิ้นไป
นักบุญมัทธิวได้จัดวางอุปมาเรื่องเงินตะลันต์นี้ไว้ในบริบทของเวลาสุดท้าย ซึ่งจะเป็นบรรยากาศของความเร่งด่วนและมิได้คาดหวัง เงินตะลันต์หรือพรสวรรค์ไม่ได้เกิดจากความสามารถตามประสามนุษย์ แต่เป็นการมอบให้โดยผู้เป็นนาย ซึ่งวันหนึ่งจะกลับมาโดยไม่ต้องสงสัย แต่จะเป็นเมื่อไรนั้น ไม่มีใครรู้ สิ่งที่เป็นเนื้อหาก็คือผู้นั้นจะต้องนำไปใช้อย่างฉลาดหลักแหลมให้เกิดประโยชน์อย่างสมน้ำสมเนื้อ เพื่อจะรายงานสิ่งที่ไปทำให้เกิดผลขึ้นมาเมื่อนายนั้นกลับมา คำว่า “หลังจากนั้นอีกนาน นายจึงกลับมา” บ่งชี้ให้เห็นว่าเวลาสุดท้ายยังไม่มีการระบุอย่างแน่ชัด ไม่จำเป็นต้องหมายถึงว่าจิ่มจวนจะถึงเวลาแล้ว
บรรดาผู้รับใช้ที่สมควรได้รับความไว้วางใจและซื่อสัตย์ คือพวกที่ยอมเสี่ยงและลงทุนลงแรงไป ในขณะที่คนที่ควรได้รับคำตำหนิกลับไปขุดหลุมและฝังเงินไว้ เขาไม่ยอมถอดรหัส “เครื่องหมายของกาลเวลา” คิดแต่ให้ปลอดภัยเท่านั้น เขากลัวการเสี่ยงและการเผชิญหน้ากับความท้าทาย ในความเกียจคร้านของเขาที่คิดเพียงจะมอบสิ่งที่ได้รับมาให้กลับคืนไปโดยไม่บุบสลาย ก็เท่ากับหาเรื่องเดือดร้อนให้ตัวเอง เพราะอะไรก็ตามที่ไม่นำไปใช้ก็จะเสื่อมและตายไปโดยมิต้องสงสัย
อาจตีความอย่างอื่นได้อีกว่า ผู้รับใช้ที่ฝังเงินตะลันต์ไว้ใต้ดินหมายถึงพวกซัดดูสีและฟาริสี ซึ่งเป็นพวกที่เคร่งทางธรรมประเพณี พวกนี้มีทัศนคติแบบคงอยู่กับที่ หยุดนิ่งไม่พัฒนา เหมือนน้ำนิ่งที่เน่าเสีย ซึ่งจะขัดกับอุปมาเรื่องนี้ที่นำเสนอในคำศัพท์เทคนิคที่กล่าวถึงเรื่อง “การมอบให้” เช่นนายเรียกผู้รับใช้มา “มอบทรัพย์สินให้” (มธ. 25:4) คนที่ได้รับห้าตะลันต์นำกลับมา “มอบคืนให้” รวมทั้งที่ทำกำไรด้วย (ข้อ 20) เช่นเดียวกับคนที่ได้รับสองตะลันต์ก็นำมา “มอบคืนให้” ทั้งต้นและกำไรเช่นกัน (ข้อ 22) สรุปคือต้องนำสิ่งที่ได้รับมอบมา นำไปต่อยอดให้บังเกิดผล และนำกลับมา “มอบคืน” ไม่ใช่ “แช่แข็ง” ไว้เช่นนั้น ถ้าเป็นสมัยปัจจุบันนี้ อาจหมายถึง พวกสมณะที่แสวงหาความมั่นคงปลอดภัย หาทางหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมเดิมๆแค่ตัวอักษร โดยไม่ใส่ใจต่อจิตตารมณ์
ในบทอ่านที่สอง นักบุญเปาโลพูดถึง “วันเวลาที่กำหนด” ในบริบทถึงเรื่อง “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ที่นี่ มีเนื้อหาหลักเรื่องของความไม่คาดคิดและความจำเป็นในการเตรียมพร้อมผุดขึ้นมา คำว่า “ขโมยที่มาตอนกลางคืน” และ “โดยฉับพลันเหมือนความเจ็บปวดของหญิงมีครรภ์” ให้ภาพพจน์เป็นรูปหมายที่เน้นถึงหัวข้อเวลาสุดท้ายของโลก
ในบทอ่านแรกและในบทสดุดีส่งเสริมเนื้อหาของกันและกัน โดยบทอ่านแรกอธิบายถึงคุณสมบัติของเหล่าภรรยาที่ต้องมี และบทสดุดีพูดถึงคุณธรรมของเหล่าสามี ทั้งสองฝ่ายต้องมีความยำเกรงในพระเจ้า และทั้งคู่ต้องทำงานหนัก โดยสิ่งนี้เองที่จะทำให้ครอบครัวมีความสุขและได้รับพระพร
ให้เราหันกลับมามองเรื่อง เวลา พรสวรรค์ และทรัพย์สมบัติจากมุมมองของพระเป็นเจ้า ในสามสิ่งนี้มีสิ่งไหนหรือไม่ที่พระองค์มิได้ประทานให้ พระองค์ทรงเป็นผู้สร้างตลอดกาล และทรงเป็นเจ้าของพรสวรรค์และทรัพย์สมบัติทั้งมวล ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า “อะไรที่เราเป็นคือของขวัญของพระเจ้าที่ทรงมอบให้แก่เรา ส่วนอะไรที่เราจะกลับกลายเป็นคือของขวัญของเราที่จะมอบถวายให้แด่พระเจ้า” จึงเป็นการบังควรมิใช่หรือที่เราจะพัฒนาให้พรสวรรค์ของเรา -ไม่ว่าเป็นส่วนบุคคลหรือเกี่ยวกับเงินทอง- นำไปใช้บริการสังคมมนุษย์อย่างไม่เห็นแก่ตัว และถือเป็นของขวัญมอบถวายคืนแด่พระเจ้า เพราะแท้จริงแล้ว เราเป็นแต่เพียงผู้ดูแลทรัพย์สิน และทุกๆสิ่งต้องส่ง “มอบคืนให้” เวลาที่นายกลับมา
นักเขียนนวนิยายชื่อ ซินแคลร์ ลูอิส (Sinclair Lewis) ครั้งหนึ่งถูกเหล่านักเรียนห้อมล้อมในการให้คำบรรยายเรื่องศิลปะของการเขียน พวกเขาพากันมาบอกว่ามีความปรารถนาลึกๆจะเป็นนักเขียน ลูอิสจึงเริ่มอภิปรายว่า “มีจำนวนมากเท่าไรในพวกเธอที่อยากเป็นนักเขียนจริงๆ” ทุกคนยกมือขึ้น ลูอิสกล่าวต่อว่า “ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ฉันไม่มีอะไรจะสอนหรือบอกพวกเธอ ฉันมีแค่คำแนะนำว่าจงกลับไปบ้าน และเขียน เขียน เขียน” (write, write, write) เราอาจเพิ่มด้วยคำว่า “จงฝึกปฏิบัติ จงฝึกปฏิบัติ จงฝึกปฏิบัติ” (practise, practise, practise) เพื่อให้ขีดขั้นความสมบูรณ์เพิ่มพูนและแผ่ซ่านเข้าไปในทุกๆพรสวรรค์หรือเงินตะลันต์ที่เราลงทุนไป โดยที่เราต้องเป็นผู้ลงมือทำด้วยตัวเอง แล้วนั้น เราอาจะจะได้ยินถ้อยคำนี้ “จงมาร่วมยินดีกับนายของเจ้าเถิด”
(เขียนโดย คุณพ่อวิชา หิรัญญการ ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2017
Based on : Sunday Seeds for Daily Deeds โดย Francis Gonsalves, S.J.)