การเสวนาสากลครั้งแรกระหว่างภคินีพุทธและคริสต์ยืนยันว่า
พวกเขาสามารถเป็นประจักษ์พยานชีวิตที่ทรงพลังในสังคมโลก
Buddhist-Christian dialogue.
บรรดานักบวช/นักพรตหญิง (ภคินี)70 ท่าน จาก 16 ประเทศรวมตัวกันมาประชุมที่ไต้หวัน ตั้งแต่วันที่ 14-18 ตุลาคม ค.ศ. 2018 เพื่อแบ่งปันความคิดและเสวนากันเกี่ยวกับชีวิตพิศเพ่งและชีวิตการทำงานในสังคมโลกตามแนวความเชื่อของตน
การประชุมเสวนาสากลครั้งแรกของภคินีของพุทธศาสนาและคริสต์ซึ่งจบลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ไต้หวันได้มีการปวารณาตนที่จะส่งเสริมความเข้าใจและมิตรภาพระหว่างกันเพื่อที่จะเป็นประจักษ์พยานต่อผู้อื่นพร้อมกับนำความหวังและการเยียวยาไปสู่ผู้ที่มีความต้องการ
การเสวนาในวันที่ 14-18 ตุลาคม ค.ศ. 2018 ภายใต้หัวข้อ “Contemplative Action and Active Contemplative: Buddhist and Christian Nuns in Dialogue” นำภคินี70 คนจากไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ศรีลังกา เมียนม่าร์ ไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง กัมพูชา ฟิลิปปินส์ บราซิล อิตาลี เยอรมนี และสหรัฐอเมริกามาร่วมประชุม นอกนั้นยังมีผู้แทนจากสหพันธ์คริสตจักรโลก (WCC) เข้าร่วมด้วย
การเสวนา 4 วัน ได้เสวนาในเชิงลึกถึงประเด็นต่างๆ เช่น ต้นกำเนิด วิวัฒนาการ และสถานการณ์ปัจจุบันของชีวิตในอารามนักบวชหญิงของศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ สมาธิของชาวพุทธและการพิศเพ่งของชาวคริสต์ การรับใช้เพื่อนมนุษย์ นักบวชหญิงส่งเสริม “ภูมิปัญญาสตรี” เป็นต้น
ในแถลงการณ์วันสุดท้ายบรรดาภคินียอมรับว่าการเสวนาช่วยส่งเสริมความเข้าใจและมิตรภาพระหว่างกันเพื่อสร้างสะพานที่เชื่อมโยงกับหนทางสู่ชีวิตจิตรูปแบบต่างๆ
พวกเขาตระหนักว่าในขณะที่เชื่อมั่นในความเชื่อของตนพวกเขาสามารถเรียนรู้จากกันและกันในการสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง การเป็นบุคคลที่สุภาพถ่อมตน และสามารถเป็นประจักษ์พยานชีวิตที่มีความน่าเชื่อถือให้กับผู้อื่นด้วย
ทั้งนักบวช/นักพรต (ภคินี) ชาวพุทธและชาวคริสต์กล่าวว่าพวกเขาสามารถเป็นประจักษ์พยานต่อความจริงที่ว่าชีวิตสามารถมีความหมายและมีความชื่นชมยินดีได้โดยอาศัยการละเลิกจากลัทธิบริโภคนิยม วัตถุนิยม และปัจเจกนิยม
บรรดานักบวช/นักพรตหญิงที่ไปร่วมประชุมยังให้ความสำคัญกับการดำเนินชีวิตพิศเพ่งท่ามกลางการทำงานในสังคมโลก เพื่อแสดงความอ่อนโยนและนำความหวังและการเยียวยาไปให้กับผู้ที่มีความต้องการด้วย
ผู้แทนนักบวชหญิงศาสนาคริสต์ที่ไปร่วมประชุมครั้งนี้ คือ ซิสเตอร์ มารีอากัลยา ตรีโสภา จากอารามภคินีคณะพระหฤทัยแห่งกรุงเทพฯ และผู้แทนนักพรตหญิงชาวพุทธ คือ ภิกษุณีธัมมนันทา (ชื่อเดิม รองศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ภิกษุณีชาวไทย สังกัดสยามนิกาย ประเทศศรีลังกา)
การเสวนาจัดโดยสมณสภาเพื่อการเสวนาระหว่างศาสนาแห่งสันตะสำนัก นครรัฐวาติกัน (PCID) โดยร่วมมือกับอารามนักพรตพุทธศาสนาโฟะ กวง ชาน(FoGuang Shan)ในไต้หวัน สมาพันธ์อธิการนักบวชหญิงคาทอลิกในไต้หวัน และ ศูนย์กลางเสวนาระหว่างชีวิตนักพรต (Dialogue InterreligeuxMonastique/Monastic Interreligious Dialogue – DIM-MID)
การประชุมครั้งต่อไป คาดว่าจะเป็นปี ค.ศ. 2020 ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการกำลังปรึกษาหารือในเรื่องนี้อยู่
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บข่าวนี้มาแบ่งปันและไตร่ตรอง)