“ข้าพเจ้ารู้สึกดวงวิญญาณเจ็บปวดมาก
ต่อสถานการณ์ที่มีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก/ผู้เยาว์”
วันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 2017 ณ นครรัฐวาติกัน
© หนังสือพิมพ์ L’Osservatore Romano
“ข้าพเจ้าใคร่ที่จะแบ่งปันกับท่านถึงความเจ็บปวดแสนสาหัสในดวงวิญญาณต่อสถานการณ์ที่มีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก/ผู้เยาว์” สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงลิขิตในข้อความที่มีถึงสมาชิกสมณสภาเพื่อปกป้องคุ้มครองเด็ก/ผู้เยาว์ในการประชุมกันเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2017 ที่สำนักพระราชวัง ณ นครรัฐวาติกัน
สมเด็จพระสันตะปาปาตรัสว่า “การเป็นที่สะดุดเรื่องการล่วงละเมิดเพศเป็นหายนะใหญ่หลวงแท้จริงสำหรับมนุษยชาติ ซึ่งเป็นผลร้ายโดยตรงต่อเด็ก ผู้เยาว์ เยาวชน และผู้ใหญ่จำนวนมากในทุกประเทศและทุกสังคม ข้าพเจ้ารู้สึกอับอายที่บาทหลวงและนักบวชซึ่งเป็นบุคคลที่ควรได้รับการเคารพและความไว้วางใจ แต่กลับกลายเป็นผู้ที่ล่วงละเมิดเพศเสียเอง”
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงกล่าวย้ำเรื่องพระเมตตาโดยตั้งข้อสังเกตว่าพระศาสนจักร “ถูกเรียกร้องให้เป็นสถาบันแห่งความเมตตาและมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์ทรมาน” พระองค์ทรงอธิบายต่อไปว่า “สำหรับเราทุกคนพระศาสนจักรคาทอลิกเปรียบเสมือนโรงพยาบาลภาคสนามที่อยู่เคียงข้างกับพวกเราในการเดินทางฝ่ายจิต”
คำปราศรัยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส (ฉบับเต็ม)
“พี่น้องชายหญิงที่รัก
ข้าพเจ้าขอต้อนรับทุกคนในโอกาสเปิดประชุมสมัชชาใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าพเจ้าใคร่ขอขอบคุณพระคาร์ดินัล โอมัลลีสำหรับการกล่าวต้อนรับข้าพเจ้าด้วยมธุรสวาจาและในขณะเดียวกันก็ยังได้พูดถึงความชื่นชมต่อข้อคิดเห็นที่นายเฮอร์เมนไกลด์ มาโกโร และ นายบิล คิลคัลป์ลอนกล่าวในนามของพวกท่าน ซึ่งเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดที่ดีเกี่ยวกับบทบาทของคณะกรรมาธิการที่ข้าพเจ้าได้สถาปนาขึ้นเมื่อสามปีที่แล้ว นี่แหละเป็นการรับใช้ซึ่งข้าพเจ้าหวังว่าจะช่วยได้มากสำหรับปีต่อๆไปสำหรับพระสันตะปาปา สันตะสำนัก บิชอปและเจ้าคณะนักบวชทั่วโลก
ขณะที่พวกเรามาพบปะกันในวันนี้ข้าพเจ้าใคร่ที่จะแบ่งปันกับพวกท่านถึงความปวดร้าวลึกๆที่ข้าพเจ้ารู้สึกในดวงวิญญาณต่อสถานการณ์เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก/ผู้เยาว์ดังที่ข้าพเจ้าได้แสดงออกมาหลายครั้งเมื่อไม่นานมานี้ การเป็นที่สะดุดเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศเป็นหายนะอันร้ายกาจน่ารังเกลียดสำหรับมนุษย์ทั้งโลก แน่นอนมันมีผลร้ายต่อผู้เยาว์ เยาวชน และผู้ใหญ่ในทุกประเทศและทุกสังคม นี่เป็นประสบการณ์ที่ปวดร้าวมากสำหรับพระศาสนจักรข้าพเจ้ารู้สึกอายมากสำหรับการเป็นที่สุดที่กระทำโดยบาทหลวงหรือนักบวชซึ่งควรที่จะเป็นผู้ที่ได้รับความเคารพและไว้วางในมากที่สุด แต่ข้าพเจ้าก็มีประสบการณ์กับการเรียกร้องเช่นเดียวกันซึ่งเราเชื่อมั่นว่ามาจากพระเยซูคริสตเจ้าที่เรียกร้องให้เราทำพันธกิจของพระศาสนจักรในการปกป้องคุ้มครองทั้งเด็ก เยาวชนและผู้ใหญ่
ข้าพเจ้าขอพูดชัดๆว่าการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก/ผู้เยาว์เป็นบาปหนัก ซึ่งพฤติกรรมอันเลวร้ายนี้อยู่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงและมันยังเป็นการขัดแย้งกับสิ่งที่พระเยซูคริสตเจ้าและพระศาสนจักรสั่งสอนณ กรุงโรมนี้ข้าพเจ้ามีโอกาสรับเรื่องราวมากมายที่เหยื่อและผู้ที่ถูกละเมิดนำมาเล่าแบ่งปันให้ข้าพเจ้าฟัง ในการประชุมหลายครั้งพวกเขาพูดอย่างเปิดเผยถึงผลร้ายแห่งการล่วงละเมิดเพศต่อชีวิตทั้งของพวกเขาเองและครอบครัวของพวกเขา ข้าพเจ้าทราบว่าพวกท่านเองก็มีโอกาสมีส่วนร่วมในการประชุมทำนองเดียวกัน ซึ่งการประชุมดังกล่าวคงจะมีส่วนช่วยให้พวกท่านตั้งปณิธานส่วนตัวในอันที่จะกระทำทุกอย่างเพื่อจะต่อสู้กับความชั่วร้ายและกำจัดหายนะนี้ให้สิ้นไปจากพวกเรา
ดังนั้นวันนี้ข้าพเจ้าขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าพระศาสนจักรคาทอลิกจะตอบสนองในทุกระดับโดยใช้มาตรการที่รุนแรงที่สุดต่อทุกคนที่ทรยศต่อกระแสเรียกของตนและล่วงละเมิดเพศต่อเด็ก/ผู้เยาว์ซึ่งพวกเขาเป็นลูกๆของพระเจ้า มาตรการทางวินัยที่พระศาสนจักรท้องถิ่นแต่ละแห่งได้ออกกฎเกณฑ์แนวทางให้ยึดถือจะต้องนำไปใช้สำหรับทุกคนที่ทำงานอยู่ในสถาบันหรือองค์กรของพระศาสนจักร แต่ว่าความรับผิดชอบแรกต้องเป็นของบิชอป บาทหลวง นักบวช และของทุกคนที่ได้รับกระแสเรียกจากพระเจ้าให้อุทิศชีวิตตนเพื่อรับใช้สังคม รวมถึงการปกป้องคุ้มครองผู้เยาว์ เยาวชน และผู้ใหญ่ด้วย ด้วยเหตุนี้พระศาสนจักรจึงใช้หลักการ “ปราศจากซึ่งการลดหย่อนผ่อนโทษ” (zero tolerance) ในทุกระดับสำหรับเรื่องการล่วงละเมิดเพศต่อเด็ก/ผู้เยาว์ รมทั้งผู้ใหญ่ที่พิการ
จากสมณกฤษฎีกา “ดุจมารดาผู้น่ารัก”(As Loving Mother) ที่ประกาศใช้บนพื้นฐานจากการเสนอแห่งสมณกระทรวงแห่งพระสัจจธรรม โดยอ้างถึงหลักแห่งความรับผิดชอบในพระศาสนจักรนั้นมีการพูดถึงกรณีของบิชอปแห่งสังฆมณฑล และมหาธิการของสถาบันนักบวชว่า เป็นเพราะความละเลย จึงมีการกระทำหรือละเลยการตอบสนองเท่าที่ควรซึ่งก่อให้เกิดอันตรายใหญ่หลวงต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลหรือชุมชนโดยทั่วไป (เทียบ มาตรา 1)
ในช่วงสามปีที่แล้วคณะกรรมาธิการเพื่อพิทักษ์เด็ก/ผู้เยาว์ มีการเน้นเสมอถึงหลักการที่มีความสำคัญที่สุดซึ่งชี้นำความพยายามของพระศาสนจักรในการปกป้องคุ้มครองเด็ก/ผู้เยาว์และผู้ใหญ่ที่พิการ ดังนั้นคณะกรรมาธิการดังกล่าวจึงได้ทำหน้าที่ซึ่งข้าพเจ้ามอบให้ในฐานะที่เป็น “คณะที่ปรึกษาเพื่อรับใช้พระสันตะปาปา” โดยมอบประสบการณ์ของตน “เพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบของพระศาสนจักรต่างๆในการปกป้องคุ้มครองทั้งเด็ก/ผู้เยาว์และผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้พิการ” (Stutute, Article 1)
ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีมากที่ทราบว่าพระศาสนจักรท้องถิ่นหลายแห่งได้นำเอาการแนะนำของคณะกรรมาธิการนี้ไปเป็นแนวทางปฏิบัติ กล่าวคือ ได้กำหนดวันอธิษฐานภาวนาและการเสวนากับเหยื่อและผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศรวมถึงผู้แทนแห่งองค์กรของเหยื่อด้วย พวกเขาแบ่งปันกับเราว่าการประชุมพบปะกันเหล่านั้นเป็นประสบการณ์ที่ล้ำลึกแห่งพระพรของพระเจ้าไปจนทั่วโลกอย่างไร และข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพระศาสนจักรท้องถิ่นแต่ละแห่งจะได้รับประโยชน์จากการประชุมเหล่านั้น
นี่ยังเป็นเรื่องจรรโลงใจที่ทราบว่าสภาบิชอปคาทอลิกและสหพันธ์นักบวชชายหญิงหลายแห่งได้ขอคำนำจากพวกท่านเกี่ยวกับคำแนะนำในการปกป้องคุ้มครองเด็ก/ผู้เยาว์ และผู้ใหญ่ ความร่วมมือของพวกท่านในการแบ่งปันแนวทางการปฏิบัติที่ดีนั้นมีคุณค่ามากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพระศาสนจักรที่มีทรัพยากรน้อยมากในงานปกป้องคุ้มครองที่มีความสำคัญยิ่งนี้ ข้าพเจ้าขอสนับสนุนเป็นกำลังใจให้พวกท่านให้ความร่วมมือกับสมณกระทรวงเพื่อพระสัจจธรรมสมณกระทรวงเพื่อการนมัสการพระเจ้าและระเบียบศีลศักดิ์สิทธิ์ และสมณกระทรวงเพื่อการประกาศข่าวดีสู่ปวงชน เพื่อการปฏิบัติเหล่านี้จะได้เข้าสู่วัฒนธรรมในพระศาสนจักรท้องถิ่นต่างๆทั่วโลก
สุดท้าย ข้าพเจ้าขอชมเชยเป็นพิเศษสำหรับการเปิดโอกาสให้มีการฝึกฝนทักษะ การศึกษา และการอบรมซึ่งพวกท่านมอบให้กับพระศาสนจักรท้องถิ่นหลายแห่งทั่วโลกรวมถึงที่กรุงโรมด้วยในสมณกระทรวงต่างๆแห่งสันตะสำนัก ในการอบรมหลักสูตรสำหรับบิชอปที่อภิเษกใหม่ และในการประชุมระดับนานาชาติต่างๆ ข้าพเจ้ารู้สึกชื่นชมข่าวเกี่ยวกับการบรรยายที่พระคาร์ดินัลโอมัลลีและนางมารีย์ คอลลินส์ซึ่งเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งคนหนึ่งของพวกท่านที่นำมาปราศรัยกับบิชอปบวชใหม่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้นได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โครงการอบรมเหล่านี้เป็นแหล่งทรัพยากรบุคคลที่จะทำให้สังฆมณฑล สถาบันนักบวช และสถาบัน องค์การต่างๆสามารถที่จะนำเอาไปปฏิบัติให้บังเกิดผลมากที่สุดในพันธกิจของพวกเขา
พระศาสนจักรถูกเรียกร้องให้เป็นเวทีแห่งความเมตตาและการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้ที่กำลังมีความทุกข์ สำหรับพวกเราทุกคนพระศาสนจักรคาทอลิกยังคงเป็นโรงพยาบาลภาคสนามที่อยู่เคียงข้างเราในการเดินทางฝ่ายจิตซึ่งเป็นเวทีที่พวกเราสามารถนั่งร่วมกับผู้อื่น รับฟังพวกเขา แบ่งปันทุกข์สุขและความเชื่อในข่าวดีของพระเยซูคริสตเจ้ากับพวกเขา ข้าพเจ้ามั่นใจเต็มเปี่ยมว่าคณะกรรมาธิการนี้จะเป็นเวทีต่อไปที่เราสามารถฟังด้วยความสนใจต่อเสียงของเหยื่อและผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เพราะพวกเรามีอะไรมากมายที่ต้องเรียนรู้จากพวกเขาและจากเรื่องราวส่วนตัวแห่งความกล้าหาญและความยืนหยัดมั่นคงของพวกเขา
ข้าพเจ้าขอขอบคุณพวกท่านอีกครั้งสำหรับความพยายามและคำแนะนำของพวกท่านในช่วงสามปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าขอมอบพวกท่านไว้กับพระแม่มารีย์พระมารดาผู้ทรงอยู่ใกล้ชิดกับพวกเราจนตลอดชีวิต ข้าพเจ้าขออวยพรทุกท่านและขอให้ท่านภาวนาสำหรับข้าพเจ้าด้วย
สันตะปาปาฟรังซิส”
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บเรื่องสำคัญนี้มาไตร่ตรองร่วมกัน)