Skip to content

บทเทศน์ของพระสันตะปาปาฟรังซิสในพิธีอธิษฐานภาวนา
เพื่อความเป็นเอกภาพของคริสตชนที่เมืองลุนด์สวีเดน

บ่ายวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2016 ได้มีพิธีอธิษฐานภาวนาเพื่อความเป็นเอกภาพของคริสตชนที่อาสนวิหารลูเธอรัน ณ เมืองลุนด์  เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเสด็จไปถึงอาสนวิหารอาร์ชบิชอป  Antje Jackelen ผู้นำคริสตจักรแห่งสวีเดน และบิชอป Mons. Anders Arborelius บิชอปแห่งสต๊อคโฮม เป็นผู้ให้การต้อนรับโดยเดินตามพระสันตะปาปาไปยังพระแท่น  กระบวนแห่นี้รวมผู้แทนสมาพันธ์ลูเธอรันแห่งโลกด้วย  ในช่วงพิธีหลังการขับร้องบทเพลงสดุดีและการเทศน์ของ Rev. MartinJungeเลขาธิการแห่งสมาพันธ์ลูเธอรันโลกแล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาจึงแสดงพระธรรมเทศนาดังต่อไปนี้

__          ”จงดำรงอยู่ในเรา และเราจะดำรงอยู่ในท่าน” (ยน. 15: 4)  การที่พระเยซูทรงตรัสพระวาจาเหล่านี้ในงานเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายต้องทำให้เรามองไปที่หัวใจของพระเยซูคริสตเจ้าก่อนที่พระองค์จะมอบอุทิศตนเป็นครั้งสุดท้ายบนไม้กางเขน  เราสามารถได้ยินหัวใจของพระองค์เต้นด้วยความรักต่อพวกเราและความปรารถนาของพระองค์ที่จะให้พวกเราที่เชื่อในพระองค์เป็นหนึ่งเดียวกัน  พระองค์ทรงบอกพวกเราว่าพระองค์ทรงเป็นเถาองุ่นที่แท้จริงและเราเป็นกิ่งก้าน เฉกเช่นที่พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระบิดาเจ้า เราก็ต้องเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์หากเราต้องการที่จะบังเกิดผล

ในพิธีอธิษฐานภาวนาเพื่อความเป็นเอกภาพที่เมืองลุนด์นี้เราต้องการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจร่วมกันของเราที่จะเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระเยซูคริสตเจ้าเพื่อที่เราจะได้มีชีวิต  เราทูลพระองค์ว่า “ข้าแต่พระเจ้าโปรดประทานพระหรรษทานให้พวกลูกเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างใกล้ชิดกับพระองค์มากยิ่งขึ้นเพื่อลูกจะได้ร่วมกันเป็นประจักษ์พยานที่มีประสิทธิภาพแห่งความเชื่อ ความไว้ใจ และความรักได้ดียิ่งขึ้น”  นี่ยังเป็นเวลาที่เราจะต้องโมทนาคุณพระเจ้าสำหรับความพยายามของบรรดาพี่น้องชายหญิงของเราหลายคนจากชุมชนคริสตชนต่างๆที่ไม่ยอมแพ้ง่ายๆต่อการแตกแยก แต่มีความหวังอยู่เสมอที่จะคืนดีกันกับทุกคนที่เชื่อในพระเยซูคริสต์็๋็น

ในฐานะที่เป็นคาทอลิกและลูเธอรันพวกเราได้ทำการเดินทางร่วมกันเพื่อการคืนดีกัน  บัดนี้เพื่อรำลึกถึงการปฏิรูปในปี ค.ศ. 1517 เรามีโอกาสใหม่ที่จะเบิกทางร่วมกันใหม่ อันเป็นหนทางที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากกว่า 50 ปีแล้วเกี่ยวกับการเสวนาเพื่อความเป็นเอกภาพระหว่างสหพันธ์ลูเธอรันโลกกับพระศาสนจักรคาทอลิก  เราจะไม่มีวันยอมแพ้ให้กับการแตกแยกและการห่างเหินเกิดขึ้นในระหว่างพวกเรา  พวกเรามีโอกาสที่จะเปลี่ยนจุดเลวร้ายแห่งประวัติศาสตร์โดยการมองข้ามการโต้แย้งและความเห็นต่างซึ่งบ่อยครั้งเป็นอุปสรรคกีดกั้นทำให้เราไม่เข้าใจกัน

พระเยซูบอกเราว่าพระบิดาเจ้าทรงเป็น “ผู้ตัดแต่งต้นองุ่น” (เทียบ v. 1) ซึ่งดูแลเอาใจใส่ต้นองุ่นเพื่อทำให้มันออกผลมากขึ้น (เทียบ v. 2)  พระบิดาพร้อมกับพระเยซูคริสต์ทรงเป็นห่วงความสัมพันธ์ของเราเสมอ  ทรงเฝ้ามองดูว่าเราเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระองค์หรือเปล่า? (เทียบ v. 4)  พระองค์ทรงเฝ้าดูเรา  และการพิศเพ่งที่เปี่ยมด้วยความรักของพระองค์ควรดลใจให้เราต้อง ชำระล้างอดีตของเราและทำปัจจุบันให้กลายเป็นอนาคตแห่งความเป็นหนึ่งดียวกันซึ่งพระองค์ทรงปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง

เราต้องมองไปยังอดีตด้วยความรักและความซื่อสัตย์เช่นเดียวกันโดยการยอมรับความผิดพลาดต่างๆและขออภัยโทษ เหตุว่ามีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่จะทรงเป็นผู้พิพากษาเรา  พวกเราควรยอมรับด้วยความรักและความซื่อสัตย์ว่าการแตกแยกของเราทำให้เราอยู่ห่างจากสถาบันดั้งเดิมแห่งประชากรของพระเจ้าซึ่งโดยธรรมชาติแล้วย่อมปรารถนาที่จะเป็นหนึ่งเดียวกัน  และต้องยอมรับว่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์นั้นเกิดขึ้นเพราะผู้มีอำนาจในโลกมิใช่เกิดจากประชากรผู้ซื่อสัตย์ซึ่งไม่ว่าจะเป็นที่ไหนจะต้องได้รับการชี้นำด้วยความรักจากนายชุมพาบาลที่ดีเสมอ  แน่นอนว่ามีน้ำใจดีจากทั้งสองฝ่ายที่จะยึดถือความเชื่อที่แท้จริง แต่ในขณะเดียวกันเราก็ตระหนักดีว่าเราต่างปิดกั้นตัวเราเองเพราะความกลัวหรือความลำเอียงเกี่ยวกับความเชื่อที่ผู้อื่นเชื่อด้วยการเน้นและใช้ภาษาที่แตกต่าง  ดังที่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทรงตรัสว่า “เราต้องไม่ปล่อยให้ตัวเราถูกชี้นำให้ตั้งตนเป็นผู้ตัดสินประวัติศาสตร์  แต่ด้วยความปรารถนาแต่อย่างเดียวที่จะเข้าใจให้ดียิ่งขึ้นว่าอะไรเกิดขึ้นและเราต้องเป็นผู้สื่อสารแห่งความจริง”(สมณลิขิตถึงพระคาร์ดินัล Johannes Willebrands ประธานแห่งสำนักเลขาธิการเพื่อความเป็นเอกภาพของคริสตชน วันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1983)  พระเจ้าเป็นผู้ตบแต่งกิ่งก้านต้นองุ่น ผู้ทรงคอยพิทักษ์ปกป้องด้วยความรักหวงแหนอย่างที่สุด  ขอให้เราได้เข้าใจในการพิศเพ่งที่คอยเฝ้าระวังของพระองค์  สิ่งหนึ่งที่พระองค์ทรงปรารถนาก็คือให้เรายึดติดเหมือนกิ่งก้านทรงชีวิตในพระเยซูคริสตเจ้าพระบุตรของพระองค์  ด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ต่ออดีตเรามิได้แอบอ้างว่าเรารู้วิธีแก้ปัญหาที่ไม่เป็นรูปธรรมแห่งอดีต แต่เพื่อที่จะ “เล่าประวัติศาสตร์ด้วยวิธีที่แตกต่างๆไปจากเดิม” (คณะกรรมาธิการเพื่อความเป็นเอกภาพระหว่างลูเธอรันและคาทอลิก From Conflict to Communionวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 2013 ข้อ 16)

พระเยซูคริสต์ทรงเตือนเราว่า “ปราศจากเราแล้ว ท่านไม่สามารถทำสิ่งใดได้เลย” (v. 5) พระองค์ทรงเป็นผู้ที่คอยทำนุบำรุงและกระตุ้นให้เราค้นหาหนทางที่จะทำให้ความเป็นเอกภาพของเรามองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  แน่นอนว่าการแตกแยกของเราเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ยิ่งใหญ่และความเข้าใจผิด  แต่นี่ก็ทำให้เราเข้าใจว่าหากปราศจากซึ่งพระองค์แล้ว เราไม่สามารถทำอะไรได้เลย  อาศัยวิธีนี้จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจบางแง่บางมุมแห่งความเชื่อของเราได้ เราขอน้อมรับด้วยความกตัญญูว่าการปฏิรูปได้มีส่วนช่วยความเป็นศูนย์กลางแห่งพระคัมภีร์ในชีวิตของพระศาสนจักรมากยิ่งขึ้น  อาศัยการฟังพระวาจาของพระเจ้าในพระคัมภีร์ร่วมกัน  มีความก้าวหน้าที่สำคัญเกิดขึ้น  มีการเสวนาระหว่างพระศาสนจักรคาทอลิกและสหพันธ์ลูเธอรันโลกซึ่งเรากำลังทำการเฉลิมฉลองอยู่เป็นปีที่ห้าสิบ  ขอให้เราวิงวอนพระเยซูคริสตเจ้าให้พระวาจาของพระองค์จงทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะนี่แหละเป็นทั้งแหล่งอาหารและเป็นชีวิตซึ่งหากไม่มีแรงบันดาลใจจากพระองค์แล้ว เราไม่สามารถทำอะไรได้เลย

ประสบการณ์ฝ่ายจิตของมาร์ตินลูเธอร์ท้าทายเราให้รำลึกว่าปราศจากพระเจ้าแล้วเราไม่สามารถทำสิ่งใดได้เลย “ข้าพเจ้าจะเข้าถึงพระเจ้าผู้วิเศษได้อย่างไร?”  นี่คือปัญหาที่ท้าทายลูเธอร์ อันที่จริงแล้วปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ที่ชอบธรรมกับพระเจ้าคือปัญหาคอขาดบาดตายเลยทีเดียวสำหรับชีวิตของพวกเรา  ก็อย่างที่เราทราบลูเธอร์พบพระเจ้าผู้วิเศษนั้นในข่าวดีแห่งองค์พระเยซู ผู้ทรงเสด็จมารับสภาพเป็นมนุษย์ ทรงสิ้นพระชนม์ และทรงกลับฟื้นชีพขึ้นมาใหม่  ด้วยความคิดที่ว่า “ด้วยพระหรรษทานเท่านั้น”  ท่านเตือนใจพวกเราว่าพระเจ้าทรงริเริ่มก่อนเสมอ ก่อนที่มนุษย์จะมีการตอบสนอง แม้เขาผู้นั้นจะพยายามปลุกเร้าตนเองให้มีการตอบสนอง  ดังนั้นคำสอนเรื่องความชอบธรรมจึงแสดงให้เห็นถึงแก่นแห่งความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่ต้องอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าเสมอ

พระเยซูคริสต์ทรงแทรกแซงเพื่อเราในฐานะที่ทรงเป็นคนกลางต่อพระบิดาเจ้าพระองค์ทรงทูลวอนขอพระบิดาให้ศิษย์ของพระองค์เป็นหนึ่งเดียวกัน “เพื่อที่โลกจะได้รู้และเชื่อ” (ยน. 17: 21)  นี่คือสิ่งบรรเทาใจสำหรับเราและเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูและพร้อมที่จะภาวนาว่า “โปรดประทานพระพรแห่งความเป็นเอกภาพให้แก่พวกเรา เพื่อโลกจะได้เชื่อในอานุภาพแห่งพระเมตตาของพระองค์”  นี่คือประจักษ์พยานที่โลกคาดหวังจากเรา  เราที่เป็นคริสตชนจะเป็นประจักษ์พยานที่มีความน่าเชื่อถือแห่งพระเมตตามากน้อยแค่ไหนก็อยู่ที่ว่าการให้อภัย การฟื้นฟู และการคืนดีกันจะมีมากน้อยแค่ไหนในหมู่เรา  เราสามารถประกาศและแสดงถึงพระเมตตาของพระเจ้าพร้อมกันอย่างเป็นรูปธรรมและด้วยความชื่นชมยินดีโดยการยอมรับและส่งเสริมศักดิ์ศรีของทุกคน  หากปราศจากซึ่งการรับใช้นี้ต่อโลกและในโลกความเชื่อของคริสตชนจะไม่มีวันสมบูรณ์ได้เลย

ในฐานะที่เป็นชาวลูเธอรันและชาวคาทอลิกพวกเราอธิษฐานภาวนาด้วยกันในอาสนวิหารนี้โดยตระหนักดีว่า หากปราศจากพระเจ้าแล้วเราไม่สามารถทำสิ่งใดได้เลย  พวกเราจึงต้องวอนขอความช่วยเหลือของพระองค์ เพื่อที่พวกเราจะได้เป็นสมาชิกที่ทรงชีวิต ยึดมั่นในพระองค์ พวกเราต้องการพระหรรษทานของพระองค์อยู่เสมอ เพื่อที่เราทุกคจะได้พร้อมหน้าช่วยกันนำพระวาจาของพระองค์ไปสู่ชาวโลก ซึ่งต้องการความรักและพระเมตตาของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง

 

(ขอขอบพระคุณ วิทยุวาติกัน – วิษณุ ธัญญอนันต์ เก็บมาเพื่อการไตร่ตรอง)