นับเป็นเวลาหลายศวรรษมาแล้วที่มีการเดินรูป 14 ภาค (Via Crucis) เป็นการเดินทางที่นำไปสู่เนินเขากัลวารีโอ สถานที่ตรึงพระเยซูคริสต์บนไม้กางเขนโดยมุ่งความตั้งใจไปยังเป้าหมายสูงสุด นั่นคือการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้าในวันอาทิตย์ปัสกา(Easter Sunday) บรรดาคริสตชนพากันเดินทางไปตามเส้นทางแห่งความทุกข์โศกอันแสนปวดร้าว (Via Dolorosa) ซึ่งอยู่ในเมืองเก่าแห่งนครเยรูซาเล็ม หรือจัดเดินรูปในเมืองของตน หรือตามวัด หรือตามบ้าน ณ กรุงเยรูซาเล็มถือว่าเป็นสถานที่พิเศษเพราะว่าถนนแห่งความทุกข์อันแสนปวดร้าว(Via Dolorosa)อยู่ที่เมืองนี้ ประเพณีการเดินรูป 14 ภาค (Via Crucis)ถูกกำหนดขึ้นเพราะความเชื่อของบรรดาคริสตชนไม่ใช่เพราะประวัติศาสตร์ อันเป็นการประสมประสานกันกับความศรัทธา ความรักต่อพระเยซู ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเยอรมันนีและเนเธอแลนด์:
– การมีส่วนร่วมเดินในหนทางกางเขนเป็นความศรัทธาต่อ “หนทางอันน่าเศร้าของพระเยซูคริสต์” โดยมีการเดินแห่จากวัดหนึ่งไปสู่อีกวัดหนึ่ง (หรือบางทีก็เดินแห่กันไปถึงเจ็ดหรือเก้าวัด) เพื่อรำลึกถึงหนทางแห่งความทุกข์อันเศร้าใจ การเดินแห่เหล่านี้แตกต่างจากการเดินทางของพระเยซูคริสต์ตามที่มีการเล่าในพระวรสาร เช่นจากสวนมะกอกไปยังบ้านของอันนัส (ยน. 18 13) จากบ้านของอันนัสไปยังตำหนักของไคฟัส (ยน. 18: 24; มธ. 27: 2) จากจวนว่าการของปิลาโต (ยน. 18: 28; มธ. 27: 2) จากวังของกษัตริย์เฮร็อด (ลก. 23: 7) ฯลฯ
ความศรัทธาต่อการเดินรูป 14 ภาค หรือช่วงเวลาที่หยุดระหว่างเดินไปยังเนินเขากัลวารีโอเพราะต้องแบกไม้กางเขนหนัก ต้องเหนื่อยหมดกำลัง หรือเพราะรักและสงสาร เพื่อที่จะหยุดคุยกับผู้คนตามเส้นทางซึ่งมีสว่นร่วมในมหาทรมานของพระองค์ การหยุดของพระองค์แต่ละครั้งมักจะมีเสาหรือไม้กางเชนซึ่งเป็นจุดสำหรับการรำพึงหรือการเคารพ การเดินรูป 14 ภาคดังที่เราทราบกันอยู่ทุกวันนี้โดยมีสถานที่หยุด 14 แห่ง ธรรมเนียมนี้เริ่มต้นและมีหลักฐานปรากฏที่ประเทศสเปนต้นศตวรรษที่ 17 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคที่มีอารามคณะฟรังซิสกันตั้งอยู่ ต่อมามีการแพร่ความศรัทธาแบบนี้ไปสู่เขตซาร์เดญ่า (ตอนนั้นอยู่ภายใต้อาณานิคมของประเทศสเปน) แล้วแพร่ต่อไปยังคาบสมุทรอิตาลี การเดินรูป 14 ภาคเป็นการรื้อฟื้นเหตุการณ์เพื่อระลึกถึงพระมหาทรมานและความตายของพระเยซูคริสตเจ้า แต่ละภาคช่วยสัตบุรุษให้เดินทางไปในจิตตารมณ์แห่งเหตุการณ์สำคัญๆในมหาทรมานและความตายของพระองค์ การเดินแห่จากภาคหนึ่งไปยังอีกภาคหนึ่งจะมีการสวดภาวนาและการอ่านข้อความในพระวรสารหรือพระคัมภีร์ที่เกี่ยวกับเรื่องราวความทุกข์ทรมานของพระเยซูในการเดินไปยังเนินเขากัลวารีโอจนกระทั่งสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน
สถานที่ 14 ภาคของการเดินรูป ตามประเพณีดั่งเดิมมีดังต่อไปนี้
- พระเยซูถูกตัดสินประหารชีวิต
- พระเยซูแบกไม้กางเขน
- พระเยซูหกล้มครั้งที่หนึ่ง
- พระเยซูพบพระมารดามารีย์
- ไซมอนชาวไซรีนช่วยแบกไม้กางเขน
- เวโรนีกาเช็ดพระพักตร์พระเยซู
- พระเยซูหกล้มเป็นครั้งที่สอง
- พระเยซูพบบรรดาสตรีแห่งเยรูซาเล็ม
- พระเยซูหกล้มครั้งที่สาม
- พระเยซูถูกเปลื้องอาภรณ์
- พระเยซูถูกตรึงบนไม้กางเขน
- พระเยซูสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน
- พระศพของพระเยซูถูกนำลงจากไม้กางเขน
- พระศพของพระเยซูถูกฝังไว้ในคูหา
รูป 14 ภาคเน้นให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่เลวร้ายต่างๆของชีวิตมนุษย์ การต่อสู้ระหว่างความสว่างกับความมืด ระหว่างความจริงกับความเท็จ อันที่จริงการแบกไม้กางเขน (ที่เป็นไม้จริงๆ)ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เน้นสำคัญที่สุด แต่เราไตร่ตรองความจริงที่ว่าหลายคนในโลกนี้ต้องเจริญชีวิตในสภาพแบกความทุกข์ ได้รับความอยุติธรรมในชีวิตแบบทรมานอย่างแสนสาหัส ในความเป็นจริงชีวิตมนุษย์ทุกคน ทุกครอบครัวล้วนต้องแบกความทุกข์และภาระอันหนักอึ้ง สิ่งที่ให้ความหมายอย่างสมบูรณ์ที่สุดแก่การแบกไม้กางเขนคือการยอมรับแบกความยากลำบากในชีวิตตามหนทางตามหลังพระเยซูคริสต์ไป ไม่ใช่เป็นการเดินทางท่ามกลางความอ้างว้างที่ทนทุกข์ทรมานแบบบ่น ตำหนิติเตียน ด่าว่าสาปแช่ง ไม่ใช่เป็นการเดินทางอย่างไร้ความหวัง แต่เป็นการเดินทางที่ได้รับการอุ้มชูและการได้รับพละกำลังจากการประทับอยู่จริงของพระเจ้าท่ามกลางเรา
ไม้กางเขนแสดงให้เราเห็นว่าพระเจ้าทรงทำได้ทุกอย่างเพื่อเห็นแก่ความรักต่อเรา คนที่เข้าใจดีถึงหนทางที่ต้องเผชิญความทุกข์โศก(Via Dolorosa)และเราควรไตร่ตรองว่าการแบกไม้กางเขนของพระเยซูด้วยความเต็มใจและพร้อมใจกันที่จะไม่ทำลาย หรือทำร้ายใครหรือเอาผู้ใดไปตรึงบนไม้กางเขนแบบแก้แค้นด้วยความสะใจ ปัญหามันได้อยู่ที่ว่าใครเป็นผู้ฆ่าพระเยซูคริสต์ แต่อยู่ที่อะไรต่างหากที่ฆ่าพระเยซู… วัฎจักรแห่งการใช้ความรุนแรง ความเกลียด การมีอคติ การแก้แค้นยังคงทำให้พระเยซูคริสต์ต้องเดินบนหนทางแห่งความเศร้าเสียใจทั้งในการกระทำต่อสตรีและบุรุษในยุคสมัยของเรา วัฎจักรและระบบใดเล่าที่ยังคงเอาพระองค์ไปตรึงบนไม้กางเขนในบรรดาพี่น้องชายหญิงแห่งครอบครัวมนุษยชาติของพระองค์
ณ กรุงโรมการเดินทางฝ่ายจิตด้วยการเดินรูป 14 ภาคตามรอยพระบาทของพระเยซูคริสต์มีทุกปีในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์(Good Friday) ซึ่งนำโดยสมเด็จพะสันตะปาปา บรรดาบิชอปแห่งโรม โดยร่วมใจกับบรดาสัตบุรุษทุกคนทั่วโลก สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสจะทรงนำการเดินรูปตอนเย็นวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ที่สนามกีฬาอันเก่าแก่ ณ โคโลเซี่ยมแห่งโรม ซึ่งโคโลเซี่ยมนี้มีความใกล้ชิดกันมากกับการเป็นมรณะสักขีของบรรดาคริสตชนยุคแรกๆในพระศาสนจักร
เมื่อกล่าวถึงการเดินรูป 14 ภาค เมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 2003 ณ โคโลเซี่ยมแห่งนี้ นักบุญยอห์น ปอลที่ 2 พระสันตะปาปา ทรงตรัสว่า “ทุกปีเรามารวมตัวกันในบริเวณโคโลเซี่ยมนี้เป็นเพียงสัญลักษณ์ โคโลเซี่ยมเป็นสัญลักษณ์ ที่สำคัญที่สุด ซึ่ง ณ ที่นี้บอกเราเรื่องราวในอดีต เรื่องราวจักรวรรดิ์โรมันที่ล่มสลายไปแล้วซึ่งชี้ให้เราเห็นคริสตชนมรณะสักขีเหล่านั้นที่ยอมสละชีวิตของตนเพื่อยืนยันถึงความเชื่อของพวกเขา ยากที่จะหาสถานที่ใดที่พระธรรมล้ำลึกแห่งไม้กางเขนสามารถพูดได้อย่างชัดเจนมากไปกว่า ณ โคโลเซี่ยมแห่งนี้
*****
คำถาม: การเดินรูป 14 ภาคเป็นพิธีกรรมทางศาสนาหรือไม่? และใครบ้างเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติในการนำการเดินรูปหรือใครเป็นศาสนบริกร?
คำตอบ: การเดินรูป 14 ภาคไม่ได้เป็นพิธีกรรมตามความหมาย แต่รวมอยู่ภายใต้หมวดของการปฏิบัติศรัทธากิจอย่างหนึ่งของชาวคริสต์
ในคู่มือปฏิบัติศาสนกิจแห่งสันตะสำนักปี ค.ศ. 2001 “แนวทางเพื่อการปฏิบัติกิจศรัทธาที่นิยม – Directory for Popular Piety” ให้คำแนะนำในการปฏิบัติดังต่อไปนี้:
“ข้อ 7 การแสดงออกแห่ง “ศรัทธากิจ” ในหนังสือคู่มือหมายถึงการแสดงความศรัทธาของคริสตชนทั้งที่เป็นการส่วนตัวและที่เป็นสาธารณะซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่เป็นลักษณะพิธีกรรม แต่ให้ถือว่าศรัทธากิจนี้สอดคล้องกับจิตตารมณ์ กฎเกณฑ์ และระเบียบแห่งจารีตพิธีกรรมของคาทอลิก ยิ่งกว่านั้นการปฏิบัติศรัทธากิจเหล่านั้นล้วนได้รับแรงบันดาลใจแบบใดแบบหนึ่งจากพิธีกรรมและนำพาคริสตชนไปสู่จารีตพิธีกรรม การปฏิบัติกิจศรัทธาบางอย่างได้รับบัญชาให้ปฏิบัติโดยสันตะสำนักหรือบิชอป ศรัทธากิจหลายอย่างเป็นส่วนหนึ่งแห่งธรรมเนียมโบราณของพระศาสนจักรหรือครอบครัวนักบวชแห่งใดแห่งหนึ่ง ศรัทธากิจมักจะมีส่วนเกี่ยวขัองกับพระหรรษทานที่เผยแสดงโดยพระเจ้าและมีภูมิหลังแห่งพระศาสนจักร บ่อยครั้งความศรัทธาดังกล่าวมักจะพูดถึงพระหรรรษทานที่พระเจ้าทรงเผยแสดงในองค์พระเยซูคริสตเจ้า ซึ่งมีความสอดคล้องกันกับกฎหมายพระศาสนจักร และมีการปฏิบัติไปตาม “ประเพณีที่ได้รับการเห็นชอบจากหนังสือคู่มือแล้ว”
หนังสือคู่มือดังกล่าวได้ระบุต่อมาโดยรวมถึงการเดินรูป 14 ภาคเข้าไปไว้ในศรัทธากิจด้วยตามมาตรา ข้อ 131-135 ซึ่งมีระบุเอาไว้ดังนี้:
“ข้อ 131 – ในบรรดาศรัทธากิจที่เชื่อมโยงกับการให้ความเคารพต่อไม้กางเขน ไม่มีศรัทธากิจใดที่จะเป็นที่นิยมในบรรดาสัตบุรุษเท่ากับการเดินรูป 14 ภาค อาศัยศรัทธากิจนี้สัตบรุษติดตามด้วยความสำนึกคุณในการเดินทางช่วงเวลาชีวิตสุดท้ายบนโลกนี้ของพระเยซูคริสตเจ้า จากเนินเขามะกอก (โอลีฟ) ณ สวนเก๊ตเซมานี (มก. 14: 32) พระองค์ทรงทุกข์ใจอย่างแสนสาหัส (เทียบ ลก. 22: 44) ไปยังเนินเขากัลวารีโอ ณ ที่ซึ่งพระองค์ถูกตรึงบนไม้กางเขนระหว่างโจรสองคน (เทียบ ลก. 23: 33) ไปถึงสวนที่ซึ่งพระองค์ถูกฝังไว้ในคูหาหินที่ทำเสร็จใหม่ๆ (ยน. 19: 40-42)
“ความรักของคริสตชนต่อศรัทธากิจนี้มีหลักฐานชัดเจนโดยที่วัดต่างๆ สักการะสถาน และอารามต่างๆตามชนบทจะมีรูป 14 ภาคประดิษฐานอยู่ และแม้แต่ตามทางเดินบนเขาก็จะมีรูปปั้นการเดินรูป 14 ภาคอยู่เช่นเดียวกัน
“ข้อ 132 – การเดินรูป 14 ภาคเป็นการสรุปความศรัทธาต่างๆที่มีในยุคกลาง เช่นการเดินทางไปแสวงบุญที่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์เพื่อเยี่ยมสถานที่ต่างๆที่เกี่ยวกับชีวิต-คำสอนพระผู้ไถ่ และมหาทรมานของพระเยซูคริสตเจ้า ความศรัทธาต่อการหกล้ม 3 ครั้งของพระเยซูคริสต์อันเนื่องจากความหนักของไม้กางเขน ความศรัทธาต่อ ‘การเดินตามหนทางสู่กางเขนอันทุกข์โศกของพระเยซูคริสต์’ โดยเดินแห่จากวัดหนึ่งไปยังอีกวัดหนึ่งโดยรำพึงถึงมหาทรมานของพระองค์ ความศรัทธาต่อ 14 ภาคของพระเยซูคริสตเจ้า ซึ่งได้แก่สถานที่ต่างๆที่พระเยซูทรงหยุดในขณะที่กำลังแบกไม้กางเขนไปตามหนทางสู่เนินเขากัลวารีโออาจจะเป็นเพราะเพชรฆาตบังคับให้หยุด หรือหยุดเพราะเหนื่อย หรือหยุดเพราะสงสารผู้ที่ติดตามมหาทรมานของพระองค์
“การเดินรูป 14 ภาคในรูปแบบที่เป็นปัจจุบันนี้ที่ได้รับการส่งเสริมอย่างกว้างขวางตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 17 โดยนักบุญเลโอนาร์โด ดา ปอร์โต เมรีซีโอ (+1751) ซึ่งได้รับการอนุมัติเห็นชอบจากสันตะสำนักและผู้เดินรูปได้รับพระคุณการุณย์ด้วย”
“ข้อ 133 – การเดินรูป 14 ภาคเป็นการเดินในหนทางที่ถูกนำโดยพระจิตเจ้า ซึ่งเป็นไฟของพระเจ้าที่ลุกโชติช่วงในดวงพระทัยของพระเยซู (เทียบ ลก. 12: 49-50) ที่นำพระองค์ไปยังเนินเขากัลวารีโอ นี่เป็นการเดินในหนทางที่พระศาสนจักรเห็นชอบอย่างยิ่งเพราะเป็นการดำรงไว้ซึ่งการระลึกถึงพระวาจาทรงชีวิตและการกระทำขั้นสุดท้ายในช่วงชีวิตของพระเยซูคริสต์ ผู้เป็นนายสูงสุดของพระศาสนจักร
“ในการเดินรูป 14 ภาค ณ สถานที่สำคัญต่างๆแห่งความศรัทธาถูกรวมเข้ามาไว้ด้วยกัน เช่นความคิดที่ว่าชีวิตเป็นการเดินทาง เป็นทางผ่านจากถิ่นเนรเทศในโลกนี้สู่บ้านแท้จริงในสรวงสวรรค์ เป็นความปรารถนาล้ำลึ้กที่จะร่วมในมหาทรมานของพระเยซูคริสตเจ้า เป็นการติดตามพระองค์อย่างใกล้ชิด ซึ่งหมายความว่าศิษย์ของพระองค์ต้องติดตามพระอาจารย์ด้วยการแบกไม้กางเขนของตนเองทุกๆวัน (เทียบ ลก. 9: 23)
“การเดินรูป 14 ภาคเป็นกิจศรัทธาที่เหมาะสมอันพิเศษสำหรับเทศกาลมหาพรต”
“ข้อ 134 – สิ่งต่อไปนี้อาจเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์สำหรับการเฉลิมฉลองการเดินรูป 14 ภาคให้เกิดประโยชน์
“รูปแบบดั้งเดิมของการเดินรูปที่มี 14 ภาคควรเก็บรักษาไว้ให้มีรูปแบบพิเศษจำเพาะเพื่อการปฏิบัติกิจศรัทธานี้ แต่บางครั้งบางคราว การรำพึง ณ สถานต่างๆแต่ละภาคอาจเปลี่ยนเป็นการไตร่ตรองบางแง่บางมุมแห่งการเดินทางไปยังเนินเขากัลวารีโอตามคำบอกเล่าของพระวรสารซึ่งแต่ดั้งเดิมก็มีการรวมเหตุการณ์อยู่ในการเดินรูป 14 ภาคอยู่แล้ว”
“นอกนั้นยังมีการเดินรูป 14 ภาคแบบอื่นๆอีกที่ได้รับการอนุมัติจากสันตะสำนักหรือมีการใช้ในที่สาธารณะโดยสมเด็จพระสันตะปาปา ทางเลือกเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นรูปแบบที่ถูกต้องสำหรับการแสดงความศรัทธาและสามารถนำเอาไปใช้ได้แล้วแต่ความเหมาะสมของโอกาส
“การเดินรูป 14 ภาคเป็นกิจศรัทธาที่เชื่อมโยงกับมหาทรมานของพระเยซูคริสต์ซึ่งควรสร้างค่านิยมที่ทำให้สัตบุรุษมีจิตสำนึกถึงความหวังสูงสุดในชีวิติ กล่าวคือการกลับฟื้นคืนชีพแห่งความเชื่อและความหวังโดยถือตามแบบฉบับการเดินรูป 14 ภาคในนครเยรูซาเล็มซึ่งลงท้ายที่ Anastasisคือการเดินรูปอาจจบลงด้วยการรำลึกถึงการเสด็จกลับฟื้นพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้า องค์ปาสกาแห่งชีวิต”
“ข้อ 135 ระบุว่ามีตำรามากมายสำหรับการเดินรูป 14 ภาค มีหลายตำราที่รวบรวมโดยเจ้าอาวาสที่มีความสนใจอย่างแท้จริงใจในศรัทธากิจนี้เพราะท่านเชื่อในประสิทธิภาพฝ่ายจิตแห่งศรัทธาชนิดนี้ ฆราวาสหลายท่านก็เขียนตำรานี้เช่นเดียวกัน แท้จริงบรรดาฆราวาสจำนวนมากให้แบบอย่างแห่งความศรัทธา ดำเนินชีวิตศักดิ์สิทธิ์และมีคุณสมบัติที่เป็นนักวิชาการที่ดีด้วยซ้ำไป
“แต่ขอให้คำนึงไว้ว่าไม่ว่าจะมีตำราอะไรที่บิชอปตั้งขึ้นเกี่ยวกับความศรัทธานี้ การเลือกตำราสำหรับการเดินรูป 14 ภาคควรคำนึงถึงเงื่อนไขของผู้ที่มีส่วนร่วมในการประกอบกิจศรัทธาและนึกถึงหลักการอภิบาลที่จะต้องผนึกการฟื้นฟูและความต่อเนื่องเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นการดีเสมอที่จะเลือกเอาตำราที่สอดคล้องกับเรื่องเล่าในพระคัมภีร์และเขียนขึ้นอย่างชัดเจนอ่านง่าย
“การเดินรูป 14 ภาค ยังประกอบด้วยการขับร้องเพลง การรักษาความเงียบ การเดินแห่ การหยุดเพื่อการไตร่ตรอง หากนำเอาสิ่งเหล่านี้มาประสานกันให้ลงตัวก็จะช่วยได้เป็นอย่างมากเพื่อรับผลฝ่ายจิตแห่งศรัทธากิจนี้อย่างมาก
สำหรับการรับพระคุณการุณย์ในการเดินรูป 14 ภาค หนังสือคู่มือการรับพระคุณการุณย์ ข้อ 63.4 อธิบายความสำคัญบางอย่างไว้ดังนี้
ระเบียบที่เพื่อรับพระคุณการุณย์มีข้อหนึ่งตามเเงื่อนไข คือต้องมีการเดินรูปทั้ง 14 ภาค รูปภาพหรือรูปปั้นเป็นสิ่งที่ดีแม้ว่าจะเป็นแค่สัญญลักษณ์ภายนอก
ระเบียบระบุว่าเพื่อที่จะรับพระคุณการุณย์บริบูรณ์จำเป็นต้องเคลื่อนจากภาคหนึ่งไปสู่อีกภาคหนึ่ง แต่ถ้าเป็นความยากลำบากที่จะให้ทุกคนเคลื่อนไหวไปตามภาคต่างๆ เป็นการเพียงพอที่ประธานในพิธีจะเป็นผู้เคลื่อนจากภาคหนึ่งไปสู่อีกภาคหนึ่ง
หนังสือคู่มือการรับพระคุณการุณย์ข้อ 63.5 ระบุการมอบพระคุณการุณย์ให้แก่ผู้ที่มีข้อขัดข้องในการเดิน สุขภาพไม่ดี ขอให้รำพึงหรืออ่านหนังสือศรัทธาเกี่ยวกับมหาทรมานประมาณ 15 นาที ไม่ว่าข้อขัดข้องหรืออุปสรรคใดๆก็สามารถรับพระคุณการุณย์ได้ทั้งนั้น เช่นไม่สามารถเข้าถึงการเดินรูป 14 ภาคได้ ดังนั้นการเดินรูป 14 ภาคที่เคลื่อนจากภาคหนึ่งไปยังอีกภาคหนึ่งที่ใช้เวลานานกว่า 15 นาทีก็มีคุณสมบัติพอที่จะได้รับพระคุณการุณย์ แม้จะไม่มีรูปภาคต่างๆ นี่เป็นกรณีในสถานที่โล่งและอันที่จริงก็เป็นกรณีของสมเด็จพระสันตะปาปาที่นำการเดินรูป 14 ภาคในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ที่โคโลเซี่ยมด้วย
เพื่อที่จะรับพระคุณการุณย์เต้องเคลื่อนตัวจากภาคหนึ่งไปยังอีกภาคหนึ่งโดยรำพึงถึงมหาทรมานของพระเยซูคริสตเจ้าซึ่งเราอาจเพิ่มการอ่านบางข้อความพร้อมกับรำพึงหรืออธิษฐานเป็นคำภาวนาสั้นๆ ไม่จำเป็นที่เราจะต้องรำพึงถึงหัวข้อพิเศษในแต่ละภาค
เพราะเหตุนี้หนังสือคู่มือการรับพระคุณการุณย์ข้อ 63.6 จึงกล่าวว่า การปฏิบัติศรัทธากิจแบบอื่นที่ได้รับการอนุมัติแล้วซึ่งรำลึกถึงมหาทรมานและแบ่งออกเป็น 14 ภาคก็มีคุณสมบัติที่จะได้รับพระคุณการุณย์ด้วย ดังนั้นจึงมีวิธีปฏิบัติใหม่ๆที่สมเด็จพระสันตะปาปาทรงนำมาใช้ในการเดินรูป 14 ภาคภาคใหม่ๆเหล่านี้ตามปกติจะนำเอามาจากพระวรสารแต่จะไม่มีการกำหนดตายตัวหรือถูกกำหนดเป็นทางการ ในบางโอกาสการนำข้อรำพึง“พระวรสาร” หรือพระคัมภีร์บางตอนเอาไปประสมประประสานกับภาคที่ไม่ใช่มาจากพระคัมภีร์ซึ่งเคยเป็นธรรมเนียมปฎิบัติกันมา เช่นการหกล้มสามครั้งของพระเยซู ดังนั้นบาทหลวงหรือใครก็ตามซึ่งปรารถนาเตรียมการำพึงสำหรับการเดินรูปล้วนมีทางให้เลือกมากมาย
แต่ก็อย่างที่เรียนให้ทราบแล้ว สูตรที่ใช้กันทั่วไปมากที่สุดที่นำมาแทนภาคต่างๆตามธรรมเนียมในการเดินรูปของสมเด็จพระสันตะปาปามีตัวอย่างดังต่อไปนี้
- การเข้าตรีทูตในสวนมะกอก
- การทรยศของยูดาส อิสการิออสและการจับพระเยซู
- พระเยซูคริสต์ถูกประณามโดยสภาสูง “ซันเฮ็ดดริน”
- เปโตรปฏิเสธพระเยซูคริสตเจ้า
- พระคริสตเจ้าถูกตัดสินโดยปิลาโต
- พระคริสตเจ้าถูกโบยและถูกสวมมงกุฎหนาม
- พระคริสตเจ้าทรงแบกไม้กางเขน
- ซีมอนชาวซีรีนช่วยพระคริสตเจ้าแบกไม้กางเขน
- พระคริสตเจ้าทรงพบสตรีแห่งเยรูซาเล็ม
- พระคริสตเจ้าถูกตรึงบนไม้กางเขน
- พระคริสตเจ้าทรงสัญญามอบพระอาณาจักรให้กับโจรคนที่กลับใจ
- พระคริสตเจ้าบนไม้กางเขน พระมารดา และศิษย์
- พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน
- พระคริสตเจ้าถูกนำลงจากไม้กางเขนและนำไปฝังในคูหาหิน
สุดท้าย ผู้ใดสามารถนำกิจศรัทธาการเดินรูป 14 ภาคได้? หากมีบาทหลวงหรือสังฆานุกร โดยประเพณีพวกเขาจะเป็นผู้นำการเดินรูป แต่หากไม่มีบาทหลวง หรือ สังฆานุกรใครก็ทำหน้าที่นี้ได้โดยละทุกสิ่งที่สงวนไว้เฉพาะสำหรับบาทหลวงและสังฆานุกรเช่นการอวยพรในตอนท้าย
(นำเสนอโดย วิษณุ ธัญญอนันต์)