อาทิตย์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต
30 มีนาคม 2014
บทอ่าน 1 ซมอ 16: 1ข, 6-7, 10-13ก ; อฟ 5: 8-14 ; ยน 9: 1-41
พระวรสารสัมพันธ์กับ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 575, 588, 595-6, 1151, 1504, 2173, 2827
จุดเน้น พระคริสตเจ้าทรงเป็นแสงสว่างส่องโลก พระองค์ทรงส่องสว่างแก่ทุกคนผู้แสวงหาพระองค์ พระองค์ทรงมอบอำนาจเราให้ดำเนินชีวิตในแสงสว่างนั้น
มีข้อความที่ให้กำลังใจจริงๆ จากบทสดุดีวันนี้ “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเลี้ยงดูข้าพเจ้าอย่างผู้เลี้ยงแกะ” (สดด 23:1) พูดกับเรามิใช่แค่สัญญาว่าวันหนึ่ง (ข้างหน้า) เราจะร่วมชีวิตนิรันดรกับพระเจ้าเท่านั้น แต่เราจะได้รับพระพรจากพระเจ้าแบบต่อเนื่องในชีวิต ครอบครัว ชุมชน การอยู่ดีกินดี เวลามีปัญหาข้อขัดแย้งและความยากลำบากด้านเศรษฐกิจ การฟังข้อความที่ให้กำลังใจและความมั่นคง ทำให้สดชื่นขึ้นใหม่ อย่างไรก็ดีมีหลายคนผู้ดำเนินชีวิตห่างไกลจากภาพงดงามนี้ “ข้าพเจ้าไม่กลัวอันตรายใดๆ เพราะพระองค์ทรงอยู่กับข้าพเจ้า… ทรงเทเครื่องดื่มลงในถ้วยของข้าพเจ้าจนล้นปรี่” พี่น้องหลายคนที่เดินในหุบเขาที่มืดมิด เต็มไปด้วยความกลัว หมดหวัง และต้องการความช่วยเหลือ ขาดความกล้า และมีชีวิตเหมือนคนตาบอดในบทอ่านจากพระวรสารวันนี้
ถ้าเรามองดูรอบๆ ตัว คงเห็นโลกแตกแยกหลายระดับ พี่น้องชายหญิงมากมายกำลังทนทุกข์เพราะความยากจน อ่านหนังสือไม่ออก มีความรุนแรง และความไม่เสมอภาค ไม่ต้องอ้างถึงผู้คนหลายล้านที่กำลังรับผลของภัยพิบัติตามธรรมชาติและความอดอยากหิวโหย เมื่อเผชิญกับโลกเช่นนี้ เราอาจถูกทดลองให้หมดหวัง หรือแย่กว่าอีก เป็นแบบชาวฟาริสีในพระวรสารที่สายตาสั้น และสนใจเฉพาะผลกำไรส่วนตัวเท่านั้น แต่วันนี้เราอยู่ในการเดินทางมหาพรต เน้นการอธิษฐานภาวนา การจำศีลอดอาหาร และทำบุญให้ทาน (แบ่งปัน) เราได้รับเชิญให้เจริญชีวิตแบบลูกแห่งความสว่าง เพื่อเกิดผลแห่งความดี ความชอบธรรม และความจริง
พระวรสารวันนี้เป็นเรื่องที่สองในสามประสบการณ์มาสู่ความเชื่อ ในพระวรสารโดยนักบุญยอห์น ที่พระศาสนจักรใช้ในปีพิธีกรรม ปี A สัปดาห์ที่แล้ว เราได้ยินเรื่องหญิงชาวสะมาเรียที่บ่อน้ำของยาโคบ (เมืองสิคาร์) และสัปดาห์หน้าเราจะได้ยินเรื่องการกลับคืนชีพของลาซารัส
ชายตาบอดแต่กำเนิดได้รับการรักษาให้พบความชื่นชมยินดียิ่งใหญ่ในชีวิต คือ พระพรแห่งการเห็น การตาบอดไม่ใช่กีดกันเขาไม่ให้สามารถชื่นชมความงดงามของสิ่งสร้างเท่านั้น แต่ชาวบ้านสมัยศตวรรษแรกนั้นถือว่าเป็นการลงโทษเพราะบาป จึงถูกตัดขาดจากครอบครัวและสังคม เป็นพิเศษในยามที่เขาต้องการความช่วยเหลือสนับสนุนและความบรรเทาใจมากที่สุด
เขาต้องว้าเหว่โดดเดี่ยวในชีวิต จนกระทั่งเขาได้มาพบกับพระเยซูเจ้า อาศัยการสัมผัสรักษา พระเยซูเจ้าทรงรักษาชายตาบอดด้วยวิธีที่เราไม่สามารถคิดได้ พระองค์มิได้ทรงรักษาการป่วยฝ่ายร่างกายเท่านั้น แต่ด้วยคำพูดและที่สำคัญมากที่สุด คือ กิจการ พระเยซูเจ้าทรงใช้คำพูดแห่งความเชื่อ
พระเยซูเจ้าทรงถามว่า เขาเชื่อในบุตรแห่งมนุษย์หรือ ชายที่ได้รับการรักษาให้เห็นตอบว่า “ข้าพเจ้าเชื่อ พระเจ้าข้า” และกราบลงนมัสการพระองค์ อาศัยการทำเช่นนี้ พระเยซูเจ้ามิได้ทรงฟื้นฟูการเห็นฝ่ายกายเท่านั้น แต่ทรงเปิดตาแห่งความเชื่อด้วย จากการพบปะที่เปลี่ยนแปลงชีวิต ชายตาบอดเปลี่ยนจากความมืดบอดฝ่ายร่างกายและจิตใจ ไม่สนใจความเชื่อศรัทธา ไปสู่วิสัยทัศน์ใหม่ มีความสัมพันธ์กับพระเจ้าและหมู่คณะ
อาศัยศีลล้างบาป เราได้รับเชิญในแสงสว่างแห่งความเชื่อและความสัมพันธ์ เหมือนดาวิดในบทอ่านแรก เราได้รับเลือกให้มาเป็นเครื่องมือของพระเจ้าในโลกนี้ และดังบทอ่านที่สองที่เชิญชวนเราว่า “ในอดีตท่านเคยเป็นความมืด แต่บัดนี้ท่านเป็นความสว่างในองค์พระผู้เป็นเจ้า จงดำเนินชีวิตเช่นบุตรแห่งความสว่างเถิด ผลแห่งความสว่าง คือ ความดี ความชอบธรรม และความจริงทุกประการ”
พี่น้อง เพราะว่าเราได้รับการสัมผัสของพระคริสตเจ้าในชีวิต เรารู้จักแสงสว่างของพระองค์ในโลกของเรา เราเลียนแบบพระคริสตเจ้าด้วยความซื่อสัตย์ การอธิษฐานภาวนาและการรับใช้พี่น้องชายหญิง เราอาจจะไม่สามารถทำอัศจรรย์รักษาแบบพระเยซูเจ้า แต่เราให้ความรักเมตตาและความหวังแก่คนรอบข้างได้ มหาพรตเป็นโอกาสปฏิบัติความเชื่อในสังคม เป็นโอกาสไม่ให้ตัดสินตามที่เห็นภายนอก แต่ทำแบบที่พระเจ้าทรงเห็นเรา มหาพรตเป็นเวลาเริ่มสร้างโลกที่ยุติธรรมและเสมอภาคขึ้น เพราะด้วยคุณลักษณะเช่นนี้ โลกของเราจึงได้รับการเยียวยารักษาให้ดีขึ้นได้
บิชอปวีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Homilies โดย Catholic Diocese of Lansing,
(มกราคม – มีนาคม 2014), หน้า 129-131.