Skip to content
tribe

อาเซียนกับผลกระทบต่อชนเผ่าพื้นเมืองและการปกป้องตนเอง

(ฝ่ายสังคมสังฆมณฑลเชียงใหม่)

การ ที่ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคม ASEAN ที่มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมกันคือความเป็นหนึ่งเดียวกันแต่มีความหมายหลากหลายในวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิต ทำให้การเข้าสู่ประชาคมASEAN ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมที่หลากหลายนี้มีผลต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชนซึ่งมีหลากหลายระดับ  สังคมและวัฒนธรรมจะเปลี่ยนแปลง การแข่งขันจะสูงขึ้น ชนพื้นฐานที่มีการศึกษาน้อยจะถูกเอาเปรียบ และได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะเขาเหล่านี้เป็นชนชั้นแรงงาน และอยู่ในภาคเกษตรกรรมที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมของราคาสินค้าผลผลิต และปัจจัยการผลิตอยู่แล้ว และจะต้องแข่งขันกับผลผลิตในประเทศเพื่อนบ้านอีก อันเนื่องมาจากการปลูกพืชเชิงเดียวกับการต้องใช้ทุนเพื่อการผลิตโดยการกู้ยืม ความสะดวกสบายในการขนส่งสินค้าข้ามประเทศจึงเป็นผลที่จะทำให้ผลผลิตของชนพื้นฐานในประเทศไทยต้องพบปัญหาการตลาดมากขึ้น และที่สุดก็จำเป็นต้องละทิ้งไร่นาของตนสู่การค้าแรงงานข้ามชาติ ซึ่งการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานทั้งในประเทศและข้ามประเทศจะมากขึ้นเพื่อทำงานหารายได้ ผลที่ตามมาคือ การทิ้งครอบครัว เหลือเพียงเด็กและคนชรา สังคมหมู่บ้านขาดแรงงานคนหนุ่มสาว ที่ไร่นาอาจถูกทิ้งให้ว่างเปล่าหรือถูกขายให้กับนายทุน ยามวิกฤติของคนออกไปทำงานเมื่อต้องกลับสู่บ้านเกิดอีกครั้งก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้เพราะไม่มีที่ทำกินแล้วก็จำเป็นที่จะต้องออกไปขายแรงงานอีก การย้ายถิ่นฐานทำให้วิถีชีวิตด้านสังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ขนบธรรมเนียมประเพณีและการเจริญชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์จะถูกลดทอนลง และหากสังคมพื้นฐานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในภาวะเช่นนี้อนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไร?

การเน้นด้านเศรษฐกิจอาเซียนยังมีผลต่อการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่าจะถูกนำมาใช้มากขึ้น วิกฤติธรรมชาติและโลกจักรวาลจะมีผลต่อการดำรงอยู่ของผู้คน ภัยพิบัติต่างๆจะเกิดขึ้นยิ่งทียิ่งเพิ่มขึ้น คนจะอยู่ไม่ได้ ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจจะดูดซับไม่เพียงแต่วัตถุดิบเท่านั้น ยังต้องการคนที่มีฝีมือ เช่น วิศวกร แพทย์ บัญชี เป็นต้น ทำให้เกิดการแข่งขันทางการศึกษา สถาบันการศึกษาจะมุ่งปรับการเสริมสร้างคนที่มีคุณภาพของอาชีพและวิชาการมากกว่าคุณค่าสังคมการอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม สังคมใหม่ที่เกิดขึ้นก็จะเป็นสังคมที่เห็นแต่ตัว เอาเปรียบหากำไร โกงกิน คอรัปชั่น ความขัดแย้ง และความรุนแรงจะเกิดขึ้นมากมาย  อนึ่งการเปิดการค้าเสรี ชนชั้นพื้นฐานจะถูกเอาเปรียบ อันเนื่องมาจากโอกาสทางการศึกษา ความรู้ คุณภาพการผลิต เขาจึงกลายเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ปัญหาสังคมจะซับซ้อน  วุ่นวาย หากปล่อยให้การขับเคลื่อนของประชาคมอาเซียนซึ่งเป็นแบบนี้ และปล่อยให้คนพื้นฐานต้องเผชิญกับชะตากรรมโดยไม่ได้รับการเสริมสร้างชีวิต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจ และยกระดับกลุ่มชน เกษตรกรให้ตระหนักในการผลิต การพัฒนาเลี้ยงชีพ และการร่วมมือกันพัฒนาชุมชนบนฐานของความพอเพียง การนำทรัพยากรมาใช้อย่างรู้คุณค่า การศึกษาเสริมความรู้เพื่อการดำรงอยู่ของชุมชนที่ไม่จำเป็นต้องอพยพเคลื่อนย้ายขายแรงงาน เป็นเหยื่อของคนที่มีโอกาสหรือระบบทุนนิยมข้ามชาติ

ส่วนชุมชน หมู่บ้านก็จะกลายเป็นแหล่งผลิตและแรงงานถูกๆให้กับบริษัทเกษตรแผนใหม่ที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชพลังงานทดแทนในรูปแบบของเกษตรพันธสัญญา (Contract farming) มีการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงและยาฆ่าหญ้าอย่างเข้มข้น ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม สุขภาพ พันธุ์พื้นท้องถิ่น สิ่งแวดล้อม ตลอดจนความหลากหลายทางระบบนิเวศ อันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของแหล่งอาหารธรรมชาติของชุมชน จากภาวะดังกล่าวเกษตรกรชนเผ่า ตกอยู่ในสภาวะที่ลำบาก เสียเปรียบมาตลอด ยิ่งทำ ยิ่งติดหนี้สิน สุขภาพ สิ่งแวดล้อมิยิ่งย่ำแย่ จึงได้มีการหันมาทบทวนปรัชญา แนวคิดและบทสอนของบรรพบุรุษที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การกินอยู่อย่างพอเพียง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่อยู่บนฐานคุณค่าวัฒนธรรมของตนเอง

ปัจจุบัน ชนเผ่าบางส่วนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้หลุดออกมาจากภาคเกษตรกรรม เข้าสู่เมืองและประกอบอาชีพเศรษฐกิจนอกระบบมากขึ้น แต่กลุ่มเหล่านี้จะขาดประสบการณ์ ทักษะและความรู้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ

ผลกระทบที่เกิดขึ้น

1. การอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานของชุมชนหมู่บ้านสู่เมืองและข้ามประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชนพื้นฐาน
2. การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ อันเนื่องจากการผลิตพืชเชิงพานิชที่ต้องใช้พื้นที่ดิน น้ำ ป่า ที่จะถูกทำลายขยายมากขึ้น อันนำไปสู่วิกฤติโลกร้อน ภัยพิบัติ โรคเกิดใหม่ ฯลฯ
3. การแข่งขันทางการศึกษา อาชีพข้ามชาติและการได้โอกาสทำงานที่มีรายได้สูง
4. การค้าเสรี ซึ่งชนเผ่าเสียเปรียบทั้งด้านความรู้ ทุน ประสบการณ์การค้าระดับใหญ่ เทคโนโลยีต่างๆ ภาษาการสื่อสาร
5. การค้ามนุษย์ เป็นหนทางออกที่ชนเผ่าจะต้องเผชิญกับปัญหาปากท้องที่เสียเปรียบ และในหนทางนี้ก็จะถูกเอาเปรียบค่าแรงงานกับความไม่เป็นธรรมในการทำงานและเวลาทำงาน ชนชั้นนายทุนจะได้รับผลประโยชน์แต่ชนพื้นฐานหรือกลุ่มเกษตรกรชนเผ่าต่างๆซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะต้องเผชิญกับผลที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ นั่นคือวิถีชีวิตของกลุ่มชนจะล่มสลายลง และวิกฤติสภาพสังคมวัฒนธรรมจะรุนแรงมากขึ้น

สรุป

ASEAN จะกลายเป็นศูนย์กลางของโลก มีประเทศที่ขอเข้าร่วมอีก 6 ประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอินเดีย  ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 3000 ล้านคน คิดเป็น 50 % ของประชากรโลก และเฉพาะในกลุ่มอาเชียนมีประชากรประมาณ 600 ล้านคนในจำนวนนั้นมีประชากรชนเผ่าถึง 88-100+ ล้านคน (AIPP: .. ) ซึ่งส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย  อยู่ในภาคเกษตรกรรมระดับย่อยตามชนบท   การรวมกลุ่มอาเชียนเป้าหมายหลักคือการผนวกกำลังเพื่อเข้าสู่ระบบการค้าเสรี  จะมีการแข่งขันกันสูงและใช้ทรัพยากรจำนวนมาก จะเกิดการละเมิดสิทธิและการสูญเสียที่ดินทำกินอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมและหนี้สินที่ต้องกู้ยืม เพราะการขาดทักษะความรู้  ประสบการณ์การค้าเชิงพานิชย์  ภาวะเหล่านี้ ทางออกของพวกเขาคือการละทิ้งครอบครัวไปขายแรงงาน  ที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมและการค้ามนุษย์จากสภาวะดังกล่าวจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพทักษะความรู้  ประสบการณ์ให้กับเชนเผ่าพื้นเมืองเหล่านี้เพื่อให้เขาได้ดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์บนฐานวัฒนธรรมอันเป็นวิถีชีวิตของเขาเอง

ชนเผ่าจะปกป้องและดำรงอัตลักษณ์ของตัวเองอย่างมีศักดิ์ศรีอย่างไร

ต้องอาศัยกรอบของปฏิณญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (UN Declaration Rights ofIndigenous People หรือ UNDRIP) ปฏิณญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง โดยอาศัยวัตถุประสงค์และหลักการแห่งกฎบัตร

สหประชาชาติ ยืนยันว่า ชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานตลอดจนความเสมอภาค    เท่าเทียมกับกลุ่มคนและบุคคลอื่นๆ มีสิทธิที่จะใช้สิทธิของเขาโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบบนฐานอัตลักษณ์ของตน (ม.1,2) พวกเขามีอิสระที่จะกำหนดสถานภาพทางการเมืองและการดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และ วัฒนธรรมของตนได้อย่างอิสระ (ม.3) มิสิทธิที่จะธำรงรักษาและเสริมสร้างความเข้มแข็ง การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในชีวิตทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมของรัฐตามที่พวกเขาเลือก (ม.5) สหประชาชาติกระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะให้เกิดความเคารพและส่งเสริมสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งได้มาจากโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม ประเพณีทางจิตวิญญาณ ประวัติศาสตร์และปรัชญาของตน โดยเฉพาะสิทธิเหนือที่ดิน  เขตแดนและทรัพยากร ที่จะทำให้พวกเขาสามารถดำรงรักษาและเสริมความเข้มแข็งให้แก่สถาบัน วัฒนธรรมและประเพณีของตน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาของพวกเขาให้เป็นไปตามมุ่งหวังและความต้องการของตนเอง ทั้งตระหนักว่าการให้ความเคารพต่อภูมิปัญญา วัฒนธรรมและการปฏิบัติประเพณีของชนเผ่าพื้นเมืองจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและเท่าเทียม รวมถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการเลี้ยงดู ฝึกฝนให้การศึกษา ความสุขสบายของเด็กๆและคนทุพลภาพที่ไม่สามารถช่วเหลือตนเองได้

ฉะนั้นชนเผ่าพื้นเมืองต้องใช้สิทธิที่ตัวเองมีอยู่นี้ในการที่จะปกป้องตนเองที่จะดำรงชีวิตให้เท่าเทียมและยุติธรรมเหมือนกับคนอื่นทั่วไปอย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ในฐานะประชนชั้นสองอย่างที่ผ่านมาอีกต่อไป