มหกรรมรณรงค์การรักษาและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน
เพื่อความมั่นคงปลอดภัยและมีอธิปไตยทางอาหาร
(ฝ่ายสังคมสังฆมณฑลเชียงใหม่)
ปัจจุบัน เกษตรกรส่วนใหญ่ได้หันไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้นหรือระบบการเกษตรแบบใหม่ ได้ทำลายความหลากหลายของพันธุ์พืชพื้นและความสมดุลทางระบบนิเวศ เพราะพืชเชิงเดี่ยวนั้นมีการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงและยาฆ่าหญ้าอย่างเข้มข้น ทำให้เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นค่อยๆกลายพันธุ์และไม่มีความทนทานต่อโรคและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และไม่สามารถปลูกได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ในอนาคต ชุมชนจะไม่มีเมล็ดพันธุ์ของตนเองปลูกอีกต่อไป ชีวิตของชุมชนจะขึ้นอยู่กับบริษัทผลิตเมล็ดขาย ปลูกเมื่อไร จะต้องซื้อเมื่อนั้น ชีวิตของเกษตรกรจะแขวนอยู่บนเส้นด้ายหรือเปรียบเสมือนหนึ่งอยู่ในห้องไอซียูนั่นเอง เพราะบริษัทที่ผลิตเมล็ดพันธุ์มีพื้นฐานความคิดที่ว่า “ที่สามารถควบคุมเมล็ดพันธุ์อยู่ในมือได้ ก็สามารถที่คุมชีวิตได้ทั้งโลก”
ในปฏิญญาสากล ข้อที่ 25 ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่ว่า “มนุษย์ทุกคนล้วนมีสิทธิต่อมาตรฐานความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานที่พอเพียง ทั้งในด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับตนเองและครอบครัว รวมถึงอาหาร (Universal Declaration of Human Rights 1948, article 25) เช่นเดียวกับ คณะกรรมการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ที่ระบุถึงสิทธิต่อการเข้าถึงปัจจัยการผลิต สิทธิการผลิตอาหารและตัวเสบียงอาหาร และความพอเพียงนั้นครอบคลุมถึงคุณค่าทางอาหารและความยั่งยืนในเชิงวัฒรธรรม เศรษฐกิจและนิเวศวิทยาอีกด้วย (Committee on Economic, Social and Cultural Rights, 1999, The Right to adequate Food). ซึ่งสิ่งที่บริษัทธุรกิจอาหารกระทำต่อเกษตรกรนั้นตรงข้ามกับปฏิญญาสากลดังกล่าว
ในการประชุมสุดยอดว่าด้วยอาหารโลกเมื่อปี 2539 มีประเทศต่างๆเข้าร่วม 180 ประเทศ ต่างยอมรับว่าความมั่นคงทางอาหารนั้นเป็นประเด็นร่วมของทุกประเทศ ทั่วโลกและความมั่นคง ยั่งยืนทางอาหารก็ขึ้นอยู่กับการเคารพ คุ้มครองต่อสิทธิการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ (ทวงสิทธิต่อข้าว BBC: 2002) เช่นเดียวกับองค์การอาหารโลก (FAO) ได้เผยสถิติความอดอยากของประชากรโลกว่ามีประมาณ 800-1000 ล้านคน ที่ไม่มีอาหารพอเพียงต่อการบริโภคและจะรุนแรงมากขึ้นในปี 2050 เนื่องจากสาเหตุด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การเกิดสภาวะโลกร้อน การไม่สนใจอาชีพเกษตกรของคนรุ่นใหม่ การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิตอาหาร ฯลฯ ทางองค์การอาหารโลกมีความเป็นห่วงเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันบริษัทยักษ์ใหญ่จะหันมาผลิตอาหารแทนเกษตรกร ส่วนเกษตรกรนั้นจะถูกผลักดันให้ปลูกพืชที่จะนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนใน
รูปแบบเกษตรพันธสัญญา ที่ระบบตลาดถูกควบคุมโดยนายทุนหรือนักธุรกิจการเกษตรอีกชั้นหนึ่งนั่นเอง ที่กิดกั้นสิทธิในการเข้าถึงอากหารที่พอเพียง เพราะความไม่มั่นคงทางอาหารนั้นไม่ได้เกิดจากการขาดแคลนอาหารในโลก หากเกิดจากการปิดกั้นโอกาสหรือหนทางที่จะเข้าถึง
ด้วยเหตุนี้ ทางกลุ่มเครือข่ายกองบุญข้าวและเครือข่ายเกษตรยั่งยืนได้ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรณรงค์ให้ชุมชนลดเกษตรเคมีและหันมาทำเกษตรอินทรีย์โดยใช้เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านของตนเอง แต่ต้องพัฒนาให้มีคุณภาพมากกว่านี้และจัดทำเป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์ของชุมชน (Community Seeds Bank /CSB)
ทางเครือข่ายกองบุญข้าวและเครือข่ายกลุ่มเกษตรยั่งยืนได้ตระหนักอย่างแรงกล้าว่าปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่จะทำให้ชุมชนอยู่รอดปลอดภัยและเกิดความยั่งยืนในอนาคตได้นั้นคือ “ดิน น้ำ ป่าและเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน” ซึ่งองค์ประกอบสี่ประการนี้ถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของชุมชน หากองค์ประกอบทั้งสี่นี้ถูกทำลาย ก็เหมือนกับการตัดเส้นเลือดของตนเอง แล้วเมื่อเส้นเลือดใหญ่ถูกทำลายแล้วชุมชนจะอยู่ได้อย่างไร
ที่ผ่านมาเครือข่ายเกษตรยั่งยืนได้พัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน เพราะว่าข้าวเป็นอาหารหลักของชาวบ้านโดยพาะคนยากจน ผลจากการติดตามและประเมินร่วมกับกลุ่มเกษตรกรยั่งยืนพบว่า พันธุ์ข้าวพื้นบ้านนั้น มีความทนทานต่อโรคค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับพันธุ์ข้าวที่ได้จากข้างนอก ซึ่งการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวนั้นเกษตรกรจะทำกันต่อไป ส่วนที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือการพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชที่หลากหลาย สำหรับเป็นอาหารให้กับชุมชน ทั้งพืชที่กินใบ กินรากและพืชสมุนไพร ตลอดจนการฟื้นฟูแหล่งอาหารธรรมชาติในท้องถิ่นให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และเกิดการกลับคืนมาของความหลากหลายของระบบนิเวศที่จะเอื้อต่อความมั่นคง ปลอดภัยทางอาหารอย่างยืนต่อไป
สภาพการณ์ลักษณะนี้ ผู้หญิงจะมีบทบาทอย่างสำคัญที่จะทำภารกิจรงณรงค์ฟื้นฟู รักษา พัฒนาชุมชนตัวเองในทุกๆด้าน เพราะในอดีตผู้หญิงเป็นผู้รับผิดชอบในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว เพื่อนำไปปลูกในฤดูการเพาะปลูกครั้งต่อไป ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุดของการดำรงชีวิตเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีระบบการเกษตรเชิงพานิชย์เข้าสู่ชุมชนชาติพันธุ์มากขึ้น ได้มีส่วนลดทอนบทบาทของผู้หญิงในการในภาคเกษตรยังชีพอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากระบบเกษตรแบบยังชีพผสมผสานนั้นมีพืชพันธุ์ต่างๆที่ปลูกในพื้นที่เดียวกันอย่างน้อยถึง 50 ชนิด (ยศ. 2003, Biodiversity: Local Knowledge and Sustainable development)
ปี 2014 นี้ เป็นปีที่สหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นปีครอบครัวเกษตรกร (เกษตรครอบรัว) โดยมอบหมายให้องค์การอาหารโลก หรือ FAO เป็นตัวกลางที่จะขับเคลื่อนปีครอบครัวเกษตรกรให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะให้ผู้คนที่อยู่ในชนบทที่มีที่ดินทำกินของตนเองได้หันมาให้ความสนใจที่จะผลิตอาหารที่ปลอดภัย ปลอดสารไว้บริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายภายในชุมชน ทั้งนี้เพื่อเสริมรายได้และลดรายจ่ายให้กับครอบครัวเกษตรกรด้วย
จึงอยากขอเชิญชวนและช่วยกันรณรงค์ให้เกษตรกรได้หันมาทำเกษตรินทรีย์ ปลอดสารเพื่อความยั่งยืนของปัจจัยการผลิต (ดิน น้ำ ป่าและเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน) ตามคำประกาศของสหประชาชาติให้เป็นปีครอบครัวเกษตรกรและผลิตอาหารที่ปลอดภัยสำหรับครอบครัวและมวลมนุษยชาติ
ประเทศโลกตะวันตกหลายประเทศพบกับปัญหามามากต่อมากแล้ว ตอนนี้เขาหันกลับไปทำเกษตรครอบครัว เกษตรอินทรีย์แต่เรากลับไปทำเกษตรพันธสัญญา เราควรเรียนรู้บทเรียนและประสบการณ์จากพวกเขาบ้าง เพื่อเราจะไม่ตกหลุมหรือหลงทางเหมือนคนอื่นอีกต่อไป