Skip to content

วัน เสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ ค. ศ. 2014 บิชอปฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์ บิชอปสังฆมณฑลเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีบูชาขอบพระคุณพระเจ้า โอกาสฉลองวัดนักบุญคามิลโล แม่ข้าวต้ม เนื่องจากทุกวันที่  2 กุมภาพันธ์  ของทุกปี  ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของนักบุญคามิลโล เพราะนอกจากเป็นวันที่แม่พระถวายพระเยซูเจ้าในพระวิหารแล้ว ยังเป็นวันที่คิดถึงการกลับใจของนักบุญคามิลโลอีกด้วย เป็นพิเศษ ในปีนี้เราฉลองครบ 400 ปี การมรณกรรมของท่านนักบุญคามิลโลด้วย   พระธาตุหัวใจนักบุญคามิลโลยังคงอยู่เก็บไว้ที่กรุงโรม ภายในวัดที่สร้างขึ้นเมื่อตอนที่ท่านสิ้นใจ   พระธาตุหัวใจนักบุญคามิลโลบอกเราว่า ชีวิตศักดิ์สิทธิ์ หัวใจ (ความรัก) ยังคงอยู่เสมอ ดังนั้นผู้ที่มาร่วมฉลองจึงได้รับพระคุณการุณย์บริบูรณ์ด้วย

ตั้งแต่บ่ายวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 2014ได้มีการให้บริการทางด้านสุขภาพอนามัย จากโรงพยาบาลคามิลเลียนและกลุ่มเวชบุคคลคาทอลิกสังฆมณฑลเชียงใหม่ พร้อมกับการให้คำปรึกษาเรื่องการขึ้นทะเบียนบัตรทองสำหรับผู้ที่ยังไม่มีสัญชาติไทย โดยแผนกกลุ่มชาติพันธุ์ของสังฆมณฑลเชียงใหม่

ก่อนเริ่มพิธีบูชาขอบพระคุณ ได้มีพิธีการต้อนรับบิชอปฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์ และบาทหลวง หน้าวัดนักบุญคามิลโล รับชมการแสดงของกลุ่มอาข่าและเยาวชนของวัดนักบุญคามิลโล ร่วมขับร้องบทเพลงสดุดีบิชอปา

ในพิธีบูชาขอบพระคุณได้มีการโปรดศีลกำลังให้กับเด็ก จำนวน 27 คน การรับศีลกำลังเป็นการยืนยัน หรือเครื่องหมายบ่งบอกถึง “การบรรลุนิติภาวะทางความเชื่อ” หรือความศรัทธา คือการพัฒนาเติบโต มีกำลัง เข้มแข็งในความเชื่อ สามารถเป็นพยานถึงความเชื่อ ทั้งด้วยความคิด คำพูด และการปฏิบัติ

ท้ายพิธีบูชาขอบพระคุณ คุณพ่อเจ้าอาวาสและพ่อหลวง ตัวแทนสัตบุรุษวัดนักบุญคามิลโล ได้กล่าวขอบคุณบิชอป บาทหลวง นักบวชและสัตบุรุษที่มาร่วมฉลอง พร้อมมอบของที่ระลึกให้กับพระคุณเจ้าและบาทหลวง

ประวัติท่านนักบุญคามิลโล

คามิลโล เด แลลลิส เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 1550 ที่เมืองบุคเคียนีโก ในภาคกลางของประเทศอิตาลี เป็นเด็กที่มีรูปร่างใหญ่โตแข็งแรงผิดเด็กธรรมดาทั่วไป พอโตขึ้นก็ส่อนิสัยเกเร เป็นจ่าฝูงนำเพื่อนๆ ก่อความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน จนเป็นที่อิดหนาระอาใจของคนทั่วไป นอกจากนั้นยังชอบเล่นการพนัน ไม่ชอบเรียน บิดาของเขาเป็นทหาร คามิลโลก็อยากเป็นทหารเหมือนบิดาด้วย และก็ได้เป็นจริงๆ จะว่าเป็นทหารยักษ์ก็ได้ เพราะมีรูปร่างใหญ่โต สูงถึง 2 เมตร

แต่คามิลโลก็มีจุดอ่อนประจำตัว คือแผลที่บริเวณข้อเท้า ซึ่งทำให้ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ระหว่างที่รอให้แผลหายก็ฉายโอกาสรับจ้างดูและคนป่วยในโรงพยาบาลไปด้วย แต่ยังไม่ทิ้งนิสัยเกเร และเป็นต้น การพนัน จึงถูกไล่ออกจากงาน กลับไปเป็นทหารรับจ้างอีก คามิลโลกลับใจเมื่อเข้าไปทำงานรับจ้างอยู่ในอารามกาปูชิน คุณพ่ออันเจโลอธิการเชิญชวนให้ท่านละทิ้งบาปและมารผจญทั้งปวง และหันมาสนใจวิญญาณและความรอดซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด วันนั้นตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 1575 ขณะที่มีอายุได้ 25 ปี หลังจากนั้นก็ได้สมัครเป็นนักบวชกาปูชิน แต่อยู่ได้พักเดียวบาดแผลที่ข้อเท้าก็กำเริบขึ้นอีก จึงต้องออกจากอารามไปเข้าโรงพยาบาล และก็รับจ้างดูและคนป่วยเหมือนคราวก่อน

แต่คราวนี้ท่าทีของคามิลโลเปลี่ยนไป ท่านเอาใจใส่ดูและคนป่วยอย่างดี พอแผลที่ข้อเท้าหายก็กลับเข้าอารามกาปูชินอีกครั้ง แต่ไม่นานก็กำเริบขึ้นใหม่ คราวนี้ท่านจึงออกจากอารามกาปูชินอย่างเด็ดขาด และกลับไปทำงานพยาบาลคนป่วยที่โรงพยาบาลอย่างเต็มที่จนได้กลายเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลในเวลาต่อมา คามิลโลจึงเริ่มคิดตั้งกลุ่มอาสาสมัครมาช่วยงานนี้ เริ่มแรกทีเดียวก็ได้ฆราวาสอาสาสมัคร 5 คนมาร่วมงาน ทุกสิ่งกำลังจะไปได้ดี ก็ถูกผู้บริหารในโรงพยาบาลคัดค้านและขัดขวางจนท่านเกือบจะเลิกล้มความตั้งใจนี้ แต่คืนหนึ่งไม้กางเขนที่แขวนอยู่ในห้องของท่านเกิดมีปาฏิหาริย์ พระเยซูบนไม้กางเขนนั้นทรงเคลื่อนไหวและตรัสกับท่านว่า “ไม่ต้องกลัว จงทำต่อไป งานนี้เป็นงานของเรา ไม่ใช่งานของเจ้า” คามิลโลจึงตัดสินใจเดินหน้าต่อไป ท่านและกลุ่มอาสาสมัครเป็นเพียงฆราวาส ถ้าหากเป็นบาทหลวงคงจะมีคนเลื่อมใสสมัครมาร่วมงานมากขึ้น ท่านจึงสมัครเข้าบ้านเณรในขณะที่มีอายุได้ 30 ปีแล้ว และได้บวชเป็นบาทหลวงเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 1584 และได้นำเอาเครื่องหมาย “กางเขนแดง” มาติดไว้ที่เครื่องแบบของสมาชิกเพื่อเป็นเครื่องหมายของความรอดสำหรับคนป่วย

งานของคามิลโลนี้ก็ได้แพร่ขยายไปอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งได้กลับเข้าสู่สมรภูมิทหารอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้เพื่อมาช่วยเหลือทหารที่บาดเจ็บจากการสู้รบ เครื่องหมาย “กางเขนแดง” ก็เลยกลายเป็นเครื่องหมาย “กาชาด” ซึ่งแสดงถึงหน่วยช่วยเหลือพยาบาลในกองทัพในปัจจุบัน คามิลโลสิ้นสิ้นชีวิตเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 1614 ขณะมีอายุ 65 ปี และได้อุทิศชีวิตรับใช้คนป่วยมาเป็นเวลาถึง 40 ปี พระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ได้แต่งตั้งท่านเป็นนักบุญในปี 1886 และเป็นองค์อุปถัมภ์ของโรงพยาบาลและคนป่วยทั้งหลาย

พระธาตุหัวใจนักบุญคามิลโล

จากบันทึกของคุณพ่อ… นักประวัติศาสตร์ของคณะคามิลเลียน เรื่องหัวใจของนักบุญคามิลโล เมื่อตอนผ่าศพเพื่อชันสูตรศพ … มีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ บรรดาสมาชิกคณะอยู่ร่วมด้วย และเมื่อเห็นว่าหัวใจยังสดอยู่ จึงได้นำหัวใจของท่านมาชโลมน้ำมันเก็บรักษาไว้ และตกไปอยู่กับสมาชิกคณะท่านหนึ่ง จากนั้นทางคณะเมื่อทราบว่าหัวใจยังอยู่จึงได้ตามหา ได้ทราบว่าอยู่ที่เขาคนนั้น จึงได้ขอนำหัวใจของนักบุญคามิลโล มาเก็บรักษาไว้ … ก่อนที่จะให้พระธาตุนี้กลับมาก็ได้เฉือนเสี้ยวหนึ่งเก็บไว้ และเย็บเอาไว้ ซึ่งยังมีรอยเย็บนั้นอยู่

พระธาตุถูกเก็บรักษาไว้ที่ใดสักแห่งหนึ่ง และดูเหมือนนานกว่าที่ผู้คนจะสนใจ ที่สุดบิชอปแห่งสังฆมณฑลเนเปิล ได้รับรวบพระธาตุจากที่ต่าง ๆ และพระธาตุหัวใจของนักบุญคามิลโลด้วย ภายหลังจึงมีการขอนำพระธาตุหัวใจนักบุญคามิลโลมา เคารพอีกครั้ง และรอยเฉือนที่พระธาตุหัวใจนักบุญคามิลโล รอยเย็บนั้น ก็เป็นหนึ่งในข้อพิสูจน์ว่านี่เป็นของแท้ เพราะมีรอยต่อที่ถูกเย็บ … เมื่อมีประกาศให้ท่านเป็นบุญราศี มีการค้นหาพระธาตุนี้อีกครั้ง .. ที่สุดเมื่อนโปเลียน ทำสงคราม ก็มีการเคลื่อนย้ายพระธาตุหัวใจมาไว้ที่กรุงโรม ไว้ในวัดที่สร้างขึ้นเมื่อตอนที่ท่านสิ้นใจ