Skip to content

ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 32 เทศกาลธรรมดา ปี B

“หญิงม่ายยากจนคนนี้ได้ทำทานมากกว่าทุกคน”

หญิงม่ายคนนี้ปรากฏตัวขึ้นในบริเวณพระวิหารโดยไม่มีใครสังเกตเห็น ถ้าจะพูดให้ง่ายเข้าไม่มีใครอยากสังเกตเห็น เธอไม่สำคัญใดๆ ไม่มีคุณค่าให้ต้องจับตามอง และเธอก็ทำตัวลีบๆ เล็กๆ ผอมๆ จนๆ ไม่มีอะไรน่าดูทั้งสิ้น สู้จับตาดูพวกธรรมจารย์ และพวกบิ๊กเบ้งของชนชั้นชาวยิวยังดีเสียกว่า พวกเขาสวมเสื้อยาวเดินไปเดินมาให้เป็นที่จับตาคน ทำอะไรแต่ละที แต่ละอย่างก็แสนจะสง่าผ่าเผยโอ้อวด เช่นนั่งแถวหน้าในศาลาธรรมที่ทรงเกียรติที่สุด บ้างก็หยุดยืนอยู่ในที่โดดเด่น และอธิษฐานภาวนาอย่างยืดยาว เรียกว่าใครมาที่พระวิหารต้องเห็นภาพของเขา เป็นภาพที่น่าประทับใจที่ใบหน้าของเขาเหมือนเข้าฌาน กำลังสนทนากับพระเจ้าตามลำพัง และใบหน้าของเขาเปล่งประกายออกมา โอ้โห…สุดยอดจริง ๆ

ยิ่งกว่านั้น ในบริเวณเขตของพระวิหารที่ผู้หญิงเข้าได้ ยังมีกล่องรับบริจาคทาน 13 กล่องด้วยกัน รูปร่างกล่องเป็นรูปทรัมเป็ต จุดประสงค์ก็นำเงินนี้บำรุงรักษาพระวิหาร ชาวยิวมาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่พวกเขากระจัดกระจายอยู่ เมื่อมาเยี่ยมพระวิหารก็ทำบุญโดยใส่เงินลงไปในกล่องเหล่านี้ พวกคนที่ร่ำรวยและต้องการให้คนรู้ก็จะทำบุญโดยใส่เงินจำนวนมากลงไปในกล่อง เสียงเงินกระทบลงไปในกล่องจะดังกังวานเหมือนเสียงดนตรี ยิ่งเสียงดังจนทำให้คนตกใจได้ยิ่งดี

ภาพและเสียงที่เป็นมนต์เสน่ห์อย่างนี้ พระเยซูเจ้าทรงมองเห็นและรับรู้ แต่ไม่ทรงประทับใจ ส่วนหญิงม่ายที่ไม่มีใครสังเกตเห็น กลับเด่นชัดในสายพระเนตรของพระองค์ เธอทำตัวลีบๆ เดินไปที่กล่องรับบริจาค นำเงินทั้งหมดที่เธอมีออกมา ปรากฏว่ามีแค่เหรียญทองแดง 2 เหรียญเท่านั้นเอง แต่เธอให้จนหมด ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ยินเสียงเหรียญกระทบกล่องเลย เธอรีบเดินออกมา จะได้ไม่เกะกะพวกคนร่ำรวยที่กำลังจะทำบุญ ภาพของเธอเช่นนี้แหละที่ทำให้พระเยซูเจ้าทรงประทับใจยิ่งนัก

จึงทรงเรียกบรรดาศิษย์มาสอนว่า หญิงม่ายคนนี้ต่างหากได้ทำทานมากกว่าทุกคน เพราะคนอื่นเอาเงินที่เหลือมาทำทาน แต่หญิงม่ายเอาเงินทั้งหมดที่ตนมีมาทำทาน สำหรับพระองค์การทำทานที่ได้บุญกุศลแท้จริง ไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินที่ให้ไป แต่อยู่ที่จำนวนเงินที่เจ้าตัวคงเหลืออยู่

มีคำกล่าวว่า คนที่ทำบุญให้ทาน มี 3 ประเภท ประเภทแรก คือคนที่ให้ทานโดยไม่เต็มใจ คนพวกนี้มักจะพูดด้วยคำขึ้นต้นว่า “ฉันเกลียดเหลือเกินที่จะต้องให้…” คนพวกนี้จะให้ทานด้วยความไม่เต็มใจ และรู้สึกขมขื่นใจที่ต้องฝืนใจให้ไป ประเภทที่สองคือคนที่ให้ทานโดยเขาถือว่าเป็นหน้าที่ คนพวกนี้จะพูดว่า “ฉันควรจะให้…” คนพวกนี้ไม่ค่อยเต็มใจที่จะให้เหมือนกัน แต่ให้ด้วยความรู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่จริงๆ ประเภทที่สาม คือคนที่ให้ทานด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง คนพวกนี้จะพูดว่า “ฉันต้องการให้…” โดยตั้งใจให้อย่างเต็มที่ และให้จากใจจริง ๆ

ทานในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตัวเงินอย่างเดียวเท่านั้น ยังหมายถึงทรัพยากรต่างๆ ในตัวเราที่มี รวมทั้งเวลา และโอกาส เช่น เรามอบตัวเราและเวลาให้กับพระโดยการมาร่วมมิสซาฯ ทุกๆ วันอาทิตย์โดยเต็มอกเต็มใจหรือไม่ เราให้ตัวเราและเวลากับสมาชิกในครอบครัวเราหรือไม่ รวมไปถึงการสนับสนุนกัน และ ความรัก การให้อภัย การรับใช้และบริการ รวมไปถึงในที่ทำงาน ไปถึงเพื่อนบ้าน และสังคมที่แผ่กว้างออกไปเรื่อย ๆ
เป็นเรื่องที่น่ากระทำใช่ไหมครับ

(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดพระกุมารเยซู เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2009)

ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 32 เทศกาลธรรมดา ปี B

“หญิงม่ายยากจนคนนี้ได้ทำทานมากกว่าทุกคน”

วันหนึ่งมีคนขอทานคนหนึ่งไปหาคุณแม่เทเรซาและพูดว่า “ทุกคนให้บางสิ่งบางอย่างกับคุณแม่ ผมก็ต้องการให้บางสิ่งด้วย” แล้วเขาก็หยิบเงินเหรียญมูลค่าไม่กี่สตางค์มอบให้ไป คุณแม่เทเรซาคิดอยู่ในใจว่า “ถ้าฉันรับเงินนี้ เขาก็คงจากไปด้วยความหิว แต่ถ้าฉันไม่รับ เขาก็จะจากไปอย่างไม่มีความสุข” ดังนั้น จึงตัดสินใจรับไว้ ต่อมาในภายหลัง คุณแม่กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ฉันรู้สึกได้ภายในใจลึกๆ ว่าของขวัญนี้ยิ่งใหญ่กว่ารางวัลโนเบล เพราะเขาได้มอบให้ทั้งหมดที่เขามี ฉันสามารถมองเห็นความยินดีที่ได้ให้บนใบหน้าของเขาอย่างเด่นชัดทีเดียว” (John Rose : John’s Sunday Homilies – Cycle B – Illustrated with Stories, Verses & Anecdotes; p.237)

พระวรสารอาทิตย์นี้นักบุญมาระโกเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นตรงหน้าตู้ทาน พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นประชาชนใส่เงินลงในตู้ทาน คนรวยๆ ก็ใส่เงินมาก แต่มีหญิงม่ายยากจนคนหนึ่งเอาเหรียญทองแดงสองเหรียญใส่ลงไปในตู้ทาน พระองค์ทรงกล่าวอย่างชื่นชมในการกระทำของหญิงม่ายให้บรรดาสาวกฟัง เพราะแม้เธอขัดสนอยู่แล้ว ยังได้เอาเงินทั้งหมดที่มีอยู่สำหรับเลี้ยงชีวิตมาทำทาน นี่แหละครับ เงินจำนวนเล็กน้อยของหญิงม่ายที่ยากจนกลับกลายเป็นสิ่งที่มีค่ามากในสายพระเนตรของพระเยซูเจ้า

กล่าวกันว่า มีผู้ให้ 3 ประเภทด้วยกัน พวกแรกเป็นผู้ให้แบบจำใจ พวกนี้เวลาให้จะพูดว่า “ฉันล่ะเกลียดที่จะต้องให้” พวกที่สองเป็นผู้ให้ตามหน้าที่ พวกนี้จะบอกว่า “ฉันคิดว่าควรจะให้” พวกสุดท้ายเป็นผู้ให้ที่เต็มใจ พวกนี้กล่าวว่า “ฉันอยากให้…..ฉันต้องการให้”

เราลองมาคิดกันดูซิว่า หญิงม่ายในพระวรสารเป็นผู้ให้แบบไหน และชายขอทานที่ให้เหรียญเล็กๆ กับคุณแม่เทเรซาเป็นผู้ให้แบบไหน แล้วเราล่ะ ได้เป็น กำลังเป็น หรือจะเป็นผู้ให้แบบไหน

“ให้” ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องหมายถึง “เงิน” อย่างเดียว เพราะเราสามารถให้สิ่งอื่น เช่น ตัวเรา และเวลาของเราได้อีกด้วย ตัวอย่าง เราได้ให้ใจของเราและเวลาของเรากับพระเจ้าในการมานมัสการพระองค์ร่วมกับประชากรของพระคนอื่นๆ ในทุกวันอาทิตย์หรือในการภาวนาประจำวันหรือไม่ เราได้มอบตัวเราและให้เวลากับทุกๆ คนในครอบครัวเราหรือไม่ เช่นให้การสนับสนุน ให้ความรัก เราได้ให้ความสนใจและการบริการต่อเพื่อนบ้านเราหรือไม่
เชื่อว่าเราต้องรู้จักให้บ้างแน่ๆ แต่น่าสำรวจดูว่าเป็นการให้แบบไหน แบบจำใจ แบบทำตามหน้าที่ หรือแบบเต็มใจ ซึ่งเป็นการมอบให้อย่างคนใจดี ให้หมดหัวใจ

ที่จริง เราสามารถให้แก่คนอื่นๆ ด้วยวิธีต่างๆ กัน ดังนี้ “ของขวัญที่ดีที่สุดจะมอบให้ศัตรูคือการอภัย สำหรับเพื่อน –ให้ความซื่อสัตย์ สำหรับเด็กๆ –มอบตัวอย่างที่ดี สำหรับบิดา –ให้เกียรติท่าน สำหรับมารดา –ให้หัวใจของเรา และสำหรับเพื่อนบ้าน –ยื่นมือให้ความช่วยเหลือ” (Inspired by Francis Balfour)

ขอจบด้วยบทรำพึงสั้นๆ เรื่องที่พระเจ้าได้มอบสิ่งต่างๆ ให้กับเราด้วยพระทัยดี

“เราขอดอกไม้ดอกหนึ่ง
ทรงประทานช่อดอกไม้มาให้

เราขอน้ำหยดหนึ่ง
ทรงมอบมหาสมุทรแก่เรา

เราขอเพียงเม็ดทราย
ทรงมอบหาดทรายให้กับเรา

เราขอเพียงใบหญ้า
ทรงมอบสนามหญ้าเขียวขจี

เราขออาหารกิน
ทรงมอบพระกายและพระโลหิตของพระองค์ให้เรา”

(ความคิดมาจาก Mark Link, SJ. Illustrated Sunday Homilies –Year B –pp.244-246)

(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2012)