Skip to content

ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 15 เทศกาลธรรมดา ปี B

อัครสาวกทั้งสิบสองกับงานแพร่ธรรม

อัครสาวกทั้งสิบสองมาใช้ชีวิตอยู่กับพระเยซูเจ้า และได้รับฟังคำสั่งสอนของพระองค์พอสมควรแก่เวลาแล้ว พระเยซูเจ้าจึงทรงจัดให้พวกเขาเดินทางไปเป็นคู่ๆ เพื่อประกาศข่าวดี (Missionary Trip)

และเนื่องจากไม่ได้ทรงส่งไปท่องเที่ยว แต่เพื่อไปประกาศข่าวดี เป็นการฝึกงานไปในตัว และจะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับงานในอนาคต จึงทรงกำชับมิให้นำสิ่งใดไปด้วย ไม่ให้มีอาหาร ไม่ให้มีย่าม ไม่ให้มีแม้แต่เศษเงินหรือเสื้อผ้าสำรอง เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่จำเป็นสำหรับการแพร่ธรรม

ส่วนสิ่งที่จำเป็นจริงๆ และจะขาดเสียไม่ได้คือ อำนาจเหนือปีศาจ ซึ่งพระองค์ประทานให้กับพวกเขาก่อนออกเดินทาง และเพราะความเชื่อฟังในองค์พระเยซูเจ้าอย่างเต็มที่ บรรดาอัครสาวกได้ทำงานและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างสูง พวกเขาได้เทศน์สอนคนทั้งหลายให้กลับใจ ได้ขับไล่ปีศาจจำนวนมาก ได้เจิมน้ำมันคนเจ็บป่วยหลายคน และรักษาเขาให้หายจากโรค

พี่น้องอย่าคิดว่าการประกาศแพร่ธรรมเป็นงานของพระสงฆ์เท่านั้น เราคงรับทราบข้อความจริงที่ว่า กระแสเรียกของการเป็นนักบวชลดน้อยลง เราเองที่เป็นคริสตชนก็ถูกส่งให้ไปประกาศข่าวดีด้วย อย่ามัวนิ่งเมินเฉย หรือจมหายไปในทรัพย์สมบัติสิ่งของนอกกายที่เราสะสมไว้

ขอยกตัวอย่างนักบุญฟรังซิส อัสซีซี ซึ่งมาจากครอบครัวที่ร่ำรวย ในวัยหนุ่มตอนต้นได้ใช้ชีวิตจมปลักกับทรัพย์สินเงินทองและความสะดวกสบาย ต่อมาเกิดสงครามขึ้นระหว่างเมืองอัสซีซี กับเมืองเปรูจาที่อยู่ใกล้ๆกัน ฟรังซิสอาสาไปรบ แต่ถูกจับเป็นนักโทษอยู่ในคุก ชีวิตได้รับความลำบากอย่างยิ่ง ต่อมาสถานการณ์สงบลง ท่านได้ถูกปล่อยตัวออกมา และต้องใช้เวลาหนึ่งปีต่อมาเพื่อฟื้นฟูสุขภาพให้ดีดังเดิม เหตุการณ์ต่างๆ ที่อุบัติขึ้นทำให้ท่านเปลี่ยนแปลงตนเอง ท่านละทิ้งทรัพย์สมบัติของครอบครัวไปอยู่วัดเก่าๆ ที่จะพังอยู่แล้วแถบชานเมือง ละทิ้งความร่ำรวยเดินทางไปสู่ความยากจน ละทิ้งการสวมเสื้อผ้าหรูหราแบบผู้ดีไปใส่ชุดของกรรมกรที่ยากจน แต่มีรูปกางเขนใหญ่สีขาวอยู่หลังเสื้อ ท่านไปดำเนินชีวิตแบบฤาษี ใช้เวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวันเพื่อการสวดภาวนาอย่างสันโดษ วันหนึ่งในขณะที่ฟังมิสซา ท่านได้ยินพระวรสารของวันอาทิตย์นี้ มีความประทับใจมาก ท่านเลื่อมใสคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้า จึงออกเดินทางไปประกาศข่าวดีตามเมืองและหมู่บ้านต่างๆ โดยไม่นำอะไรติดตัวไปเลย ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือ เงินทอง และประสบความสำเร็จมากในการแพร่ธรรม มีผู้คนมากมายประทับใจในตัวท่าน และมีคนรุ่นเยาว์ติดตามท่าน ต่อมาได้ขออนุญาตและได้รับอนุมัติให้ตั้งคณะนักบวชฟรังซิสกัน ซึ่งเอาใจใส่คนเจ็บป่วยและช่วยเหลือคนยากจน พวกศิษย์นักบุญฟรังซิสรุ่นแรกๆ นี้ นอนภายใต้ดวงดาวบนฟ้า และกินอาหารที่คนเขาให้กิน ทั้งหมดนี้นักบุญฟรังซิสได้ทำในขณะที่ท่านเป็นฆราวาสนั่นเอง

ขอจบลงท้ายด้วยคำถามว่า เรารู้หรือไม่ว่าเรามีหน้าที่ประกาศข่าวดี ถ้าเรารู้แล้วขณะนี้เราได้ลงมือทำอะไรบ้าง พระเจ้าทรงประทานพรสวรรค์ให้เราแต่ละคนแตกต่างกัน พระคุณเหล่านั้นสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่องานแพร่ธรรมได้ทั้งสิ้น จงออกเดินทางจากตนเองไปสู่ผู้อื่น จงเลื่อมใสและเชื่อฟังคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม และเราจะประสบผลสำเร็จอย่างยิ่งในการแพร่ธรรม

( คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดพระกุมารเยซู เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2009

Based on : Illustrated Sunday Homilies, Year – B ; by Mark Link, SJ )

ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 15 เทศกาลธรรมดา ปี B

"จงไปประกาศพระวาจาแก่ประชากรของเรา" ("Go, prophesy to my people")

การเผชิญหน้าต่อการแบ่งแยก (Confronting division)

ในบทอ่านแรกวันนี้เราจะได้รับรู้ถึงหนึ่งในคุณลักษณะยิ่งใหญ่ของการเล่าเรื่องในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ฆราวาสที่ชื่อว่าอาโมส ซึ่งเป็นชาวไร่ชาวนาได้กลับกลายเป็นประกาศก อาโมสมาจากหมู่บ้านเล็กๆ ในดินแดนเทือกเขาของยูดาห์ ห่างจากเมืองเบธเลเฮมไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 5 ไมล์(หรือประมาณ 8 กิโลเมตร) ท่านได้รับการเรียกจากพระเจ้า (จะเป็นในรูปแบบไหนเราไม่รู้) ที่เรารู้คือท่านต้องผละจากงานและแผ่นดินของท่าน และถูกผลักดันให้ไปทำงานในฐานะประกาศกในดินแดนอื่น อาโมสเป็นคนซื่อๆ แต่ก็ไม่ใช่คนโง่เง่ากับคำพูดไร้สาระที่มากระทบหูท่าน ท่านเป็นผู้ที่สังเกตและวิเคราะห์สภาพทางสังคมและศาสนา เป็นประกาศกคนแรกที่อุทิศตนในงานเขียน เป็นนักเล่าเรื่องที่รู้ว่าจะประกาศข่าวสารออกมาอย่างไรให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง

ช่วงเวลานั้นเป็นราวๆกลางศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล อาโมสถูกส่งไปยังอาณาจักรทางเหนือ คือ อิสราเอล (อาณาจักรทางใต้คือ ยูดาห์ – ผู้แปล) ซึ่งในขณะนั้นกำลังรุ่งเรืองสุดขีดทั้งขุมอำนาจและความร่ำรวย ผืนดินมีความสมบูรณ์มาก บ้านเมืองถูกสร้างอย่างงดงามตระการตา พระราชวังต่างๆมีสิ่งปลูกสร้างคอยป้องกันอย่างแน่นหนา คนที่ร่ำรวยมีบ้านพักฤดูร้อนและฤดูหนาวประดับประดาด้วยงาช้างที่มีค่ามาก แต่ในขณะเดียวกันก็มีการคอรัปชั่นและการผิดศีลธรรมอย่างแพร่หลาย คนยากจนต้องทุกข์ทนมาก ถูกแสวงหาผลประโยชน์ แม้แต่ถูกขายไปเป็นทาส เป็นดินแดนที่ปราศจากความยุติธรรมและความสงสาร บรรดาผู้พิพากษาก็รับสินบน คนบริสุทธิ์ถูกทรยศหักหลัง

ในท่ามกลางความฟุ้งเฟ้อและความทุกข์ยากลำเค็ญ ประชาชนหลั่งไหลกันไปที่สักการสถานในช่วงเทศกาลเพื่อทำตามระเบียบทางพิธีกรรม อาโมสถือว่าการปฏิบัติศาสนาของพวกเขาเป็นการลงทุนที่จอมปลอม และเป็นที่เกลียดชังในสายพระเนตรของพระเจ้า ดังนั้นท่านได้พูดถึงพระวาจาของพระเจ้าดังนี้

“เราเกลียด เรารังเกียจเทศกาลฉลองของพวกท่าน

เราไม่พอใจการประชุมสง่างามของท่าน

แม้ท่านทั้งหลายถวายเครื่องเผาบูชา

เราก็ไม่พอใจธัญบูชาของท่าน

เราไม่มองสัตว์อ้วนพีที่ท่านถวายเป็นศานติบูชา

จงให้เสียงอึกทึกของบทเพลงของท่านอยู่ห่างจากเรา

เราทนฟังเสียงพิณใหญ่ของท่านไม่ได้

แต่จงให้ความยุติธรรมหลั่งไหลลงเหมือนน้ำ

และให้ความชอบธรรมเป็นเหมือนธารน้ำที่ไม่มีวันเหือดแห้ง” (อมส 5:21-24)


ให้คงความซื่อสัตย์ไว้ (Staying loyal)

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของอาโมสซึ่งเป็นคนนอก(ถิ่น) ที่จะใช้พรสวรรค์ของตนทำลายความสงบสุขนั้นเสีย ท่านได้ไปที่สักการสถานเบธเอล ซึ่งเป็นสักการสถานของกษัตริย์ และเป็นพระวิหารของอาณาจักร ที่นั่นท่านต้องเผชิญหน้ากับอามาซิยาห์ สมณะแห่งเบธเอล ซึ่งเมื่อได้ฟังคำเทศน์ของอาโมสก็มีความโกรธอย่างยิ่ง เขากล่าวหาอาโมสว่าเป็นคนที่ไม่จงรักภักดี ซึ่งเป็นเล่ห์กลแบบเก่าๆที่จะลบความน่าเชื่อถือของประกาศกที่มาทำให้ตำแหน่งของเขาสั่นสะเทือน จึงฟ้องไปยังกษัตริย์ว่า “อาโมสวางแผนต่อต้านพระองค์… แผ่นดินนี้ไม่สามารถทนฟังคำพูดของเขาได้อีกต่อไป”

ในบทอ่านของวันนี้ สมณะได้บอกให้ประกาศกกลับบ้านไป และปล่อยให้สักการสถานของกษัตริย์อยู่อย่างสงบ อาโมสได้ตอบโดยเล่าเรื่องชีวิตจริงของท่าน ว่าท่านไม่ได้เคยเป็นสมาชิกใดๆของกลุ่มประกาศก ท่านเป็นคนเลี้ยงสัตว์และบัดนี้ท่านเป็นเหมือนโฆษกของพระเจ้า สาเหตุเดียวที่ท่านต้องเปลี่ยนไปจากการประกอบอาชีพเดิมก็คือ พระเจ้าทรงให้ท่านเลิกต้อนฝูงแพะแกะ และให้ท่านไปประกาศพระวาจาแก่อิสราเอลประชากรของพระองค์

อาโมสได้ตอบซื่อๆว่าท่านไม่ได้เป็นประกาศกโดยแต่งตั้งตัวเอง หรือโดยการแต่งตั้งจากกษัตริย์ แต่ท่านถูกเกณฑ์โดยพระเจ้าให้มาประกาศข่าวสารของพระองค์ เพราะฉะนั้นท่านไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับสมณะเรื่องความซื่อสัตย์ หรือความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ ท่านขอซื่อสัตย์ต่อพระวาจาของพระเท่านั้น ซึ่งท่านถือว่าสำคัญมากที่สุดในชีวิตของท่าน


อำนาจของ(การประกาศ)พระวรสาร (The authority of the Gospel)

พระวรสารของวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเรียกอัครสาวกทั้งสิบสองเข้ามาพบ และทรงส่งพวกเขาออกเดินทางไปทำงานธรรมทูต เช่นเดียวกับประกาศกอาโมส สานุศิษย์ที่ได้รับเลือกสรรให้ทำหน้าที่นี้จะต้องนำพระวาจาของพระเจ้าไปมอบให้กับคนอื่นๆ ในภารกิจนี้บรรดาอัครสาวกได้รับอำนาจและพลังจากพระเยซูเจ้า พวกเขาต้องเดินทางไปบนพื้นฐานนี้เท่านั้น

ดังนั้น พวกเขาต้องไม่ขึ้นกับทรัพยากรใดๆของตนเอง แต่ขึ้นกับอำนาจที่พวกเขาได้รับมอบ และมิตรไมตรีที่อาจได้รับจากผู้ที่เขาไปประกาศข่าวดีเท่านั้น ไม่ต้องเอาอาหาร ย่าม เงิน และเสื้อผ้าสำรองไปด้วย ให้มีแต่ไม้เท้า และสวมรองเท้าได้ (สังเกต ของสองสิ่งนี้ คือไม้เท้า กับ รองเท้า เป็นสิ่งที่เหมาะกับการเดินทางไปในที่ต่างๆ) ถ้าพวกอัครสาวกจะมีขนมปังกิน หมายความว่าประชาชนไม่เพียงแสดงน้ำใจดีต่อพวกเขาเท่านั้น แต่หมายถึงยอมเปิดใจต่อพระวาจาที่พวกเขานำไปประกาศด้วย ถ้าพวกเขาไม่ได้รับการต้อนรับ ก็ไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่น นอกจากออกจากที่นั่นไปที่อื่น และเมื่อเมืองไหนที่ปฏิเสธ ก็จงสลัดฝุ่นจากเท้าไว้เป็นพยานกล่าวโทษเขา (การสลัดฝุ่นจากเท้า เป็นการแสดงออกถึงสัญลักษณ์ที่ชาวยิวผู้เคร่งครัดทั้งหลายได้กระทำเมื่อพวกเขาได้กลับคืนสู่ดินแดนปาเลสไตน์ หลังการเดินทางไปเมืองนอกกลับมา)

ทั้งบรรดาประกาศก และบรรดาอัครสาวกจะต้องพึ่งพาอำนาจและพลังที่พวกเขาได้รับมอบ ในการเดินทางไปตามถนนต่างๆ พวกเขาจะได้ทดสอบว่าข่าวสารของเขาในต่างแดนจะเป็นอย่างไร พวกเขาจะเห็นว่าความมั่นใจของพวกเขาสามารถผ่านพ้นขีดจำกัดของชาติที่แตกต่าง และบุคคลที่เย็นเฉยได้หรือไม่ พวกเขาจะค้นพบว่ากระแสเรียกของพวกเขาจะยังยืนยงคงอยู่ได้แม้บางครั้งอาจจะไม่ได้รับการยอมรับ เพราะว่าไม่ใช่เพียงเรื่องข่าวสารที่นำไปประกาศเท่านั้นที่จะถูกทดสอบ แต่ตัวผู้ไปประกาศก็ถูกประเมินด้วย

กระบวนการนี้ยังคงดำเนินต่อเนื่องไปทุกเมื่อเชื่อวันในชีวิตของพระศาสนจักรและของโลกนี้ – ทุกๆครั้งที่ผู้เทศน์ยืนหยัดตนเองว่าจะประกาศพระวาจาของพระเจ้า – ทุกๆครั้งที่คริสตชนคนใดคนหนึ่งปฏิบัติตนตามคุณค่าแห่งพระวรสารต่อสาธารณะ – ทุกๆครั้งที่ไม่ว่าหญิงหรือชายคนใดที่ยืนหยัดขึ้นต่อสู้กับความอยุติธรรม ฯลฯ

(คุณพ่อวิชา หิรัญญการ เขียนเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2018

Based on : Seasons of the Word, by Denis McBride)