บทเทศน์บทรำพึง อาทิตย์ที่ 2 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ปี B
มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง อายุ 53 ปี และ 32 ปีตามลำดับ ได้ทำการแล่นเรือใบความยาว 21 เมตร จากท่าเรือที่นิวยอร์กในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2005 พวกเขาใช้เวลาอยู่ในเรือเพื่อเดินทางรอบโลกเป็นเวลาหนึ่งพันวัน โดยแล่นเรือไปรอบมหาสมุทรแปซิฟิก แอตแลนติก และอินเดีย และจะกลับถึงฝั่งที่เริ่มต้นภายในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 2008 “ใครๆก็ใฝ่ฝันว่าจะได้แล่นเรือออกไป และละทิ้งทุกๆสิ่งและทุกๆคนไว้เบื้องหลัง” ฝ่ายสามีได้กล่าวไว้เช่นนี้ “และเราก็ได้ทำให้ฝันนั้นเป็นจริงขึ้นมา” พวกเราล่ะ จะสามารถละทุกๆสิ่งและทุกๆคนไว้เบื้องหลัง แล้วแล่นเรือไปกับพระเยซูเจ้าในอาทิตย์แห่งการเตรียมรับเสด็จพระคริสต์นี้ได้หรือไม่
พระวาจาสำหรับอาทิตย์นี้บอกเราให้ตระเตรียมทางสำหรับองค์พระผู้เป็นเจ้า “จงเปิดทางตรงในทุ่งเวิ้งว้างสำหรับพระเจ้า” (อิสยาห์) “พระเจ้าทรงประสงค์ให้ทุกคนกลับใจ เปลี่ยนวิถีชีวิต” (จดหมายของนักบุญเปโตร) และ “จงเตรียมทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า จงทำทางเดินของพระองค์ให้ตรงเถิด” (คำพูดของท่านยอห์น ผู้ทำพิธีล้างในพระวรสารของนักบุญมาระโก) แม้ว่าข่าวสารของทั้งสามบทอ่านนี้เหมือนกัน แต่บริบทของสามบทอ่านนี้ต่างกัน
สำหรับบทอ่านจากหนังสือประกาศกอิสยาห์นั้น ข้อความทำนายของท่านในตอนนี้เป็นที่รู้จักกันดี และแพร่หลายกว้างขวางจนกระทั่งนักประพันธ์เพลงเอกคนหนึ่งของโลก คือ G.F. Handel นำเอาข้อความของอิสยาห์ 3 ตอนมาเป็นตอนเปิดในผลงานเอกของท่าน คือบทเพลง Messiah ดังนี้
(1) Comfort ye, comfort ye my people, saith your God… (อสย 40 : 1-3)
(2) Every valley shall be exalted, and ev’ry mountain and hill made low… (อสย 40:4)
(3) And the glory of the Lord shall be revealed…. (อสย 40:5)
ที่น่าสังเกตเกี่ยวกับอิสยาห์ที่เรียกว่าประกาศกแห่งการเนรเทศนี้ ท่านไม่ได้คิดไปถึงพระเยซูคริสต์คือพระเมสสิยาห์ ท่านเพียงแต่เห็นภาพของการฟื้นฟูอิสราเอลจากการเนรเทศไปบาบิโลนในช่วงราวปี 538 ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นปีที่พระเจ้าไซรัสทรงมีชัยชนะเหนืออำนาจของบาบิโลนที่ร่วงโรยไป
“ท่านผู้นำข่าวดีมายังศิโยนเอ๋ย จงขึ้นไปบนภูเขาสูงเถิด ท่านผู้นำข่าวดีมาให้กรุงเยรูซาเล็มเอ๋ย จงร้องตะโกนให้สุดเสียงเถิด” คำของท่านอิสยาห์ที่ว่า “ข่าวดี” ( = good tidings ) ในภาษาฮีบรูทำให้เราได้คำนามที่ว่า “พระวรสาร” (Gospel) ในความหมายของพันธสัญญาใหม่นั่นเอง ข่าวดีในที่นี้แฝงไว้ว่าพระเจ้าจะทรงเข้ามาเกี่ยวข้องในประวัติศาสตร์เพื่อทรงนำให้กลับมาจากการเนรเทศ
การเนรเทศในอิสยาห์เป็นการพรรณนาด้วยภาษาสัญลักษณ์หมายถึงการอพยพครั้งที่สอง (as the Second Exodus) อัศจรรย์ต่างๆในการอพยพครั้งแรกที่เกิดขึ้น จะมีการทำซ้ำในบัดนี้ “หุบเขาทุกแห่งจะถูกถมให้เต็ม…. ที่สูงๆต่ำๆ จะราบเรียบ” ณ ที่นี้ ให้เราสังเกตว่า ทั้งการอพยพ และการเนรเทศได้กลับกลายเป็นแม่พิมพ์แห่งความหวังในอนาคต พระเจ้าจะทรงปลดปล่อยประชากรอีกครั้ง เพราะพระเจ้าจะทรงซื่อตรงต่อความเป็นพระของพระองค์
ในบทอ่านที่สองที่อ้างว่าเป็นคำกล่าวของนักบุญเปโตร บางทีอาจจะเป็นตอนที่เพิ่มเติมขึ้นในเวลาต่อมา เพื่อยืนยันถึงอำนาจของนักบุญเปโตร ผู้คนในสมัยของท่านดูเหมือนผิดหวังที่วันสุดท้ายยังมาไม่ถึงสักที ดังนั้นคำอธิบายที่ว่า “สำหรับองค์พระผู้เป็นเจ้าเพียงหนึ่งวันก็เหมือนกับพันปี และหนึ่งพันปีก็เหมือนหนึ่งวัน” พระเจ้าทรงเป็นเจ้านายสูงสุดเหนือกาลเวลาและฤดูกาลที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน แต่อย่างไรก็ตาม “วันของพระเจ้าจะมาถึงอย่างไม่รู้ตัวเหมือนขโมย” ดังนั้น กลุ่มคริสตชนได้ถูกตักเตือนให้เฝ้าระวังและรอคอย ด้วยความหวัง
บทเริ่มต้นของพระวรสารวันนี้กล่าวว่า “การเริ่มต้นข่าวดีเรื่องพระเยซูเจ้าเป็นพระคริสต์….” นักบุญมาระโกผู้นิพนธ์ได้เริ่มต้นด้วยคำพยากรณ์ของประกาศกอิสยาห์ และพรรณนาถึงท่านยอห์นผู้ทำพิธีล้างในฐานะที่เป็น (1) ผู้ประกาศให้มีการกลับใจ และ (2) ผู้นำหน้าพระเมสสิยาห์ เราลองคิดดูสิว่า การเรียกร้องให้กลับใจของท่านยอห์นเป็น “ข่าวดี” ใช่หรือไม่
หญิงคนหนึ่งกำลังจะตายเพราะโรคมะเร็ง คุณหมอที่ดูแลเธอพูดว่า “คุณครับ มะเร็งของคุณมันแพร่กระจายแล้ว ผมเกรงว่าคุณจะตายในไม่ช้า คุณมีความปรารถนาสุดท้ายอะไรที่อยากให้ผมทำให้ไหม” หญิงนั้นตอบว่า “มีค่ะ คุณช่วยพาฉันไปหาคุณหมอคนใหม่ได้ไหม” บางทีการยอมรับความจริงที่น่าเจ็บปวดก็เป็นสิ่งที่ยากลำบาก เช่น ฉันเป็นคนป่วย ฉันกำลังจะตาย หรือ ฉันเป็นคนบาป แต่ยอห์นผู้ทำพิธีล้างก็ชี้นิ้วมาวินิจฉัยถึงโรคมะเร็งฝ่ายจิตใจของเรา และบอกวิธีรักษาด้วยว่า “จะต้องกลับใจใช้โทษบาป”
“ประชาชนจากทั่วแคว้นยูเดีย และชาวกรุงเยรูซาเล็มทั้งหลายไปพบเขา” เราเป็นคนหนึ่งในฝูงชนเหล่านั้นที่ขวนขวายไปหาท่านยอห์นด้วยหรือเปล่า ไปเพื่อให้ได้ยินคำกล่าวของท่านที่ว่า “จงเตรียมทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า จงทำทางเดินของพระองค์ให้ตรงเถิด” คำภาษากรีกของการกลับใจใช้โทษบาป (repentance) คือคำ metanoia รากศัพท์หมายถึง “การพลิกด้าน หรือ การย้อนกลับ ของจิตใจ” ( = reverse mind) ท่านยอห์นเรียกร้องเราให้หันกลับจากการต่อต้านพระเจ้า มาสู่การล่องไปบนคลื่นแห่งความรักอย่างปลอดภัย
แม้หนทางของโลกมีสิ่งที่น่าหลงใหล และกระแสคลื่นทางโลกนำไปสู่ความสุดโต่งทางด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ยาเสพติด ความหลงตนเอง (narcissism) เรื่องทางเพศ ความสำเร็จ ความมีชื่อเสียง และ การเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ แต่ท่านยอห์นเป็นเสียงที่ร้องเตือนมาจากแดนไกล จากถิ่นทุรกันดาร ให้เราถอยห่างจากยุคสมัยใหม่ที่อาจพาให้เราหลงไป ดังนั้น เราจงตระเตรียมหนทางของเราเพื่อจะพบพระองค์ผู้ทรงเป็นหนทางที่แท้จริงดีกว่า
(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 2020
(Based on : Sunday Seeds For Daily Deeds ; by ; Francis Gonsalves, S.J.)
บทเทศน์บทรำพึง อาทิตย์ที่ 2 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ปี B
“ยอห์นเทศน์สอนเรื่องพิธีล้าง ซึ่งแสดงการกลับใจเพื่อจะได้รับการอภัยบาป”
ในการเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า เราต้องรู้จักเปลี่ยนแปลงตัวเองในสิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยน หรือเรียกง่ายๆ ว่า “การกลับใจ” การกลับใจของชาวอิสราเอลตามที่ท่านยอห์นต้องการ ก็คือ การเตรียมทางเพื่อต้อนรับองค์พระผู้เป็นเจ้า เป็นการทำทางเดินของพระองค์ให้ตรงนั่นเอง ท่านยอห์นแม้จะเคร่งครัดต่อตัวเอง แต่ก็เป็นผู้ที่ปูทางให้การเสด็จมาขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับประชาชน
มีเรื่องเล่าว่าฤาษีท่านหนึ่งเดินทางผ่านหนทางที่อันตรายมาก และท่านก็ได้พบผู้ชายคนหนึ่งนอนเจ็บอยู่บนถนน ช่วยอะไรตัวเองไม่ได้เลย ฤาษีรู้สึกสงสารก็เข้าไปช่วยเหลือ ทำความสะอาดแผล ใส่ยาให้ แบ่งอาหารของตนให้ และพักค้างคืนเพื่อช่วยเหลือเขา เช้าวันรุ่งขึ้น คนเจ็บมีอาการดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว ฤาษีจึงทำท่าจะลาจากไป แต่ชายคนนั้นพูดว่า“คุณครับ คุณไม่รู้จักว่าผมเป็นใคร ทำไมจึงดีกับผมเช่นนี้ อะไรทำให้คุณทำสิ่งเหล่านี้ให้กับผม” ฤาษีตอบว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสร้างฉันมาตรัสว่า ‘สิ่งที่ท่านทำแม้กับคนเล็กน้อยที่สุด คือทำกับเราเอง’ เธอเป็นพี่น้องของฉัน อะไรที่ฉันทำกับเธอ ก็คือทำกับพระองค์นั่นเอง” ชายคนนั้นพูดว่า “คุณครับ พระของคุณคือใคร ถ้าพระของคุณบันดาลให้คุณทำเช่นนี้กับคนแปลกหน้าได้ โปรดให้พระของคุณแก่ผมด้วย” ในเรื่องนี้จะเห็นว่าฤาษีท่านนั้นเป็นผู้ปูทางให้พระเข้ามาในชีวิตของมนุษย์ กล่าวกันว่า นักบุญคือผู้ที่ทำให้ผู้อื่นมาเชื่อในพระเจ้าอย่างง่ายๆ นั่นเอง
คุณแม่เทเรซา แห่งกัลกัตตา เคยมีประสบการณ์เช่นนี้ ครั้งหนึ่งชายคนหนึ่งเข้ามาในบ้านสำหรับคนที่ใกล้ตาย เขาเดินเข้าไปดูพวกซิสเตอร์ของคุณแม่ ที่กำลังดูแลคนที่กำลังจะตายเหล่านั้น พอกลับออกมา เขาเดินมาหาคุณแม่พูดว่า “ผมเดินเข้ามาในบ้านนี้ มีแต่ความเกลียดอยู่ในหัวใจ เกลียดทั้งพระและมนุษย์ ผมเข้ามาด้วยใจที่ว่างเปล่าและขมขื่น แต่เมื่อผมเห็นพวกซิสเตอร์ข้างในที่กำลังเอาใจใส่คนไข้อย่างทุ่มเทหมดใจ ทำให้ผมตระหนักว่า พระเจ้าทรงพระชนม์อยู่ บัดนี้ผมกลับออกมาด้วยการเป็นคนต่างไปจากเดิม ผมเชื่อว่ามีพระและพระทรงรักเรา”บรรดาซิสเตอร์เหล่านั้นได้นำทางของพระเจ้าเข้ามาในชีวิตของชายที่มีแต่ความขมขื่นคนนั้น
คราวนี้เราหันกลับมาดูท่านยอห์น โดยชีวิตที่เคร่งครัดของท่านได้เตรียมทางสำหรับการเสด็จมาของพระคริสต์ อยู่ๆ ท่านยอห์นก็ปรากฏตัวขึ้นเทศน์สอนในถิ่นทุรกันดารแห่งแคว้นยูเดีย ท่านสวมผ้าขนอูฐ ใช้หนังสัตว์คาดสะเอว กินตั๊กแตนและน้ำผึ้งป่า เป็นเวลาถึง 400 ปีมาแล้ว ที่ประชากรอิสราเอลไม่เคยได้ยินเสียงของประกาศกเลย ดังนั้น ทันทีที่ประชาชนเห็น ท่านยอห์นในถิ่นทุรกันดาร บวกกับแฟชั่นการแต่งตัวของท่าน อาหารที่ท่านกินและถ้อยคำที่เอาจริงเอาจังของท่าน พวกเขาก็มุ่งมาดูประกาศกคนนี้ และรับพิธีล้างจากเขา นี่เป็นการปูทางหรือเตรียมจิตใจของประชาชนอย่างยอดเยี่ยม ในการรอรับเสด็จพระคริสต์
โดยการเทศน์สอนของท่านยอห์น ก็เป็นการปูทางให้ผู้คนรอคอยการเสด็จมาขององค์พระผู้เป็นเจ้า ท่านยอห์นสอนว่า “จงกลับใจ เพราะอาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว” ท่านเรียกร้องให้ประชาชนกลับใจ เปลี่ยนใจ ผ่าตัดหัวใจ นี่เป็นเงื่อนไขที่ต้องมาก่อน เพื่อจะรับเสด็จพระเจ้า ท่านยอห์นทั้งสอน ทั้งเป็นแบบอย่างให้กับประชาชน น่าที่เราจะสังเกต จดจำ และให้ท่านเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต เราในฐานะเป็นผู้ใหญ่และบางคนก็เป็นพ่อแม่ เราต้องถามตัวเราเองว่า เราได้ปูทางให้คนอื่นๆ ได้มาสู่หนทางของพระเจ้าหรือไม่ โดยเฉพาะลูกๆ หลานๆ ของเรา เด็กๆ เรียนรู้เรื่องพระจากเรา ไม่ใช่เพียงจากสิ่งที่เราพูดหรือสอนเท่านั้น แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากสิ่งที่เราปฏิบัติ ลูกของเราเรียนรู้ที่จะสวด เมื่อเขาเห็นพ่อแม่สวดเสมอๆ ทั้งเช้าและเย็น พวกเขาเรียนรู้ที่จะรักพระและไว้ใจในพระองค์ เมื่อเขาเห็นพ่อแม่รักและไว้ใจในพระ
ชายหนุ่มคนหนึ่งพูดว่า “ผมกลายมาเป็นคนเชื่อในพระ เพราะคุณพ่อของผม ท่านมักจะส่งผมที่โรงเรียนและรีบไปทำงานก่อนเวลาตั้งนานทุกวัน ภายหลัง ผมถึงทราบเองว่า หลังจากส่งผมแล้ว คุณพ่อไปเข้าวัดร่วมส่วนในมิสซาทุกๆ เช้า ก่อนไปทำงาน”
เห็นไหมครับว่า โดยการแสดงออกถึงความเชื่อของเรา เราปูทางของพระไว้ในชีวิตของผู้อื่น
( คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2011
Based on : John’s Sunday Homilies, Cycle – B ; by John Rose )
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- สาส์น ปี ค.ศ. 2020 ถึง ผู้อำนวยการของสมณองค์กรเพื่อการแพร่ธรรม National Director and Members of Pontifical Mission Societies (PMS)
- พระคาร์ดินัล แฟร์นันโด เฟโลนี เยี่ยมแม่ปอน
- บทเทศน์บทรำพึง
อาทิตย์ที่ 2 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ปี B - บทเทศน์ : วันสมโภชพระจิตเจ้า 8 มิถุนายน 2014
- การเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาแบบทั่วไป 14 เมษายน 2021