Skip to content

วันภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ และพระคุณการุณย์อุทิศแก่ผู้ล่วงลับ

คุณพ่อเชษฐา ไชยเดช

คนต่างศาสนาในสมัยโบราณได้กำหนดวันหนึ่งหรือช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อระลึกถึงผู้ล่วงลับ เช่น ชาวโรมันกำหนดให้ระหว่างวันที่ 13-22 กุมภาพันธ์เป็นวันระลึกถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ (Parentalia ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของวันฉลองธรรมาสน์นักบุญเปโตร) คริสตชนไม่ได้ถือตามธรรมเนียมของชาวโรมันเนื่องจากเข้ากันไม่ได้กับความเชื่อคริสตชนในศตวรรษที่สองเราเห็นรูปแบบที่ชัดเจนของการระลึกถึงผู้ล่วงลับของคริสตชน การระลึกถึงประกอบด้วยการภาวนาเพื่อผู้ล่วงลับและต่อด้วยพิธีมิสซาเริ่มแรกคริสตชนประกอบพิธีระลึกถึงผู้ล่วงลับในวันที่ 3 หลังจากพิธีฝังศพและในวันครบรอบหนึ่งปีแห่งการจากไปของผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นได้เพิ่มวันที่ 7 วันที่ 30 และวันที่ 40 หลังจากการจากไปของผู้ล่วงลับ เป็นวันที่จะสวดภาวนาและถวายมิสซาให้แก่ผู้ล่วงลับ

เราพบความคิดที่จะกำหนดให้มีวันหนึ่งในรอบปีเพื่อระลึกถึงบรรดาวิญญาณของผู้ล่วงลับเป็นครั้งแรกโดยพระสังฆราชอิสิดอร์แห่งเซวิลล์ (ประมาณ ค.ศ.636) ท่านได้สั่งให้นักพรตของท่านถวายมิสซาให้แก่วิญญาณของผู้ล่วงลับในวันจันทร์หลังจากวันสมโภชพระจิตเจ้า

นักบุญโอติโลแห่งคลูนีได้ริเริ่มการภาวนาอุทิศแก่วิญญาณในไฟชำระ (Purgatory) ในปีค.ศ.998 ท่านสอนนักบวชคณะเบเนดิกดินในอารามที่ท่านปกครองให้ถวายมิสซาและภาวนาแด่ผู้ล่วงลับในวันที่ 2 พฤศจิกายน วันภาวนาอุทิศแก่วิญญาณในไฟชำระนี้เผยแผ่ไปอย่างรวดเร็วที่ประเทศฝรั่งเศสอังกฤษและเยอรมัน ในศตวรรษที่ 13 พระศาสนจักรที่อิตาลีเป็นต้นที่กรุงโรมได้รับวันที่ 2 พฤศจิกายน เป็นวันภาวนาอุทิศแก่วิญญาณผู้ล่วงลับ

ในตอนปลายศตวรรษที่ 15 นักบวชคณะโดมินิอันที่เมืองวาเลนเชียในประเทศสเปนได้เริ่มธรรมเนียมให้พระสงฆ์ถวายมิสซา 3 มิสซาในวันภาวนาอุทิศแก่วิญญาณผู้ล่วงลับ (เหมือนธรรมเนียมการถวาย 3 มิสซาในวันพระคริสตสมภพ) พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 14 ในปีค.ศ.1748 ได้รับรองธรรมเนียมปฏิบัตินี้และได้ให้สิทธิการถวายมิสซา 3 มิสซาในวันที่ 2 พฤศจิกายนแก่พระสงฆ์ในประเทศสเปนโปรตุเกสและละตินอเมริกาตั้งแต่ ค.ศ.1915 พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 ได้ขยายขอบเขตการอนุญาตนี้ให้พระสงฆ์ทุกองค์ถวายมิสซาในวันระลึกถึงผู้ล่วงลับได้ 3 มิสซาโดยมิสซาแรกถวายตามจุดประสงค์เฉพาะของพระสงฆ์ผู้ถวายมิสซามิสซาที่สองถวายเพื่อดวงวิญญาณในไฟชำระทุกดวงและมิสซาที่สามถวายตามพระประสงค์ของพระสันตะปาปา

พิธีกรรมของวันภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ
· • —– ٠ ✤ ٠ —– • ·
ในพิธีมิสซาพระสงฆ์สวมอาภรณ์สีม่วง ซึ่งให้ความหมายถึงการใช้โทษบาปและความหวังในการกลับคืนชีพ (สีม่วงเป็นสีที่ใช้ในพิธีปลงศพผู้ใหญ่หรือเด็กที่มีอายุรู้ความแล้ว)
พิธีกรรมในวันนี้เน้นที่การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า (ธรรมล้ำลึกปัสกา) เป็นความหวังของวิญญาณผู้ล่วงลับที่จะกลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์ดังนั้นเพลงที่ใช้ในพิธีกรรมจึงเป็นเพลงที่แสดงถึงความเชื่อและความหวังในการกลับคืนชีพมากกว่าความเกรงกลัวในการพิพากษาของพระเจ้า (ด้วยเหตุนี้พระคาสนจักรจึงงดขับร้องบทเสริม “วันแห่งพระพิโรธ” (Diesirae) ซึ่งเคยขับร้องในวันนี้)

บทอ่าน บทภาวนา และบทเพลงของมิสซาในวันนี้ทั้ง 3 มิสซาเน้นที่ความเชื่อในการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า (ธรรมล้ำลึกปัสกา) และการภาวนาเพื่อผู้ล่วงลับจะได้มีส่วนในธรรมล้ำลึกปัสกาของพระเยซูเจ้าในบทความนี้ขอยกตัวอย่างจากมิสซาวันภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับแบบที่ 1

เพลงเริ่มพิธีซึ่งนำมาจากพระคัมภีร์กล่าวอย่างชัดเจนถึงความเชื่อว่าผู้ล่วงลับจะกลับคืนชีพเพราะพระเยซูเจ้า “เราเชื่อว่าพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพเราจึงเชื่อว่าพระเจ้าจะทรงนำบรรดาผู้ลับมาอยู่กับพระองค์โดยทางพระเยซูเจ้าเช่นเดียวกันมนุษย์ทุกคนตายเพราะอาดัมฉันใด มนุษย์ทุกคนก็จะกลับมีชีวิตเพราะพระคริสตเจ้าฉันนั้น” (1ธส4:14;1คร15:22) ด้วยความเชื่อเช่นนี้เราจึงพร้อมใจกับพระสงฆ์ผู้เป็นประธานในพิธีในบทภาวนาของประธานโดยภาวนาว่า“ เมื่อข้าพเจ้าทั้งหลายภูมิใจที่ได้เชื่อว่าพระบุตรทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วขอโปรดให้มีความหวังอย่างมั่นคงว่าบรรดาสัตบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วจะกลับคืนชีพด้วย”

นอกจากพระวาจาของพระเจ้าจะให้ความหวังในการกลับคืนชีพของผู้ล่วงลับแล้วพระวาจาของพระเจ้ายังให้ความมั่นใจแก่เราว่าพระเจ้าทรงรักและเอาใจใส่ดูแลชีวิตของพวกเราเสมอ

บทอ่านที่หนึ่งจากจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโรม (รม8:14-23) แสดงความหวังในพระเจ้าว่า “สรรพสิ่งยังมีความหวังว่าจะได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาสของความเสื่อมสลายเพื่อไปรับอิสรภาพอันรุ่งเรืองของบรรดาบุตรของพระเจ้า” บทสดุดีที่ 23 กล่าวถึงพระเจ้าทรงรักและดูแลเราเหมือนผู้เลี้ยงแกะที่ดีดูแลฝูงแกะ บทสดุดีนี้ยังให้ความมั่นใจแก่เราว่าพระกรุณาและความรักมั่นคงของพระองค์จะติดตามเราไปทุกวันตลอดชีวิต พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน14:1-6) กล่าวถึงเมืองสวรรค์ว่าเป็นบ้านของพระบิดาของเราและพระเยซูเจ้าทรงกำลังเตรียมที่ในเมืองสวรรค์ให้กับพวกเรา

ในบทภาวนาหลังรับศีลเราภาวนาว่า “โปรดให้บรรดาสัตบุรุษผู้ล่วงลับซึ่งข้าพเจ้าทั้งหลายได้กระทำ
พิธีระลึกถึงธรรมลํ้าลึกปัสกาอุทิศให้นี้ได้เข้าสู่ที่พักสว่างไสวร่มเย็นเป็นสุขกับพระองค์ด้วยเถิด”

พระคุณการุณย์ย่อุทิศแก่ผู้ล่วงลับ
· • —– ٠ ✤ ٠ —– • ·
ในหนังสือคู่มือพระคุณการุณย์มาตรา 29 วรรค 1 กล่าวว่า “พระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์อุทิศให้เฉพาะแก่วิญญาณในไฟชำระมอบให้ในกรณีที่คริสตชนปฏิบัติดังต่อไปนี้”

1) ในวันใดวันหนึ่งและแต่ละวันจากวันที่1-8พฤศจิกายนเมื่อคริสตชนไปเยี่ยมสุสานและสวดภาวนาด้วยความศรัทธา (แม้สวดในใจก็ได้) อุทิศแก่ดวงวิญญาณผู้ล่วงลับ
2) ในวันภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ (2 พฤศจิกายน) (หรือตามวินิจฉัยของพระสังฆราชท้องถิ่น,วันอาทิตย์ก่อนหรือหลังวันที่ 2 พฤศจิกายนหรือในวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย) เมื่อคริสตชนไปเยี่ยมวัดหรือวัดน้อย (oratory) ด้วยความศรัทธาพร้อมทั้งสวดบทข้าแต่พระบิดาและบทข้าพเจ้าเชื่อ (creed)

วรรค 2 พระคุณการุณย์ไม่ครบบริบูรณ์พระคาสนจักรให้พระคุณการุณย์ไม่ครบบริบูรณ์อุทิศแก่ผู้ล่วงลับสำหรับคริสตชนที่

1) ไปเยี่ยมสุสานหรืออย่างน้อยภาวนาในใจเพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับในวันอื่นที่นอกเหนือจากวันที่ 1-8 พฤศจิกายน
2) สวดทำวัตรเช้าหรือทำวัตรเย็นสำหรับผู้ล่วงลับด้วยความศรัทธาหรือสวดว่า “ประทานการพักผ่อนนิรันดรแก่เขาเถิดพระเจ้าข้า…”

เงื่อนไขการรับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์
1. มีเจตนาที่จะรับพระคุณการุณย์
2. ปฏิบัติตามกิจกรรมเพื่อที่จะรับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นอย่างศรัทธา
3. ปฏิบัติคาสนกิจดังนี้
– รับศีลอภัยบาป (จะรับศีลอภัยบาปภายหลังในช่วงเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ก็ได้)
– รับศีลมหาสนิท (จะรับศีลมหาสนิทภายหลังในช่วงเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ก็ได้)
4. สวดเพื่อพระสันตะปาปาและตามพระประสงค์ของพระสันตะปาปา

หมายเหตุ
1. คริสตชนจะรับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์ได้วันละ 1 ครั้ง
2. คริสตชนอาจจะรับพระคุณการุณย์ไม่ครบบริบูรณ์ได้วันละหลายครั้ง

บ้านเณรใหญ่แสงธรรม
4 ตุลาคม 2020