Skip to content

บทเทศน์บทรำพึง อาทิตย์ที่ 30 เทศกาลธรรมดาปี A

หลายอาทิตย์ที่ผ่านมา พระวรสารโดยนักบุญมัทธิว ได้เล่าถึงเรื่องที่พระเยซูเจ้าทรงตอบโต้กับบรรดาหัวหน้าสมณะ ผู้อาวุโสของประชาชน พวกฟาริสี และพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรด และในพระวรสารของอาทิตย์นี้ยังรายงานว่า พระองค์ได้ทรงทำให้ชาวสะดูสีนิ่งอึ้งไป พวกฟาริสียินดียิ่งนักในเรื่องนี้ เพราะสองพวกนี้มีจุดยืนทางความเชื่อบางอย่างที่แตกต่างกัน กระนั้นก็ดี พวกฟาริสีก็ยังอยากเอาชนะพระเยซูเจ้า พวกเขามาชุมนุมกันและให้คนหนึ่งซึ่งเป็นบัณฑิตทางกฎหมายมาทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “บทบัญญัติข้อใดเป็นเอกในธรรมบัญญัติ”

ในสมัยนั้นมีความพยายามที่จะแสวงหาข้อสรุปว่าอะไรเป็นบัญญัติเอก ที่บัญญัติข้ออื่นๆ ต้องขึ้นตรงต่อบัญญัตินั้น พระเยซูเจ้าตรัสตอบได้ทันทีว่า “ท่านจะต้องรักองค์พระเป็นเจ้าพระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาของท่าน นี่คือบทบัญญัติเอก” โดยทรงยกข้อความนี้มาจากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติในพันธสัญญาเดิม ข้อความนี้ชาวยิวทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างมาก เป็นคำพูดที่ชาวยิวจำติดใจในการที่จะต้องประกาศความเชื่อของตน ผู้นับถือศาสนายิวจะภาวนาด้วยคำเหล่านี้ในตอนเช้า และในเวลาค่ำเรื่อยไปจนตลอดชีวิต มันเป็นประโยคแรกที่เด็กชาวยิวต้องเรียนรู้ และชาวยิวทุกคนหวังว่าจะเป็นประโยคสุดท้ายที่เปล่งออกมาก่อนสิ้นลมปราณ

ดังนั้น คำตอบเพียงเท่านี้ก็เป็นที่พึงพอใจของบัณฑิตทางกฎหมาย และพวกฟาริสีแล้ว แต่ช้าก่อนยังมีมากกว่านั้น พระเยซูเจ้าทรงบอกว่านั่นเป็นเพียงข้อแรก ข้อที่สองทรงอ้างจากหนังสือเลวีนิติในพันธสัญญาเดิมเช่นกัน “ท่านต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง ธรรมบัญญัติและคำสอนของบรรดาประกาศกก็ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติสองประการนี้” พวกเขาคงจะรู้สึกแปลกใจอยู่บ้างที่พระองค์ทรงนำทั้งสองข้อมาไว้รวมกัน

ณ ที่นี้เอง ที่พระเยซูเจ้าทรงอธิบายถึงขาทั้งสองข้างของชีวิตคริสตชนที่สมบูรณ์ บางคนคิดจะยืนด้วยขาเพียงข้างเดียว เขารักพระแต่ไม่รักเพื่อนมนุษย์ เขาต้องการมีชีวิตจิตที่เป็นส่วนบุคคล เป็นส่วนตัว ไม่ขึ้นกับโลก แต่พระเยซูเจ้าทรงเรียกเราให้มาเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมแห่งความเชื่อ คือพระศาสนจักร เพื่อที่จะแผ่ขยายพระเมตตารักของพระองค์ไปยังผู้อื่น และเป็นเครื่องมือนำสันติภาพของพระองค์

บางคนอาจทำตรงกันข้าม เขาอาจจะรักพี่น้องเพื่อนมนุษย์ แต่ไม่มีสัมพันธภาพใดๆ กับพระ บางครั้งเราอาจจะได้ยินคนหนึ่งพูดว่า “ฉันเป็นคนดี ฉันไม่ขโมย ฉันไม่ทำร้ายใคร ฉันช่วยเหลือเพื่อนบ้านของฉัน” แต่แท้จริงแล้ว ในฐานะคริสตชน เราได้รับการเรียกมาให้มีความสัมพันธ์ที่มีชีวิตกับพระคริสตเจ้า เราถูกเรียกมาให้มีประสบการณ์การอยู่ร่วมกันแบบ พระตรีเอกภาพ ซึ่งเป็นขั้นของชีวิตเหนือธรรมชาติ

มีเรื่องเล่าว่า นักหนังสือพิมพ์ชาวจีนคนหนึ่ง ซึ่งประกาศตนว่าเป็นคนไม่มีศาสนา ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า ต้องการไปเยี่ยมศูนย์ดูแลคนโรคเรื้อน ที่ซิสเตอร์นักบวชคณะหนึ่งทำงานอยู่ ทั้งนี้ เพราะเขาต้องการจะรายงานตรงเพื่อให้ข้อมูลและเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านของเขา เมื่อนัดหมายไว้แล้ว เขาก็ไปที่นั่น คุณแม่อธิการออกมาต้อนรับเขาด้วยตัวเอง พาเขาไปดูสถานที่โดยรวม และดูคนโรคเรื้อนที่อยู่ในศูนย์ด้วย ตามที่เราทาบว่า โรคเรื้อนเป็นโรคที่น่าสะพรึงกลัวมาก นักหนังสือพิมพ์นั้นแต่แรกเมื่อเห็นก็ตกใจ และอยากจะถอนตัวด้วยซ้ำ แต่เขาก็ประทับใจมากกับการอุทิศตนของซิสเตอร์คนหนึ่ง เขาเห็นว่าซิสเตอร์คนนั้นคอยดูแลเอาใจใส่คนโรคเรื้อนเหล่านั้นอย่างร่าเริง ทำด้วยความรักความเมตตาอย่างเห็นได้ชัด เธอปฏิบัติต่อพวกเขาราวกับว่าพวกเขาเป็นคนที่น่ารักน่าเทิดทูนที่สุดในโลก เขารู้สึกประหลาดใจมาก ทนความสงสัยไว้ไม่ไหว จึงพูดกับซิสเตอร์นั้นว่า “ซิสเตอร์ครับ เป็นผมจะไม่ทำงานนี้ แม้จะให้เงินเป็นล้านก็ตาม” ซิสเตอร์ยิ้ม และพูดว่า “ฉันก็เช่นกันค่ะ” และเธอก็หันไปเอาใจใส่คนไข้เหล่านั้นต่อไป ชายนั้นตกตะลึงนิ่งอยู่สักครู่ พลางครุ่นคิดได้ว่าบรรดาซิสเตอร์เหล่านี้ไม่ได้ทำงานรับใช้นี้เพื่อเห็นแก่เงิน แต่เพราะพวกเธอมีความเชื่ออย่างมั่นคงว่า บทพิสูจน์ที่ชัดแจ้งของความรักต่อพระเจ้าก็คือการรับใช้ประชากรของพระ โดยเฉพาะในบรรดาผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือ ที่ไม่มีอำนาจ และที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ กล่าวโดยสรุป ต่อมานักหนังสือพิมพ์คนนั้นกลับมารับศีลล้างบาปเป็นคริสตชน โดยเขากล่าวว่า “ศาสนาที่สอนการอุทิศตนอย่างแท้จริง โดยปราศจากการคิดถึงตนเอง เพื่อบริการรับใช้บรรดาคนที่ต่ำต้อย คนที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้เช่นนี้ ต้องเป็นศาสนาที่เที่ยงแท้ ทำให้ฉันเชื่อว่า พระเจ้าทรงมีอยู่จริง ผู้ซึ่งเป็นพระบิดาของเราทั้งมวล และความรักของพระองค์แผ่ไพศาลออกไปแบบไม่มีขอบเขต” ( – เรื่องเล่าจาก Your Word, O Lord, Are Spirit, and They Are Life – Year A ; โดย Fr James Valladares)

ดังนั้น พระเยซูเจ้าทรงสอนเราให้ดำรงชีวิตคริสตชนที่สมบูรณ์แบบ คือรักพระอย่างที่สุด และรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง เราต้องยืนด้วยขาแห่งความมั่นคงทั้งสองข้างนี้

เลิกเป็นกระต่ายขาเดียวสักที

(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดพระกุมารเยซู เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 2008)

บทเทศน์บทรำพึง อาทิตย์ที่ 30 เทศกาลธรรมดาปี A

“ความเป็นบุคคลทั้งครบของพระเยซูเจ้าเมื่อทรงอยู่ในโลกนี้ก็คือ ‘กิจการแห่งความรัก’ ดังนั้น เราสามารถให้ข้อสรุปความเชื่อของเราด้วยเพียงสองคำ คือ พระเยซูเจ้า และความรัก” พระดำรัสของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 เมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 2005 ในช่วงใกล้ๆจบสิ้นปีแห่งศีลมหาสนิท ที่จริงแล้ว เราอาจลืมสิ่งอื่นๆ ในหนังสือพระคัมภีร์และเพียงแต่ดำเนินชีวิตตามบทบัญญัติแห่งความรักของพระเยซูเจ้า “ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12) เราก็จะทำให้ทุกสิ่งที่เขียนไว้ในกฎหมาย ในคำสอนของบรรดาประกาศก และในพระวรสารเกิดผลอย่างเต็มที่ จงจำไว้ว่าพระเยซูเจ้าทรงมอบหมายภารกิจเดียวให้เราคือ “รัก”

พระเยซูเจ้าทรงทราบถึงอันตรายของการรักแค่ตามกฎหมาย พระองค์จึงทรงวิพากษ์ความรักต่อกฎหมายของโมเสสของชาวฟาริสี เพราะว่าการกระทำเช่นนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นการทำลาย “กฎแห่งความรัก” มากที่สุด พระวรสารของวันนี้อธิบายการทดสอบพระเยซูเจ้าเป็นครั้งสุดท้ายของพวกฟาริสี ก่อนที่พระองค์จะทรงบอกว่าพวกเขาเป็นคนหน้าซื่อใจคด (มธ 23) ความรักต่อกฎหมายอย่างไร้สาระของพวกฟาริสีเห็นได้ชัดจากคำถามของเขา “บัญญัติข้อใดเป็นเอกในธรรมบัญญัติ” ขอเตือนก่อนว่า พวกฟาริสีได้แบ่งกฎหมายของโมเสสเป็น 613 ข้อบัญญัติ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นบัญญัติข้อใหญ่หรือเล็กจะมีบทลงโทษที่คู่ควรกัน ควบคู่มาด้วย

พระเยซูเจ้าทรงตอบพวกเขาโดยอ้างจาก 2 แหล่งของภาคพันธสัญญาเดิม คือ (a) จาก ฉธบ 6:5 “ท่านต้องรักองค์พระเป็นเจ้าพระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาของท่าน” และ (b) จาก ลวต 19:18 “ท่านต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง”

บทบัญญัติข้อแรก หรือส่วนแรกมาจาก Shema หรือการประกาศความเชื่อที่ผู้ชายชาวยิวทุกคนต้องจำให้ขึ้นใจที่จะท่องออกมาทั้งตอนเช้า กลางวัน และกลางคืน (ฉธบ 6:4-9) แต่ของพระเยซูเจ้าทรงเน้นความสำคัญทั้งสองภาค หรือกล่าวได้ว่าทรงให้ความสำคัญภาคที่สองเท่าๆกับภาคแรก สรุปคือ เราไม่สามารถรักพระได้โดยที่เราไม่รักเพื่อนพี่น้องของเรา และในทางกลับกันด้วย

การเข้าใจเรื่องรักเพื่อนมนุษย์เป็นเรื่องที่คนเข้าใจไม่เหมือนกัน สำหรับพระเยซูเจ้า เพื่อนมนุษย์หมายถึงคนที่กำลังจะตายเพราะถูกทำร้ายนอนอยู่กลางถนน ในอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดี อนึ่ง ในบทอ่านแรกของอาทิตย์นี้มาจากหนังสืออพยพบอกว่าเพื่อนมนุษย์ของชาวยิวคือคนต่างชาติ หญิงม่าย ลูกกำพร้า และคนยากคนจน เราควรจะพิจารณาด้วยว่าคนเหล่านี้เป็น “เพื่อนมนุษย์” ของเราหรือไม่

นักบุญออกัสตินได้เขียนไว้ว่า “จงรัก และจงทำสิ่งที่คุณพอใจ” ความหมายที่ท่านต้องการหมายถึงก็คือ ใครที่รักอย่างแท้จริง ย่อมไม่สามารถทำสิ่งที่ผิดได้ แต่ในปัจจุบัน เราอาจจะเห็นในสื่อชนิดต่างๆ ที่เปรียบเทียบความรักเท่ากับเรื่องเพศ ความพึงพอใจ อารมณ์ความรู้สึก และประโยชน์นิยม ซึ่งถือว่าเป็นการบิดเบือนความเข้าใจในเรื่องความรักของเรา มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งชื่อ Love Story ออกฉายในปี ค.ศ. 1970 ทำมาจากนวนิยายของ Erich Segal มีคำพูดในภาพยนตร์ที่ทำให้คนจดจำได้ คำนั้นคือ “รัก ต้องไม่มีคำว่า เสียใจ” แต่อันที่จริง คู่รักมักจะพูดคำว่า “ฉันเสียใจ” ค่อนข้างบ่อย เพราะความบกพร่องบ้าง ความผิดพลาดบ้าง นี่ทำให้เราเริ่มตระหนักว่า เรายังอยู่ห่างไกลจากคำสอนของพระเยซูเจ้าที่ว่า “ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน”

พระเจ้า-พระเยซูเจ้า ทรงเป็นความรัก ภาพของพระเยซูเจ้าที่ทรงโน้มองค์ลงล้างเท้าบรรดาอัครสาวก และพระวรกายที่โชกไปด้วยพระโลหิตขณะทรงถูกตรึงอยู่บนไม้กางเขน เป็นสัญลักษณ์ที่สูงส่งที่สุดของความรัก มีเรื่องของหญิงม่ายยากจนคนหนึ่งในประเทศอินเดีย เธอมีลูกชายวัยรุ่นคนหนึ่ง ซึ่งมีความพิการทางสมองอย่างรุนแรง และเพื่อที่เธอจะมีเวลาดูแลลูกสาวเล็กๆอีกสองคนของเธอ จึงจำเป็นต้องส่งลูกชายไปอยู่ศูนย์ที่ช่วยดูแลผู้พิการทางสมอง ที่ดำเนินการโดยองค์กรทางศาสนา แต่หลังจากส่งลูกชายไปอยู่ที่ศูนย์นี้ได้เพียงสองสามวัน แม่ม่ายคนนั้นร้องไห้กลับไปที่ศูนย์ ไปหาพระสงฆ์ที่ดูแลศูนย์พูดว่า “คุณพ่อคะ ฉันเสียใจค่ะ ฉันอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีลูกชายอยู่ด้วย ฉันขอนำตัวเขากลับไปอยู่ด้วยนะคะ” แต่นั้นมา จนทุกวันนี้ แม้เด็กชายคนนั้นจะมีพฤติกรรมที่รุนแรง และกรีดร้องบ่อยๆ (เพราะความผิดปกติของสมอง) แต่ก็จะเห็นผู้เป็นแม่อยู่เคียงข้าง คอยเอาใจใส่เขาด้วยความรัก นี่เป็นตัวอย่างของความรักที่ยินดีรับใช้ และเสียสละอุทิศตนที่น่ายกย่องจริงๆ และเป็นความรักในแบบที่พระเยซูเจ้าทรงหมายถึง

พระวาจาของพระเจ้าวันนี้เตือนใจเราให้ประกาศ “ข่าวดี ที่ว่า พระเจ้า-พระเยซูเจ้า ทรงเป็นความรัก” เราจะสามารถทำให้ความรักของเราเป็นท่วงทำนองของดนตรีอันไพเราะผสานกับความรักของพระเยซูเจ้าได้หรือไม่

(เขียนโดย คุณพ่อวิชา หิรัญญการ ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2017
Based on : Sunday Seeds for Daily Deeds โดย Francis Gonsalves, S.J.)