วันที่ 21 สิงหาคม ระลึกถึงนักบุญปีโอที่ 10 พระสันตะปาปา
(St Pius X, Pope, memorial)
”ฟื้นฟูทุกสิ่งในคริสตเจ้า” นี่คือคติพจน์ของผู้สืบตำแหน่งนักบุญเปโตร องค์ที่ 258 องค์นี้ เพื่อพระคริสต์เจ้าจะทรงเป็นทุกสิ่งสำหรับทุกคน และความพยายามของพระองค์ที่ทรงกระทำการนี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เพราะไม่มีด้านใดเลยของพระศาสนจักรที่พระองค์มิได้ทรงเข้าไปเกี่ยวข้อง เข้าไปแยกแยะ เข้าไปนำทาง เข้าไปตัดสินใจ หรือเข้าไปยกระดับขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นด้านพิธีกรรม ศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ คำสอน บทเทศน์ การศึกษา พระคัมภีร์ กฎหมายพระศาสนจักร ดนตรีและศิลปะศักดิ์สิทธิ์ งานสังคมสงเคราะห์ การอบรมพระสงฆ์ และทุกๆเรื่องที่เกี่ยวกับพระศาสนจักร
เมื่อแรกเกิดนามว่า จูเซปเป เมลกิโอเร ซาร์โต (Giuseppe Melchiore Sarto) เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1835 ที่ ริเอเซ (Riese) อยู่ในสังฆมณฑล เทรวิโซ (Treviso) ประเทศอิตาลี พระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ทรงเป็นผู้ที่โดดเด่นในเรื่องความเรียบง่าย และความสุภาพ แต่ก็มีความมั่นคงและกล้าตัดสินใจ ทรงมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีศีลธรรมขั้นสูง และมีความศรัทธาอย่างแรงกล้า ตั้งแต่ในวัยหนุ่ม ในช่วงที่เป็นเณรอยู่ที่เมืองปาดัว (Padua) ได้รับคำชมว่า “เรื่องระเบียบวินัยไม่เป็นสองรองใคร มีความสามารถสูงมาก มีความจำเป็นเลิศ และน่าจะมีอนาคตที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง”
ได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1858 หลังจากบวชเป็นพระสงฆ์ได้ 9 ปี ได้เป็นเจ้าอาวาสที่ซัลซาโน (Salzano) ความมุ่งมั่นของท่านที่จะเป็น “ทุกสิ่งสำหรับทุกคน” ก็เริ่มเป็นผลสำหรับสัตบุรุษทุกๆคน ด้วยการให้บริการศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ การเทศน์สอนที่เรียบง่ายทว่าทรงพลัง การไปเยี่ยมคนเจ็บไข้ได้ป่วย ทั้งคนป่วยที่นอนติดเตียง และคนป่วยทางจิตใจในที่ฟังแก้บาป ท่านดำรงชีวิตในความเป็นสงฆ์อย่างเต็มที่ งานโปรดของท่านคือการสอนความเชื่อให้กับเด็กเล็กๆ โดยมีความตระหนักว่า “โดยผ่านทางคำสอน เนื้อดินจะถูกจัดเตรียมไว้สำหรับเมล็ดพันธุ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า”
ในวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1884 คุณพ่อ ซาร์โต (Fr Sarto) ได้รับการบวชเป็นพระสังฆราชแห่ง Mantua และเนื่องจากความสำเร็จมากมายในฐานะเป็นนายชุมพาบาลฝ่ายจิต และเป็นผู้ปฏิรูปบรรดาสมณะ ทำให้ท่านได้รับตำแหน่งพระคาร์ดินัล ในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1893 และได้รับตำแหน่งพระสังฆอัยกาแห่งเวนิส (Patriarchate of Venice) ในเวลาสามวันต่อมา เป็นที่น่าสังเกตถึงเรื่องผลงานด้านสังคมสังเคราะห์ของท่าน พระคาร์ดินัลผู้เป็นลูกชาวไร่ชาวนาผู้นี้ได้เอาใจใส่อย่างยิ่งยวดต่อชะตากรรมของชนชั้นแรงงานซึ่งได้แก่ พวกที่เป็นชาวไร่ชาวนา และพวกชนชั้นกรรมาชีพ และท่านได้ช่วยฉุดรั้งคนงานจำนวนมากให้ออกห่างจากสหภาพสังคมนิยมที่ไม่นับถือพระเจ้า
เมื่อสมณสมัยที่ยาวนานและที่บังเกิดผลดีของพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 (Pope Leo XIII) จบสิ้นลงจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1903 (พระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 ทรงอยู่ในสมณสมัยระหว่างปี ค.ศ. 1878 – 1903 = 25 ปี ด้วยวัย 93 ปี ทรงเป็นพระสันตะปาปาที่อยู่ในสมณสมัยที่อายุมากที่สุด ยกเว้นพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 แต่ทรงเป็นพระสันตะปาปากิตติคุณ = คือทรงลาเกษียณจากตำแหน่งแล้ว – ผู้แปล) พระคาร์ดินัลซาร์โตก็ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาองค์ต่อมาในวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1903 การสวมมงกุฎรับตำแหน่งนี้ถูกจัดขึ้นที่มหาวิหารนักบุญเปโตรในอีกห้าวันต่อมา
ขณะที่ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาทรงตระหนักดีว่าการได้รับพลังมหาศาล รวมทั้งท่าทีที่สุภาพอ่อนหวานที่สร้างความอบอุ่นให้กับประชาชน มาจากพระผู้เป็นแหล่งกำเนิดของพระพรทุกประการ นั่นคือ จากจิตตารมณ์ของพระเยซูเจ้านั่นเอง นอกจากมิติต่างๆ ทุกๆด้านของพระศาสนจักรที่พระองค์ได้ทรงเข้าไปฟื้นฟู ปรับเปลี่ยน ส่งเสริม เพิ่มเติม ดังที่กล่าวมาในเบื้องต้นแล้ว ยังทรงส่งเสริมให้รับศีลมหาสนิทบ่อยๆ และแม้แต่ให้รับทุกวันสำหรับทุกคนที่อยู่ในสถานะพระหรรษทาน และทรงริเริ่มให้เด็กๆ ที่ถึงอายุรู้เหตุผลแล้วได้รับอนุญาตให้รับศีลได้ด้วยสิทธิพิเศษเดียวกันนี้ ในสมณประกาศ 14 ฉบับ ที่ออกมาเป็นชุด พระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ได้แสดงให้เห็นเด่นชัดที่จะขจัดหรือทำลายลัทธินิยมสมัยใหม่ที่กำลังแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว เพราะแก่นแท้ของลัทธินิยมนี้คือการปฏิเสธพระฤทธานุภาพในการปกครองขององค์พระผู้เป็นเจ้า และปฏิเสธระบบระเบียบเหนือธรรมชาติด้วย
พระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ทรงตระหนักดีว่า การอุทิศพระองค์เองเป็นพื้นฐานของความศักดิ์สิทธิ์ ใครๆ ก็สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนถึงการดำรงชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ แต่เป็นเพราะความเกลียดชังกันของชาวโลกในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ทำให้เศร้าพระทัยจนถึงกับสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1914 พระองค์ทรงได้รับการประกาศแต่งตั้งเป็นบุญราศีในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1951 และได้รับการประกาศแต่งตั้งเป็นนักบุญในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1954 โดยพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ทั้งใน 2 กรณี
(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสมีความคิดที่จะปฏิรูปพระศาสนจักร
- สาส์น ปี ค.ศ. 2020 ถึง ผู้อำนวยการของสมณองค์กรเพื่อการแพร่ธรรม National Director and Members of Pontifical Mission Societies (PMS)
- วันที่ 8 สิงหาคม ระลึกถึงนักบุญโดมินิก พระสงฆ์
- ราชินีแห่งสวรรค์ (Regna Caeli) วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 2020
- ร่วมประชุมบิชอปเพื่อนคณะโฟโคลาเร