Skip to content

ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 16 เทศกาลธรรมดา ปี A

จงปล่อยให้การตัดสินครั้งสุดท้ายเป็นของพระเจ้า

การตัดสินโดยทันที (Instant judgement)

Ibn Saud กษัตริย์องค์แรกของซาอุดิ อาราเบีย ทรงต้องเผชิญหน้ากับปัญหาของการตัดสิน เรื่องมีอยู่ว่า หญิงคนหนึ่งมาเฝ้าพระองค์และทูลเรียกร้องให้ตัดสินลงโทษชายคนหนึ่งที่ฆ่าสามีของเธอ ให้ตายตกไปตามกัน ขณะเกิดเหตุ ผู้ชายคนนี้อยู่บนต้นปาล์มกำลังเก็บผลอินทผาลัม แต่เกิดพลาดและตกลงมา บังเอิญลงมาทับร่างชายคนที่เป็นสามีของหญิงนั้นที่อยู่ใต้ต้นปาล์มถึงแก่ความตาย กษัตริย์ Ibn Saud ทรงถามหญิงนั้นว่า “ชายคนนั้นตั้งใจจะตกลงมาไหม” “ชายสองคนนี้เคยเป็นศัตรูกันมาก่อนหรือไม่” หญิงนั้นทูลตอบว่าไม่เคยรู้จักชายคนนี้เลย และไม่รู้ว่าทำไมถึงตกลงมา แต่ตามกฎหมายแล้วเธอมีสิทธิเรียกร้องให้เลือดตกไปตามกัน กษัตริย์ทรงกล่าวต่อไปว่า “จะให้ชดใช้ในรูปแบบอื่นไหม” แต่หญิงคนนั้นขอแต่ศีรษะของฝ่ายที่ทำผิด กษัตริย์ทรงพยายามโน้มน้าวชักจูงเธอ ทรงชี้ให้เห็นว่า เธออาจจะต้องการเงิน และการลงโทษชายคนนี้ให้ตายไปก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งต่อตัวเธอและลูกของเธอ แต่หญิงนั้นยังยืนกรานโดยโต้เถียงว่า ไม่เป็นการถูกต้องที่ชายคนที่ฆ่าสามีเธอ จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในกลุ่มคนที่เป็นคนดี เขาควรถูกขุดรากถอนโคนทิ้งไปในทันที ที่สุด กษัตริย์จึงตรัสว่า “เป็นสิทธิ์ของเธอตามกฎหมายที่จะเรียกร้องการลงโทษ และเป็นสิทธิ์ของเธอตามกฎหมายที่จะร้องขอให้เอาชีวิตของชายคนนี้ แต่เป็นสิทธิ์ของฉันตามกฎหมายด้วย ที่จะกำหนดว่าเขาควรจะตายอย่างไร เอาเถอะ ขอให้นำชายคนนี้เข้ามาพร้อมกับเธอ และให้เขาถูกผูกไว้ใต้ต้นปาล์ม ส่วนเธอขอให้ปีนขึ้นไปบนต้นไม้นั้นให้สูงที่สุด แล้วปล่อยตัวลงมาจากความสูงให้ลงมาทับร่างของเขา ด้วยวิธีนี้เธอจะสามารถฆ่าเขาให้ตายเหมือนที่เขาทำกับสามีเธอ” พระองค์ทรงหยุดเล็กน้อยแล้วตรัสเสริมว่า “หรือบางที เธออาจจะรับเงินเป็นค่าไถ่เลือดมากกว่า” สรุป หญิงนั้นขอรับเงินแทน


ความหวังที่เต็มเปี่ยม (The good hope)

การเรียกร้องให้มีการตัดสินโดยฉับพลัน เพื่อถอนรากถอนโคนผู้ที่ทำผิดคิดร้ายต่อปวงชน เพื่อนำเอาการพิพากษาครั้งสุดท้าย (last judgement) มาเป็นปัจจุบันกาล (present tense) เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากในพระวาจาของพระประจำอาทิตย์นี้ จากบทอ่านแรกของหนังสือปรีชาญาณได้พยายามตอบคำถามที่กดดันอย่างหนักในข้อที่ว่า ทำไมพระเจ้าทรงปล่อยให้คนชั่วเจริญรุ่งเรือง ทำไมพระเจ้าจึงทรงอดทนและอดกลั้นต่อศัตรูของชาวอิสราเอล ผู้แต่งตอบโต้ว่าความอดทนอดกลั้นของพระเจ้านั้นไม่ได้เป็นผลมาจากความอ่อนแอของพระองค์ พระยุติธรรมแท้จริงมาจากต้นกำเนิดที่ทรงพลัง ขึ้นกับว่าพระองค์จะทรงใช้ความเข้มแข็งที่ทรงพลังอย่างไรเท่านั้น คำตอบคือว่า พระองค์ทรงจัดการกับสิ่งนี้โดยให้น้ำหนักกับ “ความกรุณาปรานีที่ยิ่งใหญ่” (great lenience) เราจะพบจากในพระคัมภีร์ว่า พระเมตตามากล้นของพระองค์ทรงมีให้กับทุกคนอย่างเห็นได้ชัด แม้คนที่ทำตนเป็นศัตรู การกระทำเช่นนี้เป็นไปตามเป้าประสงค์ของพระองค์ที่ว่า “พระองค์ทรงกระทำเช่นนี้ เพื่อสอนประชากรของพระองค์ว่า ผู้ชอบธรรมต้องรักเพื่อนมนุษย์ พระองค์ประทานความหวังเต็มเปี่ยมแก่บรรดาบุตรของพระองค์ว่า เมื่อเขาทำบาปแล้ว พระองค์ก็ประทานโอกาสให้เขากลับใจ” (ปชญ 12:16-19)

และดังนี้ประชากรก็ถูกขอให้มีส่วนร่วมในจิตตารมณ์เดียวกันนั้น พวกเขาต้องปฏิบัติอย่างใจดีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน การเผยแสดงว่าพระเจ้าทรงพระเมตตาที่ยิ่งใหญ่ จะช่วยให้ชาวอิสราเอลมีความหวังอย่างเต็มเปี่ยม (The good hope) ในมุมมองที่ว่าเมื่อพวกเขาทำผิดต่อพระเจ้า ก็จะได้รับการยกโทษให้จากพระองค์ด้วยเช่นกัน ความหวังเช่นนี้ได้รับการยกย่องเชิดชูให้สูงขึ้น เมื่อเราสวดบทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น”

เรื่องที่สะกิดใจเราในพระเมตตาของพระเจ้าที่ทรงอดทนต่อคนผิด ปรากฏอีกครั้งในพระวรสารของวันนี้ อาณาจักรของพระเจ้าเปรียบเหมือนชาวนาที่ต้องเผชิญปัญหาน่าหนักใจ ทุ่งนาของเขามีทั้งข้าวสาลีและข้าวละมานเติบโตมาด้วยกัน ซึ่งการจะแยกแยะให้ชัดเจนว่าเป็นชนิดไหน ก็ต้องรอให้มันโตกว่านี้เสียก่อน คนใช้ต้องการถอนข้าวละมานทิ้งไป แต่ชาวนาบอกให้ปล่อยไว้ก่อน เขาหวั่นเกรงว่าการถอนรากถอนโคนข้าวละมาน อาจทำให้ข้าวสาลีได้รับอันตรายไปด้วย เขาสั่งว่า ไม่ต้องพยายามก่อนเวลาที่จะแยกแยะออกจากกัน ดังนั้นข้าวทั้งสองชนิดถูกอนุญาตให้โตขึ้นจนถึงวันเก็บเกี่ยวสุดท้าย แล้วจึงจะทำการแยกออกไป


ชุมชนที่ผสมปนเปกัน (A mixed community)

อันที่จริง ข่าวสารที่พระเยซูเจ้าทรงมอบให้เมื่อเล่าอุปมาเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่พระองค์เองทรงเผชิญหน้ากับมันตลอดพระราชกิจของพระองค์ กล่าวคือพระองค์ทรงเข้าไปหาคนทุกชนิด ผสมปนเปไปด้วยโสเภณี พวกพระสงฆ์ ขโมยขโจร คัมภีราจารย์ นักการเมือง เด็กๆ คนเก็บภาษี ฟารีสี ฯลฯ การจะทำให้ศาสนาต้องแปลกแยกออกไปต่างหากเป็นสิ่งที่พระองค์ไม่ทรงทำ ตรงกันข้ามกลับทรงแสวงหา และช่วยผู้ที่หลงทางไปให้ได้กลับมา พวก “ฟาริสี” ชื่อของเขาหมายถึง “พวกที่แยกออกไปต่างหาก” ( = ไม่ปนกับคนอื่นๆ เป็นกลุ่มคนพิเศษที่ดีเหนือกว่าคนอื่นๆ ) พวกนี้วิจารณ์พระเยซูเจ้าที่ไปคบหากับกลุ่มคนผิดๆทั้งหลาย แต่พระเยซูเจ้าทรงทราบดีว่า ทุกๆสังคมมีทั้งคนดีและคนเลว และไกลกว่านั้น เรายังไม่ควรแยกแยะเวลานี้ ควรรอจนถึงวาระสุดท้าย

เรื่องนี้สอนเราว่า ในฐานะคริสตชนเราไม่มีอำนาจจะประกาศคำตัดสินสุดท้ายสำหรับใครก็ตาม คำสุดท้ายไม่ควรพูดออกมาถึงใครเลย จนกว่าความตายของเขาจะมาถึง แล้วนั้น ให้พระเจ้าทรงทำในส่วนของพระองค์ ไม่ใช่หน้าที่ของเรา นักบุญเปาโลสอนเราอย่างดีทีเดียวในเรื่องนี้ “ดังนั้น จงอย่าตัดสินเรื่องใดๆ ก่อนถึงเวลา จงคอยจนกว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จมา” (1คร 4:5) ที่นักบุญเปาโลพูดเรื่องนี้ เพราะท่านเองก็ตระหนักดีว่า ถ้าตัดสินอะไรให้เด็ดขาดไปเลยในเวลานี้ อาจจะเป็นเหมือนหนังคนละเรื่อง เช่นว่า แต่ก่อนนักบุญเปาโลคิดผิดๆเกี่ยวกับผู้ติดตามพระเยซูเจ้า ท่านพยายามไปถอนรากถอนโคนกลุ่มคริสตชนใหม่ เพราะคิดว่าเป็นวัชพืช ต้องถอนทิ้งไป แต่ภายหลังเมื่อท่านได้เห็นภาพนิมิตและกลับใจ ท่านก็ต้องยอมรับว่าตัดสินผิดพลาดไป หรือถ้าพระเจ้าทรงตัดสินเซาโลในขณะที่เขากำลังเบียดเบียนคริสตชนอยู่ เขาก็คงไม่ได้มาเป็น “อัครสาวกของคนต่างศาสนา” ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งเป็นแน่

หรือนักบุญมารีย์ ชาวมักดาลา ที่มีวันระลึกถึงท่านใกล้ๆช่วงเวลานี้ (= 22 กรกฎาคม ) ซึ่งผู้นิพนธ์พระวรสารองค์หนึ่งบอกว่า เธอเคยถูกปีศาจเจ็ดตนสิงอยู่ และพระเยซูเจ้าทรงขับไล่ผีเจ็ดตนออกไปจากนาง ต่อมาเธอกลายมาเป็นผู้ติดตามพระเยซูเจ้า และเป็นคนแรกที่ทรงแสดงองค์ให้เห็นหลังการกลับฟื้นคืนพระชนมชีพด้วย เห็นไหมครับ ถ้าให้คำตัดสินสุดท้ายตั้งแต่เธอยังโดนหมู่ปีศาจสิงอยู่ ผลจะออกมาแตกต่างกันมากแค่ไหน จึงขอสรุปดังนี้

“พระเจ้าต่างหากจะทรงเป็นผู้แยกแยะว่าใครดีและไม่ดี

และเวลาสุดท้ายต่างหากที่เป็นเวลาสำหรับการตัดสิน”

(ถอดความโดย คุณพ่อวิชา หิรัญญการ เรียบเรียงใหม่เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2020
Based on : Season of the Word ; by Denis McBride, C.SS.R.)