Skip to content

ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 15 เทศกาลธรรมดา ปี A

พระวาจาประจำอาทิตย์นี้เน้นเรื่อง พระวาจาของพระเจ้า ซึ่งทรงพลังในตัวเองเป็นอย่างยิ่ง และยังพูดถึงสภาพพื้นดิน หรือสภาพจิตใจที่จะให้ความร่วมมือ เพื่อก่อให้เกิดผลผลิตในระดับไหน

บทอ่านที่หนึ่งจากหนังสือประกาศกอิสยาห์ ข้อความนี้เขียนขึ้นระหว่างช่วงปลายของการเนรเทศ คือประมาณ 538 ปีก่อนคริสตกาล เป็นข้อความที่ให้กำลังใจบรรดาผู้ถูกจำจองในถิ่นเนรเทศที่กรุงบาบิโลน ว่าจะได้รับการปลดปล่อย จะได้รับความรอดพ้นใหม่ จะได้กลับไปที่ภูเขาซีออน คือได้กลับไปกรุงเยรูซาเล็มนั่นเอง โดยชี้ให้เห็นว่า คำสัญญาของพระเจ้าจะไม่ไร้ผล ตรงข้าม กลับจะมีอานุภาพมากขึ้น “ฝนและหิมะลงมาจากท้องฟ้า และจะไม่กลับขึ้นไปที่นั่น ถ้าไม่ได้รดแผ่นดิน ทำให้แผ่นดินอุดม ทำให้พืชงอกขึ้น เพื่อให้ผู้หว่านมีเมล็ดพันธุ์ และทำให้ผู้กินมีอาหารฉันใด ถ้อยคำที่ออกจากปากของเรา จะไม่กลับมาหาเราโดยไม่เกิดผล”

ข้อความของพระวาจาตอนนี้ ถือเป็นหนึ่งในข้อความที่งดงามที่สุดในพันธสัญญาเดิม ที่เน้นถึงพระวาจาอันทรงอำนาจของพระเจ้า เราคงสังเกตเห็นว่าหลังจากฤดูแล้งที่ยาวนาน ทันทีที่ฝนตกลงมา ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปชั่วข้ามคืน พื้นดินที่เคยแห้งเป็นสีน้ำตาลดำ กลับกลายเป็นความชุ่มชื่น ชอุ่มเขียว ภายในไม่กี่ชั่วโมง นี่คือสิ่งที่สายฝนทำให้บังเกิดขึ้น เฉกเช่นเดียวกับพระวาจาของพระ ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงบุคคลได้ชั่วข้ามคืน

ส่วนในพระวรสาร นักบุญมัทธิวได้เล่าอุปมาเรื่องผู้หว่าน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเจ็ดอุปมา ที่บรรจุอยู่ในบทที่ 13 ของนักบุญมัทธิว ท่านเล่าโดยมีจุดประสงค์ที่จะอธิบายถึงพระอาณาจักรสวรรค์ ทำให้เรามองเห็นภาพของพระอาณาจักรสวรรค์ และประชากรที่แท้ของอาณาจักรนั้น แต่ก่อนอื่น เราต้องมาพิจารณาดูว่า พระวาจาของพระต่างกับคำพูดของมนุษย์อย่างไร “พระเจ้ามิใช่มนุษย์ที่จะมุสาได้ มิใช่บุตรของมนุษย์ที่จะเปลี่ยนใจได้ พระองค์ตรัสแล้วไม่ทรงกระทำหรือ พระองค์ทรงสัญญาแล้วไม่ทรงทำตามหรือ” (กดว 23:19) สรุปคือสำหรับพระเจ้า สิ่งที่ตรัสกับสิ่งที่ทรงกระทำ เป็นสิ่งเดียวกัน ลองย้อนไปดูเรื่องการสร้างโลกจักรวาลในหนังสือปฐมกาลบันทึกไว้ดังนี้ “พระเจ้าตรัสว่า จงมีความสว่าง และความสว่างก็อุบัติขึ้น… ฯลฯ …” (เทียบ ปฐก 1:3-31)

พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระวจนาตถ์(วจนะ)ของพระเจ้า สิ่งที่พระองค์ตรัสก็ทรงพลานุภาพเช่นกัน ดังนั้น เมื่อพระองค์ทรงประกาศข่าวดีเรื่องพระอาณาจักร หรือเมื่อทรงทำอัศจรรย์ เช่น ทรงรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วยทั้งหลายให้หาย ก็มาจากพระวาจาที่พระองค์ตรัสเสมอ ผู้คนพากันบอกว่า “คนๆนี้สอนด้วยพระวาจาอันทรงอำนาจ” ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด มีนายร้อยคนหนึ่งมาเฝ้าพระองค์ ขอให้ทรงรักษาผู้รับใช้ของเขาที่เป็นอัมพาตนอนอยู่ที่บ้านเขา เมื่อพระองค์ตรัสกับเขาว่า “เราจะไปรักษาเขาให้หาย” แต่นายร้อยทูลว่า “พระองค์เจ้าข้า ข้าพเจ้าไม่สมควรให้พระองค์เสด็จเข้ามาในบ้านของข้าพเจ้า แต่ขอพระองค์ตรัสเพียงคำเดียวเท่านั้น ผู้รับใช้ของข้าพเจ้าก็จะหายจากโรค” บทสรุปคือ พระเยซูเจ้าตรัสว่า “จงไปเถิด จงเป็นไปตามความเชื่อนั้นเถิด” ผู้รับใช้ของเขาก็หายจากโรคในเวลานั้นเอง (เทียบ มธ 8:5-13)

มีตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า แม้คำพูดของมนุษย์บางทีก็ยังมีอำนาจมากทีเดียว มีเรื่องเล่าว่า ชายชาวนาอินเดียคนหนึ่งมีที่นา อยากปลูกถั่ว แต่เขาแก่มากแล้ว จะขุดดินเพื่อเตรียมการเพาะปลูกก็ไม่ไหว ความหวังอยู่ที่ลูกชายคนเดียวที่จะทำให้ได้ แต่ลูกเขาก็มาถูกจำคุกด้วยข้อหาร้ายแรง คือการซ่องสุมอาวุธ พ่อเขียนจดหมายไปรำพึงรำพันกันลูกในปัญหาเรื่องนี้ ลูกเขียนจดหมายตอบกลับมาว่า “อย่าไถพื้นดินที่ทุ่งนาของเราเด็ดขาด เพราะลูกฝังอาวุธไว้ใต้ดิน” วันต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจและรถแทร็คเตอร์ไปขุดผืนนาของชายชราทั้งผืน แต่ไม่พบอาวุธ พ่อเขียนจดหมายไปรายงานลูกว่าเกิดอะไรขึ้นที่บ้าน ลูกตอบกลับมาว่า “คุณพ่อครับ เดินหน้าปลูกถั่วได้แล้วครับ นี่เป็นสิ่งดีสิ่งเดียวที่ลูกทำให้พ่อได้จากในคุก” จะเห็นได้ว่า บางครั้ง คำพูดของมนุษย์ก็มีอำนาจมากพอควร แต่เปรียบไม่ได้เลยกับของพระเจ้า

แต่ในอุปมาเรื่องนี้ ยังมีส่วนที่สองที่เกี่ยวกับการผลิดอกออกผล คือสภาพของพื้นดิน หรือ คือความร่วมมือของเรา เราจะพูดถึงสภาพดินในแบบสุดท้าย ที่เปรียบไว้ว่าเป็นเนื้อดินดี นี่คือรูปแบบของคริสตชนที่แท้ คือเปิดใจรับพระวาจา เก็บรักษาไว้ในจิตใจ รำพึงไตร่ตรอง ร่วมมือกับพระองค์ในการนำไปปฏิบัติจริง ความเป็นศิษย์ที่แท้ คือการทำให้พระวาจาที่มาถึงเรานั้นบังเกิดผลทวีขึ้น จึงมิอยู่แค่เพียงเฉพาะคำพูด แต่ออกมาเป็นการกระทำ

ทุกวันนี้ พระวาจาของพระยังคงแจกจ่ายออกไปด้วยพระทัยกว้างขวาง ไปในที่ต่างๆ พระองค์ยังทรงหวังว่า ประชาชนจะรับพระวาจาของพระองค์ไว้ จะต้อนรับด้วยความยินดี และนำพระวาจานั้นไปทำให้บังเกิดผล เราลองคิดดูว่าเราได้ตอบสนองพระวาจาอย่างไร อีกประการหนึ่งที่ควรระลึกไว้ คือเราต้องอดทนรอคอยผลด้วย เหมือนเมล็ดพันธุ์ทั่วๆไป พระวาจาของพระเจ้าก็ต้องการเวลาในการเจริญเติบโต ชาวนารู้ว่าต้องทนคอยสภาพอากาศ การทำงานอย่างลับๆภายใต้ผืนดิน แล้วพืชนั้นจะค่อยๆโผล่ยอด และเจริญเติบโตต่อไป ในห้วงเวลาเหล่านี้ต้องรอคอยด้วยความไว้วางใจ

ดีนะครับที่ไม่มีการบอกเป็นสถิติว่า เพียงหนึ่งในสี่เท่านั้นที่รับพระวาจาแล้วบังเกิดผล เรื่องอุปมานี้ก็เพียงแต่พูดถึงสภาพของดินในแบบต่างๆเท่านั้น เราจงปรับสภาพจิตใจของเราให้เป็นเหมือนดินดี แล้วพระวาจาของพระก็จะบังเกิดผลอย่างอุดม

(เรียบเรียงโดย คุณพ่อวิชา หิรัญญการ วันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 2020
Based on : Speak, Lord! ; by Fr. Herman Mueller, SVD)