Skip to content

ความท้าทายเรื่องศีลบวชและกระแสเรียก : มองในบริบทเอเชีย

เรียบเรียงโดย พระคารฺดินัล ชาลส์ โบ

การชุมนุมเซอร์ร่าระดับโลก ครั้งที่ 80 ที่กำลังจัดขึ้นที่เชียงใหม่ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับศีลบวชและกระแสเรียกสู่ความเป็นสงฆ์และนักบวชในพระศาสนจักร เราทราบดีว่ากระแสเรียกเป็นกระบวนการที่ต้องการความต่อเนื่อง ผู้ที่ถูกรับเลือกให้มาเป็นผู้สืบงานต่อจากองค์พระเยซูคริสตเจ้า มีหน้าที่หลักคือการรับใช้พระศาสนจักร เป็นผู้ประกาศพระวาจาของพระเจ้า เป็นผู้แทนองค์พระคริสต์ถวายบูชามิสซาและบริการศีลศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ แก่บรรดามวลสัตบุรุษ

ทุก ๆ ปี อาทิตย์ที่ 4 ในช่วงเทศกาลปัสกา เรามีพิธีบูชามิสซาขอบพระคุณระลึกถึง ‘ผู้เลี้ยงแกะที่ดี’ เป็นวันที่เราสวดเป็นพิเศษสำหรับกระแสเรียก ในวันนี้เอง เราได้เห็นองค์พระเยซูคริสตเจ้าผู้เป็นนายชุมพาบาลที่ดี “ยอมสละชีวิตเพื่อฝูงแกะของตน” ภารกิจของพระองค์จบลงด้วยความรักและความเสียสละอันยิ่งใหญ่ พระองค์สละชีวิตพระองค์เองเพื่อให้เรามีชีวิตอยู่ โดยในระหว่างพิธีบูชาขอบพระคุณ เราจะร่วมกันสวดภาวนาวอนขอกระแสเรียก เนื่องจากจำนวนกระแสเรียกสำหรับนักบวชชาย-หญิง ลดลงอย่างมาก การสวดภาวนาควบคู่ไปกับการลงมือทำอย่างแข็งขันจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

รายงานจำนวนมากระบุตรงกันว่าจำนวนกระแสเรียกในทวีปเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในช่วงปี ค.ศ. 1970-1979 และ 30 ปีให้หลัง แน่นอนว่าปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นทั่วทุกประเทศในทวีปเอเชีย แต่หลายประเทศก็มีความมั่นคั่งในเรื่องกระแสเรียกอย่างมาก อาทิ อินเดีย เวียดนาม ติมอร์เลสเต และฟิลิปปินส์ อาจเนื่องด้วยประเทศเหล่านี้มีประชากรคาทอลิกจำนวนมาก แน่นอนว่ากระแสเรียกเป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้า ไม่ได้อาศัยความพยายามของมนุษย์ในการแสวงหากระแสเรียกเพียงลำพัง เราจำเป็นต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ‘กระแสเรียก’ เป็นพระพรและความริเริ่มที่มาจากองค์พระผู้เป็นเจ้า

นี่จึงเป็นพระพรอันอุดมสำหรับทวีปเอเชีย ทว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรารับรู้ได้ว่ากระแสเรียกของบรรดาพระสงฆ์ นักบวชชาย-หญิง ลดจำนวนลงอย่างมาก สถานการณ์เช่นนี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่ในทวีปเอเชียหรือในประเทศที่เคยมีจำนวนกระแสเรียกมากมาย หลายสังฆมณฑลต้องเร่งหากระแสเรียกจากบรรดาเยาวชน เพื่อมาทดแทนบรรดาพระสงฆ์ นักบวชชาย-หญิง ที่เข้าสู่วัยชรา เพื่อสืบต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระศาสนจักร ท่ามกลางสภาพการณ์ของโลกในยุคปัจจุบัน การรักษาจำนวนกระแสเรียกที่มีอยู่ในพระศาสนจักรก็เป็นเรื่องท้าทายมากกว่าแต่ก่อน

นี่จึงก่อให้เกิดคำถามมากมาย อาทิ “เหตุใดกระแสเรียกในชีวิตนักบวชและศาสนาจึงลดจำนวนลง”, “เราจะทำอย่างไรเพื่อช่วยกันส่งเสริมกระแสเรียก”, “เราต้องร่วมกันหาทางออกอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกระแสเรียก”, ซึ่งข้าพเจ้าขอกล่าวถึงความท้าทายของกระแสเรียกในยุคปัจจุบัน เป็นต้น ในทวีปเอเชีย โดยจะเน้นย้ำถึงความท้าทายด้วยกัน 5 ประการ คือ

ความท้าทาย #1: การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในเอเชีย

การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในเอเชีย ทำให้เราได้เห็นว่าหลายอาชีพในประเทศกำลังพัฒนาได้หายไป ข้อมูลของสำนักการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจแห่งชาติ ชี้ว่าศาสนามีแนวโน้มที่จะลดบทบาทลง สวนทางกับการพัฒนาเศรษฐกิจ  งานวิจัยบางชิ้นระบุว่าประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกกลับนับถือศาสนามากที่สุด การแสวงหาความมั่งคั่งเป็นวิถีชีวิตของผู้คนและครอบครัวจำนวนมาก  ส่งผลโดยตรงต่อพลวัตของครอบครัว ปัจเจกบุคคลจำนวนไม่น้อย “หมกมุ่น” กับอำนาจความมั่งคั่งและความโลภ  ความคิดเช่นนี้ลดทอนความเอื้ออาทรและความโอบอ้อมอารี ความโลภในความมั่งคั่ง ก่อให้เกิดสังคมที่เห็นแก่ตัวมากขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจในทวีปเอเชียยังคงเติบโต มีการลงทุนจากต่างประเทศ แม้แต่คนในชนบทเอง ก็ยังถูกล่อลวงด้วยโฆษณาชวนเชื่อให้ละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อเสาะแสวงหาคุณภาพชีวิตใน “ดินแดนแห่งพันธสัญญา” ใหม่ ที่ดีกว่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมสมัยใหม่มีเสน่ห์เย้ายวนดึงดูดผู้คนให้ออกห่างจากชีวิตทางศาสนา

ความท้าทาย #2: การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัว

การเปลี่ยนแปลงในครอบครัวกำลังเกิดขึ้นทั่วทวีปเอเชีย  ส่งผลกระทบต่อกระแสเรียกและศีลบวช การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยังรวมไปถึง การลดลงของภาวะเจริญพันธุ์ (อัตราการเกิดต่ำ) อัตราการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้น อายุเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นของการแต่งงาน ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว กลุ่มเด็กและเยาวชนที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานและถูกเลี้ยงดูโดยปู่ย่าตายายหรือญาติ ปัจจุบัน “ครอบครัวดั้งเดิม” ถูกแทนที่ด้วยรูปแบบครอบครัวใหม่ คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว, คู่สามีภรรยาที่ไม่ได้แต่งงาน (อยู่กินร่วมกัน), ผู้ปกครองที่ทำงาน คู่รักที่ไม่มีบุตร ครอบครัวระหว่างศาสนา-ต่างวัฒนธรรม และอื่นๆ อีกมากมาย สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายใหม่ทั้งสิ้น เรามักจะพูดกันว่า “ครอบครัวเป็นรากฐานของกระแสเรียก”  นักบุญสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ตรัสว่า ครอบครัวคือรากฐานแห่งกระแสเรียกที่ดีที่สุด ที่นำไปสู่การอุทิศชีวิตเพื่อพระอาณาจักรสวรรค์ ในอดีตหนึ่งในความหวังที่สูงสุดของคาทอลิก คือ ครอบครัวจะต้องมีลูกอย่างน้อยหนึ่งคนที่ดำเนินชีวิตตามกระแสเรียกของพระสงฆ์และนักบวช ทว่าปัจจุบันหลายครอบครัวขาดการสื่อสารภายในครอบครัว ไม่มีเวลาสำหรับการสวดภาวนาร่วมกัน หรือไม่ได้อยู่ร่วมกันเพราะความรับผิดชอบทางการเงิน ทำให้พ่อแม่ต้องแยกไปประกอบอาชีพในสถานที่ต่าง ๆ

ในบทความที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2014 ผู้เขียนได้แสดงทัศนะอย่างชัดเจนว่า“ครอบครัวต้องเป็นโรงเรียนแห่งความรักผ่านคำพูดและการกระทำ  นอกจากนี้ ความเชื่อจะต้องดำเนินชีวิตอย่างเข้มแข็ง ดังนั้นโครงสร้างครอบครัวจึงมีความสำคัญมากขึ้น เป็นต้น ในสภาวะที่รูปแบบของครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก  

ความท้าทาย #3: ผลกระทบทางเทคโนโลยีและอุดมการณ์

การปฏิวัติดิจิทัลได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเราทุกคน ตั้งแต่วิธีที่เราสื่อสารไปจนถึงวิธีคิด เทคโนโลยีดิจิทัลได้ให้ประโยชน์มหาศาลแก่ชีวิตของเรา ในขณะเดียวกันก็สร้างความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้การเข้าถึงข้อมูลทั้งที่ดีและไม่ดี สามารถกระทำได้โดยง่ายดาย เปิดโลกความรู้ที่กว้างขึ้น รวดเร็วขึ้น ความท้าทายที่ตามมาก็คือเราไม่มีเวลามากพอที่จะแยกแยะว่าอะไรจริง อะไรปลอม เราเห็นว่าเทคโนโลยีส่งผลกระทบทางจิตใจของผู้คนอย่างมาก เรากำลังเผชิญหน้ากับวัตถุนิยม ฆราวาสนิยม และแม้กระทั่งความทะเยอทยานเพ้อฝัน

คนหนุ่มสาวในปัจจุบันต่างได้รับผลกระทบจากเป้าหมายทางอุดมการณ์ใหม่เกี่ยวกับชีวิต มากไปกว่านี้เรายังต้องเผชิญกับวัฒนธรรมการเลียนแบบคนดัง (ไม่ใช่การเลียนแบบนักบุญ เฉกเช่นในอดีต) เทคโนโลยีเหล่านี้กำลังทำให้เยาวชนจมดิ่งสู่ความสมบูรณ์แบบลวงตา งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนรุ่นก่อน ๆ เด็กสมัยนี้ต้องการเงินและของใช้ดี ๆ มากมาย แต่มักไม่ค่อยพูดว่าพวกเขายินดีทำงานหนักเพื่อแลกมากับสิ่งที่อยากได้ มิหนำซ้ำยังมีแรงกดดันจากเพื่อนที่ให้ค่าสิ่งเหล่านี้มากกว่าการเชื่อข่าวดีและพระวาจาของพระเจ้า

ความท้าทาย #4: ความยากจนและการย้ายถิ่นฐาน

จากข้อมูลของธนาคารโลก มีประชากรมากกว่า 320 ล้านคนในเอเชีย มีสภาพทางเศรษฐกิจในระดับความยากจนขั้นรุนแรง ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ  คนหนุ่มสาวจำนวนมากในประเทศของเราในปัจจุบัน ต้องดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากวงจรความยากจนนี้ หนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยถูกบังคับให้ออกจากบ้านตั้งแต่อายุน้อย ๆ เพื่อประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัว  การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานในหลายพื้นที่ทั่วทวีปเอเชีย  นอกจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจ การอพยพย้ายถิ่นยังมีสาเหตุมาจากความไม่สงบทางการเมืองในบางส่วนของทวีปเอเชีย ในสถานการณ์ที่เจ็บปวดเช่นนี้ มันไม่ง่ายเลยที่จะพูดถึงเรื่องกระแสเรียก เมื่อชีวิตบอบช้ำจากความโหดร้ายที่ถูกกระทำโดยมิชอบจากเผด็จการทางการเมือง ประชาชนไม่มีกำลังที่จะต่อสู้กลับ จึงเสาะแสวงหาหนทางในการหนีเอาตัวรอด

ความท้าทาย #5: การขาดแบบอย่าง

แบบอย่างมีบทบาทสำคัญในการสร้างสังคม  วัยรุ่นหนุ่มสาวมองหาแบบอย่างที่แท้จริงและน่าเชื่อถือ  ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี แสดงความรักและสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อื่นได้  พวกเราส่วนใหญ่หรือทุกคนล้วนมีโอกาสได้พบนักบวชชาย/หญิงผู้ศักดิ์สิทธิ์ ที่ดลใจเรา พวกเขาทิ้งร่องรอยความทรงจำที่ดีและมีผลต่อการตัดสินใจของเรา ทุกวันนี้ นักบวชและผู้อุทิศตนทั้งชายและหญิงต้องมองตนเองมากกว่าแต่ก่อนว่าเรากำลังสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อื่นผ่านภารกิจของเราอยู่หรือไม่ บ่อยครั้งเราอาจล้มเหลว ด้วยเหตุผลต่างๆ ความเป็นฆราวาสนิยมและวัตถุนิยมยังเล็ดลอดเข้ามาในชีวิตของบรรดานักบวชชาย-หญิง  สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ตรัสว่า เมื่อวัตถุนิยมเข้าครอบงำ เราก็ “หมกมุ่นอยู่กับตัวเองและในที่สุดพบว่า
ความปลอดภัยในวัตถุก็พรากจากเราไป”

การคุกคามของลัทธิฆราวาสนิยมและวัตถุนิยมนั้นมีอยู่จริงในบรรดานักบวช หากดำเนินชีวิตโดยขาดความระมัดระวัง อาจหันเหไปสู่หายนะ สูญเสียความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือ ในบางแห่ง พบเรื่องอื้อฉาวของ การล่วงละเมิดทางเพศ การยักยอกเงิน การใช้อำนาจโดยมิชอบของนักบวช และคอร์รัปชันที่ปรากฏให้เห็นในสื่อบ่อยครั้ง โดยไม่ได้พรรณนาถึงชีวิตของนักบวชที่อุทิศตนเป็นวิถีชีวิตที่น่าดึงดูดใจ 

บทสรุป
แม้จะมีความท้าทายที่หลากหลาย แต่เราต้องยอมรับว่าทวีปเอเชียยังคงได้รับพระพรจากกระแสเรียกสู่พันธกิจที่ได้รับแต่งตั้งและชีวิตที่อุทิศถวาย  มีการส่ง “มิชชันนารี” ไปยังส่วนต่างๆ ของโลกเป็นทั้งความสุขและพระพรสำหรับพระศาสนจักรในทวีปเอเชีย อย่างไรก็ดี เราไม่อาจนิ่งนอนใจได้ เพราะว่ากระแสเรียกต่อศีลบวชและการเป็นสงฆ์และนักบวช ลดลงเรื่อย ๆ