Skip to content

ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา ปี C

“ลูกเอ๋ย จงจำไว้ว่า เมื่อยังมีชีวิต ลูกได้รับแต่สิ่งดี ๆ”

พระเยซูเจ้า ทรงเล่าเรื่องเศรษฐีผู้หนึ่งกับลาซารัสผู้ยากจน เป็นเรื่องที่น่าประทับใจมาก และเต็มไปด้วยบทสอน

ถ้าเราจะพิจารณาเป็นลำดับไป ควรเริ่มด้วยชีวิตของเศรษฐีในเรื่องนี้เสียก่อน ที่น่าสังเกตประการแรกคือ พระเยซูเจ้ามิทรงตั้งชื่อให้เศรษฐีคนนี้เป็นการเฉพาะเจาะจง พระองค์อาจไม่ทรงต้องการให้ชื่อของเขาได้รับเกียรติเนิ่นนานตลอดไป ที่จริงผู้ที่ร่ำรวยทั้งหลายพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ชื่อของเขาจารึกไว้ยาวนานหรือตลอดไป เขาอาจจะเขียนชื่อไว้ที่บ้านพักตากอากาศหรือที่ฟาร์มของเขา แต่พระเยซูเจ้ากลับตั้งชื่อให้ขอทานคนนั้นว่าชื่อ “ลาซารัส” ทรงให้ความสำคัญกับคนๆ นี้มากกว่าเศรษฐีที่มีคำอธิบายเพียงว่าเป็นผู้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าราคาแพง กินเลี้ยงอย่างหรูหราทุกวัน โต๊ะอาหารของเขาพรั่งพร้อมไปด้วยอาหารนานาชนิด

การเป็นคนมั่งมีและแต่งกายด้วยเสื้อผ้าราคาแพงไม่ได้เป็นบาป แต่สิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงต้องการเตือนคือ มนุษย์อาจจะมีสิ่งต่างๆ เหล่านี้อย่างเหลือเฟือ แต่ก็อาจพินาศไปได้ตลอดนิรันดร ภายใต้พระพิโรธของพระเจ้า

ยังเตือนต่อไปอีกว่า การเป็นเจ้าของครอบครองทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาลเหล่านี้ จะกลายเป็นอันตรายที่ยิ่งใหญ่ด้วย จะถูกประจญให้จองหอง จะหลงลืมขอบพระคุณพระเจ้าและประชากรที่ยากจนของพระองค์ และจะลืมโลกหน้าที่จะมาถึง

หลายคนภาวนาขอให้รวยๆ เห็นไหมครับว่ามีอันตรายจิ่มจวนมากมายแค่ไหน

บาปของเศรษฐีไม่ได้อยู่ที่การทำร้ายลาซารัส หรือให้คนใช้ขับไล่ลาซารัสออกไป เพราะจริงๆ แล้วเขาก็ไม่ได้ทำเช่นนั้น แต่บาปของเศรษฐีอยู่ที่เขาไม่เคยสังเกตและใส่ใจลาซารัสเลย เขามองข้ามผ่านเลยไปเหมือนลาซารัสไม่มีตัวตน หรือเป็นเพียงสิ่งของประดับประตูหน้าบ้านของเขา

ถ้าจะพิจารณาให้ดีๆ สิ่งที่ลาซารัสต้องการจากเศรษฐีเป็นเพียงเศษอาหารที่หล่นจากโต๊ะเท่านั้นเอง ไม่ได้เรียกร้องอะไรมากมายเกินเลย แต่เศรษฐีปิดหู ปิดตา และปิดใจ บาปของเศรษฐีจึงมิใช่อยู่ที่เขาทำการร้ายแต่ประการใด แต่อยู่ที่เขาไม่ยอมทำความดีต่างหาก

ลำดับต่อไป หรือฉากต่อไป คือคนทั้งสองตายไป ลาซารัสตายก่อน ทูตสวรรค์นำเขาไปอยู่ในอ้อมอกของอับราฮัม ภาษาพระคัมภีร์อธิบายคนตายไปสู่สวรรค์ด้วยสามสำนวน คือ คนชอบธรรมจะไปยังสวนสวรรค์ (Garden of Eden) หรือพวกเขาจะไปอยู่ต่อหน้าพระบัลลังก์แห่งพระสิริรุ่งโรจน์ และเขาจะไปสู่อ้อมอกอับราฮัม พระเยซูเจ้าทรงใช้ข้อสุดท้ายอธิบายถึงชีวิตหลังความตายของลาซารัส เพราะอับราฮัมเป็นบิดาของผู้มีความเชื่อลึกซึ้งในองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ชอบธรรมจะได้รับการต้อนรับจากท่านก่อนในพระราชัยสวรรค์ จริงๆ แล้วอับราฮัมเป็นคนรวย แต่ท่านก็ยังต้อนรับคนจนอย่างลาซารัส ในสวรรค์ความรวยความจนจะมาบรรจบกัน ลาซารัสผู้ยากจนไม่เคยได้รับการต้อนรับเข้าสู่งานเลี้ยงของเศรษฐีในโลกนี้เลย บัดนี้ได้รับการต้อนรับเข้าสู่งานเลี้ยงนิรันดรโดยอยู่ใกล้ชิดกับท่านอับราฮัม

จริงๆ แล้วยังมีเรื่องน่าเขียนต่อไปอีกมากแต่เนื้อที่หมดแล้ว อยากฝากข้อคิดไว้ว่า จงจำไว้ว่าเมื่อยังมีชีวิต เราได้รับแต่สิ่งดีๆ ดังนั้นจึงอย่าละเลยในการทำสิ่งดีๆ เสมอ

(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดพระกุมารเยซู เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2010)

ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา ปี C

“บาปของการอยู่นิ่งเฉย”

ครูคำสอนคนหนึ่งได้พยายามอย่างมากที่จะอธิบายให้เด็กๆของเธอเข้าใจข้อความที่ว่า “การทำงานอย่างดี” ไม่เพียงพอจะทำให้ไปสวรรค์ได้ และก่อนจบเวลาเรียน ครูจึงถามเพื่อดูว่าเด็กได้เข้าใจในสิ่งที่เธอสอนหรือไม่ “ถ้าครูขายบ้านและรถของครู และให้เงินของครูทั้งหมดกับวัด ครูจะได้เข้าสวรรค์ไหม” เด็กทุกคนตอบว่า “ไม่” “งั้นถ้าครูมาทำความสะอาดวัดทุกวัน จัดวัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาดเอี่ยมอ่องอยู่เสมอ ครูจะได้ขึ้นสวรรค์ไหม” พวกเด็กตอบ “ไม่” อีกครั้งหนึ่ง “ดีแล้ว ถ้างั้นลองตอบครูมาซิว่า ครูจะเข้าสวรรค์ได้อย่างไร” มีเด็กผู้ชายอายุ 7 ขวบนั่งอยู่หลังห้องตะโกนตอบเสียงดังว่า “ครูก็ต้องตาย” ในพระวรสารของวันนี้พูดถึงคนสองคนที่ตายไป คือเศรษฐี และลาซารัสผู้ยากจน

เราต่างต้องการได้รับการปฏิบัติด้วยความรักความเอาใจใส่ ไม่ใช่โดยไม่เห็นถึงคุณค่า Scott Peck ในหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า “ถนนสายที่มีคนเดินทางน้อย” ได้อธิบายความรักว่าเป็นงานที่ต้องเอาใจใส่ นี่หมายความว่าความรักของคนๆหนึ่งจะถูกสังเกตเห็นได้จากการเอาใจใส่ที่เขายอมอุทิศตนทำให้กับคนที่เขารัก แต่กิจการแห่งความรักที่แท้จริงเช่นนี้มักถูกละเลย เป็นสิ่งง่ายกว่าสำหรับเราที่จะทำเฉยเสียโดยไม่ต้องการตระหนักรู้ถึงมัน

บาปของเศรษฐีใน ลก 16:19-31 ซึ่งเป็นเรื่องราวของพระวรสารสำหรับอาทิตย์นี้ ไม่ใช่ว่า เขาสั่งให้ไล่ลาซารัสออกไปจากบ้านของเขา ไม่ใช่เขาไล่เตะลาซารัส หรือตะโกนด่าว่าตอนเขาเดินผ่าน เราจะเห็นว่าเขาปล่อยให้ลาซารัสนั่งอยู่ที่ประตูบ้านของเขา เขายอมให้ลาซารัสไปค้นถังขยะหาอาหารกินได้ แต่บาปของเศรษฐีคนนี้อยู่ตรงที่เขาไม่เคยสังเกตไปที่ลาซารัส ไม่เคยช่วยเหลืออะไรเลย เขาแค่เดินผ่านและไม่สนใจ เขาแค่ยอมให้คนจนอยู่ตรงนั้นเหมือนเป็นเครื่องประดับฉาก การนิ่งเฉย หรือการเฉยเมยก็คือการลงโทษ เราอาจจะได้รับการลงโทษเช่นนี้ด้วยก็ได้

บาปของเศรษฐีไม่ใช่เป็นบาปของการกระทำผิด แต่เป็นบาปของการละเลย ซึ่งหมายถึงการไม่ยอมทำสิ่งที่ดีในเมื่อคุณรู้ว่าคุณควรจะทำ บาปของเศรษฐีคนนั้นก็คือบาปของคนทุกวันนี้ที่ละเลยซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในพิธีสารภาพบาป เราสารภาพบาปความผิดที่เราได้กระทำ และสิ่งที่เราละเลยไปคือไม่ได้ทำ ประธานาธิบดี John F. Kennedy อ้างถึงเรื่องนี้เมื่อท่านได้กล่าวว่า “ถ้าในสังคมอิสระไม่สามารถช่วยคนจำนวนมากที่ยากจน มันก็จะไม่สามารถช่วยคนจำนวนน้อยที่ร่ำรวยได้เช่นกัน” อาจพูดอีกอย่างได้ว่า ถ้าเราไม่ยอมเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือ เราละเลยต่อพวกคนจน ก็กำลังทำลายไม่เฉพาะคนจนเท่านั้น แต่จะทำลายโครงสร้างทางสังคมทั้งหมดของเราด้วย

มนุษย์เป็นบุคคลที่มีความรู้สึก เราต้องเอาใจใส่ในการปฏิบัติต่อพวกเขา George Bernard Shaw กล่าวไว้ว่า “บาปที่ร้ายแรงที่สุดต่อเพื่อนพี่น้องของเราไม่ใช่อยู่ที่เราเกลียดพวกเขา แต่อยู่ที่การเพิกเฉยต่อพวกเขา นั่นคือแก่นแท้ของการไร้มนุษยธรรม” ความเจ็บปวดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตไม่ได้อยู่ที่ความตาย แต่อยู่ที่การถูกละเลย ถูกลืม ถูกมองว่าไม่มีคุณค่า เหมือนดังเช่นนักบุญเทเรซา แห่งกัลกัตตา เคยให้ข้อสังเกตไว้ว่า “โรคร้ายที่รุนแรงมากที่สุดในสังคมทุกวันนี้ ไม่ใช่วัณโรค หรือ โรคเรื้อน หรือ aids แต่คือการเป็นคนที่ไม่มีใครต้องการ ไม่มีใครรัก ไม่มีใครเอาใจใส่”

ขอให้อุปมาเรื่องนี้เตือนเราให้รู้จักใช้ยาแก้พิษสำหรับเชื้อโรคที่เรียกว่า ความเมินเฉย บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะแสดงว่า เราเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อคู่ชีวิตของเรา ต่อลูกๆของเรา และครอบครัวของเรา บางทีคนที่เราละเลยมากที่สุดอาจจะอยู่ใกล้ชิดเรามากที่สุดก็ได้ การแสดงออกถึงความรักไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหญ่โต แค่รอยยิ้มง่ายๆ การพูดสวัสดี การโอบกอด ความซาบซึ้งใจ การฟัง การโทรฯหา ส่งอีเมลให้ ส่งข้อความให้ การไปอยู่ใกล้ๆเวลาที่เขาต้องการกำลังใจ สิ่งเล็กๆเหล่านี้จะกลับกลายเป็นสิ่งที่มีความหมายมากสำหรับคนที่เรารัก

(คุณพ่อวิชา หิรัญญการ เขียนเมื่อวันที่ 26 กันยายน ค.ศ.2019
Based on : The Table of the Word
By : Fr John Pichappilly)