Skip to content

ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 23 เทศกาลธรรมดา ปี C

มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งนำเอาเค้าโครงเรื่องมาจากชีวิตของนักบุญโทมัส โมร์ มรณสักขีชาวอังกฤษ (ค.ศ. 1477-1535) ในวัยหนุ่มท่านได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย อ๊อกฟอร์ด เมื่อจบการศึกษาได้เข้ารับราชการ และได้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในตำแหน่งหน้าที่

ในปี ค.ศ.1529 กษัตริย์เฮนรี่ที่ 8 ทรงแต่งตั้งท่านให้ดำรงตำแหน่งมหาเสนาบดีแห่งประเทศอังกฤษ (Chancellor of England) แต่แล้ว โศกนาฏกรรมก็เข้ามาในชีวิตของท่านนักบุญ มันเกิดขึ้นดังนี้ กษัตริย์เฮนรี่ที่ 8 ได้ทรงหย่าร้างกับพระราชินี แล้วอภิเษกสมรสใหม่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นเพื่อจะต่อสู้กับพวกที่คัดค้านการสมรสนี้ พระองค์ทรงออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐผู้ทรงเกียรติในตำแหน่งสูงๆ ของรัฐลงลายมือชื่อในเอกสาร โดยสาบานภายใต้คำปฏิญญาว่า การสมรสของพระองค์ครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมาย ทรงกำชับด้วยว่าถ้าใครปฏิเสธที่จะลงนามในเอกสาร ผู้นั้นจะถูกจับกุมในข้อหากบฏ

ฉากที่เศร้าสะเทือนใจคือตอนที่ลอร์ด นอร์โฟล์ค นำเอกสารไปให้โทมัส โมร์ ท่านปฏิเสธที่จะลงนามนั้น ไม่ว่าท่านลอร์ดจะเชิญชวนให้ท่านเปลี่ยนใจเช่นไร ที่สุดท่านลอร์ดหมดความอดทน จึงพูดกับเพื่อนว่า

“ฉันสับสนไปหมดแล้ว… ฉันไม่รู้หรอกว่าการสมรสนี้มันจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่โทมัส ลองดูรายชื่อเหล่านี้สิ เธอรู้จักคนเหล่านี้ทุกคน แล้วเธอจะไม่ทำอย่างที่พวกเราได้ทำ เพื่อร่วมหัวจมท้ายด้วยกันหรือ”

แต่โทมัส โมร์ ยังคงปฏิเสธ ท่านจะไม่ยอมสาบานในสิ่งที่ใจท่านรู้ว่ามันผิด ดังนั้น ต่อมาท่านถูกจับคุมขัง และถูกตัดสินให้ประหารชีวิตในข้อหาเป็นกบฏในวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1535

ในขณะที่ท่านถูกตัดศีรษะ ท่านประกาศก้องว่าท่านเป็น “ผู้รับใช้ที่ดีของกษัตริย์ แต่ลำดับที่หนึ่งเป็นของพระเจ้า” (“the King’s good servant but God’s first”) นักบุญโธมัส โมร์ รักพระมากกว่าครอบครัวของท่านเอง และมากกว่าแม้กระทั่งชีวิตของตนเอง สอดคล้องกับพระวรสารของวันนี้ ที่พระเยซูเจ้าได้ทรงกำหนดเงื่อนไขของการเป็นศิษย์ติดตามพระองค์ว่ามีอะไรบ้าง น่าสังเกตว่าเงื่อนไขที่ทรงเรียกร้องนี้ ไม่ได้หมายถึงอัครสาวกแค่ 12 คนเท่านั้น แต่หมายถึงทุกๆคนที่อยากมาเป็นศิษย์ติดตามพระองค์ เพราะพระวรสารของอาทิตย์นี้เริ่มต้นว่า “เวลานั้น ประชาชนจำนวนมากกำลังเดินไปกับพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงหันพระพักตร์มาตรัสกับเขาทั้งหลายว่า ถ้าผู้ใดติดตามเราโดยไม่รักเรามากกว่าบิดามารดา ภรรยา บุตร พี่น้องชายหญิง และแม้กระทั่งชีวิตของตนเอง… ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้” เงื่อนไขประการแรกนี้ จะเห็นได้ชัดว่า นักบุญโทมัส โมร์ ทำได้อย่างยอดเยี่ยมทีเดียว

เงื่อนไขประการที่สอง “ผู้ใดไม่แบกไม้กางเขนของตน และติดตามเรา ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้” นี่เป็นเงื่อนไขที่ต้องพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติ มิใช่ด้วยเพียงคำพูดเท่านั้น พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า พระเจ้าทรงรักใคร ก็จะทรงเฆี่ยนสอนผู้นั้น พระเยซูเจ้าทรงเป็นอาจารย์และทรงรับแบกกางเขนที่มิใช่แม้ของพระองค์เอง แต่เป็นของเรามนุษย์ทั้งมวล เราทุกคนก็ต้องแบกกางเขนของเราด้วย และติดตามพระองค์ไป จะเห็นได้ชัดเจนว่า พระแม่มารีย์ และบรรดาอัครสาวก และนักบุญทั้งหลายได้พิสูจน์ว่าเป็นศิษย์แท้จริงของพระเยซูเจ้า โดยแบกกางเขนและติดตามพระองค์ไป

ข้อสรุปของพระวรสารวันนี้คือ “ดังนั้น ทุกท่านที่ไม่ยอมสละทุกสิ่งที่ตนมีอยู่ ก็เป็นศิษย์ของเราไม่ได้” จะเห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงสอนว่า การเป็นศิษย์ของพระองค์นั้นมีคุณค่าสูงส่ง ที่คู่ควรกับการเสียสละทุ่มเทอุทิศตนอย่างจริงจัง ที่จริงการจะทำให้ได้เช่นนี้ไม่ง่ายเลย และลำพังเราเองอาจหมดแรงท้อถอยได้ แต่ถ้าเราพึ่งความช่วยเหลือจากพระเจ้า เราจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคใหญ่หลวงนี้ไปได้ ขอจบด้วยจดหมายที่นักบุญโทมัส โมร์ เขียนถึงลูกสาวของท่านในขณะที่ท่านถูกคุมขังอยู่ในคุก ว่าท่านต้องสู้และต้องวอนขอความช่วยเหลือจากพระมากเพียงใด เพื่อจะได้เป็นศิษย์ที่แท้ของพระเยซูเจ้า

“เม็ก ลูกรัก… พ่อจะไม่หมดความไว้วางใจในพระเจ้า แม้จะรู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอมากเพียงไร และเกือบพ่ายแพ้ต่อความหวาดกลัว พ่อจะจำในสิ่งที่นักบุญเปโตรได้ทำในขณะที่เผชิญกับลมพายุและรู้สึกว่ากำลังจะจมลงเพราะขาดความเชื่อ พ่อจะทำเช่นเดียวกับท่าน คือร้องเรียกหาพระคริสต์และขอความช่วยเหลือจากพระองค์ และพ่อเชื่อว่าพระองค์จะทรงยื่นพระหัตถ์อันศักดิ์สิทธิ์ดึงพ่อขึ้นมาจากการจมอยู่ในทะเลที่ปั่นป่วน ดังนั้น ลูกสาวที่น่ารักของพ่อ อย่าให้จิตใจของลูกวิตกกังวลกับสิ่งที่กำลังจะเกิดกับพ่อในโลกนี้ ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นได้ถ้าไม่ใช่พระประสงค์ของพระ และพ่อแน่ใจว่า อะไรที่จะเกิดขึ้น แม้ดูเหมือนเป็นสิ่งเลวร้าย แต่ที่สุดแล้วจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด”

(คุณพ่อวิชา หิรัญญการ เรียบเรียงใหม่เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2019
Based on : Illustrated Sunday Homilies แต่เป็นของอาทิตย์ที่ 26 ปี B by : Mark Link, SJ ;
และ – John’s Sunday Homilies, Cycle – C. by : John Rose)

ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 23 เทศกาลธรรมดา ปี C

“ทุกท่านที่ไม่ยอมสละทุกสิ่งที่ตนมีอยู่ ก็เป็นศิษย์ของเราไม่ได้”

เกล เซเยอร์ ซึ่งเคยเป็นผู้เล่นในทีม ชิคาโก แบร์ ในราวปี ค.ศ.1960 เป็นต้นไป ติดอันดับในบรรดาตัววิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการอเมริกันฟุตบอลอาชีพ เขามักสวมสร้อยที่แขวนเหรียญทองขนาดครึ่งของเหรียญดอลล่าร์ บนเหรียญมีตัวอักษรจารึกไว้ว่า “ฉัน คือ ลำดับที่สาม”
คำจารึกนี้กลายมาเป็นชื่อหนังสืออัตชีวประวัติที่ขายดีที่สุดของเขา ในหนังสือได้อธิบายความหมายของคำจารึกนี้ว่ามีความหมายต่อ เกล เซเยอร์ อย่างไร จริงๆ แล้วคำนี้มีที่มาจากผู้ฝึกสอนวิ่งของเขาที่ชื่อว่า บิล อีสตัน ย้อนหลังไปตั้งแต่เขาเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคนซัส เขาไปเห็นคำนี้เขียนอยู่บนโต๊ะทำงานของบิล อีสตัน จึงถามความหมาย ซึ่งได้รับคำตอบว่า “พระผู้เป็นเจ้าคือผู้เป็นอันดับแรก เหล่ามิตรสหายเป็นลำดับที่สอง และตัวฉันเองเป็นลำดับที่สาม” ตั้งแต่นั้นมา เกล เซเยอร์ ก็รับคำเหล่านี้มาเป็นหลักปรัชญาในการดำเนินชีวิตของตัวเอง

ในปีที่สองที่อยู่กับทีมแบร์ เกล เซเยอร์ ตัดสินใจว่าเขาต้องการสวมอะไรบางอย่างที่มีความหมายรอบคอของเขา เขาจึงซื้อเหรียญทองมาและจารึกคำว่า “ฉัน คือ ลำดับที่สาม” ห้อยไว้กับสายสร้อยแล้วสวมไว้รอบคอเสมอ

ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขา เกล เซเยอร์ กล่าวว่า “ฉันพยายามเจริญชีวิตตามคำจารึกนี้ ฉันไม่ได้พบกับความสำเร็จเสมอไป แต่การที่มีคำเหล่านี้อยู่รอบๆ คอ ก็ช่วยไม่ให้ฉันเตลิดไปไกลจากมัน”

เรื่องของ เกล เซเยอร์ สะท้อนถึงคำตรัสของพระเยซูเจ้าในพระวรสารของวันอาทิตย์นี้ “ถ้าผู้ใดติดตามเราโดยไม่รักเรามากกว่า บิดามารดา ภรรยา บุตร พี่น้องชายหญิง และแม้กระทั่งชีวิตของตนเอง ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้”

หรืออีกนัยหนึ่ง เราต้องจัดให้ลำดับที่สำคัญที่สุดของชีวิตเราอยู่ที่พระเยซูเจ้า และอยู่ที่พระบิดาเจ้าสวรรค์นั่นเอง

“ท่านที่ต้องการสร้างหอคอย จะไม่คำนวณค่าใช้จ่ายก่อนหรือว่ามีเงินพอสร้างเสร็จหรือไม่” คำตรัสนี้ยังสะท้อนให้เห็นอีกว่าการที่เราจะตัดสินใจให้พระเจ้ามาเป็นอันดับหนึ่งในชีวิตของเรานั้น เราจะต้องไตร่ตรองให้รอบคอบว่าเราจะสามารถทำให้บังเกิดผลสำเร็จได้หรือเปล่า นี่ไม่ใช่เรื่องเด็กเล่นขายของ พอเบื่อก็เลิก แต่เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่ตัดสินใจอย่างรอบคอบแล้วว่า จะเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าอย่างเต็มตัวและตลอดไป จึงต้องมีการทุ่มเท อุทิศตน ซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์ จริงอยู่ อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จให้ชื่นใจในทุกกิจการ แต่การยึดมั่นในการเป็นศิษย์ของพระองค์ และพระองค์ทรงเป็นอันดับหนึ่งเสมอจะช่วยประคองให้เราอยู่ในลู่ทาง และนำไปสู่ความสำเร็จในสักวันหนึ่ง

พระเยซูเจ้ามิทรงปรารถนาจะมีลูกศิษย์ประเภทชั่วคราว เป็นๆ หายๆ ครึ่งๆ กลางๆ เริ่มต้นแล้วก็ละทิ้งไป แต่ทรงต้องการผู้ติดตามที่เป็นมืออาชีพ ผู้ที่คอยทำตามคำตรัสสอนของพระองค์เสมอ และปวารณาตัวทำตามพระประสงค์ของพระบิดาทุกประการ จนลืมตัวตนและความปรารถนาส่วนตนไปเสียหมด หากจะยังระลึกถึงตนเองได้ ก็เป็นในลำดับท้ายที่สุด

(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดพระกุมารเยซู เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2010
Based on : Sunday Homilies – Year C
by : Mark Link, SJ)