Skip to content

คณะโฟโคลาเร เชียงใหม่จัดประชุมพบปะพี่น้องชาวพุทธ: เป็นหนึ่งเดียวกันในเคียร่า

วันเสาร์ที่ 30 เมษายน - วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม 2565
กลุ่มโฟโคลาเร เชียงใหม่ได้จัดให้มีการประชุมพบปะพี่น้องชาวพุธ ณ วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ด้วยคุณ Rita Moussallem และคุณ Antonio Salimbeni ที่ปรึกษาคณะโฟโคลาเรในเขตภาคพื้นเอเชียและ Oceania และเป็นผู้รับผิดชอบงานศาสนสัมพันธ์ ซึ่งมีศูนย์กลางการทำงานที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ทั้งสองท่านได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนสมาชิกประเทศต่างๆ ในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ในโอกาสนี้สมาชิกของคณะโฟโคลาเรที่นับถือศาสนาพุทธมีความปรารถนาที่จะได้พบปะกันเพื่อได้แลกเปลี่ยนเสวนาถึงประสบการณ์ในการเจริญชีวิตตามจิตตารมณ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวของ เคียร่า ลูบิค ผู้ก่อตั้งคณะโฟโคลาเร โดยได้รับเมตตาจากพระภาวนาธรรมาภิรัช วิ. เจ้าอาวาสวัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) ซึ่งท่านได้รู้จักกับเคียร่า เมื่อครั้งที่เคียร่าได้มาเยี่ยมประเทศไทยในปี พ.ศ. 2540 และได้มีการสานสัมพันธ์อย่างแนบแน่นมาตลอด 25 ปี ท่านได้ให้ความอนุเคราะห์ที่พัก อาหาร และสถานที่สำหรับการจัดประชุมเพื่อให้คุณ Rita Moussallem และคุณ Antonio Salimbeni ได้มีโอกาสนมัสการพระภิกษุ เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางศาสนากับพระภิกษุและพี่น้องพุทธศาสนิกชน

ในการพบปะนี้ มีพระภิกษุสงฆ์ 8 รูป ภิกษุณี 1 รูป แม่ชี 1 รูป พี่น้องพุทธศาสนิกชนฆราวาส 20 ท่าน และบาทหลวงนิกายโรมันคาทอลิก 1 ท่าน และพี่น้องคริสตชน 14 ท่าน

วันเสาร์ที่ 30 เม.ย. 2565

หัวข้อของการประชุม เป็นหนึ่งเดียวกันในเคียร่า: จากประสบการณ์สวรรค์ ปี 1949 ของเคียร่า ลูบิค สู่ชีวิตของพวกเรา เป็นการทบทวนพิจารณาไตร่ตรอง สะท้อนคิดประสบการณ์ทางศาสนาของเคียร่า และสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเจริญชีวิตของตนเองที่เป็นผลจากการร่วมเจริญชีวิตในจิตตารมณ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียว และร่วมกิจกรรมเจริญจิตภาวนาเนื่องในวันพระขึ้น 15 ค่ำ ของทางวัด

วันที่ 1 เม.ย. 2565

กิจกรรม พบปะสมาชิกคณะโฟโคลาเรภาคเหนือ และกิจกรรมสัปดาห์เพื่อโลกที่เป็นหนึ่ง ซึ่งเป็นกิจกรรมระดับโลกที่เยาวชนของกลุ่มโฟโคลาเรกำหนดให้วันที่ 1-8 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นช่วงเวลาที่จะทำโครงการระดับโลกเพื่อส่งเสริมสันติภาพความเป็นหนึ่งเดียวให้เกิดขึ้นในโลก โดยแต่ละปีจะกำหนดหัวข้อของโครงการและจัดโดยพร้อมเพรียงกันทั่วโลก ในปีนี้หัวข้อของโครงการคือ “Dare to Care” (กล้าใส่ใจ) ซึ่งเป็นการตอบรับ พระสมณสาร์นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส มีเยาวชนในจังหวัดเชียงใหม่
ประมาณ 30 คนเข้าร่วมกิจกรรม อนุรักษ์ธรรมชาติ (Ecology Workshop) : มณฑล (มันดาลา) ภาวนา มณฑล หรือ มันดาลา (Mandala) ใช้เป็นสัญลักษณ์ทางธรรมหรือทางพิธีกรรมเพื่อหมายถึงเอกภพ โดยทั่วไปมักแสดงในเชิงอภิปรัชญาและเชิงสัญลักษณ์เป็นแผนภาพหรือแผนภูมิแบบเรขาคณิตรูปจักรวาลแบบย่อส่วนกิจกรรม มณฑลภาวนา เป็นกิจกรรมที่สร้างความตระหนักให้เห็นความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม

การพบปะประชุมของพี่น้องชาวพุทธในโอกาสการมาเยือนของที่ปรึกษาคณะโฟโคลาเรในเขตภาคพื้นเอเชีย และ Oceania และผู้รับผิดชอบงานศาสนสัมพันธ์ของคณะโฟโคลาเรในครั้งนี้ เป็นการหยั่งรากลึกการเสวนาศาสนสัมพันธ์ของพี่น้องชาวพุทธและคริสต์ให้เติบโตในความรัก ความเข้าใจ เคารพในคุณค่าของความจริง ความดี และความงามของแต่ละศาสนามากยิ่งขึ้น

โดย : ปรียานุตร สุรินทร์แก้ว และ วราภรณ์ พงค์พิศ (คณะโฟโคลาเร ประเทศไทย)