Skip to content

คำปราศรัยของพระสันตะปาปาฟรานซิส “มูลนิธิแห่งสันตะสำนักการศึกษาอันสำคัญยิ่งยวด”

(Pontifical Foundation Gravissimum Educationis) ณ ห้องประชุมเกลเมนติเน (Clementine) วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 2022

พวกเรามักจะได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับสงครามที่อยู่ห่างไกล เช่น ซีเรีย เยเมน… เป็นปกติ แต่บัดนี้สงครามใกล้เข้ามาแล้ว แทบจะมาอยู่ที่หน้าประตูบ้านของพวกเราก็ว่าได้ และนี่ทำให้พวกเราต้องคิดเกี่ยวกับความป่าเถื่อนแห่งธรรมชาติมนุษย์ว่า พวกเราสามารถที่จะกล้าบ้าบิ่นไปถึงขนาดไหนในการฆ่าพี่น้องของเราเอง ขอบคุณมงซินญอร์กีเรอัล ทรีวิแอร์เจ (Msgr. Guyreal Thivierge) สำหรับจดหมายที่ท่านนำมา ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้พวกเราตื่นขึ้น ทำให้พวกเราตื่นตัวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น พวกเรากำลังพูดคุยกันเกี่ยวกับการศึกษา และเมื่อพวกเราพูดถึงการศึกษาพวกเราก็คิดถึงเด็กและเยาวชน… ทำให้พวกเราคิดถึงจำนวนทหารมากมายที่ถูกส่งไปยังแนวหน้า ซึ่งเป็นชาวรัสเซียนที่เพิ่งเจริญวัยเป็นหนุ่มเป็นสาว นี่ช่างน่าสมเพชจริงๆ ขอให้พวกเราคิดถึงทหารหนุ่มชาวยูเครนจำนวนมาก ขอให้พวกเราคิดถึงชาวบ้าน เยาวชน เด็กทั้งชายและหญิง… นี่คือเหตุการณ์เกิดขึ้นใกล้ตัวพวกเรา พระวรสารเพียงแค่ขอร้องไม่ให้พวกเราหันหน้าไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นทัศนคติล้วนๆ กับคนที่ทำตัวแบบไม่มีศาสนาของบรรดาคริสตชน เมื่อพวกเขามักจะมองไปยังทิศทางอื่น พวกเขากลายเป็นคนที่ไม่มีศาสนาที่แอบแฝงเป็นคริสตชน นี่คือเหตุที่พ่อเริ่มต้นแบบนี้สำหรับการไตร่ตรองของพวกเรา สงครามไม่ได้อยู่ไกลจากพวกเรา สงครามอยู่ที่หน้าประตูบ้านของเรานั่นเอง พ่อกำลังทำสิ่งใดหรือ? ณ กรุงโรมนี้ ที่โรงพยาบาล “พระกุมารเยซู – Bambino Gesu” มีเด็กที่ได้รับบาดเจ็บจากการทิ้งระเบิด ที่ประเทศของเขา พวกเขานำเด็กไปรักษาที่บ้าน ต้องถามตัวเองว่าฉันอธิษฐานภาวนาหรือไม่? ฉันจำศีลอดอาหารหรือไม่? ฉันทำการใช้โทษบาปหรือไม่? หรือว่าฉันไม่สนใจใยดีเฉกเช่นที่พวกเรารู้สึกมีชีวิตอยู่ห่างไกลจากสงคราม? สงครามเป็นความปราชัยของมนุษย์เสมอ พวกเราที่มีการศึกษา ที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษา ต้องพ่ายแพ้กับสงครามนี้ เพราะคิดไปว่าสงครามเกิดขึ้นที่อื่น แท้จริงพวกเราต้องมีความรับผิดชอบ ไม่มีอะไรที่จะเรียกได้ว่าเป็นสงครามอันชอบธรรม สงครามอันชอบธรรมไม่มีตัวตนเด็ดขาด

ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก

พ่อขอต้อนรับทุกคนที่มาร่วมในสมัชชาสากลเรื่อง “การศึกษาเพื่อประชาธิปไตยในโลกที่ไร้ซึ่งระเบียบ ซึ่งส่งเสริมโดยมูลนิธิแห่งสันตะสำนัก “การศึกษาอันสำคัญยิ่งยวด – Gravissimum Educationis”

พ่อขอขอบคุณพระคาร์ดินัลแวร์ซาลดี (Versaldi) สำหรับคำกล่าวแนะนำและขอขอบคุณท่านทุกคนที่นำเอาความมั่งคั่งแห่งมรดกทางวัฒนธรรมของท่านมารวมกันทั้งความเป็นมืออาชีพและการค้นคว้าวิจัยของท่าน การประชุมของท่านครั้งนี้เกี่ยวกับเรื่องของประชาธิปไตยจากมุมมองของการศึกษา นี่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งยวดและเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมาก แต่ก็ไม่ค่อยจะบ่อยนักที่มีการเจรจากันในมุมมองของการศึกษา ทว่าหัวข้อที่จะเจรจากันครั้งนี้ที่เป็นธรรมเนียมพิเศษของพระศาสนจักรจะเป็นวิธีเดียวที่จะสามารถก่อให้เกิดผลที่เป็นการมองการณ์ไกล

พ่อใคร่ที่จะมอบการไตร่ตรองสั้นๆ ให้กับท่านโดยเริ่มจากพระวาจาของพระเยซูคริสต์ที่มีการพูดถึงในพระวรสารของวันนี้ ซึ่งได้แก่นิทานเปรียบเทียบเรื่องคนเช่าสวนที่ชั่วช้า (มธ. 21: 33-43; 45-46) พระเยซูคริสต์ทรงเตือนใจให้พวกเราระวังการล่อลวงของทุกคนตลอดเวลา นี่คือการล่อลวงให้พวกเราอยากได้ทรัพย์สิน เพราะตาบอดด้วยตัณหาที่อยากเป็นเจ้าของไร่องุ่น ผู้คนในนิทานเปรียบเทียบไม่รอช้าที่จะใช้ความรุนแรงในการฆ่า นี่เตือนใจพวกเราว่าเมื่อมนุษย์ปฏิเสธกระแสเรียกของตนในฐานะที่เป็นผู้ร่วมงานในงานของพระเจ้า และวางตนแทนที่พระเจ้า เขาก็สูญเสียศักดิ์ศรีแห่งความเป็นบุตรของพระเจ้า แล้วกลายเป็นศัตรูกับบรรดาพี่น้องของตน เขากลายเป็นกาอิน

สิ่งที่ดีต่างๆ แห่งการสร้างสรรพสิ่งสรรพสัตว์มีไว้เพื่อทุกคน และแต่ละคนตามความจำเป็นของแต่ละคน ดังนั้นจึงไม่ควรมีผู้ใดที่จะสะสมเพื่อตนเองอย่างเหลือเฟือ และก็ไม่ควรที่ผู้ใดจะขาดสิ่งที่จำเป็น ตรงกันข้ามเมื่อการสะสมที่เห็นแก่ตัวล้นหัวใจ ความสัมพันธ์และโครงสร้างทางการเมืองและสังคมที่เป็นแก่นแห่งประชาธิปไตยก็จะเกิดเป็นมลพิษ นั่นจะกลายเป็นประชาธิปไตยเพียงในรูปแบบซึ่งไม่ใช่โดยแก่นแท้ของตัวเอง

พ่อขอเน้นถึงรูปแบบสองลักษณะด้วยกัน คือ ระบบเผด็จการ และระบบโลกิยนิยม ซึ่งเป็นความเสื่อมของประชาธิปไตย

นักบุญจอห์น พอลที่ 2 ชี้ให้เห็นว่านั่นจะเป็นเผด็จการเมื่อ “สิ่งนั้นกลืนประเทศชาติ สังคม ครอบครัว กลุ่มศาสนา และแม้แต่บุคคลส่วนตัวไว้กับตนเอง” (สมณลิขิต Centesimus Annus, ข้อ 45) โดยอาศัยการกดขี่อุดมการณ์ รัฐแบบเผด็จการจะระงับสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลและสังคมถึงคุณค่าต่าง ๆ ด้วย แม้กระทั่งถึงขั้นกดขี่เสรีภาพของปวงชน เป็นทรราชเชิงอุดมการณ์ และพวกเราก็สามารถที่จะพูดถึงอุดมการณ์แห่งอาณานิคมที่ยังคงดำเนินต่อไปและนำไปสู่จุดนี้

ส่วนระบบโลกิยนิยมซึ่งในตัวเองก็เป็นอุดมการณ์ด้วยนั้นจะทำให้เจตนารมณ์แห่งประชาธิปไตยผิดปกติในวิธีที่แยบยลร้ายกาจ โดยอาศัยการขจัดมิติเหนือธรรมชาติออกไปจะก่อให้เกิดความอ่อนแอลงด้วยการยกเลิกโน่นนี่ทีละน้อยรวมถึงการเปิดกว้างสู่การเสวนา หากปราศจาซึ่งความจริงสูงสุด ความคิดและความเชื่อของมนุษย์สามารถถูกเอารัดเอาเปรียบได้เพื่อจุดประสงค์ของอำนาจ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ตรัสไว้ใน สมณสาส์นความรักในความจริง (Caritas in Veritate) ข้อ 78) “มนุษยนิยมที่ตัดพระเจ้าออกไปเป็นมนุษย์ที่ปราศจากซึ่งความเป็นมนุษย์” และตรงนี้จะมีความแตกต่างเล็กๆ แต่มีความสำคัญระหว่างโลกิยนิยมที่ดีและโลกิยนิยมที่เป็นพิษ เมื่อโลกิยนิยมกลายเป็นอุดมการณ์ ก็จะกลายเป็นโลกิยนิยม แล้วจะเป็นพิษต่อความสัมพันธ์ระหว่างกันจนแม้กระทั่งประชาธิปไตยเอง ท่านได้ต่อสู้กับความเสื่อมโทรมเหล่านี้ด้วยพลังอำนาจแห่งการเปลี่ยนแปลงของการศึกษา เช่นในบางมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลกท่านได้เริ่มให้การการอบรมกิจกรรมด้วยการค้นหานโยบายที่ดีที่สุดเพื่อที่จะถ่ายทอดหลักแห่งประชาธิปไตยเพื่อที่จะให้นักศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย พ่อขอสนับสนุนให้ท่านดำเนินการต่อไปในลักษณะนี้ และพ่อขอเสนอบางประการซึ่งพ่อขอมอบให้ท่านทุกคนที่เกี่ยวข้องกับบริบทต่างๆ

1. หล่อเลี้ยงบรรดาเยาวชนผู้กระหายประชาธิปไตย เป็นเรื่องของการให้ความช่วยเหลือพวกเขาให้เข้าใจและชื่นชอบคุณค่าของการดำเนินชีวิตในระบบประชาธิปไตยให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ และสามารถที่จะปกป้องประชาชนให้มีส่วนร่วมด้วย (เทียบ Centesimus Annus, ข้อ 46) ขอให้พวกเขามีเสรีภาพในการเลือก ในการกระทำ และในการแสดงออก และช่วงที่อยู่ในมหาวิทยาลัยให้พวกเขาต่อต้านการที่ทุกคนต้องทำอะไรเหมือนกันหมด เพราะนั่นเป็นยาพิษ และต้องสร้างหลักประกันว่าต้องเรียนรู้ถึงความแตกต่างและต้องนำมาปฏิบัติ

2. สอนเยาวชนด้วยว่าความดีงามประโยชน์สุขส่วนรวมจะเกิดขึ้นได้ด้วยความรัก ความดีส่วนรวมไม่สามารถที่จะปกป้องได้ด้วยกำลังทหาร ชุมชนหรือประเทศชาติที่ต้องการทุ่มตัวด้วยการใช้กำลังกระทำเช่นนั้นจะสร้างความเสียหายให้กับชุมชนและชาติอื่น ๆ จะกลายเป็นผู้ก่อให้เกิดความอยุติธรรม ความไม่เท่าเทียมกัน และการใช้ความรุนแรง หนทางแห่งการทำลายนั้นง่ายมาก และจะทำให้เกิดกองขยะมากมาย มีเพียงแค่ความรักเท่านั้นที่จะช่วยครอบครัวมนุษย์ให้รอดได้ พวกเรามีประสบการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดซึ่งอยู่ไม่ไกลจากพวกเรามากนัก

3. อบรมบรรดาเยาวชนให้ใช้อำนาจเพื่อรับใช้ มีความจำเป็นที่ต้อง “อบรมปัจเจกบุคคลซึ่งพร้อมที่จะมอบตนในการรับใช้ชุมชน” (สาส์นส่งเสริม Global Compact on Education, วันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 2019) เราทุกคนจำเป็นต้องทำหน้าที่รับใช้ในครอบครัว ในที่ทำงาน ในชีวิตสังคม การใช้อำนาจไม่ใช่ของง่าย ต้องเป็นการรับใช้ ขอให้พวกเราอย่าลืมว่าพระเจ้าทรงมอบบทบาทอะไรบางอย่างให้พวกเราไม่ใช่เพื่อตัวเราเอง แต่เพื่ออาศัยการกระทำของพวกเราทั้งชุมชนจะได้มีการพัฒนาเจริญเติบโตขึ้น เมื่อมีการใช้อำนาจเกินสิทธิของสังคม ของประชาชน อำนาจจะกลายเป็นอำนาจแบบเบ็ดเสร็จจนในที่สุดแล้วจะเป็นเผด็จการ อำนาจเป็นสิ่งที่ต้องมีสมดุล แต่เป็นสิ่งที่สวยงามที่พวกเราต้องเรียนรู้และสอนบรรดาเยาวชนเพื่อที่พวกเขาจะได้เรียนรู้ว่าจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร

นี่คือสามเส้นทางที่คิดค้นขึ้นมาดังที่พระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 มักจะกล่าวเพื่อเข้าสู่ความศิวิไลซ์แห่งความรัก และเรียกร้องให้ต้องติดตามด้วยความกล้าหาญและความคิดสร้างสรรค์ ดูเหมือนว่าเข้ากันได้ดีกับกรอบแห่ง “ข้อตกลงระดับสากลของการศึกษา – Global Compact on Education” ที่พวกเราริเริ่มกับสมณกระทรวงเพื่อการศึกษาคาทอลิก พ่อใคร่ที่จะถือโอกาสนี้ที่จะเริ่มข้อสัญญา (Pact) นี้และพันธมิตรนี้ ซึ่งมุ่งที่จะรวบรวมทุกคนเข้าไว้ด้วยกันซึ่งเป็นผู้ที่มอบการศึกษาให้กับบรรดาเยาวชน ซึ่งสามารถเป็นเครื่องมือสำหรับการติดตามความดีประโยชน์สุขส่วนรวมระดับโลก ในเหตุการณ์สงครามที่ประเทศยูเครนคุณค่าของข้อตกลงระดับสากลของการศึกษา (Compact on Education) นี้ จะเป็นการส่งเสริมความเป็นพี่น้องสากลของพวกเราในการที่พวกเราเป็นครอบครัวเดียวกันที่มีพื้นฐานอยู่ในความรัก ซึ่งชี้ให้พวกเราเห็นได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น การอธิษฐานภาวนาเพื่อสันติสุขต้องตามมาด้วยการปวารณาด้วยความอดทนที่ต้องมีการศึกษาเพื่อที่เด็กและเยาวชนจะได้พัฒนาการรับรู้ว่าความขัดแย้งไม่อาจที่จะแก้ไขได้ด้วยการใช้ความรุนแรง ไม่สามารถแก้ได้ด้วยการกดขี่ แต่ด้วยการหันหน้าเข้าหากันและเสวนากัน ความขัดแย้งนั้นจะมีอยู่เสมอ ดังนั้นพวกเราต้องสอนบรรดาเยาวชนว่าจะต้องแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกันอย่างไร ไม่ใช่ด้วยการใช้ความรุนแรง แต่โดยอาศัยการอภิปรายกัน การตอบโต้ที่ให้ความเคารพศักดิ์ศรีต่อกันและการเสวนากัน

ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก ขอบคุณสำหรับการทำงานของท่าน พ่อขออวยพรด้วยใจจริงให้ทุกคนและครอบครัวของท่าน สถาบันของท่าน และการงานของท่าน ขอขอบคุณ! ขออวยพรทุกคน และโปรดอย่าลืมภาวนาสำหรับพ่อด้วย ขอขอบคุณ!

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บคำปราศรัยของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและไตร่ตรอง)