Skip to content

ข้อคิดข้อรำพึง สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต ปี C

“พ่อครับ ลูกได้ทำผิดต่อสวรรค์และต่อพ่อ”

ในความทรงจำของ มหาตมะ คานธี บิดาของชนชาติอินเดีย ได้ยอมรับด้วยความสุภาพถ่อมตนและอย่างจริงใจว่า ในขณะที่ท่านอายุ 15 ปี ได้เคยขโมยทองชิ้นเล็กนิดเดียวจากพี่น้องชายของท่าน แต่อีกไม่กี่วันต่อมาท่านรู้สึกผิดมาก จึงตัดสินใจล้างความผิดให้บริสุทธิ์โดยจะไปสารภาพเรื่องนี้ต่อบิดาของท่าน ท่านนำกระดาษมาเขียนเล่าเรื่องและยอมรับผิด และวอนขอบิดาด้วยความจริงใจให้ยกโทษให้ และท่านสัญญาว่าจะไม่ทำผิดเช่นนี้ซ้ำอีก กล่าวโดยสรุป การกลับใจของท่านเกิดขึ้นมาด้วยความจริงใจ และมีจุดประสงค์จะแก้ไขอย่างซื่อสัตย์

เมื่อท่านนำสิ่งที่เขียนเข้าไปในห้องนอนของบิดา พบว่าบิดากำลังป่วยนอนอยู่บนเตียง จึงค่อยๆ ยื่นบันทึกให้บิดาอย่างอายๆ และไม่กล้าพูดอะไร บิดาของเขาลุกขึ้นนั่งและเริ่มอ่านสิ่งที่เขาเขียน ในขณะที่อ่านนั้นมีความรู้สึกได้ถึงความซื่อสัตย์ ความจริงใจ และความกล้าหาญของลูกชายจนน้ำตาไหลออกมา นี่ทำให้ลูกชายก็ร้องไห้ออกมาเช่นกัน แล้วนั้นทั้งพ่อและลูกก็โผเข้ากอดกันเพื่อถ่ายทอดความชื่นชมและความยินดีให้แก่กัน

ประสบการณ์ครั้งนี้ประทับอยู่ในความทรงจำของคานธีอย่างเด่นชัด จนว่าในเวลาต่อมา ท่านเคยพูดว่า “มีแต่เพียงบุคคลที่มีประสบการณ์ของการได้รับอภัยโทษให้ด้วยความรักเท่านั้นแหละ ที่จะทราบว่ามันเป็นอย่างไร” (Fr.James Valladares; Your Words, O Lord, are Spirit, and They are Life –Year C –pp.64-65)

เมื่อนำเรื่องข้างบนนี้มาเปรียบกับเรื่องอุปมาอันเป็นอมตะของพระเยซูเจ้าในเรื่อง “ลูกช่างล้างช่างผลาญ” หรือบางคนก็ใช้ชื่อว่า “บิดาผู้ใจดี” ซึ่งก็แล้วแต่จะเน้นความสำคัญไปที่ใคร ซึ่งเล่าเรื่องลูกคนเล็กที่ขอแบ่งสมบัติจากพ่อ ออกเดินทางไกล แล้วก็ผลาญสมบัติจนหมดสิ้น เมื่อเขาคิดขึ้นได้ จึงกลับมาหาพ่อ แม้ไม่ได้เขียนไว้ในกระดาษเหมือนคานธีหนุ่มที่ยอมรับในความผิดของตน แต่เขาก็นึกเรียบเรียงถ้อยคำไว้ในใจว่า “พ่อครับ ลูกทำบาปผิดต่อสวรรค์และต่อพ่อ ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีก โปรดนับลูกเป็นผู้รับใช้คนหนึ่งของพ่อเถิด”

แต่เขาไม่มีโอกาสพูดจบประโยคที่เตรียมมา พ่อวิ่งออกมาต้อนรับ สวมกอดและจูบ และรับเป็นลูกดังเดิม จัดงานเลี้ยงฉลองให้ด้วย ที่พ่อดีใจมากเพราะ “ลูกของเราผู้นี้ตายไปแล้วกลับมีชีวิตอีก หายไปแล้วได้พบกันอีก”

ดูเถิดครับ ความจริงใจยอมรับผิดของลูก กับความใจดีไม่มีที่สิ้นสุดของบิดา ทำให้เราต้องหยุดคิดและตระหนักถึงชีวิตของเรา เมื่อเราคิดถึงบาปผิดที่ได้กระทำ เราก็ไม่ต่างอะไรจากลูกคนเล็กที่หันหลังให้พระองค์ อยากทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจของเรา แต่เมื่อเราต้องพบกับความโดดเดี่ยวเดียวดายที่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย เราคิดจะกลับใจหรือยัง เราคิดจะกลับมาหาบิดาหรือเปล่า หรือว่าเรายังเอาแต่หยิ่งยโสคิดว่าการหันหลังและเดินจากพระบิดาไปเป็นการประกาศอิสรภาพ แต่หารู้ไม่ว่าการเดินจากพระบิดาทำให้เราเดินเข้าสู่วังวนของการเป็นทาสของปีศาจและความตาย มันจะมีอิสรภาพที่ตรงไหน

กลับใจและกลับมาหาพระเถิดครับ ทำแบบลูกคนเล็กในเรื่องอุปมาก็ยังดี แล้วเราจะได้รับประสบการณ์ที่ฝังแน่นในตัวเราว่าการที่ได้รับอภัยด้วยความรักจากพระเจ้ามันคืออะไร

(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2013)