Skip to content

คำปราศรัยของพระสันตะปาปาฟรานซิส ประทานแด่ที่ประชุมสมัชชาเทววิทยาสากลเกี่ยวกับชีวิตสมณะ

ณ ห้องประชุมเปาโลที่ 6 นครรัฐวาติกัน วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022

เจริญพรมายังพี่น้องที่รักและนับถือ!

        พ่อรู้สึกดีใจที่มีโอกาสมาแบ่งปันการไตร่ตรองกับพวกท่านในบางสิ่งบางอย่างที่พระเยซูคริสต์คริสต์ทรงช่วยเหลือตัวพ่อเองทีละเล็กทีละน้อยให้ไตร่ตรองในช่วงเวลากว่า 50 ปีแห่งการบวชเป็นสมณะของพ่อ ในความทรงจำด้วยความกตัญญูนี้พ่อใคร่ที่จะรวมผู้ที่เจริญชีวิตในสมณภาพ (บาดหลวง) ทุก ๆ คนที่โดยอาศัยการดำเนินชีวิตและการเป็นประจักษ์พยานได้แสดงให้พ่อเห็นตั้งแต่ปีแรกๆ แล้วว่าการไตร่ตรองพระพักตร์ของผู้เลี้ยงแกะที่ดีนั้นหมายความว่าอย่างไร? ในการครุ่นคิดว่าจะนำสิ่งใดมาแบ่งปันเกี่ยวกับชีวิตของบรรดาสมณะในทุกวันนี้ พ่อจึงสรุปว่าสิ่งที่จะนำมาพูดคือการเป็นประจักษ์พยานที่พ่อเองเห็นได้ในชีวิตของสมณะจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สิ่งที่พ่ออยากจะนำมาเสนอในวันนี้เป็นผลแห่งความคิดเกี่ยวกับพวกเขา เป็นการยอมรับและเป็นความชื่นชมนิยมของพ่อในสิ่งที่ทำให้พวกเขาโดดเด่นและทำให้พวกเขามีพลัง ความชื่นชมยินดี และความหวังในพันธกิจแห่งการอภิบาลของพวกเขา

        ในขณะเดียวกันพ่อก็ควรที่จะพูดถึงพี่น้องสมณะเหล่านั้นซึ่งพ่อต้องพยายามเฝ้าติดตามพวกเขาไป เพราะว่าพวกเขาได้สูญเสียเพลิงแห่งความรักแรก และพันธกิจของพวกเขากลายเป็นหมัน และซ้ำซากจำเจอยู่ที่เดิมจนแทบจะไร้ความหมาย ซึ่งมีวาระเวลาและสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตของสมณะทุกคน โดยส่วนตัวแล้วพ่อก็ผ่านวาระเวลาและสถานการณ์ต่างๆ มากมาย และในการ “ส่องสว่าง” โดยการผลักดันของพระจิต พ่อจึงรับรู้อย่างดีได้ว่าในบางสถานการณ์เหล่านั้น ซึ่งรวมถึงเวลาที่ถูกทดลองด้วย ความยุ่งยากซับซ้อนในชีวิตและความว้าเหว่ดูเหมือนพ่อจะรู้สึกว่านั่นเป็นสันติสุขในชีวิตของพ่อ พ่อทราบดีว่าพวกเราอาจพูดกันยืดยาวไม่รู้จบเรื่องของชีวิตสมณะ ทว่าวันนี้พ่อใคร่ที่จะแบ่งปันกับพวกท่านด้วย “อัลบั้มเล่มเล็กๆ” นี้ เพื่อที่สมณะในวันนี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดสามารถมีประสบการณ์กับสันติสุขได้พร้อมกับผลที่พระจิตทรงปรารถนาที่จะประทานให้ อาจเป็นว่าการไตร่ตรองนี้เป็นเพลง “หงส์เหิน – Swan song” แห่งชีวิตสมณะของพ่อก็ว่าได้ แต่วันนี้พ่อใคร่ที่จะแบ่งปันกับท่านว่านี่เป็นผลแห่งการไตร่ตรองของพ่อและนี่ไม่ใช่ทฤษฎีใดๆ ทั้งสิ้น

        ณ เวลาในขณะที่พวกเรามีชีวิตอยู่ ซึ่งเรียกร้องให้พวกเราต้องมีบางสิ่งที่เป็นแก่นสาร ไม่เฉพาะเพียงแค่ประสบการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลง แต่ให้พวกเราต้องยอมรับสถานการณ์โดยการรับรู้ว่าในยุคสมัยของพวกเราเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง – พ่อกล่าวเช่นนี้มาหลายครั้งแล้ว หากพวกเรายังมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับประเด็นนี้ โรคระบาดโควิด-19 ทำให้พวกเราเห็นอย่างชัดเจน อันที่จริงการระบาดของเชื้อไวรัสไม่อาจที่จะจำกัดอยู่เฉพาะเพียงเรื่องยารักษาโรคและการดูแลสุขภาพอนามัย ทว่านั่นเป็นอะไรที่มากไปกว่าโรคหวัดธรรมดา ๆ

        พวกเราสามารถที่จะตอบโต้ในหลายหนทางด้วยกันกับการท้าทายของการเปลี่ยนแปลง ปัญหาอยู่ที่ว่าในขณะที่พฤติกรรมและทัศนคติอาจช่วยได้และเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่ทุกอย่างจะมีกลิ่นไอของพระวรสาร ณ จุดนี้หลักใหญ่ของเรื่องคือ การไตร่ตรองดูว่าการเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมมีกลิ่นไอของพระวรสารหรือไม่ ตัวอย่าง การหาวิธีที่เป็นผลของการกระทำ ซี่งบ่อยครั้งมักจะมีหลักอยู่กับอดีตที่ “ประกัน” การคุ้มครองประเภทหนึ่งจากภัยพิบัติที่คุ้มครองพวกเราในโลกหรือสังคมที่ไม่มีตัวตนอยู่ต่อไปอีกแล้ว (ถ้าหากมีการคุ้มครองดังกล่าว) ราวกับว่าเกาะติดระเบียบที่กำหนดไว้สามารถลบล้างความขัดแย้งที่ประวัติศาสตร์กางไว้ต่อหน้าพวกเรา นี่คือวิกฤตแห่งการก้าวถอยหลังเพื่อที่จะหาการพิทักษ์คุ้มครอง

        ทัศนคติอีกประการหนึ่งอาจเป็นเรื่องของการมองโลกดีจนเกินไป – “ทุกสิ่งทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางไปเอง” – ก้าวไกลจนเกินไปโดยไม่คิดรอบคอบและไม่มีการตัดสินใจเมื่อมีความจำเป็น การมองบโลกสวยนี้จะลงเอยด้วยการไม่คำนึงถึงความเจ็บปวดของการเปลี่ยนแปลงและความล้มเหลวที่จะยอมรับความตึงเครียด ความยุ่งเหยิง และความไม่แน่ไม่นอนของเวลาในปัจจุบัน “การบูชา” ความคิดใหม่ล่าสุดเขาถือว่าเป็นความจริงสูงสุดและละเลยทิ้งปรีชาญาณแห่งอดีตหลายปีที่ผ่านมา

        ทั้งสองวิธีเป็นการหนีชนิดหนึ่ง เหมือนการตอบของลูกจ้างที่เห็นสุนัขป่ากำลังมาแล้วเขาก็วิ่งหนี ไม่ว่าจะวิ่งไปหาอดีตหรือสู่อนาคต ทั้งสองอย่างไม่สามารถที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาแบบบุคคลที่มีวุฒิภาวะได้ ความจริงที่เป็นรูปธรรมแห่งยุคปัจจุบันคือจุดที่พวกเราต้องเผชิญ ยังมีความจริงที่เป็นรูปธรรมในทุกวันนี้

        พ่อชอบที่จะทำการตอบโต้กับสิ่งที่เกิดจากการยอมรับด้วยความมั่นใจในความจริงที่ทอดสมอในขนบธรรมเนียมประเพณีที่ชาญฉลาดและอันทรงชีวิตของพระศาสนจักร ซึ่งสามารถทำให้พวกเราแล่นเรือไปในที่ลึกโดยปราศจากความหวาดกลัว สำหรับหน้าประวัติศาสตร์ในเวลานี้พ่อรู้สึกว่าพระเยซูคริสต์คริสต์ทรงเชื้อเชิญพวกเราอีกครั้งหนึ่งขอให้ “ออกเรือไปในที่ลึก” (เทียบ ลก. 5: 4) โดยไว้วางใจว่าพระองค์เป็นพระเจ้าแห่งประวัติศาสตร์และโดยอาศัยการนำของพระองค์พวกเราจะเลือกทิศทางได้ถูกต้อง ความรอดของพวกเรามิใช่เพียงว่าจะ “ปลอดเชื้อ” เป็นผลิตภัณฑ์จากห้องทดลองหรือเป็นจิตที่ไม่มีตัวตน นี่จะเป็นการล่อลวงของลัทธิไญยนิยม (gnosticism) เสมอ เป็นลัทธิที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน (ขบวนการนอกรีตที่โดดเด่นในพระศาสนจักร ช่วงศตวรรษที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งกำเนิดก่อนคริสต์ศักราช หลักคำสอนทางไญยศาสตร์สอนว่าโลกถูกสร้างขึ้นและปกครองโดยความเป็นพระเจ้าที่น้อยกว่า  และลัทธินี้สอนว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้แทนของความเป็นพระเจ้าสูงสุดที่อยู่ห่างไกล ความรู้อันลี้ลับ -gnosis- ของผู้ที่มาไถ่วิญญาณมนุษย์) การไตร่ตรองพระประสงค์ของพระเจ้าหมายถึงการเรียนรู้ที่มองความจริงด้วยสายพระเนตรของพระเจ้า ซึ่งหมายความว่าพวกเราจะไม่หนีความจริงที่ประชากรของเรากำลังมีประสบการณ์ หรือร้อนอกร้อนใจที่จะหาทางออกที่รวดเร็วและอย่างเงียบๆ ที่ได้มาจากอุดมการณ์แห่งปัจจุบันหรือคำตอบที่จัดทำขึ้นมาล่วงหน้า การกระทำเช่นนี้ไม่มีทางที่จะสามารถจัดการกับเวลาที่ยุ่งยากลำบากและแม้กระทั่งความมืดมนแห่งประวัติศาสตร์ของพวกเราได้ หนทางทั้งสองนี้จะนำพวกเราไปสู่การปฏิเสธ “ประวัติศาสตร์ของพวกเราในฐานะที่เป็นพระศาสนจักรที่มีความรุ่งโรจน์ก็เพราะว่านั่นเป็นประวัติศาสตร์แห่งการบูชา แห่งความหวัง และแห่งการต่อสู้ดิ้นรนประจำวัน แห่งชีวิตที่รับใช้และมีความสัตย์ซื่อต่อการทำงาน” (Evangelii Gaudium, ข้อ 96)

        การท้าทายเหล่านี้ยังมีผลกระทบต่อชีวิตของบรรดาสมณะด้วย อาการที่เห็นอยู่ก็คือวิกฤตของกระแสเรียกที่หลายชุมชนกำลังประสบอยู่ในหลายท้องที่ ทว่าบ่อยครั้งเป็นเพราะการขาดหายจากภายในชุมชนเกี่ยวกับความร้อนรนในการแพร่ธรรมที่เลียนแบบจนกลายเป็นเหมือนโรคติดต่อกัน ซึ่งเป็นผลที่ตามมาว่าพวกเขาไม่มีความกระตือรือร้นและกระแสเรียกไม่เป็นที่น่าสนใจและไม่มีแรงดึงดูด เช่น ชุมชนมีการจัดระเบียบและดำเนินไปด้วยดีแต่ขาดความกระตือรือร้น ทุกสิ่งดูเหมือนว่าเข้าที่เข้าทางดี แต่ว่าขาดเปลวไฟของพระจิต ที่ใดมีชีวิตและความร้อนรนและมีความปรารถนาที่จะนำพระเยซูคริสต์คริสต์ไปสู่ผู้อื่นที่นั่นกระแสเรียกที่แท้จริงก็จะบังเกิดขึ้น ยังมีแม้กระทั่งในวัดที่สมณะไม่ค่อยใส่ใจและไม่มีความชื่นชมยินดี  ชีวิตฉันพี่น้องที่เข้มข้นของชุมชนก็สามารถที่จะปลุกความปรารถนาที่จะมอบชีวิตทั้งสิ้นของตนให้กับพระเจ้าและให้กับการประกาศพระวรสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ชุมชนนั้นอธิษฐานภาวนาอย่างสม่ำเสมอเพื่อกระแสเรียกอีกทั้งมีการสนับสนุนเสนอหนทางแห่งการถวายตนเป็นพิเศษให้กับเยาวชน เมื่อพวกเราเป็นบุคคลประเภททำหน้าที่ประจำวันหรือการอภิบาลที่เขียนไว้ตามตัวอักษร และหากนี่เป็นสิ่งเดียวที่พวกเรากระทำเพียงเท่านั้น นั่นจะไม่ดึงดูดจิตใจผู้ใดเลย ตรงกันข้ามเมื่อสมณะ (คุณพ่อบาดหลวง) หรือชุมชนมีความร้อนรนแห่งศีลล้างบาป นี่จะช่วยดึงดูดกระแสเรียกใหม่ ๆ

        เหนือสิ่งใดชีวิตของสมณะคือประวัติศาสตร์แห่งความรอดของคนหนึ่งที่ได้รับศีลล้างบาป พระคาร์ดินัลโอเล็ท (Ouellet) ได้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างสมณะแห่งศาสนบริกรและสมณะแห่งศีลล้างบาป บางครั้งพวกเราลืมศีลล้างบาป แล้วสมณะแห่งศาสนบริกรก็กลายเป็นเพียงแค่คนที่ทำงานแต่ผู้เดียว แล้วอันตรายของการทำแต่งานก็จะแทรกเข้ามาในชีวิต พวกเราไม่ควรที่จะลืมว่ากระแสเรียกแต่ละประเภทรวมถึงการบวชเป็นสมณะ (บาดหลวง) คือการทำให้ศีลล้างบาปมีความสมบูรณ์ เป็นการเข้าใจผิดอย่างใหญ่ที่จะดำเนินชีวิตฐานะสมณะโดยปราศจากการคำนึงถึงศีลล้างบาป – และก็มีบาดหลวงบางองค์ดำเนินชีวิตแบบ “ปราศจากศีลล้างบาป” – หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ลืมไปว่ากระแสเรียกอันดับแรกของพวกเราคือความศักดิ์สิทธิ์ การเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์หมายถึงการปฏิบัติตนเหมือนกับพระเยซูคริสต์คริสต์ ยอมให้หัวใจของพวกเราเต้นไปด้วยความรู้สึกเดียวกันกับพระเยซูคริสต์คริสต์ (เทียบ ฟป. 2: 15) มีเพียงแค่พวกเราต้องพยายามรักผู้อื่นดุจพระเยซูคริสต์คริสต์เท่านั้นพวกเราจึงจะสามารถทำให้พระเจ้าถูกแลเห็นได้และเดินตามกระแสเรียกสู่ความศักดิ์สิทธิ์ได้ เป็นการถูกต้องที่นักบุญจอห์น พอลที่ 2 เตือนใจพวกเราว่า “สมณะก็เช่นเดียวกับสมาชิกอื่นๆ ของพระศาสนจักรควรที่รับรู้ว่าตนเองก็จำเป็นต้องได้รับการประกาศพระวรสารอยู่เสมอเช่นเดียวกัน” (Pastores Dabo Vobis) [25 มีนาคม 1992], 26)  และเมื่อพระสันตะปาปากล่าวกับบิชอปหรือบาดหลวงบางองค์ว่าพวกเขาต้องได้รับการประกาศพระวรสารพวกเขาจะไม่เข้าใจ นี่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นวิบัติของปัจจุบัน

        กระแสเรียกแต่ละชนิดต้องขึ้นอยู่กับการไตร่ตรองประเภทนี้ กระแสเรียกของพวกเราก่อนอื่นใดหมดเป็นการตอบสนองต่อพระเจ้าผู้ที่ทรงรักพวกเราก่อน (เทียบ 1 ยน. 4: 19) นี่คือบ่อเกิดแห่งความหวังแม้กระทั่งในยามที่เกิดวิกฤต พระเจ้าไม่เคยหยุดที่จะรักพวกเราและเรียกหาพวกเรา เราแต่ละคนสามารถเป็นพยานให้กับเรื่องนี้ได้ วันหนึ่งพระเยซูคริสต์คริสต์ทรงพบเรา ณ ที่พวกเราอยู่และอย่างที่พวกเราเป็นในสิ่งแวดล้อมที่ไม่แน่นอน หรือทรงพบบางสิ่งบางอย่างและในสภาพของครอบครัวที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน พ่อชอบอ่านซ้ำๆ เรื่องประกาศกเอเซเคียล บทที่ 16 และบางครั้งก็มองมาที่ตัวพ่อเอง พระเยซูคริสต์คริสต์ทรงพบพ่อที่นั่น พระองค์พบพ่อในสภาพเช่นนั้น แล้วพระองค์ก็นำพ่อไป แต่นี่ไม่ใช่เป็นการไม่สนับสนุน พระองค์ทรงใช้พวกเราแต่ละคนให้เขียนประวัติศาสตร์แห่งความรอด ซึ่งเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่แรก – พวกเราอาจคิดถึงเปโตร เปาโล และมัทธิว ขอเอ่ยเพียงสองสามชื่อเท่านั้น พระเยซูคริสต์คริสต์ได้เลือกพวกเขา ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาเป็นบุคคลที่สมบูร์ครบครัน แต่เพราะพระองค์ทรงตั้งใจอย่างเป็นรูปธรรมต่อเขาแต่ละคน ในการมองไปยังความเป็นมนุษย์ ประวัติศาสตร์ บุคลิกภาพของพระองค์ เราแต่ละคนควรไตร่ตรองว่า ไม่ใช่การตอบสนองต่อกระแสเรียกเป็นสิ่งที่ชอบธรรมหรือไม่ แต่ต้องถามว่าในมโนธรรมนั้นกระแสเรียกนำแสงสว่างมาสู่พวกเราถึงศักยภาพสำหรับความรักที่พวกเราได้รับในวันที่พวกเราได้รับศีลล้างบาปหรือไม่?

        ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้พวกเราต้องเผชิญหน้ากับหลายคำถามและการล่อลวงหลายอย่างดังที่เกิดขึ้น ในการวิเคราะห์นี้พ่อจะขอพูดเฉพาะสิ่งที่พ่อเห็นว่าเป็นเรื่องล่อแหลมอันตรายกับชีวิตของบรรดาสมณะ นักบุญเปาโลบอกพวกเราว่า “พระเยซูคริสต์คริสต์ทรงทำให้อาคารทุกส่วนติดต่อกันสนิทและเจริญขึ้นเป็นพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ เพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า” (อฟ. 2: 21) การเจริญเติบโตที่มีระเบียบแบบแผนหมายถึงการเจริญเติบโตในความสมานฉัน และการเติบโตในความสมานฉันเป็นสิ่งที่พระจิตเท่านั้นที่จะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ดังที่นักบุญบาซิลกล่าวไว้อย่างสวยงามว่า “พระองค์เองคือองค์แห่งความสมานฉัน” (“Ipse harmonia est”) [Treatise on the Holy Spirit, No. 38) ทุกโครงสร้างหากจะให้ยืนหยัดอยู่ได้จำเป็นต้องมีรากฐานที่มั่นคง ด้วยเหตุนี้พ่อใคร่ที่จะกล่าวถึงทัศนคติที่จะทำนุบำรุงพวกเราในฐานะที่เป็นสมณะไว้ พ่อเชื่อว่าพวกท่านเคยได้ยินทัศนคติเหล่านี้มาแล้ว แต่พ่อจะขอย้ำอีกครั้งหนึ่งที่จะค้ำจุนพวกเราที่เป็นสมณะไว้ พ่อจะพูดถึงเสาหลักสี่ต้นแห่งชีวิตสมณะของพวกเราในฐานะที่เป็น “สี่รูปแบบในความใกล้ชิด” เพราะว่านี่เป็นการเลียนแบบฉบับของพระเจ้าเอง ซึ่งโดยแก่นแล้วคือความใกล้ชิด (เทียบ ฉธบ. 4: 7) พระเจ้าทรงกล่าวเกี่ยวกับพระองค์เองกับประชากรว่า “มีชาติที่ยิ่งใหญ่ใดบ้างที่มีพระเจ้าทรงใกล้ชิดเฉกเช่นที่เรามีต่อท่าน?” ลักษณะของพระเจ้าคือความใกล้ชิด ยังมีสามคำที่เป็นคำจำกัดความในชีวิตของสมณะรวมถึงคริสตชนด้วย เพราะว่านั่นนำมามาจากคุณลักษณะของพระเจ้ากล่าวคือ ความใกล้ชิด ความเมตตา และความอ่อนโยน

        พ่อเคยพูดเรื่องนี้มาแล้วในอดีต แต่วันนี้พ่อใคร่ที่จะอภิปรายเรื่องนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะว่านี่มากกว่าเป็นเพีบงทฤษฎี บรรดาสมณะต้องการเครื่องมือที่เป็นรูปธรรมสำหรับการปฏิบัติพันธกิจในชีวิตประจำวัน นักบุญเปาโลเตือนใจทิโมธีให้จุดประกายของขวัญของพระเจ้าที่เขาได้รับโดยอาศัยการปกมือเหนือศีรษะ ไม่ใช่ด้วยเจตนารมณ์ของความกลัว แต่ของพลัง ความรัก และการควบคุมตนเอง (เทียบ 2 ทธ. 1: 6-7) พ่อมั่นใจว่าเสาหลักทั้งสี่ต้นเหล่านี้อันเป็น “รูปแบบของความใกล้ชิด” ที่พ่อจะกล่าวถึงในขณะนี้จะสามารถช่วยพวกเราได้อย่างแท้จริง เป็นรูปธรรม และเปี่ยมด้วยความหวังในการจุดไฟให้กับของขวัญและผลที่จะตามมาคำมั่นสัญญาที่ครั้งหนึ่งพวกเราเคยให้ไว้ และเพื่อที่พวกเราจะรักษาของขวัญนั้นไว้ให้มีชีวิตชีวา

        ก่อนอื่น ความใกล้ชิดต่อพระเจ้า ในรูปแบบ 4 ประการของความใกล้ชิด ประการแรกคือความใกล้ชิดกับพระเจ้า

1 ความใกล้ชิดกับพระเจ้า

        ความใกล้ชิดกับพระเจ้าหรือต่อพระเจ้าแห่งความใกล้ชิด “เราเป็นเถาองุ่น ท่านเป็นกิ่งก้าน” คำพูดเหล่านี้บันทึกไว้ในพระวรสารของนักบุญจอห์น ท่านพูดเกี่ยวกับ “การคงอยู่” “ผู้ที่ดำรงอยู่ในเราและเราดำรงอยู่ในเขา ก็ย่อมเกิดผลมาก เพราะถ้าไม่มีเราท่านก็จะทำอะไรไม่ได้เลย  ถ้าผู้ใดไม่ดำรงอยู่ในเราก็จะถูกโยนทิ้งไปข้างนอกเหมือนกิ่งก้านแล้วจะเหี่ยวแห้งไป กิ่งก้านเหล่านั้นจะถูกเก็บไปทิ้งในไฟและถูกเผา ถ้าท่านทั้งหลายดำรงอยู่ในเราและวาจาของเราดำรงอยู่ในท่าน ท่านอยากได้สิ่งใด ก็จงขอเถิดแล้วท่านจะได้รับ” (ยน. 15: 5-7)

        บรรดาสมณะที่ได้รับกระแสเรียก เหนือสิ่งใดก็เพื่อที่จะฝึกฝนความใกล้ชิด ความสนิทสนม และความสัมพันธ์กับพระเจ้า แล้วพวกเขาจะสามารถได้รับพลังทุกอย่างที่จำเป็นในการทำพันธกิจของตน อาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ของตัวเรากับพระเจ้าคือสิ่งที่ “ทาบดวงตา” ของพวกเราไว้กับพระองค์และทำให้พวกเราบังเกิดผล ความใกล้ชิดกับพระเยซูคริสต์และการสัมผัสกับพระวาจาของพระองค์ทุกวันจะทำให้ชีวิตของพวกเราละม้ายคล้ายกันกับพระองค์ ทำให้พวกเราเรียนรู้ที่จะไม่เป็นที่สะดุดด้วยพฤติกรรมที่พลาดพลั้งของพวกเรา และจะช่วยพวกเราให้ห่างจากการผิดพลาด เฉกเช่นพระอาจารย์พวกเราเคยมีประสบการณ์กับความชื่นชมยินดี ในงานเลี้ยงสมรส อัศจรรย์ และการเยียวยารักษา การทวีขนมปัง และเวลาที่ได้รับการสรรเสริญ ในขณะเดียวกันพวกเราก็เคยมีประสบการณ์กับความอกตัญญู การถูกปฏิเสธ  ความสงสัย และความโดดเดี่ยว อ้างว้างเปล่าเปลี่ยวอาจถึงขั้นที่ต้องร้องออกมาว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า เหตุใดพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าเล่า?” (มธ. 27: 46)

        ความใกล้ชิดกับพระเยซูคริสต์จะทำให้พวกเราไม่กลัวกับเวลาเหล่านั้น – ไม่ใช่เพราะพวกเราวางใจในพละกำลังของตัวเราเอง  แต่เพราะว่าพวกเราหันหน้าไปหาพระองค์ ยึดมั่นในพระองค์พลางร้องว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดช่วยอย่าให้ข้าพเจ้าแพ้การประจญ โปรดช่วยให้ข้าพเจ้าน้อมรับว่าข้าพเจ้ากำลังเผชิญกับยามวิกฤตในชีวิต และพระองค์ทรงประทับอยู่กับข้าพเจ้า เพื่อที่จะทดสอบความเชื่อและความรักของข้าพเจ้า” (C.M. MARTINI Perseverance in Trials, Reflections on Job, Collegeville, 1996) ความใกล้ชิดกับพระเจ้านี้บางครั้งสามารถเกิดขึ้นในรูปแบบของการดิ้นรนต่อสู้ เป็นการต่อสู้กับพระเจ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่พวกเรารู้สึกว่าพระองค์มิได้ประทับอยู่ในชีวิตของพวกเรา และในชีวิตของบุคคลที่ถูกมอบให้พวกเราเป็นผู้ดูแล อันเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อจนตลอดคืนและท่ามกลางความมืดนั้นพวกเราก็ยังขอการอวยพรของพระองค์ (เทียบ ปฐก. 32: 25-7)       ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตของหลายคนในช่วงแห่งการดิ้นรนต่อสู้นี้ คุณพ่อบาดหลวงท่านหนึ่งที่ทำงานอยู่ในโรมันคูเรีย – เขาเป็นคนหนุ่มและมีงานที่ค่อนข้างยากในการติดตามเรื่องราว – ท่านพูดกับพ่อว่า เขากลับถึงที่พักเหนื่อยทุกวัน แต่เขาพักครู่หนึ่งต่อหน้าพระรูปของแม่พระพร้อมกับสายประคำในมือก่อนที่จะเข้านอน เจ้าหน้าที่ในโรมันคูเรียของวาติกันนี้ต้องการความใกล้ชิดกับพระเจ้า แน่นอนว่าผู้คนในคูเรียบางครั้งจะถูกนินทามาก แต่พ่อก็สามารถที่จะกล่าวพร้อมกับเป็นพยานได้ว่ามีนักบุญในโรมันคูเรียด้วยเหมือนกัน

        วิกฤตหลายอย่างในชีวิตของสมณะเกิดจากชีวิตที่ขาดการสวดภาวนา ขาดความใกล้ชิดกับพระเจ้า ขาดชีวิตฝ่ายจิตที่เหลือเป็นเพียงทำสิ่งต่าง ๆ ไปตามความเคยชิน พ่อใคร่ที่จะเน้นถึงประเด็นนี้แม้ในช่วงของการอบรมผู้เตรียมตัวบวช ชีวิตฝ่ายจิตเป็นเรื่องหนึ่ง และการปฏิบัติศาสนกิจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง “ชีวิตจิตของท่านเป็นอย่างไรบ้าง?” “ดีครับ ผมรำพึงในตอนเช้า ผมสวดสายประคำ  ผมทำวัตร ผมทำทุกอย่าง เปล่าเลย นี่ไม่ใช่การปฏิบัติกิจทางศาสนา แล้วชีวิตฝ่ายจิตของท่านล่ะเป็นอย่างไร? พ่อไม่สามารถที่จะคิดถึงช่วงที่มีความสำคัญในชีวิตของพ่อ ซึ่งความใกล้ชิดกับพระเจ้ามีความสำคัญยิ่งยวดในการทำนุบำรุงพ่อในยามที่พ่อตกอยู่ในความมืด ความใกล้ชิดที่เกิดจากการสวดภาวนา การดำเนินชีวิตฝ่ายจิต ความใกล้ชิดที่เป็นรูปธรรมกับพระเจ้าโดยอาศัยการฟังพระวาจาของพระองค์ การเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท การนมัสการพระองค์ในความเงียบ การมอบตนไว้กับพระแม่มารีย์ การติดตามที่เฉลียวฉลาดของผู้นำทางชีวิต และศีลอภัยบาป… หากปราศจากซึ่ง “รูปแบบแห่งความใกล้ชิด” ที่เป็นรูปธรรมเหล่านี้ ชีวิตสมณะจะเป็นเพียงเหมือนคนที่ถูกเช่ามาให้ทำงาน ที่อ่อนแอและไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการที่เป็นมิตรสหายของพระเยซูคริสต์ ในเขตศาสนปกครองที่เป็นอดีตของพ่อ  พ่อชอบถามบรรดาคุณพ่อว่า ”ช่วยบอกหน่อยสิ” – พวกเขาจะเล่าเรื่องการทำงานทั้งหมดของเขา – “บอกหน่อยสิ ท่านเข้านอนอย่างไร?” พวกเขาไม่เข้าใจคำถาม “ใช่..ใช่.. เวลากลางคืนท่านเข้านอนอย่างไร?” “ผมกลับถึงบ้านพักก็เหนื่อยแล้ว ผมรับประทานอาหารค่ำนิดหน่อยแล้วก็เข้านอน แต่ก่อนจะนอนผมดูโทรทัศน์เล็กน้อย”  “ดีมาก! แต่ท่านไม่ได้หยุดต่อหน้าพระเยซูคริสต์ แล้วอย่างน้อยก็กล่าวราตรีสวัสดิ์กับพระองค์? นี่คือปัญหา ขาดความใกล้ชิด การเหน็ดเหนื่อยจากงานเป็นเรื่องปกติ การนอนและการดูโทรทัศน์ทำได้ไม่ผิดกฎหมาย แต่หากปราศจากพระเยซูคริสต์ ปราศจากความใกล้ชิด? มีการสวดสายประคำ มีการทำวัตร แต่ไม่มีความใกล้ชิดกับพระเยซูคริสต์ การรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องกล่าว ราตรีสวัสดิ์พระเยซูคริสต์จนถึงพรุ่งนี้เช้า ขอบคุณมาก! นี่เป็นสิ่งเล็กน้อยที่แสดงให้เห็นถึงทัศนคติแห่งดวงวิญญาณของคุณพ่อบาดหลวง

        บ่อยครั้งในชีวิตการเป็นสมณะที่สวดภาวนาเพราะทำเพียงแค่เป็นหน้าที่ พวกเราลืมไปว่ามิตรภาพและความรักไม่ได้มาจากการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ แต่ต้องมาจากหัวใจเป็นพื้นฐาน สุดท้ายแล้วสมณะที่สวดภาวนาจะเป็นเพียงแค่คริสตชนที่ชื่นชมนิยมกับของขวัญที่ตนได้รับในศีลล้างบาป ส่วยสมณะที่สวดภาวนาเป็นบุตรซึ่งจดจำเสมอว่าตนเป็นเช่นนั้นและตนมีพระบิดาซึ่งรักเขาอย่างที่สุด สมณะที่สวดภาวนาเป็นบุตรที่รักษาความใกล้ชิดกับพระเยซูคริสต์

        อย่างไรก็ตามไม่มีอะไรที่เป็นของง่าย ๆ นอกจากว่าพวกเราต้องพยายามคุ้นเคยกับการหาเวลาที่เงียบๆ สักครู่หนึ่งตลอดวัน แล้วงดกิจกรรมที่เป็นของมาร์ธา เพื่อที่จะเรียนรู้การเพ่งพิศอย่างเงียบๆ ของมารีย์ พวกเรารู้สึกยากที่จะเลิกกิจกรรมต่าง ๆ และบ่อยครั้งการทำกิจกรรมอาจเป็นหนทางแก้ตัว เพราะหากพวกเราหยุดวิ่งเต้นทำโน่นทำนี่ทันทีพวกเรารู้สึกว่านั่นไม่ใช่สันติสุขแต่เป็นความว่างเปล่าชนิดหนึ่ง และเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความรู้สึกดังกล่าวพวกเราจึงไม่เต็มใจที่จะผ่อนมือลงจากกิจกรรม การทำงานทำให้พวกเราไม่ต้องคิดอะไรมากมาย เพื่อที่พวกเราจะไม่ต้องรู้สึกว้าเหว่ ทว่าในความว้าเหว่ก็เป็นจุดเล็กๆ ที่จะทำให้พวกเราได้พบกับพระเจ้า เมื่อพวกเรายอมรับความว้าเหว่ที่เกิดจากความเงียบแล้ว จากการไร้กิจกรรมและการพูด  พวกเราจะพบกับความกล้าหาญที่จะมองกลับมาที่ตัวเราอย่างจริงใจ ทุกสิ่งจะได้รับแสงสว่างและสันติสุขที่ไม่ได้มาจากพลังหรือความสามารถของตัวเรา พวกเราจำเป็นต้องเรียนรู้ขอให้พระเยซูคริสต์นำการงานของพระองค์ให้สำเร็จลุล่วงไปในตัวเราแต่ละคน และต้อง “ทิ้ง” ทุกสิ่งที่ไม่เป็นความจริง ที่แห้งแล้ง หรือที่ไม่คู่ควรกับกระแสเรียกของพวกเราให้หมดไป  การยืนหยัดมั่นคงในการสวดภาวนาเป็นสิ่งที่มากกว่าการซื่อสัตย์ต่อการปฏิบัติสิ่งต่าง ๆ หมายถึงการไม่วิ่งหนีเมื่อการสวดภาวนาชักนำพวกเราเข้าสู่ทะเลทราย หนทางแห่งทะเลทรายคือหนทางที่นำไปสู่ความใกล้ชิดกับพระเจ้า ขอเพียงว่าพวกเราไม่หนีหนทางนั้นหรือหาทางที่จะหลีกเลี่ยงการพบเช่นนี้ ในทะเลทราย “พวกเราจะพูดอย่างอ่อนโยนกับเธอ” พระเจ้าตรัสกับประชากรของพระองค์โดยทางคำพูดของประกาศกโฮเซอา (ฮซย. 2: 14) นี่เป็นสิ่งที่บรรดาสมณะต้องถามตนเองว่า เขาสามารถที่จะยอมให้ตนถูกนำไปยังทะเลทรายหรือไม่? ผู้นำชีวิตจิตวิญญาณที่ติดตามบรรดาสมณะต้องเข้าใจและช่วยพวกเขาให้ตั้งคำถามนี้ “ท่านสามารถที่จะยอมให้เขาดึงไปสู่ทะเลทรายหรือไม่?  หรือว่าท่านจะเดินตรงไปยังโอเอซิสแห่งโทรทัศน์หรืออะไรอื่น ๆ?”

        ความใกล้ชิดกับพระเจ้าทำให้บรรดาสมณะสามารถสัมผัสบาดแผลในหัวใจของเรา ซึ่งหากเรายอมรับจะถอดเขี้ยวเล็บของเราจนกระทั่งถึงจุดที่ทำให้เป็นไปได้ที่พวกเราจะได้พบกับพระเจ้า คำภาวนาที่เป็นประดุจไฟที่กระตุ้นชีวิตสมณะของเราจะเป็นการวิงวอนให้พวกเราเสียใจและมีจิตใจที่สุภาพ ดังที่พระคัมภีร์ว่าไว้ พระเจ้าจะไม่ทรงดูถูก (เทียบ สดด. 51: 17) “พวกเขาร้องเรียกหาและพระเจ้าก็ทรงรับฟังและช่วยพวกเขาให้พ้นจากความสิ้นหวัง พระเจ้าทรงอยู่ใกล้ชิดกับคนที่อกหัก พระองค์จะทรงช่วยผู้ที่ถูกบดขยี้จนแหลกเหลว” (สดด. 34: 17-18)

        บรรดาสมณะต้องมีหัวใจที่ “ใหญ่” พอที่จะขยายรับความเจ็บปวดของประชาชนที่มอบหมายให้อยู่ในการดูแลของตน ในขณะเดียวกันในฐานะที่เป็นผู้พิทักษ์ก็สามารถที่จะประกาศถึงการหลั่งไหลพระหรรษทานของพระเจ้าที่เผยให้เห็นในความเจ็บปวดเหล่านั้น การยอมรับและแสดงให้เห็นถึงความยากจนของตนในความใกล้ชิดกับพระเจ้าเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะเรียนรู้ทีละเล็กทีละน้อยว่าจะต้องรับความทุกข์ยากลำบากและความเจ็บปวดที่ตนพบประจำวันในการทำพันธกิจของตนอย่างไร เพื่อที่ตนจะได้ละม้ายคล้ายคลึงกับดวงพระทัยของพระเยซูคริสต์  และในทางกลับกันนี่จะเตรียมให้สมณะ (บาดหลวง) สำหรับความใกล้ชิดอีกชนิดหนึ่ง เป็นความใกล้ชิดกับประชากรของพระเจ้า และในความใกล้ชิดกับพระเจ้านั้นสมณะจะพัฒนาให้เจริญขึ้นในความใกล้ชิดกับประชาชนของตนเอง และในความใกล้ชิดกับประชาชน พวกเขาจะมีประสบการณ์ความใกล้ชิดกับพระเจ้า และการใกล้ชิดกับพระเจ้า เพราะว่าเมื่ออัครสาวกสถาปนาดีเคิน (deacons) เปโตรอธิบายบทบาทของพวกเขาว่า “เรา” – บิชอปฐานะประมุขพระศาสนจักร – “จะอุทิศตนให้กับการอธิษฐานภาวนาและพันธกิจแห่งการประกาศพระวาจา” (เทียบ กจ. 6: 4) พูดอีกอย่างหนึ่งคือ หน้าที่แรกของบิชอปคือการอธิษฐานภาวนา และบาดหลวงก็ต้องทำเช่นนี้ด้วย นั่นคือต้องสวดภาวนา

        ในคำพูดของนักบุญยอห์น แบ็ปติสต์ “พระองค์จะต้องทรงยิ่งใหญ่ขึ้น ส่วนข้าพเจ้าจะต้องลดตัวเองลง” (ยน. 3: 30) ความใกล้ชิดกับพระเจ้าทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ทั้งหมด เพราะในการอธิษฐานภาวนาพวกเราทราบดีว่า พวกเรายิ่งใหญ่ในสายพระเนตรของพระองค์ ดังนั้นสำหรับบาดหลวงที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าเป็นการง่ายที่จะเป็นคนต่ำต้อยในสายตาของชาวโลก ในความใกล้ชิดนั้นพวกเราจะไม่หวาดกลัวอีกต่อไปที่จะถูกเปรียบเทียบให้ละม้ายคล้ายกับพระเยซูคริสต์ผู้ถูกตรึงบนไม้กางเขนดังที่เรียกร้องจากพวกเราในพิธีบวชเป็นสมณะ นี่เป็นสิ่งที่สวยงามแต่น่าเสียดายที่พวกเรามักจะลืมสิ่งสำคัญนี้ไป

        บัดนี้ขอให้พวกเราหันไปพิจารณากันถึงรูปแบบที่สองแห่งความใกล้ชิด ซึ่งจะสั้นกว่ารูปแบบแรก

2 ความใกล้ชิดกับบิชอป

        รูปแบบความใกล้ชิดที่สองนี้ถูกตีความมานานแล้วว่าเป็นทางเดินทางเดียว และใช้บ่อยครั้งเหลือเกินแม้กระทั่งทุกวันนี้ การมองเรื่องความนบนอบของพวกเราในพระศาสนจักรแลดูอยู่ในลักษณะไกลปืนเที่ยงจากความหมายของพระวรสาร ความนบนอบไม่ใช่เป็นเรื่องของระเบียบวินัย แต่เป็นเครื่องหมายอันล้ำลึกแห่งสายสัมพันธ์ที่เชื่อมสัมพันธ์ให้พวกเราเป็นหนึ่งเดียวกัน ในกรณีนี้การนบนอบบิชอปหมายถึงการเรียนรู้ที่จะรับฟัง ที่จะจดจำว่าไม่มีผู้ใด “เป็นเจ้าของ” พระประสงค์ของพระเจ้าที่ต้องเข้าใจด้วยการไตร่ตรองเท่านั้น การนอบนอบจึงเป็นการฟังด้วยความตั้งใจต่อพระประสงค์ของพระเจ้า ซึ่งไตร่ตรองแยกแยะได้ในสายสัมพันธ์ ในความสัมพันธ์กับผู้อื่น “ตรรกะภายใน” แห่งความใกล้ชิด – ในกรณีกับบิชอป แม้กับผู้อื่นก็เช่นเดียวกัน – สามารถทำให้พวกเราเอาชนะต่อการล่อลวงทุกอย่างในการปิดกั้นจิตใจของพวกเราเอง การสร้างความชอบธรรมใหกับตนเอง และการดำเนินชีวิตของพวกเราดุจ “คนโสด” เมื่อบาดหลวงปิดกั้นตนเอง พวกเขาจะลงเอยด้วยกลายเป็นแบบ “คนโสด” ด้วยนิสัยใจคอทุกอย่างของ “คนโสด” และนี่เป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย ตรงกันข้ามความใกล้ชิดนี้เชื้อเชิญให้พวกเราฟังผู้อื่นเพื่อที่จะพบกับหนทางที่นำไปสู่ความจริงและชีวิตจริง

        บิชอปไม่ใช่ผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่ใช่นักบริหารและผู้บังคับบัญชา แต่ท่านเป็นบิดาและต้องแสดงความใกล้ชิด บิชอปต้องพยายามมีพฤติอกรรมในทำนองนี้ มิฉะนั้นแล้วท่านจะผลักใสไล่ส่งบาดหลวงผู้ร่วมงานออกไปให้อยู่ห่างไกล หรือท่านจะเข้าใกล้กับผู้ที่มีความทะเยอทะยานเท่านั้น บิชอปไม่ว่าท่านจะเป็นใคร แต่สำหรับบาดหลวงแต่ละองค์และสำหรับพระศาสนจักรแต่ละแห่งท่านต้องเป็นสายสัมพันธ์ที่ช่วยให้มีการไตร่ตรองพระประสงค์ของพระเจ้า พวกเราไม่ควรลืมว่าบิชอปเองยังสามารถเป็นเครื่องมือสำหรับการไตร่ตรองได้อย่างดีก็ต่อเมื่อตัวท่านใส่ใจชีวิตสมณะของท่านเองและของประชากรของพระเจ้าที่มอบให้อยู่ในการดูแลของท่าน ดังที่พ่อเขียนไวในสมณสาส์นเตือนใจความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร (Evangelii Gaudium) “เราจำเป็นต้องใช้ศิลปะในการฟังที่มากไปกว่าการได้ยิน  การฟังในการสื่อสารเป็นการเปิดใจกว้างทำให้สิ่งต่าง ๆ เป็นไปได้จากการปิดกั้นตนเอง ถ้าหากปราศจากจิตใจที่ซื่อสัตย์ต่อกันอย่างแท้จริงแล้วย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้ การฟังช่วยให้พวกเราพบกับท่าทีและคำพูดที่ถูกต้องที่แสดงว่าพวกเราเป็นอะไรที่มากไปกว่าการเป็นคนที่ยืนดูอยู่เฉยๆ โดยอาศัยการฟังพวกเราสามารถเข้าไปสู่หนทางแห่งการพัฒนาที่แท้จริงและทำให้บังเกิดผลสิ่งที่พวกเราหว่านไว้ในชีวิตของพวกเรา” (ข้อ 171)

        นี่ไม่ใช่เหตุบังเอิญที่จะทำลายผลงานของพระศาสนจักร ปิศาจพยายามที่จะทำลายความสัมพันธ์ที่ดำรงและรักษาพวกเราไว้ในความเป็นเอกภาพ เพื่อที่จะปกป้องความสัมพันธ์นี้คุณพ่อบาดหลวงพร้อมกับเขตศาสนปกครอง และสถาบันที่ตนสังกัดและบิชอปจะต้องดำเนินชีวิตอย่างน่าเคารพและวางใจได้ ความนบนอบเป็นการตัดสินใจขั้นพื้นฐานในการยอมรับสิ่งที่ถูกขอร้องจากพวกเรา และเพื่อที่จะปฏิบัติตามดังกล่าวต้องมีเครื่องหมายที่เป็นรูปธรรมที่ศีลศักดิ์สิทธิ์สากลแห่งความรอด ซึ่งได้แก่พระศาสนจักร  ความนบนอบอาจเป็นไปในรูปแบบของการอภิปรายกัน ฟังกันด้วยความตั้งใจ และในบางกรณีก็มีความตึงเครียดด้วยแต่นั่นไม่ใช่การแตกหักกัน นี่จำเป็นเรียกร้องให้บาดหลวงต้องภาวนาสำหรับบิชอป และรู้สึกอิสระที่จะแสดงความคิดเห็นของตนด้วยความเคารพ กล้าหาญ และจริงใจ เช่นเดียวกันเรียกร้องให้บิชอปต้องแสดงความสุภาพ ความสามารถที่จะรับฟังด้วยใจจริง พร้อมที่จะวิจารณ์ตนเอง และยินยอมที่จะได้รับความช่วยเหลือ หากพวกเราสามารถรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ได้ พวกเราจะค่อยๆ ก้าวหน้าในชีวิตสมณะต่อไปอย่างปลอดภัย

        คิดว่านี่เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับความใกล้ชิดกับบิชอป

3 ความใกล้ชิดกับเพื่อนบาดหลวง

        รูปแบบที่สามของความใกล้ชิด ความใกล้ชิดกับพระเจ้า กับบิชอป และกับเพื่อนบาดหลวง บนพื้นฐานแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันกับบิชอป รูปแบบที่สามแห่งความใกล้ชิดจึงเกิดขึ้น นั่นคือความใกล้ชิดแห่งการเป็นพี่น้องกัน พระเยซูคริสต์จะทรงประทับอยู่ไม่ว่าที่ใดที่มีพี่น้องชายหญิงรักกันละกัน “เพราะที่ใดมีสองหรือสามคนรวมตัวกันในพระนามของเรา เราก็ประทับอยู่ที่นั่นกับพวกเขา” (มธ. 8: 20) การเป็นพี่น้องกันก็เช่นเดียวกันกับความนบนอบไม่สามารถที่จะมีการบีบบังคับเชิงจริยธรรมจากภายนอก การเป็นพี่น้องกันหมายถึงการจงใจเลือกเองที่จะติดตามความศักดิ์สิทธิ์ไปด้วยกันกับผู้อื่นมิใช่โดยลำพัง ยังมีภาษิตแอฟริกันอันหนึ่งซึ่งท่านทราบดีกล่าวว่า “หากท่านอยากไปเร็ว ให้ไปคนเดียว หากอยากไปไกล ให้ไปกับผู้อื่น” บางครั้งดูเหมือนว่าพระศาสนจักรนั้นชักช้าซึ่งก็เป็นความจริง แต่พ่อใคร่ที่จะคิดว่านั่นเป็นความชักช้าของผู้ที่เลือกที่จะเดินไปในความเป็นพี่น้องกันพร้อมกับการติดตามผู้ที่แย่ที่สุด แต่ว่าในความเป็นพี่น้องกันเสมอ

        เครื่องหมายของการเป็นพี่น้องกันคือความรัก นักบุญเปาโลในจดหมายฉบับที่หนึ่งถึงชาวโครินธ์ (บทที่ 16) ทำให้พวกเราเห็น “โรดแม็บ” อย่างชัดเจนของความรัก และในความหมายหนึ่งนั้นชี้ให้เห็นถึงเป้าหมายแห่งการเป็นพี่น้องกัน ก่อนสิ่งใดทั้งสิ้นการเรียนรู้จักกับความอดทน ความสามารถที่จะรู้สึกมีความรับผิดชอบต่อผู้อื่น ที่จะช่วยแบกภาระของผู้อื่น ที่จะเป็นทุกข์โดยทางหนึ่งทางใดกับพวกเขา สิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับความอดทนคือการอยู่เฉย ๆ ทิ้งระยะห่างกับผู้อื่นที่พวกเราสร้างขึ้นมา เพื่อที่พวกเราจะไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขา คุณพ่อบาดหลวงหลายองค์ต้องประสบกับความที่ต้องอยู่อย่างโดเดี่ยวและรู้สึกว้าเหว่ พวกเราอาจรู้สึกว่าไม่น่าเห็นใจ อันที่จริงอาจเป็นได้ว่าพวกเราสามารถคาดหวังการพิพากษาจากผู้อื่น ซึ่งมิใช่เป็นสิ่งที่ดีหรือเป็นความสงสารเมตตา คนอื่นดูเหมือนไม่สามารถที่จะชื่นชมยินดีในสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา หรือตัวเราเองก็ไม่สามารถที่จะชื่นชมยินดีเมื่อพวกเราเห็นสิ่งดีๆเกิดขึ้นในชีวิตของผู้อื่น ความไม่สามารถที่จะชื่นชมยินดีในความดีของผู้อื่นนี้ – พ่อต้องการที่จะเน้นในจุดนี้ – นั่นเป็นความอิจฉาที่มีอยู่ในหมู่พวกเรา นั่นเป็นอุปสรรคต่อตำนานแห่งความรัก นั่นไม่เป็นเพียงแค่บาปที่พวกเราต้องไปสารภาพเท่านั้น บาปเป็นผลสุดท้าย ซึ่งเกิดจากทัศนคติของความอิจฉา เป็นความอิจฉาของปิศาจ บาปจึงเข้ามาสู่โลก (เทียบ ปชญ. 2: 24) ความอิจฉาเป็นประตูสู่ความพินาศ พวกเราต้องพูดกันให้ชัดๆเกี่ยวกับประเด็นนี้ ความอิจฉามีอยู่ในหมู่คณะบาดหลวงด้วย ใช่ว่าทุกคนเป็นคนขี้อิจฉาริษยาก็หาไม่ ทว่าการล่อลวงให้มีการอิจฉาอยู่ใกล้ตัวเรานั่นเอง พวกเราต้องระมัดระวัง เพราะเมื่อการอิจฉาจากนั้นการนินทาก็จะตามมา

        เพื่อที่จะรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในชุมชนหรือ “ในกลุ่ม” ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากเพื่อที่จะทำให้ตนเองเป็นที่น่าสนใจของผู้อื่น ไม่จำเป็นหรือจะพูดอีกอย่างว่า เพื่อที่จะอวดโม้ หรือเพื่อที่จะลำพองตนเอง หรือจะให้หนักกว่านั้นเพื่อแสดงความเย่อหยิ่งและความหยาบคายไม่มีความเคารพต่อผู้อื่นหรือเพื่อนบ้าน นอกนั้นยังมีรูปแบบของสมณะ/นักบวชที่ชอบรังแกผู้อื่นด้วย หากมีสิ่งหนึ่งที่บาดหลวงจะนำมาอวดได้ก็คือพระเมตตาของพระเยซูคริสต์ เพราะว่าเมื่อบุคคลหนึ่งรับรู้อย่างดีถึงความบาปความอ่อนแอ และข้อจำกัดของตนเองก็ทราบดีจากประสบการณ์ว่าที่ใดที่มีบาป ที่นั่นต้องมีความรักมากกว่า (เทียบ รม. 5: 20) นี่คือสาส์นแรกที่ไว้ใจได้มากที่สุดที่พระองค์ทรงนำมาให้ บาดหลวงที่เก็บรักษาสิ่งนี้ไว้ในใจจะไม่สามารถอิจฉาผู้อื่นได้

        ความรักฉันพี่น้องไม่ดื้อด้านที่จะทำตามใจตนเอง จะไม่ยอมแพ้ให้กับความโกรธหรือการน้อยอกน้อยใจราวกับว่าพี่น้องหรือเพื่อนบ้านมาหลอกลวงหรือคดโกงเรา ขอให้คิดว่าเมื่อฉันพบกับความหยาบคายของผู้อื่น ฉันจะไม่คิดหรือเก็บเรื่องนั้นไว้ในใจ หรือคิดที่จะเก็บสิ่งนั้นไว้เป็นพื้นฐานในการตัดสินเขาของฉัน หรือบางทีอาจถึงขั้นสะใจในความโชคร้ายของคนที่ทำให้ฉันเป็นทุกข์ ความรักแท้จริงจะชื่นชมในความจริง และจะถือว่านั่นเป็นบาปหนักในการล่วงละเมิดต่อความจริงและศักดิ์ศรีของพี่น้องชายหญิงของพวกเราด้วยการพูดให้ร้ายป้ายสี หรือการเบี่ยงเบนความจริง และการนินทาว่าร้าย นี่เป็นเรื่องน่าเศร้า เมื่อมีการขอข้อมูลเพื่อที่จะแต่งตั้งใครบางคนเป็นบิชอป บ่อยครั้งเราได้รับข้อมูลที่เจือปนด้วยยาพิษเพราะความอิจฉา นี่คืออาการเจ็บป่วยของวงการสมณะ/นักบวช ท่านหลายคนเป็นผู้อบรมในสถานอบรมผู้ที่จะเป็นบาทหลวง/นักบวช พวกท่านผู้ให้การอบรมควรที่จะจดจำประเด็นนี้ไว้

        ในอีกมุมมองหนึ่งพวกท่านก็ไม่ควรปล่อยให้ความรักฉันพี่น้องถูกถือว่าเป็นสวรรค์ ณ แผ่นดิน ต้องเป็นความรู้สึก ความเข้าใจที่น้อยกว่านี้ เพื่อที่จะปลุกความรู้สึกที่อบอุ่นหรือความเห็นที่ไม่เห็นด้วย เราทุกคนต่างทราบกันดีว่าเรื่องนี้ยากแค่ไหนที่จะดำเนินชีวิตในหมู่คณะหรือในหมู่บาดหลวง – ครั้งหนึ่งนักบุญท่านหนึ่งกล่าวว่าการดำเนินชีวิตหมู่คณะเป็นการใช้โทษบาปสำหรับท่าน  แต่ยากแค่ไหนที่ต้องดำเนินชีวิตกับผู้ที่เลือกทีเรียกพรรคพวกว่าพี่น้อง สำหรับความรักฉันพี่น้องนั้นหากว่าพวกเราไม่ทำให้รู้สึกว่าหวานจนเกินไป เปลี่ยนคำจำกัดความเป็นอย่างอื่น หรือไม่สนใจเลย หรืออาจเป็น “การพยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่” ที่พวกเราถูกเรียกร้องให้ต้องนำมาปฏิบัติท่ามกลางสังคมของทุกวันนี้ที่กินทิ้งกินขว้าง พ่อชอบคิดถึงความรักฉันพี่น้องว่าเป็น “โรงยิมแห่งชีวิตฝ่ายจิต” ที่ซึ่งพวกเราสามารถตรวจสอบการเจริญก้าวหน้าของชีวิตเราทุกวัน พร้อมกับตรวจสอบอุณหภูมิในชีวิตฝ่ายจิตของพวกเรา วันนี้คำพยากรณ์แห่งการเป็นพี่น้องกันยังไม่จืดจาง แต่ต้องการการกระตุ้นให้พวกเราต้องรับรู้ถึงข้อจำกัดและการท้าทาย ขอให้พวกเขาได้รับการสัมผัส การท้าทาย ละถูกขับเคลื่อนด้วยพระวาจาของพระเยซูคริสต์ “โดยอาศัยเครื่องหมายนี้ทุกคนจะได้รู้ว่าท่านเป็นศิษย์ของเรา ถ้าท่านรักซึ่งกันและกัน” (ยน.13: 35)

        ความรักฉันพี่น้องสำหรับบรรดาบาทหลวงไม่อาจที่จะจำกัดอยู่เพียงแค่กลุ่มเล็กๆ เท่านั้น แต่จะต้องมีการแสดงออกในความรักด้วยการอภิบาล (เทียบ Pastores Dabo Vobis, ข้อ 23) ที่บันดาลใจให้พวกเราดำเนินชีวิตในความรักนั้นอย่างเป็นรูปธรรมดุจเป็นพันธกิจของพวกเรา พวกเราอาจกล่าวได้ว่า เราจะสามารถรักได้ก็ต่อเมื่อพวกเราเรียนรู้ที่จะแสดงความรักในวิธีที่นักบุญเปาโลว่าไว้ มีแต่ผู้ที่แสวงหาความรักเท่านั้นที่จะดำรงอยู่ในความปลอดภัย ผู้ที่ดำเนินชีวิตอยู่ในความเจ็บป่วยหรือซินโดรมของกาอินโดยเชื่อว่าตนไม่สามารถที่จะรักผู้อื่น เพราะตนเองรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความรักและการยอมรับก็จะลงเอยด้วยการดำเนินชีวิตแบบคนร่อนเร่พเนจรที่อยู่ไม่เป็นสุข ไม่เคยรู้สึกสงบสุขเมื่ออยู่ที่บ้าน และเพราะเหตุนี้นี่เองเขายิ่งจะตกอยู่ในอันตรายที่จะกระทำความชั่วร้าย เขาทำร้ายตนเองและเขาทำร้ายผู้อื่น นี่คือเหตุผลที่เพราะเหตุใดความรักระหว่างหมู่คณะบาดหลวงจึงมีบทบาทของการปกป้องคุ้มครอง คือปกป้องคุ้มครองซึ่งกันและกัน

        พ่อใคร่ที่จะกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าเมื่อมีความเป็นพี่น้องกันของคณะบาดหลวง ความใกล้ชิดกันในหมู่คณะบาดหลวง ความพยายาม และมิตรภาพที่แท้จริง ก็จะมีความเป็นไปได้ที่จะมีประสบการณ์กับความสงบสุขแห่งการถือโสดได้มากยิ่งขึ้น การถือโสด (พรหมจรรย์) เป็นของขวัญที่พระศาสนจักรลาตินสงวนไว้ นี่เป็นของขวัญพิเศษถ้าหากจะดำเนินชีวิตให้เป็นหนทางสู่ความศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกร้องให้ต้องเป็นความสัมพันธ์ที่สะอาดถูกต้อง ที่ตนชื่นชอบ และเป็นความดีแท้จริงซึ่งมีรากลึกอยู่ในพระเยซูคริสต์ หากปราศจากซึ่งมิตรภาพและการสวดภาวนา การถือโสดอาจกลายเป็นภาระที่ทนไม่ไหว และเป็นศัตรูต่อการเป็นประจักษ์พยานต่อความสวยงามแห่งการเป็นสมณะ/นักบวช

        บัดนี้พวกเรามาถึงรูปแบบที่สี่ ซึ่งเป็นแบบสุดท้ายของความใกล้ชิด เป็นความใกล้ชิดกับประชากรศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า ชีวิตของพวกเราจะไปได้สวยงามเมื่อพวกเราได้อ่านธรรมนูญของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 “Lumen Gentium” ข้อ 8 และข้อ 12

ความใกล้ชิดกับประชาชน

        พ่อเน้นบ่อยครั้งว่าความสัมพันธ์ของพวกเรากับประชากรศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญมาก สำหรับเราแต่ละคนนั้นไม่ใช่เป็นหน้าที่ ทว่าเป็นพระหรรษทาน “การรักผู้อื่นเป็นพลังฝ่ายจิตที่ดึงดูดให้พวกเราเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระเจ้า” (Evangelii Gaudium, ข้อ 272) ด้วยเหตุนี้สถานที่ที่เหมาะสมของบรรดาสมณะจึงเป็นการอยู่ท่ามกลางประชาชนแล้วสร้างความใกล้ชิดกับพวกเขา ในสมณสาส์นเตือนใจความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร (Evangelii Gaudium) พ่อเน้นว่า“เพื่อที่จะเป็นผู้ประกาศพระวรสารให้กับดวงวิญญาณ พวกเราจำเป็นต้องพัฒนาชีวิตฝ่ายจิตที่มีความใกล้ชิดกับชีวิตของประชาชน จึงจะพบว่าในการทำเช่นนี้จะเป็นบ่อเกิดแห่งความชื่นชมยินดีที่ใหญ่หลวง การทำพันธกิจครั้งหนึ่งเคยเป็นสิ่งโปรดปรานสำหรับพระเยซูคริสต์และสำหรับประชาชนด้วย เมื่อพวกเรายืนอยู่ต่อพระพักตร์พระเยซูคริสต์ที่ถูกตรึงอยู่บนไม้กางเขน พวกเรามองเห็นถึงความล้ำลึกแห่งความรักของพระองค์ซึ่งอุ้มชูและทำนุบำรุงพวกเรา ในขณะเดียวกัน พวกเราจะเริ่มรับรู้ถึงการเพ่งพิศของพระองค์ที่ลุกเป็นไฟด้วยความรักและขยายครอบคลุมไปถึงประชากรผู้ซื่อสัตย์ทุกคนของพระองค์ โดยมิต้องคำนึงเลยว่าเราขึ้นกับผู้ใด เราไม่สามารถที่จะเข้าใจถึงอัตลักษณ์อันล้ำลึกของเราได้” (ข้อ 268) พวกเราจะได้สัมผัสประสบการณ์เช่นนี้ นอกจากว่าพวกเราเป็นคนตาบอด อัตลักษณ์ของความเป็นสมณะไม่อาจที่จะเข้าใจได้ หากปราศจากซึ่งการสังกัดอยู่ในหมู่ประชากรผู้ศักดิ์สิทธิ์และซื่อสัตย์ในพระเจ้า

        พ่อมั่นใจว่า สำหรับความเข้าใจที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่แห่งอัตลักษณ์ของสมณะ ทุกวันนี้มีความสำคัญที่จะต้องมีส่วนอย่างใกล้ชิดในชีวิตจริงของประชาชน ที่จะเจริญชีวิตเคียงข้างกับพวกเขาโดยไม่เลี่ยงเดินไปในทางอื่น “บางครั้งพวกเราถูกประจญให้เป็นคริสตชนประเภทนั้น ที่อยู่ห่างจากบาดแผลของพระเยซูคริสต์ แต่พระเยซูคริสต์ทรงต้องการที่จะให้พวกเราสัมผัสกับความน่าสงสารในความเป็นมนุษย์ของพระองค์ ที่จะไปสัมผัสกับความเจ็บปวดของผู้อื่น พระองค์หวังว่าพวกเราจะหยุดมองหาที่พักที่พึ่งให้กับภัยอันตรายแห่งความโชคร้ายของมนุษย์แล้วเข้าไปสู่ความจริงแห่งชีวิตของผู้อื่นพร้อมกับเรียนรู้ถึงอำนาจแห่งความเมตตาอันแสนอ่อนโยน เมื่อใดที่พวกเรากระทำดังกล่าวชีวิตของพวกเราจะเป็นดุจอัศจรรย์และพวกเราจะมีประสบการณ์อย่างเข้มข้นว่าการเป็นมนุษย์และการเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์นั้นคืออะไร” (ibid., ข้อ 270) “ประชาชน” มิใช่เป็นประเภทความคิด ทว่าเป็นประเภทตำนาน เพื่อที่จะเข้าใจสิ่งนี้พวกเราต้องเข้าหาประชาชนอย่างที่พวกเราเข้าหาสิ่งอื่นที่เป็นตำนานชีวิต

        ความใกล้ชิดกับประชากรของพระเจ้าเป็นความใกล้ชิดที่มั่งคั่งสมบูรณ์จากความใกล้ชิดของอีกสามรูปแบบนั้นเชื้อเชิญและเรียกร้องว่าพวกเราต้องเลียนแบบ “คุณลักษณะ” ของพระเยซูคริสต์ คุณลักษณะประการหนึ่งนั้นคือความใกล้ชิด การเห็นอกเห็นใจ และความสุภาพอ่อนโยน ซึ่งพวกเราจะต้องไม่ปฏิบัติตนดุจผู้พิพากษาแต่ดุจชาวสะมาเรียผู้ใจดีที่ยอมรับบาดแผลแห่งประชากรของพวกเรา ความทุกข์ยากลำบากที่ดำเนินไปแบบเงียบๆ ของพวกเขา การปฏิเสธตนเอง และการเสียสละจากคุณพ่อคุณแม่มากมายที่สนับสนุนครอบครัวของตน  พวกเรารับทราบเช่นเดียวกันถึงผลร้ายแห่งการใช้ความรุนแรง การคอรัปชั่นฉ้อโกง และความเพิกเฉยที่จะทำให้ผู้คนสิ้นหวัง นั่นเป็นรูปแบบที่ต้องทำให้พวกเราใส่ยาลงบนบาดแผล และประกาศปีแห่งการโปรดปรานของพระเจ้า (เทียบ อสย. 61: 2) เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องระลึกว่าประชากรของพระเจ้าเปี่ยมด้วยความหวังที่จะพบผู้เลี้ยงฝูงแกะในรูปแบบของพระเยซูคริสต์ ไม่ใช่เป็น “สมณะรับจ้าง” หรือไม่เป็น “มืออาชีพผู้สันทัดเรื่องพระเรื่องเจ้า”  ขอให้พวกเรานึกถึงยุคนั้นในประเทศฝรั่งเศสในยุคของเจ้าวัดผู้ศักดิ์สิทธิ์ ท่านเป็นผู้อภิบาลวิญญาณ แต่ก็มี “เมอซิเออร์ ลาบเบ – monsieur l’abbe” เป็นบาดหลวงรับจ้าง วันนี้ก็เช่นเดียวกันประชาชนพากันถามพวกเราว่า การที่จะเป็นผู้เลี้ยงดูแกะของประชาชนและไม่เป็น “มืออาชีพของสิ่งศักดิ์สิทธิ์” เป็นผู้เลี้ยงดูแกะที่เปี่ยมด้วยความเมตตาและความห่วงใย เป็นคนกล้าหาญพร้อมที่จะเข้าใกล้ผู้ที่มีความเจ็บปวด และให้ความช่วยเหลือ  ผู้ใช้ชีวิตแบบเพ่งพิศ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชนจะทำให้พวกเขาสามารถประกาศต่อหน้าบาดแผลแห่งโลกของพวกเราถึงอำนาจแห่งการเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์ที่กำลังทำงานอยู่ในขณะนี้

        เครื่องหมายที่ชัดเจนอย่างหนึ่งเกี่ยวกับประเด็นนี้ก็คือ สังคมแห่ง “เครือข่าย” ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตนเองเป็น “กำพร้า” กำลังเป็นปรากฏการณ์อยู่ในปัจจุบัน แม้จะมีการติดต่อกันกับทุกคนในทุกเรื่อง ทว่าพวกเราก็ยังขาดความรู้สึกว่าพวกเราขาดการสังกัด ซึ่งเป็นสิ่งที่มากไปกว่าการติดต่อกัน ความใกล้ชิดของผู้เลี้ยงแกะ ผู้อภิบาลทำให้เป็นไปได้ที่จะรวบรวมชุมชนและส่งเสริมให้การเจริญเติบโตในจิตสำนึกแห่งการเข้าสังกัด เพราะพวกเราเข้าสังกัดเป็นประชากรที่ศักดิ์สิทธิ์ และซื่อสัตย์ของพระเจ้าที่ถูกเรียกให้เป็นเครื่องหมายของการดึงเอาพระอาณาจักรสวรรค์ของพระเจ้ามายังโลกในเวลานี้แห่งประวัติศาสตร์ หากผู้อภิบาลของประชากรพระเจ้าหลงทางหรือถอนตัวไปบรรดาแกะก็จะกระจัดกระจายตกอยู่ในปากของสุนัขป่า

        ในทางกลับกันจิตสำนึกแห่งการมีสังกัดนี้จะก่อให้เกิดทัศนคติที่จะเบี่ยงเบนกระแสเรียกที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่พวกเราลืมไปว่าชีวิตสมณะนั้นเป็นของคนอื่น – เป็นของพระเจ้าและบุคคลที่พระองค์ทรงมอบให้อยู่ภายใต้การดูแลของพวกเรา การลืมประเด็นนี้อยู่ที่รากแก้วของการเป็นสมณะ/นักบวช – คือสิ่งพระคาร์ดินัลโอเล็ท (Ouellet) กล่าวถึง – พร้อมกับผลที่จะตามมา  ลัทธิสมณะนิยมหรือบรรพชิตนิยม (clericalism) เป็นการบิดเบือนและเป็นเครื่องหมายประการหนึ่งของความแข็งกระด้าง บรรพชิตนิยมเป็นการบิดเบือนเพราะว่าไม่ได้มีพื้นฐานอยู่บนความใกล้ชิด แต่ว่าอยู่บนการห่างเหิน นี่เป็นเรื่องแปลก ไม่ใช่ความใกล้ชิดแต่กลับตรงกันข้าม เมื่อพ่อคิดถึงลัทธิบรรพชิตนิยมของฆราวาส การสร้างกลุ่มอภิสิทธิ์เล็กๆ รอบ ๆ สมณะ ซึ่งมักจะลงเอยด้วยการทรยศต่อการทำพันธกิจที่สำคัญของตนไป (เทียบ Gaudium et Spes, ข้อ 44) กลายเป็นพันธกิจของฆราวาส ฆราวาสหลายคนถูกอุปโลกน์ให้เป็นสมณะ “ฉันขึ้นกับสมาคม ฉันอยู่ที่นั่นในวัด…” การที่ฆราวาส “ถูกยก” ให้เป็นสมณะเป็นการประจญที่ยิ่งใหญ่ ขอให้พวกเราจำไว้ว่า “พันธกิจของการอยู่ในหัวใจของประชาชนไม่ได้เป็นพียงส่วนหนึ่งแห่งชีวิตของพ่อ หรือเป็นป้ายที่พ่อสามารถถอดออกได้ ไม่ใช่เป็น “ส่วนเกิน” หรือเป็นช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ตรงกันข้ามเป็นสิ่งที่พ่อไม่สามารถที่จะขจัดออกไปจากความเป็นสมณะของพ่อได้โดยที่ไม่ได้ทำร้ายตัวพ่อเอง พ่อเป็นพันธกิจในโลกนี้ นี่คือเหตุผลที่เหตุใดพ่อจึงอยู่ในโลกใบนี้ พวกเราต้องถือว่าตัวของเรานั้นได้รับการประทับตราแล้ว กระทั่งมียี่ห้อด้วยพันธกิจแห่งการนำแสงสว่าง พระพร การเยียวยา และการที่ทำให้ทุกคนเป็นไท” (Evangelii Gaudium, ข้อ 273)

        พ่อใคร่ที่จะเชื่อมสัมพันธ์ในความใกล้ชิดกับประชาชนเข้ากับความใกล้ชิดกับพระเจ้า เพราะการอธิษฐานภาวนาของผู้อภิบาลเลี้ยงดูแกะจะถูกหล่อเลี้ยงและก่อให้เกิดการกำเนิดในหัวใจแห่งประชากรของพระเจ้า เมื่อสมณะผู้อภิบาลสวดภาวนา เขาจะมีร่องรอยแห่งความทุกข์ และความชื่นชมยินดีแห่งปะชากรของตน ซึ่งเขามอบถวานแด่พระเจ้าอย่างเงียบๆ เพื่อที่จะได้รับการเจิมด้วยของขวัญของพระจิต นี่คือความหวังของผู้อภิบาลเลี้ยงดูแกะทุกคน ผู้ซึ่งทำงานด้วยความไว้วางใจ และไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อที่พระเจ้าจะได้อวยพรมายังประชากรของตนเอง

        นักบุญอิกญาซีโอสอนว่า “นี่ไม่ใช่เป็นเรื่องของการรู้การเข้าใจมากมาย แต่เป็นการรับรู้และชื่นชอบสิ่งภายในที่ทำให้ดวงวิญญาณเบิกบาน” (Spititual Exercoses, Annotations, ข้อ 2, 4) บิชอปและคุณพ่อบาดหลวงจะก้าวเดินไปด้วยกันได้อย่างสวยงาม หากจะถามว่า “พ่อปฏิบัติสี่รูปแบบแห่งความใกล้ชิดนี้นี้อย่างไร? พ่อดำเนินชีวิตสี่มิตินี้ที่หล่อหลอมหัวใจในการเป็นสมณะของพ่อ และทำให้พ่อสามารถจัดการกับความเครียด และความไม่สมดุลที่เราแต่ละคนมีประสบการณ์อยู่ทุกวี่วันได้อย่างไร?” ทั้งสี่รูปแบบแห่งความใกล้ชิดเหล่านั้นเป็นการฝึกอบรมที่ดีเพื่อ “บทบาทจริงในภาคสนาม” ซึ่งบรรดาสมณะถูกเรียกร้องให้สมณะ ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใดก็ตามจะไม่มีความหวาดกลัวและไม่มีการแข็งกระด้าง ไม่มีการลดหรือทำให้พันธกิจของตนเป็นหมัน

        หัวใจของสมณะจะทราบดีเกี่ยวกับความใกล้ชิด เพราะว่ารูปแบบความใกล้ชิดแรกของเขาเป็นความใกล้ชิดกับพระเจ้า ขอให้พระเยซูคริสต์เสด็จมาเยี่ยมคุณพ่อบาดหลวงในการสวดภาวนาของเขา  ในบิชอปของพวกเขา ในเพื่อน ๆ บาทหลวง และในท่ามกลางประชาสัตบุรุษของเขา ขอให้เขาทำลายงานอันจำเจ ที่ขัดจังหวะชีวิตของพวกเขา และทำให้เขาพูดเหมือนวันแรกที่เขาได้พบรักครั้งแรก – ขอพระเยซูคริสต์นำทางพวกเราให้ได้ใช้สติปัญญาและความสามารถทุกอย่างของเราในการสร้างหลักประกันว่าประชากรของพวกเราจะมีชีวิตและมีชีวิตอย่างสมบูรณ์ (เทียบ ยน. 10: 10) รูปแบบต่างๆ แห่งความใกล้ชิดที่พระเจ้าทรงเรียกร้อง – ใกล้ชิดกับพระเจ้า ใกล้ชิดกับบิชอปใกล้ชิดกับเพื่อนพี่น้องในหมู่คณะบาดหลวง และใกล้ชิดกับประชากรศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า – ไม่ใช่เป็นภาระที่เพิ่มขึ้น ทว่าเป็นของขวัญที่พระองค์ทรงประทานให้พวกเราเพื่อที่จะรักษากระแสเรียกไว้ให้มีชีวิตชีวาและบังเกิดผล หากพวกเราถูกประจญให้ติดกับอยู่กับสุนทรพจน์ที่ไม่รู้จักจบสิ้น การอภิปรายเกี่ยวกับเทววิทยาแห่งชีวิตสมณะ หรือทฤษฎีว่าด้วยชีวิตสมณะควรจะต้องเป็นอย่างไร พระเยซูคริสต์จะเพ่งพิศมายังพวกเราด้วยความเมตตาอันอ่อนโยน พระองค์จะทรงแสดงป้ายชี้หนทางเพื่อที่พวกเราจะได้ชื่นชมยินดีและจุดประกายไฟขึ้นมาใหม่ให้กับความร้อนรนในงานธรรมทูตของพวกเรา อันจะเป็นความใกล้ชิดที่เห็นอกเห็นใจและอ่อนโยน จะเป็นความใกล้ชิดกับพระเจ้า กับบิชอป กับเพื่อนพี่น้องในหมู่คณะ และกับประชากรที่พระองค์มอบให้อยู่ภายใต้การดูแล  นี่เป็นความใกล้ชิดในคุณลักษณะของพระเจ้าเองที่ทรงประทับอยู่ใกล้ชิดกับพวกเราเสมอ และพร้อมด้วยพระเมตตาและความรักอันแสนอ่อนโยน

        พ่อขอขอบคุณสำหรับความใกล้ชิดและความอดทนของพวกท่าน ขอบคุณมาก ขอให้ทุกคนทำงานด้วยความสุข พ่อกำลังจะไปยังห้องสมุดเพราะพ่อมีหลายนัดหมายในเช้านี้ โปรดภาวนาสำหรับพ่อด้วย และพ่อจะภาวนาสำหรับพวกท่าน อีกครั้งหนึ่งขอให้ทุกคนทำงานด้วยความสุขเสมอ

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บคำปราศรัยอันทรงคุณค่าของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและไตร่ตรอง)