Skip to content

ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 2 เทศกาลธรรมดา ปี C

เด็กน้อยคนหนึ่งจัดการเล่นเกมส์ล่าสมบัติขึ้นที่บ้านของเขาในวันคล้ายวันเกิดของตน โดยอาศัยการช่วยเตรียมการอย่างดีจากแม่ของเขา เขาวางแผนให้มีการค่อยๆ แกะรอยปริศนาจากคำที่คล้องจองกัน และจะได้คำตอบที่ต้องติดตามกันต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าใครจะได้ไปถึงจุดหมายสุดท้ายได้ก่อน อันที่จริง เขารู้สึกกลัวว่าเพื่อนๆ ของเขาประมาณสิบกว่าคนที่มาเล่นเกมส์นี้จะสนุกไหม จะเข้าใจคำปริศนาต่างๆ ของเขาและทำให้กระตือรือร้นติดตามต่อไปเรื่อยๆ หรือเปล่า แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาทำให้เขาหมดความกังวล เพราะทุกคนบอกว่าสนุกสนานมาก

พระวรสารของนักบุญยอห์นวางแผนผังการเขียนไว้คล้ายๆ กับชนิดของเกมส์ล่าสมบัติ ท่านเขียนด้วยความตั้งใจอย่างรอบคอบ และบางครั้งจะแทรกร่องรอยแห่งปริศนาให้เราติดตามไปเรื่อยๆ พระวรสารตอนนี้เป็นตอนต้นๆ ที่เปิดเรื่องมาเล่าถึงท่านยอห์น บัปติสต์และบรรดาผู้ติดตามพระเยซูเจ้าช่วงแรก ๆ ท่านบอกเราด้วยว่านี่เป็นเครื่องหมาย(อัศจรรย์) ครั้งแรกของพระเยซูเจ้า เพื่อให้เรารู้ว่าเราอยู่ตรงไหน ท่านจะเล่าถึงเครื่องหมายครั้งที่สองในอีกสองบทต่อไป และต่อจากนั้น เราผู้อ่านพระวรสารของท่านจะต้องใช้ความคิดริเริ่มและจินตนาการของเรา ติดตามร่องรอยแห่งปริศนาไปจนถึงที่สุด

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นวันที่สามหลังจากพบกับนาธานาแอล พระองค์ได้ทรงสัญญากับนาธานาแอลว่า “ท่านจะได้เห็นท้องฟ้าเปิด และจะเห็นบรรดาทูตสวรรค์ของพระเจ้าขึ้นลงรับใช้บุตรแห่งมนุษย์” เหนือสถานที่นั้น นาธานาเอลเป็นคนที่มาจากหมู่บ้านคานาที่มีการจัดงานมงคลสมรสขึ้น แม่พระ พระเยซูเจ้า และบรรดาศิษย์ได้รับเชิญให้ไปในงานนี้ด้วย เมื่อแม่พระทรงทราบว่าเขาไม่มีเหล้าองุ่นแล้ว จึงเข้าไปพูดกับพระเยซูเจ้า แม้พระองค์จะตรัสว่า “เวลาของลูกยังมาไม่ถึง” แต่แม่พระก็บอกให้บรรดาผู้รับใช้ทำตามสิ่งที่พระเยซูเจ้าจะทรงบอกให้พวกเขาทำ พระองค์ทรงสั่งให้พวกเขาเติมน้ำไปให้เต็มโอ่งทั้งหกใบ และตักไปให้แขกกิน น้ำนั้นได้รับการเปลี่ยนแปลงเป็นเหล้าองุ่นชั้นดี นี่เป็นเครื่องหมายแรกที่ทรงกระทำ ดังนั้น บรรดาศิษย์และประชาชนที่เฝ้ามองดูการกระทำของพระองค์อยู่ แม้จะมีความเชื่อเล็กน้อยเพียงใด ก็จะทราบว่าบรรดาทูตสวรค์ของพระเจ้าขึ้นลง ณ สถานที่ที่พระเยซูเจ้าประทับอยู่ เป็นช่วงเวลาที่สวรรค์เปิดออก มีการเปลี่ยนรูปลักษณ์พลังแห่งความรักของพระเจ้าไหลหลั่งลงมาสู่โลกปัจจุบันนี้

คำว่า “เครื่องหมาย” สำหรับท่านยอห์นที่ต้องการชี้ชัดให้ผู้อ่านเข้าใจ คือ ช่วงเวลาเหล่านั้นที่สวรรค์และแผ่นดินมาบรรจบกัน (นั่นเป็นสิ่งที่พวกยิวเชื่อว่าจะเกิดขึ้นเฉพาะในพระวิหาร) จุดสำคัญมันจึงไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นเฉพาะเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นตามธรรมดาสามัญในชีวิตจริงอย่างเดียว แต่เรื่องอะไรก็ตามที่ชี้ออกจากโลกนี้ไปสู่ความเป็นจริงแห่งสวรรค์ ถ้าเราอ่านพระวรสารของท่านทั้งหมด จะรู้สึกได้ถึงสิ่งที่ท่านต้องการอย่างยิ่งที่จะบอกให้เราได้ทราบว่า ด้วยเหตุการณ์เหล่านี้วิถีชีวิตแห่งสวรรค์ได้ลงมายังโลกนี้แล้ว นั่นคือหนึ่งในวลีที่เป็นหัวใจสำคัญของเนื้อหาพระวรสารทั้งหมดของท่านคือ “พระวจนาตถ์ทรงรับเอากาย”

พระวรสารวันนี้ยังเล่าถึงบทบาทของแม่พระ ซึ่งท่านยอห์นได้เล่าไว้เพียงสองครั้งเท่านั้นในพระวรสารของท่าน อีกครั้งหนึ่งคือตอนที่อยู่ที่เชิงกางเขน (บทที่19) น่าสังเกตตอนนี้ ในงานมงคลสมรสที่หมู่บ้านคานาที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสว่า “เวลาของลูกยังมาไม่ถึง” ถ้าเราจะดูไปเรื่อยๆ จากการอ้างถึงเวลาของพระองค์ ที่สุดเราจะพบว่าเวลาของพระองค์มาถึงในขณะที่พระสิริของพระองค์ถูกไขแสดงอย่างเต็มที่เมื่อสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนนั่นเอง งานมงคลสมรสในที่นี้เป็นการชิมลางล่วงหน้าถึงงานเลี้ยงอย่างสง่าและยิ่งใหญ่ในพระอาณาจักรสวรรค์นั่นเอง

พระองค์เสด็จลงมาเพื่อให้ชีวิตของเราเติมเต็มครบสมบูรณ์ (ยน 10.10) เราอาจสวดภาวนาขอพระองค์จากเรื่องพระวรสารของวันนี้ เมื่อเราพบความล้มเหลวและความผิดหวัง อย่าลืมว่าพระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ ให้เราได้ แต่อย่าลืมจดจำและทำตามถ้อยคำของพระแม่มารีย์ไว้ว่า “จงทำตามทุกอย่างที่พระองค์ทรงบอก” ก่อนจบอยากถามว่าท่านสงสัยไหม ทำไมเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ท่านยอห์นบอกว่าเกิดขึ้นในวันที่สาม (ถอดความคิดมาจาก John for Everyone; Tom wright)

((คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดพระกุมารเยซู เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2010))