Skip to content

ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 17 เทศกาลธรรมดา ปี B

"พระองค์ทรงยื่นพระหัตถ์ประทานอาหารให้สิ่งมีชีวิตทั้งมวล"

เด็กชายอายุ 5 ขวบคนหนึ่งติดตามแม่ของเขาไปซื้อของในร้านขายของชำร้านหนึ่ง แม่ของเขาซื้อของเยอะมาก พอมาถึงตรงที่จะจ่ายเงิน เจ้าของร้านเห็นเด็กน้อยน่ารักยืนนิ่งดูแม่กำลังจ่ายเงินก็มีความเอ็นดู และก็เห็นแม่ของหนูน้อยซื้อของเยอะแยะ จึงพูดกับหนูน้อยว่า “อยากได้ขนมบ้างไหมล่ะหนู ไปที่โหลขนมโน่นสิ แล้วหยิบไปให้เต็มกำมือเลย” แต่หนูน้อยยืนนิ่ง ไม่เคลื่อนไหวใดๆ เจ้าของร้านพูดซ้ำอีกที เขาก็ยังเฉย เจ้าของจึงเดินไปที่โหลขนม ล้วงขนมมา 1 กำแล้วยื่นให้เด็กน้อย เขาก็รับไว้ แล้วขอบคุณ พอแม่ลูกเดินออกมาจากร้าน แม่เขาสงสัย จึงถามว่า “ลูก เมื่อกี้ตอนเจ้าของให้ขนมลูก ทำไมลูกไม่ไปหยิบขนมล่ะ ทุกทีลูกไม่เป็นอย่างนี้นี่นา” ลูกตอบว่า “แม่ครับ มือของลูกเล็กมาก ลูกรู้ว่าถ้าเจ้าของเขาใช้มือของเขา ลูกก็จะได้ขนมมากกว่า”

“พระองค์ทรงยื่นพระหัตถ์ประทานอาหารให้สิ่งมีชีวิตทั้งมวลได้กินจนอิ่ม” นี่เป็นถ้อยคำน่าพิศวงของบทสดุดีที่ 145 ประจำวันอาทิตย์นี้ มือและใจของเรามนุษย์นั้นเล็กนัก แต่พระหัตถ์และดวงพระทัยของพระองค์มิอาจวัดได้ เมื่อพระเจ้าทรงให้ พระองค์ก็ทรงให้อย่างมากมายเหลือล้น มิอาจคาดคะเนได้ และหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย การให้อย่างมากมายเช่นนี้คือเนื้อหาสาระที่สำคัญของพระวาจาของพระในบทอ่านที่ 1 และในพระวรสารของวันนี้

การเลี้ยงดูฝูงชนอย่างอัศจรรย์ของประกาศกเอลีชาในบทอ่านแรกอาจจะไม่ค่อยเป็นสิ่งที่รับรู้ในวงกว้างเท่าไร แต่ก็เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นก่อน (prototype) ของการเลี้ยงอย่างอัศจรรย์ในพระวรสาร การเล่าเรื่องการเลี้ยงอย่างอัศจรรย์นี้มีรูปแบบการเล่าเหมือนๆกัน กล่าวคือ

1) อาหารถูกนำมาให้กับประกาศก
2) จำนวนอาหารที่ถูกนำมาถูกระบุจำนวนไว้
3) มีคำโต้แย้งว่าจำนวนเท่านี้จะไม่เพียงพอ
4) ประกาศกไม่สนใจคำโต้แย้งนั้น สั่งให้นำอาหารนั้นไปแจกจ่ายให้ประชาชน
5) ฝูงชนได้กินจนอิ่ม และยังมีอาหารเหลือ

ในการเล่าเรื่องการทวีขนมปังของยอห์น มีรายละเอียดดังนี้

1) เด็กชายเล็กๆ นำอาหารของเขามาให้
2) อาหารนั้นคือขนมปังบาร์เลย์ 5 ก้อนกับปลา 2 ตัว
3) มีผู้ที่แย้งว่าอาหารเพียงเท่านี้จะพออะไรสำหรับคนจำนวนมากมาย
4) พระเยซูเจ้ามิทรงให้ความสนใจต่อคำแย้ง ทรงภาวนาถวายพระพร แล้วทรงสั่งให้นำไปแจกจ่าย
5) คนทั้งหลายได้กินจนอิ่ม และยังเก็บเศษที่เหลือได้ 12 กระบุง

พระวรสารวันนี้ชี้นำเราให้พิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้ง 3 เหตุการณ์ คือเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ประการแรก เรื่องนี้ไม่เพียงทำให้รู้สึกถึงความคล้ายคลึงกับเรื่องการทวีอาหารเลี้ยงคนจำนวนมากของประกาศกเอลีชาที่เกิดขึ้นในอดีตเท่านั้น แต่ยังทำให้ระลึกถึงอัศจรรย์เรื่องมานนาที่พระเจ้าทรงส่งลงมาเลี้ยงดูประชากรอิสราเอลในสมัยของโมเสสอีกด้วย ประการที่สอง การกระทำของพระเยซูเจ้า ที่ทรงขอบพระคุณ และทรงบิขนมปัง เป็นรูปแบบของงานเลี้ยงปัสกา และมาเป็นจริงเป็นจังในความหมายทางด้านศีลมหาสนิทสำหรับชาวเรา เพราะทรงขอบพระคุณและทรงบิออกในทุกๆพิธีบูชามิสซา ประการที่สาม เรื่องเล่านี้เน้นไปที่ว่าประชาชนได้กินจนอิ่ม การได้กินจนอิ่มหนำเช่นนี้เป็นการชิมลางล่วงหน้าของการเลี้ยงครั้งสุดท้ายของพระเมสสิยาห์ในห้วงของเวลาที่สิ้นสุดลง

มีผู้หนึ่งกล่าวว่า “ถ้าพระเจ้าจะเสด็จลงมาในโลกนี้ พระองค์จะทรงลงมาในรูปแบบของขนมปัง” พระเยซูเจ้าทรงเป็นขนมปังที่ทำให้มนุษย์ไม่หิวโหยอีกต่อไป ด้วยพระวาจาของพระองค์ ด้วยกิจการงานของพระองค์ และชีวิตของพระองค์ทั้งหมดดุจดังปังที่ถูกบิ และแจกจ่ายให้ไปแบ่งปันกัน พระเยซูเจ้าทรงท้าทายคริสตชนทุกคนให้กลับกลายเป็นปัง ความเป็นปังของเราอยู่บนความสามารถของเราที่จะให้ออกจากตัวของเราไปยังผู้อื่น เป็นความรักที่สละละตนเองโดยสิ้นเชิง

เด็กน้อยที่ได้มอบขนมปังกับปลาแด่พระเยซูเจ้าเป็นรูปแบบตัวอย่างของเรา เหมือนเด็กน้อยในตอนต้นเรื่องที่รู้ว่ามือของผู้ใหญ่ใหญ่กว่ามือของตน บางทีเด็กน้อยในพระวรสารอาจจะล่วงรู้ได้ว่าพระเยซูเจ้าจะทรงทำอัศจรรย์ ดังนั้น เขาจึงมอบทั้งหมดที่เขามีให้ไปอยู่ในพระหัตถ์ของพระอาจารย์เจ้า แล้วเราแต่ละคนล่ะ เราพร้อมจะมอบทุกสิ่งที่เรามีไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์หรือไม่

ทุกวันนี้ มีมนุษย์จำนวนมากมายเกินไปที่ดำรงชีวิตด้วยมือที่ปิดกั้น มีคนมากมายล้มตายอยู่ตามถนนเพราะความหิวโหย ในขณะที่คนร่ำรวยตายเพราะกินมากเกินไป ของกินของเขามาจากพวกคนที่ต้องทำงานหนักมาก และได้รับค่าแรงที่น้อยเกินเหตุ เราจะรับผิดชอบประการใดต่อความยากจน และความหิวโหย

ให้เราจบด้วยบทภาวนาของนักบุญอิกญาซีโอ แห่งโลโยลา “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงรับเอาอิสรภาพ ความจดจำ ความเข้าใจ และน้ำใจทั้งหมดของผมไปเถิด โปรดทรงรับเอาทุกสิ่งที่ผมเป็นและที่ผมมี ขอเพียงพระองค์ประทานความรักและพระหรรษทานของพระองค์ให้ผม เพราะด้วยสิ่งนี้ ผมก็จะร่ำรวยเพียงพอแล้ว และจะไม่ปรารถนาอะไรมากกว่านี้เลย พระเจ้าข้า”

(คุณพ่อวิชา หิรัญญการ เขียนเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2018
Based on : Sunday Seeds for Daily Deeds, by Francis Gonsalves, S.J.)

ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 17 เทศกาลธรรมดา ปี B

“พระเยซูเจ้าทรงหยิบขนมปังขึ้น ทรงขอบพระคุณพระเจ้า แล้วทรงแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่นั่งอยู่”

พระวรสารของวันนี้เราจะพบว่าเราได้รับการเติมเต็มไปด้วยปังของพระเจ้าซึ่งประทานให้แก่เราโดยพระคริสตเจ้า ด้วยความร่วมมือจากบรรดาอัครสาวก ซึ่งเหนือกว่าอัศจรรย์ของประกาศกเอลีชาในบทอ่านแรก ที่นำเอาขนมปังบาร์เลย์ยี่สิบก้อน เลี้ยงคนเป็นจำนวนร้อยคนเท่านั้น

ในข้อเขียนของนักบุญยอห์นมีรายละเอียดมากมายที่เขียนขึ้นมาด้วยความตั้งใจ ถ้าเราพุ่งความสนใจทั้งหมดติดตามไป เราจะพบความจริงที่น่าพิศวง เพราะร่องรอยต่างๆ ในรายละเอียดของท่านจะชี้นำไปถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ที่เป็นจุดศูนย์กลาง ที่ทำให้เราพบความหมายที่ลึกซึ้งกว่า

เหตุการณ์ในตอนนี้ท่านยอห์นบอกว่าเกิดขึ้นในช่วงเวลาฉลองปัสกาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้า ครั้งแรกเมื่อตอนที่ทรงขับไล่พ่อค้าออกจากพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม (ยน 2:13) และจะมีครั้งที่สามด้วย เวลาที่พระองค์เสด็จไปกรุงเยรูซาเล็มครั้งสุดท้าย

ดังนั้น การอ่านฉากทวีขนมปังเลี้ยงคนมากมายที่ติดตามมาในสถานที่ห่างไกลจากตัวเมือง ท่านยอห์นหวังว่าเราจะเชื่อมโยงความคิดของเรากับการฉลองปัสกาของชาวยิวแต่โบราณ คือช่วงเวลาที่ทรงปลดปล่อยประชากรอิสราเอลให้เป็นอิสระจากอียิปต์ และทรงนำเขาผ่านถิ่นทุรกันดารไปสู่ดินแดนพระสัญญา ท่านจึงนำเสนอเรื่องความจริงที่ว่า พระเจ้าทรงเลี้ยงลูกๆ ชาวอิสราเอลในช่วงที่เดินทางผ่านถิ่นทุรกันดารด้วยปังจากสวรรค์ ตามเรื่องที่เล่าไว้ในหนังสืออพยพบทที่ 16 ซึ่งเรื่องนี้เป็นภูมิหลังที่สำคัญมากของพระวรสารประจำวันอาทิตย์นี้ และที่จริงตลอดทั้งบทที่ 6 ของนักบุญยอห์นเลย

เรื่องการทวีขนมปังเลี้ยงประชาชนจำนวนมากนี้ เป็นอัศจรรย์ที่มีความสำคัญมาก ผู้นิพนธ์พระวรสารทั้ง 4 ท่าน ต่างก็เล่าเรื่องนี้ ครั้งแรกที่ทุกคนเล่าเหมือนกันคือ เลี้ยงคนราวห้าพันคน (มธ 14 :13-21; มก 6 :30-34; ลก 9 :10-17; ยน 6 : 1-15) และยังมีผู้นิพนธ์พระวรสารอีก 2 ท่านที่รายงานว่าพระองค์ทรงทวีขนมปังครั้งที่สอง เลี้ยงคนประมาณสี่พันคน (มธ 15 :32-39 และ มก 8 :1-10) นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าทรงทวีขนมปังแต่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นนักบุญมัทธิว และนักบุญมาระโก ก็ยังคงรายงานตามธรรมประเพณีที่แตกต่างกันวางไว้เคียงข้างกันเช่นนั้นต่อไป เราอาจตีความหมายทางเทววิทยาได้ว่า เนื่องจากศีลมหาสนิท(การทวีขนมปังเป็นรูปแบบที่มีมาก่อน เพื่อบ่งชี้ถึงศีลมหาสนิท)คืออาหาร เราก็ต้องรับประทานมากกว่าหนึ่งครั้ง เหมือนกับที่เรารับประทานอาหารบ่อยๆ พร้อมๆ กับการเจริญเติบโตของเรา

อากัปกิริยาของการทวีขนมปังของพระเยซูเจ้า สอดคล้องกับการที่พระสงฆ์เสกปังให้เป็นพระวรกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า (= ศีลมหาสนิท) กล่าวคือ “พระเยซูเจ้าทรงหยิบขนมปังขึ้น ทรงขอบพระคุณพระเจ้า แล้วทรงแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่นั่งอยู่” แม้จะไม่มีรายละเอียดในตอนนี้เท่ากับของผู้นิพนธ์พระวรสารคนอื่นๆ แต่ตอนที่ต่อจากนี้ไปท่านยอห์นก็ร่ายยาวเกี่ยวกับเรื่องที่พระเยซูเจ้าทรงตั้งใจสั่งสอนประชาชนว่าพระองค์คือปังทรงชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์เพื่อให้ผู้ที่กินมีชีวิตนิรันดร (ยน 6 :25-71)

พี่น้องครับ อาทิตย์นี้ค่อนข้างเขียนเป็นวิชาการมากไปหน่อย และไม่มีตัวอย่างให้ชวนอ่านด้วย แต่อยากให้มีความเข้าใจในเรื่องศีลมหาสนิทให้ลึกซึ้ง อยากให้เห็นภูมิหลังในมิติต่างๆ ของเรื่องนี้ เพื่อความเข้าใจที่ถ่องแท้ และเพื่อที่จะได้รับพระเยซูเจ้าบ่อยมากขึ้น ด้วยความรักอย่างที่สุด

( คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2012
Based on : John for Everyone, Part One ; by : Tom Wright )