สาส์น ปี 2021 ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสสำหรับวันรำลึกถึงผู้สูงอายุสากล ครั้งแรก
วันอาทิตย์ 25 กรกฎาคม 2021
“เราประทับอยู่กับท่านเสมอ” (มธ. 28:20)
เจริญพรมายังบรรดาผู้สูงอายุที่รักทุกคน
“เราประทับอยู่กับท่านเสมอ” (มธ. 28: 20) นี่เป็นคำสัญญาที่พระเยซูคริสต์ทรงมอบให้กับบรรดาศิษย์ก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นสวรรค์ นี่เป็นคำพูดที่พระองค์ทรงกล่าวย้ำกับท่านทั้งหลายในวันนี้ ปู่ย่าตายายและผู้สูงอายุที่เคารพรัก “เราประทับอยู่กับท่านเสมอ” ยังเป็นคำพูดที่ตัวข้าพเจ้าเองในฐานะที่เป็นบิชอปแห่งกรุงโรม ก็เป็นผู้สูงอายุเหมือนท่านทั้งหลาย ผู้ที่กำลังพูดกับพวกท่านในวันผู้สูงอายุสากลครั้งแรกนี้ พระศาสนจักรทั้งมวลอยู่ใกล้ชิดท่านทั้งหลาย ใกล้ชิดกับพวกเราทุกคน ใส่ใจในพวกท่าน รักพวกท่าน และไม่ต้องการที่จะปล่อยให้พวกท่านต้องอยู่ตามลำพังและโดดเดี่ยว
ข้าพเจ้ารับรู้อย่างดีว่า สาส์นฉบับนี้มาถึงพวกท่านในเวลาที่กำลังเผชิญความทุกข์ยากลำบาก การแพร่เชื้อโรคระบาดมีผลกระทบกับพวกเราเหมือนพายุร้ายที่พวกเราไม่ได้คาดคิด นี่เป็นเวลาที่พวกเราทุกคนต้องทุกข์ยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ หลายคนต้องล้มป่วย หลายคนต้องลาจากโลกนี้ไป สูญเสีญคู่ชีวิตหรือบุคคลที่ตนรักไป ส่วนคนอีกจำนวนมากต้องมีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นเวลาเนิ่นนาน
พระเยซูคริสต์ทรงรับรู้อย่างดีถึงเรื่องเหล่านี้ทั้งสิ้นที่พวกเราต้องเผชิญในเวลานี้ พระองค์ประทับอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่รู้สึกว่าตนเองอยู่อย่างสันโดษ และรู้สึกว่าสิ่งนี้ทวีความรุนแรงยิ่งกว่าโรคระบาดเสียอีก ธรรมประเพณีมีอยู่ว่านักบุญโยอากิม ปู่ของพระเยซูคริสต์รู้สึกหดหู่ไม่สบายใจกับผู้คนที่อยู่รอบข้างเพราะพวกเขาไม่มีบุตร ภรรยาของพวกเขาก็เหมือนกับอันนาที่ถือว่าไร้ประโยชน์ ดังนั้นพระเจ้าจึงส่งทูตสวรรค์มาบรรเทาใจพวกเขา ในขณะที่ท่านโยอากิมกำลังเดินเล่นด้วยความเศร้านอกประตูเมือง ทูตสวรรค์ของพระเจ้าปรากฏองค์มาหาท่านพร้อมกับกล่าวว่า “โยอากิม โยอากิม พระเจ้าทรงรับฟังคำภาวนาอย่างสม่ำเสมอของท่าน” [1] ศิลปินจ็อดโต้ (Giotto) ในภาพวาดภาพผนังอันลือชื่อของเขาภาพหนึ่ง [2] ดูเหมือนจะวาดภาพให้ฉากเป็นเวลากลางคืน เป็นหนึ่งคืนที่เขานอนไม่หลับ ซึ่งหัวของเขาเต็มไปด้วยความทรงจำ ความกังวลใจ และความอยากได้โน่นได้นี่ ซึ่งพวกเราก็มักจะเคยมีประสบการณ์
แม้ในยามที่มืดมนที่สุดเฉกเช่นในหลายเดือนที่เกิดการแพร่เชื้อโรคระบาด พระเจ้าก็ยังคงส่งทูตสวรรค์มาบรรเทาความเหงาของพวกเราและเตือนสติพวกเราว่า “เราประทับอยู่กับท่านเสมอ” พระองค์ตรัสเช่นนี้กับท่านทั้งหลายและกับข้าพเจ้า นั่นคือความหมายของวันนี้ที่ข้าพเจ้าต้องการทำการเฉลิมฉลองเป็นครั้งแรกในปีนี้ ในขณะที่การอยู่อย่างสันโดษอันยาวนานและชีวิตสังคมค่อยๆ ย้อนกลับคืนมา ขอให้บรรดาคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย และผู้สูงอายุทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องอยู่อย่างสันโดษจงได้รับการเยือนจากทูตสวรรค์
บางครั้งทูตสวรรค์เหล่านั้นมีใบหน้าของลูกหลานของพวกเรา บางครั้งก็เหมือนใบหน้าของสมาชิกในครอบครัว ของเพื่อนสนิท หรือผู้ที่พวกเรารู้จักในยามที่พวกเรากำลังถูกทดลองใจ เมื่อพวกเรารับรู้ว่าการสวมกอดและการเยี่ยมเยียนกันนั้นมีความสำคัญเพียงใด และทำให้ข้าพเจ้าเสียใจเพียงใดที่เรื่องเหล่านี้ยังคงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ทว่าพระเจ้าก็ยังคงส่งทูตสวรรค์ของพระองค์มายังพวกเราโดยอาศัยพระวาจาของพระองค์ที่อยู่ใกล้ตัวพวกเราเสมอ ขอให้พวกเราอ่านพระวรสารทุกวัน สวดบทเพลงสดุดี อ่านข้อเขียนของบรรดาประกาศก พวกเราจะได้รับความบรรเทาจากความซื่อสัตย์ของพระเจ้า พระคัมภีร์ยังจะช่วยให้พวกเราเข้าใจถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงมีพระประสงค์สิ่งใดจากพวกเราในวันนี้ (เทียบ มธ. 20: 1-16) และในทุกช่วงเวลาแห่งชีวิตของพวกเรา พระองค์ยังคงส่งคนงานไปยังไร่องุ่นของพระองค์ ข้าพเจ้าถูกเรียกให้เป็นบิชอปแห่งกรุงโรม อาจกล่าวได้ว่าข้าพเจ้ามีอายุถึงขั้นที่ต้องเกษียณแล้ว และข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าจะไม่ทำสิ่งใดใหม่ พระเจ้าประทับอยู่ใกล้ชิดพวกเราเสมอ พระองค์ประทับอยู่ใกล้ชิดพวกเราพร้อมกับความเป็นไปได้ใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ ความบรรเทาใจใหม่ๆ อย่างมากมาย ขอให้มั่นใจพระองค์ทรงอยู่ใกล้ชิดพวกเราเสมอ ท่านทั้งหลายทราบดีว่าพระเจ้าทรงเป็นนิรันดร์ พระองค์ไม่เคยที่จะปลดเกษียณ
ในพระวรสารโดยนักบุญมัทธิวพระเยซูคริสต์ตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “เพราะฉะนั้นจงไปทำให้ทุกคนทุกชาติทุกภาษาเป็นศิษย์ของเรา จงล้างบาปพวกเขา ในพระนามพระบิดา พระบุตร และพระจิต จงสอนเขาให้ปฏิบัติตามทุกสิ่งที่เราสอนท่าน” (มธ. 28: 19-20) คำพูดเหล่านี้ยังเป็นการกล่าวกับพวกเราในทุกวันนี้ด้วย นี่จะช่วยให้พวกเราเข้าใจกระแสเรียกของพวกเราได้ดีขึ้น ขอให้พวกเรารักษารากเหง้าของพวกเราไว้ ขอให้พวกเราถ่ายทอดความเชื่อไปยังชนรุ่นหลัง และขอให้เอาใส่ดูแลคนที่ต่ำต้อย ขอให้คิดเรื่องนี้ให้ดี ๆ กระแสเรียกของพวกเราวันนี้ คือสิ่งใดในยุคสมัยของพวกเรา? เพื่อที่จะรักษารากเหง้าของพวกเราไว้ เพื่อที่จะถ่ายทอดความเชื่อต่อไปยังชนรุ่นหลัง เพื่อที่จะเอาใจใส่ดูแลคนที่ต่ำต้อย จงอย่าได้ลืมสิ่งเหล่านี้
ข้าพเจ้าขอย้ำว่าไม่สำคัญว่าพวกท่านจะมีอายุเท่าไร พวกท่านกำลังมีงานทำหรือตกงาน พวกท่านอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพังหรือมีครอบครัว พวกท่านเป็นปู่ย่าตายายตั้งแต่อายุยังน้อยหรืออายุมากแล้ว พวกท่านจะยังช่วยตัวเองได้หรือต้องมีคนคอยให้ความช่วยเหลือ เพราะว่าชีวิตไม่มีการเกษียณจากการทำงานในการประกาศพระวรสารและถ่ายทอดธรรมประเพณีต่อไปยังลูกหลาน พวกท่านจำเป็นต้องออกไปแล้วทำสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นของใหม่
ในเวลาแบบหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งประวัติศาสตร์พวกท่านมีกระแสเรียกที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่ ท่านอาจแปลกใจ นี่จะเป็นไปได้อย่างไร? พลังวังชาของฉันลดน้อยลงไปทุกวัน ฉันคิดว่าคงจะทำอะไรไม่ได้มาก ฉันจะทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมได้อย่างไรในเมื่อนิสัยคือส่วนหนึ่งในชีวิตของฉัน? ฉันจะอุทิศตนให้กับคนยากจนได้อย่างไรเมื่อความกังวลใจกับครอบครัวของฉันก็มีมากพออยู่แล้ว? ฉันจะขยายวิสัยทัศน์ได้อย่างไรเมื่อฉันไม่สามารถที่จะออกไปนอกบ้านที่ฉันอาศัยอยู่? การอยู่อย่างโดดเดี่ยวของฉันก็เป็นภาระที่หนักพอสำหรับตัวฉันแล้วมิใช่หรือ? มีใครสักกี่คนในหมู่พวกท่านที่ถามสันตะปาปาว่า ความสันโดษของฉันไม่ใช่เป็นภาระที่หนักพอแล้วหรือ? พระเยซูคริสต์ได้ยินคำถามที่คล้ายกันกับคำถามของนิโคเดมุสที่ทูลถามว่า “คนเราจะเกิดใหม่ได้อย่างไรเมื่อเขาชราแล้ว?” (ยน. 3: 4) พระเยซูคริสต์ตรัสตอบว่า ใช่แล้ว เป็นไปได้หากพวกเราเปิดใจกว้างสู่การทำงานของพระจิตซึ่งจะพัดไปในที่ซึ่งพระองค์ทรงมีพระประสงค์ พระจิตผู้เปี่ยมด้วยเสรีภาพของพระองค์ทรงไปทั่วทุกแห่งและทรงกระทำทุกอย่างที่พระองค์ทรงพอพระทัย
ดังที่ข้าพเจ้าตั้งข้อสังเกตไว้บ่อยๆ พวกเราจะไม่หลุดพ้นไปจากวิกฤตินี้ แล้วเป็นดังที่พวกเราเคยเป็น แต่ชีวิตจะต้องดีกว่าหรืออาจเลวกว่า และขอพระเจ้าได้โปรด… นี่อาจเป็นการพิสูจน์อย่างใหม่เพียงแค่จะเป็นวิบากกรรมอีกครั้งหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์เท่านั้นซึ่งพวกเราอาจจะไม่ได้เรียนรู้สิ่งใดเลย… หากพวกเราจะจดจำเพียงแค่ผู้เฒ่าเหล่านั้นที่เสียชีวิตไปเพราะขาดเครื่องช่วยหายใจ… หากความทุกข์มหันต์นั้นจะไร้ซึ่งประโยชน์ แต่สามารถทำให้พวกเราก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่ง ซึ่งเป็นรูปแบบชีวิตใหม่ หากพวกเราเพียงได้ค้นพบว่าพวกเราจำเป็นต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ซึ่งด้วยหนทางนี้ครอบครัวมนุษย์จึงจะสามารถเกิดขึ้นใหม่ได้” (สมณสาส์นเวียน เราต่างเป็นพี่น้องกัน- Fratelli Tutti, ข้อ 35) ไม่มีผู้ใดจะเอาตัวรอดได้เพียงลำพังคนเดียว พวกเราทุกคนต่างเป็นหนี้ชีวิตต่อกันและกัน พวกเราทุกคนต่างเป็นพี่เป็นน้องกัน
ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะบอกพวกท่านว่าจำเป็นต้องมีพวกท่านเพื่อที่จะสร้างโลกแห่งอนาคตในภราดรภาพและมิตรภาพสังคม ต้องเป็นโลกที่พวกเราพร้อมใจกันกับลูกหลานเหลนของพวกเราจะดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปเมื่อพายุมันสงบลง พวกเราทุกคนต้อง “มีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในการฟื้นฟูและสนับสนุนสังคมที่มีปัญหาของพวกเรา” (Ibid, ข้อ 77) ในบรรดาเสาหลักที่ค้ำอาคารใหม่นี้ต้องมีเสาหลักสามต้นด้วยกัน ซึ่งพวกท่านจะสามารถช่วยกันสร้างได้ดีกว่าผู้อื่น เสาหลักสามต้นนี้ได้แก่ ความฝัน ความทรงจำ และการสวดภาวนาพระเยซูคริสต์ผู้ประทับอยู่ใกล้ชิดพวกท่านจะประทานให้ทุกคนแม้ผู้ที่อ่อนแอเปราะบางที่สุด ซึ่งพลังอันเป็นสิ่งจำเป็นที่จะเริ่มออกเดินทางใหม่ไปตามเส้นทางแห่งความฝัน ความทรงจำ และการสวดภาวนา
ประกาศกโจเอลครั้งหนึ่งสัญญาว่า “คนเฒ่าคนแก่ของท่านจะมีความฝันแล้วคนหนุ่มสาวของท่านจะมีวิสัยทัศน์” (ยอล. 3: 1) อนาคตของโลกขึ้นอยู่กับพันธสัญญาระหว่างคนหนุ่มสาวกับคนเฒ่าชรา ซึ่งคนหนุ่มสาวจะนำเอาความฝันของคนชรามาเป็นวิสัยทัศน์และทำให้เป็นจริง แต่เพื่อให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ จำเป็นที่พวกเราจะต้องวาดความฝันต่อไป พวกเราต้องฝันถึงความยุติธรรม สันติสุข และความเอื้ออาทร สามารถที่จะทำให้ทุกสิ่งเป็นไปได้ที่คนหนุ่มสาวจะมีวิสัยทัศน์ใหม่ โดยอาศัยวิธีนี้และพร้อมใจกันพวกเราสามารถที่จะสร้างอนาคตได้ พวกท่านจำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าสิ่งนี้เป็นไปได้ที่จะมีการฟื้นฟูขึ้นใหม่จากประสบการณ์แห่งความทุกข์ยากลำบาก ข้าพเจ้ามั่นใจว่า พวกท่านมีประสบการณ์กับสิ่งนี้หลายครั้ง ในชีวิตของพวกท่าน พวกท่านแต่ละบุคคลต่างก็พบกับปัญหามากมายแล้ว ซึ่งพวกท่านก็สามารถที่เอาชนะมันได้ จงใช้ประสบการณ์เหล่านั้นที่จะเอาชนะครั้งนี้อีกครั้งหนึ่ง
ความฝันจึงมีการเชื่อมสัมพันธ์กับความทรงจำ ข้าพเจ้านึกถึงความทรงจำอันเจ็บปวดแห่งสงครามและความสำคัญที่ต้องช่วยบรรดาเยาวชนให้เรียนรู้ถึงคุณค่าแห่งสันติภาพ ใครในพวกท่านที่มีประสบการณ์กับความทุกข์ในยามสงครามต้องเล่าให้ผู้อื่นฟัง การรักษาความทรงจำให้มีชีวิตชีวาไว้ ซึ่งเป็นพันธกิจที่แท้จริงสำหรับผู้สูงอายุทุกคน รักษาความทรงจำไว้เพื่อที่จะแบ่งปันกับผู้อื่น เอดิธ บรุค (Edith Bruck) ซึ่งรอดตายจากความหฤโหดแห่งโชอาห์ (Shoah) กล่าวว่า “เพียงแค่ให้ความสว่างในมโนธรรมแก่ใครสักคนหนึ่งก็มีคุณค่ายิ่งกว่าความพยายามที่เก็บความทรงจำอันแสนเจ็บปวดที่จะทำให้ความทรงจำนั้นมีชีวิตชีวาสียอีก” เธอกล่าวต่อไปว่า “สำหรับตัวฉันแล้ว ความทรงจำคือชีวิต” [3] ข้าพเจ้าเองก็คิดถึงคุณตาคุณยายของข้าพเจ้า และใครบางคนในพวกท่านที่อพยพและทราบกันดีว่า นี่เป็นสิ่งยากลำบากเพียงใดไหนในการที่ต้องละทิ้งสิ่งต่างๆ ไว้เบื้องหลังเฉกเช่นที่หลายคนกำลังเผชิญกันอยู่ในทุกวันนี้โดยหวังที่จะมีอนาคตที่ดีกว่า บางคนอาจจะอยู่ข้างพวกเราในขณะนี้ที่กำลังเอาใจใส่ดูแลพวกเรา ความทรงจำเหล่านี้สามารถช่วยสร้างโลกที่ให้การต้อนรับและที่มีความเป็นมนุษย์มากกว่า แต่หากจะปราศจากซึ่งความทรงจำ พวกเราจะไม่สามารถสร้างสรรสิ่งใหม่ขึ้นมาได้ หากปราศจากเสาเข็มพวกเราไม่สามารถที่จะสร้างบ้านได้ และเสาเข็มแห่งชีวิตนั่นก็คือความทรงจำ
สุดท้ายการสวดภาวนา ดังที่สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ซึ่งพระองค์เองก็เป็นผู้สูงอายุด้วย พระองค์ยังคงอธิษฐานภาวนาและทำงานเพื่อพระศาสนจักรต่อไป ครั้งหนึ่งตรัสว่า “การอธิษฐานภาวนาของผู้สูงอายุสามารถคุ้มครองโลกได้ บางที่อาจช่วยได้โดยมีประสิทธิภาพมากกว่าการที่ทำงานกันอย่างบ้าคลั่งของหลายคน” [4] พระองค์ตรัสคำเหล่านี้ในปี 2012 เมื่อใกล้สิ้นสุดสมณสมัยของพระองค์ ณ จุดนี้นี้มีบางสิ่งที่สวยสดงดงามมาก คำภาวนาของพวกท่านเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามาก อันเป็นลมหายใจยาวที่พระศาสนจักรและโลกต้องการอย่างเร่งด่วน (เทียบสมณสาส์นเตือนใจความปีติยินดีแห่งพระวรสาร – Evangelii Gaudium, ข้อ 262) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่มีความทุกข์ยากลำบากสำหรับครอบครัวมนุษย์ของพวกเราในขณะที่พวกเรากำลังเดินเรือในเรือลำเดียวกันเพื่อข้ามทะเลที่เผชิญกับพายุแห่งโรคระบาด การอธิษฐานของพวกท่านสำหรับโลกและพระศาสนจักรมีคุณค่าอันยิ่งใหญ่ ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจที่เงียบสงบให้กับทุกคนอย่างมั่นใจว่าในไม่ช้าพวกเราจะขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย
คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายและมิตรสหายผู้สูงอายุทั้งหลาย ก่อนที่จะจบสาส์นนี้ข้าพเจ้าประสงค์ที่จะเอ่ยถึงแบบฉบับของบุญราศี (ไม่ช้าท่านจะเป็นนักบุญ) ชาร์ลส เดอ ฟูโกลด์ (Charles de Foucauld) ท่านเป็นฤษีดำเนินชีวิตที่ประเทศอัลจีเรียและเป็นประจักษ์พยานถึง (ความปราถนาของท่านที่ต้องการเป็นพี่น้องกับทุกคน” (Fratelli Tutti, ข้อ 287) เรื่องราวชีวิตของท่านแสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งเป็นไปได้แม้กระทั่งในความโดดเดี่ยวแห่งทะเลทรายที่จะวิงวอนเพื่อคนยากจนของโลกทั้งโลก ความจริงแล้วท่านกลายเป็นพี่เป็นน้องสากลของทุกคน
โดยอาศัยแบบฉบับของท่านบุญราศี ข้าพเจ้าวอนขอพระเจ้าได้โปรดให้พวกเราทุกคนเปิดใจของพวกเราด้วยความรู้สึกละเอียดอ่อนกับความทุกข์ของคนยากจนและวิงวอนเพื่อความจำเป็นของพวกเขา ขอให้พวกเราทุกคนเรียนรู้ที่จะกล่าวซ้ำกับทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรดาเยาวชน ซึ่งคำพูดแห่งความบรรเทาใจที่พวกเราได้ยินมาแล้ว “เราประทับอยู่กับท่านเสมอ” จงก้าวเดินต่อไป ขอพระเยซูคริสต์โปรดอำนวยอวยพรพวกท่านทุกคน
ให้ไว้ ณ กรุงโรม มหาวิหารยอห์นแห่งลาเตรัน วันที่ 31 พฤษภาคม 2021 สมโภชวันเสด็จเยือนของพระแม่มารีย์พรหมจารี
ฟรานซิส
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บสาส์นพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและไตร่ตรองเพื่อผู้สูงอายุ)
เชิงอรรถ
[1] The episode is narrated in the Protoevangelium of James.
[2] This image has been chosen as the logo for the World Day of Grandparents and the Elderly.
[3] Memory is life, writing is breath. L’Osservatore Romano, January 26, 2021.
[4] Visit to the Group Home “Viva gli Anziani”, 2 November 2012.
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- สมณลิขิตในรูปแบบพระสมณอัตตาณัติ (Motu Proprio) ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส “ANTIQUUM MINISTERIUM”
- สมณลิขิตสำหรับชี้แจงเหตุผลในการประกาศใช้สมณอัตตาณัติ “ผู้พิทักษ์ธรรมประเพณี” (TRADITIONIS CUSTODES)
- สมณลิขิตจากพระสันตะปาปาฟรานซิส
ถึงอาร์ชบิชอป ริโน ฟิสิเกลลา (Archbishop Rino Fisichella) - “พฤษภาคม” เป็นเดือนแห่งการสวดสายประคำเพื่อต่อต้านโรคระบาด
- สรุปเนื้อหาสมณสาส์นเวียนด้านสังคมของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
“ทุกคนต่างเป็นพี่น้องกัน – Fratelli Tutti”