Skip to content

สาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส สำหรับรำลึกถึงวันแห่งผู้ยากจนสากลครั้งที่ห้า

วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน 2021 วันอาทิตย์ที่สามสิบสามในเทศกาลธรรมดา

“ท่านจะมีคนยากจนอยู่กับท่านเสมอ” (มาร์โก 14: 7)
1. “ท่านจะมีคนยากจนอยู่กับท่านเสมอ” (มก. 14:7) พระองค์ตรัสวาจานี้ระหว่างการรับประทานอาหาร ณ ตำบลเบธานี คือสองสามวันก่อนสมโภชปัสกาภายในบ้านของชายคนหนึ่งชื่อซีมอน ซึ่งทราบกันดีว่าเขาเคยเป็นโรคเรื้อน ดังที่ผู้นิพนธ์พระวรสารเล่าไว้ สตรีผู้หนึ่งเดินเข้ามาพร้อมโถน้อย ๆ ที่เต็มด้วยน้ำหอมอันมีค่าแล้วเทลงบนศีรษะของพระเยซูคริสต์ นี่สร้างความประหลาดใจและก่อให้เกิดการตีความที่แตกต่างกันสองประการ
ประการแรก ได้สร้างความขุ่นเคืองให้กับบางคนที่อยู่ที่นั่น รวมถึงบรรดาศิษย์ด้วยผู้ซึ่งเมื่อนึกถึงคุณค่าของน้ำหอมราคาประมาณ 300 เดนารีโอที่เท่ากับเงินเดือนของคนงานหนึ่งปี ก็พาให้คิดไปว่าน่าจะเอาน้ำหอมไปขายแล้วนำเงินไปแจกให้คนยากจน ในพระวรสารโดยนักบุญจอห์นเล่าว่า ยูดาสเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการในเรื่องนี้ “ทำไมไม่นำน้ำหอมนี้ไปขาย 300 เดนารีโอแล้วเอาเงินไปแจกให้คนยากจนเล่า?” นักบุญจอห์นตั้งข้อสังเกตว่า ยูดาส “พูดเช่นนี้ไม่ใช่เพราะเขาใส่ใจห่วงใยคนยากจน แต่เพราะว่าเขาเป็นขโมย เพราะเขาเป็นคนถือถุงเงิน เขามักจะยักยอกเงินที่ใส่ลงไป” (ยน. 12: 5-6) นี่ไม่ใช่เหตุบังเอิญที่การตำหนิอย่างจริงจังออกจากปากของคนทรยศ นี่แสดงให้เห็นว่าใครที่ไม่ให้ความเคารพกับคนยากจน เขาก็เป็นคนที่ทรยศในคำสอนของพระเยซูคริสต์ และไม่สามารถที่จะเป็นศิษย์ของพระองค์ได้ ออริเจน (Origen) ใช้คำพูดที่หนักมากเกี่ยวกับประเด็นนี้ ยูดาสดูเหมือนจะเป็นห่วงเป็นใยคนยากจน… ในสมัยของพวกเราหากใครเป็นคนถือถุงเงินของพระศาสนจักร และทำตัวเหมือนยูดาสพูดจาดูเหมือนเพื่อคนยากจน แต่ชอบควักเงินใส่กระเป๋าตนเองจากถุงเงินส่วนรวมก็ขอให้เขาผู้นั้นมีชะตากรรมเช่นเดียวกันกับยูดาส” (คำวิเคราะห์พระวรสารโดยนักบุญมัทธิว 11: 9)
การตีความแบบที่สองเป็นการตีความของพระเยซูคริสต์ และทำให้พวกเราชื่นชมกับความหมายที่ลึกซึ้งแห่งการกระทำของสตรีผู้นั้น พระองค์ตรัสว่า “อย่าไปยุ่งกับเธอ ทำไมท่านจึงไปรบกวนเธอ? เธอได้ทำสิ่งที่สวยงามกับเรา” (มก. 14: 6) พระเยซูคริสต์ทราบดีว่าความตายของพระองค์กำลังใกล้เข้ามาแล้ว พระองค์ทรงมองเห็นในการกระทำของเธอว่า นั่นเป็นการกระทำล่วงหน้าของการเจิมน้ำมันบนร่างกายที่ไร้ชีวิตของพระองค์ก่อนที่พระองค์จะถูกนำไปเก็บไว้ในคูหา นี่คือสิ่งที่ผู้คนซึ่งอยู่ ณ ที่นั้นไม่มีผู้ใดคาดคิดถึงเลย พระเยซูคริสต์ทรงเตือนสติพวกเขาว่าพระองค์เป็นบุคคลแรกในบรรดาคนยากจน เป็นคนที่ยากจนที่สุดในบรรดาคนยากจนทั้งปวง เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นตัวแทนของพวกเขาทุกคน การเจิมน้ำมันของสตรีนั้นยังหมายถึงเพื่อเห็นแก่คนยากจน คนที่อยู่อย่างสันโดษ คนที่อยู่ตามชายขอบสังคม และคนที่สังคมรังเกียจที่พระบุตรของพระเจ้าทรงรับการกระทำของสตรีผู้นั้น เพราะความรู้สึกละเอียดอ่อนของสตรี คงมีเพียงแค่เธอเท่านั้นที่เข้าใจว่าพระเยซูคริสต์ทรงคิดอย่างไร สตรีไร้นามผู้นั้นอาจหมายถึงเธอเป็นผู้แทนของสตรีเหล่านั้น ซึ่งตลอดเวลาหลายศตวรราที่ผ่านมาถูกลืม ถูกทำให้เงียบที่ต้องทนทุกข์กับการใช้ความรุนแรง ดังนั้นเธอจึงเป็นสตรีคนแรกที่มีความสำคัญ ณ เวลาในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตของพระเยซูคริสต์ การถูกตรึงบนไม้กางเขน การสิ้นพระชนม์ การถูกฝัง และการเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพ บ่อย ๆ ครั้งที่บรรดาสตรีถูกเหยียดด้วยเรื่องชนชั้นและถูกตัดออกจากตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบ ทว่าในพระวรสารกลังมองว่าสตรีเป็นผู้ที่มีบทบาทที่เป็นผู้นำในประวัติศาสตร์แห่งการเผยแสดง ดังนั้นการแสดงออกของพระเยซูคริสต์จึงเป็นการผนึกสตรีเข้ากับพันธกิจแห่งการประกาศพระวรสาร “นี่แน่ะ เราขอบอกกับท่านว่า ไม่ว่าที่ใดที่มีการประกาศพระวรสารให้กับโลก สิ่งที่เธอทำจะถูกพูดถึงเพื่อเป็นการรำลึกถึงเธอ” (มก. 14: 9)

2. “ความเห็นอกเห็นใจ” อันทรงพลังนี้เกิดขึ้นระหว่างพระเยซูคริสต์กับสตรี และการตีความของพระองค์ถึงการเจิมของเธอซึ่ งเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับทัศนวิสัยอันเป็นที่สะดุดของยูดาสและคนอื่นๆ เรื่องนี้สามารถนำไปสู่การรำพึงไตร่ตรองที่บังเกิดผลในการเชื่อมสัมพันธ์ที่จะแยกออกจากกันไม่ได้ระหว่างพระเยซูคริสต์ กับคนยากจน และกับการประกาศพระวรสาร
พระพักตร์ของพระเจ้าที่ถูกเปิดเผยโดยพระเยซูคริสต์คือ พระบิดาทรงห่วงใยและประทับอยู่อย่างใกล้ชิดกับคนยากจน ในทุกสิ่งพระเยซูคริสต์ทรงสอนว่าความยากจนไม่ใช่เป็นผลของชะตากรรม แต่เป็นเครื่องหมายซึ่งเป็นรูปธรรมที่ชี้ให้เห็นว่าพระองค์ทรงประทับอยู่ท่ามกลางพวกเรา พวกเราไม่อาจพบพระองค์เมื่อใดและที่ไหนก็ได้ตามที่พวกเราต้องการ แต่พวกเราจะพบกับพระองค์อย่างแน่นอนในชีวิตของคนยากจน ในความทุกข์และในความเดือดร้อน บ่อยครั้งในสภาพของการไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ ที่พวกเขาถูกบังคับให้ต้องดำเนินชีวิตเช่นนั้น ข้าพเจ้าไม่เคยหยุดที่จะกล่าวย้ำว่าคนยากจนคือผู้ที่ประกาศพระวรสาร เพราะว่าพวกเขาเป็นบุคคลแรกที่ได้รับพระวรสารและพวกเขาถูกเรียกร้องให้แบ่งปันความชื่นชมยินดี และพระอาณาจักรของพระเจ้า (เทียบ มธ. 5: 3)
คนยากจนจะประกาศพระวรสารให้กับพวกเราเสมอและในทุกหนทุกแห่ง เพราะพวกเขาสามารถทำให้พวกเราค้นพบพระพักตร์อันแท้จริงของพระบิดาในหนทางใหม่ “พวกเขามีเรื่องราวมากมายที่จะสอนพวกเรา นอกจากการมีส่วนในจิตสำนึกในความเชื่อ (sensus fidei) แล้ว พวกเขายังทราบถึงพระเยซูคริสต์ผู้ทนทุกข์โดยอาศัยความทุกข์ของตนเอง จึงจำเป็นที่พวกเราทุกคนต้องยอมให้พวกเราได้รับการประกาศพระวรสารจากพวกเขา การประกาศพระวรสารแบบใหม่เป็นการเชื้อเชิญให้พวกเราต้องรับรู้ถึงอำนาจที่ช่วยให้รอดแห่งชีวิตของพวกเขา ขอให้พวกเราวางพวกเขาเป็นศูนย์กลางแห่งการเดินทางของพระศาสนจักร พวกเราถูกเรียกร้องให้พบกับพระเยซูคริสต์ในพวกเขา ในการที่จะเป็นปากเป็นเสียงแทนพวกเขา และเป็นมิตรกับพวกเขาด้วย เพื่อที่จะฟังพวกเขา เข้าใจพวกเขา และต้อนรับพระพรอันเร้นลับที่พระเจ้าทรงต้องการจะสื่อสารกับพวกเราโดยอาศัยพวกเขา หน้าที่ของพวกเราไม่ได้อยู่เพียงแค่มีกิจกรรมหรือโครงการส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือ สิ่งที่พระจิตทรงขับเคลื่อนไม่ใช่การทำกิจกรรมที่ไร้ทิศทาง แต่ที่สำคัญคือการดูแลเอาใจใส่ที่ถือว่าผู้อื่นเป็นคนหนึ่งของพวกเรา การเอาใจใส่ที่น่ารักนี้เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการของการห่วงใยที่แท้จริงสำหรับบุคคลที่จะดลใจให้ข้าพเจ้าแสวงหาความดีงามของผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ” (สมณสาส์นเตือนใจ Evangelii Gaudium, ข้อ 198-199)

3. พระเยซูคริสต์ไม่เพียงแค่เข้าข้างคนยากจน พระองค์ยังมีส่วนร่วมกับชะตากรรมของพวกเขาด้วย นี่เป็นบทเรียนอันทรงพลังสำหรับศิษย์ของพระองค์ในทุกยุคทุกสมัย นี่คือความหมายแห่งการสังเกตของพระองค์ว่า “ท่านจะมีคนยากจนอยู่กับท่านเสมอ” คนยากจนจะอยู่กับพวกเราเสมอ แต่นี่ไม่ควรที่จะทำให้พวกเราเฉยเมย แต่ต้องเป็นการเชิญชวนให้พวกเรามีการแบ่งปันชีวิตซึ่งกันและกันโดยที่ไม่มีการให้ผู้อื่นทำแทน คนยากจนไม่ใช่คนที่อยู่ “ภายนอก” ชุมชนของพวกเรา แต่เป็นพี่เป็นน้องของพวกเราที่พวกเราจะต้องแบ่งปันความทุกข์ของเขาด้วยความพยายามที่จะบรรเทาความทุกข์ร้อนและการที่พวกเขาต้องอยู่ตามชายขอบสังคม พวกเราต้องฟื้นฟูศักดิ์ศรีของพวกเขาพร้อมกับสร้างหลักประกันให้พวกเขาเข้ามาอยู่ภายในสังคม ในอีกมุมมองหนึ่งดังที่พวกเราทราบกัน เมตตากิจหมายถึงผู้ให้และผู้รับ ส่วนการแบ่งปันนั้นจะก่อให้เกิดความเป็นพี่น้องกัน การทำบุญให้ทานเป็นเพียงในบางโอกาส ส่วนการแบ่งปันซึ่งกันและกันนั้นเป็นสิ่งถาวร สิ่งแรกดูเหมือนเสี่ยงที่จะสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ให้ แต่อาจเป็นการดูถูกผู้ที่ได้รับ สิ่งที่สองจะเพิ่มความเข้มแข็งให้กับความเอื้ออาทรและวางรากฐานที่จำเป็นเพื่อที่จะบรรลุถึงความยุติธรรม พูดสั้นๆ คือผู้ที่มีความเชื่อเมื่อพวกเขาต้องการที่จะพบกับพระเยซูคริสต์โดยตรงและสัมผัสพระองค์ด้วยมือของตนจะทราบดีว่าจะต้องเดินไปในทิศทางใด คนยากจนคือเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูคริสต์ ทุก ๆ การกระทำต้องมุ่งไปยังพระองค์
ตัวอย่างมากมายของบรรดานักบุญที่มีการแบ่งปันกับคนยากจนในโครงการแห่งชีวิตของตนในบรรดานักบุญเหล่านั้น ข้าพเจ้าคิดถึงคุณพ่อดาเมียน เดอ เวาสเตอร์ (Damien de Veuster) นักบุญอัครธรรมทูตอุทิศตนให้กับผู้ที่เป็นโรคเรื้อนด้วยใจที่กว้างใหญ่ ท่านตอบรับกระแสเรียกให้ไปยังเกาะโมโลไค (Molokai) ซึ่งเป็นเกาะที่มีแต่คนที่เป็นโรคเรื้อนที่ท่านต้องไปอาศัยและตายพร้อมกับคนโรคเรื้อนที่นั่น ท่านนักบุญพร้อมและกระทำทุกอย่างเพื่อที่จะพัฒนาชีวิตของผู้คนเหล่านั้นซึ่งเป็นคนยากจน เจ็บป่วย และเป็นผู้ที่ไม่มีผู้ใดเหลียวแล ท่านเป็นทั้งนายแพทย์และพยาบาลไม่กลัวการเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรค ท่านนำเอาแสงสว่างแห่งความรักไปสู่ “อาณานิคมแห่งความตาย” ซึ่งผู้คนขนานนามให้เกาะนั้น ที่สุดท่านเองก็ติดเชื้อโรคเรื้อนซึ่งกลายเป็นเครื่องหมายแห่งการแบ่งปันอย่างสิ้นเชิงของท่านกับชะตากรรมของบรรดาพี่น้องที่ท่านอุทิศชีวิตให้ การเป็นประจักษ์พยานของท่านยังทันสมัยกับเวลาในยุคสมัยของพวกเราที่กำลังเผชิญกับการแพร่โรคระบาด แน่นอนว่าพระหรรษทานของพระเจ้ากำลังทำงานในดวงใจของทุกคนซึ่งไม่ต้องมีพิธีรีตรองอะไรมากมายในการใช้ชีวิตเพื่อคนยากจน และแบ่งปันกับพวกเขาในหนทางที่เป็นรูปธรรม

4. ดังนั้นพวกเราจำเป็นต้องติดตามการเชื้อเชิญของพระเยซูคริสต์ด้วยความเต็มใจเพื่อที่จะ “เป็นทุกข์เสียใจและเชื่อในพระวรสาร” (มก. 1: 15) การกลับใจเบื้องต้นอยู่ที่การเปิดใจกว้างให้รับรู้ถึงในหลากหลายรูปแบบของความยากจนแล้วแสดงให้เห็นถึงพระอาณาจักรของพระเจ้า โดยอาศัยการดำเนินชีวิตในรูปแบบแห่งความเชื่อของพวกเราอย่างสม่ำเสมอ บ่อยครั้งคนยากจนถูกมองว่าเป็นบุคคล “จำพวกหนึ่ง” ที่ต้องการการรับใช้ด้วยความรักอย่างเป็นพิเศษ แต่การติดตามพระเยซูคริสต์หมายถึงการเปลี่ยนวิธีคิดแบบนี้และยอมรับการท้าทายในการแบ่งปันซึ่งกันและกัน และการมีส่วนร่วมกัน การเป็นศิษย์ของคริสตชนหมายถึงการตัดสินใจที่จะไม่สะสมขุมทรัพย์ฝ่ายโลกที่ลวงว่าพวกเราจะมีความปลอดภัยซึ่งแท้จริงแล้วนั่นเปราะบางและหลอกลวง บัดนี้ต้องการความพร้อมที่จะเป็นไทจากทุกสิ่งที่ฉุดพวกเราให้ถอยหลังจากความสุขที่แท้จริง เพื่อที่จะรับรู้อย่างดีว่าสิ่งใดเป็นของแท้ยั่งยืน สิ่งใดเป็นสิ่งที่ไม่สามารถถูกทำลาย จากผู้ใดและจากสิ่งใด (เทียบ มธ. 6: 19-20)
ณ จุดนี้ก็เช่นเดียวกันคำสอนของพระเยซูคริสต์เรื่องเมล็ดพืช เพราะการสัญญาเพียงกับสิ่งที่เห็นได้ มีประสบการณ์ได้ที่ให้ความมั่นใจอย่างสิ้นเชิงด้วยสายตาแห่งความเชื่อ “ทุกคนที่ทอดทิ้งบ้านหรือพี่น้องหรือบิดามารดาหรือลูกหรือที่ดินเพื่อเห็นแก่เรา เขาจะได้รับตอบแทนเป็นร้อยเท่า และจะได้ชีวิตนิรันดรเป็นบำเหน็จ” (มธ. 19: 29) นอกจาพวกเราจะเลือกเป็นคนยากจนในความร่ำรวย อำนาจทางโลก และความฟุ้งเฟ้อ พวกเราจะไม่สามารถอุทิศชีวิตของพวกเราในความรัก พวกเราจะมีชีวิตที่ปราศจากซึ่งระเบียบวินัยที่เปี่ยมด้วยเจตนารมณ์ที่ดี แต่จะไม่มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนโลก เพราะฉะนั้นพวกเราจำเป็นต้องเปิดใจกว้างกับพระหรรษทานของพระเยซูคริสต์ที่สามารถทำให้พวกเราเป็นประจักษ์พยานถึงความรักเมตตาอันหาขอบเขตมิได้ของพระองค์ และจะฟื้นฟูความน่าเชื่อถือในการมีชีวิตของพวกเราที่อยู่ในโลก

5. พระวรสารของพระเยซูคริสต์เรียกร้องให้พวกเรามีความห่วงใยเป็นพิเศษต่อคนยากจนและให้รับรู้ถึงรูปแบบต่างๆ มากมายของความยุ่งเหยิงซับซ้อนทางสังคมและจริยธรรมที่ก่อให้เกิดรูปแบบใหม่ของความยากจนอยู่เสมอ ดูเหมือนจะมีความเข้าใจกันเพิ่มขึ้นว่าคนยากจนไม่เพียงแค่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับสภาพของพวกเขาเท่านั้น พวกเขาเป็นพวกที่เป็นภาระที่น่าเบื่อในระบบเศรษฐกิจที่คอยขัดต่อผลประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนเป็นเพียงบางกลุ่ม การตลาดที่ละเลยหลักการแห่งจริยธรรมที่มองพวกเขาในแง่ร้ายสร้างเงื่อนไขที่ไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์กับผู้คนที่ตกอยู่ใสภาพที่ล่อแหลมอยู่แล้ว บัดนี้พวกเรากำลังเห็นความยากจนใหม่ที่พวกเขาถูกกีดกันจากสังคม ซึ่งเกิดจากเศรษฐกิจที่ไร้ซึ่งมโนธรรมและกลุ่มนายทุน ซึ่งขาดจิตสำนึกแห่งมนุษยธรรมและความรับผิดชอบกับสังคม ปีที่แล้วพวกเรายังมีประสบการณ์กับหายนะอีกอย่างหนึ่งที่เป็นตัวคูณให้กับจำนวนคนยากจน คือการแพร่โรคระบาดที่ยังคงส่งผลกระทบผู้คนนับล้านๆและเมื่อโรคระบาดยังไม่ถึงกับนำเอาความทุกข์ทรมานและความตายมาให้แบบทันทีทันใด แต่ถึงกระนั้นโรคระบาดก็นำเอาความยากจนมาให้ คนยากจนเพิ่มขึ้นมากมายที่น่าห่วงก็คือพวกเขาจะตกอยู่ในสภาพเช่นนั้นอีกหลายเดือน บางประเทศต้องทนทุกข์อย่างเหลือเข็นจากโรคระบาดเพราะว่าพวกเขามีความเปราะบางขาดสิ่งที่เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ผู้คนต่อแถวยาวเหยียดที่รอรับข้าว เป็นเครื่องหมายที่เห็นได้ชัดเจนถึงความเสื่อมสภาพ มีความต้องการที่เห็นได้ชัดที่ต้องหามาตรการที่เหมาะสมที่จะต่อสู้กับเชื้อไวรัสในระดับสากลโดยมิแยแสที่จะไปส่งเสริมผลประโยชน์ของฝ่ายใด นี่เป็นความเร่งด่วนพิเศษที่จะต้องตอบสนองอย่างเป็นรูปธรรมสำหรับผู้ที่ตกงาน ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นเป็นทั้งบิดา มารดาและคนหนุ่มสาวมากมาย ความเอื้ออาทรของสังคมและความใจกว้างของหลายคน ซึ่งต้องขอบคุณพระเจ้า ที่แสดงออกมาด้วยโครงการส่งเสริมชีวิตมนุษย์ด้วยการเห็นการณ์ไกลเป็นการช่วยที่มีความสำคัญมากที่สุดในยามที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ณ ขณะนี้

6. อย่างไรก็ดี ยังมีคำถามหนึ่งซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีความชัดเจนที่ยังคงค้างคาอยู่ พวกเราจะให้คำตอบที่สัมผัสได้กับคนยากจนนับล้านๆ คนที่บ่อยครั้งต้องเผชิญกับการเมินเฉยหากไม่ใช่ความไม่พอใจ? ต้องใช้หนทางแห่งความยุติธรรมใดเพื่อความไม่เท่าเทียมกันในสังคมถูกลบล้างได้และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่บ่อยครั้งถูกย่ำยีสามารถที่จะฟื้นฟูกลับมาได้? วิถีการดำเนินชีวิตที่เห็นแก่ตัวเป็นการสมรู้ร่วมคิดที่ก่อให้เกิดความยากจน และบ่อยครั้งคนยากจนตกเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อสภาพของตน แต่ความยากจนไม่ใช่เป็นผลแห่งชะตากรรม ทว่าเป็นผลของการเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นนี่เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสร้างกระบวนการพัฒนาที่ความสามารถของทุกคนถือว่ามีคุณค่า เพื่อว่าความชำนาญและความแตกต่างของแต่ละคนจะเอื้ออาทรต่อกันและนำไปสู่การมีส่วนร่วมกัน มีหลายรูปแบบของความยากจนท่ามกลาง “คนมั่งมี” ที่อาจได้รับประโยชน์จากความมั่งคั่งของ “คนยากจน” หากพวกเขาสามารถที่จะพบกันและรู้จักกัน ไม่มีผู้ใดยากจนกระทั่งไม่สามารถที่จะแบ่งสิ่งของตนเองในการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน คนยากจนไม่อาจที่จะเป็นเพียงผู้รับ พวกเขาต้องสามารถที่จะเป็นผู้ให้ด้วย เพราะพวกเขาทราบดีว่าจะต้องตอบด้วยใจกว้างอย่างไร ยังมีตัวอย่างที่มีการแบ่งปันกันมากมายเพียงใดที่พวกเราพบเห็น บ่อยครั้งคนยากจนจะสอนพวกเราเกี่ยวกันความเอื้ออาทรและการแบ่งปันกัน จริงอยู่พวกเขาอาจเป็นคนที่ขาดบางสิ่งบางอย่างบ่อยครั้งขาดหลายสิ่งหลายอย่างรวมถึงสิ่งที่เป็นความจำเป็นจริงๆ แต่พวกเขาก็ไม่ได้ขาดทุกสิ่ง เพราะพวกเขาดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีแห่งการเป็นบุตรของพระเจ้าซึ่งไม่มีสิ่งใดหรือผู้ใดสามารถนำไปจากพวกเขาได้

7. ด้วยเหตุนี้จำเป็นต้องใช้วิธีที่แตกต่างในการเข้าถึงความยากจน นี่เป็นความท้าทายที่ภาครัฐและสถาบันสากลจำเป็นต้องพิจารณาด้วยรูปแบบสังคมที่มีสายตายาวไกล ซึ่งสามารถที่จะเผชิญกับความยากจนในรูปแบบใหม่ที่ในขณะนี้แพร่ขยายไปจนทั่วโลกและแน่นอนว่าจะมีผลกระทบต่อทศวรรษข้างหน้านี้ หากคนยากจนถูกกักขังตัวในสังคมที่คับแคบราวกับว่าพวกเขาควรถูกตำหนิที่อยู่ในสภาพดังกล่าว เมื่อนั้นความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยจะตกอยู่ในอันตรายและนโยบายด้านสังคมจะล้มละลาย พวกเราควรสารภาพด้วยความสุภาพว่า บ่อยครั้งพวกเราไร้ความสามารถเมื่อมีการพูดกันถึงคนยากจน พวกเราพูดถึงพวกเขาอย่างเป็นนามธรรม พวกเราหยุดอยู่กับสถิติแล้วพวกเราก็คิดว่าพวกเราสามารถเปลี่ยนใจของประชาชนด้วยการทำข่าว ตรงกันข้าม ความยากจนควรเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเรามีการวางแผนด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่มุ่งเป้าเพื่อที่จะเพิ่มเสรีภาพอันเป็นสิ่งจำเป็นที่จะดำเนินชีวิตในความความสำเร็จตามความสามารถของแต่ละคน นั่นเป็นภาพลวงตาที่พวกเราควรปฏิเสธที่จะคิดว่าเสรีภาพจะเกิดขึ้นและพัฒนาโดยอาศัยการสะสมเงินตรา การรับใช้คนยากจนอย่างมีประสิทธิภาพจะขับเคลื่อนตัวพวกเราให้มีการกระทำและทำให้เป็นไปได้ที่จะพบกับหนทางที่เหมาะสมที่สุดในการส่งเสริมส่วนนี้ของมนุษย์ที่บ่อยครั้งเป็นการกระทำของผู้ที่ไม่ประสงค์จะออกนาม และไม่มีซุ่มเสียงในสังคม แต่พวกเขาได้พิมพ์พระพักตร์ของพระผู้ไถ่ผู้ทรงขอความช่วยเหลือจากพวกเรา

8. “ท่านจะมีคนยากจนอยู่กับท่านเสมอ” (มก. 14: 7) นี่เป็นการเรียกร้องไม่ให้พลาดทุกโอกาสที่จะทำความดี ในภูมิหลังพวกเราอาจเห็นการเรียกร้องแห่งคัมภีร์โบราณ “หากพี่น้องชายหญิงคนหนึ่งของท่าน… มีความทุกข์เดือดร้อน ท่านจะต้องไม่ทำตัวเป็นคนใจแข็งและจะต้องไม่ปิดไม้ปิดมือต่อความเดือดร้อนของพวกเขา ตรงกันข้ามท่านต้องอ้าแขนของท่านไปยังพวกเขาและช่วยพวกเขาด้วยสมัครใจให้เพียงพอสำหรับความต้องการของพวกเขา… เมื่อท่านช่วยพวกเขาก็จงให้พวกเขาแบบเปล่าๆ โดยปราศจากเจตนาแอบแฝง เพราะพระเยซูคริสต์พระเจ้าของท่านจะอวยพรท่านในการกระทำนี้ในการงานทุกอย่างของท่าน เหตุว่าบุคคลที่มีความจำเป็นในชีวิตจะไม่ขาดสิ่งใดในแผ่นดินนี้…” (ฉธบ. 15: 7-8; 10-11) ในทำนองเดียวกันอัครธรรมทูตเปาโลขอร้องให้บรรดาคริสตชนในชุมชนของท่านให้ช่วยเหลือคนยากจนในชุมชนแรก ๆ ของกรุงเยรูซาเล็มและให้กระทำสิ่งดังกล่าว “โดยปราศจากความเศร้าหรือการถูกบังคับ เพราะพระเจ้าทรงรักผู้ที่ให้ด้วยความชื่นมยินดี” (2 คร.9: 7) นี่ไม่ใช่เรื่องขอการทำให้มโนธรรมของพวกเรารู้สึกสบายใจด้วยการให้ทำบุญให้ทาน แต่เป็นการต่อสู้กับวัฒนธรรมของความนิ่งเฉยและความอยุติธรรมที่พวกเราสร้างขึ้นมาเกี่ยวกับคนยากจน
ในบริบทนี้พวกเราน่าจะนึกถึงคำพูดของนักบุญยอห์น คริสโซสโตโม “ผู้ที่ใจกว้างไม่ควรถามเรื่องพฤติกรรมของคนยากจน แต่ช่วยพัฒนาช่วยคนยากจน และทำให้พวกเขาพอใจในสิ่งที่เขาต้องการ คนยากจนขอร้องเพียงแค่อย่างเดียว นั่นคือความยากจนของพวกเขาและสภาพของสิ่งที่จำเป็นที่พวกเขาต้องการ อย่าไปถามสิ่งใด ๆ จากพวกเขา แม้บางคนในพวกเขาแลดูว่าจะเป็นคนที่ชั่วร้ายที่สุดก็ตาม หากพวกเขาขาดอาหารที่จำเป็น ก็ให้พวกเราช่วยพวกเขาพ้นจากความหิวโหย… ผู้มีจิตเมตตาก็เป็นดุจท่าเรือสำหรับผู้ที่เดือดร้อน ท่าเรือให้การต้อนรับและทำให้ทุกคนที่เรืออับปางเป็นอิสระปลอดภัย ไม่ว่าเขาจะเป็นคนชั่ว คนดี หรือไม่ว่าเขาจะเป็นคนเช่นใด ท่าเรือให้ที่พักพิงพวกเขาพร้อมเครื่องอำนวยความสะดวกทุกอย่าง เพราะฉะนั้นพวกท่านก็เช่นเดียวกัน เมื่อท่านเห็นชายหญิงคนใดที่อยู่บนบกเหมือนสภาพเรือแตกเพราะความยากจน อย่าเพิ่งไปตัดสินพวกเขา อย่าไปถามเรื่องพฤติกรรมของพวกเขา แต่ช่วยเหลือในความโชคร้ายของพวกเขา” (Discourses on the Poor Man Lazarus, II, 5).

9. นี่เป็นเรื่องสำคัญที่พวกเราต้องพัฒนาขึ้นในการรับรู้ของพวกเราถึงความทุกข์เดือดร้อนของคนยากจน ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเฉกเช่นสภาพการเป็นอยู่ของพวกเขา ความจริงทุกวันนี้ในบางภูมิภาคของโลกที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจผู้คนไม่ค่อยเต็มใจเฉกเช่นในอดีตที่จะเผชิญหน้ากับความยากจน รัฐที่ค่อนข้างจะเจริญแล้วที่พวกเราคุ้นเคยกันดีมักจะทำให้สิ่งต่าง ๆ ยากขึ้นที่จะยอมรับการเสียสละและการขาดสิ่งโน้นสิ่งนี้ ประชาชนพร้อมที่จะทำทุกสิ่งเพื่อไม่ให้ขาดสิ่งที่ตนได้มาอย่างง่ายๆ ผลที่ตามมาคือ พวกเขาตกอยู่ในรูปแบบของการไม่พอใจ กลายเป็นโรคประสาทเป็นพักๆ และการเรียกร้องที่นำไปสู่ความกลัว ความร้อนอกร้อนใจ และในบางกรณีถึงกับใช้ความรุนแรง นี่ไม่ใช่หนทางที่จะสร้างอนาคต ทัศนคติเหล่านั้นเป็นรูปแบบของความยากจนที่พวกเราจะละเลยไม่ได้ พวกเราต้องพร้อมที่จะอ่านเครื่องหมายของกาลเวลาที่ขอให้พวกเราแสวงหาหนทางใหม่ของการเป็นผู้ประกาศพระวรสารในโลกยุคร่วมสมัย ความช่วยเหลือโดยพลันในการตอบสนองต่อคนยากจนต้องไม่กีดกั้นพวกเราจากการแสดงให้เห็นถึงสายตายาวไกลในการปฏิบัติตามเครื่องหมายใหม่แห่งความยากจนที่มนุษย์เพื่อนพี่น้องกำลังประสบกันอยู่ในทุกวันนี้
ข้าพเจ้าหวังว่าการรำลึกถึงวันแห่งคนยากจนสากล ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ห้า จะเกิดขึ้นในพระศาสนจักรท้องถิ่นของพวกเรา และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดกระบวนการแห่การประกาศพระวรสารที่พบกับคนยากจนแบบเป็นการส่วนตัวไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ใด พวกเราไม่อาจที่จะรอให้คนยากจนมาเคาะที่ประตูบ้านของพวกเรา พวกเราจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องไปหาเขาที่บ้านเขา ที่โรงพยาบาล ที่บ้านคนชรา ที่ถนนหนทาง ที่มุมมืดซึ่งพวกเขาซ่อนตัวอยู่ ในที่พักพิงและศูนย์ต้อนรับคนยากจน นี่เป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องเข้าใจว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร เขามีประสบการณ์เช่นไร และหัวใจของเขาปรารถนาอะไร ให้พวกเราทำให้การวิงวอนจากจริงใจของคุณพ่อปรีโม มาซโซลารี่ (Primo Mazzolari) เป็นการวิงวอนของพวกเราเอง “ข้าพเจ้าขอร้องอย่าถามข้าพเจ้าว่ามีคนยากจนอยู่หรือไม่ พวกเขาเป็นใคร และมีจำนวนเท่าใด เพราะข้าพเจ้าเกรงว่าคำถามเหล่านั้นแสดงให้เห็นถึงความไม่สนใจ หรือเป็นการเสแสร้งเพื่อหลีกเลี่ยงการเรียกร้องจากมโนธรรมและจากหัวใจของพวกเรา… ข้าพเจ้าไม่เคยนับจำนวนคนยากจน เพราะว่านับไม่ถ้วน พวกเราจะต้องสวมกอดคนยากจนไม่ใช่นั่งนับจำนวนพวกเขา (“Adesso” m/ 7 – 15 April 1949) คนยากจนอยู่ท่ามกลางพวกเรา ซึ่งจะเป็นไปตามพระวรสารเช่นใดหากพวกเราสามารถกล่าวด้วยความจริงใจว่า พวกเราเองก็ยากจนเหมือนกัน เพราะด้วยวิธีนี้เท่านั้นพวกเราจึงจะสามารถเข้าใจพวกเขาได้อย่างแท้จริง ที่จะทำให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเราได้อย่างแท้จริง และเป็นวิธีการอันนำมาซึ่งความรอดของพวกเรา
ให้ไว้ ณ กรุงโรม มหาวิหารนักบุญจอห์น ลาเตรัน วันที่ 13 มิถุนายน 2021 วันฉลองนักบุญอันโทนีแห่งปาดัว


ฟรานซิส
(FRANCISCUS)

()