การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป (General Audience) วันที่ 9 มิถุนายน 2021 ณ บริเวณลานซานดามาโซ นครรัฐวาติกัน (San Damaso)
คำสอนเกี่ยวกับการสวดภาวนา: 36 การยืนหยัดในความรักของพระเจ้าด้วยการภาวนาแบบง่าย ๆ
อรุณสวัสดิ์ ลูก ๆ และพี่น้องชายหญิงที่รัก
ในการเรียนคำสอนเกี่ยวกับการสวดภาวนาครั้งสุดท้ายนี้ พวกเราจะมาพูดกันเรื่องการยืนหยัดในการสวดภาวนา ซึ่งเป็นการเชื้อเชิญ ที่จริงค่อนข้างเป็นเชิงบังคับที่มาจากพระคัมภีร์การเดินทางฝ่ายจิตของนักจาริกแสวงบุญชาวรัสเซียนเริ่มขึ้นเมื่อท่านอ่านพบวลีหนี่งของนักบุญเปาโลในจดหมายฉบับแรกถึงชาวเทสซาโลเนี่ยน ที่ว่า “จงสวดภาวนาอย่างสม่ำเสมอ จงขอบคุณสำหรับทุกสิ่ง” (ทส. 5: 17-18) คำพูดของอัครธรรมทูตเปาโลทำให้ชายผู้นั้นประหลาดใจ เขาคิดว่นี่จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะสวดโดยไม่หยุดหย่อนเมื่อชีวิตของเรานั้นมีเวลาที่แตกต่างกันไปจนนับไม่ถ้วน ซึ่งทำให้พวกเราไม่สามารถเพ่งพิศในการสวดภาวนาได้ตลอดเวลา จากปัญหานี้เขาเริ่มคิดค้นคว้าที่จะนำเขาไปพบสิ่งที่เรียกกันว่า “การสวดภาวนาของหัวใจ” ซึ่งอยู่ที่การสวดภาวนาแบบซ้ำๆ ด้วยความเชื่อ “ข้าแต่พระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า โปรดเมตตาลูกผู้เป็นคนบาปด้วยเทอญ” “ข้าแต่พระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า โปรดเมตตาลูกผู้เป็นคนบาปด้วยเทอญ” นี่เป็นการสวดแบบง่ายๆ ทว่าสวยงามมาก เป็นการสวดภาวนาซึ่งทีละเล็กละน้อยจะปรับตัวให้กับจังหวะของลมหายใจเข้าออก ซึ่งจะยืดเยื้อไปจนตลอดวัน บางคนบอกว่า ผมไม่ได้ยิน โปรดพูดดังๆ หน่อยครับ “ข้าแต่พระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า โปรดเมตตาลูกผู้เป็นคนบาปด้วยเทอญ” สวดแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก นี่เป็นเรื่องสำคัญ ที่จริงการหายใจไม่มีวันหยุดแม้ในขณะที่พวกเรานอนหลับ และการสวดภาวนาเป็นลมหายใจของชีวิต
พวกเราจะรักษาสภาพของการสวดภาวนาสม่ำเสมอได้อย่างไร? คำสอนของพระศาสนจักรเสนอการอ้างอิงที่สวยงามจากประวัติศาสตร์แห่งชีวิตจิต ซึ่งยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องสวดภาวนาอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้เป็นศูนย์กลางแห่งการมีชีวิตของคริสตชน จะขอเล่าตัวอย่าง
นักพรตชาวกรีกชื่อเอวากรีอุส ปอนตีกุส (Evagrius Ponticus) กล่าวยืนยันว่า “เราไม่ได้ถูกสั่งให้ทำงาน ให้เฝ้ายาม และให้จำศีลตลอดเวลา” – ไม่เลย นี่ไม่ใช่กฎบังคับ – “แต่มีการระบุว่าพวกเราต้องสวดภาวนาอย่างไม่หยุดหย่อน” (2742) หัวใจต้องสวดภาวนา จึงจำเป็นต้องมีความร้อนรนในชีวิตของคริสตชน ซึ่งจะละเว้นเสียมิได้ ซึ่งคล้ายกับไฟศักดิ์สิทธิ์ที่ลุกอยู่เสมอในวัดโบราณซึ่งเป็นหน้าที่ของบาดหลวงที่ต้องดูแลให้เปลวไฟลุกอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงต้องมีไฟศักดิ์สิทธิ์ในตัวพวกเราเช่นเดียวกันซึ่งลุกสว่างไสวอยู่เสมอ และไม่มีสิ่งใดจะไปดับไฟนี้ได้ นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นเช่นนี้
นักบุญยอห์นคริสโซสโตโม ผู้นำพระศาสนจักรอีกท่านหนึ่ง ซึ่งคอยใส่ใจต่อชีวิตอย่างแท้จริง ท่านเทศน์ว่า “แม้การเดินในที่สาธารณะหรือเดินเล่นตามลำพัง หรือนั่งอยู่ในร้านรวงต่าง ๆ ในขณะที่ขายหรือซื้อสิ่งของ หรือแม้ในขณะที่กำลังปรุงอาหารในครัว” (2473) การสวดภาวนาสั้นๆ “ข้าแต่พระเยซูคริสต์ โปรดเมตตาลูกด้วยเทอญ” “ข้าแต่พระเยซูคริสต์ โปรดช่วยลูกด้วยเทอญ” ดังนั้นการสวดภาวนาจึงเป็นเสมือนดนตรีชนิดหนึ่งที่พวกเราเขียนทำนองแห่งชีวิตของพวกเรา ซึ่งไม่ขัดแย้งกับการทำงานประจำวัน ไม่ขัดแย้งกับข้อผูกพันเล็กๆ น้อยๆ และการนัดหมาย นี่เป็นจุดที่การกระทำทุกอย่างจะมีความหมาย การสวดภาวนามีเหตุมีผล ทำให้พวกเราพบสันติสุข
แน่นอนว่าการนำเอาหลักการเหล่านี้มาปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย บิดามารดาที่กำลังยุ่งยากอยู่กับงานร้อยแปดอาจรู้สึกอาลัยอาวรณ์ ไม่มีเวลาในชีวิตที่ง่ายในการหาเวลา และสถานที่ในการสวดภาวนา ทั้งไหนจะลูก ไหนจะงาน ไหนจะชีวิตครอบครัว ไหนจะคนชรา พวกเรารู้สึกว่าชีวิตจริงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะจัดการทุกอย่างให้ลงตัวได้ ดังนั้นจึงเป็นการดีสำหรับพวกเราที่จะคิดว่าพระเจ้าผู้ทรงเป็นบิดาของพวกเรา ผู้ทรงเอาใจใส่ดูแลทุกสิ่งในจักรวาลนั้นจดจำพวกเราแต่ละคนได้ เพราะฉะนั้นพวกเราก็เช่นเดียวกันต้องระลึกถึงพระองค์
พวกเราต้องจำด้วยว่าในอารามฤษีการทำงานเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างชื่นชม ไม่ใช่เพราะนั่นเป็นหน้าที่เชิงจริยธรรมที่จะจัดการหาอาหารเลี้ยงตนเองและผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการถ่วงดุลภายในด้วย เป็นอันตรายสำหรับมนุษย์ที่จะมัวสนใจอยู่กับสิ่งที่เป็นนามธรรมจนลืมความสัมพันธ์กับความจริง การทำงานช่วยให้พวกเราสัมผัสกับความเป็นจริง ฤษีที่พนมมือในการสวดภาวนา ฝ่ามือจะด้านเพราะการขุดและการไถดิน ในพระวรสารโดยนักบุญลูกา (เทียบ 10: 38-42) เมื่อพระเยซูคริสต์บอกนักบุญมาร์ธาว่าสิ่งเดียวที่จำเป็นอย่างแท้จริงคือการฟังพระเจ้า พระองค์ไม่ได้หมายความที่จะดูหมิ่นการรับใช้หลายอย่างที่เธอพยายามที่จะทำเพื่อการรับใช้
ทุกอย่างในตัวมนุษย์เป็น “คู่” กายของพวกเราแบบสมมาตร พวกเรามีสองแขน สองตา สองมือ… ดังนั้นการทำงานและการสวดภาวนาจึงต้องเอื้อต่อกันด้วย การสวดภาวนาซึ่งเป็น “ลมหายใจ” ของทุกสิ่ง ยังคงต้องเป็นฉากหลังอันทรงชีวิตแห่งการทำงานแม้ในยามที่ประเด็นนี้ไม่ค่อยมีความชัดเจน ไม่ใช่วิสัยมนุษย์ที่จะมัวเมาแต่ทำงานจนไม่มีเวลาที่จะสวดภาวนา
ในเวลาเดียวกันการสวดภาวนาที่ผิดแผกแตกต่างไปจากชีวิตย่อมไม่เป็นผลดี การสวดภาวนาที่เหินห่างไปจากความเป็นรูปธรรมจะกลายเป็นจิตนิยมหรือร้ายกว่านั้นอีกจะเป็นจารีตนิยม ขอให้พวกเราจำไว้ว่าหลังจากที่พระเยซูคริสต์แสดงให้ศิษย์เห็นถึงพระสิริรุ่งโรจน์บนภูเขาทาบอร์แล้ว พระเยซูคริสต์ไม่ได้ยืดเวลาแห่งการเข้าฌานนั้น แต่ทรงรีบลงจากภูเขาพร้อมกับศิษย์ และทำการเดินทางประจำวันต่อไป เพราะประสบการณ์นั้นต้องคงอยู่ในในใจของพวกเขาดุจแสงสว่างและพลังแห่งความเชื่อของพวกเขา และยังเป็นแสงสว่างและพลังสำหรับวันเหล่านั้นที่จะมาถึง ซึ่งได้แก่มหาทรมานของพระเยซูคริสต์ โดยอาศัยวิธีนี้เวลาที่อุทิศให้กับการอยู่กับพระเจ้าจะฟื้นฟูให้ความเชื่อมีชีวิตชีวา ซึ่งจะช่วยให้พวกเราดำเนินชีวิตด้วยการปฏิบัติจริง และความเชื่อในทางกลับกันก็จะช่วยหล่อเลี้ยงการสวดภาวนาโดยไม่มีการขาดช่วงขาดตอน ในวงจรนี้ระหว่างความเชื่อ ชีวิต และการสวดภาวนาพวกเราจะรักษาเปลวไฟแห่งชีวิตคริสตชนให้ลุกโชติช่วงชัชวาลดังที่พระเจ้าทรงคาดหวังจากพวกเรา
ขอให้พวกเราสวดบทภาวนาแบบง่ายๆ ที่เป็นการสวดซ้ำๆ ในระหว่างวัน ดูซิว่าพวกลูกยังจำได้หรือเปล่า ขอให้พวกเราสวดพร้อมกัน “ข้าแต่พระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า โปรดเมตตาลูกผู้เป็นคนบาปด้วยเทอญ” การสวดบทนี้อย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้พวกลูกเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระเยซูคริสต์ ขอขอบคุณ
* * *
พระสันตะปาปาทรงกล่าวต้อนรับ
พ่อขอต้อนรับสัตบุรุษที่พูดภาษาอังกฤษ ขอเชิญชวนทุกคนให้พัฒนาชีวิตแห่งการสวดภาวนาอย่างสม่ำเสมอจนสามารถที่จะร่วมชีวิตประจำวันของพวกเราและทำให้เป็นเครื่องบูชาที่สบพระทัยของพระเจ้า ขอความชื่นชมยินดีและสันติสุขของพระเยซูคริสต์ประทับอยู่กับพวกลูกและครอบครัวของลูกเสมอ ขอพระเจ้าประทานพรให้แก่ทุกคน
* * *
สรุปพระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
ลูก ๆ และพี่น้องชายหญิงที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อไปของพวกเราเกี่ยวกับการสวดภาวนา บัดนี้พวกเราจะพูดกันถึงความสำคัญของการยืนหยัดมั่นคงในการสวดภาวนา เมื่อไตร่ตรองถึงการสนับสนุนของนักบุญเปาโลให้พวกเราสวดภาวนาอย่างไม่หยุดหย่อน (เทียบ 1 ทส. 5: 17) นักเขียนชีวิตจิตของพระศาสนจักรตั้งคำถามว่านี่เป็นไปได้อย่างไรที่จะดำรงอยู่ในสภาพของการสวดภาวนาเสมอ ประเพณีชีวิตนักพรตของรัสเซียนได้พัฒนาการสวดภาวนาด้วยหัวใจโดยมีพื้นฐานอยู่ในการสวดย้ำว่า “ข้าแต่พระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า โปรดเมตตาลูกผู้เป็นคนบาปด้วยเทอญ” จนกระทั่งบทภาวนาเป็นเสมือนอากาศที่พวกเราหายใจ นักพรตชาวกรีกชื่อเอวากรีอุส (Evagrius) เปรียบเทียบการสวดภาวนาเป็นประดุจเปลวไฟที่ลุกอยู่ตลอดเวลาในใจของพวกเราแม้ในยามที่พวกเราทำภาระกิจประจำวัน ดังนั้นการสวดภาวนาจึงเป็นเหมือนฉากหลังซึ่งการกระทำทุกอย่างในชีวิตของพวกเราพบความหมายที่ล้ำลึกที่สุด หากพระเจ้ามีเวลาสำหรับพวกเราแต่ละคน แน่นอนว่าพวกเราต้องมีเวลาสำหรับพระองค์ ธรรมเนียมปฏิบัติของฤษีสอนพวกเราว่าผลชีวิตจิตจะสร้างความสมดุลให้กับการสวดภาวนาและการทำงาน โดยอาศัยการดำรงไว้ซึ่งสมดุลดังกล่าวในชีวิตขอพวกงเรา พวกเราจะสามารถเจริญเติบโตขึ้นในความเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระเจ้าและสามารถดำรงไว้ซึ่งไฟแห่งความรักของพระเจ้าให้ลุกโชติช่วงอยู่ทุกวันในใจของพวกเรา
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บการสอนคำสอนเรื่องการสวดภาวนามาแบ่งปันและไตร่ตรอง)
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- สมเด็จพระสันตะปาปาในคืนคริสต์มาส: พระเยซูเจ้าทรงแสดงทางจากความเล็กน้อยไปสู่ความยิ่งใหญ่
- สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสมีความคิดที่จะปฏิรูปพระศาสนจักร
- สมณลิขิตในรูปแบบพระสมณอัตตาณัติ (Motu Proprio) ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส “ANTIQUUM MINISTERIUM”
- สมณลิขิตสำหรับชี้แจงเหตุผลในการประกาศใช้สมณอัตตาณัติ “ผู้พิทักษ์ธรรมประเพณี” (TRADITIONIS CUSTODES)
- สมณลิขิตจากพระสันตะปาปาฟรานซิส
ถึงอาร์ชบิชอป ริโน ฟิสิเกลลา (Archbishop Rino Fisichella)