Skip to content
เจ้าหน้าที่สมณสภาเพื่อกฎหมายในวันอังคารได้นำแสดงกฎหมายใหม่แห่งประมวลกฎหมายของพระศาสนจักรเล่มที่ 6 ซึ่งว่าด้วย “บทลงโทษของพระศาสนจักร” (ภาพโดย BERTI HANNA/REA)

สันตะสำนักปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา บรรพที่ 6

โดยปรับวิธีการลงโทษโดยเฉพาะเกี่ยวกับโทษความผิดด้วยการล่วงละเมิดผู้เยาว์และการคอรัปชั่น

นครรัฐวาติกันได้พิมพ์ประมวลกฎหมายอาญาของพระศาสนจักรคาทอลิกขึ้นมาใหม่ที่รอกันมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งเป็นการปฏิรูปที่เริ่มต้นกันมาตั้งแต่ปี 2007 ในสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16

        ผู้มีอำนาจหน้าที่จากสมณสภาเพื่อการตีความกฎหมายพระศาสนจักรได้ออกมาแถลงการณ์เกี่ยวกับกฎหมายใหม่ของประมวลกฎหมายพระศาสนจักร 1983 บรรพที่ 6 ซึ่งว่าด้วย “บทลงโทษในพระศาสนจักร

        พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงอนุมัติและทรงบัญชาให้มีการปฏิรูปด้วยสมณธรรมนูญ “Pascite gregem Dei” (จงเลี้ยงดูฝูงแกะของพระเจ้า – Shepherd the flock of God) เป็นสมณธรรมนูญใหม่ที่ประกาศออกมาในวันเดียวกัน (23 พฤษภาคม 2021)

        ในเนื้อหาสาระที่แก้ไขกฎหมายพระศาสนจักร บรรพที่ 6 ในฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่ได้เจาะจงเป็นพิเศษในเรื่องสิ่งที่เกี่ยวกับความผิด เช่น ในความอ่อนแอตามปะสามนุษย์ การต่อสู้กับคอรัปชั่น กระบวนการการลงโทษ และข้อจำกัดของบทลงโทษ

“ความผิดต่อชีวิต ศักดิ์ศรี และเสรีภาพของมนุษย์”

        ประเด็นที่มีความสำคัญมากที่สุดคือการออกกฎหมายจำเพาะว่าด้วยการล่วงละเมิดทางเพศที่กระทำโดยสมณะหรือบรรพชิตต่อผู้เยาว์ หรือต่อบุคคลที่มีความอ่อนแอเปราะบางด้วยการลงโทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี

        กฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 1389 ระบุว่าสมณะท่านใดที่กระทำความผิดด้วยการล่วงละเมิดทางเพศ “กับผู้เยาว์หรือกับบุคคลที่ไม่สามารถใช้เหตุผลได้อย่างสมบูรณ์หรือกับผู้ที่กฎหมายให้การคุ้มครองเท่าเทียมกัน” อาจได้รับโทษ หรือแม้กระทั่งถูกปลด “ออกจากสถานภาพการเป็นสมณะ (บาทหลวง)”

        ความผิดทางอาญาเหล่านี้ บัดนี้ถูกนำมาไว้ภายใต้หมวด “ความผิดต่อชีวิต ศักดิ์ศรี และเสรีภาพของมนุษย์”  ก่อนการปรับปรุงในหมวดนี้เป็นส่วนหนึ่งของกรอบที่กว้างกว่านี้มากของความผิดต่อการถือโสดที่ล่วงละเมิดโดยบรรดาสมณะ

        ยิ่งไปกว่านั้นโทษเหล่านี้ขยายไปครอบคลุมถึงการให้การชี้แนะ หรือการแจกจ่ายภาพลามกอนาจารของผู้เยาว์ และ “การแสดงภาพลามาอนาจารไม่ว่าจะเป็นของจริงหรือของเทียม (สำเนาดัดแปลง การตัดต่อภาพ)” ที่กระทำโดยสมณะ

“การปรับปรุงมีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการล่วงละเมิด”

        พระศาสนจักรก้าวไกลไปข้างหน้าอีกหนึ่งก้าวด้วยการเปิดความเป็นไปได้ในการลงโทษทั้งนักบวช และฆราวาสที่กระทำความผิดเกี่ยวกับประเด็นนี้

        ไม่ว่าผู้ใดจะเป็นสมณะหรือไม่ก็ตามที่ได้กระทำความผิดด้วยการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เยาว์จะต้องถูกปลดออกจากสำนักงาน หรือการทำหน้าที่ในพระศาสนจักร

        “การเปลี่ยนแปลงนี้มีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการล่วงละเมิด”   เน้นโดยเคลาเดีย จัมปีเอโร (Claudia Giampietro) นักฎหมายพระศาสนจักรที่ทำงานอยู่ในสหพันธ์นักบวชสากลแห่งอธิการคณะนักบวชหญิง (UISG) 

        อันที่จริงการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีความสำคัญยิ่งนี้เป็นการตอบสนองต่อการเรียกร้องของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือผู้เคราะห์ร้ายในหลายปีที่ผ่านมา โดยให้รวมถึงผู้ใหญ่ที่มีความอ่อนแอเปราะบาง ตามนัยของประมวลกฎหมายของพระศาสนจักร

        “นี่นำไปสู่การอภิปรายของบรรดานักกฎหมายเกี่ยวกับความยากลำบากในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความอ่อนแอในมิติของกฎหมาย” จัมปีเอโร (Giampietro) กล่าว แต่ในบรรดาผู้ที่ตกเป็นผู้เคราะห์ร้าย (เหยื่อ) หลายคนที่รู้สึกว่ากรุงโรมยังใส่ใจเรื่องนี้ไม่เพียงพอ

        “นับว่าเป็นความโชคร้ายที่พวกเรายังอยู่ห่างไกลจากคำว่าไม่ต้องประนีประนอม หรือ zero tolerance” นางมารีย์ คอลลินส์ (Marie Collins) อดีตสมาชิกของคณะกรรมการแห่งสันตะสำนักเพื่อปกป้องคุ้มครองผู้เยาว์ตั้งข้อสังเกต ซึ่งในที่สุดเธอขอลาออกจากคณะกรรมการดังกล่าว

        เธอกล่าวกับหนังสือพิมพ์ La Croix ว่า บรรดาสมณะที่กระทำความผิดควรถูกปลดออกจากหน้าที่โดยอัตโนมัติ นี่เป็นสิ่งชัดเจนในการตัดสินว่าจะปลดหรือไม่ปลดสมณะที่กระทำความผิดอันเป็นเรื่องในดุลพินิจของแต่ละคน” นางคอลลินส์กส่าว

ความสมดุลที่เหมาะสมของบทลงโทษ

        “การกระทำความผิดที่ถูกปกปิดไว้ ตามกฎหมายฉบับนี้อาจเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน  และความสมดุลของการลงโทษซึ่งต้องนำมาพิจารณาด้วย” อาร์ชบิชอปชาวฟิลิปปินส์ พระคุณเจ้าจานโนเน (Iannone) ซึ่งเป็นประธานของสมณสภาเพื่อการตีความด้านกฎหมายตั้งแต่ปี 2018 กล่าว

        “การลงโทษโดยอัตโนมัติย่อมไร้ความหมาย นี่เป็นหลักการแห่งความยุติธรรม” ท่านกล่าวต่อไปว่า “การลงโทษต้องผ่านการตรวจสอบอย่างรอบคอบด้วยการตัดสินในแต่ละคดี ทว่ากฎหมายโดยทั่วไปที่ได้รับการอนุมัติจากพระสันตะปาปามีความก้าวหน้าไปไกลกว่าประเด็นที่เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เยาว์”

        “นี่เป็นเรื่องของการใช้มาตรการใหม่อย่างเป็นรูปธรรมที่จะตีความเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของการรับผิดชอบของผู้นำพระศาสนจักร และการใช้ความรับผิดชอบด้วยความโปร่งใสตามกระบวนการของกฎหมายพระศาสนจักร” จัมปิเอโร กล่าว

ประเภทของความผิดใหม่ที่ได้ระบุไว้ชัดเจน

        ตัวอย่าง การปฏิรูปกฎหมายพระศาสนจักร บรรพที่ 6 ยังได้นำเสนอประเภทความผิดใหม่ ในการล่วงละเมิดความลับแห่งสันตะสำนัก ซึ่งมีการกล่าวอย่างเปิดเผย นอกนั้นยังมีมาตรการหลายรูปแบบต่อการปราบปรามคอรัปชั่น

        “บุคคลใดที่ให้หรือสัญญาที่จะให้บางสิ่ง (การติดสินบนเจ้าหน้าที่) เพื่อว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งผู้มีอำนาจหรือมีหน้าที่ในพระศาสนจักรในการปฏิบัติสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จะต้องถูกลงโทษตามประมวลกฎหมายมาตรา 1336 §§ 2-4,” ดังที่มาตรา 1377 ระบุไว้

        ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความหนักหน่วงของความผิดที่ได้กระทำ โทษอาจถึงการขอให้ลาออกจากงานและหน้าที่ที่กระทำ จนกระทั่งอาจถูก “ปลดออกจากสสถานภาพของการเป็นสมณะ”

        โทษเดียวกันนี้อาจใช้ได้สำหรับ “บาดหลวงหรือนักบวช” ที่ได้กระทำความผิดทางด้านเศรษฐกิจ

        ประเด็นสำคัญประการหนึ่งของกฎหมายใหม่นี้ก็คือ การพัฒนาระบบทางศาลขึ้นใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกฎหมายฉบับเก่า

        นี่คือกรณีของ “โทษที่หมดอายุความ” ที่ใช้กับผู้กระทำความผิด ซึ่งในขณะนี้ยังคงค้างอยู่มากมายหลายคดี

        โทษที่ศาลพระศาสนจักรจะตัดสินมีความเป็นไปได้ในหลายรูปแบบ เช่น ห้ามสวมใส่เครื่องแบบสมณะ/นักบวช กักตัวให้อยู่แต่ในบริเวณที่ถูกกำหนดไว้ หรือปลดออกจากสถานภาพการเป็นสมณะ นี่เป็นวิธีการที่เหมาะสมในการปกป้องคุ้มครองประชาสัตบุรุษ

        บทลงโทษอื่น ๆ ยังมีระบุในตัวบทกฎหมายถึงความเป็นไปได้ที่จะบังคับให้มีการ “การจ่ายค่าปรับด้วยจำนวนเงินเพื่อจุดประสงค์ของพระศาสนจักร” นี่เป็นโทษที่ใช้กันอยู่แล้วในศาลของพระศาสนจักรบางแห่ง เช่น บังคับให้ผู้กระทำความผิดถวายเงินจำนวนหนึ่งให้กับสมาคมคาทอลิกเพื่อบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ

        ทว่า ณ บัดนี้ ในการแก้ไขกฎหมายได้มีการระบุอย่างอย่างชัดเจนถึงความเป็นไปได้ที่จะเรียกร้องการจ่ายเงินให้กับเขตศาสนปกครอง (สังฆมณฑล) หรือสำหรับกองทุนแห่งชาติเพื่อชดเชยให้กับผู้ที่ถูกล่วงละเมิดเพศโดยเฉพาะการเยียวยาให้กับผู้เยาว์

        รูปแบบใหม่อีกประการหนึ่งฏ็คือไม่ว่าผู้ใด “ที่พยายาม” ทำการบวชสตรีให้เป็นสมณะ ผู้นั้นจะถูกตัดขาดจากพระศาสนจักรด้วย “latae sententiae (ipso facto)” – กล่าวคือโดยถูกโทษแบบอัตโนมัติด้วยตัวของการกระทำนั่นเอง แม้ว่าการห้ามเรื่องนี้จะต้องถูกลงโทษจริง แต่ก็ไม่ได้มีการระบุอย่างเปิดเผยในประมวลกฎหมายของพระศาสนจักรในปี 1983

        คุณพ่อบรูโน กอนซาลเวส (Bruno Gonzalves) สมณะบริกร/นักบวชคณะโอราตอเรียน (Oratorian) ผู้สอนวิชากฎหมาย ณ สถาบันคาทอลิกแห่งกรุงปารีสกล่าวว่า “การปฏิรูปกฎหมายพระศาสนจักร บรรพที่ 6 นี้ไม่ได้เปลี่ยนหลักการพื้นฐานที่ใช้ในกฎหมายอาญาจนกระทั่งบัดนี้ ทว่านี่เป็นวิธีการที่มีประสิทธิผล และเหมาะสมในการปกป้องคุ้มครองประชาสัตบุรุษในพระศาสนจักร”

        ท่านกล่าวต่อไปว่า “เรานำเอาส่วนนี้ของกฎหมายพระศาสนจักรมาปรับปรุงแก้ไขใหม่ โดยทำให้เนื้อหาง่ายขึ้นที่สามารถอ่านและเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น เรามีความปรารถนาที่จะทำให้กฎหมายเหล่านี้นำไปปฏิบัติอย่างรูปง่ายขึ้น”

        นักกฎหมายพระศาสนจักรหลายท่านกล่าวว่า “กฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้ยังยืนยันถึงความคิดในการแก้ไขเกี่ยวกับการเป็นที่สะดุดในสังคม ซึ่งมีการกล่าวถึงแทบจะทั้งเล่มของประมวลกฎหมายพระศาสนจักร บรรพที่ 6”

        ในทำนองเดียวกันกฎหมายพระศาสนจักรที่แก้ไขใหม่ บัดนี้บังคับให้บรรดาบิชอป ผู้นำพระศาสนจักรจำเป็นต้องดำเนินการลงโทษที่เป็นการตัดสินของศาลพระศาสนจักรภายใต้กฎเกณฑ์ของการลงโทษ

ข้อบังคับใหม่สำหรับบรรดาบิชอป

        บัดนี้บรรดาบิชอปจำเป็นต้องดำเนินกระบวนการตามกฎหมายพระศาสนจักรกับสมณะที่ปล่อยปละละเลยต่อคำตักเตือนที่ในอดีตการตักเตือนเป็นเพียงแค่ทางเลือก

        คุณพ่อกอนซาลเวส ผู้เชี่ยวชาญการตีความด้านกฎหมาย ชี้ให้เห็นว่าในบางคดีบัดนี้ผู้พิพากษาจำเป็นที่จะต้องเพิ่มโทษ ในขณะที่ในอดีตนั้นการตักเตือนเป็นเพียงแค่ทางเลือกแบบหลีกเลี่ยงการลงโทษที่ได้กระทำความผิด

        นี่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความผิดถูกกระทำโดยบุคคลหนึ่ง “ซึ่งเพื่อที่จะกระทำความผิด โดยใช้ตำแหน่งของการที่มีอำนาจหรือหน้าที่ในทางที่ผิด”

        นี่จึงเป็นวิธีหนึ่งของการลงโทษอย่างมีระบบในเรื่องที่ร้ายแรง อย่างเช่นการใช้อำนาจไปในทางที่ผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นกรณีของการล่วงละเมิดทางฝ่ายจิต ทำให้ผู้เคราะห์ร้ายได้รับบาดแผลทางจิต ดังนั้นบิชอปต้องเข้าใจเรื่องการตีความเกี่ยวกับความรัก ความเมตตาอย่างถูกต้อง และการคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายที่พวกเขาเรียกร้อง

        หลังจากการทำงานเพื่อการแก้ไขบทลงโทษตามนัยของกฎหมายพระศาสนจักร บรรพที่ 6 ที่ใช้เวลามากกว่า 13 ปี บัดนี้พวกเราต้องนำการปรับเปลี่ยนประเด็นสำคัญเหล่านี้มาใช้อย่างรูปธรรม

        กฎหมายพระศาสนจักรฉบับปรับปรุงนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 8 ธันวาคม 2021 – เป็นวันที่พระศาสนจักรคาทอลิกสมโภชพระแม่มารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บบทความทอันมีนัยสำคัญทางกฎหมายพระศาสนจักรมาแบ่งปันและไตร่ตรอง)

https://international.la-croix.com/news/religion/the-catholic-church-reforms-its-penal-law/14403