Skip to content

สมณลิขิตในรูปแบบพระสมณอัตตาณัติ (Motu Proprio)
ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส “ANTIQUUM MINISTERIUM”

ศาสนบริกรอันเก่าแก่โบราณ ในการสถาปนาสถาบันครูคำสอน

พันธกิจการสอนคำสอนในพระศาสนจักรเป็นเรื่องโบราณ นักเทววิทยาทั่วไปถือว่าแบบฉบับแรกๆ ที่ปรากฏให้เห็นแล้วในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่

 

1. การรับใช้ในการสอนคำสอนอาจเท้าความย้อนหลังไปถึง “อาจารย์” เหล่านั้นที่มีการเอ่ยถึงโดยอัครสาวกในจดหมายที่เขียนถึงชาวโครินธ์ “พระเจ้าทรงกำหนดให้บางคนในพระศาสนจักรเป็นอัครสาวก เป็นประกาศก เป็นอาจารย์ เป็นผู้ทำงานที่ยิ่งใหญ่ อันมีพระพรแห่งการเยียวยา ให้ความช่วยเหลือ เป็นผู้บริหาร และพูดได้หลายภาษา ทุกคนเป็นอัครธรรมทูตหรือเปล่า? ทุกคนเป็นประกาศกหรือเปล่า? ทุกคนเป็นอาจารย์หรือเปล่า? ทุกคนทำงานที่ยิ่งใหญ่หรือเปล่า? ทุกคนมีพระพรในการเยียวยาหรือเปล่า? ทุกคนพูดได้หลายภาษาหรือเปล่า? ทุกคนเป็นคนตีความพระคัมภีร์หรือเปล่า? ทุกอย่างล้วนเป็นพระพรฝ่ายจิตที่ยิ่งใหญ่ แต่ข้าพเจ้าจะแสดงให้ท่านเห็นว่ายังมีหนทางที่วิเศษกว่านั้นอีก (1 คร. 12: 28-31)

นักบุญลูกาเริ่มต้นพระวรสารว่า “หลังจากที่ได้ตรวจสอบทุกสิ่งอย่างแม่นยำแล้ว ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเช่นเดียวกันที่จะบรรทึกทุกสิ่งตามลำดับเพื่อท่านเทโอฟีลุสผู้เลอเลิศ เพื่อที่ท่านจะได้ตระหนักรู้ถึงความเป็นศูนย์กลางแห่งคำสอนที่ท่านได้รับ” (ลก. 1: 3-4) ผู้นิพนธ์พระวรสารดูเหมือนจะรับรู้อย่างดีว่าการเขียนของตนในการเสนอรูปแบบพิเศษของการอบรมที่สามารถให้หลักประกันที่แน่นอนสำหรับผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปแล้ว ในส่วนของอัครธรรมทูตเปาโล ท่านบอกชาวกาลาเทียว่า “ผู้ที่ได้รับการสอนในพระวาจาควรที่จะแบ่งปันทุกสิ่งกับผู้สอนของตน” (กท. 6: 6) ดังที่ปรากฏข้อความนี้ยังให้รายละเอียดอีกประการหนึ่ง ซึ่งพูดถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันแห่งชีวิตว่าเป็นดุจเครื่องหมายของการบังเกิดผลแห่งการสอนคำสอนที่ถูกต้องถ่องแท้

 

2. ตั้งแต่แรกเริ่มชุมชนคริสตชนมีคุณสมบัติในหลากหลายรูปแบบแห่งการประกอบพันธกิจที่ปฏิบัติโดยบรรดาชายหญิง ผู้ที่อ่อนน้อมกับการทำงานของพระจิต พวกเขาอุทิศชีวิตของตนเองให้กับการสร้างพระศาสนจักร บางครั้งพระพรที่พระจิตหลั่งไหลให้กับผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปในรูปแบบที่เห็นได้ ที่สัมผัสได้ในการรับใช้ชุมชนคริสตชน พวกเราต่างก็รับรู้ว่านี่เป็น “diakonia” หรือ การบริการรับใช้ ที่จำเป็นอันขาดมิได้สำหรับชุมชน อัครธรรมทูตเปาโลกยืนยันด้วยอำนาจเมื่อท่านประกาศว่า “มีพระพรฝ่ายจิตหลายประการแต่มีพระจิตพระองค์เดียว  มีการรับใช้หลายอย่าง แต่มีพระเยซูคริสต์เพียงพระองค์เดียว  มีการกระทำที่แตกต่างกันหลายอย่าง แต่มีพระเจ้าเพียงพระองค์เดียว ผู้ซึ่งกระทำทุกสิ่งในทุกคน พระพรของพระจิตที่มอบให้กับปัจเจกบุคคลก็เพื่อคุณประโยชน์บางสิ่งบางประการ  บางคนได้รับพระพรของพระจิตในปรีชาญาณ  บางคนได้รับพระพรในความสามารถแสดงออกเรื่องของความรู้ บ้างก็ในเรื่องของความเชื่อ บ้างก็ในการเยียวยารักษา บ้างก็ในการกระทำที่ยิ่งใหญ่ บ้างก็ในการทำนาย บ้างก็ในการไตร่ตรองถึงพระจิต บ้างก็ในการพูดได้หลายภาษา บ้างก็ในการตีความพระคัมภีร์ แต่จะมีพระจิตเพียงพระองค์เดียวที่ประทานสิ่งเหล่านี้ด้วยการแจกจ่ายพระพรให้แต่ละบุคคลตามที่พระองค์ทรงปรารถนา” (1 คร. 12: 4-11)

ดังนั้นภายใต้บริบทของธรรมประเพณี พระพรของพระจิตที่กว้างใหญ่กว่าในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ พวกเราอาจทราบได้ว่าผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปบางคนปฏิบัติพันธกิจแห่งการถ่ายทอดในรูปแบบแห่งกายภาพในสถานการณ์ต่างๆในชีวิตด้วยคำสอนของอัครธรรมทูตและผู้ประพันธ์พระวรสาร (เทียบ สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ในพระธรรมนูญสัจธรรมเรื่องการเผยแสดงของพระเจ้า ที่เรียกว่า Dei Verbum, ข้อ 8) พระศาสนจักรยอมรับการรับใช้ประเภทนี้ในฐานะที่เป็นการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมแห่งพระพรพิเศษส่วนตัว ซึ่งมีส่วนช่วยได้เป็นอย่างมากในการทำพันธกิจแห่งการปะกาศพระวรสารของพระศาสนจักร การมองไปยังชีวิตของชุมชนคริสตชนยุคแรกของพระศาสนจักร ที่ดำเนินการในการเผยแพร่พระวรสารยังสนับสนุนพระศาสนจักรจนทุกวันนี้ให้ชื่นชมยินดีกับหนทางใหม่สำหรับพระศาสนจักรที่จะต้องซื่อสัตย์กับพระวาจาของพระเจ้า เพื่อว่าพระวรสารของพระองค์จะสามารถนำไปเทศนาให้กับสิ่งสร้างทั้งหลายทั้งปวง

 

3. ประวัติศาสตร์แห่งการประกาศพระวรสารในช่วงสองพันปีที่แล้วแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงประสิทธิภาพของพันธกิจแห่งการสอนคำสอน บิชอป บาดหลวง และสังฆานุกร พร้อมกับฆราวาสชายหญิงในชีวิตผู้ถวายตัวได้อุทิศชีวิตตนเองในการสอนคำสอนเพื่อความเชื่อ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่สนับสนุนอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับชีวิตของมนุษย์ทุกคน บางคนก็รวมกลุ่มเข้าด้วยกัน ส่วนคนอื่นก็แบ่งปันพระพรพิเศษระหว่างกัน และก่อตั้งคณะนักบวช ซึ่งอุทิศตนอย่างสิ้นเชิงให้กับการสอนคำสอน

พวกเราไม่อาจที่จะลืมบรรดาฆราวาสชายหญิงจำนวนนับไม่ถ้วน ผู้มีส่วนโดยตรงในการเผยแพร่พระวรสารด้วยการสอนคำสอน ชายหญิงซึ่งมีความเชื่อล้ำลึก ผู้เป็นประจักษ์พยานที่แท้จริงแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ซึ่งในบางกรณียังสามารถเป็นผู้สร้างพระศาสนจักรและในที่สุดต้องสละเสียชีวิตเป็นมรณะสักขี ในยุคสมัยของพวกเราก็เช่นเดียวกันบรรดาครูคำสอนที่มีความสามารถ และอุทิศตนเองเป็นผู้นำของชุมชนในภูมิภาคต่างๆ ของโลกและสามารรถทำพันธกิจอันล้ำค่าเพื่อถ่ายทอดและการเจริญเติบโตในความเชื่อ รายชื่ออันยาวเหยียดของบรรดาบุญราศี นักบุญและมรณะสักขี ผู้เป็นครูคำสอนได้ทำให้พันธกิจของพระศาสนจักรให้เจริญก้าวหน้าไปอย่างมีนัยสำคัญ และสมควรที่จะต้องได้รับการยอมรับ เพราะนี่หมายถึงทรัพยากรผู้ทรงคุณค่าไม่สำหรับเพียงแค่ครูคำสอนเท่านั้น แต่ยังสำหรับประวัติศาสตร์ทั้งปวงแห่งชีวิตฝ่ายจิตของคริสตชนด้วย

 

4. เริ่มต้นด้วยสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 พระศาสนจักรเกิดความนิยมที่จะฟื้นฟูขึ้นใหม่เกี่ยวกับความสำคัญของการที่บรรดาฆราวาสมีส่วนร่วมในงานของการประกาศพระวรสาร  คณะปิตาจารย์แห่งสภาสังคายนาย้ำเสมอถึงความสำคัญของความจำเป็นสำหรับฆราวาสที่ต้องมีส่วนร่วมโดยตรงในหนทางต่างๆ ซึ่งสามารถที่แสดงออกซึ่งพระพรของตนในการสร้างพระศาสนจักร หรือ “plantation Ecclesiae” และการพัฒนาชุมชนคริสตชน “ที่สมควรจะได้รับการชมเชยคือดุจดังกองทัพครูคำสอนทั้งชายและหญิง ซึ่งพวกเราเห็นพวกเขาในเรื่องของงานธรรมทูตท่ามกลางชนชาติต่างๆ พวกเขามีเจตนารมณ์ล้ำลึกในความเชื่อ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้งานของพวกเขามีความโดดเด่น และมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเผยแพร่ความเชื่อ และพระศาสนจักรโดยอาศัยการทำงานอันยิ่งใหญ่ของพวกเขา ในยุคของพวกเราซึ่งมีศาสนบริกรบาดหลวงน้อยลงในการประกาศพระวรสารให้กับผู้คนจำนวนมากในการทำงานอภิบาล บทบาทของครูคำสอนจึงมีความสำคัญที่สุด” (เทียบ สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 กฤษฎีกาเรื่องพันธกิจธรรมทูตของพระศาสนจักร “Ad Gentes”, ข้อ 17)

        ในบรรดาคำสอนที่สำคัญแห่งสภาสังคายนาควรที่จะมีการกล่าวถึงความสนใจอย่างสม่ำเสมอของบรรดาพระสันตะปาปา สมัชชาซีน็อดของบรรดาบิชอป สภาบิชอปคาทอลิกในประเทศต่างๆ ซึ่งในหลายทศวรรษที่แล้วมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการฟื้นฟูการสอนคำสอน คำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกจากสมณสาส์นต่าง เช่น Catechesi Tradendae, General Catechetical directory, General Directory for catechesis และ Directory for catechesis เมื่อเร็วๆ นี้ รวมถึงหนังสือคู่มือคำสอนระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับเขตศาสนปกครองต่าง ๆ ต่างก็ยืนยันถึงการเป็นศูนย์กลางของการสอนคำสอน ซึ่งจำเป็นต้องเป็นอันดับแรกของการศึกษา และการอบรมอย่างต่อเนื่องสำหรับผู้ที่มีความเชื่อ

 

5. โดยปราศจากความลำเอียงกต่อบรรดาบิชอป ซึ่งท่านต้องเป็นครูคำสอนคนแรกในเขตศาสนปกครองของตนเอง ซึ่งเป็นงานที่ต้องแบ่งปันกับบรรดาบาดหลวงของตนเอง หรือมอบให้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของพ่อแม่ในการอบรมลูกหลานของตน (เทียบ CIC มาตรา 774 §2; CCEO มาตรา 618) พร้อมกับควรรับรู้อย่างดีถึงบรรดาฆราวาสชายหญิง ผู้ถูกเรียกโดยผ่านทางศีลล้างบาปให้ต้องร่วมมือกับงานสอนคำสอน (เทียบ CIC มาตรา 225; CCEO มาตรา 401 และมาตรา 406) ประเด็นนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนในทุกวันนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากพวกเรารับรู้ได้ดีกว่าเดิมถึงความจำเป็นแห่งการประกาศพระวรสารในโลกร่วมยุคสมัย (เทียบ สมณสาส์นเตือนใจความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร – Evangelii Gaudium, ข้อ 163-168)และวัฒนธรรมแห่งโลกาภิวัตน์ (เทียบ สมณสาส์นเวียน พวกเราทุกคนเป็นพี่น้องกัน – Fratelli Tutti, ข้อ 100, 138)  นี่เรียกร้องปฏิกิริยาที่จริงใจจากบรรดาเยาวชนโดยที่ยังไม่ต้องพูดถึงความจำเป็นของยุทธวิธีอันสร้างสรรค์ และทรัพยากรที่สามารถนำมาเปลี่ยนแปลงการประกาศพระวรสารให้กับงานธรรมทูตที่พระศาสนจักรกระทำ ความซื่อสัตย์ต่ออดีตและความรับผิดชอบสำหรับปัจจุบันอันเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับพระศาสนจักรที่จะต้องนำไปฏิบัติในงานธรรมทูตในโลก

        การปลุกความกระตือรือร้นส่วนตัวในส่วนของผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปทุกคนและการฟื้นฟูการรับรู้ถึงกระแสเรียกของตนในการทำพันธกิจที่เหมาะสมในชุมชนเรียกร้องความตั้งใจที่ต้องฟังเสียงของพระจิต ผู้ทรงประทับอยู่และทำให้บังเกิดผลเสมอ (เทียบ  CIC มาตรา 774 §1; CCEO มาตรา 617) ทุกวันนี้ก็เช่นเดียวกันพระจิตทรงเรียกร้องให้บรรดาชายหญิงออกไปพบทุกคนที่กำลังรอคอยที่จะได้พบกับความสวยสดงดงาม ความดี และความจริงแห่งความเชื่อของคริสตชน เป็นหน้าที่ของผู้อภิบาล ผู้นำพระศาสนจักรที่ต้องให้การสนับสนุนพวกเขาในกระบวนการนี้ และสร้างความมั่งคั่งสมบูรณ์ให้กับชีวิตของชุมชนคริสตชนโดยอาศัยการยอมรับพันธกิจของบรรดาฆราวาส ผู้ซึ่งสามารถทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยอาศัย “การสอดแทรกคุณค่าของคริสตชนเข้าไปในภาคส่วนของสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ (Evangelii Gaudium, ข้อ 102)

 

6. ฆราวาสแพร่ธรรมไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นงานของฆราวาส ซึ่งเรียกร้องให้ฆราวาส “แสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้าด้วยการดำเนินการเกี่ยวงานทางโลกและชักนำให้เป็นไปตามน้ำพระประสงค์ของพระเจ้า (เทียบ สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 พระธรรมนูญแห่งสัจธรรมเรื่องพระศาสนจักร Lumen Gentium, ข้อ 31) ในชีวิตประจำวันของพวกเขาที่คลุกคลีอยู่กับครอบครัว และความสัมพันธ์กันในสังคม ฆราวาสจะรับรู้อย่างดีว่า พวกเขา “ได้รับกระแสเรียกพิเศษนี้เพื่อที่จะทำให้พระศาสนจักรมีตัวตนและบังเกิดผลในสถานที่ และสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น ณ ที่ซึ่งมีแต่พวกเขาเท่านั้นที่จะกลายเป็นเกลือของแผ่นดิน” (Ibid., ข้อ 33) แต่จะเป็นการดีที่จะจำไว้ว่านอกเหนือจากการแพร่ธรรมแบบนี้แล้ว “ฆราวาสสามารถถูกเรียกร้องด้วยวิธีการต่างๆ สำหรับการร่วมมือโดยทันทีในการแพร่ธรรมของพระศาสนจักรเฉกเช่นชายหญิงเหล่านั้นที่ช่วยอัครธรรมทูตเปาโลในพระวรสารโดยทำงานอย่างเข้มแข็งในพระเจ้า (Ibid.)

บทบาทของครูคำสอนเป็นรูปแบบพิเศษอย่างหนึ่งของการรับใช้ผู้อื่นภายในชุมชนคริสตชน ประการแรกครูคำสอนถูกเรียกร้องให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการับใช้งานอภิบาลในการส่งมอบความเชื่อต่อไปตามที่พัฒนาตามขั้นตอนต่างๆตั้งแต่เรี่มต้นจนถึงขั้นการ “ประกาศหลักของความเชื่อ” (kerygma – เก-ริก-มา) ต่อด้วยการอบรมที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตใหม่ในพระเยซูคริสต์ และเตรียมตัวที่จะเข้าเป็นคริสตชน จากนั้นจึงเป็นการอบรมแบบต่อเนื่องซึ่งจะทำให้แต่ละคนมีความรับผิดชอบต่อความหวังภายในตัวพวกเขา (เทียบ 1 ปต. 3: 15) ในขณะเดียวกันครูคำสอนทุกคนต้องเป็นประจักษ์พยานในข้อความเชื่อ เป็นอาจารย์และมีชีวิตแบบสมาธิพิศเพ่ง เป็นกัลยาณมิตร และเป็นครูผู้ทำการสอนเพื่อพระศาสนจักร จำเป็นต้องอาศัยการสวดภาวนา การศึกษา และการมีส่วนร่วมโดยตรงในชีวิตของชุมชนเท่านั้นที่ทำให้พวกเขาสามารถเจริญเติบโตขึ้นในอัตลักษณ์และสู่ความสมบูรณ์ครบครัน พร้อมกับความรับผิดชอบซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น (เทียบสมณกระทรวงเพื่อส่งเสริมการประกาศพระวรสารใหม่ คู่มือการสอนคำสอน – Directory for Catechesis, ข้อ 113)

 

7. ด้วยการมองการณ์ไกล นักบุญเปาโลที่ 6 พระสันตะปาปา จึงได้ออกสมณลิขิตในรูปแบบสมณอัตตาณัติ ชื่อ “Ministeria Quaedam” (ลำดับขั้นของศาสนบริกรต่าง ๆ)ด้วยความตั้งใจไม่เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพันธกิจของผู้อ่านและผู้ถือเทียนให้เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมทางประวัติศาสตร์เท่านั้น (เทียบ สมณลิขิตชื่อ Spiritus Domini) แต่ยังส่งเสริมพันธกิจอื่น ๆ รวมถึงของครูคำสอนด้วย “นอกจากพันธกิจทั่วไปสำหรับพระศาสนจักรจารีตลาติน ไม่มีสิ่งใดเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับสภาบิชอปคาทอลิกในการร้องขอกับสันตะสำนักสำหรับการสถาปนาสถาบันอื่น ๆ โดยอาศัยเหตุผลพิเศษพวกเขาถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น หรือเป็นคุณประโยชน์ในภูมิภาคของตนเอง ตัวอย่าง สำนักงานพนักงานบริการ (porter) สำนักงานเพื่อขับไล่ปิศาจจิตชั่ว  สำนักงานครูคำสอน” นอกนั้นยังมีการเชิญชวนที่เร่งด้วนแบบเดียวกัน ซึ่งพบได้ในสมณสาส์นเตือนใจ ชื่อ “Evangelii Nuntiandi” (ในการประกาศพระวรสาร)ที่เรียกร้องให้มีการไตร่ตรองถึงความต้องการในปัจจุบันของชุมชนคริสตชน ขอให้ดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์ต่อความเชื่อดั้งเดิม พระสันตะปาปาทรงสนับสนุนให้มีการพัฒนารูปแบบใหม่แห่งพันธกิจเพื่อการฟื้นฟูกิจกรรมในการอภิบาล ซึ่ง “พันธกิจเหล่านั้นที่ดูเหมือนว่าใหม่ แต่มีความสมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับประสบการณ์อันทรงชีวิตของพระศาสนจักรตลอดเวลาที่เนิ่นนานลุล่วงมาหลายศตวรรษ เช่นครูสอนคำสอน ซึ่งมีคุณค่ามากที่จะมีการสถาปนา นี่เป็นชีวิตและความเจริญก้าวหน้าของพระศาสนจักร  และสำหรับความสามารถที่จะสร้างอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อที่จะนำไปให้ถึงผู้ที่อยู่ห่างไกลจากพระศาสนจักร” (นักบุญเปาโลที่ 6 พระสันตะปาปา สมณสาส์นเตือนใจ Evangelii Nuntiandi, ข้อ 73)

เพื่อความแน่ใจ “โดยการรับรู้อย่างดียิ่งขึ้นถึงอัตลักษณ์และพันธกิจของบรรดาฆราวาสในพระศาสนจักร อันที่จริงแล้วพวกเราสามารถพึ่งพาได้กับชาวคาทอลิกหลายคน แม้ว่ายังมีจำนวนที่ยังไม่เพียงพอซึ่งพวกเขามีจิตสำนึกที่หยั่งรากลึกในชุมชน และมีความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ในเรื่องของความรักเมตตา การสอนคำสอน และการเฉลิมฉลองความเชื่อ” (สมณสาส์นเตือนใจ Evangelii Gaudium, ข้อ 102) ดังนั้นจึงมีการต้อนรับพันธกิจของบรรดาฆราวาส เช่น ครูคำสอน ซึ่งจะเน้นหนักค่อนข้างไปในงานธรรมทูตอันเหมาะสมกับบุคคลที่ได้รับศีลล้างบาป ทว่าต้องเป็นงานที่เรียกได้ว่านั่นเป็นเนื้องานแท้ๆ “ของฆราวาส” โดยหลีกเลี่ยงการกระทำทุกรูปแบบที่เป็นหน้าที่ของบรรดาศาสนบริกรสมณะ

8. พันธกิจนี้มีมิติด้านกระแสเรียกที่ชัดเจน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ได้ในพิธีของการสถาปนา ซึ่งแน่นอนว่าเรียกร้องให้ต้องมีการไตร่ตรองแยกแยะในส่วนของบิชอป ความจริงแล้วนี่เป็นรูปแบบตามปกติในการรับใช้พระศาสนจักรท้องถิ่นตามความต้องการเชิงอภิบาลที่เล็งเห็นและกำหนดโดยฐานันดรศาสนบริกรสมณะท้องถิ่น แต่ก็เป็นงานที่กระทำโดยบรรดาฆราวาส ดังที่เรียกร้องจากธรรมชาติของพันธกิจ ซึ่งเป็นการเหมาะสมว่าผู้ที่ถูกเรียกให้ทำหน้าที่ในสถาบันครูคำสอน ไม่ว่าเขาจะเป็นชายหรือหญิง ผู้ที่มีความเชื่อแน่นแฟ้นและมีวุฒิภาวะอีกทั้งเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในชีวิตของชุมชนคริสตชน เช่น พวกเขาสามารถให้การต้อนรับผู้อื่น เป็นผู้มีใจกว้างโอบอ้อมอารี และดำเนินชีวิตในความเป็นหนึ่งเดียวกันฉันพี่น้อง พวกเขาควรได้รับการอบรมอย่างเหมาะสมในพระคัมภีร์ เทววิทยา การอภิบาล การอบรม เพื่อพวกเขาสามารถเป็นนักสื่อสารข้อความจริงแห่งความเชื่อ และควรมีประสบการณ์มาบ้างแล้วในการสอนคำสอน (เทียบ สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 กฤษฎีกาเกี่ยวกับหน้าที่การอภิบาลของบิชอปในพระศาสนจักร Christus Dominus, ข้อ 14; CIC มาตรา 231 §1; CCEO มาตรา 409) จำเป็นที่บรรดาครูคำสอนจะต้องเป็นเพื่อนร่วมงานที่ซื่อสัตย์กับบรรดาบาดหลวงและสังฆานุกร พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ไม่ว่าที่ใดที่มีความจำเป็น และได้รับแรงบันดาลใจจากความร้อนรนในการแพร่ธรรม

ดังนั้นหลังจากที่ได้พิจารณาถึงทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว และโดยอาศัยอำนาจที่สืบเนื่องมาจากอัครธรรมทูต เราจึง

 


ขอสถาปนา

สถาบันเพื่อพันธกิจฆราวาสครูคำสอน

        สมณกระทรวงเพื่อการนมัสการพระเจ้าและศีลศักดิ์สิทธิ์ จะพิมพ์คู่มือของสถาบันดังกล่าวเพื่อพันธกิจฆราวาสครูคำสอนเร็วๆ นี้

9. เรา (พระสันตะปาปา) ขอเชิญชวนสภาบิชอปคาทอลิกให้ดำเนินการกับพันธกิจครูคำสอนนี้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดกระบวนการที่จำเป็นในการจัดตั้งมาตรการทั่วไปสำหรับพันธกิจนี้ และกำหนดรูปแบบอันเหมาะสมเพื่อการรับใช้ ซึ่งบรรดาครูคำสอนทั้งชายหญิงถูกเรียกร้องให้ต้องปฏิบัติไปตามการชี้นำจากสมณอัตตาณัติฉบับนี้

10. สมัชชาซีน็อดแห่งพระศาสนจักรจารีตตะวันออก หรือคณะฐานันดรสมณะ อาจนำคำแนะนำนี้ไปใช้ในพระศาสนจักรที่มีการปกครองตนเองได้ตามลำดับที่สอดคล้องกันกับกฎหมายพิเศษ

11. บิชอปควรใช้ความพยายามทุกอย่างที่จะปฏิบัติตามคำเตือนใจของปิตาจารย์แห่งสภาสังคายนา “ผู้เลี้ยงแกะที่ดี… ทราบดีว่าพวกท่านได้รับการแต่งตั้งจากพระเยซูคริสต์เพื่อปฏิบัติพันธกิจแห่งการไถ่กู้ทั้งปวงของพระศาสนจักรต่อชาวโลกนั้นไม่ใช่ด้วยตัวของพวกท่านเอง ทว่าตรงกันข้ามพวกท่านชื่นชมว่า นี่เป็นหน้าที่อันน่าสรรสริญของพวกท่านที่จะต้องอภิบาลสัตบุรุษ ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าพันธกิจและพระพรพิเศษของพวกท่านเป็นวิถีทางที่แตกต่างกัน แต่จะเป็นหนึ่งในจิตใจเดียวกันในการร่วมมือร่วมใจกันเพื่อพันธกิจร่วมกัน” (Lumen Gentium, ข้อ 30) ขอให้การไตร่ตรองพระพรที่พระจิตไม่เคยพลาดโอกาสที่จะประทานให้กับพระศาสนจักรในการทำนุบำรุงความพยายามของพวกเขาในการปฏิบัติพันธกิจของฆราวาส ในการเป็นครูคำสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อความเจริญก้าวหน้าแห่งชุมชนของตนเอง

        เราจึงขอบัญชาสิ่งที่ระบุไว้ในสมณลิขิตรูปแบบสมณอัตตาณัติฉบับนี้ ให้มีผลบังคับใช้อย่างถาวร โดยมิต้องคำนึงถึงข้อกำหนดอื่นที่ขัดแย้งกับสมณลิขิตนี้ แม้ว่าจะมีค่าที่จะอ้างอิงถึงและขอให้มีการประกาศใช้โดยการพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ลอสแซร์วาตอเร โรมาโน (L’Oservatore Romano) โดยมีผลบังคับใช้ในวันเดียวกัน และมีการพิมพ์ในภายหลังในพระสมณะกิจจานุเบกษาแห่งสันตะสำนัก

        ให้ไว้ ณ กรุงโรม นักบุญจอห์นแห่งลาเตรัน วันที่ 10 พฤษภาคม 2021 ปีปฏิทินของนักบุญจอห์นแห่งอาวีลา บาดหลวงและนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักร ซึ่งเป็นปีที่เก้าแห่งสมณสมัยของเรา

(ฟรานซิส)

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บเอกสารสำคัญของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและไตร่ตรองเพื่อการปฏิบัติ)