Skip to content

10 ข้อคิดจาก “ความปิติยินดีแห่งความรัก”

โดย คุณพ่อ เจมส์ มาร์ติน SJ

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสได้ออก  พระสมณลิขิตเตือนใจ  “ความปิติยินดีแห่งความรัก” (Amoris  Laetitia – The Joy of Love) 19 มีนาคม 2016  ทรงขอให้พระศาสนจักรพบกับประชาชนแบบที่เขาเป็น  เข้าใจชีวิตที่ซับซ้อนของประชาชน  และเคารพมโนธรรมของประชาชน  เมื่อเกี่ยวกับการตัดสินใจด้านศีลธรรม ทรงขอให้เราอย่าตัดสินเร็วไป  และอย่ายื่นกฎเกณฑ์ให้โดยมิได้พิจารณาสิ่งที่ประชาชนติดขัด 

            จากการประชุมสมัชชาบิชอปสมัยวิสามัญ  เรื่องครอบครัว  5-19 ตุลาคม 2014 และ สมัยสามัญ  (ครั้งที่ 14) เรื่องครอบครัว ระหว่างวันที่ 4-25 ตุลาคม 2015  ณ นครรัฐวาติกัน  สมเด็จพระสันตะปาปาทรงยืนยันคำสอนของพระศาสนจักร เกี่ยวกับชีวิตครอบครัวและการแต่งงาน  แต่ทรงเน้นบทบาทมโนธรรม  และการไตร่ตรองด้านอภิบาล   จุดประสงค์เพื่อช่วยครอบครัวให้มีประสบการณ์ความรักของพระเจ้า  และรับรู้ว่าพระศาสนจักรต้อนรับสมาชิก  อาจเรียกได้ว่าเป็น วิธีอภิบาลใหม่ (ข้อ 199)

            ต่อไปนี้เป็น 10 ข้อที่เราควรรู้เกี่ยวกับพระสมณลิขิตเตือนใจฉบับนี้

  1. พระศาสนจักรต้องเข้าใจครอบครัว และเข้าใจแต่ละคนในความซับซ้อนของพวกเขา  ต้องพบประชาชนในที่เขาอยู่  ผู้อภิบาลต้องหลีกเลี่ยงการตัดสินที่ไม่คำนึงถึงความซับซ้อนของสถานการณ์หลากหลาย” (296) “ไม่ควรจะแยกออกเป็นพวกๆ  หรือจัดหมวดหมู่โดยใช้เกณฑ์ที่เข้มงวดมากเกินไป  จนไม่เหลือที่ว่างสำหรับการไตร่ตรองแยกแยะส่วนตัว  หรือสำหรับการอภิบาลที่เหมาะสม” (298) สัตบุรุษควรได้รับกำลังใจให้ดำเนินชีวิตตามพระวรสาร  ได้รับการต้อนรับให้เข้าวัด  เข้าใจความลำบาก  และปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยเมตตาธรรม  “การคิดว่าทุกสิ่งเป็นขาวหรือดำ” ต้องหลีกเลี่ยง (305)  พระศาสนจักร  ไม่สามารถประยุกต์ศีลธรรม  ราวกับว่ากฎเหล่านั้นเป็นเสมือนก้อนหินที่ทุ่มใส่ชีวิตของผู้คน (305)  พระองค์ขอให้เราเข้าใจ   มีเมตตา  และ ก้าวเดินไปด้วยกัน
  2. บทบาทของมโนธรรม เป็นเรื่องสำคัญในการตัดสินใจด้านศีลธรรม “มโนธรรมส่วนบุคคลจำเป็นต้องรวมเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสมกับธรรมเนียมปฏิบัติของพระศาสนจักรในสถานการณ์หนึ่งๆ ถึงแม้ว่าไม่ตรงกับความจริงเกี่ยวกับการแต่งงานตามความคิดของเรา” (303) กล่าวคือเราลืมความเชื่อตามประเพณีที่ว่ามโนธรรมส่วนบุคคล เป็นผู้ตัดสินสุดท้ายเกี่ยวกับชีวิตศีลธรรม พระศาสนจักร “ถูกเรียกร้องให้สร้างมโนธรรม (จิตสำนึก) ไม่ใช่หาสิ่งอื่นมาทดแทน” (37) สมเด็จพระสันตะปาปากล่าวว่าการสอนของพระศาสนจักรต้องสร้างมโนธรรม  แต่มโนธรรมเป็นมากว่าตัดสินว่าอะไรสอดคล้อง  หรือไม่สอดคล้องกับการสอนของพระศาสนจักร  มโนธรรมสามารถตระหนักถึงสิ่งที่พระเจ้าเองทรงเรียกร้อง (303) ด้วยความมั่นคงด้านศีลธรรม” ดังนั้นบรรดาผู้อภิบาลจำเป็นต้องช่วยประชาชนมิให้ทำตามกฎเกณฑ์ แบบชื่อๆ แต่ต้องรู้จัก “ไตร่ตรองแยกแยะ “ที่รวมการตัดสินใจ อาศัยการอธิษฐานขอพระเจ้าทรงช่วยเหลือ (304)
  3. ชาวคาทอลิกที่อย่าร้าง และสมรสใหม่ต้องการการยอมรับเข้ามาในพระศาสนจักรอย่างเต็ม(ใจ) มากยิ่งขึ้น  อย่างไร  ด้วยการมองสถานการณ์เฉพาะของพวกเขา  ด้วยการระลึกถึง “องค์ประกอบที่ทำให้บรรเทาลง” ด้วยการให้การแนะนำ “เรื่องภายใน”  (คือ สนทนาส่วนตัวระหว่างพระสงฆ์  และฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  หรือ ทั้งคู่) และด้วยการเคารพการตัดสินใจสุดท้ายเกี่ยวกับระดับการมีส่วนร่วมในวัด  ปล่อยให้ตามมโนธรรมของบุคคล (305.300)  คู่สมรสที่อย่าร้าง และสมรสใหม่  ควรได้รับความรู้สึกยังเป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักร  “พวกเขาไม่ได้ถูกขับออกจากพระศาสนจักร  และพวกเขาไม่ควรจะได้รับการปฏิบัติในทำนองนั้น  เพราะพวกเขายังคงเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนพระศาสนจักร “(243)
  4. สมาชิกทุกคนของครอบครัว ต้องได้รับการให้กำลังใจที่จะดำเนินชีวิตคริสตชนที่ดี   ข้อความส่วนใหญ่ในพระสมณลิขิตเตือนใจนี้  ประกอบด้วยข้อไตร่ตรองจากพระวรสาร และ การสอนของพระศาสนจักร  เรื่องความรัก  ครอบครัว และลูก  รวมทั้งข้อแนะนำภาคปฏิบัติ  จากสมเด็จพระสันตะปาปา ข้อตักเตือน  และบทเทศน์เกี่ยวกับครอบครัว  การแต่งงานที่ดีเป็นกระบวนการที่มีพลวัต  แต่ละฝ่ายไม่สมบูรณ์  “ความรักไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ  เพื่อจะทำให้เราเห็นคุณค่า”  (113,122) สมเด็จพระสันตะปาปา กำลังตรัสในฐานะผู้อภิบาล  ทรงให้กำลังใจไม่เฉพาะแก่คู่แต่งงานแล้วเท่านั้น  แต่คู่หมั้น  มารดามีครรภ์  ผู้ปกครองที่รับลูกบุญธรรม  แม่ม่าย  ลุงป้าและปู่ย่าตายายด้วย  พระองค์สนใจเป็นพิเศษไม่ให้ใครรู้สึกว่าไม่สำคัญหรือถูกตัดออกจากความรักของพระเจ้า
  5. เราไม่ควรพูดอีกต่อไปเกี่ยวกับประชาชน “ที่กำลังมีชีวิตในบาป” สมเด็จพระสันตะปาปาตรัสชัดเจนว่า  “เราจึงไม่อาจกล่าวอย่างง่ายๆอีกต่อไปว่าสถานการณ์ที่อยู่ในภาวะ “ไม่ปกติ” ทั้งหมดตกอยู่ในสถานะของบาปที่ทำให้ตาย” (301)  บางคนใน “สถานการณ์ไม่ปกติ” หรือครอบครัวไม่ตามประเพณี  เช่น แม่ที่ต้องเลี้ยงลูกลำพังคนเดียว  จำเป็นต้องได้รับ “ความเข้าใจ  การปลอบโยน  และการยอมรับ” (49) พระศาสนจักรต้องหยุดการพิจารณาประยุกต์ตามกฎเกณฑ์ด้านศีลธรรม  “ราวกับว่ากฎเหล่านั้นเป็นเสมือนก้อนหินทุ่มใส่ชีวิตของผู้คน”(305)
  6. สิ่งที่อาจเกิดผลในสถานที่หนึ่ง อาจไม่เกิดผลในสถานที่อื่น  สมเด็จพระสันตะปาปามิได้ตรัสในเรื่องปัจเจกชนเท่านั้น  แต่แบบสถานที่ทางภูมิภาคด้วย  “แต่ละประเทศหรือแต่ละภูมิภาคสามารถแสวงหาทางออกที่เหมาะสมมากกว่าสำหรับวัฒนธรรม  และความอ่อนไหวต่อขนบธรรมเนียมประเพณี  และความต้องการในท้องถิ่นของตน” (3) สิ่งที่มีเหตุผลด้านอภิบาลในประเทศหนึ่ง อาจดูไม่เหมาะในประเทศอื่น ด้วยเหตุนี้และอื่นๆ  ดังที่สมเด็จพระสันตะปาปาตรัสตอนเริ่มเอกสารนี้ว่าด้วยเหตุผลนี้  มิใช่ทุกปัญหาสามารถได้รับการจัดการด้วยอำนาจทางการของพระศาสนจักร (3)
  7. เรายืนยันคำสอนตามธรรมประเพณี เรื่องการแต่งงาน  แต่พระศาสนจักรไม่ควรทำให้ประชาชนแบกภาระด้วยการคาดหวังต่างๆที่ไม่ตรงสภาพข้อเท็จจริง  การแต่งงานเป็นระหว่างชายหนึ่ง และหญิงหนึ่ง  และอย่าร้างไม่ได้  เราไม่ถือว่าการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันเป็นการแต่งงาน  ในเวลาเดียวกัน บ่อยครั้งพระศาสนจักรได้ยัดเยียดความคิดด้านเทววิทยาที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติเรื่องการแต่งงาน  ให้แก่ประชาชน  ห่างไกลจากชีวิตประจำวันของประชาชน  (36)  บางครั้งอุดมคติเหล่านี้เป็น “ภาระอันใหญ่หลวง” (122) ตามจุดมุ่งหมายนั้น  บรรดาสามเณรและพระสงฆ์จำเป็นต้องได้รับการอบรมดีขึ้น ให้เข้าใจความซับซ้อนชีวิตสมรส  “บรรดาพระสงฆ์ผู้อภิบาลมักจะไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมที่จำเป็นสำหรับการจัดการกับปัญหาอันซับซ้อนที่ครอบครัวกำลังเผชิญกันอยู่” (202)
  8. เด็กๆต้องได้รับการอบรมเรื่องเพศ และเพศภาวะ  ในวัฒนธรรมหนึ่งที่ทำให้การแสดงออกด้านเพศเป็นเรื่องธรรมดา(ไม่ใช่เรื่องสำคัญ) และ ถูกทำให้เสื่อมคุณค่าลง  เด็กๆต้องเข้าใจเรื่องเพศ “ด้วยกรอบความคิดที่กว้างขึ้น  ในเรื่องของความรัก  การเสียสละตนเองแก่กันและกัน” (280) น่าเศร้าที่ “ร่างกายของบุคคลอื่นถูกมองว่าเป็นวัตถุที่ใช้การได้” (153)   เราต้องอบรมให้เด็กๆเข้าใจว่าเพศเป็นของขวัญแห่งชีวิตใหม่
  9. สมาชิกชายหญิงผู้ชอบเพศเดียวกัน ควรได้รับความเคารพต่อศักดิ์ศรี  พระศาสนจักรไม่อนุญาตการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน  สมเด็จพระสันตะปาปาตรัสว่า พระองค์ทรงปรารถนาจะยืนยัน” ก่อนใดหมด” ว่าบุคคลที่รักเพศเดียวกัน  ควรได้รับความเคารพต่อศักดิ์ศรีของพวกเขา และได้รับการปฏิบัติด้วยความเห็นอกเห็นใจ  ในขณะที่เราต้องระมัดระวังหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจส่งสัญญาณของการเลือกปฏิบัติทุกประการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวร้าวและความรุ่นแรงในทุกรูปแบบ  ครอบครัวที่มีสมาชิกที่มีความหลากหลายทางเพศ ( LGBT ) ต้องได้รับ “การแนะนำด้านอภิบาลด้วยความเคารพ “จากพระศาสนจักรและบรรดาผู้อภิบาล   เพื่อบรรดารักร่วมเพศสามารถ ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าได้อย่างเต็มที่ในชีวิตของพวกเขา (250)
  10. ยินดีต้อนรับทุกคน พระศาสนจักรต้องช่วยครอบครัวทุกชนิด  และประชาชนทุกฐานะ  แม้ในความบกพร่องของพวกเขา  ให้รู้ว่าพระเจ้าทรงรักพวกเขา ช่วยให้มีประสบการณ์ความรักนี้  ดังนั้นบรรดาผู้อภิบาลต้องทำให้ประชาชนรู้สึกได้รับการต้อนรับในเขตวัด   สมณลิขิตเตือนใจนี้ มอบวิสัยทัศน์ของพระศาสนจักรด้านการอภิบาล  และเมตตาธรรม  ซึ่งให้กำลังใจประชาชนประสบ“ความปิติยินดีแห่งความรัก”  ครอบครัวเป็นสิ่งจำเป็นสูงสุดในพระศาสนจักร  เพราะเหตุว่า “พระศาสนจักรเป็นครอบครัวของครอบครัวทั้งหลาย” (87)

ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล (9 เมษายน 2021)
www.americanmagazine.org 8 เมษายน 2016