วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ฉลองการถวายพระกุมารในพระวิหาร
(The Presentation of the Lord, feast)
ภายใต้กฎหมายของโมเสส หญิงที่คลอดบุตรจะถือว่า “มีมลทิน” เป็นเวลา 40 วันหลังการให้กำเนิดบุตร และเธอจะต้องมาแสดงตนต่อพระสงฆ์ที่พระวิหารเพื่อถวายบูชาเป็นการชำระมลทินให้บริสุทธิ์ และทำการไถ่บุตรของเธอคืนมา ถ้าไม่ทำเช่นนี้บุคคลนั้นจะถูกขับออกจากการกราบไหว้นมัสการแบบชาวยิวโดยอัตโนมัติ ที่น่าสังเกต พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ กฎหมายนี้ย่อมจะไม่ต้องผูกมัดพระนางมารีย์ แต่ด้วยความนอบน้อมให้สอดคล้องกับกฎหมาย พระนางมารีย์จึงทรงยอมรับพิธีกรรมนี้อย่างสุภาพ และได้ถวายบุตรชายคนแรกแด่พระเจ้า โดยถวายเครื่องบูชาคือนกเขาหนึ่งคู่ หรือนกพิราบสองตัว (เพื่อไถ่บุตรคืนมา) ทั้งนี้ทำตามสถานภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัว ซึ่งถือว่าเป็นการถวายของคนจน (ถ้าเป็นคนรวยจะถวายลูกแกะ)
เมื่อเสร็จพิธีชำระมลทินแล้ว ก็ปรากฏเหตุการณ์ที่เรียกว่าเป็นฉากของการพยากรณ์เกิดขึ้น ท่านผู้เฒ่าสิเมโอนผู้น่าเกรงขามได้รับพระกุมารมาอุ้มไว้ และกล่าวถวายพระพรแด่พระเจ้า ด้วยคำกล่าวขึ้นต้นภาษาลาตินที่มีชื่อเสียงว่า “Nunc Dimittis” – “บัดนี้ พระองค์ทรงปล่อยผู้รับใช้ของพระองค์ไปเป็นสุขตามพระดำรัสของพระองค์ เพราะนัยน์ตาของข้าพเจ้าได้เห็นองค์พระผู้ช่วยให้รอดพ้น… เป็นแสงสว่างเปิดเผยให้คนต่างชาติรู้จักพระองค์ และเป็นสิริรุ่งโรจน์สำหรับอิสราเอลประชากรของพระองค์” นอกจากนี้แล้ว ยังมีอันนา ประกาศกหญิงที่ชรามากแล้ว นางเป็นม่ายมานาน และอยู่แต่ในพระวิหาร ก็ได้กล่าวถึงพระกุมารให้ทุกคนที่กำลังรอคอยการไถ่กู้กรุงเยรูซาเล็มฟัง (ลก 2:29-32, 38)
จะว่าไปแล้ว พิธีกรรมโบราณของชาวยิวในเรื่องนี้ไม่อาจเทียบกับพิธีใดๆทางความเชื่อแบบคริสตชนเลย พระศาสนจักรคาทอลิกยึดถือว่าไม่มีมลทินใดๆ ที่เรียกร้องให้มีการชำระมลทินในเรื่องที่แม่จะให้กำเนิดบุตร
วันฉลองการถวายพระกุมารในพระวิหารเป็นวันฉลองเก่าแก่ มีบันทึกครั้งแรกย้อนไปถึงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 4 และได้ถูกนำเข้ามาฉลองทั่วจักรวรรดิตะวันออกโดยจัสติเนียนที่ 1 (Justinian I) ในปี ค.ศ. 526 เพื่อแสดงความรู้คุณต่อการจบสิ้นไปของโรคระบาด (= อาจจะเป็นกาฬโรค) ครั้งใหญ่ของเมืองคอนสแตนติโนเปิล กำหนดวันฉลองคือ 40 วันหลังคริสต์มาส ต่อมาในศตวรรษที่ 8 วันฉลองนี้ถูกเรียกว่า “วันแห่เทียน” เมื่อพระสันตะปาปา แซร์จิอุส (Pope Sergius) ทรงริเริ่มให้มีขบวนแห่อย่างสง่าสำหรับบรรดาสมณะและฆราวาส โดยถือเทียนที่จุดอยู่เพื่อเข้าไปในวัด เพื่อบอกเป็นนัยๆ ว่าระลึกถึง “แสงสว่างแก่คนต่างชาติ” และ “การเสด็จเข้าไปในพระวิหารของพระบุตรพระเจ้า” ซึ่งเป็นชื่อวันฉลองที่นำมาจากศาสนจักรอาร์มาเนียน (Armenian Church)
– สำหรับสถาบันแสงธรรม ซึ่งมีต้นกำเนิดเพื่อเป็นสามเณราลัยใหญ่แห่งประเทศไทย มีชื่อภาษาลาตินว่า “Lux Mundi” ซึ่งแปลว่า “แสงสว่างส่องโลก” แต่ใช้ชื่อภาษาไทยเป็นทางการว่า “แสงธรรม” ก็ถือว่าวันนี้เป็นวันฉลองของสถาบันแสงธรรม – (ผู้แปล)
ในแง่มุมของความเชื่อและการปฏิบัติของคริสตชนถือว่า วันฉลองนี้มุ่งเน้นเพื่อสอนเราในเรื่องต่างๆ ดังนี้ :
(1) ความเงียบแต่เต็มไปด้วยความรักที่อ่อนโยนของนักบุญโยเซฟผู้ปกป้อง
(2) ความเชื่อที่มั่นคงและเข้มแข็งของผู้เฒ่าสิเมโอน
(3) ความซื่อสัตย์ในการภาวนาอย่างไม่สิ้นสุดของนางอันนาผู้ชรา
…และเหนืออื่นใด………
(4) ความพร้อมที่ครบสมบูรณ์และเด็ดเดี่ยวของพระแม่มารีย์ ผู้ทรงรับบทเด่นพร้อมกับพระบุตรของพระนางในธรรมล้ำลึกแห่งความรอดพ้นนี้
(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)
ข้อคิดข้อรำพึง ฉลองการถวายพระกุมารในพระวิหาร
มีเรื่องของประกาศกซามูเอลในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ที่ชวนให้ระลึกถึงเรื่องการถวายพระกุมารที่พระวิหาร เพราะมีความละม้ายคล้ายกันในหลายด้าน ซามูเอลเป็นเด็กที่พระเจ้าประทานให้กับแม่ของเขา คือนางฮันนาห์ เพราะนางได้ร่ำไห้อย่างขมขื่นทูลขอบุตรจากพระเจ้าจอมจักรวาล เมื่อนางคลอดบุตร จึงตั้งชื่อเขาว่า “ซามูเอล” เพราะนางเคยทูลขอบุตรนี้จากพระยาเวห์ (ชื่อซามูเอล ให้แปลว่า “ทูลขอจากพระเจ้า”) เมื่อเอลคานาห์สามีกับครอบครัวขึ้นไปถวายบูชาประจำปีแด่พระยาเวห์และแก้บน นางฮันนาห์ไม่ได้ขึ้นไปด้วย นางบอกสามีว่า “พอเด็กหย่านมแล้ว ดิฉันจะพาเขาไปอยู่เฉพาะพระพักตร์พระยาเวห์ เขาจะอยู่ที่นั่นตลอดไป” และเมื่อเด็กหย่านมแล้ว นางก็พาเขาขึ้นไปที่วิหารของพระยาเวห์ที่เมืองชิโลห์ นำโคหนุ่มอายุสามปีตัวหนึ่ง แป้งประมาณสองถัง และเหล้าองุ่นหนึ่งถุงหนังไปด้วย ขณะนั้นเขายังเด็กมาก บิดามารดาฆ่าโคถวายบูชาและพาเด็กไปพบเอลี นางกล่าวว่า “….ดิฉันทูลขอเด็กคนนี้และพระยาเวห์ก็ประทานให้ดิฉันตามคำทูลขอ บัดนี้ ดิฉันจึงขอถวายเขาแด่พระยาเวห์ เขาจะรับใช้พระยาเวห์ตราบเท่าที่เขามีชีวิต” แล้วบิดามารดาก็นมัสการพระยาเวห์ที่นั่น (1ซมอ 1:20-28)
ที่เหมือนกันคือบิดามารดาพาเด็กน้อยซามูเอลไปถวายที่พระวิหาร และได้พบกับสมณะเอลีผู้ชรา เหมือนกับวันฉลองวันนี้ที่นักบุญโยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์นำพระกุมารไปยังพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อถวายแด่พระเจ้า และได้พบกับผู้เฒ่าสิเมโอน ผู้ชอบธรรมและยำเกรงพระเจ้า และยังได้พบกับอันนา ประกาศกหญิงอีกด้วย
ในอีกมุมมองหนึ่งวันฉลองการถวายพระกุมารที่พระวิหาร เราอาจเรียกได้ว่าเป็นงานฉลองของการมาพบปะกัน มีครอบครัวหนึ่งที่คุณย่าเป็นผู้อาวุโสสุดในบ้าน คุณย่าคนนี้จะถือธรรมเนียมว่าถ้ามีญาติ หรือลูกๆหลานๆ ที่ไม่ได้พบปะกันเป็นเวลานานพอควร เมื่อมีโอกาสมารวมญาติกัน คุณย่าจะเชิญทุกๆคนให้มานั่งล้อมวง และพูดคุยแบ่งปันเรื่องราวต่างๆของแต่ละคน ในรูปแบบที่ให้กำลังใจต่อกัน เมื่อจบการสนทนาพวกเขาจะต้องจากกัน ทุกคนจะสวมกอดกันด้วยความรักและความอบอุ่น และแน่นอนว่าทุกคนหวังลึกๆในใจว่าจะมาพบเจอกันอีกในบรรยากาศแบบนี้
เรื่องเล่าในพระวรสารของวันนี้มีหลายบุคคลมาพบกันที่พระวิหารของพระเจ้าที่กรุงเยรูซาเล็ม กล่าวคือเมื่อครบกำหนดเวลาที่มารดาและบุตรจะต้องทำพิธีชำระมลทิน ตามธรรมบัญญัติของโมเสส โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์นำพระกุมารไปที่พระวิหาร อันที่จริงพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มมักจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากมาย บ้างไปนมัสการ บ้างไปสวดภาวนา บ้างไปซื้อสัตว์ที่จะฆ่าถวายเป็นบูชา ยังมีพวกพ่อค้าในพระวิหาร มีเสียงพูดคุยกันของคนที่รู้จักกัน ของเพื่อน และของคนในครอบครัวเดียวกัน ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ก็ได้เข้าไปในพระวิหาร แบบครอบครัวธรรมดาๆครอบครัวหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้เป็นจุดสนใจอะไร แต่ในท่ามกลางฝูงชนมากมายมีผู้เฒ่าคนหนึ่งชื่อสิเมโอน ในพระวรสารบอกว่าเขาเป็นคนชอบธรรม และยำเกรงพระเจ้า เขารอคอยความรอดพ้นของอิสราเอล พระจิตเจ้าทรงนำเขาไปพบกับครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ เขาได้ขออุ้มพระกุมาร และกล่าวถวายพระพรพระเจ้าว่า “บัดนี้ พระองค์ทรงปล่อยผู้รับใช้ของพระองค์ไปเป็นสุข เพราะนัยน์ตาของข้าพเจ้าได้เห็นองค์พระผู้ช่วยให้รอดพ้น ผู้ที่พระองค์ทรงจัดเตรียมไว้สำหรับนานาประชาชาติ เป็นแสงสว่างเปิดเผยให้คนต่างชาติรู้จักพระองค์ และเป็นพระสิริรุ่งโรจน์สำหรับอิสราเอลประชากรของพระองค์”
เราน่าประหลาดใจในความเชื่อที่หยั่งรากลึกในตัวของท่านสิเมโอน รวมทั้งปรีชาญาณที่มีในตัวท่าน เพราะแท้จริงแล้วใครจะคิดว่าความรอดพ้นของอิสราเอลจะมาในรูปแบบของเด็กทารกที่มีอายุได้เพียง 40 วัน ใครจะมองว่าการปลอบประโลมใจต่อชาวอิสราเอลที่เคยสัญญาไว้จะไปอยู่ที่เด็กน้อยคนนั้น บางที ถ้าจะคาดหวังไปที่ฟาริสีฉลาดๆจะไม่ดีกว่าหรือ หรือชาวสะดูสีที่เป็นนักปราชญ์สักคน หรือนักต่อสู้ปฏิวัติที่จะมาปลดแอกจากชาวโรมันไม่ดีกว่าหรือ แต่สิเมโอนเป็นผู้มีปรีชาและซื่อสัตย์ เขามองหยั่งลึกไปไกลกว่านั้นจนพบว่าแผนการของพระเจ้าจะสำเร็จไปโดยทางพระกุมารนี้เอง “เพราะนัยน์ตาของข้าพเจ้าได้เห็นองค์พระผู้ช่วยให้รอดพ้น”
และในฉากเดียวกันนี้ จะมีประกาศกหญิงอันนา ซึ่งชรามากแล้ว อายุ 84 ปีแล้ว นางอยู่ในพระวิหารตลอดมา รับใช้พระเจ้าทั้งกลางวันกลางคืนโดยจำศีลอดอาหารและอธิษฐานภาวนา นางเข้ามาเวลานั้นพอดี ได้พบปะกับพระกุมาร และกล่าวถึงพระกุมารให้ทุกคนที่กำลังรอคอยการไถ่กู้กรุงเยรูซาเล็มฟัง
ทั้งท่านสิเมโอน และประกาศกหญิงอันนา ได้พบปะพระกุมารน้อย ได้มองเห็นว่าพระองค์คือองค์พระผู้ช่วยให้รอดพ้น โดยความเชื่อ ความเคารพยำเกรงในพระเจ้า และโดยพระจิตเจ้าทรงนำทาง เราทั้งหลายต่างก็ได้มาในพระวิหารของพระเจ้าทุกอาทิตย์ เราได้พบปะพระองค์ทั้งจากพระวาจา และโดยทางศีลศักดิ์สิทธิ์ ขอให้เราเต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อ พบกับความสุขลึกๆในจิตใจ ดุจเดียวกับท่านสิเมโอน ที่ได้พบกับองค์ความรอดแล้ว เป็นบุญของเราแล้วที่ได้พบกับพระองค์ และพร้อมจะมอบชีวิตของเราให้แด่พระองค์ โดยจะใช้ชีวิตปัจจุบันอย่างดีที่สุด ด้วยคำพูดและการกระทำของเราจะเป็นการกล่าวถึงพระเยซูเจ้าให้ทุกคนที่รอคอยการไถ่ให้รอดได้ฟัง เช่นที่ประกาศกหญิงอันนาได้กระทำไว้ในครั้งนั้น
(คุณพ่อวิชา หิรัญญการ เรียบเรียงเมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 2020
Based on : 1) John’s Homilies on Saints & Feast Days ;
by John Rose
2) The WORD in other words, Bible Diary 2020 ;
by Fr Cyril Ortega, SVD
3) Ignite Your Spirit ;
by Fr John Pichappilly)