
สารวันสันติภาพสากลครั้งที่ 54
วันที่ 1 มกราคม 2021
“วัฒนธรรมในการใส่ใจดูแลผู้อื่นคือหนทางสู่สันติสุข”
สารของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิสสำหรับวันสันติภาพสากล ที่พวกเราจะเฉลิมฉลองกันวันที่ 1 มกราคม 2021 ภายใต้หัวข้อ “วัฒนธรรมในการใส่ใจดูแลผู้อื่นคือหนทางแห่งสันติสุข”
*****
วัฒนธรรมในการใส่ใจดูแลผู้อื่นคือหนทางแห่งสันติสุข
- ข้าพเจ้าขอเริ่มต้นวันขึ้นปีใหม่ด้วยการส่งความปรารถนาดีมายังผู้นำประเทศและรัฐบาล ผู้นำองค์กรสากล ผู้นำฝ่ายจิตวิญญาณของศาสนาต่างๆ รวมทั้งผู้ที่มีน้ำใจดีทุกท่าน ข้าพเจ้าขอส่งความสุขให้กับทุกคนในโอกาสขึ้นปีใหม่ ซึ่งข้าพเจ้าหวังว่าคงจะสามารถทำให้มนุษย์เจริญก้าวหน้าในหนทางแห่งภราดรภาพ ความยุติธรรม และสันติสุข ระหว่างปัจเจกบุคคล ชุมชน ประชาชน และชนชาติต่างๆ
ปี ค.ศ. 2020 พวกเราเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แพร่ไปทั่วโลกโดยปราศจากพรมแดนทำให้วิกฤติหนักหน่วงยิ่งขึ้นไปอีกดุจเรื่องของสภาพภูมิอากาศ อาหาร เศรษฐกิจ การอพยพย้ายถิ่น และก่อให้เกิดความทุกข์ยากมากมาย ข้าพเจ้าคิดถึงเป็นพิเศษถึงครอบครัวที่สูญเสียสมาชิกและบุคคลอันเป็นที่รัก และบุคคลที่ต้องตกงาน เช่นเดียวกันข้าพเจ้าคิดถึงคณะแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักค้นคว้าวิจัย อาสาสมัคร ศาสนบริกรที่ดูแลคนป่วย พนักงานในโรงพยาบาล และศูนย์ดูแลสุขภาพต่างๆ ท่านเหล่านั้นต้องเสียสละเป็นอย่างมากเพื่อที่จะอยู่กับผู้ป่วยเพื่อบรรเทาความทุกข์ของพวกเขา และเพื่อช่วยชีวิตของพวกเขาไว้ อันที่จริงพวกเขาต้องสิ้นชีวิตไปหลายคนในกระบวนการเยียวยาภัยจากโรคระบาดดังกล่าว เพื่อแสดงความกตัญญูต่อท่านเหล่านั้น ข้าพเจ้าประสงค์ที่จะวิงวอนผู้นำประเทศ นักการเมือง และภาคเอกชนให้พยายามใช้ทุกวิถีทาง เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงยารักษาโรคโควิด-19 และเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆอันเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วย คนยากจน และคนที่มีความอ่อนแอเปราะบางมากที่สุด [1]
ทว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่ต้องกล่าวว่า ท่ามกลางประจักษ์พยานแห่งความรักและความเอื้ออาทรเหล่านี้ พวกเรายังเห็นรูปแบบต่างๆของการเป็นชาตินิยมแบบสุดโต่ง การแยกชนชั้นวรรณะ การกลัวคนต่างชาติต่างวัฒนธรรม สงคราม และความขัดแย้งที่ไม่เพียงแต่จะนำเอาความตายมาให้เท่านั้น แต่รวมถึงการทำลายล้างมนุษยชาติด้วย
สิ่งเหล่านี้รวมทั้งเหตุการณ์อื่นๆ ที่ปรากฏในหนทางแห่งมนุษยชาติในปีที่ผ่านมาสอนพวกเราให้รับรู้ว่า เหตุการณืทั้งหลานทั้งปวงมีความสำคัญมากเท่าใดที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันสร้างสังคมที่มีภราดรภาพ นี่คือเหตุผลที่ข้าพเจ้าเลือกหัวข้อแห่งสาส์นในปีนี้ “วัฒนธรรมในการใส่ใจดูแลผู้อื่นคือหนทางแห่งสันติสุข” นี่เป็นวัฒนธรรมแห่งการดูแลกันและกัน ซึ่งเป็นหนทางที่ต่อสู้กับวัฒนธรรมแห่งการอยู่นิ่งเฉย การกินทิ้งกินขว้าง และการเผชิญหน้ากันใช้ความรุนแรง ซึ่งปรากฏอยู่ในยุคสมัยของพวกเรา
2. พระเจ้าพระผู้สร้างคือบ่อเกิดแห่งกระแสเรียกมนุษย์ที่ต้องใส่ใจดูแลผู้อื่น
ธรรมเนียมประเพณีของหลายศาสนาพูดถึงกำเนิดมนุษย์และความสัมพันธ์กับพระผู้สร้างกับธรรมชาติและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ในหนังสือพระคัมภีร์ฉบับปฐมกาลแสดงให้เห็นตั้งแต่หน้าแรกถึงความสำคัญของการดูแล หรือการปกป้องโลกและระหว่างพวกเราในฐานะที่เป็นพี่น้องกัน ในการเล่าเรื่องของพระคัมภีร์เกี่ยวกับการสร้างพระเจ้าประทานสวนอีเดน (เทียบ ปฐก. 2: 8) ให้อาดัมเป็นผู้ดูแล ให้เขา “หว่านไถและรักดำรงรักษาไว้” (ปฐก. 2: 15) นี่หมายถึงการทำให้แผ่นดินบังเกิดผล ในขณะเดียวกันก็ปกป้องดูแลรักษาสวนนี้ไว้เพื่อให้ผืนแผ่นดินสามารถชุบเลี้ยงชีวิตพวกเราได้ [2] คำว่า “หว่านไถ” และ “ดำรงรักษาไว้” หมายถึงความสัมพันธ์ของอาดัมกับสวน ที่ซึ่งเป็นบ้านของเขา แต่ยังหมายถึงความไว้วางใจที่พระเจ้าทรงมีต่อเขาโดยทำให้เขาเป็นเจ้านาย และผู้พิทักษ์สิ่งสร้างทุกอย่างด้วย
การเกิดของ “กาอินและอาแบล” เป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของการเป็นพี่น้องกัน ซึ่งความสัมพันธ์กันนั้นเป็นที่เข้าใจกันดี แม้กระทั่งจากกาอินเอง เขาอาจจะมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับรูปแบบของการปกป้องหรือ “ดูแลรักษา” หลังจากเขาได้ฆ่าอาแบลน้องชายแล้ว กาอินตอบคำถามของพระเจ้าด้วยการกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้ดูแลน้องของข้าพเจ้าหรือ?” (ปฐก. 4: 9) [3] พวกเราเองก็เช่นเดียวกัน เป็นกาอินผู้ถูกเรียกร้องให้ “เป็นผู้ดูแลน้อง” “เรื่องโบราณนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นประจักษ์พยานถึงความเชื่อมั่น ซึ่งพวกเรามีส่วนร่วมในทุกวันนี้ คือทุกสิ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กันหมด การใส่ใจดูแลชีวิตของพวกเรา และความสัมพันธ์ของพวกเรากับธรรมชาติจะแยกออกจากความเป็นภราดรภาพ ความยุติธรรม และความซื่อสัตย์ต่อผู้อื่นไม่ได้” [4]
3. พระเจ้า พระผู้สร้างทรงเป็นแบบฉบับของการดูแลรักษา
พระคัมภีร์แสดงให้เห็นว่าพระเจ้ามิได้เป็นแต่ผู้สร้างเท่านั้น ทว่าพระองค์ยังทรงเป็นผู้ดูแลรักษาสิ่งสร้างของพระองค์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาดัมเอวาและลูกหลานของเขาทั้งสอง แม้จะถูกสาปแช่งเพราะความผิดที่เขาทำ กาอินก็ยังคงได้รับการคุ้มครองจากพระเจ้าเพื่อที่เขาจะเอาชีวิตรอด (เทียบ ปฐก. 4: 15) ในขณะที่มีการยืนยันถึงศักดิ์ศรีอันจะละเมิดเสียมิได้ของบุคคลที่ถูกสร้างขึ้นตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า นี่ยังเป็นเครื่องหมายแห่งแผนการของพระเจ้าที่จะธำรงไว้ซึ่งความสมานฉันแห่งสิ่งสร้างของพระองค์ เพราะ “สันติสุขและการใช้ความรุนแรงจะไปด้วยกันไม่ได้” [5]
การพิทักษ์สิ่งสร้าง คือหัวใจของการสถาปนาวันซาบาโตวันพระเจ้า ซึ่งนอกเหนือไปจากการให้ทำการนมัสการพระเจ้าแล้วยังให้มีการฟื้นฟูระเบียบสังคม และความใส่ใจต่อคนยากจน (เทียบ ปฐก. 1: 1-3; ลวต. 25: 4) การฉลองปีศักดิ์สิทธิ์ทุกเจ็ดปีที่ถือเป็น “ปีซาบาโต” (ปียูบีลี) เพื่อแผ่นดินจะได้มีการว่างเว้นพักผืนแผ่นดิน สำหรับผู้ที่เป็นทาสและผู้ที่เป็นหนี้ ในปีแห่งพระหรรษทานนั้นผู้ที่มีความต้องการมากที่สุดจะได้รับดูแลและได้รับโอกาสใหม่ในชีวิต เพื่อที่จะไม่มีคนยากจนในหมู่ประชากร (เทียบ ฉธบ. 15: 4)
ในขนบธรรมเนียมตามพระคัมภีร์นั้น ความเข้าใจเรื่องความยุติธรรมจะให้ความหมายสูงสุดในวิธีที่ชุมชนปฏิบัติต่อสมาชิกที่มีความอ่อนแอเปราะบางมากที่สุด ท่านประกาศกอามอส (เทียบ 2: 6-8) อิสยาห์ (เทียบ อสย. 58) เรียกร้องเสมอถึงความยุติธรรมต่อคนยากจน ซึ่งในความอ่อนแอเปราะบางและการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ส่งเสียงร้อง และได้ยินถึงพระกรรณ์ของพระเจ้าผู้ทรงเฝ้าดูแลพวกเขา (เทียบ สดด. 34: 7; 113: 7-8)
4. การเอาใจใส่ดูแลในพันธกิจของพระเยซูคริสต์
ชีวิตและพันธกิจของพระเยซูคริสต์แสดงให้เห็นถึงการเผยแสดงถึงความรักของพระบิดาต่อมวลมนุษยชาติ (เทียบ ยน. 3: 16) ในศาลาธรรมที่ตำบลนาซาเร็ธพระเยซูคริสต์ทรงแสดงพระองค์ว่าเป็นผู้ที่ได้รับการเจิมจากพระเจ้า และ “ถูกส่งมาเพื่อประกาศข่าวดีต่อคนยากจน และประกาศความเป็นอิสระแก่ผู้ที่ถูกจองจำ เพื่อคืนสายตาให้กับคนตาบอด เพื่อปลดปล่อยผู้ที่ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ” (ลก. 4: 18) การกระทำเหล่านี้ของพระผู้ไถ่ ผนึกกับปีศักดิ์สิทธิ์อันเป็นประจักษ์พยานได้เป็นอย่างดีถึงพันธกิจที่พระองค์ได้รับจากพระบิดา ในพระเมตตาอันยิ่งใหญ่พระเยซูคริสต์ทรงเข้าไปหาคนเจ็บป่วยทั้งกายและวิญญาณแล้วพระองค์ทรงรักษาพวกเขา พระองค์ทรงให้อภัยคนบาปและมอบชีวิตใหม่ให้พวกเขา พระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดีที่ทรงเอาพระทัยใส่ดูแลฝูงแกะของพระองค์ (เทียบ ยน. 10: 11-18; อสค. 34: 1-31) พระองค์ทรงเป็นชาวสะมาเรียผู้ใจดีที่หยุดช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ พันแผลให้ แล้วดูแลเขาเป็นอย่างดี (เทียบ ลก. 10: 30-37)
และ ที่เป็นสุดยอดแห่งพันธกิจคือการที่พระเยซูคริสต์ทรงมอบการพิสูจน์ที่ยอดเยี่ยมแห่งการเอาใจใส่ดูแลของพระองค์ต่อพวกเราด้วยการมอบพระองค์เองเป็นบูชาบนไม้กางเขน เพื่อให้พวกเรารอดพ้นจากการเป็นทาสของบาปและความตาย โดยอาศัยของขวัญการบูชาชีวิตพระองค์เอง พระองค์ทรงเปิดประตูสู่หนทางแห่งความรักให้กับพวกเรา พระองค์ตรัสกับพวกเราแต่ละคนว่า “จงตามเรามา แล้วทำเช่นเดียวกัน” (เทียบ ลก. 10: 37)
5. วัฒนธรรมแห่งการเอาใจใส่ดูแลในชีวิตของผู้ที่ติดตามพระเยซูคริสต์
งานพันธกิจอันเป็นกุศลกิจทั้งฝ่ายจิตฝ่ายกายแห่งความเมตตาเป็นหัวใจแห่งความรักเมตตาดังที่มีการฏิบัติกันในพระศาสนจักรยุคแรก คริสตชนรุ่นแรกได้นำเอาสิ่งที่พวกเขามีมาแบ่งปันกันเพื่อที่จะไม่ให้มีผู้ใดที่ขาดเหลือ (เทียบ กจ. 4: 34-35) พวกเขาพยายามที่จะทำให้ชุมชนของพวกเขาเป็นบ้านที่ให้การต้อนรับ ใส่ใจในความทุกข์เดือดร้อนของทุกคนและพร้อมที่จะช่วยผู้ที่ต้องการ นี่จึงกลายเป็นธรรมเนียมที่จะเสนอสิ่งต่างๆให้เพื่อที่จะเลี้ยงดูคนยากจน ฝังศพผู้ตาย ดูแลเด็กกำหพร้า คนชรา และผู้ที่เป็นเหยื่อของเรือล่ม ต่อมาเมื่อความใจกว้างของคริสตชนเริ่มเสื่อมศรัทธาลง ปิตาจารย์ของพระศาสนจักรบางคนยืนยันว่าพระเจ้าทรงหมายมุ่งให้ทรัพย์สมบัติเป็นความดีประโยชน์สุขส่วนรวม… เพราะฉะนั้นทุกคนจึงมีสิทธิ ทว่าความละโมภทำให้สิทธินี้เป็นของเพียงบางคน” [6] หลังจากที่มีการเบียดเบียนศาสนาในคริสตศตวรรษแรกๆ พระศาสนจักรใช้เสรีภาพที่ฟื้นฟูตนเองขึ้นใหม่ในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับสังคมและวัฒนธรรม “ความจำเป็นของกาลเวลาเรียกร้องให้ทุกคนต้องมีความพยายามใหม่ในการบริการรับใช้เมตตากิจของคริสตชน ประวัติศาสตร์จารึกเรื่องราวไว้มากมายแห่งเมตตากิจที่เป็นรูปธรรม… งานของพระศาสนจักรท่ามกลางคนยากจนมีการจัดการกันได้ดีมากและเป็นระบบที่ดี ยังมีสถาบันเกิดขึ้นมากมายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล บ้านสำหรับคนอนาถา โรงเลี้ยงเด็กกำพร้า ที่พักสำหรับคนเดินทาง…” [7]
6. หลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรในฐานะที่เป็นพื้นฐานแห่งวัฒนธรรมในการใส่ใจดูแล
มูลนิธิสงเคราะห์หรือสถาบันบริการรับใช้ (diakonia) ยุคแรกๆ ของพระศาสนจักรที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการไตร่ตรองถึงบรรดาปิตาจารย์และได้รับการจรรโลงโจตลอดหลายศตวรรษแห่งเมตตากิจอันเป็นประจักษ์พยานชีวิตที่โดดเด่นในหลายท่านต่อความเชื่อที่ได้กลายเป็นหัวใจแห่งคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร คำสอนนี้มอบให้ไว้กับทุกคนที่มีน้ำใจดีในฐานะที่เป็นแรงอุปถัมภ์แห่งหลักการ มาตรการ และข้อเสนอซึ่งสามารถรับใช้ดุจ “สูตร” แห่งการเอาใจใส่ดูและผู้อื่น คือหน้าที่ในการส่งเสริมศักดิ์ศรีและความดีประโยชน์สุขส่วนรวมของมนุษย์แต่ละคนทั้งในความเอื้ออาทรต่อคนยากจน คนที่อ่อนแอเปราะบาง และติดตามแสวงหาความดีประโยชน์สุขส่วนรวมพร้อมกับช่วยกันปกป้องสิ่งสร้าง สรพพสิ่งสรรพสัตว์ทั้งมวล
* การเอาใจใส่ดูแลผู้อื่นดุจการส่งเสริมศักดิ์ศรีและสิทธิของแต่ละบุคคล
“ความเข้าใจเรื่องบุคคลซึ่งมีกำเนิดและพัฒนาในคริสต์ศาสนาส่งเสริมการพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม บุคคลจะหมายถึงความสัมพันธ์เสมอ ไม่ใช่ปัจเจกนิยม ซึ่งยืนยันถึงการที่ต้องหมายถึงทุกคน ไม่ใช่ตัดผู้ใดออกไป อันเป็นศักดิ์ศรีที่มีอัตลักษณ์จำเพาะที่จะล่วงละเมิดมิได้ ไม่ใช่การเอารัดเปรียบกัน” [8] แต่ละบุคคลเป็นเป้าหมายในตัวเองและไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะวัดกันด้วยคุณค่าหรือประโยชน์ของเขา ทุกคนถูกสร้างมาเพื่อที่จะอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว เป็นชุมชน เป็นสังคม ซึ่งทุกคนล้วนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน สิทธิของมนุษย์เกิดจากศักดิ์ศรีนี้เช่นเดียวกันกับหน้าที่ อย่างเช่นความรับผิดชอบที่ต้องให้การต้อนรับและช่วยเหลือคนยากจน คนป่วย คนที่ไม่มีผู้ใดให้ความสนใจ รวมถึงทุกคนที่เป็น “เพื่อนบ้านของพวกเราทั้งที่อยู่ใกล้หรือไกลทั้งในระยะทางและกาลเวลา” [9]
* การเอาใจใส่ดูและผู้อื่นเพื่อความดีและคุณประโยชน์สุขส่วนรวม
ทุกมิติแห่งชีวิตสังคม การเมือง และเศรษกิจจะบรรลุเป้าหมายสูงสุดได้ต้องอยู่ที่การบริการรับใช้เพื่อความดีและคุณประโยชน์สุขส่วนรวม หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ “จำนวนทั้งครบแห่งสภาพสังคมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งที่เป็นกลุ่มหรือเป็นปัจเจกบุคคลบรรลุความสำเร็จของตนเองได้มากขึ้นและง่ายขึ้น” [10] ผลที่ตามมาคือ แผนงานหรือโครงการของพวกเราจะต้องคำนึงเสมอถึงผลที่จะกระทบต่อครอบครัวมนุษย์ทั้งปวง และต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อทั้งปัจจุบันและชนรุ่นหลัง โรคระบาดโควิด-19 ได้แสดงให้พวกเราเห็นถึงความจริงและเวลาที่เหมาะเจาะแห่งความจริงนี้ ท่ามกลางโรคระบาด “พวกเราต่างก็รับรู้อย่างดีว่า พวกเราทุกคนต่างอยู่ในสำเภาลำเดียวกัน พวกเราทุกคนมีความเปราะบาง และไม่รู้ที่จะทำอย่างไรต่อไป ในขณะเดียวกันประเด็นนี้มีความสำคัญ และมีความจำเป็นที่พวกเราจะต้องช่วยกันพายเรือ” [11] เพราะว่า “ไม่มีผู้ใดจะสามารถเอาตัวรอดได้ด้วยตัวตนเอง” [12] และไม่มีรัฐใดที่จะสร้างหลักประกันได้ถึงความดีประโยชน์สุขส่วนรวมแห่งประชากรของตน หากเขาจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพัง [13]
* การเอาใจใส่ดูแลโดยอาศัยความเอื้ออาทรต่อกัน
ความเอื้ออาทรต่อกันแสดงออกได้อย่างเป็นรูปธรรมถึงความรักของพวกเราต่อผู้อื่น ไม่ใช่เป็นความรู้สึกแบบเลื่อนลอยแต่เป็น “ความตั้งใจที่ยืนหยัดมั่นคงปวารณาตนที่จะทำการเพื่อความดีและคุณประโยชน์สุขส่วนรวม กล่าวคือเพื่อความดีและคุณประโยชน์สุขของทุกคนและแต่ละคน พวกเราทุกคนล้วนต้องมีความรับผิดชอบต่อทุกคน” [14] ความเอื้ออาทรต่อกันช่วยให้พวกเราใส่ใจผู้อื่น ไม่ว่าจะในฐานะส่วนบุคคล หรือในวงกว้างในฐานะที่เป็นประชากรหรือเป็นชนชาติ ซึ่งเป็นเพียงสถิติหรือเป็นวิธีที่จะใช้แล้วก็ไม่สนใจเมื่อเห็นว่านั่นไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป แต่ต้องถือว่าแต่ละคนเป็นเพื่อนบ้านของพวกเรา เป็นเพื่อนร่วมเดินทางของพวกเรา ถูกเรียกร้องเช่นเดียวกับพวกเราให้มีส่วนร่วมในโต๊ะเลี้ยงอาหารแห่งชีวิตซึ่งทุกคนล้วนได้รับการเชื้อเชิญจากพระเจ้า
* การเอาใจใส่ดูแลและการพิทักษ์คุ้มครองสรรพสิ่งสรรพสัตว์
สมณสาส์นเวียน “Laudato Si’” รับรู้อย่างดีว่าสรรพสิ่งสรรพสัตว์ทั้งปวงต่างก็มีการเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างกัน ในสาระยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญที่พวกเราจะต้องฟังเสียงร้องของคนยากจนและเสียงร้องของสรรพสิ่งสรรพสัตว์ด้วย การฟังด้วยความตั้งใจอย่างสม่ำเสมอจะนำให้พวกเราเกิดจิตสำนึกในการเอาใจใส่ดูแลโลกซึ่งเป็นบ้านส่วนรวมของพวกเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงบรรดาพี่น้องของพวกเราที่มีความทุกข์เดือดร้อนด้วย ณ จุดนี้นี้ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า “จิตสำนึกแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างล้ำลึกกับธรรมชาติไม่อาจจะเป็นของแท้ได้ ถ้าหากหัวใจของพวกเราปราศจากซึ่งความอ่อนโยน ความเห็นอกเห็นใจ และความห่วงใยต่อเพื่อนมนุษย์ของพวกเรา” [15] “สันติสุข ความยุติธรรม และการเอาใจใส่ดูแลสิ่งสร้างสรพพสิ่งสรรพสัตว์ เป็นสามสิ่งที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ซึ่งจะแยกจากกันไม่ได้โดยเลือกปฏิบัติเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง มิฉะนั้นแล้วพวกเราจะย้อนกับไปสู่ลัทธินิยมส่วนย่อย (reductionalism) [16]
7. เข็มทิศที่ชี้ไปยังหนทางร่วม
ในยุคที่วัฒนธรรมกินทิ้งกินขว้างครองเมือง พร้อมกับความไม่เท่าเทียมกันซึ่งยิ่งวันยิ่งเพิ่มขึ้นทั้งภายในชุมชนและในระดับชาติต่างๆ [17] ข้าพเจ้าประสงค์ที่จะขอร้องผู้นำภาครัฐ องค์กรสากล ผู้นำธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ นักสื่อสารสังคม และนักการศึกษาให้ยึดหลักการเหล่านี้เป็น “เข็มทิศ” ที่สามารถชี้ให้เห็นถึงทิศทางร่วมกันและสร้างหลักประกันว่าพวกเราจะมี “อนาคตที่มีความเป็นมนุษย์มากกว่า” [18] ในกระบวนการโลกาภิวัตน์ ซึ่งช่วยให้พวกเรารู้สึกนิยมคุณค่าแห่งศักดิ์ศรีของทุกบุคคล ที่จะกระทำการไปด้วยกันในความเอื้ออาทรต่อกันเพื่อเห็นแก่ความดี คุณประโยชน์สุขส่วนรวม และเพื่อที่จะนำความบรรเทาไปสู่ผู้เผชิญความทุกข์ โดยเฉพาะที่เกิดจากความยากจน โรคภัยไข้เจ็บ การเป็นทาส การใช้อาวุธในความขัดแย้ง และการแบ่งชนชั้นวรรณะ ข้าพเจ้าขอให้ทุกคนหยิบเข็มทิศขึ้นมา และให้เข็มทิศนี้กลายเป็นประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมในการดูแลเอาใจใส่ดูแลพร้อมกับช่วยกันเอาชนะต่อความไม่เท่าเทียมกันหลายประการที่มีอยู่ในสังคม นี่จะเกิดขึ้นได้ก็โดยอาศัยความร่วมมือกันอย่างมีความหมายทั่วไปในส่วนของสตรี ในครอบครัว และในทุกพื้นที่ทางสังคม การเมือง และสถาบัน
เข็มทิศแห่งหลักการทางสังคมเหล่านี้ซึ่งมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตแห่งวัฒนธรรมของการเอาใจใส่ดูแลยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างชาติที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภราดรภาพ การให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ความเอื้ออาทรต่อกันและการยึดปฏิบัติตามกฎหมายสากล สำหรับประเด็นนี้พวกเราต้องรับรู้ถึงความจำเป็นในการปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอันจะล่วงละเมิดมิได้ เพราะนี่เป็นสิทธิสากลและแบ่งแยกมิได้ [19]
เช่นเดียวกันมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเคารพต่อกฎเกณฑ์ด้านมนุษยธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานี้ที่ยังมีความขัดแย้งและสงคราม ซึ่งยังดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง หลายท้องที่และชุมชนซึ่งจำไม่ได้แล้วกับเวลาที่พวกเขามีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยและสันติสุข หลายเมืองกลายเป็นศูนย์กลางแห่งความไม่ปลอดภัยจากลูกระเบิด กระสุนปืนใหญ่ และอาวุธสงคราม เด็ก ๆ ไม่สามารถที่จะเล่าเรียน ผู้คนทั้งชายและหญิงไม่สามารถทำงานเพื่อเลี้ยงครอบครัว ความอดอยากก็แพร่ไปทั่วชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ประชาชนถูกบังคับให้ต้องหลบลี้หนีภัย ต้องทิ้งที่พำนักพักพิงไม่เฉพาะแต่บ้านของตนเท่านั้น แต่ประวัติศาสตร์ของครอบครัวและรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมของตนเองด้วย
ในขณะที่ความขัดแย้งอาจเกิดจากหลายสาเหตุผลที่ตามมาจะเหมือนกันเสมอ จะมีทั้งการทำลายและเผชิญวิกฤตด้านมนุษยธรรม พวกเราจำเป็นต้องยุติภัยอันนี้ และถามตัวเราเองว่า สิ่งใดที่ทำให้โลกมองว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติที่เป็นเรื่องสามัญธรรมดา และหัวใจของพวกเราจะสามารถเปลี่ยนได้ไหมกับวิธีการคิดของพวกเราเพื่อที่ช่วยกันทำงานเพื่อสร้งสันติสุขในความเอื้ออาทรและภราดรภาพ
นอกนั้นยังมีทรัพยากรอีกมากที่ถูกนำไปใช้ไปในเรื่องของอาวุธโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาวุธนิวเคลียร์ [20] ซึ่งควรที่จะนำเอามาใช้ในเรื่องที่เป็นประโยชน์มีความสำคัญมากกว่า เช่นสร้างหลักประกันให้กับความปลอดภัยส่วนบุคคล ส่งเสริมสันติสุข และการพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม ต่อสู้กับความยากจน การดูและรักษาสุขภาพอนามัย ปัญหาระดับโลกเช่นโรคระบาดโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศล้วนแต่ทำให้การท้าทายเหล่านี้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนั้นจะต้องมีการตัดสินใจที่กล้าหาญสักเพียงใดที่จะ “สร้างกองทุนโลก” ด้วยการใช้เงินที่ถูกนำไปใช้ในการสร้างอาวุธ และค่าใช้จ่ายทางทหาร เพื่อที่จะขจัดความอดอยากอย่างถาวรและพัฒนาประเทศที่ยากจน” [21]
8. การศึกษาวัฒนธรรมแห่งการเอาใจใส่ดูแล
การส่งเสริมวัฒนธรรมการเอาใจใส่ดูแลเรียกร้องให้ต้องมีกระบวนการศึกษา “เข็มทิศ” แห่งหลักการสังคมสามารถเป็นปแระโยชน์ และไว้ใจได้ในหลายบริบทที่มีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน ขอยกบางตัวอย่าง:
– การอบรมนี้ต้องเริ่มต้นที่ครอบครัว ซึ่งเป็นอนูธรรมชาติ และที่เป็นพื้นฐานแรกของสังคมซึ่งพวกเราเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตอย่างไร และมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างไรในเจตนารมณ์แห่งการให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ทว่า ครอบครัวต้องทำให้มีพลังอำนาจที่จะปฏิบัติตามหน้าที่ที่สำคัญและขาดเสียมิได้นี้
– พร้อมกับครองครัวก็คือโรงเรียนและมหาวิทยาลัย และในบางกรณีก็รวมถึงสื่อสารมวลชนด้วยซึ่งเป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อการศึกษา [22] พวกเขาถูกเรียกร้องให้ต้องถ่ายทอดระบบของคุณค่าที่มีพื้นฐานอยู่ในการรับรู้ถึงศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคลรวมทั้งสิทธิขั้นพื้นฐานที่เกิดจากการรับรู้นั้น การศึกษาเป็นเสาหลักอย่างหนึ่งของสังคมที่มีความยุติธรรมและที่มีความเป็นภราดรภาพ
– ศาสนาโดยทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำศาสนาสามารถมีบทบาทที่สำคัญยิ่งยวดในการถ่ายทอดถึงผู้ที่นับถือศาสนาของตน และถึงสังคมทั่วไปให้ได้ทราบถึงคุณค่าของความเอื้ออาทรต่อกัน ความเคารพต่อความแตกต่างและความห่วงใยต่อบรรดาพี่น้องชายหญิงที่มีความเดือดร้อน ณ ประเด็นนี้ข้าพเจ้าคิดถึงพระดำรัสของพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 เมื่อปี ค.ศ. 1969 ต่อรัฐสภาแห่งประเทศอูกันดา “จงอย่ากลัวพระศาสนจักร พระศาสนจักรให้เกียรติพวกท่าน พระศาสนจักรอบรมประชาชนให้มีความซื่อสัตย์และจงรักภักดีสำหรับท่าน พระศาสนจักรไม่ได้สร้างความเป็นศัตรู และความแตกแยก พระศาสนจักรพยายามส่งเสริมเสรีภาพ ความยุติธรรมในสังคม และสันติสุข หากพระศาสนาจักรสามารถเลือกได้ ก็จะเลือกเข้าข้างคนยากจน เลือกการศึกษาสำหรับเด็ก ๆ และประชาชน เลือกที่จะเอาใจใส่ดูแลบุคคลที่มีทุกข์ และบุคคลที่ถูกทอดทิ้ง” [23]
– ข้าพเจ้าขอเป็นกำลังใจอีกครั้งหนึ่งต่อทุกคนที่บริการรับใช้สังคม และผู้ที่อยู่ในองค์กรสากลทั้งที่เป็นฝ่ายรัฐและฝ่ายเอกชนที่มีความเกี่ยวข้องกับการศึกษาค้นคว้าเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายของ “การศึกษที่เปิดกว้างที่รับฟังด้วยความอดทน มีการเสวนาที่สร้างสรรค์ และมีความเข้าใจที่ดีขึ้นต่อกัน” [24] ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการขอร้องนี้ที่ขอในนามของผลกระทบในระดับโลกาภิวัตน์ต่อการศึกษาจะได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง
9. สังคมจะไม่มีสันติสุขปากปราศจากซึ่งวัฒนธรรมแห่งการใส่ใจดูแลซึ่งกันและกัน
วัฒนธรรมในการใส่ใจการดูแลกันและกันจึงเรียกร้องหน้าที่ให้มีการช่วยเหลือดูแลกันเพื่อปกป้องและส่งเสริมศักดิ์ศรีและความดีประโยชน์สุขของทุกคน พร้อมที่จะใส่ใจดูแลและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทำงานเพื่อการคืนดีกันและเพื่อเยียวยารักษา ให้ความเคารพและให้การยอมรับกันและกัน เมื่อเป็นเช่นนี้มันหมายถึงหนทางพิเศษที่เข้าถึงสันติสุข “ในหลายภูมิภาคของโลกมีความจำเป็นต้องมีหนทางแห่งสันติสุขเพื่อรักษาบาดแผลที่เปิดกว้าง และจำเป็นที่ต้องมีผู้สร้างสันติสุขซึ่งรวมทั้งชายและหญิงซึ่งพร้อมที่จะทำงานด้วยความกล้าหาญ และมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อที่จะเริ่มกระบวนการเยียวยารักษาและมีการพบปะเสวนากันซึ่งต้องรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่” [25]
ณ เวลาเช่นนี้เมื่อสำเภามนุษย์ถูกซัดด้วยพายุแห่งวิกฤตปัจจุบัน การดิ้นรนเพื่อสู่ขอบฟ้าที่คลื่นลมสงบ “หางเสือ” แห่งศักดิ์ศรีมนุษย์และ “เข็มทิศ” แห่งหลักการสังคมที่เป็นพื้นฐานสามารถทำให้พวกเราช่วยกันถือท้ายให้สำเภาแล่นไปสู่เป้าหมายได้อย่างแน่นอน ในฐานะที่เป็นคริสตชน พวกเราควรพิศเพ่งไปยังพระมารดามารีย์ของพวกเราผู้เป็นดาราสมุทร และมารดาแห่งความหวัง ขอให้พวกเราทำงานร่วมกันเพื่อก้าวสู้ขอบฟ้าใหม่แห่งความรักและสันติสุข ภราดรภาพและความเอื้ออาทรต่อกัน การสนับสนุนกันและการยอมรับกัน ขอให้พวกเราจงอย่าได้ยอมแพ้ต่อการประจญที่จะทำให้พวกเราไม่สนใจผู้อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความทุกข์เดือดร้อนมากที่สุดโดยหันหน้าไปทางทิศอื่น [26] ตรงกันข้ามขอให้พวกเราใช้ความพยายามทุกวันในทำนองที่เป็นรูปธรรม “เพื่อสร้างชุมชนที่เป็นพี่เป็นน้องกันที่ยอมรับและในการใส่ใจดูแลกันและกัน” [27]
จากนครรัฐวาติกัน วันที่ 8 ธันวาคม 2020
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บสารฉบับนี้มาแบ่งปันและไตร่ตรองโอกาสขึ้นปีใหม่ ค.ศ. 2021)
เชิงอรรถ
________________________
[1] Cf. Video Message to the Seventy-fifth Meeting of the General Assembly of the United Nations, 25 September 2020.
[2] Cf. Encyclical Letter Laudato Si’ (24 May 2015), 67.
[3] Cf. “Fraternity, the Foundation and Pathway to Peace”, Message for the 2014 World Day of Peace (8 December 2013), 2.
[4] Encyclical Letter Laudato Si’ (24 May 2015), 70.
[5] PONTIFICAL COUNCIL FOR JUSTICE AND PEACE, Compendium of the Social Doctrine of the Church, No. 488.
[6] De Officiis, 1, 28, 132: PL 16, 67.
[7] K. BIHLMEYER-H. TÜCHLE, Church History, vol. 1, Westminster, The Newman Press, 1958, pp. 373, 374.
[8] Address to Participants in the Conference organized by the Dicastery for Promoting Integral Human Development to mark the Fiftieth Anniversary of the Encyclical Populorum Progressio (4 April 2017).
[9] Message for the Twenty-second Session of the Conference of the Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change (COP22), 10 November 2016. Cf. INTERDICASTERIAL ROUNDTABLE OF THE HOLY SEE ON INTEGRAL ECOLOGY, Journeying Towards Care for Our Common Home: Five Years after Laudato Si’, Libreria Editrice Vaticana, 31 May 2020.
[10] SECOND VATICAN ECUMENICAL COUNCIL, Pastoral Constitution on the Church in the Modern World Gaudium et Spes, 26.
[11] Extraordinary Moment of Prayer in Time of Epidemic, 27 March 2020.
[12] Ibid.
[13] Cf. Encyclical Letter Fratelli Tutti (3 October 2020), 8; 153.
[14] SAINT JOHN PAUL II, Encyclical Letter Sollicitudo Rei Socialis (30 December 1987), 38.
[15] Encyclical Letter Laudato Si’ (24 May 2015), 91.
[16] EPISCOPAL CONFERENCE OF THE DOMINICAN REPUBLIC, Pastoral Letter Sobre la relación del hombre con la naturaleza (21 January 1987); cf. Encyclical Letter Laudato Si’ (24 May 2015), 92.
[17] Cf. Encyclical Letter Fratelli Tutti (3 October 2020), 125.
[18] Ibid., 29.
[19] Cf. Message to Participants in the International Conference “Human Rights in the Contemporary World: Achievements, Omissions, Negations”, Rome, 10-11 December 2018.
[20] Cf. Message to the United Nations Conference to Negotiate a Legally Binding Instrument to Prohibit Nuclear Weapons, Leading Towards their Total Elimination, 23 March 2017.
[21] Video Message for the 2020 World Food Day (16 October 2020).
[22] Cf. BENEDICT XVI, “Educating Young People in Justice and Peace”, Message for the 2012 World Day of Peace, (8 December 2011), 2; “Overcome Indifference and Win Peace”, Message for the 2016 World Day of Peace, (8 December 2015), 6.
[23] Address to the Parliament of Uganda, Kampala, 1 August 1969.
[24] Message for the Launch of the Global Compact on Education, 12 September 2019.
[25] Encyclical Letter Fratelli Tutti (3 October 2020), 225.
[26] Cf. ibid., 64.
[27] Ibid., 96; cf. “Fraternity, the Foundation and Pathway to Peace”, Message for the 2014 World Day of Peace (8 December 2013), 1.
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- สันตะสำนักออกหนังสือ คู่มือการสอนคำสอน พร้อมกับคำแนะนำใหม่ในการสอนคำสอน
- สมณลิขิต (Apostolic Letter) ของสันตะปาปาฟรานซิส โอกาสครบ 1600 ปีหลังการมรณภาพของนักบุญเจโรม
- คำปราศรัยของพระสันตะปาปาฟรานซิส ประทานแด่ที่ประชุมสมัชชาเทววิทยาสากลเกี่ยวกับชีวิตสมณะ
- อบรมครูคำสอนและหัวหน้าคริสตชนที่แม่สะเรียง
- สู่ปีศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักรคาทอลิกไทย