Skip to content

บทเทศน์บทรำพึง อาทิตย์ที่ 27 เทศกาลธรรมดาปี A

“พระอาณาจักรของพระเจ้าจะถูกยกจากท่านทั้งหลาย ไปมอบให้กับชนชาติอื่นที่จะทำให้บังเกิดผล”

ประกาศกอิสยาห์เป็นคนแรกที่เปรียบเทียบอิสราเอลเป็นสวนองุ่น และองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นเจ้าของสวน

สวนองุ่นนั้นเจ้าของเลือกที่ตั้งบนผืนดินที่อุดมดี เขาขุดดิน เก็บก้อนหินออกจนหมด แล้วปลูกองุ่นชนิดดีไว้ เขาสร้างหอเฝ้าไว้กลางสวน สกัดบ่อย่ำองุ่นไว้ที่นั้นด้วย เขารอคอยให้สวนผลิตผลองุ่น แต่สวนนั้นผลิตผลองุ่นเปรี้ยว

ฟังดูแล้วน่าใจหาย เมื่อเห็นความเพียรพยายามของเจ้าของสวนที่ได้ทุ่มเทแรงกายอย่างเต็มที่ เติมแรงใจด้วยความรักลงไปอย่างหมดหัวใจ แต่ผลที่ได้รับกลับมาเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม เป็นความรักที่ยื่นให้ไป แต่ไม่มีความรักตอบกลับมา

ดังนั้น สวนองุ่นนั้นก็จะถูกทอดทิ้งไป จะพบกับความหายนะ เป็นสิ่งที่น่าเศร้าใจที่สุด

พระเยซูเจ้าทรงเล่าอุปมาด้วยฉากในเรื่องสวนองุ่นที่ใกล้เคียงกับของประกาศกอิสยาห์ แต่ทรงต่อเติมให้ชัดขึ้นว่า อิสราเอลเป็นชาวสวนที่เช่าสวนนั้น เมื่อเจ้าของสวนส่งคนใช้ไปรับส่วนแบ่งผลผลิต ผู้เช่าก็จับคนของเจ้าของสวนทุบตีบ้าง ฆ่าให้ตายบ้าง ส่งมาอีกพวกหนึ่ง ก็โดนเช่นเดียวกัน ที่สุด ส่งลูกของตนมา นึกว่าพวกนี้จะเกรงกลัวบ้าง แต่พวกเขากลับจับลูกเจ้าของสวนฆ่าเสีย ที่สุด เจ้าของสวนก็ต้องจัดการกับผู้เช่าสวนนี้อย่างโหดเหี้ยม และยึดสวนคืนไปให้คนใหม่เช่า

พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้พวกหัวหน้าสมณะและผู้อาวุโสของประชาชนเข้าใจว่า พระอาณาจักรของพระเจ้าที่ทรงมอบหมายให้ชาวอิสราเอลดูแลนั้นมีปัญหาเกิดขึ้น ทรงส่งประกาศกมาตักเตือนคนแล้วคนเล่า ก็ไม่ได้ผล ทรงส่งพระบุตรของพระองค์ คือพระเยซูเจ้ามา พวกเขาก็จับฆ่าเสีย ดังนั้น พระอาณาจักรนี้ก็จะถูกยึดคืนไปให้ผู้เช่าใหม่ ซึ่งได้แก่บรรดาอัครสาวกและผู้สืบตำแหน่งต่อมา และศาลาธรรมของพวกเขาก็จะถูกแทนที่ด้วยพระศาสนจักร

ฟังอุปมาเรื่องนี้ของพระเยซูเจ้าแล้วสะท้อนใจนะครับ เราจะเห็นว่าพระเป็นเจ้าทรงงานอย่างหนักเพื่อเรามนุษย์ และทรงความรักต่อเราอย่างยิ่ง หลายครั้งที่มนุษย์ไม่เข้าใจในความรักยิ่งใหญ่ที่พระทรงมีต่อเรา และทรงมอบความรักนี้ให้กับเราก่อน หลายคนคิดว่าเราต้องทำอะไรมากๆ เพื่อให้พระองค์ทรงรักเรา คือคิดเรื่องกฎของการตอบแทน แต่ความรักของพระที่มีต่อมนุษย์ไม่ได้เป็นไปในรูปนั้น ทรงจัดเต็มให้แก่เราตั้งแต่แรก ตั้งแต่เรายังทำอะไรไม่เป็นเลย พวกนักบุญหลายๆ องค์ทราบเรื่องนี้ดี อาทิเช่น

นักบุญยอห์น เวียนเนย์ เคยพูดว่า “เหมือนอย่างที่แม่ช้อนหน้าลูกขึ้นมาด้วยมือ และจูบลูก พระเจ้าทรงช้อนหน้าเราขึ้นมาด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เช่นกัน”

ประกาศกอิสยาห์ เคยว่า “แม่จะลืมลูกของเธอ จะไม่อ่อนโยนต่อลูกที่เกิดจากครรภ์เธอได้หรือ แม้ว่าอาจจะลืมได้จริง แต่เราจะไม่มีวันลืมเจ้าดอก”

นักบุญเทเรซา แห่งลีซีเออซ์ ทราบมาว่ามีบางคนไม่ยอม (อนุญาต) ให้พระรักพวกเขา เธอภาวนาว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดถ่ายเทความรักที่ดวงวิญญาณเหล่านั้นปฏิเสธจะรับมาให้ข้าพเจ้าเถิด”

นักบุญเทเรซาแห่งกัลกัตตา ได้พูดไว้ดีมาก “จงยอมอนุญาตให้พระรักคุณ”

ในบทภาวนาของประธานในวันอาทิตย์นี้มีว่า “ข้าแต่พระบิดาเจ้า ความรักของพระองค์ต่อชาวเรานั้นมากล้นเกินความหวังและความปรารถนาทั้งหมดของข้าพเจ้าทั้งหลาย”

ขอส่งท้ายดังนี้นะครับ มีผู้คนมากมายพยายามทำสิ่งโน้นสิ่งนี้เพื่อพระเจ้า แต่ไม่อนุญาตให้พระทรงทำสิ่งต่างๆ เพื่อพวกเขา ที่จริงสิ่งที่พระเจ้าทรงขอจากเราก็คือ “ขออนุญาตรักเรา”

(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 2011)

บทเทศน์บทรำพึง อาทิตย์ที่ 27 เทศกาลธรรมดาปี A

การฆาตกรรมพระเมสสิยาห์

วันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 2005 ภราดาโรเจอร์ (Brother Roger) ผู้ก่อตั้งกลุ่มภาวนาเทเซ่ (Taizé) ในประเทศฝรั่งเศส ถูกแทงต่ายในวัย 90 ปี โดย Luminita Solcana หญิงสติไม่ดีชาวโรมาเนียวัย 36 ปี มหาตมะ คานธี เคยเขียนไว้ว่า “ผู้คงแก่เรียนเรียกพวกเราว่านักเดินทาง และก็เป็นเช่นนั้นจริง เรามาอยู่ในโลกนี้เพียงระยะเวลาสั้นๆ ต่อจากนั้น เราจะไม่ตาย แต่เราเพียงกลับบ้านเท่านั้น” ในขณะที่พระเมสสิยาห์ผู้ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งมามิทรงเกรงกลัวความตาย และรวมทั้งมหาตม คานธี และอีกหลายๆคนก็ไม่กลัวความตาย เราจึงควรหาความหมายของชีวิตและความตายของพวกเขาตามบริบทของพระวรสารของวันนี้ ที่กล่าวถึงคนเช่าสวนที่เป็นฆาตกร

สัญลักษณ์ที่เชื่อมบทอ่านแรก บทสดุดี และบทพระวรสารของวันนี้ไว้ด้วยกัน คือเรื่องของ “สวนองุ่น” สำหรับชาวอิสราเอลแล้วสวนองุ่นเป็นสัญลักษณ์หมายถึงความเจริญรุ่งเรืองและความเติบโต ดังนั้น ในภาษาของพระคัมภีร์ต้นองุ่นและสวนองุ่นถูกนำมาใช้เพื่อหมายถึงประชากรอิสราเอล จึงมีเขียนไว้ไม่เพียงแต่บทสดุดีที่ 80 ของวันนี้เท่านั้น ยังพบในที่อื่นๆอีกด้วย (เช่นใน ฮชย 10:1 ; อสค 17:6-10) ในขณะที่เจ้าของสวนได้ลงทุนลงแรงไปอย่างมากมาย ก็ย่อมจะคาดหวังว่าสวนองุ่นจะให้ผลิตผลอุดมดี แต่สวนนั้นกลับผลิตผลองุ่นเปรี้ยว

บทอ่านแรกเป็นบทเพลงที่งดงามที่อิสยาห์อาจจะประพันธ์ไว้ในช่วงต้นของภารกิจของท่าน แต่บทเพลงที่เปี่ยมด้วยความสุขที่พรรณนาถึงชีวิตชนบท ต้นองุ่น และผลองุ่น ทันใดก็กลับกลายเป็นผลเปรี้ยว ท่านประกาศกได้เปรียบเทียบสวนองุ่นกับชาวอิสราเอล และการพิพากษาลงโทษของพระเจ้าต่อมวลประชากร เพราะ “พระองค์ทรงคาดหวังความยุติธรรม แล้วทรงพบแต่การนองเลือด ทรงหวังความชอบธรรม กลับทรงพบเสียงร้องให้ช่วย”

เรื่องอุปมาต่างๆของพระเยซูเจ้าจำแนกเป็นสองประเภทกว้างๆ ประเภทที่หนึ่งคือ “อุปมาที่เป็นเหมือนบานหน้าต่าง” (window parables) ซึ่งจะทำให้เราสามารถเหลือบมองเข้าไปเพื่อเห็นหรือเข้าใจเรื่องที่เกี่ยวกับพระเจ้า เกี่ยวกับพระอาณาจักร หรือคุณลักษณะต่างๆของพระองค์ได้บ้าง ประเภทที่สองคือ “อุปมาที่เป็นเหมือนกระจกสะท้อน” (mirror parables) ซึ่งหมายถึง ผู้ฟังจะได้เห็นภาพสะท้อนถึงตนเอง เหมือนเราส่องกระจกดูตนเอง อุปมาของพระวรสารในวันนี้เป็นประเภทที่สอง ที่ต้องการบอกว่าพวกบรรดาหัวหน้าสมณะ พวกฟาริสี และพวกผู้อาวุโสของประชาชนจะเป็นพวกที่ปฏิเสธพระเมสสิยาห์ และจะฆ่าพระองค์

เมื่อฟังอุปมาเรื่องนี้แล้วจะเข้าใจได้ทันทีว่าสวนองุ่นเปรียบเทียบเท่ากับประชากรของพระเจ้า ผู้เช่าสวนคือบรรดาหัวหน้าสมณะ บรรดาคนใช้ที่เจ้าของสวนส่งมาคือบรรดาประกาศก บุตรชายเจ้าของสวนสื่อความหมายถึงพระเยซูเจ้า และการฆ่าบุตรชายเจ้าของสวนก็คือการปฏิเสธต่อข่าวสารนั้นโดยสิ้นเชิง โดยประชากรผู้ได้รับเลือกสรร และบรรดาหัวหน้าสมณะนั่นเอง นักบุญมัทธิวยังสรุปตอนท้ายว่า “เจ้าของสวนจะกำจัดพวกใจอำมหิตอย่างโหดเหี้ยม และจะยกสวนให้คนอื่นเช่า” เราอาจได้ข้อสรุปในที่นี้ว่า ผู้เช่าสวนรายใหม่ก็คือ บรรดาคริสตชนนั่นเอง ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ทำให้เกิดผลผลิตที่ดี

ถ้าเราไปดูคำสอนในตอนอื่นของพระเยซูเจ้า โดยเฉพาะตอนที่ทรงสอนเรื่องต้นไม้ที่บังเกิดผล กับต้นไม้ที่ไม่บังเกิดผลเลย เราจะได้กุญแจไขความเข้าใจว่าพระเยซูเจ้าทรงคาดหวังอะไรจากเรา เพราะว่าในตอนจบของพระวรสารวันนี้กล่าวว่า “พระอาณาจักรของพระเจ้าจะถูกยกจากท่านทั้งหลาย ไปมอบให้แก่ชนชาติอื่นที่จะทำให้บังเกิดผล” เช่นเดียวกับที่ในบทอ่านแรกที่บอกว่าเจ้าของสวนรอคอยให้สวนผลิตผลองุ่น พระองค์ทรงหวังความยุติธรรม แล้วทรงพบแต่การนองเลือด ทรงหวังความชอบธรรม กลับทรงพบเสียงร้องให้ช่วย

ประกาศกอิสยาห์ ก็เหมือนประกาศกคนอื่นๆในพันธสัญญาเดิม เรียกร้องให้ชาวอิสราเอลผลิตผลของความยุติธรรมและความชอบธรรม พระเยซูเจ้าก็ทรงเป็นเช่นเดียวกัน การพิพากษาครั้งสุดท้ายจะมีผลขึ้นอยู่กับพื้นฐานแห่งการเอาใจใส่ของเราต่อผู้ที่เล็กน้อยที่สุด และผู้ที่ยากจนที่สุด สำหรับเราคริสตชนที่เชื่อว่าเราเป็นผู้เช่าสวนรายใหม่ลองสำรวจดูว่า เราได้ผลิตผลของความยุติธรรมและความชอบธรรมหรือไม่

เมื่อเราอ่านเรื่องที่ประชาชนได้ปฏิเสธพระเยซูเจ้า และได้ลงมือฆ่าพระองค์ มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “ประกาศกคนใด ที่ประชาชนไม่ต้องการต่อต้านและฆ่าทิ้งเสีย ก็ต้องไม่เป็นประกาศกแน่นอน” ดังนั้น เมื่อพระเมสสิยาห์ทรงเทศน์สอนเรื่องความรัก ฉันก็ตรึงกางเขนพระองค์ เมื่อมหาตมะ คานธี รับรองทฤษฎี “อหิงสา” ฉันก็ยิงเขาทิ้ง เมื่อภราดาโรเจอร์ตั้งกลุ่มภาวนาแบบเทเซ่ ฉันก็แทงเขาตาย หรือว่าพวกบรรดาหัวหน้าสมณะผู้อาวุโสของประชาชนชาวยิว หรือว่านาถูราม โคทเส (ผู้ฆ่าคานธี) หรือว่า Solcana เป็นสัญลักษณ์ในเงามืดของตัวฉันเองที่ต้องการฆ่าพระเมสสิยาห์ ฆ่ามหาตมะ คานธี และฆ่าภราดาโรเจอร์ มากกว่าที่จะติดตามรอยเท้าของบุคคลเหล่านั้น และทำให้บังเกิดผล

(คุณพ่อวิชา หิรัญญการ ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2020
Based on : Sunday Seeds for Daily Deeds ;
By : Francis Gonsalves, S.J.)