บทเทศน์บทรำพึง อาทิตย์ที่ 26 เทศกาลธรรมดาปี A
“คนเก็บภาษีและหญิงโสเภณีจะเข้าสู่พระอาณาจักรสวรรค์ของพระเจ้าก่อนท่าน”
นี่เป็นอุปมาอีกเรื่องหนึ่งที่พระเยซูเจ้าทรงยกมาเล่า เพื่อตอบโต้พวกหัวหน้าสมณะและผู้อาวุโสของประชาชน ที่มักตำหนิติเตียนว่าพระองค์ทรงคบหาสมาคมกับคนบาปเปิดเผย เช่น พวกเก็บภาษี และ บรรดาหญิงโสเภณี
ลูกคนแรกที่ตอบในตอนแรกว่า จะไม่ไปทำงานในสวนองุ่นตามที่พ่อร้องขอ ก็คือบรรดาคนบาปเหล่านี้นี่เอง แต่พอตอบไปแล้วก็มาคิดตริตรองดูและเปลี่ยนใจ กลับใจเข้าไปทำงานในสวนองุ่นนั้น ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงทรงเน้นว่าพวกคนบาปเหล่านี้ได้รับความดีความชอบจากองค์พระผู้เป็นเจ้า นี่แหละ ที่ทำไมพระเยซูเจ้าชอบตรัสคำว่า “คนที่เป็นคนต้น จะกลับเป็นคนสุดท้าย ส่วนคนที่อยู่สุดท้าย จะกลับเป็นที่ต้น” ทรงชี้ให้เห็นอีกว่า เพราะพระเจ้านั้นทรงต่างจากมนุษย์ พระองค์ทรงเปี่ยมด้วยความเมตตาสงสาร และทรงรักมนุษย์
ส่วนลูกคนที่สองตอบว่า “ครับ คุณพ่อ” แต่แล้วก็ไม่ไปทำงานในสวนองุ่นของพ่อ คนพวกนี้อาจเป็นพวกที่ “นับถือเราแต่ปาก” แต่ใจเขาห่างไกลจากความเป็นจริง พระเยซูเจ้าเคยตรัสว่า “ผู้ที่กล่าวว่า พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า จะได้เข้าสู่พระราชัยสวรรค์ก็หาไม่ แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาต่างหากที่จะได้รอดพ้น”
มีเรื่องเล่าว่า ในประเทศจีนที่เป็นคอมมิวนิสต์นั้น ครั้งหนึ่ง มีคนจับคริสตังใต้ดินคนหนึ่งมาขึ้นศาล คนที่จับมาตั้งข้อหาว่า สายสืบทางราชการเคยเห็นคนๆ นี้คุกเข่าลงสวดภาวนา ก่อนนอนและตอนตื่นนอน เคยเห็นเขาทำสำคัญมหากางเขน และรับศีลศักดิ์สิทธิ์ เคยเห็นเขาสวดก่อนรับประทานอาหาร และบางครั้งทำนพวารในวันพุธด้วย
ทนายที่คอยแก้ต่างให้คริสตังคนนี้กล่าวกับผู้พิพากษาว่า “ท่านผู้พิพากษาที่เคารพ ผมไม่โต้เถียงอะไรเลย ที่เขากล่าวหาลูกความผมเช่นนั้น” การพูดเช่นนี้ทำให้ผู้ฟังในห้องศาลเงียบสนิท แล้วก็มีเสียงซุบซิบกันเบาๆ ทนายเอ่ยต่อไปว่า “แต่…แม้ว่าลูกความผมทำตามที่ถูกกล่าวหามาทั้งหมด เขาก็ไม่เห็นแตกต่างไปจากประชาชนจีนอื่นๆ ที่ไม่เชื่อพระเจ้าเลย การสวดและอ่านพระคัมภีร์ของลูกความผม ไม่มีผลใดๆ ต่อสิ่งที่เขาประพฤติออกมาเลย เขาก็ยังเอาใจใส่มากกับข้าวของของโลกนี้ เขาก็ยังไม่ค่อยสนใจคนยากจน ถ้าเขาถูกดูถูกเหยียดหยาม เขาก็จะดูถูกกลับไป ท่านครับ ลูกความของผมเป็นคริสตังแต่เพียงในนามและในคำพูดเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอให้กรณีนี้ถูกระงับไปเพราะขาดซึ่งพยานหลักฐาน”
คนที่อยู่ในห้องศาลพากันเงียบสนิท หลังจากนั้น ผู้พิพากษาพูดว่า “เพราะขาดพยานหลักฐานว่าบุคคลผู้นี้เป็นคริสตังในการกระทำ จึงขอปิดคดีนี้”
ขอย้อนกลับมาเรื่องการกลับใจเพื่อจะมีชีวิตอีกครั้งนะครับ เพราะเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ ต่อชีวิตของเราทุกๆ คน การกลับใจเป็นกระบวนการ เป็นการเดินทางอย่างต่อเนื่องที่จะจบลงต่อเมื่อเราตาย เราต้องมองดูชีวิตของเราว่าขณะนี้เราพอใจกับชีวิตของเราหรือไม่ ถ้าพบว่ายังไม่พอใจ ก็เป็นก้าวแรกแล้วที่เราจะเคลื่อนไปในหนทางของชีวิตใหม่
ยกตัวอย่างเช่น บางคนกำลังดิ้นรนจะเปลี่ยนสถานะจากคริสตชนธรรมดาๆ ไปเป็นคนที่ดีขึ้นกว่า แต่ก่อน บางคนกำลังดิ้นรนจะเปลี่ยนสถานะจากคริสตชนที่ดีไปเป็นคริสตชนที่ดีมาก บางคนกำลังดิ้นรนจะเปลี่ยนสถานะจากคริสตชนที่ดีมาก ไปเป็นคริสตชนที่เป็นแบบอย่างได้ เช่นนี้เป็นต้น
จะเห็นว่าการกลับใจเป็นกระบวนการของชีวิตเราที่ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ อย่างแท้จริง จนกว่าเราจะพบชีวิตนิรันดร
(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา เมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 2011)
บทเทศน์บทรำพึง อาทิตย์ที่ 26 เทศกาลธรรมดาปี A
รับบีผู้สูงอายุท่านหนึ่งได้เจริญชีวิตเป็นแบบอย่างที่ดี และได้ทำให้คนมากมายกลับใจมานับถือศาสนาของบรรพบุรุษ (คือศาสนายิว) แต่เขากลับกลุ้มใจอย่างมากที่บุตรชายคนเดียวของเขาเปลี่ยนใจไปเป็นคริสตชน เมื่อรับบีสิ้นชีพไปแล้ว เขาได้ปรากฏตัวเฉพาะพระพักตร์พระผู้ทรงฤทธานุภาพด้วยใบหน้าที่เฉยเมยและเศร้าสร้อย พระเจ้าทรงถามว่า “ท่านรับบี เกิดอะไรขึ้น” เขาตอบด้วยเสียงเป็นกังวลอยู่ลึกๆ “เรื่องลูกของผมเองครับ คือเขาละทิ้งความเชื่อของเราเปลี่ยนใจไปเป็นคริสตชน” พระเจ้าทรงตอบด้วยน้ำเสียงที่ปลอบประโลม “อย่ากังวลไปเลย เพื่อนเอ๋ย เราเข้าใจท่านดีมากเลย พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของเราก็ได้ทรงกระทำแบบเดียวกัน”
พระวาจาของพระเจ้าวันอาทิตย์นี้พูดเรื่อง “การกลับใจ” หรือ “การเปลี่ยนใจ” ซึ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้ง หรือความบรรเทาใจก็ขึ้นอยู่กับว่า ใครกลับใจใคร เพื่ออะไร และทำไม เราอาจพิจารณาบทอ่านของวันนี้ในแง่มุมของ การกลับใจ : จากภายใน หรือ แค่ภายนอก
ในพระวรสารของวันนี้พูดถึงเรื่องอุปมา เรื่องบุตรสองคน หรือ อุปมาเรื่องการเปลี่ยนใจของสองคน เมื่อพ่อถามบุตรคนแรกให้ไปทำงานในสวนองุ่น เขาตอบเสียงดังฟังชัดว่า “ไม่” แต่ต่อมาเปลี่ยนใจและไปทำงานนั้น ตรงข้ามกับบุตรคนที่สอง เขาตอบพ่อว่า “ครับพ่อ” แต่แล้วก็ไม่ได้ไป มีการเปลี่ยนใจในทั้งสองกรณี บุตรคนแรกเปลี่ยนใจและตอบสนองอย่างใจกว้าง แต่บุตรคนที่สองไม่รักษาคำสัญญา ซึ่งควรแก่การถูกประณาม การเปลี่ยนใจของบุตรคนแรกถือว่าเป็น “การกลับใจที่มาจากภายใน” (internal conversion) ส่วนบุตรคนที่สองดูเหมือนว่า “นบนอบแต่เพียงภายนอก” คือ เพียงแต่คำพูด แต่ไม่ได้ทำงานให้องค์ประกอบครบสมบูรณ์ไป เขาทำเพียงให้ “ปรากฏ” ออกมาเสมือนว่าได้ทำตามความประสงค์ของบิดาเท่านั้นเอง
ในบทอ่านแรกของวันนี้นำมาจากหนังสือประกาศกเอเสเคียล เป็นตอนที่เราเห็นว่าท่านได้เน้นถึงความรับผิดชอบของแต่ละคนที่มีต่อบาป ทั้งนี้เพราะแต่ละคนมีอิสรภาพ เมื่อเรามีอิสระในการทำบาปได้ เราก็มีอิสระจะละทิ้งจากบาปและกลับใจหันมาหาพระเป็นเจ้าได้ สำหรับเอเสเคียลแล้ว บาปคือความตาย และการกลับใจคือชีวิต ถ้าคนหนึ่งเลือกที่จะละทิ้งบาปที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ คนนั้นจะมีชีวิตอย่างแน่นอน จะไม่พบกับความตาย (ข้อ 28)
ถ้าบทอ่านที่หนึ่ง และที่สามพูดถึงเรื่องการกลับใจ บทอ่านที่สองของนักบุญเปาโลถึงชาวฟิลิปปีก็พูดถึงแบบอย่างขั้นสูงสุดของการกลับใจ คือพระเยซูเจ้า การกลับใจของพระคริสตเจ้าคือจาก “การเป็นเจ้านายของสรรพสิ่ง” มาเป็น “ทาส” ข้อความตอนนี้เป็นที่รู้จักกันดีว่ากล่าวถึง “พระคริสตเจ้าทรงสละพระองค์” (kenosis) จริงหรือไม่ว่า การกลับใจแท้จริงขั้นสูงสุด หมายถึงสละละตนเองจนหมดสิ้นเพื่อความดีของผู้อื่น ดังนั้น นักบุญเปาโลจึงเตือนใจชาวฟิลิปปีว่า “จงมีความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกับที่พระคริสตเยซูทรงมีเถิด” (ข้อ 5)
ดังนั้น เมื่อพระเจ้าทรงถามท่านแต่ละคนว่าจะทำงานให้พระองค์ได้ไหม เราจะตอบว่าอย่างไร “ได้” หรือ “ไม่ได้” การเปลี่ยนใจหรือการกลับใจที่แท้จริงหมายถึงการกล้ากล่าวว่า “ได้ครับ” ทั้งต่อพระเจ้า และต่อทุกสิ่งที่พระจิตของพระเจ้าทรงนำมาให้เรา มันหมายถึงการที่เรารักพระสุดจิตใจ และลูกๆของพระทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข ดุจดังที่พระเยซูเจ้าได้ทรงปฏิบัติ นักบุญเปาโลพูดสรุปว่าดังนี้ “พระเยซูเจ้าไม่ตรัสทั้งจริงและไม่จริงพร้อมกัน แต่ตรัสว่าจริงเท่านั้น… เพราะเหตุนี้ เราจึงกล่าวคำว่า “อาเมน” โดยทางพระองค์ เป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า” (2คร 1:19-20)
ตัวอย่างชีวิตของนักบุญออกัสติน (ภาคผนวก)
บุตรคนแรกในพระวรสารที่ตอบว่าไม่ แต่ต่อมาก็ไปทำตามที่พ่อขอ อาจเปรียบได้กับชีวิตของนักบุญออกัสติน ชีวิตในวัยเด็ก วัยรุ่น วัยหนุ่ม ได้ปฏิเสธเดินตามหนทางแห่งพระวรสาร แม้ว่ามารดาของท่านคือนักบุญมอนิกาได้อ้อนวอน และได้สวดภาวนาเป็นสิบๆปีก่อนที่ท่านจะกลับใจ ที่สุดก็มากลับใจตอนอายุ 33 ปี ในหนังสือ “คำสารภาพ” ของท่าน ท่านยอมรับว่า ในวัยหนุ่มได้ดำเนินชีวิตอย่างเสเพล ตั้งแต่อายุ 17 ปีได้อยู่กินกับหญิงคนหนึ่ง และมีลูกชายหนึ่งคน เขาแสวงหาความรู้ความจริงต่างๆก็จริง แต่เป็นความจริงของโลกนี้ที่ไม่ใช่ความจริงแห่งพระวรสาร ที่สุดเมื่อเขากลับใจแล้ว จากที่เคยกล่าวคำว่า “ไม่” หันมากล่าวคำว่า “ใช่” หรือ “ได้ครับ” ข้อเขียนของท่านตอนหนึ่งสะท้อนให้เห็นการตัดสินใจที่ชักช้าของท่านดังนี้
“สายไปกว่าที่ผมจะรักพระองค์ โอ้องค์แห่งความงามทั้งหลายทั้งมวล สายไปเหลือเกินกว่าที่ผมจะรักพระองค์… พระองค์ได้ทรงเรียก ทรงร้องหา และทรงตะโกนใส่หูที่หนวกของผม พระองค์ทรงส่องแสงที่เจิดจ้าและลุกโชนเข้ามาในดวงตาที่บอดมืดของผม พระองค์ทรงส่งกลิ่นหอมฟุ้งจรุงกลิ่นมา และผมได้สูดดมเข้าไป และบัดนี้ผมละล่ำละลักถึงพระองค์ ผมได้ลิ้มรสแล้ว และบัดนี้ผมหิวและกระหาย พระองค์ได้ทรงสัมผัสผม และผมก็ลุกร้อนด้วยความปรารถนาจะพบสันติสุขในพระองค์”
(เขียนโดย คุณพ่อวิชา หิรัญญการ ลงวันที่ 27 กันยายน 2017
Based on : (1) Sunday Seeds for Daily Deeds โดย Francis Gonsalves, S.J.
(2) Seasons of the Word โดย Denis McBride )
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสมีความคิดที่จะปฏิรูปพระศาสนจักร
- สมณลิขิต (Apostolic Letter) ของสันตะปาปาฟรานซิส โอกาสครบ 1600 ปีหลังการมรณภาพของนักบุญเจโรม
- ประสบการณ์และความประทับใจในการเข้าร่วมเคารพศีลมหาสนิทนานาชาติ..
- บทเทศน์บทรำพึง
อาทิตย์ที่ 30 เทศกาลธรรมดาปี A - บทเทศน์ของพระสันตะปาปาฟรานซิส ณ สนามกีฬาฟรานโซ ฮารีรี (Franso Hariri)