ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 22 เทศกาลธรรมดา ปี A
“ถ้าผู้ใดอยากตามเรา ก็จงเลิกคิดถึงตนเอง จงแบกไม้กางเขน และติดตามเรา”
บรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้าจะต้องไม่คิดถึงตนเอง และติดตามพระคริสตเจ้าไป
ประกาศกเยเรมีห์ในบทอ่านแรกมีประสบการณ์เช่นนี้มาแล้ว บางทีเราอาจจะรู้จักท่านน้อยไป ลองมาทำความรู้จักท่านให้มากขึ้น อาจจะทำให้เราเข้าใจข้อคำสอนนี้ดีขึ้น
ประกาศกเยเรมีห์ถูกเรียกให้ทำหน้าที่ประกาศกประมาณปี 627หรือ 626 ก่อนพระเยซูเจ้าทรงบังเกิดมา แม้โดยธรรมชาติจะเป็นคนขี้อายและค่อนข้างเก็บตัว แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงมีแผนการยิ่งใหญ่ให้เยเรมีห์ทำ
“ดูเถิด เราเอาถ้อยคำของเราใส่ในปากของเจ้า วันนี้ เราตั้งเจ้าไว้เหนือบรรดาประชาชาติ… ให้ถอนออก และให้พังลง ให้ทำลาย และให้คว่ำเสีย ให้สร้าง และให้ปลูก” (ยรม 1: 10)
สิ่งเหล่านี้ตรงข้ามกับลักษณะนิสัยของเยเรมีห์ทั้งสิ้น ท่านไม่อยากรับ อ้างว่า “ผมพูดไม่เก่ง ผมยังเด็กเกินไป” แต่พระเจ้าตรัสว่า จะประทานพระพรและคำพูดที่ทรงอำนาจให้กับเขา “จะทำให้เจ้าเป็นเมืองมีป้อม เป็นเสาเหล็ก และเป็นกำแพงสัมฤทธิ์ สู้กับแผ่นดินทั้งหมด” นี่แหละทำให้เยเรมีห์ต้องเป็นประกาศกมากกว่า 40 ปี และอยู่ในช่วงที่ยากลำบากที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาวยิว จนถึงกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายในปี 587 หรือ 586 ก่อนคริสตศักราช และยังคงต้องทำหน้าที่ต่อไปหลังจากกรุงเยรูซาเล็มล่มสลายในประเทศอียิปต์
ประกาศกเยเรมีห์มีชีวิตค่อนข้างเปล่าเปลี่ยว ท่านไม่ได้แต่งงาน เพื่อนฝูง ญาติๆ และคนที่เขานับถือพากันหลีกหนีเขาไป เพราะการทำนายของท่าน ท่านไม่ประสบความสำเร็จในคำเทศน์ของท่าน การถูกทำลายของยูดาห์และกรุงเยรูซาเล็มใกล้เข้ามาทุกที ท่านต้องประกาศออกมาทั้งๆ ไม่อยากให้เกิดขึ้นจริง ท่านไม่สามารถหยุดเหตุการณ์เพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นด้วยคำภาวนาของท่าน ท่านเป็นประกาศกที่คนในสมัยท่านไม่ยอมรับ เพราะไม่มีใครชอบให้คนๆ หนึ่งมาคอยพูดตำหนิบาปของตน
ประกาศกเยเรมีห์ถูกปองร้ายหลายครั้ง เคยถูกจับ ถูกคุมขังในคุก (ยรม 36- 45) ถูกจับโยนลงไปในบ่อโคลน ท่านหวาดกลัวกับชีวิต แต่ก็เป็นเพราะความที่ซื่อสัตย์ต่อกระแสเรียกของท่านที่ให้ประกาศพระวจนะพระเจ้า แน่นอนท่านทุกข์ทนจนไม่อยากมีชีวิตอยู่นับครั้งไม่ถ้วน บางที ท่านต้องการปิดปากเงียบไม่ต้องการทำนายอะไรที่เป็นเรื่องร้ายๆ สำหรับชาวยิวเพื่อนร่วมชาติ แต่ท่านก็ไม่สามารถต่อต้านพลังอำนาจของพระวจนะพระเจ้า และที่สุดท่านก็ต้องประกาศความจริงออกมา ความหวังแต่เพียงอย่างเดียวของท่านคือ หลังกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายแล้ว วันหนึ่งพันธสัญญาใหม่จะมาถึง
อ่านเรื่องชีวิตของประกาศกเยเรมีห์แล้วรู้สึกอย่างไรครับ ถ้าให้เลือกว่าจะเป็นประกาศกเยเรมีห์ไหม จะรับหรือเปล่าครับ โดยส่วนตัวแล้วขอบอกว่า “ถอยดีกว่า…ไม่เอา…ดีกว่า” เฮ้อ…ทำไมชีวิตคนๆ หนึ่งจะต้องทุกข์ยากขนาดนี้
นี่เป็นความคิดของคนในโลกนี้ และของคนสมัยใหม่ที่ต้องการความสุขสำเร็จมาเป็นแพ็กเก็จ ไม่ต้องแตะต้องความยากลำบากใดๆ เลยยิ่งดี สิ่งขัดใจแม้แต่นิดก็ไม่อยากให้มาแผ้วพาน แต่เชื่อไหมครับ ชีวิตเรามีความหลากหลายมากกว่าที่คิด
พระวรสารของวันอาทิตย์นี้ พระเยซูเจ้าทรงเผยให้บรรดาศิษย์ทราบว่า พระองค์จะต้องทรงรับทุกข์ทรมาน และแม้กระทั่งจะถูกประหารชีวิต บรรดาศิษย์รับไม่ได้ทันที เปโตรรีบทูลทัดทาน แต่ทรงขับเปโตรให้ถอยไปข้างหลัง ทรงตรัสชัดเจนว่า “ผู้ใดใคร่รักษาชีวิตของตนให้รอดพ้น ก็จะสูญเสียชีวิตนิรันดร แต่ถ้าผู้ใดเสียชีวิตของตนเพราะเรา ก็จะพบชีวิตนิรันดร”
เราอาจจะมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยาก ดูเหมือนไม่เป็นไปตามแบบที่เราคิดไว้ อย่าลืมว่าความทุกข์ยากที่มากกว่าเราหลายร้อยเท่าของประกาศกเยเรมีห์สอนให้เราซื่อสัตย์ต่อการเรียกของพระเจ้า อย่าลืมว่าความทุกข์ยากและการยอมสละชีวิตของพระเยซูเจ้าทั้งๆ ที่ปราศจากความผิด เป็นการไถ่และช่วยเราให้รอด ดังนั้น ความทุกข์ยากที่เราได้รับต้องเป็นสิ่งที่มีความหมายกับชีวิตของเรามากถึงมากที่สุด
(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 2011
Based on : Speak, Lord! ; by Fr. Herman Mueller, SVD)
ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 22 เทศกาลธรรมดา ปี A
ในปี ค.ศ. 1998-99 มีการเบียดเบียนศาสนาคริสต์ที่แคว้นกุจราษฎร์ เมือง Dangi มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความเชื่อ และความกล้าหาญของชาวคริสต์ที่นั่นมากมายที่ไม่ได้บันทึกไว้ คุณพ่อชาวอินเดียได้เล่าให้ฟังถึงชายหนุ่มที่ถูกซุ่มโจมตีจนเลือดอาบ แต่เขาบอกกับคุณพ่อองค์นั้นว่า “ผมจะไม่ละทิ้งการเป็นคริสตชน แม้ว่าพวกเขาจะฆ่าผมก็ตาม”
ก่อนหน้านี้ ในอีกท้องถิ่นหนึ่งที่คุณพ่อองค์นี้เคยไปทำงานอภิบาล มีชายอีกคนหนึ่งมาพูดกับท่านว่า “ผมพบพลังเข้มแข็งที่ยิ่งใหญ่จากพระเยซูเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขน แม้ว่าเพื่อนๆผมจะหัวเราะเยาะว่าผมเทิดทูนบูชาพระที่เปลือยเปล่า(บนกางเขน) และช่วยเหลือตนเองไม่ได้ก็ตาม”
เหล่านี้คือเรื่องของกางเขนที่พระเยซูเจ้ากำลังจะมุ่งไปสู่การรับทนทรมานนั่นเอง ในพระวรสารของวันนี้ พระเยซูเจ้าได้ตรัสถึงหนทางแห่งกางเขน คือพระองค์จะต้องเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม และที่หมายที่ไกลกว่านั้น คือเขากัลวารีโอ ที่จะทรงแบกกางเขนขึ้นไป เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว เราเพิ่งได้ยินนักบุญเปโตรที่ได้ประกาศถึงความรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าว่า ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า และพระเยซูเจ้าได้ทรงแต่งตั้งท่านให้เป็นหัวหน้าปกครองพระศาสนจักร ท่านย่อมฝันหวานว่า พระเมสสิยาห์จะขับไล่ชาวโรมันที่ปกครองกรุงเยรูซาเล็มอยู่ ให้ออกไป และจะเข้าควบคุมพระวิหารไว้เอง ซึ่งหาใช่สิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงสนใจจะทำให้ความหวังจอมปลอมนั้นสำเร็จไปไม่ นอกจากพระองค์จะไม่สนพระทัยในลาภ ยศ สรรเสริญแล้ว ยังตรัสเผยถึงความตายว่าเป็นประตูนำทางไปสู่ชีวิต (- การทำนายล่วงหน้าถึงความตายของพระเยซูเจ้า จะถูกกล่าวซ้ำอีกถึงสองครั้งในพระวรสารของนักบุญมัทธิว)
แต่การต่อต้านคัดค้านของนักบุญเปโตรก็เป็นที่เข้าใจได้ เพราะคนในสมัยของท่านส่วนมากต่างพากันคาดหวังว่าพระเมสสิยาห์จะทรงแสวงหาอำนาจ ไม่ใช่จะมารับทนทุกข์ทรมานด้วยความเจ็บปวด จะต้องสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์ ไม่ใช่มาถูกตรึงกางเขนประดุจโจรผู้ร้าย ดังนั้น นักบุญเปโตรจึงไม่รอช้าที่จะฉุดดึงพระเยซูเจ้าไว้ แล้วทูลทัดทานว่า พระองค์จะทรงลองพิจารณาหาดูหนทางอื่นๆมิได้หรือ พระองค์น่าจะทรงตัดสินใจใหม่นะ
แต่สำหรับพระเยซูเจ้าแล้ว การที่นักบุญเปโตรฉุดรั้งพระองค์ไว้ในครั้งนี้ เปโตรก็ไม่ใช่เป็นศิลาหนักแน่นที่จะไว้ตั้งพระศาสนจักรแล้ว แต่เป็นแค่อิฐบล็อกที่ทำให้เดินสะดุดมากกว่า จึงตรัสว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลังเรา เจ้าเป็นเครื่องกีดขวางเรา เจ้าไม่คิดอย่างพระเจ้า แต่คิดอย่างมนุษย์”
ย้อนเหตุการณ์กลับไป เราคงจำได้ว่าเวลาที่พระเยซูเจ้าทรงจำศีลอดอาหารสี่สิบวันสี่สิบคืน มีปีศาจมาผจญพระองค์ มันบอกให้พระองค์แสวงหาอำนาจ และความรุ่งเรือง แต่พระองค์ไม่ทรงเชื่อมัน ดังนั้น การที่เปโตรต่อต้านหนทางแห่งเขากัลวารีโอก็เท่ากับเป็นการต่อต้านพระคริสต์นั่นเอง ที่พระเยซูเจ้าทรงบอกว่าเปโตรคิดแบบมนุษย์ ไม่ได้คิดแบบพระเจ้า เพราะมนุษย์แสวงหาหนทางเพื่อตนเอง แต่หนทางของพระคือการสละตนเอง มนุษย์แสวงหาให้คนอื่นมารักและรับใช้ตน แต่พระเยซูเจ้าทรงแสวงหาที่จะรักและรับใช้ทุกคน หนทางของมนุษย์มักจะต่างและตรงข้ามกับหนทางของพระคริสต์ หนทางของมนุษย์นำไปสู่ความมืดมนและความตาย ในขณะที่หนทางแห่งกางเขนกลับนำไปสู่ชีวิต และความเป็นอิสระ
การแบกกางเขนในชีวิตของคนๆหนึ่ง คือการเผชิญชีวิตทั้งในด้านสุขและทุกข์ จะผ่านทั้งภูเขาทาบอร์ที่เปล่งรังสีแสง (เมื่อพระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระวรกายรุ่งโรจน์) และจะผ่านภูเขากัลวารีโอที่มืดมิด(ที่ทรงถูกตรึงกางเขน) สำหรับพระเยซูเจ้าแล้วเป็นทั้งสองนั่นเอง
ในบทอ่านที่สองนักบุญเปาโลสอนให้เราทั้งหลาย “ถวายร่างกายของเราเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิต ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่พอพระทัยแด่พระเจ้า” การที่เรามาร่วมพิธีบูชามิสซา ถ้าจะให้เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าความหมาย เราจะต้องรู้จักถวายตนเองเป็นบูชาด้วย(self-sacrifice) ในภาษาอาราเมอิก คำว่า “nepes” หมายถึงทั้งคำว่า “ตนเอง” (self) และคำว่า “ชีวิต” (life) ดังนั้น ทั้งพระเยซูเจ้าและนักบุญเปาโลต่างก็นำเสนอให้คริสตชนทุกคนถวายร่างกายของตน ไม่ใช่เฉพาะเวลาที่ตายเท่านั้น แต่ถวายตัวตนทั้งหมดในทุกๆวันของชีวิตด้วย
เด็กหนุ่มชาวคริสต์คนหนึ่งจากเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ชื่อ Neil Gaikwad ได้เป็นประจักษ์พยานด้วยการเสียสละตนเองในรูปแบบนี้ ในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 2005 มีฝนตกหนักยาวนาน 12 ชั่วโมง ทำให้เมืองมุมไบจมอยู่ใต้น้ำ ชายคนนี้ว่ายน้ำไปช่วยชีวิตคนถึง 60 คนที่ติดอยู่ภายในรถบัส ผู้เห็นเหตุการณ์ยืนยันว่า “Neil ต้องมุดดำน้ำขึ้นลงถึง 40-50 ครั้ง เพื่อช่วยนำคนออกมา” หรืออีกคนหนึ่งที่เป็นนักแข่งจักรยานทางไกลชาวเท็กซัส ที่ชื่อ Lance Armstrong ก็ด้วย เขาต้องต่อสู้กับโรคมะเร็ง แต่ก็ยังสามารถได้รับชัยชนะการแข่งจักรยานทางไกลอันทรงเกียรติของรายการ Tour de France เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 2005 ซึ่งเป็นประวัติการณ์ของการประสบชัยชนะเป็นครั้งที่ 7 ของเขา ทั้ง Neil และ Lance Armstrong แสดงให้เราเห็นว่า การมีชีวิตย่อมมาจากการตายต่อตนเอง และทุกๆทางแยกแห่งชีวิตนำไปสู่สวรรค์
(คุณพ่อวิชา หิรัญญการ ลงวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 2020
Based on : Sunday Seeds For Daily Deeds ; by Francis Gonsalves, S.J.)
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- สันตะสำนักออกหนังสือ คู่มือการสอนคำสอน พร้อมกับคำแนะนำใหม่ในการสอนคำสอน
- สรุปเนื้อหาสมณสาส์นเวียนด้านสังคมของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
“ทุกคนต่างเป็นพี่น้องกัน – Fratelli Tutti” - สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสมีความคิดที่จะปฏิรูปพระศาสนจักร
- สมณลิขิต (Apostolic Letter) ของสันตะปาปาฟรานซิส โอกาสครบ 1600 ปีหลังการมรณภาพของนักบุญเจโรม
- วันที่ 3 กันยายน ระลึกถึง นักบุญเกรโกรี่