15 สิงหาคม สมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ
(The Assumption of the Blessed Virgin Mary, solemnity)
แม้ไม่มีการกล่าวถึงอย่างชัดเจนถึงสิทธิพิเศษของการรับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ของแม่พระในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ แต่ทางธรรมประเพณีและดูเหมือนเหตุผลทางเทววิทยาก็ชี้ให้เห็นถึงการไขแสดงโดยปริยายในพระคัมภีร์ถึงเรื่องนี้
ในพันธสัญญาเดิม เอกลักษณ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวของพระแม่มารีย์ถูกประกาศในฐานะเป็น “สตรี” ที่โดยผ่านทางเธอ การไถ่ให้รอดที่ทรงสัญญาไว้จะเป็นไปได้จริง (ปฐก 3:15)
ในพันธสัญญาใหม่ได้ประกาศความจริงเรื่องการไถ่ให้รอดนั้น (ลก 1:31-35; 1ยน 3:9) และพระนางพรหมจารีมารีย์เป็นผู้ “เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน” ซึ่งจะไม่สามารถทรงเป็นผู้ครบครันบริบูรณ์ดังที่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ตรัสไว้ เว้นแต่ว่าพระนางจะทรงดำรงอยู่โดยไม่เสื่อมสลายไป (เทียบ 1คร 15:54-57)
จึงเป็นการถูกต้องแล้วที่ นักบุญเยอร์มานุส แห่งคอนสแตนติโนเปิล (ราวปี 733) ได้เขียนไว้ว่า “พระวรกายอันเป็นพรหมจรรย์ของพระนางมารีย์เป็นสิ่งที่รวมทั้งความศักดิ์สิทธิ์และบริสุทธิ์เข้าไว้ด้วยกันซึ่งดำรงอยู่เพื่อพระเจ้า และไม่มีวันจะเสื่อมสลายเป็นฝุ่นดินเลย”
ธรรมประเพณีเรื่องการรับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ได้ถูกประกาศมาแต่เนิ่นนานแล้วตั้งแต่ในปี ค.ศ.749 โดยนักบุญยอห์น ดามาซีน (St. John Damascene) ส่วนพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 3 (1159-1181) ได้เขียนไว้ว่า พระนางมารีย์ได้ให้บังเกิดโดยไม่มีความด่างพร้อยทางพรหมจรรย์ ทรงให้กำเนิดพระบุตรโดยปราศจากความเจ็บปวด ดังนั้น จึงเสด็จจากไปโดยไม่เน่าเปื่อย ตามคำของทูตสวรรค์ หรือโดยพระเจ้าตรัสผ่านทางทูตสวรรค์ว่า “พระนางจะทรงเป็นผู้ที่มีพระหรรษทานเต็มเปี่ยม ไม่ใช่แบบครึ่งๆกลางๆ” และในปี 1568 พระสันตะปาปาปีโอที่ 5 ได้ทรงประกาศให้วันสมโภชการรับเกียรติเข้าสู่สวรรค์เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ทั่วทั้งพระศาสนจักร
การพัฒนาของข้อความเชื่อนี้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับวันฉลองที่อุทิศแด่แม่พระที่กระทำในวันที่ 15 สิงหาคม เพื่อระลึกถึง “การบรรทมของพระนาง” (her dormition or “falling asleep”) เมื่อวันฉลองนี้ ซึ่งแต่เดิมเกิดขึ้นในสมัยจักรวรรดิไบเซนไทน์ – อาจจะในศตวรรษที่ 5 – เข้ามาสู่พระศาสนจักรตะวันตก คำว่า “บรรทม” (dormition) ก็ถูกแทนด้วยคำว่า “ได้รับยกขึ้นสวรรค์” (assumption) นี่เป็นผลมาจากการเน้นถึงความสำคัญทางเทววิทยาที่เพิ่มขึ้นในเรื่องพระสิริรุ่งโรจน์ของความเป็นบุคคลทั้งครบของพระนางมารีย์ ตัวอย่างเช่น ในเรื่องของกายและวิญญาณของพระนาง ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นล่วงหน้าถึงสถานะที่ทรงสัญญาไว้กับมนุษยชาติทั้งมวลที่ยังมาไม่ถึง
อนึ่ง คริสตชนมักจะถือว่าพระนางมารีย์เป็นพระมารดาของพระเจ้า และนั่นหมายถึงตั้งแต่แรกที่พระนางปฏิสนธิเลยทีเดียว บาปไม่มีอำนาจใดๆเหนือพระนาง จึงทรงพร้อมเสมอที่จะทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าในฐานะทาสีของพระองค์ พระนางทรงอยู่ในตำแหน่งที่มีความสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งความรอด เป็นรองก็เพียงแต่พระบุตรของพระนางเท่านั้น และเพราะว่าพระคริสต์ทรงเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต พระองค์เองก็ได้ตรัสว่า “เราอยู่ที่ใด ผู้รับใช้ของเราก็จะอยู่ที่นั่นด้วย” (ยน 12:26) ถ้าเป็นเช่นนี้ ทำไมพระมารดาของพระองค์เองจะไม่มีส่วนร่วมในสถานที่พำนักของพระองค์เล่า ผลที่ตามมาก็คือ พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ภายหลังจากทรงสอบถามบรรดาพระสังฆราชทั่วโลกด้วยแบบประเมินอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับความรู้สึกของคริสตชนจากทุกสังฆมณฑลและทรงได้รับคำตอบแล้ว จึงทรงประกาศอย่างเป็นทางการว่า “การรับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณของพระนางพรหมจารี” (the Assumption) เป็นข้อความเชื่อของพระศาสนจักร ในสมณลิขิตของพระองค์ที่มีชื่อว่า “Munificentissimus Deus,” เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1950
บัดนี้ ผู้ที่เป็นเสมือนหีบพันธสัญญาใหม่อันศักดิ์สิทธิ์ ผู้ทรงให้กำเนิดองค์พระผู้สร้างในครรภ์ของพระนาง ได้เสด็จมาพักผ่อนในพระวิหารของพระเจ้าเอง วันนี้ พระศาสนจักรปลื้มปิติในการเทิดเกียรติทาสีผู้ต่ำต้อยขององค์พระผู้เป็นเจ้า แท้จริงแล้ว องค์พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพผู้ได้ “ทรงทำสิ่งยิ่งใหญ่” สำหรับพระนางมารีย์ ดังที่พระนางได้ทรงประกาศไว้ในบท “สรรเสริญของพระนาง” (Magnificat) มาบัดนี้ได้ทรงกระทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดกว่าทุกสิ่งเพื่อพระนาง แท้จริงแล้วเรื่องการเข้าสู่สวรรค์ของพระนาง (Assumption) อาจจะอธิบายได้เป็นอย่างดีในฐานะว่าเป็นปัสกาของพระมารดาของเรา (as Our Lady’s Easter) เพราะในวันนี้ เราสมโภชไม่เพียงเฉพาะพระนางเสด็จผ่านจากชีวิตบนโลกนี้เท่านั้น แต่สมโภชการกลับคืนชีพของพระนาง และการเสด็จสู่สวรรค์ที่เต็มไปด้วยพระสิริรุ่งโรจน์ด้วย ณ ที่นั้น พระนางทรงมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่กับชัยชนะขององค์พระผู้ทรงกลับฟื้นคืนพระชนมชีพ
ภายใต้จิตสำนึกเช่นนี้ บท Magnificat อาจจะเข้าใจได้ดีที่สุดว่าเป็น พันธสัญญาแห่งความเชื่อของพระนางมารีย์เอง (as Mary’s own Testament of Faith) – เป็น “พันธสัญญา” ที่ทำให้เรากล้าจะแสดงความเชื่อในส่วนลึกของเราออกมา เป็นความเชื่อที่ท้าทายเราให้พิจารณาเข้าไปภายใน ดังเช่นที่นักบุญยอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา ได้ตรัสไว้ว่า “เราแต่ละคนต้องพิจารณาชีวิตของตนเองด้วยสายตาของพระแม่มารีย์ – ทุกสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงกระทำต่อพระแม่ พระองค์ได้ทรงกระทำเพื่อเรา และดังนั้นได้ทรงกระทำในเรา” ดังนั้น ในวันสมโภชนี้ ซึ่งเป็นวันสมโภชที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวันสมโภชทั้งหลายของพระนางมารีย์ พระศาสนจักรทั่วสากลร่วมเสียงเป็นหนึ่งเดียวกับพระนางสรรเสริญพระเจ้าว่า “พระนามของพระองค์ทรงศักดิ์สิทธิ์”
(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)
ข้อคิดข้อรำพึง สมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ
หลายๆปีมาแล้ว มีละครไทยที่น่าประทับใจเรื่องหนึ่ง ชื่อเรื่อง “คือ…หัตถาครองพิภพ” ซึ่งเนื้อเรื่องพูดถึงบทบาทของผู้หญิงที่ใช้มือแกว่งไกวลูก แต่มือนี้แหละที่ครองโลก
อันที่จริงถ้อยคำเหล่านี้มาจากสุภาษิตเก่าแก่ที่ต้องการจะบอกว่า อิทธิพลของผู้เป็นแม่ที่มีต่อลูกนั้นยิ่งใหญ่กว่าอิทธิพลใดๆ
แม่หลายๆ คนรู้สึกไม่ค่อยสบายใจเท่าไร เมื่อคิดถึงบทบาทที่สูงส่งนี้ แม่หลายๆ คนรู้สึกไม่ค่อยสบายใจเท่าไรในความขาดตกบกพร่องของตัวเอง แม่หลายๆ คนสงสัยว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไรกับการรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้
ให้เราพิจารณาดูผู้ที่เราสมโภชในวันนี้ คือ พระนางมารีย์ พระมารดาของพระเยซูเจ้า เพื่อเป็นคำตอบและแรงบันดาลใจของผู้ที่เป็นแม่ทุกคน และเป็นแบบอย่างและความหวังสำหรับเราทุกคนด้วย
พระแม่มารีย์ ผู้ประทับในสวรรค์ ณ เวลานี้ พระศาสนจักรเฉลิมฉลองการยกขึ้นสวรรค์ในแบบพิเศษสำหรับพระแม่ เพราะว่าพระแม่ทรงปราศจากบาป พระกายของพระแม่จึงเหมือนของพระเยซูเจ้า ที่ไม่ต้องเปื่อยเน่าไป แต่ตรงดิ่งจากสถานภาพแบบโลกนี้สู่สถานภาพแห่งสวรรค์
การที่พระแม่ประทับในสวรรค์ ณ บัดนี้ เป็นเหมือนคำมั่นสัญญาให้กับพวกเราว่าสักวันหนึ่งจะได้ไปอยู่กับพระแม่ด้วย เพียงแต่เราต้องผ่านการเน่าเปื่อยของร่างกายเสียก่อน เพราะเราเป็นคนบาปมาก่อน เราเป็นเหมือนเมล็ดข้าวที่ตกลงไปในดิน ดังที่พระอาจารย์เจ้าทรงสอนไว้ เน่าเปื่อยไปและตายไป พอถึงช่วงเวลาแห่งการกลับคืนชีพ ก็จะงอกเป็นต้นใหม่ขึ้นมาอย่างงดงาม
แต่การมาสมโภชพระแม่ในวันนี้ ไม่เพียงแต่มายึดมั่นในคำสัญญาว่าสักวันเราจะอยู่กับพระแม่ในสวรรค์ เราได้รับมากกว่านั้น กล่าวคือ จะได้รับความช่วยเหลือจากพระแม่อย่างเป็นรูปธรรม ในการต่อสู้เพื่อไปสู่ชัยชนะ ดังที่พระแม่ทรงได้รับอยู่ ณ บัดนี้ พูดง่ายๆ เราสามารถเข้าไปขอความช่วยเหลือจากพระแม่ได้
ยกตัวอย่างหนึ่งในบรรดาตัวอย่างที่มิอาจนับได้ถ้วน เรื่องนี้เกิดกับ นาย ดักลาส ไฮด์ เขาเคยเป็นนักหนังสือพิมพ์คอมมิวนิสต์ของอังกฤษ ที่อุทิศตนอย่างจริงจังกับงานนี้ และในฐานะที่เคยเป็นบรรณาธิการ เขาต้องอ่านเรื่องที่เกี่ยวกับพระศาสนจักรคาทอลิกเพื่อนำมาเขียนโจมตี
แต่ในระหว่างการอ่านนั้น มีบางสิ่งเกิดขึ้น ยิ่งอ่านมากเขาก็ยิ่งมั่นใจในความจริงทางสติปัญญาที่ได้ค้นพบ แต่เขายังไม่ถึงกับรับความเชื่อเข้ามาในจิตใจ เพราะยังมีบางสิ่งหน่วงเหนี่ยวใจเขาเอาไว้
วันหนึ่ง เขาเดินทางไปทำงานในกรุงลอนดอนโดยใช้บริการรถไฟมหาชน เมื่อรถไฟจอดที่สถานีหนึ่ง เขาเห็นป้ายชื่อวัดคาทอลิกแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาเคยเห็นป้ายนี้มาเป็นร้อยๆ ครั้งแล้ว เขาตัดสินใจลงจากรถไฟเพื่อไปที่วัดนี้
เมื่อไปถึง เขาเลือกที่นั่งแถวสุดท้าย กำลังสงสัยว่าอำนาจลึกลับอะไรพาเขามาที่นี่ ทันใดนั้น เด็กสาววัยรุ่นคนหนึ่งเดินเข้ามาตรงกลางทางเดินของวัด เธอเดินตรงไปที่รูปปั้นของพระแม่มารีย์ ขณะที่เธอเดินผ่านไป เขาสังเกตว่า หน้าเธอมีความกังวลมาก
เด็กหญิงคนนั้นคุกเข่าแทบพระบาทพระแม่มารีย์เป็นเวลายาวนาน แล้วนั้นก็ลุกขึ้น เดินออกจากวัดไป เขาสังเกตว่าใบหน้าที่กังวลของเธอมลายหายไป เธอมีสันติสุขอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อเธอไปแล้ว เขาตัดสินใจทำในสิ่งที่เธอทำ เขาตั้งใจจะพูดปัญหาของเขากับพระแม่มารีย์ ในขณะที่เขาคุกเข่า เขาไม่รู้จะใช้ถ้อยคำอย่างไรดีจึงจะเหมาะที่ใช้ได้กับพระแม่ เขาไม่รู้วิธีสวดภาวนา พอเขาเริ่มพูด ก็รีบถอนคำพูด เพราะคิดว่าใช้คำไม่ค่อยเหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม เขารู้ว่าทำไมเขาจึงมาอยู่ต่อหน้าพระรูปนั้น เขารู้ว่าได้พบสิ่งที่เขาแสวงหาในใจแล้ว
ออกมานอกวัดแล้ว เขาพยายามคิดถึงคำที่เขาใช้สื่อสารกับพระแม่ เขาต้องหัวเราะออกมา เพราะเป็นคำที่คล้ายๆ กับเสียงจังหวะเต้นรำ ที่บอกว่า
“โอ้สุภาพสตรีที่อ่อนหวานและน่ารัก โปรดดีต่อผมเถิด โปรดดีต่อผมด้วย”
ให้เราพร้อมใจกันสรรเสริญพระแม่มารีย์ พระมารดาของพระเจ้า ในวันสมโภชที่น่ายินดีนี้ โปรดภาวนาเพื่อลูกทั้งหลายผู้เป็นคนบาป บัดนี้และเมื่อจะตาย อาแมน
(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2011
Based on : Illustrated Sunday Homilies – Year A ; by Mark Link, SJ)
บทรำพึงวันสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ (ลก 1:39-56) พระมารดาผู้บริสุทธิ์ของพระเจ้า พระมารดาผู้ทรงได้รับพระพรของเรา
ช่างคนหนึ่งกำลังทำงานบนนั่งร้านที่อยู่ขึ้นไปบนเพดานตรงช่องกลางของอาสนวิหารแห่งหนึ่ง เขามองลงมาเห็นผู้หญิงคนหนึ่งกำลังภาวนาอยู่หน้าพระรูปปั้นของพระแม่มารีย์ แน่นอนว่าหญิงคนนี้มองไม่เห็นและไม่รู้ว่ามีคนอยู่ข้างบน ช่างคนนี้นึกสนุกจึงทำเสียงเบาๆออกไปว่า “หญิงเอ๋ย เราคือพระเยซู” หญิงนั้นดูเหมือนไม่สนใจอะไรกับเสียงนั้น เขาจึงทำเสียงก้องๆให้ดังกว่าครั้งแรก “หญิงเอ๋ย เราคือพระเยซู” หญิงนั้นก็ไม่นำพาต่อเสียงนั้น ยังคงคุกเข่าสวดเฉยอยู่ ที่สุด ชายนั้นตะโกนว่า “หญิงเอ๋ย เจ้าไม่ได้ยินเราหรือ นี่คือพระเยซูนะ” ถึงตรงนั้น หญิงนั้นมองไปที่กางเขนกลางวัด แล้วพูดว่า “ตอนนี้อยู่เฉยๆเถอะพระเยซู ฉันกำลังสนทนากับพระมารดาของท่าน”
วันสมโภชนี้ เราระลึกถึงการเข้าสู่สวรรค์ของพระแม่มารีย์ และการได้รับมงกุฎแห่งพระราชินี แม้พระศาสนจักรมีความเชื่อในเรื่องนี้เสมอมาแต่เนิ่นนานแล้ว แต่การประกาศเป็นข้อความเชื่อก็เพิ่งได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการในสมณลิขิตที่ชื่อว่า Munificentissimus Deus โดยพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 1950 นี้เอง – น่าสังเกตว่า พระแม่มารีย์ได้รับการยกเข้าสู่สวรรค์ (was assumed into heaven) – โดยพระฤทธานุภาพขององค์พระผู้เป็นเจ้า เหมือนประกาศกเอลียาห์และเอโนค (Enoch) – ในขณะที่พระคริสต์เสด็จสู่สวรรค์ (while Christ ascented into heaven) ด้วยฤทธิ์อำนาจของพระองค์เอง
เราชาวคาทอลิกเทิดเกียรติแม่พระ และมีความศรัทธาต่อพระนาง ในประเทศอิตาลีและในทุกๆที่ที่มีชุมชนชาวอิตาเลียนอาศัยอยู่ ไม่ว่าที่ใดในโลก พวกเขาจะฉลองวันที่พระแม่ได้รับการยกเข้าสู่สวรรค์ด้วยขบวนแห่หลากสีสัน และมีการจุดพลุดอกไม้ไฟ ในกรุงซานเปาโลและในส่วนอื่นๆของประเทศแถบลาตินอเมริกา จะตกแต่งเรือแคนูด้วยสีสันลอยไปตามแม่น้ำผ่านหมู่บ้านเล็กๆ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องเชียร์
โดยแท้จริงแล้ว ประชาสัตบุรุษทุกหนแห่งจะถือว่าการที่แม่พระได้รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์นี้เป็นจุดสูงสุดของชีวิตที่เปี่ยมด้วยความเชื่อของพระนาง ที่กล่าวกับคำเชื้อเชิญเทวทูตว่า “fiat” หรือ “yes” หรือ “ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาทะของท่านเถิด” (ลก 1:38) ซึ่งนั่นก็คือ การที่ทำให้พระแม่ได้กลายเป็นพระมารดาของพระเจ้านั่นเอง พระนางเองทรงตัดสินใจที่จะให้พระเยซูเจ้าทรงเป็นศูนย์กลางชีวิต ในขณะเดียวกันก็ทรงท้าทายเราทุกคนให้มีพระเยซูเจ้าเป็นศูนย์กลางชีวิตของเราด้วย
“พระนางมารีย์ทรงรีบออกเดินทางไปยังเมืองหนึ่งในแถบภูเขาแคว้นยูเดีย…” (ลก 1 : 39) เราจะสัมผัสได้ถึงเรื่องของการเดินทาง พระนางไม่ได้เสด็จไปท่องเที่ยวหรือพักร้อน พระนางเพิ่งจะทรงได้รับการแจ้งว่าจะได้เป็นพระมารดาของพระเจ้า และแทนที่จะทรงเก็บข่าวนี้ไว้สำหรับตนเอง หรือมัวแต่อัศจรรย์ใจว่าเรื่องนี้จะเป็นเช่นไร พระนางกลับทรงเดินทางไปเยี่ยมญาติ คือนางเอลีซาเบธ และเราก็เห็นภาพเป็นฉากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่เราเรียกว่า “การเสด็จเยี่ยมเยียน” (The Visitation) บางครั้งหรือบ่อยครั้ง เราคิดว่าพระแม่มารีย์ผู้ได้รับพระพรของเราเป็นผู้สงบเงียบ นิ่งๆ เฉยๆ และเป็นเพียงผู้ตาม แต่ ณ ที่นี้ เราเห็นพระนางทรงเป็นสตรีนักกิจกรรม ทรงเป็นบุคคลที่เคลื่อนไหวตลอด พระนางจะเสด็จไปในที่ต่างๆ ทรงเป็นสตรีที่ต้องเดินทางตลอดและทรงมีความจำเป็นที่ต้องเป็นเช่นนั้นด้วย
หลังจากเสด็จเยี่ยมเยียนนางเอลีซาเบธ เราจะเห็นว่าพระนางมารีย์ต้องเสด็จไปเมืองเบธเลเฮมขณะที่ทรงครรภ์ ซึ่งถือว่าเป็นการเดินทางที่อันตราย ต่อจากนั้น ทรงเดินทางอีกด้วยการหนีไปอียิปต์ เพื่อหลบให้พ้นจากการขู่ฆ่าให้ตายที่ใกล้จะมาถึง
เราพบพระนางอีก ในการเดินทางไปกรุงเยรูซาเล็ม เมื่อเวลาที่พระบุตรทรงหายตัวไป และทรงกลับไปตามหาที่พระวิหาร แล้วจึงทรงเดินทางกลับนาซาเร็ธ และสุดท้ายที่เราไม่สามารถลืมได้ลง ซึ่งเป็นการเดินทางที่ยากลำบากที่สุดมากกว่าครั้งใดๆ นั่นคือการเดินตามพระบุตรของพระนางไปตามภูเขากัลวารีโอ ณ ที่ซึ่งมีการตรึงกางเขนพระบุตรของพระนาง และการสิ้นพระชนม์ของพระองค์
พระนางมารีย์ นับเป็นสานุศิษย์องค์แรก และทรงเป็นรูปแบบในหลายๆทางให้กับสานุศิษย์ทุกๆคนที่ติดตามมา การเดินทางเพื่อเผยแผ่พระวรสารและการประกาศข่าวดี พระนางมารีย์ทรงเป็นสตรีนักกิจกรรม เราอาจกล่าวได้ว่า ทรงเป็นมิชชันนารีคนแรก ทรงเป็นผู้ที่นำพระคริสต์มาให้แก่โลกของเรา
วันนี้ ในวันสมโภชนี้ เราเฉลิมฉลองการเดินทางที่เป็นจุดสูงสุดของพระนาง คือการได้รับเกียรติเข้าไปสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ สตรีผู้ได้ใช้ชีวิตในการเดินทางที่มากมาย – ทั้งการเดินทางอย่างรีบเร่ง การเดินทางเพื่อแสวงหา การเดินทางเพื่อหนีภัย ในที่สุดได้รับการกำหนดให้อยู่ในสถานแห่งการพักผ่อน สถานที่ซึ่ง “ได้รับการจัดเตรียมไว้โดยพระเจ้า” ดังที่ในหนังสือวิวรณ์ได้เขียนไว้ วันนี้ เราจึงเทิดเกียรติประการนั้น และเทิดเกียรติในสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำด้วย ในการที่พระองค์ “ทอดพระเนตรผู้รับใช้ต่ำต้อยของพระองค์” (ลก 1:48)
(ถอดความโดย คุณพ่อวิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Ignite Your Spirit โดย Fr. John Pichappilly)
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสมีความคิดที่จะปฏิรูปพระศาสนจักร
- ประสบการณ์และความประทับใจในการเข้าร่วมเคารพศีลมหาสนิทนานาชาติ..
- สาส์น ปี ค.ศ. 2020 ถึง ผู้อำนวยการของสมณองค์กรเพื่อการแพร่ธรรม National Director and Members of Pontifical Mission Societies (PMS)
- สมณลิขิตในรูปแบบพระสมณอัตตาณัติ (Motu Proprio) ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส “ANTIQUUM MINISTERIUM”
- สมณลิขิตของพระสันตะปาปาฟรานซิสถึงบรรดาสมณะศาสนบริกรแห่งสังฆมณฑลกรุงโรม