Skip to content

วันที่ 4 สิงหาคม ระลึกถึง นักบุญยอห์น มารีย์ เวียนเนย์ พระสงฆ์

(St John Baptist Mary Vianney, Priest, memorial)

นักบุญผู้โดดเด่นองค์นี้ ซึ่งพระศาสนจักรยกย่องให้เป็นแบบอย่างและองค์อุปถัมภ์ของพระสงฆ์พื้นเมือง เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 1786 ในระหว่างช่วงเวลาที่มีการต่อต้านบรรดาสมณะอย่างรุนแรง (ช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส) และช่วงที่ไม่นับถือศาสนา (สมัยของ นโปเลียน โบนาปาร์ต) ท่านเป็นลูกคนที่ 4 ในทั้งหมด 6 คนจากพ่อแม่ที่ศรัทธา อาศัยทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ตอนเด็กไม่ได้ร่ำเรียนหนังสือ เพราะขาดพื้นฐานการศึกษาเช่นนี้เอง ทำให้ท่านต้องเผชิญกับความลำบากเป็นอย่างมากในการเรียนที่บ้านเณรเพื่อเป็นพระสงฆ์ และเป็นแต่เพียงลักษณะนิสัยซื่อๆและมีชีวิตจิตที่ลึกซึ้งของท่าน ผนวกกับคำขอร้องพิเศษจากเจ้าอาวาสของท่าน จึงทำให้ท่านได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ในปี ค.ศ. 1815

เมื่อบวชแล้วท่านได้รับมอบหมายให้ไปดูแลวัดเล็กๆที่ตำบลอาร์ส ใกล้เมืองลีอองส์ อุปสังฆราชบอกท่านว่า “สัตบุรุษที่นั่นไม่ค่อยรักพระ จงไปทำให้เกิดขึ้นมาให้ได้” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชาวบ้านและชาวนาถูกทอดทิ้งให้อยู่ในสถานะทางด้านฝ่ายจิตและศีลธรรมอย่างนั้น นักบุญยอห์น เวียนเนย์ ได้เริ่มทำงานอย่างเงียบๆกับสัตบุรุษที่ยากจน และพวกเจ็บไข้ได้ป่วยในวัดก่อน นอกนั้นใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อวันอยู่ต่อหน้าศีลมหาสนิท เพื่อภาวนาขอให้ลูกแกะของท่านกลับใจ และตลอดเวลา 40 ปีของชีวิตที่ยังคงเหลืออยู่ ท่านได้พลีกรรมโดยเฆี่ยนตัวเองจนมีเลือดออก และทำพลีกรรมอย่างเคร่งครัดทุกชนิดเพื่อใช้โทษบาปแทนพวกสัตบุรุษ ท่านเทศน์ด้วยภาษาง่ายๆ โดยใช้ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากการดำรงชีวิตประจำวัน สำหรับบรรดาเด็กผู้หญิงที่ยากจนข้นแค้นอย่างมาก ท่านเปิดบ้านเป็นสถานที่รับเลี้ยงเด็กเหล่านี้ ชื่อบ้าน “La Providence” ซึ่งในกาลเวลาต่อมากลายเป็นโรงเรียนและเป็นสถานที่ที่เปิดตามกันมาอย่างแพร่หลายทั่วประเทศฝรั่งเศส คณะภราดรภาพของศีลมหาสนิทก็เริ่มต้นขึ้นที่นี่ด้วย

แต่งานที่สำคัญที่สุดและเกิดผลสูงสุดคือ “การให้คำแนะนำฝ่ายจิตแก่คนทั้งหลายในที่ฟังแก้บาป” ที่ซึ่งท่านใช้เวลาในแต่ละวัน 14 ถึง 18 ชั่วโมง (ไม่ว่าจะเป็นวันที่ร้อนมากในฤดูร้อน หรือ วันที่หนาวจนสั่นในฤดูหนาว) ไม่นานต่อมาก็เป็นที่เลื่องลือว่าท่านมีความสามารถในการอ่านใจคน มีความรู้เหนือธรรมชาติต่อบาปที่ยังไม่สารภาพออกมาและสิ่งที่จะติดตามมา และโดยคำภาวนาของท่านทำให้คนป่วยได้รับการรักษาให้หายอย่างอัศจรรย์ ไม่เพียงคนในหมู่บ้านที่ตำบลอาร์สเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงดีขึ้นทั้งทางด้านจิตและทางด้านจริยธรรม แต่ผู้คนเริ่มเดินทางมาหาท่านจากทุกภาคส่วนของทวีปยุโรปและอเมริกาด้วย ท่านนักบุญเองเคยกล่าวไว้ว่า “ผู้ที่มีพระจิตเจ้าทรงนำทาง จะสามารถมองเห็น(=อ่าน)สิ่งต่างๆได้” อีกครั้งหนึ่งท่านประกาศว่า “และนี่เองที่ทำไมคนที่โง่เขลาจึงล่วงรู้มากกว่าคนที่ปรีชาฉลาด” ผู้คนหลั่งไหลกันมามากจนต้องจัดรถบัสพิเศษเพิ่มขึ้น 5 สาย และต้องมีช่องขายตั๋วรถไฟพิเศษจากสถานีที่เมืองลีอองส์สำหรับผู้แสวงบุญที่มุ่งไปเมืองอาร์ส ถ้าจะนับจำนวนนักแสวงบุญในระยะเวลา 20 ปี ซึ่งรวมทั้งคนสุขภาพดี คนป่วย และคนที่ต้องทุกข์ทรมาน ในบรรดาคนเหล่านี้มีทั้งพวกพระคาร์ดินัล พระสังฆราช (บางทีไม่เปิดเผยตน) พระสงฆ์ นักบวช และฆราวาส จากทุกๆรูปแบบของชีวิต รวมแล้วเกินกว่า 2 ล้านคน

นักบุญยอห์น เวียนเนย์ เป็นผู้มีใจร้อนรนอย่างมาก และมีความเป็นมิตรดียิ่ง มีความอดทนและสุภาพเป็นที่สุด พูดตามภาษามนุษย์แล้ว การกินและนอนที่น้อยเกินไปตลอดระยะเวลา 40 ปีในงานอภิบาลของท่าน ย่อมไม่สามารถทำให้ท่านมีชีวิตต่อไปได้ พวกชาวบ้านเหล่านี้เองยังเป็นพยานว่า ท่านได้ทนทรมานจากฤทธิ์อำนาจของปีศาจเป็นเวลาหลายปี บั้นปลายชีวิตท่านได้รับตำแหน่งทรงเกียรติเป็น Honorary Canon of Lyons และรัฐบาลฝรั่งเศสให้เกียรติแก่ท่านด้วยตำแหน่งอัศวิน A Knighthood of the Legion of Honour ซึ่งแน่นอนว่าท่านไม่ได้สนใจตำแหน่งใดๆทางฝ่ายโลกนี้อยู่แล้ว

ท่านสิ้นใจในวันที่ 4 สิงหาคม 1859 และได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญโดยพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 11 ในปี ค.ศ.1925

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)