
ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 16 เทศกาลธรรมดา ปี A
จงปล่อยให้การตัดสินครั้งสุดท้ายเป็นของพระเจ้า
การตัดสินโดยทันที (Instant judgement)
Ibn Saud กษัตริย์องค์แรกของซาอุดิ อาราเบีย ทรงต้องเผชิญหน้ากับปัญหาของการตัดสิน เรื่องมีอยู่ว่า หญิงคนหนึ่งมาเฝ้าพระองค์และทูลเรียกร้องให้ตัดสินลงโทษชายคนหนึ่งที่ฆ่าสามีของเธอ ให้ตายตกไปตามกัน ขณะเกิดเหตุ ผู้ชายคนนี้อยู่บนต้นปาล์มกำลังเก็บผลอินทผาลัม แต่เกิดพลาดและตกลงมา บังเอิญลงมาทับร่างชายคนที่เป็นสามีของหญิงนั้นที่อยู่ใต้ต้นปาล์มถึงแก่ความตาย กษัตริย์ Ibn Saud ทรงถามหญิงนั้นว่า “ชายคนนั้นตั้งใจจะตกลงมาไหม” “ชายสองคนนี้เคยเป็นศัตรูกันมาก่อนหรือไม่” หญิงนั้นทูลตอบว่าไม่เคยรู้จักชายคนนี้เลย และไม่รู้ว่าทำไมถึงตกลงมา แต่ตามกฎหมายแล้วเธอมีสิทธิเรียกร้องให้เลือดตกไปตามกัน กษัตริย์ทรงกล่าวต่อไปว่า “จะให้ชดใช้ในรูปแบบอื่นไหม” แต่หญิงคนนั้นขอแต่ศีรษะของฝ่ายที่ทำผิด กษัตริย์ทรงพยายามโน้มน้าวชักจูงเธอ ทรงชี้ให้เห็นว่า เธออาจจะต้องการเงิน และการลงโทษชายคนนี้ให้ตายไปก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งต่อตัวเธอและลูกของเธอ แต่หญิงนั้นยังยืนกรานโดยโต้เถียงว่า ไม่เป็นการถูกต้องที่ชายคนที่ฆ่าสามีเธอ จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในกลุ่มคนที่เป็นคนดี เขาควรถูกขุดรากถอนโคนทิ้งไปในทันที ที่สุด กษัตริย์จึงตรัสว่า “เป็นสิทธิ์ของเธอตามกฎหมายที่จะเรียกร้องการลงโทษ และเป็นสิทธิ์ของเธอตามกฎหมายที่จะร้องขอให้เอาชีวิตของชายคนนี้ แต่เป็นสิทธิ์ของฉันตามกฎหมายด้วย ที่จะกำหนดว่าเขาควรจะตายอย่างไร เอาเถอะ ขอให้นำชายคนนี้เข้ามาพร้อมกับเธอ และให้เขาถูกผูกไว้ใต้ต้นปาล์ม ส่วนเธอขอให้ปีนขึ้นไปบนต้นไม้นั้นให้สูงที่สุด แล้วปล่อยตัวลงมาจากความสูงให้ลงมาทับร่างของเขา ด้วยวิธีนี้เธอจะสามารถฆ่าเขาให้ตายเหมือนที่เขาทำกับสามีเธอ” พระองค์ทรงหยุดเล็กน้อยแล้วตรัสเสริมว่า “หรือบางที เธออาจจะรับเงินเป็นค่าไถ่เลือดมากกว่า” สรุป หญิงนั้นขอรับเงินแทน
ความหวังที่เต็มเปี่ยม (The good hope)
การเรียกร้องให้มีการตัดสินโดยฉับพลัน เพื่อถอนรากถอนโคนผู้ที่ทำผิดคิดร้ายต่อปวงชน เพื่อนำเอาการพิพากษาครั้งสุดท้าย (last judgement) มาเป็นปัจจุบันกาล (present tense) เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากในพระวาจาของพระประจำอาทิตย์นี้ จากบทอ่านแรกของหนังสือปรีชาญาณได้พยายามตอบคำถามที่กดดันอย่างหนักในข้อที่ว่า ทำไมพระเจ้าทรงปล่อยให้คนชั่วเจริญรุ่งเรือง ทำไมพระเจ้าจึงทรงอดทนและอดกลั้นต่อศัตรูของชาวอิสราเอล ผู้แต่งตอบโต้ว่าความอดทนอดกลั้นของพระเจ้านั้นไม่ได้เป็นผลมาจากความอ่อนแอของพระองค์ พระยุติธรรมแท้จริงมาจากต้นกำเนิดที่ทรงพลัง ขึ้นกับว่าพระองค์จะทรงใช้ความเข้มแข็งที่ทรงพลังอย่างไรเท่านั้น คำตอบคือว่า พระองค์ทรงจัดการกับสิ่งนี้โดยให้น้ำหนักกับ “ความกรุณาปรานีที่ยิ่งใหญ่” (great lenience) เราจะพบจากในพระคัมภีร์ว่า พระเมตตามากล้นของพระองค์ทรงมีให้กับทุกคนอย่างเห็นได้ชัด แม้คนที่ทำตนเป็นศัตรู การกระทำเช่นนี้เป็นไปตามเป้าประสงค์ของพระองค์ที่ว่า “พระองค์ทรงกระทำเช่นนี้ เพื่อสอนประชากรของพระองค์ว่า ผู้ชอบธรรมต้องรักเพื่อนมนุษย์ พระองค์ประทานความหวังเต็มเปี่ยมแก่บรรดาบุตรของพระองค์ว่า เมื่อเขาทำบาปแล้ว พระองค์ก็ประทานโอกาสให้เขากลับใจ” (ปชญ 12:16-19)
และดังนี้ประชากรก็ถูกขอให้มีส่วนร่วมในจิตตารมณ์เดียวกันนั้น พวกเขาต้องปฏิบัติอย่างใจดีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน การเผยแสดงว่าพระเจ้าทรงพระเมตตาที่ยิ่งใหญ่ จะช่วยให้ชาวอิสราเอลมีความหวังอย่างเต็มเปี่ยม (The good hope) ในมุมมองที่ว่าเมื่อพวกเขาทำผิดต่อพระเจ้า ก็จะได้รับการยกโทษให้จากพระองค์ด้วยเช่นกัน ความหวังเช่นนี้ได้รับการยกย่องเชิดชูให้สูงขึ้น เมื่อเราสวดบทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น”
เรื่องที่สะกิดใจเราในพระเมตตาของพระเจ้าที่ทรงอดทนต่อคนผิด ปรากฏอีกครั้งในพระวรสารของวันนี้ อาณาจักรของพระเจ้าเปรียบเหมือนชาวนาที่ต้องเผชิญปัญหาน่าหนักใจ ทุ่งนาของเขามีทั้งข้าวสาลีและข้าวละมานเติบโตมาด้วยกัน ซึ่งการจะแยกแยะให้ชัดเจนว่าเป็นชนิดไหน ก็ต้องรอให้มันโตกว่านี้เสียก่อน คนใช้ต้องการถอนข้าวละมานทิ้งไป แต่ชาวนาบอกให้ปล่อยไว้ก่อน เขาหวั่นเกรงว่าการถอนรากถอนโคนข้าวละมาน อาจทำให้ข้าวสาลีได้รับอันตรายไปด้วย เขาสั่งว่า ไม่ต้องพยายามก่อนเวลาที่จะแยกแยะออกจากกัน ดังนั้นข้าวทั้งสองชนิดถูกอนุญาตให้โตขึ้นจนถึงวันเก็บเกี่ยวสุดท้าย แล้วจึงจะทำการแยกออกไป
ชุมชนที่ผสมปนเปกัน (A mixed community)
อันที่จริง ข่าวสารที่พระเยซูเจ้าทรงมอบให้เมื่อเล่าอุปมาเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่พระองค์เองทรงเผชิญหน้ากับมันตลอดพระราชกิจของพระองค์ กล่าวคือพระองค์ทรงเข้าไปหาคนทุกชนิด ผสมปนเปไปด้วยโสเภณี พวกพระสงฆ์ ขโมยขโจร คัมภีราจารย์ นักการเมือง เด็กๆ คนเก็บภาษี ฟารีสี ฯลฯ การจะทำให้ศาสนาต้องแปลกแยกออกไปต่างหากเป็นสิ่งที่พระองค์ไม่ทรงทำ ตรงกันข้ามกลับทรงแสวงหา และช่วยผู้ที่หลงทางไปให้ได้กลับมา พวก “ฟาริสี” ชื่อของเขาหมายถึง “พวกที่แยกออกไปต่างหาก” (= ไม่ปนกับคนอื่นๆ เป็นกลุ่มคนพิเศษที่ดีเหนือกว่าคนอื่นๆ) พวกนี้วิจารณ์พระเยซูเจ้าที่ไปคบหากับกลุ่มคนผิดๆทั้งหลาย แต่พระเยซูเจ้าทรงทราบดีว่า ทุกๆสังคมมีทั้งคนดีและคนเลว และไกลกว่านั้น เรายังไม่ควรแยกแยะเวลานี้ ควรรอจนถึงวาระสุดท้าย
เรื่องนี้สอนเราว่า ในฐานะคริสตชนเราไม่มีอำนาจจะประกาศคำตัดสินสุดท้ายสำหรับใครก็ตาม คำสุดท้ายไม่ควรพูดออกมาถึงใครเลย จนกว่าความตายของเขาจะมาถึง แล้วนั้น ให้พระเจ้าทรงทำในส่วนของพระองค์ ไม่ใช่หน้าที่ของเรา นักบุญเปาโลสอนเราอย่างดีทีเดียวในเรื่องนี้ “ดังนั้น จงอย่าตัดสินเรื่องใดๆ ก่อนถึงเวลา จงคอยจนกว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จมา” (1คร 4:5) ที่นักบุญเปาโลพูดเรื่องนี้ เพราะท่านเองก็ตระหนักดีว่า ถ้าตัดสินอะไรให้เด็ดขาดไปเลยในเวลานี้ อาจจะเป็นเหมือนหนังคนละเรื่อง เช่นว่า แต่ก่อนนักบุญเปาโลคิดผิดๆเกี่ยวกับผู้ติดตามพระเยซูเจ้า ท่านพยายามไปถอนรากถอนโคนกลุ่มคริสตชนใหม่ เพราะคิดว่าเป็นวัชพืช ต้องถอนทิ้งไป แต่ภายหลังเมื่อท่านได้เห็นภาพนิมิตและกลับใจ ท่านก็ต้องยอมรับว่าตัดสินผิดพลาดไป หรือถ้าพระเจ้าทรงตัดสินเซาโลในขณะที่เขากำลังเบียดเบียนคริสตชนอยู่ เขาก็คงไม่ได้มาเป็น “อัครสาวกของคนต่างศาสนา” ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งเป็นแน่
หรือนักบุญมารีย์ ชาวมักดาลา ที่มีวันระลึกถึงท่านใกล้ๆช่วงเวลานี้ (= 22 กรกฎาคม) ซึ่งผู้นิพนธ์พระวรสารองค์หนึ่งบอกว่า เธอเคยถูกปีศาจเจ็ดตนสิงอยู่ และพระเยซูเจ้าทรงขับไล่ผีเจ็ดตนออกไปจากนาง ต่อมาเธอกลายมาเป็นผู้ติดตามพระเยซูเจ้า และเป็นคนแรกที่ทรงแสดงองค์ให้เห็นหลังการกลับฟื้นคืนพระชนมชีพด้วย เห็นไหมครับ ถ้าให้คำตัดสินสุดท้ายตั้งแต่เธอยังโดนหมู่ปีศาจสิงอยู่ ผลจะออกมาแตกต่างกันมากแค่ไหน จึงขอสรุปดังนี้
“จงปล่อยให้ข้าวสองชนิดงอกงามขึ้นด้วยกันจนถึงฤดูเก็บเกี่ยว”
บางคนเปรียบเทียบว่าอยู่ในโลกนี้ บางทีก็เหมือนอยู่ในรถ บางครั้งอยากจะให้รถจอด
จะได้ออกไปจากรถคันนี้ ถ้าหยุดโลกได้ และออกไปจากโลกได้ คงมีหลายๆ คนทำกัน
ทั้งนี้ เพราะในโลกมิได้มีแต่สิ่งสวยงามเสมอไป
มิได้มีแต่คนที่มีจิตใจดีงามเสมอไป
มิได้มีอะไรๆ เป็นไปตามฝันเสมอไป
ตรงข้าม บางคนเห็นแต่สิ่งชั่วร้ายในโลกนี้
ผู้คนมากมายเป็นโรคจิต และกระทำสิ่งชั่วร้าย
มีสงคราม จลาจล ความเกลียดชังไปทุกหย่อมหญ้า
เด็กๆ และสตรีอาจไม่ปลอดภัย เพราะเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์
ผู้ชายก็อาจตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงนานาชนิด
แต่ความดี ความจริง ความรัก ความเมตตาปรานี การเห็นอกเห็นใจกัน สิ่งเหล่านี้ก็ยังมีอยู่ด้วยเช่นกันในโลกใบนี้ ดังนั้น ในโลกของเรานี้ มีทั้งความดีและความไม่ดีอยู่ปะปนกันไป
เหมือนในพระวรสารของอาทิตย์นี้ที่พูดถึงข้าวสาลีที่งอกงามขึ้นมา แต่ในเวลาเดียวกันก็มีข้าวละมานงอกงามขึ้นมาด้วย ผู้รับใช้จึงถามนายว่า “นายต้องการให้เราไปถอนมัน(ข้าวละมาน)ไหม” นายห้ามไม่ให้ถอน เพราะกลัวจะติดข้าวสาลีออกไปด้วย ให้รอไว้จนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว
ฟังอุปมาเรื่องนี้ของพระเยซูเจ้าแล้ว เราต้องยั้งปากเอาไว้ ไม่ไปขอพระองค์ให้ทำลายคนชั่วให้สิ้นไป คงเหลือไว้แต่คนดีๆ เท่านั้น จะได้แช่มชื่นใจ เพราะว่าถ้าเราเผลอไปขอเช่นนั้นจริง และพระองค์โปรดประทานให้ตามที่ขอนั้น พวกเราอาจจะเป็นพวกแรกๆ ที่ถูกถอนทิ้ง และก็คงจะไล่ถอนไปเรื่อยๆ จนเกือบหมดโลก
ทั้งนี้ เพราะเรามนุษย์ทุกคนมีทั้งความดีและความชั่วอยู่ในตัวเรา พระเจ้าทรงมีความอดทนอย่างยิ่ง เพื่อให้เรามีโอกาสค่อยๆ ปราบความชั่วให้หมดไป และหันเข้าหาฝ่ายความดี ดังนั้น การที่พระองค์ทรงปล่อยให้โลกมีทั้งคนดีและไม่ดี ก็เพื่อให้คนดีได้มีความดีเพิ่มมากขึ้น และให้โอกาสคนที่ไม่ดีได้กลับตัวกลับใจมาเป็นคนดี เพื่อจะได้มาสู่หนทางแห่งความรอดพ้น
ลองพิจารณาดูพระเยซูเจ้า เมื่อครั้งที่ทรงพระชนม์อยู่ในโลกนี้ ตลอดเวลาที่ทรงประกาศข่าวดี ทรงเข้าถึงผู้คนทุกชนิด ทรงพบปะผู้คนมากมายหลายอาชีพ มีทั้งโสเภณี พระสงฆ์ ฟาริสี คัมภีราจารย์ คนฉ้อโกง นักการเมือง เด็กๆ และคนเก็บภาษี พระองค์ทรงปรารถนาจะให้ทุกๆ คนได้รับข่าวดีแห่งพระอาณาจักรของพระเจ้า
สรุปว่า พระวรสารของสัปดาห์นี้สอนให้เรามุ่งมั่นทำงานให้หนัก เพื่อมุ่งไปสู่หนทางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าทรงรอคอยเราด้วยความเพียรอดทน ทรงรอจนถึงที่สุด อย่างน้อยจนถึงฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อให้โอกาสเราได้รอดมากขึ้น
(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 2011)