Skip to content

บทเทศน์วันสมโภชนักบุญเปโตรและเปาโล สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานกล่าวถึงความเป็นเอกภาพและคำทำนาย

พระสันตะปาปาทรงเสกผ้าคล้องคอพิเศษเป็นสมณยศอย่างหนึ่ง เรียกว่า “Pallium” เพื่อมอบให้กับคณะพระคาร์ดินัล และอาร์ชบิชอป ประจำเขตศาสนปกครองปกครองแห่งมหานคร ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งปีที่แล้ว (ค.ศ. 2019)

วันที่ 29 มิถุนายน 2020

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเน้นเรื่องความเป็นเอกภาพ (unity) และ คำทำนายหรือคำพยากรณ์ (prophecy) ในบทเทศน์ระหว่างพิธีบูชามิสซาในวันที่ 29 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันสมโภชนักบุญเปโตรและเปาโล พิธีกรรมจัดขึ้นในมหาวิหารนักบุญเปโตร ซึ่งมีสัตบุรุษเข้าร่วมไม่มากนัก เนื่องจากกฏระเบียบสุขภาพอนามัยเพราะโรคระบาด ระหว่างพิธีมีการเสกปัลลีอุม (Pallium) เพื่อมอบให้กับคณะพระคาร์ดินัลและอาร์ชบิชอป แห่งอัครสังฆมณฑลมหานคร ที่ได้รับการแต่งตั้งมื่อปีที่แล้ว

เมื่อพูดถึงความเป็นเอกภาพ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตั้งข้อสังเกตว่าในการฉลองวันนี้ พระศาสนจักรทำการฉลอง “บุคคลสองคนที่มีลักษณะแตกต่างกัน เปโตรผู้เป็นชาวประมง ซี่งใช้วันๆอยู่กับเรือและอวน ส่วนเปาโลเป็นฟาริสีที่เรียนสูงและเป็นนักเทศน์สอนในศาลาธรรม เมื่อเขาทั้งสองออกไปทำพันธกิจเปโตรจะพูดกับชาวยิว  ส่วนเปาโลจะพูดกับชนต่างศาสนา และเมื่อหนทางของเขาทั้งสองมาบรรจบกันก็มักจะมีการโต้เถียงกันอย่างรุนแรงเสมอ…”แต่เขาทั้งสองก็สนิทกันและเป็นหนึ่งเดียวกันในพระเยซูคริสต์

และ เกี่ยวกับการทำนายหรือพยากรณ์ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเชิญให้พวกเราคิดถึงคำถามที่ท้าทายของพระเยซูคริสต์ต่อเปโตร “ท่านคิดว่าเราเป็นใคร?” เปโตรก็ตอบแบบนักพยากรณ์ว่าพระองค์เป็นพระเจ้า  การประกาศของเปโตรทำให้พระเยซูคริสต์ตรัสว่า พระองค์จะสร้างพระศาสนจักรบนอัครสาวกท่านนี้ ซึ่งทำให้ทิศทางของชายผู้นี้เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน  ขณะที่เซาโลถูกทำให้ตาบอดและเขาได้พบปะกับพระเยซูคริสต์ ในทำนองที่ทำให้เขากลายเป็นเปาโล อาจารย์และผู้ประกาศพระวรสารที่ยิ่งใหญ่

“ทุกวันนี้พวกเราต้องการการพยากรณ์ แต่ต้องเป็นพยากรณ์ที่แท้จริง ไม่ใช่นักคุยโม้ที่สัญญาสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  แต่เป็นพยานว่าพระวรสารนั้นทำให้ทุกสิ่งเป็นไปได้” สมเด็จพระสันตะปาปาตรัสอีกว่า “สิ่งที่พวกเราต้องการไม่ใช่การแสดงที่น่าอัศจรรย์ ซึ่งทำให้พ่อรู้สึกเศร้าใจ เมื่อพ่อได้ยินบางคนพูดว่า พวกเราต้องการพระศาสนจักรที่เป็นนักพยากรณ์” ก็ได้ แต่ท่านมัวทำอะไรอยู่เพื่อที่พระศาสนจักรจะได้เป็นนักพยากรณ์? พวกเราต้องการชีวิตที่แสดงให้เห็นถึงอัศจรรย์แห่งความรักของพระเจ้า”

ต่อไปนี้เป็นบทเทศน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาเผยแพร่โดยสำนักข่าววาติกัน

ในโอกาสสมโภชอัครสาวกทั้งสองแห่งกรุงโรม พ่อปรารถนาที่จะแบ่งปันกับพวกท่านกับคำว่า” ความเป็นเอกภาพและการพยากรณ์

ความเป็นเอกภาพ พวกเราทำการฉลองปัจเจกบุคคลสองท่านพร้อมกัน  แต่แตกต่างกันมาก เปโตรเป็นชาวประมงที่วันๆอยู่กับเรือและอวน ส่วนเปาโลเป็นฟาริสีคงแก่เรียนและทำการสอนในศาลาธรรม เมื่อทั้งสองออกไปทำพันธกิจ เปโตรพูดกับพี่น้องชาวยิว ส่วนเปาโลจะพูดกับคนต่างศาสนา เมื่อเขาทั้งสองพบกันไม่ว่าเวลาใดก็มักจะมีการโต้แย้งกันอย่างเผ็ดร้อนเสมอ ดังที่เปาโลไม่อายที่จะยอมรับในจดหมายฉบับหนี่งของเขา (เทียบ กท. 2: 11)   พูดสั้นๆก็คือเขาทั้งสองแตกต่างกัน แต่เขาถือว่าเป็นพี่น้องกันเฉกเช่นครอบครัวที่มีความใกล้ชิดกัน ซึ่งอาจมีการโต้ถึยงกัน แต่เขาทั้งสองก็มีความรักซึ่งกันและกันเสมอ ทว่าความใกล้ชิดที่เชื่อมระหว่างเปโตรและเปาโลไม่ได้เกิดจากความพอใจตามธรรมชาติ แต่จากพระเยซูคริสต์ พระองค์มิได้ทรงบังคับให้พวกเราชื่นชอบกันและกัน แต่ให้พวกเรารักซึ่งกันและกัน พระองค์ทรงเป็นผู้ที่เชื่อมโยงระหว่างพวกเราโดยที่ไม่ทรงทำให้พวกเรามีความเหมือนกัน พระองค์ทรงทำให้พวกเราเป็นหนึ่งเดียวกันท่ามกลางความแตกต่างระหว่างพวกเรา

บทอ่านที่หนึ่งของวันนี้นำพวกเราไปสู่ต้นตอแห่งความเป็นเป็นเอกภาพนี้  ซึ่งเกี่ยวกับพระศาสนจักรที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ ที่กำลังมีประสบการณ์กับเวลาแห่งวิกฤต กษัตริย์เฮร็อดโกรธเคืองมากจึงสั่งให้มีการเบียดเบียน อัครสาวกยาก็อบถูกฆ่าตาย และช่วงเวลานั้นเปโตรถูกจับ ชุมชนคริสตชนไม่รู้ว่าจะต้องทำประการใด ทุกคนสับสน ทุกคนห่วงชีวิตของเปโตร ทว่าในช่วงเวลาเลวร้ายนั้นไม่มีผู้ใดหลบหนีลี้ภัยเลย ไม่มีใครคิดที่จะรักษาชีวิตของตนให้รอด ไม่มีผู้ใดทอดทิ้งผู้อื่น แต่ว่าทุกคนรวมตัวกันสวดภาวนา จากการสวดภาวนานี้แหละพวกเขาได้รับพลังพิเศษ จากการสวดภาวนาพวกเขามีเอกภาพซึ่งมีพลังมากกว่าการถูกขู่เข็นใดๆ พระวรสารกล่าวว่า “ขณะที่เปโตรอยู่ในคุกพระศาสนจักรสวดภาวนาด้วยความร้อนรนสำหรับเขา” (กจ. 12: 5) เอกภาพเป็นผลพวงจากการสวดภาวนา เพราะการสวดภาวนาเป็นการยอมให้พระจิตทรงเข้ามาเป็นแรงผลักดัน พระองค์ทรงเปิดหัวใจของพวกเราสู่ความหวัง สำหรับย่นระยะทางการรอคอย และพระองค์ผนึกให้พวกเราเป็นหนึ่งเดียวกันในเวลาที่ต้องเผชิญความทุกข์ยากลำบาก

ขอให้พวกเราสังเกตสิ่งอื่นอีก ณ เวลาแห่งความโกลาหลนั้นไม่มีผู้ใดบ่นถึงความชั่วร้ายของเฮร็อดและการเบียดเบียนของเขา ไม่มีผู้ใดล่วงเกินเฮร็อด ซึ่งปกติพวกเรามักจะกล่าวร้ายต่อผู้ที่มีอำนาจ  ไร้ซึ่งความหมายแม้กระทั่งเป็นสิ่งน่ารำคาญใจอย่างยิ่งสำหรับคริสตชนที่มัวไปเสียเวลาบ่นเกี่ยวกับโลก กับสังคม กับทุกสิ่งที่ไม่เข้าท่าเข้าทาง การบ่นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย ขอให้พวกเราจำไว้ว่าการบ่นเป็นประตูที่สองที่จะปิดกั้นตัวพวกเราจากพระจิตเจ้า ดังที่พ่อได้กล่าวไปแล้วในวันอาทิตย์สมโภชพระจิต สิ่งแรกนั้นคือลัทธิการบูชาตนเอง  สิ่งที่สองคือการสิ้นหวัง สิ่งที่สามคือการมองโลกในแง่ร้าย ลัทธิการบูชาตนเองทำให้พวกท่านต้องมองตนเองในกระจกเงาบ่อยๆ การสิ้นหวังจะนำไปสู่การบ่น และการมองโลกในแง่ร้ายจะทำให้พวกเรามองทุกสิ่งว่ามืดมนไปหมด ทัศนคติสามประการนี้จะปิดกั้นประตูสู่พระจิต คริสตชนเหล่านั้นมิได้กล่าวตำหนิผู้ใดเลย ตรงกันข้ามพวกเขาสวดภาวนา ในชุมชนดังกล่าวไม่มีผู้ใดพูดว่า “ถ้าเปโตรระมัดระวังตัวมากขึ้น พวกเราก็คงไม่ต้องตกอยู่ในสภาพนี้”  หากจะพูดตามภาษามนุษย์ มีเหตุผลที่จะตำหนิเปโตร แต่ไม่มีผู้ใดตำหนิเขาเลย  พวกเขาไม่ได้บ่นเกี่ยวกับเปโตร พวกเขาสวดภาวนสำหรับเปโตร พวกเขาไม่นินทาลับหลังเปโตร พวกเขาสนทนากับพระเจ้า  วันนี้พวกเราสามารถถามว่า “พวกเราสามารถปกป้องความเป็นเอกภาพของพวกเรา และความเป็นเอกภาพกับพระศาสนจักรด้วยคำภาวนาได้หรือไม่? พวกเราสวดภาวนาสำหรับกันและกันหรือไม่?”  อะไรจะเกิดขึ้นหากพวกเราสวดภาวนาให้มากขึ้นแล้วบ่นน้อยลง หากพวกเรารู้จักควบคุมลิ้นที่เงียบสงบ?  สิ่งเดียวกันจะเกิดขึ้นดังที่เกิดกับเปโตรขณะที่อยู่ในคุก บางครั้งบางคราวประตูหลายบานที่ปิดอยูจะถูกเปิดออก โซ่ตรวนที่รัดอยู่จะแตกหัก พวกเราคงจะประหลาดใจดุจสาวใช้ที่เห็นเปโตร ณ ประตู และไม่เปิดให้ แต่กลับวิ่งกลับเข้าไปภายในอย่างประหลาดใจพร้อมกับชื่นชมยินดีที่ได้เห็นเปโตร (เทียบ กจ. 12: 10-17) ขอให้พวกเราขอพระหรรษทานเพื่อที่จะสามารถสวดภาวนาสำหรับกันและกัน นักบุญเปาโลขอร้องคริสตชนให้สวดภาวนาสำหรับทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำการปกครอง (เทียบ 1 ทธ. 2: 1-3) “แต่ผู้ปกครองคนนี้เป็นคนประเภท…” ที่มีคุณศัพท์ขยายมากมาย พ่อไม่ขอเอ่ยถึงจะดีกว่า เพราะนี่ไม่ใช่เวลาและสถานที่ที่จะเอ่ยถึงคุณศัพท์ที่ให้กับนักปกครอง ขอให้พระเจ้าพิพากษาพวกเขาก็แล้วกัน ทว่าเวลานี้ขอให้เราสวดสำหรับผู้ที่เป็นนักปกครอง เพราะพวกเขาต้องการคำภาวนา นี่เป็นพันธกิจที่พระเจ้ามอบให้พวกเรา พวกเราได้ปฏิบัติตามหรือไม่?  หรือว่าพวกเราได้แต่พูด ได้แต่วิจารณ์ ได้แต่บ่น ได้แต่ละเมิด แล้วไม่ทำอะไรเลย?  พระเจ้าทรงคาดหวังว่าเมื่อพวกเราสวดภาวนา พวกเราจะรำลึกถึงผู้ที่ไม่คิดอย่างที่พวกเราคิด ผู้ที่ปิดประตูใส่หน้าพวกเรา ผู้ที่พวกเราพบว่ายากมากที่จะให้อภัย  มีแต่การสวดภาวนาเท่านั้นที่จะทำลายโซ่ตรวนดังที่เกิดขึ้นกับเปโตร มีแต่การสวดภาวนาเท่านั้นที่จะนำไปสู่ความเป็นเอกภาพ

                                        ผ้าคล้องคอ Pallium

        ในพิธีบูชามิสซามีการเสกผ้าคล้องคอเครื่องหมายสมณยศพิเศษที่เรียกว่า “Pallium” เพื่อมอบให้กับคณะพระคาร์ดินัลและอาร์ชบิชอปที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อปีที่แล้ว  ปัลลีอุม (Pallium) เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นเอกภาพระหว่างลูกแกะและผู้เลี้ยงแกะที่ดี ดุจดังพระเยซูคริสต์ทรงแบกลูกแกะไว้บนบ่าเพื่อที่จะไม่มีวันพรากจากกัน วันนี้ก็เช่นเดียวกัน ตามประเพณีที่ดี พวกเราเป็นหนึ่งเดียวกันในวิธีพิเศษกับสมเด็จพระอัยกาแห่งนครคอนสตันติโนเปิ้ล (ปัจจุบันเมืองอีสตันบุน) เปโตรและอันดรูว์เป็นพี่น้องกัน และเมื่อใดก็ตามที่เอื้ออำนวยพวกเราก็แลกเปลี่ยนการเยือนฉันพี่น้องกันในโอกาสวันฉลองสำคัญของทั้งสองฝ่าย เหตุที่พวกเราทำเช่นนั้นไม่ใช่เพราะด้วยมารยาท แต่เป็นหนทางแห่งการเดินทางร่วมกันสู่เป้าหมายที่พระเยซูคริสต์ทรงกำชับพวกเรา กล่าวคือความเป็นเอกภาพ วันนี้พวกเราไม่สามารถทำได้เพราะความยุ่งยากในการเดินทางเนื่องจากไวรัสโคโรนา แต่เมื่อพ่อไปสักการะพระธาตุของเปโตรในใจของพ่อรู้สึกคิดถึงพระอัยกาบาร์โธโลมิวกัลยาณมิตร พี่น้องที่รักของพ่อ วันนี้คณะของท่านอยู่ที่นี่โดยการร่วมจิตใจพร้อมกับพวกเรา

        คำที่สองคือว่า คำพยากรณ์ เอกภาพและพยากรณ์ อัครสาวกถูกท้าทายจากพระเยซูคริสต์ เปโตรได้ยินคำถามของพระเยซูคริสต์ว่า “ท่านคิดว่าเราเป็นใคร?” (เทียบ มธ. 16: 15) ณ เวลานั้นเขารับรู้ว่าพระอาจารย์เจ้าไม่สนใจในสิ่งที่คนอื่นคิด แต่ในการตัดสินใจส่วนตัวของเปโตรที่จะติดตามพระองค์ ชีวิตของเปาโลเปลี่ยนแปลงไปหลังจากที่ได้รับการท้าทายจากพระเยซูคริสต์ในทำนองเดียวกัน “เซาโล เซาโล ทำไมท่านจึงเบียดเบียนเรา?”  (กจ. 9: 4) พระเยซูคริสต์ทรงกระตุ้นเปาโลอย่างแรงถึงก้นบึ้งแห่งหัวใจมากกว่าทำให้เขาตกจากหลังม้าในขณะที่เดินทางไปยังดามัสคัส พระองค์ขยี้ความหลงผิดของเปาโลว่าตนเป็นผู้มีศรัทธาที่น่าเคารพ   ผลที่ตามมาคือเซาโลผู้ทรนงเปลี่ยนเป็นเปาโล ชื่อที่แปลว่า “เล็กๆ” การท้าทายเหล่านี้และการผกผันตามมาด้วยคำพยากรณ์ “ท่านเป็นศิลาและบนศิลานี้เราจะสร้างพระศาสนจักรของเรา” (มธ. 16: 18)   และสำหรับเปาโล “เขาเป็นเครื่องมือของเราที่จะนำเอาพระนามของเราไปสู่ชนต่างศาสนา กษัตริย์ และลูกหลานของชนชาติอิสราเอล” (กจ. 9: 15)  คำพยากรณ์เกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อพวกเรายอมให้ตนถูกท้าทายจากพระเจ้า ไม่ใช่เมื่อพวกเรามัวแต่ห่วงในการรักษาทุกสิ่งไว้อย่างเงียบเชียบภายใต้การควบคุมของพวกเรา  คำพยากรณ์ไม่ได้เกิดจากความนึกคิดของพวกเราจากดวงใจที่ปิดของพวกเรา  ทว่าะเกิดขึ้นเมื่อพวกเราเปิดใจยอมรับการท้าทายจากพระเจ้า เมื่อพระวรสารทำให้บางสิ่งเปลี่ยนแปลงไป  คำพยากรณ์จะปรากฏขึ้น มีแต่การเปิดใจสู่ความประหลาดของพระเจ้าเท่านั้น ผู้นั้นจึงจะเป็นประกาศกได้  และพวกเรามีเปโตรและเปาโลผู้เป็นประกาศกที่ทำนายถึงอนาคต เปโตรเป็นคนแรกที่ประกาศว่าองค์พระเยซูคือ “พระคริสตเจ้า พระบุตรแห่งพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (มธ. 16: 16) เปาโลซึ่งทราบถึงความตายของตนที่กำลังจะมาถึง “จากบัดนี้เป็นต้นไป มีการเตรียมมงกุฎไว้แล้วสำหรับผู้ชอบธรรม ซึ่งพระเจ้าจะประทานให้เป็นรางวัลสำหรับข้าพเจ้า” (2 ทธ. 4: 8)

        ทุกวันนี้พวกเราต้องการคำพยากรณ์หรือว่าความสามารถในการทำนาย  แต่ต้องเป็นพยากรณ์ที่แท้จริงไม่ใช่แบบนักขี้คุยขี้โม้ที่สัญญาสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  ความสามารถทำนายจะต้องเป็นประจักษ์พยานว่าพระวรสารนั้นทำให้ทุกสิ่งเป็นไปได้  สิ่งที่พวกเราต้องการไม่ใช่การแสดงแบบอัศจรรย์  พ่อรู้สึกเศร้าใจเมื่อพ่อได้ยินบางคนกล่าวว่า “พวกเราต้องการพระศาสนจักรที่เป็นนักพยากรณ์ สามารถทำนายล่วงหน้า” ซึ่งจะให้เป็นเช่นนั้นก็ได้ แต่ท่านกำลังทำอะไรเพื่อที่จะทำให้พระศาสนจักรเป็นนักพยากรณ์?  พวกเราต้องการชีวิตที่แสดงให้เห็นถึงอัศจรรย์แห่งความรักของพระเจ้า ไม่ใช่การใช้อำนาจบังคับแต่ใช้ความถูกต้อง ไม่ใช่การเสวนากันที่ยืดยาวแต่เป็นการสวดภาวนา ไม่ใช่เป็นการปาฐกถาที่ดีแต่พูดแต่เป็นการรับใช้  ท่านต้องการพระศาสนจักรที่เป็นนักพยากรณ์ หรือมีความสามารถทำนายใช่ไหม? ถ้าเช่นนั้นก็จงรับใช้ผู้อื่นและหุบปากพูดให้น้อยลง  ไม่ใช่ใช้เพียงทฤษฎีแต่ต้องเป็นประจักษ์พยาน พวกเราต้องไม่เป็นคนโลภมุ่งความร่ำรวยแต่ต้องรักคนยากจน พวกเราต้องไม่สั่งสมเงินทองเพื่อตนเอง แต่ใช้ตัวเราเองเพื่อผู้อื่น  พวกเราต้องไม่แสวงหาความชื่นชมของโลกนี้หรือความปลื้มที่มีพรรคพวกมากและสามารถประสานเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับทุกคน คล้ายๆอยากบอกว่า “ขอให้สบายใจเราประสานได้ทั้งกับพระเจ้าและกับปิศาจ” การอยู่ได้อย่างสุขสบายกับทุกคน… ไม่เลย… นี่ไม่ใช่ความสามารถในการพยากรณ์  พวกเราต้องการความชื่นชมยินดีของโลกให้กลับมาใหม่  ไม่ใช่แผนการอภิบาลที่ดีกว่า ซึ่งดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพในตัวตนเองราวกับว่าตัวเองเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์:  บางคนเก่งมากในการวางแผนการอภิบาลที่มีประสิทธิภาพ  แต่ไม่ใช่เลย!  พวกเราต้องการผู้เลี้ยงแกะที่ดี ผู้ที่ที่อุทิศชีวิตตนเองเป็นบุคคลที่รักพระเจ้า  นั่นคือสิ่งที่เปโตรและเปาโลสอนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ในฐานะที่เป็นบุคคลที่มีความรักต่อพระเจ้า ในการตรึงบนไม้กางเขนเปโตร ท่านไม่ได้คิดถึงตนเองแต่จะคิดถึงพระเยซูคริสต์โดยถือว่าตนเองไม่สมควรที่จะตายดุจพระเยซูคริสต์ผู้เป็นพระอาจารย์ เปโตรจึงขอให้เอาไม้กางเขนของท่านปักหัวลง  ก่อนที่เปาโลจะถูกตัดศีรษะ เปาโลคิดแต่การมอบชีวิตของตนเอง ท่านเขียนว่า ท่านต้องการที่จะ “หลั่งเลือดดุจเครื่องบูชา” (2 ทธ. 4: 6) นั่นแหละคือความสามารถในการทำนายและยืนยันความจริง การพยากรณ์ไม่ใช่เป็นเพียงคำพูดลอยๆ แต่คำพยากรณ์ที่มีพลังเปลี่ยนประวัติศาสตร์

        ลูกๆ และพี่น้องชายหญิงที่รักทั้งหลาย พระเยซูคริสต์ได้ทำนายกับเปโตรว่า “ท่านคือศิลาและบนศิลานี้เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา”  ณ จุดนี้มีการพยากรณ์เช่นเดียวกันสำหรับพวกเรา ซึ่งพบได้ในคัมภีร์ฉบับสุดท้ายคือหนังสือวิวรณ์ ซึ่งพระเยซูคริสต์ให้สัญญากับประจักษ์พยานผู้ซื่อสัตย์ว่า “ณ ศิลาสีขาวซึ่งบนศิลานั้นจะมีการบันทึกชื่อ” (วว. 2: 17) ดุจดังที่พระเยซูคริสต์เปลี่ยนชื่อจากซีมอนให้เป็นเปโตร ดังนั้นพระองค์จึงทรงเรียกร้องพวกเราทุกคน เพื่อว่าพวกเราจะได้เป็นศิลาทรงชีวิต เพื่อสร้างพระศาสนจักรที่ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ และมนุษยชาติที่กลับใจใหม่ ในสถานการณ์จริงของพระศาสนจักรมีผู้ที่คอยทำลายความเป็นเอกภาพอยู่เสมอ แล้วพยายามที่จะทำนาย อ้างอิงสารพัด แต่พระเยซูคริสต์ทรงเชื่อถือในพวกเราและถามพวกเราว่า “ท่านต้องการที่จะเป็นผู้สร้างความเป็นเอกภาพไหม?  ท่านต้องการที่จะเป็นประกาศกแห่งสวรรค์บนแผ่นดินของเราไหม?”  ลูกๆและพี่น้องชายหญิงที่รัก ขอให้พวกเรารับการท้าทายของพระเยซูคริสต์และมีความกล้าหาญที่จะตอบพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าพร้อมแล้ว”

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บบทเทศน์ของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและไตร่ตรอง)