29 มิถุนายน สมโภชนักบุญเปโตร และนักบุญเปาโล อัครสาวก
(SS. Peter and Paul, Apostles, solemnity)
วันสมโภชนี้ พระศาสนจักรหวนกลับมาดูจุดกำเนิดของตน และเฉลิมฉลองความจำที่มีต่อบุคคลสำคัญสองท่าน ที่เป็นเหมือนแม่พิมพ์ให้กับชีวิตพระศาสนจักรในระยะเริ่มต้น ที่ยังคงไว้ซึ่งร่องรอยสำคัญที่ลบเลือนไม่ได้ในรากฐานและลักษณะเฉพาะ ทั้งสองท่านต่างกันโดยสิ้นเชิง (as different as chalk and cheese) แต่ท่านนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลก็ได้รับขนานนามว่า “เป็นเสาหลักสองต้นของพระศาสนจักร” เป็นดัง “ตะเกียงหรือดวงไฟสองดวง” ที่กำลังลุกโชติช่วงเพื่อพระคริสต์ เพื่อส่องสว่างหนทางไปสู่สวรรค์
นักบุญเปโตร – “ซีมอน บุตรของโยนาห์” เป็นชาวเบธไซดา ริมฝั่งทะเลสาบกาลิลี แต่งงานและตั้งหลักแหล่งที่เมืองคาเปอรนาอุม พร้อมกับน้องชาย “อันดรูว์” หาเลี้ยงตนด้วยอาชีพจับปลา จนกระทั่งองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงเรียกเขา จากชาวประมงจับปลา มาเป็นชาวประมงจับมนุษย์ เมื่อเขาประกาศความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าเป็นพระคริสต์ พระบุตรขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระเยซูเจ้าจึงทรงประกาศตั้งพระศาสนจักรบนหินก้อนนี้ ที่มีเปโตรเป็นรากฐาน [เพราะชื่อเปโตร หรือ Petrus ภาษาลาติน หรืออีกชื่อหนึ่งคือ เคฟา(ส) ภาษาอาราเมอิค แปลว่า “หิน”] สำนวนที่พระองค์มอบกุญแจแห่งพระอาณาจักรสวรรค์ให้แก่นักบุญเปโตร และสำนวนที่ว่าถึงการผูกและการแก้ มีความหมายทางกฎหมายชัดแจ้งถึงตำแหน่งสูงสุดในการปกครองที่พระเยซูเจ้าทรงแต่งตั้งขึ้นมา
หลังการกลับฟื้นคืนพระชนมชีพ นักบุญเปโตรเป็นหนึ่งในพวกแรกๆ ที่พระเยซูเจ้าทรงปรากฏองค์ให้เห็น เป็นนักบุญเปโตรที่เป็นประธานในการเลือก มัทธีอัสมาแทน ยูดาส อิสคาริโอท (กจ 1:15-20) นักบุญเปโตรเป็นผู้เทศน์สอนอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันเปนเตกอสเตที่พระจิตเจ้าเสด็จลงมา (กจ 2:14-40) ให้คำปราศรัยกับสภาซันเฮดริน (กจ 4:5-22) เป็นผู้รับชาวยิวพวกแรกมาเป็นคริสตชน (กจ 2:41) และต่อมารับคนต่างชาติพวกแรก (กจ 10:44-48) เข้ามาในพระศาสนจักร นักบุญเปโตรได้ทำอัศจรรย์ครั้งแรกต่อหน้าสาธารณชน (กจ 3:1-11) และเป็นผู้ให้คำตัดสินชี้ขาดในสภาสังคายนาครั้งแรกของพระศาสนจักร (กจ 15:7-11)
นักบุญเปาโล – นักบุญเปาโล ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีอัจฉริยภาพทางศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของคริสตศาสนา (ต่อจากนักบุญยอห์น ผู้นิพนธ์พระวรสาร) ท่านมาจากดินแดนที่ชาวยิวกระจัดกระจายไปอยู่ (Diaspora) คือเมืองทาร์ซัส ซึ่งทำให้ท่านคุ้นเคยทั้งวัฒนธรรมของชาวยิวและชาวกรีก น่าชื่นชมที่ท่านได้รับการปูพื้นฐานความรู้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเหมาะกับงานที่พระเจ้าทรงมอบให้ท่านในอนาคต ในการที่จะต้องเป็น “อัครสาวกสำหรับคนต่างศาสนา” และเป็นผู้ช่วยพระศาสนจักรซึ่งเพิ่งเริ่มต้นให้ก้าวเดินอย่างเป็นอิสระพ้นจากลัทธิของชาวยิว จากการที่ท่านได้มีประสบการณ์พิเศษที่ได้พบกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพในระหว่างการเดินทางไปเมืองดามัสกัส เป็นสิ่งพิสูจน์ถึงแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ท่านเป็นหนึ่งในผู้ร้อนรน เปี่ยมด้วยพลัง และเป็นผู้แทนที่กล้าหาญของพระคริสตเจ้าเท่าที่มีมา
จดหมายต่างๆของนักบุญเปาโล (นับได้ 7 ฉบับที่แท้จริง และอีก 6 ฉบับที่อ้างว่าท่านได้เขียนทั้งทางตรงและทางอ้อม) ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นเหมือนบ่อน้ำพุแห่งความจริง การเป็นพยานยืนยัน และเป็นคำเทศน์สอนที่มาถึงเราจนทุกวันนี้ เราจะเห็นลักษณะการเขียนของท่านที่เปี่ยมด้วยสติปัญญาอันเฉียบแหลม และพลังใจที่ล้นปรี่ ท่านเป็นผู้ติดตามพระคริสต์ที่อุทิศตนอย่างลุกร้อนด้วยไฟแห่งความรักที่มากล้น ชนิดที่สามารถเห็นว่าทุกสิ่งอยู่ในพระคริสต์ ไม่ว่าจะเป็นการเบียดเบียน การถูกลบหลู่ หรือความอ่อนแอก็ไม่สามารถจะหันเหท่านไปจากข้อตั้งใจที่จะกลายเป็น “ทุกสิ่งสำหรับทุกคน” (1คร 9:22) งานที่ยากลำบากต่างๆเหล่านี้ที่ท่านทำอย่างแข็งขัน ช่วยสร้างรูปแบบของพระศาสนจักรต่างๆที่ท่านตั้งขึ้นให้อยู่ใน “พระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า” ท่านตระหนักตนว่าเป็นเหมือน “เด็กที่คลอดก่อนกำหนด” ชื่อเปาโล ซึ่งหมายถึง “เล็ก” จึงสุภาพที่จะเรียกตนว่าเป็นผู้รับใช้ (servant) “เป็นผู้น้อยที่สุดในบรรดาอัครสาวก” และแม้แต่ “เป็นผู้ต่ำต้อยที่สุดในบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์” (อฟ 3:8)
บทสรุป :
นักบุญทั้งสองเป็น “มนุษย์กิจกรรม” (men of action) งานของท่านทั้งสองส่งเสริมกันและกัน ทั้งสองรักองค์พระผู้เป็นเจ้าสิ้นสุดจิตใจ ทั้งสองสามารถกล่าวได้เต็มปากว่า “ข้าพเจ้าได้ต่อสู้มาอย่างดีแล้ว ข้าพเจ้าวิ่งมาถึงเส้นชัยแล้ว ข้าพเจ้ารักษาความเชื่อไว้แล้ว ยังเหลืออยู่ก็เพียงมงกุฎแห่งความชอบธรรม ซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพิพากษาอย่างเที่ยงธรรม จะประทานให้ข้าพเจ้าในวันนั้น…” (2 ทธ 4:7-8)
ที่น่าประหลาดใจยิ่ง ท่านทั้งสองได้รับ “มงกุฎแห่งความชอบธรรม” ช่วงราวปี ค.ศ. 67 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้ๆกัน ในสมัยของจักรพรรดิเนโร ซึ่งต้องการทำลายล้างกลุ่มคริสตชนให้หมดสิ้นไป นักบุญเปโตรถูกตรึงกางเขนที่เนินวาติกัน (ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิหารนักบุญเปโตรในปัจจุบันนี้) แต่ท่านได้ขอให้กลับหัวลง เพราะคิดว่าตนไม่สมควรจะตายแบบที่พระคริสต์ทรงถูกตรึง ส่วนนักบุญเปาโลซึ่งมีสัญชาติโรมัน ถูกตัดศีรษะแถวบริเวณเส้นทาง Ostian ตรงบริเวณน้ำพุ 3 แห่ง (Tre Fontane) ซึ่งบัดนี้เป็นที่ตั้งบาสิลิกานักบุญเปาโลที่สง่างามนอกกำแพงเมือง
วันที่ 29 มิถุนายน (C. 268) ร่างของมรณสักขีทั้งสองท่านได้ถูกนำมาไว้ด้วยกันที่คาตาคอมบ์นักบุญเซบาสเตียน ดังนั้น วันสมโภชของท่านทั้งสอง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสิบสองของการเฉลิมฉลองทางพิธีกรรมที่มีความสำคัญมากของพระศาสนจักรคาทอลิก จึงเลือกสมโภชท่านในวันที่ 29 มิถุนายน ตามเหตุการณ์นี้
(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- สมณลิขิต (Apostolic Letter) ของสันตะปาปาฟรานซิส โอกาสครบ 1600 ปีหลังการมรณภาพของนักบุญเจโรม
- การเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาแบบทั่วไป 14 เมษายน 2021
- สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสมีความคิดที่จะปฏิรูปพระศาสนจักร
- สมณลิขิตในรูปแบบพระสมณอัตตาณัติ (Motu Proprio) ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส “ANTIQUUM MINISTERIUM”
- ร่วมประชุมบิชอปเพื่อนคณะโฟโคลาเร